ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๒๘

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจความหมาย จะเห็นได้ว่า ที่เราคิดว่าจิตเป็นสภาพที่สำคัญมากมาย แท้ที่จริงถ้าปราศจากอารมณ์หรืออาลัมพนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตยึดหน่วงที่จะเกิดแล้วละก็ จิตเกิดไม่ได้เลย แม้แต่สิ่งที่ดูสำคัญ เป็นมนายตนะ เป็นอินทรีย์ เป็นมนินทรีย์ แต่ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ อารมณ์ แล้วตามข้ออุปมาที่ว่า จิตเหมือนกับคน ทุพลภาพ เหมือนคนชราไร้เรี่ยวแรง เวลาที่จะลุก จะนั่ง จะเคลื่อนไหว ก็ต้องอาศัยเครื่องยึดหน่วง คือ เชือกหรืออะไร สำหรับที่จะโหน ทำให้ลุกขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นคนชราที่ทุพลภาพ ก็จะเห็นคำอุปมาที่ทำให้เข้าใจลักษณะของจิตว่า อารมณ์เหมือนกับเชือกซึ่งหน่วงให้จิตเกิด ทำให้จิตยึดแล้วก็เกิดขึ้นได้

    แสดงว่าให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยปัจจัยจริงๆ แม้แต่จิตถ้าปราศจากอารมณ์ก็เกิดไม่ได้ แล้วเมื่ออารมณ์มี จิตกำลังรู้อารมณ์แล้ว ปรากฏว่าจิตนั้นเองก็พอใจในอารมณ์ทุกอารมณ์ที่จิตรู้ เป็นอารัมมณะ หรืออารามมะ เป็นที่ยินดี ที่พอใจของจิต

    จะเห็นได้ว่า จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ และมีความพอใจที่จะรู้อารมณ์ด้วย ขณะนี้ที่เห็นทางตา เกือบจะไม่รู้สึกเลยว่า พอใจแล้วที่เห็นในรูปที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเลยว่าวิถีจิตสั้นๆ ที่เพียงเห็นแล้วจะเกิดความยินดีพอใจได้อย่างไร ก็เพราะเหตุว่าอารมณ์ทุกอารมณ์เป็นอารัมมณะ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจ จิตยินดีพอใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    ทางหู เสียงนิดเดียว เกือบจะไม่รู้เลยว่า ไม่ว่าจะอะไรก็ตามที่เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีความพอใจในอารมณ์นั้นแล้ว ช่างรวดเร็ว แล้วก็เป็นไปโดยที่ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า ไม่พอใจในรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ส่วนที่ไม่พอใจก็เป็นอนิษฐารมณ์ คือ อารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจก็เป็นของธรรมดาอีก ซึ่งอารมณ์ก็ต้องมีทั้งอารมณ์ที่ดี และอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์ที่ไม่ดีอย่างเดียว หรือว่ามีแต่อารมณ์ที่ดีอย่างเดียว ต้องมีอารมณ์ที่ดีก็มี อารมณ์ที่ไม่ดีก็มี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งใดที่เป็นอารมณ์ จิตก็มีความต้องการหรือว่าพอใจในอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ในเรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งก็รู้สึกจะทำให้รู้สึกว่า อิ่มในเรื่องสติปัฏฐานขึ้นอีกสักเล็กน้อย เพราะว่าที่แล้วๆ มาเราไม่ได้ปล่อย หรือเราไม่ได้ใช้เวลา หรือให้โอกาสที่จะมาพูดกันถึงเรื่องสติปัฏฐานมากนัก

    สรุปลักษณะจิตอันที่ ๑ เสร็จแล้ว คือรู้แจ้งอารมณ์ ก็มาบวกกับการใช้เจริญสติปัฏฐานอย่างไร ก็ไปได้ไกลมาก

    ข้อที่ ๒ คือ เป็นที่ชื่อว่า จิต เพราะสะสมสันดานตนด้วยสามารถแห่งชวนะวิถี เราก็ยังไม่ได้ขึ้นคำว่าวิถีเลย เฉพาะคำว่าวิถีคำเดียว

    ผู้ฟัง จิต หรือวิถีจิต จิตเราก็เข้าใจแล้ว คำว่าวิถีจิต ก็แนวทาง ถ้าเป็นวิถีจิตก็แนวทางของจิต จิตจะเกิดขึ้นจะต้องดำเนินไปอย่างนี้ เป็นไปตามขั้นตอน เหมือนว่า เมื่อสีมากระทบอารมณ์แล้ว อาวัชชนะจิตก็เกิดขึ้น เมื่ออาวัชชนะจิตเกิดขึ้น จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้น จิตจะต้องเป็นไปโดยแนวทางอย่างนี้ ท่านจึงเรียกอีกอย่างว่า จิตนิยาม เป็นของที่แน่นอน จะต้องเดินทางนี้ จะต้องเป็นไปอย่างนี้เสมอ คำว่า “วิถี” หมายความว่าแนวทางของจิตนั่นเอง

    ผู้ฟัง ทีนี้วิถีจิตก็เป็นแนวทางของจิต

    ผู้ฟัง ใช่ แนวทางของจิตที่จะต้องดำเนินไปอย่างนี้ เพราะว่าวิถีเราแปลได้หลายอย่าง บางทีก็แปลว่าทาง แต่ก็เหมือนอย่างวิถีทางที่เขาบอก หรือแปลว่าแนว หรือแนวทาง หมายความว่าแนวทางของจิต แนวทางของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงจะต้องดำเนินไปอย่างนี้ เรียกว่าแนวทางของจิต

    ผู้ฟัง วิถีจิตคืออะไร

    ท่านอาจารย์ อย่างที่อาจารย์บอกว่าเป็นทาง หรือว่าเป็นแนวทาง แต่ก็ต้องทราบว่าทางมีกี่ทาง และอะไรเป็นทาง คือ ทุกคำที่ผ่านมาก็ควรจะพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ถ้าพูดถึงทางของจิตที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ก็จะต้องมีทางตา๑ ทางหู๑ ทางจมูก๑ ทางลิ้น๑ ทางกาย๑ ทางใจ๑

    เพราะฉะนั้น ก็สอดคล้องกันที่ว่า ถ้าเป็นวิถีจิตที่เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ และภวังค์

    เราก็แยกชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนตายได้ว่า ขณะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นเพียงชั่วขณะแรกขณะเดียวที่แสนสั้น ซึ่งกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรม ทำให้จิตที่เป็นวิบากประเภทนี้เกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นในภูมิมนุษย์ซึ่งเกิดในครรภ์ หรือว่าจะไม่ใช่ภูมิมนุษย์ก็ตามแต่ การเกิดในครรภ์ของสัตว์ ขณะนั้นก็ยังไม่มีรูปร่างครบ เพราะฉะนั้น ก็มีกลุ่มของรูปเล็กๆ เล็กมาก พร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู ไม่ใช่จมูก ไม่ใช่ลิ้น แต่มีกายปสาทรูปกลุ่มหนึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ คือ หทัยรูป แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวะรูป

    อันนี้ก็เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ยังไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย ขณะสั้นๆ ขณะเดียว โลกนี้เป็นอย่างไรไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัสโลกนี้เลย แต่หลังจากนั้นเมื่อภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ก็ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่การที่จะเห็นโลกนี้ได้ต้องอาศัยตา การที่จะได้ยินโลกนี้ หรือเสียงของโลกนี้ต้องอาศัยหู เพราะฉะนั้น จึงมีทางหรือทวารซึ่งวิถีจิตจะเกิด

    ด้วยเหตุนี้ก็แยกคร่าวๆ เป็นชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตประเภทหนึ่ง จำพวกหนึ่ง กับจิตที่เป็นวิถีจิตอีกจำพวกหนึ่ง ถ้าเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแล้วจะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ

    ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ ขณะที่เราเกิดมาแล้วผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถจะไปทบทวนได้ แต่ชีวิตประจำวันจะมีขณะที่หลับสนิท ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีการรู้เลยว่า อยู่โลกไหน ชื่ออะไร มีญาติพี่น้องเท่าไร เป็นใคร นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตหรือ ทางภาษาบาลีก็ใช้คำว่าทวารวิมุตติ ทวารวิมุตตจิต หมายความว่า จิตนี้ คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ไม่ต้องอาศัยทวาร พ้นจากทวาร จึงเป็นทวารวิมุตติ แต่เวลาตื่นที่ใช้คำว่าตื่น รู้ว่าอยู่ที่ไหน โลกมนุษย์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ พระจันทร์ต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็คิดนึก แล้วก็ถึงขณะที่หลับสนิท ก็ไม่รู้อีก ก็เป็นอย่างนี้ ตื่นขึ้นมาในโลกนี้ ๑๒ ชั่วโมง หรือกี่ชั่วโมงก็ตามแต่ แล้วก็กลับไม่รู้จักโลกนี้อีก แล้วก็ตื่นขึ้นมาอีก แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของจิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ที่เป็นทวารวิมุตตจิต

    ผู้ฟัง สำหรับเรื่องของจิตที่เป็นภวังคจิต ที่เป็น ๓ ลักษณะที่ว่านี้ จำเป็นไหมที่ว่าจิต ๓ ลักษณะนี้ ที่ว่าไม่รู้แล้วทำไมจึง สามารถที่จะมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราว แล้วสามารถที่จะบอกให้พวกเรารู้ได้ว่า ลักษณะ อดีตภวังค์เป็นอย่างนั้น ลักษณะที่เป็นภวังคจลนะเป็นอย่างนั้น ขณะที่ภวังคุปัจเฉทเป็นอย่างนั้น ทำไมเราจึงรู้ได้ เพราะเหตุใด อันนี้คงจะเป็นเพราะว่าเราอาศัยอะไรเหตุอะไร เราจึงสามารถที่จะมาเรียนกันอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ที่ว่ารู้ได้ คงจะต้องเป็นเพียงรู้ได้ตามหนังสือ ไม่มีใครที่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็นหรือกำลังได้ยินก็เหมือนพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะไปรู้ลักษณะที่ต่างกันของภวังคจลนะกับภวังคุปัจเฉทะ แต่ที่เราเคยได้ยินคำว่าภวังค์ แล้วก็ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรม บางคนก็อาจตีความหมายไปต่างๆ อย่างคนนั่งเฉยๆ ไม่พูดไม่จา เขาก็บอกว่าคนนี้เข้าภวังค์แล้ว หรืออะไรอย่างนี้ แต่ว่าต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องทราบว่า ภวังค์ หมายความถึงจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทำหน้าที่ของตนแล้วดับ ซึ่งเร็วที่สุด แทบจะว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปนับได้ อย่างนับอายุของรูปซึ่งเกิดดับเร็วว่า เกิดดับเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปหนึ่งจึงดับ

    เพราะฉะนั้น ที่จะไปรู้ความละเอียดของจิตทั้งหมด ต้องอาศัยเหตุผลการพิจารณา และประโยชน์ว่า รู้ทำไม มีประโยชน์อะไรในการที่จะเรียนเรื่องจิตต่างๆ เหล่านี้ เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ขอย้อนไปพูดถึงการสะสมของจิต ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าทุกคน ประโยคนี้สั้นๆ แล้วก็อยู่ในตำราที่ว่า จิตเกิดดับสะสมหรือสั่งสมสันดานของตน แต่ที่ถูกแล้วชีวิตประจำวันพิจารณาให้เห็นการสั่งสมของจิต แม้แต่ขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ก็คือกำลังสั่งสมความสนใจในพระธรรม หรือการเข้าถึงลักษณะของจิต ซึ่งแม้ว่าจิ เจ รุ นิ มีอยู่เพียงคำสั้นๆ ๔ คำ จิ เจ รุ คือ จิต เจตสิก รูป ๓ คำ ที่ย่อจาก จิต เป็น จิ เจตสิกมาเป็น เจ ย่อจากรูปมาเป็น รุ ยิ่งสั้นลงมาใหญ่ ก็ยังไม่รู้ แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏ ก็ยังจะต้องอยู่กับ ๓ คำ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ต้องเข้าใจว่าก่อนอื่น พิสูจน์ธรรมในชีวิตประจำวัน ภวังคจิตมีแน่นอน แต่ว่าเวลานี้ก็มีภวังคจิตเกิดสลับระหว่างวิถีวาระหนึ่งกับอีกวาระหนึ่งที่เห็น เพราะว่าจะเห็นกับได้ยินพร้อมกันไม่ได้

    ระหว่างเห็นกับได้ยินต้องมีภวังคจิตแล้ว แต่ก็ไม่รู้อีก ใช่ไหม ภวังคจิตระหว่างวาระที่เห็นกับวาระที่ได้ยิน หลายขณะมาก เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะไปรู้อดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปเฉทะ

    แต่ให้ทราบว่าวิถีนับภวังค์ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ขณะแรกที่เกิดขึ้นดับไปอย่างเร็วที่สุดนั้น กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ทำให้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นทำให้ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ขณะแรกเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต แล้วหลังจากนั้นมา เหมือนกระแสน้ำซึ่งไม่มีใครจะไปจับ ไปวัดได้เลยว่า น้ำที่ไหลไปมีจำนวนอณูเท่าไร

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อกันของภวังค์เป็นกระแส ระหว่างซึ่งยังไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาที่อารมณ์จะปรากฏแต่ละครั้ง ในขณะที่จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะมีขณะนี้ ที่ทุกท่านกำลังเห็น เวลานี้เห็น แต่ให้ทราบว่าก่อนเห็นต้องมีภวังค์ หรือว่ากำลังได้ยินก็ตาม ก่อนได้ยินก็ต้องมีภวังค์ เรียกว่าระหว่างที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ต้องมีภวังคจิต และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นรูปซึ่งมีลักษณะที่จะปรากฏก็ต่อเมื่อกระทบกับปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับรูปนั้นๆ ได้ เช่น ทางตาในขณะนี้ ทุกคนเห็นแล้ว ก็มาพิจารณาว่า ที่กำลังเห็น มีรูปที่กำลังปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท แสดงว่าจักขุปสาทต้องมี ถ้ามีคนตาบอดนั่งอยู่ที่นี้ ไม่มีทางที่สีสันวัณณะในขณะนี้จะกระทบกับจักขุปสาท หรือว่ามีจิตเห็นได้

    ในขณะนี้เอง มีจักขุปสาทแน่นอน แล้วก็มีรูปที่กระทบ แต่เวลาที่รูปกระทบกับจักขุปสาทในขณะนั้น จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ กำลังเป็นกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้น รูปก็เกิดดับเร็วมาก แทบจะกล่าวได้ว่าพอกระทบแล้ว ไม่เท่าไรแล้วก็ดับ

    การที่จะรู้ว่า ก่อนรูปที่มีอายุสั้นเหลือเกินจะดับ จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานอะไรบ้างในขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะแสดงว่า รูปนั้นเกิดแล้วกระทบกับปสาทรูปขณะนั้นที่กระทบเป็นอดีตภวังค์ คำเดียวก่อน คือ อดีตภวังค์ ถ้าเห็นอดีตภวังค์ที่ไหนในพระไตรปิฎกหรือว่าในอรรถกถา ก็ให้ทราบว่าต้องเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ ต้องมีอารมณ์ที่มากระทบกับปสาทรูปนั้น เพราะเหตุว่าการที่มีอดีตภวังค์ ก็จะแสดงว่า รูปนั้นจะมีอายุต่อไปอีกกี่ขณะของจิต แล้วก็ดับ เพราะว่าไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ รูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะเท่านั้น รูปจะกระทบตา หรือไม่กระทบตา รูปก็มีอายุอย่างสั้นมากเพียงแค่ ๑๗ ขณะ

    ขณะที่เห็นคำว่า อดีตภวังค์ แสดงให้ทราบว่า เป็นรูปที่กระทบกับปสาทรูป เช่น สีสันวัณณะกระทบกับจักขุปสาท หรือว่าเสียงกระทบกับโสตปสาท ขณะที่เกิด และกระทบขณะนั้นเป็นอดีตภวังค์

    ผู้ฟัง ในขณะนี้ก็มีอดีตภวังค์อยู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น ก่อนเห็นต้องมีภวังค์ ภวังค์ที่ยังไม่ถูกกระทบเลย แล้วเวลาที่รูปเกิดกระทบ ขณะนั้นเป็นอดีตภวังค์

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ มีอดีตภวังค์อยู่ แต่ว่าอดีตภวังค์นั้นท่านอาจารย์รุ่นเก่าๆ บอกว่า มีอารมณ์ของภพก่อนอยู่ ก็แสดงว่า นั่งอยู่นี้ก็มีอารมณ์ของภพก่อนอยู่ด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คือว่าไม่ใช่ว่านั่งอยู่นี้มีอดีตภวังค์ อันนี้ต้องเข้าใจความต่างกัน นั่งอยู่นี้ไม่ใช่มีอดีตภวังค์ เป็นภวังคจิต ระหว่างที่ไม่มีการกระทบอารมณ์ใดๆ เลย

    ผู้ฟัง หมายความว่ามีภวังคจิตอยู่ในขณะที่นั่งอยู่ขณะนี้ใช่ไหม มีภวังคจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตาม ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต ภวังคจิตเท่านั้น ยังไม่ใช้คำว่าอะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่แยกเป็น ๓ อย่าง

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่า อดีตภวังค์ไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ในช่วงนี้ยังพูดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่รูปไม่กระทบกับปสาทรูป เป็นภวังคจิต

    ผู้ฟัง แสดงว่าภวังคจิตนั้นอยู่ในขณะนี้ที่เรานั่งอยู่ มีภวังคจิตเกิดสลับอยู่กับจิตที่ขึ้นสู่วิถีอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่สิ้นชีวิต แล้วยังไม่มีการเห็น การได้ยิน ต้องมีจิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ แต่ละขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทีละขณะสั้นๆ ทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติอยู่

    ผู้ฟัง อันนี้อธิบายได้ไหมว่า ภวังคจิต ความรู้สึกของภวังคจิต ในขณะนี้ มีความผ่องใส มีความสบาย มีความรู้สึกอย่างไร เราอธิบายในลักษณะเป็นภาษาพูดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง เพราะเหตุว่าเมื่อไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ จะเห็นอะไร เราสุขเราทุกข์เพราะเห็น เราสุขเราทุกข์เพราะได้ยิน สุขทุกข์เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิด ไม่ฝัน ขณะนั้นสุขหรือเปล่า จะใช้คำว่าอะไร เพราะเหตุว่าอารมณ์ไม่ปรากฏเลยเหมือนคนที่กำลังหลับสนิท เวลาที่หลับสนิทไม่รู้จักโลกนี้ ไม่รู้จักตัวเองเป็นใครที่ไหนอย่างไรก็ไม่ทราบ

    ถ. จุติจิตเกิด แล้วก็ปฏิสนธิ แล้วก็มีภวังคจิต ในภวังคจิต มี ๓ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จะไปในภวังคจิตมี ๓ ขณะ นี้ไม่ได้ อันนี้ต้องเข้าใจว่า จิตขณะ หนึ่งมีอายุที่สั้นมาก คือ อนุขณะ ๓ ขณะ ในจิตดวงหนึ่ง มีอนุ ๓ ขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น อุปาทขณะ ฐีติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่ ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิตก็มี ๓ ขณะ ภวังคจิตก็มี ๓ ขณะ จักขุวิญญาณจิตก็มี ๓ ขณะ จิตในภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้น ขณะที่ย่อยกว่าขณะหนึ่งก็คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมี ๓ ดวงเล็กๆ อยู่ในดวงใหญ่ๆ ทำเป็นรูปกลมๆ เล็กๆ ๓ วงอยู่ในวงใหญ่ ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่ให้ทราบว่า อายุของจิตที่ว่าสั้น ก็ยังสามารถที่จะซอยแบ่งแยกความต่างกันเป็น ขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่

    ในขณะที่เกิดก็ยังเป็นจิตนี้เอง ดวงเดียว สั้นมาก ขณะเดียวนั่นเอง แต่ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ

    นี่คือการแสดงพระธรรมด้วยพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งสิ่งที่ดับเร็วเหลือเกิน ยังแสดงความต่างของขณะย่อยว่า ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ แล้วต่อไปก็จะมีความละเอียดถึงกับว่า รูปใดเกิดในอุปาทขณะ หรือรูปใดเกิดในฐีติขณะ รูปใดเกิดในภังคขณะ ที่ในจิตดวงหนึ่งจะมีอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปเฉท ในจิตดวงหนึ่งนี่ไม่มี

    ระหว่างที่จิตไม่มีการเห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่คิดนึก แม้แต่ฝันก็ไม่มี ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตหมายความถึงจิตซึ่งดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะจุติ จนกว่าจะตาย แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย ทุกคนก็จะต้องมีการเห็น การได้ยิน คั่นแทรกภวังคจิต

    ก่อนได้ยินจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ก่อนเห็น

    ผู้ฟัง ก่อนเห็นเป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ก่อนคิดนึก

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ หลังปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ก่อนจุติจิต

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ จุติจิตแล้ว

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ จุติจิตแล้วต้องเป็นปฏิสนธิจิตทันที

    ผู้ฟัง ต้องไม่มีภวังค์คั่น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีภวังค์คั่นระหว่างจุติกับปฏิสนธิเลย ทันทีที่จุติจิตดับ เป็นอนัตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะร้องไห้เสียใจเพราะใครสิ้นชีวิต ก็ให้ทราบว่าเขาเกิดแล้ว แล้วก็ครอบครัวนั้นก็อาจจะดีใจ มีสมาชิกใหม่ แต่ว่าครอบครัวก่อนก็โศกเศร้าเสียใจ สมาชิกหายไปคนหนึ่ง หรืออะไรอย่างนั้น แต่ความจริงไม่มีวันที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนสภาพ

    ผู้ฟัง เมื่อจุติจิตแล้ว ก็ต้องปฏิสนธิจิต ไม่มีภวังค์คั่น จิตที่ไม่มีภวังค์คั่นก็เช่นจิตในฌาน ในฌานจิต แล้วก็ในมรรคจิต จะไม่มีภวังค์คั่น อันนี้ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ แต่นั่นเป็นพวกวิถีจิต เรายังไม่พูดถึง เราพูดถึงก่อนที่วิถีจิตจะเกิด หมายความว่า หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก่อนวิถีจิตจะเกิด ก็ต้องเป็นภวังค์ เวลาที่จุติจิตดับ แล้วก็ไม่ใช่ภวังค์จะเกิดได้ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตต้องเกิดต่อ

    นี่พูดถึงก่อนวิถีจิตทั้งหมด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ