พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๔๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖


    อ.คำปั่น ในการได้ยินได้ฟังพระธรรมในแต่ละครั้งจะได้ยินคำที่ไพเราะเวลาได้ยินคำที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง เช่น ล่าสุดท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง "เติมกุศลทุกๆ วัน" ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า ท่านอาจารย์เอาข้อความเหล่านี้มาจากไหนแต่จริงๆ แล้วคือ เราเป็นคนไทยก็พูดกัน สนทนากันด้วยภาษาไทยซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็ตรงกันเพราะเหตุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจาทรงแสดงว่า การที่ความดีจะเจริญขึ้นได้ต้องอาศัยการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ควรที่จะดูหมิ่นบุญว่าเพียงเล็กน้อย ตราบใดก็ตามที่ผู้มีปัญญาเห็นคุณของกุศล สะสมความดีไปทีละเล็กทีละน้อยในที่สุดก็จะเป็นผู้เต็มบริบูรณ์ด้วยคุณความดี กราบเรียนท่านอาจารย์ได้สนทนาแม้คำว่า เติมกุศลทุกๆ วัน ก็มีอรรถที่ลึกซึ้งทีเดียว กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คือกุศลเกิดทุกวัน ถ้าไม่มีอะไรก็จะเติมในจิตไม่ได้นอกจากอกุศล เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า เติม คือ มีกุศลไม่ขาดกุศล และเพิ่มขึ้นทุกโอกาสที่เป็นไปได้ไม่ละเลย

    อ.คำปั่น ได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวอยู่เสมอกว่า ขณะนี้เพิ่มกุศลด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ และเวลาที่ไม่ได้ฟังพระธรรม มีโอกาสที่จะเติมกุศลบ้างไหม เวลาเจอใคร พบหน้าใคร มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับเขา หรือไม่ เมื่อคนอื่นเขาทำงานที่สามารถที่จะพอช่วยได้ เราช่วยเขา หรือไม่ แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นประโยชน์ เป็นการสะสมความดี เป็นการละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นทุกโอกาสสามารถที่จะเป็นโอกาสของกุศลได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นจะเห็นคุณของกุศลมากน้อยแค่ไหน คุณอรวรรณมีประเด็นคำถามที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรวรรณ

    ผู้ฟัง ประเด็นที่สงสัยคือ สืบเนื่องจากที่อาจารย์อรรณพนำคำว่า ชีวิตคืออะไร มาสนทนาได้ฟังแล้วท่านอาจารย์ตอบว่า ชีวิตคือสภาพรู้ สงสัยว่า จากที่ศึกษามาความมีชีวิตหมายถึง ชีวิตินทริยเจตสิกที่เกิดกับจิต และเจตสิก เจตสิกนี้ทำให้จิต และเจตสิกอื่นรวมทั้งตัวเองดำรงความเป็นชีวิตชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ทีนี้ชีวิตินทรีย์จะเป็นชีวิตรูปด้วยซึ่งหมายถึงรูปที่เกิดจากกรรมเป็นรูปที่มีชีวิตเพราะว่า มีชีวิตินทริยรูปที่ทำให้รูปนี้เป็นรูปที่มีชีวิต เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ทราบว่าจะผิด หรือถูกเข้าใจว่า ชีวิตหมายถึงนาม และรูปแต่รูปต้องเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้นจึงจะเป็นรูปที่มีชีวิต

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณคงไปชายทะเลแล้วเห็นสัตว์ตัวเล็กๆ หรือที่กรุงเทพ หรือที่ไหนก็ได้ เช่น ไส้เดือนนอนนิ่งๆ รู้ไหมว่าเป็น หรือตาย

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม เราได้ยินแต่ชื่อ ชีวิตนาม ชีวิตรูป ชีวิตนาม คือ มีธาตุรู้ซึ่งอุปการะให้สิ่งที่เกิดพร้อมกันดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นสภาพนั้นไม่ใช่ผัสสะที่เกิดพร้อมกัน และกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ความรู้สึก เพราะฉะนั้นการศึกษาสภาพธรรมจะศึกษาสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้แต่ละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถค่อยๆ คลายความติดข้องว่าเป็นเราซึ่งแน่นหนา มั่นคง เหนียวแน่นมานานแสนนาน แม้แต่เพียงฟังเริ่มเข้าใจเล็กน้อยก็ลืม และกลับไปเป็นเราอีก และกลับไปเป็นชื่อ กลับไปเป็นเรื่องราวอีก แต่ตามความเป็นจริงคือ การศึกษาไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร เข้าใจคำนั้นจริงๆ ชัดเจนจนกระทั่งไม่สงสัยในคำนั้นในขณะที่ได้ฟัง แต่จะรู้ชีวิตรูป ชีวิตนาม รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า กำลังพูดถึงอะไร ถ้าพูดถึงธาตุรู้มี ๒ อย่างคือใช้คำว่า จิต ๑ เจตสิก ๑ ที่ใช่คำว่า จิต เพราะเหตุว่า เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สีมีหลายสีตั้งแต่สีชมพูอ่อนจนถึงแดงเข้มใครรู้ เพราะเห็น เพราะจักขุวิญญาณ หรือจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นความหลากหลายของสิ่งที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งนั้น สามารถที่จะรู้ได้เพียงแค่อารมณ์นั้น สิ่งนั้นปรากฏเป็นอย่างนั้น แต่ไม่สามารถที่จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ชั่วขณะที่แสนสั้นที่เกิด และดับแต่ก่อนดับทำกิจเห็นคือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู หรือกลิ่น หรือรสต่างๆ ที่บอกว่าต่างๆ เพราะว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของแต่ละ ๑ ที่กำลังปรากฏ เช่น เสียงเบาก็มี เสียงคนก็มีที่เราใช้คำว่า คน เสียงนกก็มี เสียงดนตรีก็มี ทำไมรู้ถึงความหลากหลายนั้น ถ้าไม่มีธาตุที่เกิดขึ้น และสามารถที่จะรู้ลักษณะหลากหลายที่ต่างกันที่ปรากฏทีละ ๑ ไม่ใช่พร้อมกัน เมื่อเสียงนี้ดับเสียงอื่นเกิดขึ้นสืบต่อจะเห็นว่า ไม่เหมือนเสียงเก่าแล้วเป็นแต่ละเสียงก็จำไป

    เพราะฉะนั้น จิตคือ ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏที่จะรู้ว่า เป็นโลกนี้ ยืนอยู่ตรงนี้ ที่นี่มีอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้า หรือตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้เพราะจิตเกิดขึ้นแล้วรู้แล้วดับ เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏแล้วดับตลอด แต่ถ้ามีเฉพาะสิ่งที่เป็นธาตุรู้ ความรู้สึกใดๆ ก็ไม่มี ความจำใดๆ ก็ไม่มี ความพอใจใดๆ ก็ไม่มี ถ้ามีแต่เฉพาะธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าตามความเป็นจริงซึ่งจะเห็นความละเอียดของพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ ว่า แม้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดดับอย่างเร็วที่สุด ยังมีธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่จิตเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่มีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น ความจำซึ่งไม่ใช่จิตแต่เกิดพร้อมจิต จิตเห็นสิ่งใดสภาพที่จำก็จำสิ่งที่ปรากฏกับจิตนั้น

    เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งที่ปรากฏอย่างเดียวกัน และเกิดที่เดียวกันด้วย แต่ถึงอย่างนั้นจิตก็ไม่ใช่เจตสิก เจตสิกก็ไม่ใช่จิต เพื่อให้เห็นความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เราไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ทรงแสดงความจริงเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ลักษณะของธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร ดีกว่าที่เราจะไปจำเรื่องไว้ หรือไปนั่งนึกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทั้งๆ ที่ปรากฏแล้ว และเห็นแล้วจริงๆ ขณะนี้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจจึงเข้าใจให้ถูกต้องตามที่ได้ฟังอีกระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่จะพูดถึงต้องเข้าใจสิ่งที่กล่าวถึงจริงๆ เช่น ชีวิตินทริยเจตสิกเป็นนามธาตุชนิด ๑ ไม่ใช่จิต เกิดพร้อมเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันแล้วทำกิจรักษาดำรงให้สภาพธรรมที่เป็นนามธาตุทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มีชีวิต เพราะฉะนั้นธาตุรู้มีชีวิตแต่ธาตุที่เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้ เช่น แข็ง รู้อะไรได้ หรือเปล่า และแข็งก็มีทั้งแข็งที่เกิดจากกรรม แข็งที่เกิดจากจิต แข็งที่เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อน และแข็งที่เกิดจากอาหาร ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วแข็งเกิดได้แต่ทรงแสดงสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดว่า ต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ละหนึ่งๆ จนกระทั่งไม่ใช่เรา

    นี่คือพระประสงค์ที่ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกซึ่งไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดดับรวดเร็ว และรวมกันสืบต่อกัน เช่น พอเห็น และได้ยินคนละขณะเกิดแล้วดับแล้ว และคิดก็ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยินแต่เมื่อไม่รู้ก็รวมเป็นเราคนหนึ่งเห็น และได้ยินแล้วคิดซึ่งไม่ใช่ความจริง ความจริงทุกอย่างมีไม่ใช่ไม่มี แต่มีเพราะเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า ชีวิตินทริยเจตสิก ต้องหมายความถึงธาตุรู้ เป็นนามธาตุซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ และทุกขณะที่เกิดก็มีเจตสิกอื่นๆ นอกจากชีวิตินทริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ชีวิตินทริยเป็นสภาพธรรมที่ดำรงรักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันแม้เล็กน้อยแต่สั้นที่สุดให้ดำรงชีวิตอยู่ ให้เป็นสิ่งที่มีชีวิตชั่วขณะที่เกิด และยังไม่ดับ แล้วใครจะรู้ชีวิตินทริยเจตสิกแต่มีแน่ ส่วนชีวิตรูปถ้าได้ยินคำว่า รูป หมายความถึงสิ่งซึ่งมีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน เวลาไหน ขณะไหนก็รู้อะไรไม่ได้เลย แต่รูปยังหลากหลายต่างกัน ตามีแน่ใช่ไหม ใครทำให้ตาเกิดได้ รับประทานอาหารมากๆ ให้ตาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ให้รูปพอดิบพอดีให้มี ความเย็น ความร้อน พอที่ให้จักขุปสาทเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตอยากมีตาเหลือเกินแต่ขณะนั้นตาไม่มี ทำอย่างไรจะให้ตามี ทำได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่า แม้รูปที่เกิดที่ตัวของแต่ละคนซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็หลากหลายมากจนกระทั่งรูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี ถ้ารูปใดเกิดจากกรรม รูปนั้นไม่ได้เกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากอุตุ ไม่ได้เกิดจากอาหารเพราะว่า สมุฏฐานที่จะทำให้รูปเกิดได้มี ๔ คือ รูปนั้นเกิดเพราะกรรมย่อมต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม อย่างอื่นจะทำให้เกิดไม่ได้ ถ้ารูปนั้นเกิดเพราะจิต กรรมก็ทำให้รูปนั้นเกิดไม่ได้ อุตุก็ทำให้รูปนั้นเกิดไม่ได้ ถ้ารูปนั้นเกิดเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน กรรมก็ไม่ได้ทำให้รูปนั้นเกิด เช่น ต้นไม้ใบหญ้า เมล็ดพืชต่างๆ กรรมไม่ได้ทำให้เกิดเลยแต่อาศัยอุตุที่พอดีสม่ำเสมอทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นได้ และในสิ่งที่เป็นมหาภูตรูปคือ รูปใหญ่ที่เป็นประธาน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมจะต้องมีกลิ่น จะต้องมีสิ่งที่กระทบตาได้ และต้องมีรส และในมหาภูตรูปนั้นยังต้องมีโอชารูปเกิดร่วมด้วย โอชารูปเป็นรูปที่เมื่อบริโภคเข้าไปภายในร่างกายจะทำให้เกิดรูปอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดเพราะอาหาร เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมไม่ได้เกิดเพราะอาหาร รูปที่เกิดจากกรรมจะป่วยไหม แต่ว่าอาหารเป็นพิษได้ไหม เพราะฉะนั้นอาหารจึงสามารถทำให้รูปเกิดขึ้น แข็งแรง หรือว่าป่วยไข้ เป็นโรคภัยต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมประโยชน์คือ ไม่มีเรา มีแต่ธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า ชีวิตนาม หรือชีวิตรูป คำว่า นาม หมายความถึง ธาตุรู้ คำว่า รูป หมายความว่า สิ่งที่มีแต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นแม้แต่รูปยังต่างกันคือ เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย หรือว่าเกิดเพราะอุตุเป็นปัจจัย หรือว่าเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัย หรือว่าเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย ทุกคนขณะนี้มีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปที่เกิดจากอาหาร แต่ละกลุ่มเล็กที่สุดไม่สับสนกัน รูปใดเกิดเพราะกรรมรูปนั้นเกิดทุกอนุขณะของจิต ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ "อนุ" หมายความว่า ย่อย เล็ก เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะยังมีความต่างคือ ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ขณะที่เกิด และดับ เพราะฉะนั้นขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่แล้วใครจะรู้ว่า กรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดทุกอนุขณะของจิต แต่ว่ารูปอื่นจะรู้ว่าเกิดเมื่อไหร่ อย่างไร ตามเหตุตามปัจจัย นี่คือเพื่อรู้ว่าไม่มีเรา และไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงความจริงซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นวาจาสัจจะ เพราะฉะนั้นฟัง และค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเราสักอย่างในสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวหมายความว่า ที่ไม่มีเรา และเป็นธรรม ในรายละเอียดที่ศึกษาเป็นธรรมอย่างไรก็ศึกษาให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่ละ ๑

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ไม่สงสัยในชีวิตรูปชีวิตนามนะคะ

    อ.อรรณพ สืบเนื่องจากการสนทนาธรรมเมื่อไม่กี่วันที่จังหวัดจันทบุรี มีผู้ร่วมสนทนาท่านหนึ่งสนทนากับท่านอาจารย์ซึ่งเป็นคำถามที่บางท่านอาจจะรู้สึกอย่างนั้นด้วย ท่านถามว่า ก่อนที่ท่านจะได้เข้าใจธรรม ท่านเหมือนได้รับปากตกลงว่า จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งแต่มาทราบภายหลังว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องตามคำสอน แต่เหมือนได้สัญญาไปแล้ว ตกลงไปแล้ว จะทำอย่างไรดี จะทำตามสัญญาดีไหม หรือจะผิดสัจจะ หรือเปล่า เพราะฉะนั้นคิดว่า ถ้าได้สนทนา และเข้าใจจริงๆ ในความจริงที่เป็นสัจจะย่อมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูล อยากจะเริ่มตั้งแต่เบื้องต้นก่อน คำที่เราไปสัญญากับคนอื่นไว้ว่า จะทำอย่างโน้น อย่างนี้ แต่มารู้ภายหลังว่าไม่ได้เป็นประโยชน์จริงๆ และไม่ได้ตรงตามคำสอนจริงๆ จะผิดสัจจะ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันคือเรื่องของคำพูด มีตั้งแต่ทั่วๆ ไป แล้วแต่ว่าจะพูดเรื่องอะไร แต่ตามความเป็นจริงคงไม่ลืมว่า แต่ละคำต้องมาจากจิตที่คิด เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเราก็ทราบว่า ก่อนที่จะศึกษาพระธรรมเราไม่มีความรู้อะไรเลย เราพูดแต่คำที่เราไม่รู้จักทั้งนั้น ไม่ว่าจะพูดคำว่า โลก หรือว่า ชีวิต หรือคำอะไรก็ตาม ทั้งหมดจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อไม่สามารถที่จะตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นพูดไปตามความหลง และความจำสืบเนื่องมานานแสนนานที่จะพูดทุกสิ่งทุกอย่างไปด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดทั่วๆ ไปแม้แต่คำจริงที่กล่าว เราก็บอกเพื่อนฝูงได้ว่า วันนั้นไปที่ไหน รับประทานอะไร จริงใช่ไหมก็พูดความจริง แต่ว่าจิตบางจิตแม้จะเป็นอกุศลก็มีความลึกล้ำ แทนที่จะพูดตรงกลายเป็นเรื่องอื่นสอดแทรกเข้ามาแสดงให้เห็นว่า สภาพของจิตใจยากที่จะรู้ได้จริงๆ แต่จะรู้ได้เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมว่า คำพูดต่างกันอย่างไร เช่น คำพูดทั่วๆ ไปว่า "เมื่อวานนี้ไปธุระ" ก็จริงแต่ถ้าไม่ได้ไปธุระแล้วบอกว่า "เมื่อวานนี้่ไปธุระ" เห็นไหมคำพูดนั้นก็ไม่จริงก็มาจากใจ

    เพราะฉะนั้น คำพูดจริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่เพราะเหตุว่า ถ้าทุกคนนั่งนิ่งๆ ไม่พูดเลย ใครจะรู้ว่าใจคิดอย่างไร หรือแม้แต่พูดแล้วยังต้องรู้อีกว่า ขณะนั้นคนพูดเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูก คำพูดนั้นจึงพูดในลักษณะนั้นได้โดยตัวเองอาจจคิดว่าเข้าใจถูกต้องแต่ความจริงไม่ถูกต้อง เช่น บางคนพูดถึงสติปัฏฐานแต่ว่าไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น พูดถึงวิปัสสนาแต่ไม่รู้อะไรแต่ก็พูด พูดแล้วยังทำด้วยตามความเข้าใจที่ผิด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องใหญ่แต่ทั้งหมดต้องทราบว่า มาจากจิต จิตสำคัญที่สุดที่จะทำให้มีการกระทำ และคำพูดต่างๆ แต่วาจาสัจจะ หรือสัจจะวาจาที่เป็นพระพุทธพจน์เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสจะมีคำที่ไม่จริงได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นพระพุทธพจน์ทุกคำเป็นคำจริง

    ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะได้ฟังธรรมเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เช่นบอกว่า ต้นไม้ จริงใช่ไหมแต่ความจริงของต้นไม้คืออะไร นั่นคือ ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ทุกคำที่แสดงถึงความจริงของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริง นั่นเป็น "วาจาสัจจะ" คำจริงที่เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะได้ศึกษาธรรม ทุกคนพูด และทุกคนทำด้วยความไม่รู้ ด้วยความติดข้องในความเป็นเรา ด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นหลายคนบอกว่า เขาเคยบ่น มีใครไหมที่ไม่เคยตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ ณ วันนี้ หรือหลังจากที่ได้ฟังธรรมแล้วแต่คงเคยเดือดร้อนใจ ต้องการที่จะให้ความเดือดร้อน หรือความทุกข์นั้นหายไปจึงบ่น บ่นอะไรก็แล้วแต่ตามความคิด ความเชื่อถือโดยที่ไม่รู้เหตุผลเลยว่า สามารถจะเป็นจริงอย่างนั้นได้ หรือไม่ แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นจริงตามที่ขอ หรือหวังไม่ใช่เพราะการบ่น แต่เป็นเพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้วซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เพราะความไม่รู้จึงคิดว่าอาศัยการบ่น เพราะฉะนั้นจน ณ บัดนี้ หลายท่านซึ่งก่อนจะได้ศึกษาธรรมก็ได้กล่าว อาจจะเป็นคำสัญญา หรืออะไรก็ได้กับเพื่อนฝูงมิตรสหาย แต่หลังจากศึกษาธรรมแล้วย่อมเห็นว่า สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง และไม่เป็นประโยชน์แต่ยังเดือดร้อนใจในคำที่ได้กล่าวไปแล้ว

    แต่ตามความเป็นจริงทั้งหมดที่ถูกต้องที่สุดคือ วาจาสัจจะ พระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงความจริงแท้ของทุกสิ่งทุกอย่างว่า "กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล" เพราะฉะนั้นที่เคยผ่านมาเป็นอกุศลแล้วจะปล่อยให้เป็นอกุศลเพราะสัญญา หรือคำพูดที่ได้กล่าวแล้ว หรือว่าเพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่เป็นอกุศลแม้เป็นคำพูดที่ได้กล่าวแล้วแต่ควรทำในสิ่งที่เป็นกุศลเพราะว่า เป็นหนทางที่จะไม่นำความเดือดร้อน หรือความทุกข์ใดๆ มาให้เลย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องซึ่งต้องพิจารณา ไม่ใช่พูดไปแล้วต้องทำ หรือบางคนบอกว่า "เพื่อทดแทนบุญคุญ" ก็จะให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่อย่าลืม บุญคุณ คุณของสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นจะตอบแทนต้องด้วยการทำความดี ตอบแทนคุณความดี ไม่ใช่ไปทำความชั่วเพื่อตอบแทนว่า เขาเคยช่วยเหลือมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องตอบแทนบุญคุณ แต่นั่นไม่ใช่บุญคุณ และโดยเฉพาะการกระทำชั่วไม่ใช่เป็นการตอบแทนบุญคุณของใคร ถ้าคิดจะตอบแทนบุญคุณของใครคือ ความดีที่คนอื่นได้ทำต่อตนย่อมต้องทำความดีเท่านั้นเป็นการตอบแทน คงจะทำให้สบายใจขึ้นไม่ต้องห่วงใยเพราะควรห่วงใยว่า ถ้าไปทำความชั่วต้องได้รับผลแน่ๆ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความจริง ความเข้าใจนี้จะทำให้สบายเพราะว่า จะไม่ไปกังวลกับสิ่งที่เราเคยเข้าใจผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังดูแม้ว่าจะเป็นเหมือนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ทำความกังวลใจให้เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ถูกต้องคือ เมื่อถูกต้องแล้วเป็นฝ่ายดีจะเป็นฝ่ายชั่วไม่ได้ เราอาจจะใช้คำว่า "คุณธรรม" แต่คนก็ไม่เข้าใจคุณธรรม คุณธรรมมีเยอะแยะ คุณธรรมอะไรบ้าง แต่ถ้าบอกว่า สิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่สิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะฉะนั้นใช้คำง่ายๆ ความถูกต้องคือ ความดี ซึ่งอีกภาษาหนึ่งคือ คุณธรรมนั่นเอง

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์การจะเป็นผู้ที่มีสัจจะคือ เป็นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยความตรง และความจริงใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คำว่า สัจจะ เป็นบารมีด้วย แม้แต่สัจจะก็เป็นบารมีเพราะสัจจะเป็นความจริง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างตรงต่อความจริงย่อมจะไม่เข้าใจผิดจากความเป็นจริงไปได้ เพราะฉะนั้นจากการศึกษาธรรมเป็นการศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นผู้ฟังทุกคนที่จะเข้าใจความจริงได้ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    23 ธ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ