พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมเป็นการศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นผู้ฟังทุกคนที่จะเข้าใจความจริงได้ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง

    อ.อรรณพ ในพระพุทธพจน์ และในอรรถกถาท่านกล่าวถึงสัจจะไว้มาก และสัจจะนี้มีความหมายอรรถหลากหลายนัยมาก ในโอกาสนี้ค่อยๆ สนทนาไปเพื่อความเข้าใจซึ่งในบางครั้งจะยกพระพุทธพจน์สั้นๆ หรืออรรถกถาที่จะได้เข้าใจในเรื่องสัจจะเพิ่มขึ้นด้วย สัจจะความจริงมี ๒ คือ ความจริงโดยสมมติกับความจริงโดยปรมัตถ์ มีข้อความสั้นๆ ในหลายที่ มีอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก ข้อความนี้นำมาจาก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีข้อความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เมื่อจะตรัสเรื่องใดๆ ได้ตรัสสัจจะ ๒ คือ สมมติสัจจะ ๑ ปรมัตถสัจจะ ๑ ใครๆ ย่อมไม่ได้สัจจะที่ ๓ เพราะไม่มี การกล่าวถึงสิ่งที่รู้ ชื่อ สมมติสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นโลกสมมติ ส่วนการกล่าวถึงประโยชน์อย่างยิ่งอันเป็นลักษณะจริงของธรรมทั้งหลาย ชื่อ ปรมัตถสัจจะ กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ต้องมีความสำคัญมากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อพระองค์ตรัส จะตรัสความจริง ๒ อย่างคือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

    ท่านอาจารย์ แล้วสำหรับคนอื่น กล่าวความจริงกี่อย่าง สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความจริง ๒ อย่างคือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ แล้วสำหรับคนอื่นกล่าวสัจจะอะไร นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์จากการที่เราได้ศึกษาพระธรรมคือ เข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจสภาพธรรมอื่นแต่เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดกับตน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นจริงหมดเลย เห็นก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริง แล้วทั้ง ๒ อย่างก็ดับไป แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เกิดแล้วดับแล้วเพราะเร็วมาก ดูเสมือนยังไม่ได้ดับเลยจึงทำให้เกิดการเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไรจากรูปร่างสัณฐานของนิมิตของสิ่งที่ปรากฏ

    แต่ต้องไม่ลืมว่า ฟังอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจความจริง จะเข้าใจได้มากน้อยไม่สำคัญเลย บังคับบัญชาไม่ได้แต่อย่างน้อยก็ได้ยิน และได้เข้าใจ และกว่าจะเข้าใจจนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้แม้ขณะก่อนเมื่อวานนี้ สิ่งที่เห็นเมื่อวานนี้ไม่มีแล้วเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้คือ กำลังไม่มี เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป และมีสภาพอื่นเกิดต่อ ฟังอย่างนี้ไม่ต้องฟังอย่างอืนมากมายเลย เพียงแต่พิจารณาว่า ความจริงเป็นอย่างนี้แล้ววันหนึ่งก็ค่อยๆ คลายการติดข้องเพราะรู้ความจริงว่า เพียงปรากฏให้เห็นแล้วไม่กลับมาอีกเลย ไหวไหม ทนไหวไหมที่จะรอคอยที่จะรู้คาามจริงซึ่งเป็นวาจาสัจจะไม่เปลี่ยน ไม่มีความจริงที่ ๓

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ที่กระผมได้อ่านข้อความในนิทานวรรคที่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเมื่อจะตรัสก็ตรัสสัจจะ ๒ ไม่มีสัจจะที่ ๓ แต่ในข้อความที่แสดงถึงสัจจะโดยตรง มีข้อความสั้นๆ แสดงว่า สัจจะมีอย่างเดียว ไม่มีอย่างที่ ๒ จะหมายถึงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืม ผ่านมา ๒๕๐๐ ปี คนฟังสมัยนั้นไม่สงสัยแต่ว่าคนฟังเดี๋ยวนี้ หรือคนอ่านพระธรรมเดี๋ยวนี้เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินคำอะไรก็สงสัย และเป็นเรื่องคิดมากมาย่อว่า อะไรเป็นอะไร เป็นสมมติสัจจะ หรือเป็นปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเข้าใจคำว่า "ปรมัตถะ" หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แม้ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้นก็มี

    ขณะใดก็ตามที่มีลักษณะนั้นปรากฏโดยยังไม่มีชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น ขณะนั้นลักษณะนั้นมีจริงเป็นจริงอย่างนั้น อย่างเสียงไม่ต้องเรียกว่าเสียง เสียงพัดลมมีไหม เสียงฟ้าร้องมีไหม เสียงน้ำไหลมีไหม ไม่ต้องเรียกว่า น้ำไหล ไม่ต้องเรียกว่าพัดลม เฉพาะเสียงมีแน่นอน เพราะฉะนั้นเสียงมีจริงๆ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้นเป็นปรมัตถสัจจะ อย่างแข็งไม่ต้องเรียก ภาษไหนก็ไม่ต้องใช้ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ไม่ต้องใช้สักคำเดียวแต่แข็งก็ปรากฏเมื่อการกระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงโดยที่ยังไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้นเป็นประมัตถะแน่นอน แต่ว่าเนื่องจากธรรมที่มีจริง สิ่งที่มีจริงหลากหลายมากต่างกันวันหนึ่งๆ ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ตั้งแต่เช้ามาจนถึงวันนี้ ไม่พูดเลยสักคำก็ได้ใช่ไหม ไม่ต้องสนทนากันเลยสักคำแต่ก็มีสิ่งซึ่งเดี๋ยวปรากฏทางตา เดี๋ยวปรากฏทางหู เดี๋ยวเป็นการคิดนึกต่างๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องอาศัยคำใดๆ เลยแต่สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมายของปรมัตถสัจจะแล้วย่อมเข้าใจความหมายว่า นอกจากนี้เป็น "สมมติสัจจะ" ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เราใช้คำว่า เสียง ในภาษาไทย ใช้คำว่า สัททะ ในภาษมคธี ภาษาบาลีก็ได้ หรือจะใช้ภาษญี่ปุ่นก็ได้แต่เปลี่ยนลักษณะของเสียงไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีคำสมมติให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงความจริง ๒ อย่างคือ ปรมัตถสัจจะ สิ่งที่มีจริงยังไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เป็นปรมัตถะสัจจะ

    แต่เพราะสิ่งที่มีจริงหลากหลายมากในการที่จะให้รู้ว่า มุ่งหมายถึงสภาพธรรมใด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เสียง บางคนบอกว่า ไม่ต้องมีเสียงก็รู้ เช่น คนโกรธ เราไม่ต้องบอกคำว่า โกรธ หรือคำอะไรกับเขาเลย แต่กิริยา ท่าทางซึ่งผิดปกติจากธรรมดาก็สามารถที่จะทำให้รู้ความต่าง แต่ยังไม่ต้องเรียกอะไรเลย ไม่ต้องเรียกโทสะ ไม่ต้องเรียกโกรธ ไม่ว่าเสียใจ หรืออะไร ไม่ต้องเรียกลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเข้าใจคำว่า ปรมัตถสัจจะก่อน และต่อจากนั้นเป็นสมมติสัจจะทั้งหมด นี่คือ ๒ สำหรับ ๑ คืออะไร

    อ.อรรณพ สัจจะมีอย่างเดียว ไม่มีอย่างที่ ๒ คือ ความจริงมี ๑ ไม่มี ๒ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงเปลี่ยนเป็นเท็จได้ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเป็นอื่นได้ไหม

    อ.อรรณพ เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมี ๑ หรือเปล่า

    อ.อรรณพ ความจริงมี ๑ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนไปตามลัทธิความเชื่อว่า ทำอย่างนี้บาป แต่อีกความเห็นหนึ่ง อีกคำสอนหนึ่งว่า ทำอย่างนี้ไม่บาป เพราฉะนั้นไม่สามารถไปเปลี่ยนสภาพธรรมได้ เช่น อกุศลเจตนาที่ฆ่า ไม่สามารถจะเปลี่ยนอกุศลเจตนาที่ฆ่าให้เป็นความดีได้ ไม่ว่าจะฆ่าแล้วคิดจะไปเซ่นสรวงอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นนี่คือ ธรรมเป็นธรรม เปลี่ยนไม่ได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นเป็นสัจจะที่เป็นประมัตถสัจจะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ขณะนี้ได้ยิน ๒ คำแล้ว ปรมัตถสัจจะ กับ สมมติสัจจะ ได้ยินแล้วไม่มีความสงสัยใน ๒ คำนี้ เดี๋ยวนี้มีปรมัตถสัจจะไหม ตอบว่ามี รู้ปรมัตถสัจจะ หรือเปล่า มีนั้นมีแน่ อะไรที่มีจริงเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครไปสร้างไปทำแต่เกิดเพราะเหตุปัจจัยให้รู้ทางตาว่า มีนะ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นมี นี่คือ ปรมัตถสัจจะ เวลาเสียงปรากฏ เสียงก็มีจริงๆ ไม่มีใครไปเรียกอะไรเสียงก็จริง

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีปรมัตถสัจจะไหม มีแน่นอน รู้ปรมัตถสัจจะไหม เพราะว่ามีธาตุรู้ สภาพรู้ มิฉะนั้นแล้วสิ่งใดๆ ย่อมไม่ปรากฏเลยแม้ว่ามี ต้นไม้ในป่าก็มี ดอกบัวในคลองก็มี แต่ว่าถ้าไม่มีสภาพรู้ที่ไปเห็น ไปกระทบสัมผัส ไปได้กลิ่น สิ่งต่างๆ เหล่านั้นย่อมไม่ได้ปรากฏว่ามี

    เพราะฉะนั้นเมื่อธาตุรู้มี จึงสามารถที่จะมีสิ่งที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดเลยเพราะว่า ธาตุรู้นั่นเองซึ่งเกิดขึ้นรู้ทางตาคือเห็นบ้าง ทางหูได้ยินเสียงบ้าง ปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ลืมว่า ต้องมีธาตุรู้ซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ ไม่ต้องเรียกอะไรเลยธาตุรู้ก็มี เพราะฉะนั้นแม้ว่า มีปรมัตถธรรม และมีธาตุรู้ปรมัตถธรรม สภาพที่ปรากฏเป็นปรมัตถธรรมจึงปรากฏว่า มีจริงๆ แล้วเข้าใจปรมัตถธรรม หรือเปล่า เห็นไหมความละเอียดของธรรม มีแน่นอนถ้าไม่มีปรมัตถ์อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีดอกไม้ ไม่มีอะไรถ้าไม่มีปรมัตถธรรม

    แต่เมื่อมีปรมัตถธรรมจึงสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ สามารถที่จะได้ยินสิ่งที่ปรากฏให้ได้ยินได้ทุกวันๆ เป็นอย่างนี้ ปรมัตถธรรมมีจริง ธาตุรู้มีจริง แล้วเข้าใจถูก เห็นถูกในความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง หรือยัง ตอบได้ตามความเป็นจริง นี่คือสัจจะความจริง ไม่ได้เปลี่ยนจรงให้เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นนี่คือ สัจจะบารมีเพราะเหตุว่า เป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ นั่นคือ ผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะฉะนั้นแม้แต่ แต่ละคำก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราคิดว่า เราเข้าใจแล้ว พอพูดถึงสติปัฏฐาน เดี๋ยวนี้สติเกิดรู้ว่า นี่แข็ง อย่างนี้เข้าใจ หรือเปล่า

    อ.อรรณพ อย่างนี้ก็ไม่มีสัจจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ตรงต่อความจริงเพราะเหตุว่า ต้องเป็นปัญญาบารมีทั้งหมดที่จะเป็นคำจริง คนจริง ทำจริง รู้จริงได้ ก็ต่อเมื่มีปัญญารู้ว่าอะไรจริง มีปรมัตถธรรมแน่นอนแต่เพราะไม่รู้จึงฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราวเพราะว่า ถ้าไม่มีการได้ยิน ไม่มีการคิด เรื่องราวก็ไม่มี ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องใหญ่ทั้งสิ้นก็ต่อเมื่อคิด เพียงแค่ได้ยินจะไม่มีเรื่องราวใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง และสมมติสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนุเคราะห์มีจริง แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่า สะสมความเข้าใจอย่างละเอียด อย่างตรง และจริงในสิ่งที่ได้ฟังว่าถูกต้องแค่ไหน

    ตามความเป็นจริงคือ ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับแต่รู้ว่า เป็นอริยสัจจะเมื่อปัญญาอบรมแล้วเท่านั้น ถ้าปัญญายังไม่อบรม ไม่มีทางเลยได้แต่ฟัง ได้แต่จำ ได้แต่เริ่มค่อยๆ คิดว่า ความจริงเป็นอย่างนั้นเพราะเสียงเมื่อกี้นี้ก็ดับแล้ว เห็นเมื่อกี้นี้ก็หมดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏเพียงชั่วคราว นี่คือ ความยังไม่ได้อบรมปัญญาพอที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดแต่ว่า ลักษณะนั้นมีให้เข้าใจถูก สิ่งที่ปรากฏทางตามีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่ความคิดว่ามีคนกำลังนั่งทั้งๆ ที่มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา สัจจะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถสัจจะก็คือ สิ่งที่ปรากฏจะเป็นอะไรไม่ได้เลย เพียงสามารถกระทบตาแต่ว่าสิ่งนี้เกิดดับสืบต่อทำให้เกิดนิมิต รูปร่าง สัณฐานต่างๆ สภาพจำก็จำไว้มั่นคงเลยว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ละเอียดอย่างยิ่ง คนนี้ไม่ใช่คนนั้นทางตา เสียงนี้ไม่ใช่เสียงนั้นทางหู สารพัด กลิ่นนั้นไม่ใช่กลิ่นนี้ ด้วยความหลากหลายของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นจากการฟังค่อยๆ รู้ว่านี่คือ ความจริงขั้นปริยัติ รอบรู้ในสิ่งที่ได้ฟัง หมายความว่า ฟังด้วยความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วไม่เข้าใจจึงมีความเป็นเราที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเข้าใจว่า นั่นเป็นหนทางลัดบ้าง เป็นหนทางที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้บ้าง นั่นคือผิดเพราะเหตุว่า ไม่ใช่สัจจะ ไม่ใช่ความจริงแต่เป็นผู้ตรงที่รู้ว่า ขณะนี้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ให้เห็นได้ ความเข้าใจถูกในความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้มีแค่ไหน จะปล่อย จะละ จะวาง ไม่ใช่ให้ใครไปทำ แต่ความรู้ต่างหากที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น

    เพราะฉะนั้นจากทางตามาถึงทางหูเร็วแสนเร็ว ไม่ปรากฏว่าทางตาดับไปเลย ก็มีเสียง และมีคิดเรื่องราวต่างๆ ซึ่งถ้าปัญญาค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เข้าใจความจริงในขั้นปริยัติก่อนก็จะนำไปสู่ ไม่ใช่เราเลย แต่ขณะที่มีการรู้ลักษณะ และเริ่มเข้าใจความเป็นธรรมของลักษณะที่ปรากฏทั้งๆ ที่ก่อนนี้ก็ปรากฏ เช่น แข็งปรากฏมาตั้งแต่เกิดจนกว่าจะได้ฟังธรรมแข็งก็ไม่เปลี่ยน แต่พอได้ฟังธรรมแล้วก็รู้ว่า แข็งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัส ไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิด แล้วสิ่งที่ปรากฏเกิดแล้ว มีปัจจัยที่ทำให้เกิดแล้ว เกิดแล้วดับแล้วแต่ปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน เริ่มฟังเข้าใจค่อยๆ อบรม เข้าใจธรรมทีละ ๑ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะสภาพธรรมปรากฏทีละ ๑ จริง แต่ความไม่รู้ และการติดข้องเชื่อมโยงทันที เช่น ขณะนี้เห็นเป็นเห็นดับแล้วมีได้ยิน เห็นกับได้ยินต่อกัน แล้วมีคิดนึกต่อกันอย่างเร็วมาก แต่จากการที่เป็นผู้ที่รอบรู้ในปริยัติก็จะทำให้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ถ้าเราจะเรียกความต่างคือว่า ขณะนั้นมีการรู้ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยคือ พอปรากฏแล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยจะยั่งยืนนานไม่ได้ แต่จะเกิดบ่อยๆ ขึ้นได้โดยไม่ต้องหวัง หวังเมื่อไหร่ก็ลืมว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมั่นคงจริงๆ ไม่ว่าจะฟังเรื่อง สัจจะ ๑ สัจจะ ๒ หรือว่าสัจจะ ๔ ถ้ามีความเข้าใจแล้วก็เข้าใจได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่เข้าใจตั้งแต่ ๑ ไปถึง ๔ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ความจริงเป็นเรื่องเดียวกันคือ เป็นเรื่องความจริงของสิ่งที่มีที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นเป็นผู้ตรงปรมัตถธรรมทั้งวัน ไม่มีก็ไม่มีอะไรทั้งนั้นแล้วก็มีการรู้ปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่เราแต่ยังมีธาตุอีกชนิด ๑ ซึ่งไม่ใช่เพียงรู้คือ เห็น หรือได้ยิน แต่เข้าใจถูก เห็นถูกความจริงของสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจึงจะเป็นภาวนา การอบรมเจริญปัญญามิฉะนั้นก็เจริญไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ เป็นการสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรมจะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เช่น พระสูตรคราวที่แล้วได้กล่าวถึงลักษณะของโลภะ และการที่จะเข้าใจลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ยาก ใน ธรรมสังคณี อธิบายลักษณะของโลภะไว้หลากหลายมาก จะขอนำมาสนทนาเพื่อความเข้าใจ ในนิเทศแห่งโลภะท่านได้อธิบายลักษณะของโลภะไว้มาก ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า ราคะ หรือความยินดี จะยกขึ้นมาสนทนาไม่กี่ข้อที่อยากจะเข้าใจ หรือลักษณะของความเพลิดเพลินใช้คำว่า นันทิราคะเกิดขึ้นครั้งเดียวในอารมณ์ ๑ ชื่อว่า นันทิ ความเพลิดเพลิน เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ท่านตรัสเรียก นันทิราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจของความเพลิดเพลิน ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้เพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ น่าแปลกมีธรรมอยู่ตลอดเวลาแต่ว่า ไม่ได้รู้เลยว่า เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริงจนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแต่ละคำโดยละเอียดแม้แต่คำว่า โลภะ เราเคยได้ยิน เคยใช้ในชีวิตประจำวันแต่ไม่รู้ว่า โลภะเกิดเมื่อไหร่ โลภะมีลักษณะอย่างไร จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมก็จะรู้ได้ ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีตลอดชีวิตเพิ่มขึ้นละเอียดขึ้นว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์จริงๆ ของการฟังพระธรรมไม่ว่าจะนานแสนนานมาแล้ว ฟังมาก หรือฟังน้อยก็คือ ขอให้เข้าใจว่า คำนั้นกำลังมีขณะนี้ หรือเปล่า และหมายความถึงสภาพธรรมอะไร เช่น คำว่าโลภะ เราได้ยินบ่อยๆ แต่ก่อนนี้เราอาจจะคิดว่า ต้องเป็นความโลภมากๆ เราถึงจะใช้คำนี้ เช่นบอกว่า "คนนั้นโลภ" เฉพาะบางเหตุการณ์ซึ่งรู้สึกว่า ขณะนั้นเขาโลภจริงๆ เขาติดข้องจริงๆ แต่ความจริงไม่ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะมาก หรือจะน้อยลักษณะนั้นก็เปลี่ยนไม่ได้ เช่น ความติดข้อง ติดข้องแม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งติดข้องมากๆ จนกระทั่งถึงการทำทุจริต ลักษณะของโลภะไม่ว่าจะมากจะน้อยก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ไฟ มาก หรือน้อยก็ร้อน เพราะฉะนั้นโลภะก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นเราคิดถึงแต่สภาพธรรมที่ปรากฏชัดโดยที่ไม่รู้ว่า ชีวิตประจำวันมีโลภะบ้าง หรือเปล่า มีความติดข้องบ้าง หรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุดเมื่อเข้าใจแล้วจึงรู้ว่า เป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรา ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดเลยแต่ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ มีปัจจัยเกิดขึ้นให้เป็นอย่างนั้นเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่นแล้วดับไป และเป็นสิ่งที่รู้ยากจริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้ามีความรู้จริงๆ ทั้งหมด ดับเหตุของการเกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เลยเพราะเดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดแล้วเกิดจากอะไร เวลาที่พูดถึงเรื่อง "อริยสัจจะ" ซึ่งทุกคนคล่องมาก ทุกข์เพราะสมุทัย สมุทัยคือโลภะ ถ้าไม่มีความติดข้องจะมีความทุกข์ไหม เราก็เผินมากคือพอทุกข์เกิดกว่าจะไปนึกว่า "นี่นะเพราะเราติดข้องในสิ่งนี้จึงได้เกิดความทุกข์ขึ้น" แม้อย่างนี้ก็ยังไม่คิด

    เพราะฉะนั้นความละเอียดของชีวิตแต่ละขณะก็ยากแสนยากที่จะรู้ความจริงจนกว่าจะฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ต้องไปละกิเลสซึ่งมีมาก และสะสมมาแสนนานอย่างรวดเร็วว่า ภายในชาตินี้ หรืออีกไม่กี่ชาติเพียงแต่เป็นผู้ที่ตรงว่า ขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงแล้วเราเข้าใจแค่ไหน เช่นคำว่า โลภะ ความติดข้อง ความยินดี ความเพลิดเพลิน เกือบไม่รู้ว่าเป็นปรกติในชีวิตประจำวันแม้เพียงเล็กน้อย

    เพราะฉะนั้นขณะนี้พูดถึงโลภะมีโลภะ หรือเปล่า อาจจะตอบกว้างๆ ว่ามี มีเมื่อไหร่ก็ตอบไม่ได้อีกจนกว่าจะได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดว่า ขณะเห็น ทุกคนกำลังเห็น รู้ความจริงของเห็น หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    23 ธ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ