ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๔๐

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เราก็เรียกชื่อจิตซึ่งเกิดต่อจากปฏิสนธิว่าภวังค์ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงขณะที่รูปกระทบกับทวาร เมื่อกระทบกับทวารแล้วก็กระทบกับจิตด้วย จึงจะมีการเห็น หรือว่าจิตขณะต่อไปจึงจะรู้อารมณ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ได้

    รูปซึ่งกระทบกับทวารใด ทวารนั้นเราก็เรียกชื่อว่า “อดีตภวังค์” ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแสดงอายุของรูปนั่นเองว่า รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปนั้นจะไปดับที่จิตขณะไหน บางทีบางวาระวิถีจิตไม่เกิดเลยก็ได้ บางวาระวิถีจิตก็เกิดไม่หมดไม่ครบ เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่า ที่ใช้คำว่าอดีตภวังค์เป็นการแสดงอายุของรูป นี่ให้ทราบไว้ด้วย และเมื่ออดีตภวังค์ ดับไปแล้วภวังค์ดวงต่อไปก็ไหว เพื่อที่จะรับอารมณ์ใหม่ และภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว เป็นการสิ้นสุดกระแสภวังค์ ต่อจากนั้นวิถีจิตต้องเกิด เพราะว่าตั้งแต่ปฏิสนธิตลอดเรื่อยมา จนถึงภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะว่ายังไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ใหม่

    ทีนี้เมื่อรู้อารมณ์ใหม่ โดยการที่วิถีแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่แสดงให้เห็นว่า ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าเป็นจิตชาติกิริยา จะต้องจำแนกไปจนถึงชาติของจิตที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งกิจของจิตนั้นว่า จิตที่เกิดขณะนี้ไม่ใช่วิบากจิตเหมือนอย่างปฏิสนธิ และภวังค์อีกต่อไป แต่เป็นกิริยาจิต คือ จิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง ๕ ได้ แล้วก็จิตดวงนี้ก็ทำกิจอาวัชชนะ คือ รำพึงหรือรู้อารมณ์ที่กระทบทวารโดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้รู้อารมณ์ทางจิตอื่นๆ เลย แล้วก็ดับ

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นการเกิดดับสืบต่อของจิต แต่ที่ใช้ชื่อเพื่อให้เข้าใจว่า เราคิดว่ามีตัวเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริงแล้วเป็นกระแสของจิตซึ่งจะต้องเกิดดับสืบต่อ แล้วเพื่อที่จะให้เราเข้าใจความละเอียด และการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละประเภทจึงได้ทรงแสดงว่า เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ จิตต่อไปเป็นวิบากจิต ๑ ใน ๑๐ ดวง คือ จะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิตหนึ่งจิตใดก็ได้ที่ทำกิจเห็นทางตา หรือทำกิจได้ยินทางหู ทำกิจได้กลิ่นทางจมูก ทำกิจลิ้มรสที่ลิ้นเลย ทำกิจรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ในขณะนี้เป็นการที่จะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพที่กำลังมีจริงๆ แล้ว กำลังรู้อารมณ์ ให้ทราบว่าขณะนี้กำลังรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ หรือทวิปัญจวิญญาณซึ่งเกิดต่อ ดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปก็ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วจิตนี้ทำกิจอะไร ไม่ได้ทำกิจอาวัชชนะเหมือนอย่างปัญจทวาราวัชชนะ แล้วก็ไม่ได้ทำทัศนกิจ สวนกิจ พวกนั้นเลย แต่จิตดวงนี้เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้น ก็ชื่อว่าสัมปฏิจฉันนจิตดับไป เมื่อดับไปแล้วก็ต้องมีจิตเกิดต่อ ที่จะไม่ให้จิตเกิดต่อเป็นไปไม่ได้เลย แล้วจิตที่เกิดต่อไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ เพราะเหตุว่าสัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนั้นรับอารมณ์ต่อ นั่นคือสัมปฏิจฉันนจิต

    เมื่อสัมปฏิฉันนจิตดับแล้ว จิตต่อไปทำสันตีรณกิจ ซึ่งเร็วมาก เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วเราใช้คำว่าไต่สวนพิจารณา หรือว่าใคร่ครวญ จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่าจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตทำกิจรับอารมณ์นั้นแล้ว จิตต่อไปไม่ต้องรับอารมณ์นั้น เพราะเหตุว่าสัมปฏิจฉันนจิตรับแล้ว เมื่อรับแล้วดับจิตต่อไปก็รู้ คือ สามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพของอารมณ์

    จึงมีที่สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบากรู้อนิฏฐารมณ์ แล้วก็ที่เป็นกุศลวิบากก็รู้อิฏฐารมณ์ ที่เป็นโสมนัสสัน ตีรณกุศลวิบากก็รู้อติอิฏฐารมณ์

    นี่คือเป็นสภาพของจิต เกิดขึ้นเป็นวิบากจิต จะต้องทำกิจสืบต่อกัน แล้วก็ไม่ต้องใช้เวลามาก เท่ากัน อายุของสัมปฏิจฉันนจิตก็เท่ากับอายุของสันตีรณจิต แต่ว่าโดยฐานที่เกิด เกิดที่หทยวัตถุ แต่ว่าเมื่อเวลาที่จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำกิจเห็นที่จักขุปสาท ถ้าเป็นโสตวิญญาณทำกิจได้ยินก็ทำกิจที่โสตปสาทรูป แต่ว่าสำหรับสัมปฏิจฉันนจิตทำกิจที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น เปลี่ยนฐานที่เกิด ซึ่งธรรมดาให้เข้าใจว่า จิต ส่วนใหญ่แล้วเกิดที่หทยวัตถุ อันนี้เป็นของที่แน่นอนที่สุด ที่ไม่ต้องคำนึงถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าปกติตั้งแต่ปฏิสนธิจิตก็เกิดที่หทยวัตถุ แต่ว่าหทยวัตถุนั้นไม่ใช่ว่าเที่ยง หทยวัตถุก็เกิดดับ เพราะฉะนั้น หทยวัตถุใดซึ่งยังไม่ดับ หทยวัตถุนั้นก็เป็นที่เกิดของจิต เว้นจิต ๑๐ ดวง

    นี่แสดงให้เห็นความต่างของการรู้อารมณ์ ซึ่งทำกิจต่างกันว่า ถ้าทำทัศนกิจแล้วจะเกิดที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากที่จักขุปสาท เห็นตรงนั้น อารมณ์กระทบตรงนั้น แล้วก็เห็นตรงนั้น ถ้าเป็นโสตวิญญาณก็ทำกิจได้ยินเสียง ตรงที่กระทบกับโสตปสาท แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วจิตก็เกิดที่หทยวัตถุ

    สัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ เกิดที่หทยวัตถุ สันตีรณะเกิดที่หทยวัตถุด้วย แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะเป็นขณะแรกที่หลังจากที่ทวิปัญจวิญญาณเกิดที่วัตถุ ๕ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะก็เกิดที่หทยวัตถุใหม่ทำกิจรับอารมณ์ ยังไม่มั่นคงพอเหมือนอย่างสันตีรณจิต ซึ่งสันตีรณจิตเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

    บางคนจะสงสัยถามว่า เจตสิกเท่ากัน แต่ทำไมต่างกันเป็นจิตนี้เป็นสัมปฏิจฉันนะ และจิตต่อไปเป็นสันตีรณะ แต่เพราะเหตุว่าทำกิจต่างกัน แล้วการพิจารณาอารมณ์ก็เร็วมาก เพียงสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรที่เราจะเข้าใจลักษณะของสันตีรณจิตได้ จะใช้คำอะไรดี

    ท่านอาจารย์ จะสรรหาคำใดๆ ก็คงจะไม่สามารถเข้าใจสันตีรณจิตได้ จะใช้คำว่าพิจารณา ก็คุ้นเคยกับการที่จะต้องดูนานๆ ใคร่ครวญไต่สวน หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่านี้เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งมีอายุเท่ากับจิตขณะอื่น ความรวดเร็วของการเกิดดับเท่ากัน เพียงแต่กิจของสันตีรณจิตนั้น ไม่ใช่กิจเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิต

    เหนือคำที่จะใช้ หมายความว่าใช้คำไหนก็ไม่เข้าใจ นอกจากเข้าใจลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมว่า เกิดดับสืบต่อกันอย่างนี้ เมื่อภาษาบาลีใช้คำว่า สันตีรณะ ถ้าเราจะไม่แปล แต่เราเข้าใจความหมายนั้นก็ได้ว่า ทำสันตีรณกิจ เพราะเหตุว่าถ้าใช้แล้วก็จะยุ่ง หรือว่าจะงง แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้ ไม่อย่างนั้นจะใช้คำอะไรแต่ใช้คำภาษาบาลีดีที่สุด คือไม่คลาดเคลื่อน แล้วถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็ต้องเข้าใจว่า ที่จะใช้คำว่าพิจารณา หรือใคร่ครวญไต่สวนสอบสวน อะไรก็ตามแต่ เป็นชั่วขณะจิตเดียวซึ่งสามารถที่จะรู้ในลักษณะของอารมณ์ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง สามารถเข้าใจสภาพของอารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ สามารถรู้ในอาการที่เป็นอนิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง โดยที่จิตก่อนหน้านั้นไม่สามารถจะรู้เหมือนสันตีรณะ

    ท่านอาจารย์ รับเท่านั้น

    ผู้ฟัง รับ ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง ขอเจริญพร กรรมฐานในอรรถกถา มหาสติปัฏฐานสูตรที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายเปรียบเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่าไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิตเปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือนสารถี เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน เราจะยืน วาโยธาตุที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้น อิริยาบถมีเดินเป็นต้น ย่อมเป็นไปเพราะความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต ต่อจากนั้นสัตว์ก็เดิน สัตว์ก็ยืน เรายืน เราเดิน ด้วยอานุภาพของตนเอง อันนี้ไม่ทราบว่าจะมนสิการอย่างไร ในการเจริญสติปัฏฐาน ทำลายฆนสัญญาลงได้

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดทุกคนก็ศึกษาโดยปริยัติว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่ถ้าจะใช้คำว่าจะทำ ก็ต้องผิดแล้ว เพราะเป็นเรื่องละ

    พระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระวินัยหรือว่าพระธรรม ต้องตั้งต้นด้วยการละทั้งหมด คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ละความไม่รู้ ละความเข้าใจผิด ละความเห็นผิด หรือถึงแม้พระวินัยก็ตามแต่ เป็นเรื่องของการละชีวิตของคฤหัสถ์ คือ ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะศึกษาพุทธศาสนาได้ผล ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ต้องเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่า ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อละ โดยมากที่คิดว่า เพื่อจะเอา หรือเพื่อจะได้ ตั้งต้นก็ผิด เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลยที่จะได้อะไร นอกจากได้อกุศล หรือว่าได้ความเห็นผิด หรือว่าได้โลภะ แต่นี่เป็นการที่จะสละหรือละทั้งหมด

    โดยขั้นการฟังทราบว่าไม่มีตัวตน ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว ไม่มีเราจะทำอีกต่อไป แน่นอนที่สุด มีแต่ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่เรื่องของจิตตชวาโยธาตุ คือ ธาตุลมซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ที่จะทำให้มีการนั่ง นอน ยืน เดิน หรือว่าเคลื่อนไหวก็ตาม ทรงแสดงเพื่อที่จะให้เห็นจริงๆ ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน

    ต้องทราบว่า ที่เรียนทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง บางคนก็บอกว่า เขาชอบปฏิบัติ นี่ก็ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วก็ผิดอีก ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย นอกจากเป็นผู้ที่รู้ว่า สติเกิดหรือหลงลืมสติ นี่คือปัญญา เพราะรู้ว่าไม่ใช่เราที่ระลึก แต่เป็นสติที่เกิดจึงระลึก เป็นเรื่องละตั้งแต่ตอนต้นทีเดียวเจ้าค่ะ

    ผู้ฟัง อันนี้จะทำอย่างไร จะให้ละความรู้สึกเป็นอัตตา ความรู้สึกว่าเป็นเราลงได้

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรนี่ใช้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นเรื่องทำ ต้องตั้งต้นใหม่เลยว่า เข้าใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เกิดแล้วอะไรจะละ โลภะก็ละไม่ได้ โทสะก็ไปละตัวตนไม่ได้ ความสงสัยก็ไปละตัวตนไม่ได้ เมตตาก็ไปละความเป็นตัวตนไม่ได้ ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน นอกจากปัญญาอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องชีวิตปกติธรรมดาที่จะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น แล้วก็รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะว่าไม่ใช่เราเป็นมรรค ๘ หรือไม่ใช่เราเป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่เจตสิก ๘ ประเภท ซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าต้องการอะไร แต่ให้ทราบความจริงว่า ขณะใดที่สติเกิด คือขณะที่กำลังระลึก แล้วก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในขณะนี้ นี่คือการเริ่มละ คือ ไม่ใช่เราที่จะทำเพื่อจะให้ได้อะไร แต่เป็นการเริ่มละด้วยการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่สติเกิดก็รู้ว่าไม่ใช่เรา นั่นคือความละการยึดถือสติว่า เป็นเราที่จะทำ

    ผู้ฟัง เรื่องโสมนัสสันตีรณะเป็นวิบากจิตซึ่งก็ต้องเป็นผลของกรรม ทีนี้ผลของกรรมที่เป็นกุศล ที่สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็มีอุเบกขาสันตีรณะกับโสมนัสสันตีรณะ กุศลกรรมก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประณีต และก็กุศลที่ประณีต เพราะฉะนั้น ผลของเขาที่เกิดมาก็จะต้องมีทั้งผลที่ประณีต และไม่ประณีตอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงทางฝ่ายกุศล อารมณ์ก็ประณีตกว่า

    ผู้ฟัง อย่างอารมณ์ที่ประณีตอย่างเช่น พระสุรเสียงของสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่ดี ที่น่าพอใจ ในยุคนี้เราไม่มีโอกาสที่จะได้ยินแล้ว ทีนี้ความจริงเสียงอะไรต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่รูป เป็นอัพยากตธรรม ไม่น่าจะมากำหนดกันว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แม้แต่พระสุรเสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่ทราบว่าเอากฎเกณฑ์อะไรมากำหนดว่า อันนี้เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นเสียงที่ดีเป็นสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไปวัด แต่หมายความว่า โดยลักษณะสภาพของสิ่งที่มีจริง ต้องต่างกันเป็น ๒ อย่าง สิ่งที่มีจริงที่เป็นรูปที่น่าพอใจก็มี ที่ไม่น่าพอใจก็มี หรือว่ามีแต่เพียงรูปๆ เดียวที่น่าพอใจเท่านั้น หรือว่ามีแต่รูปประเภทเดียวซึ่งไม่น่าพอใจอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกันโดยสภาวะของรูป

    ท่านอาจารย์ ต่างกันโดยสภาวะของรูปนั้นเอง ยกตัวอย่างกลิ่นก็ได้ กลิ่นมีหลายกลิ่น กลิ่นบางกลิ่นก็น่าพอใจ แต่กลิ่นบางกลิ่นก็ไม่น่าพอใจเลย โดยสภาพของกลิ่น แล้วจะบอกว่าเป็นกลิ่นที่ดีหมดก็ไม่ได้ เป็นกลิ่นที่ไม่ดีหมดก็ไม่ได้ เพราะว่าโดยสภาวะของรูปแล้วต้องเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง สำหรับเรื่องสันตีรณจิต ทำกิจต่างๆ ทั้ง ๕ กิจนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่า เรารู้ว่าทำจุติจิตได้ เราก็อยากจะทำให้ดีสุด เพื่อจุติจิตที่ดี จะทำได้ไหม

    ท่านอาจารย์ กิจของจิต ซึ่งทุกคนก็ต้องทราบว่า จิตนี้ทำกิจอะไร เป็นชาติอะไร แล้วทำกิจอะไร อย่างปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา ทำอาวัชชนกิจ คือรับ รู้อารมณ์ที่กระทบ นี้เป็นจิตเดียวที่ทำกิจนี้ จิตอื่นจะทำกิจนี้ไม่ได้เลย ในขณะนี้ที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง จิตอื่นจะทำกิจเป็นวิถีจิตแรกไม่ได้ ที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบก่อนที่จะรู้อ่อนหรือแข็ง จะรู้ว่าอารมณ์กระทบทางกาย นั่นคือหน้าที่ของปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นชาติกิริยา เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย จิตดวงนี้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นจิตแรกที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารไหน นี่เป็นหน้าที่ของจิตดวงนี้ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำภวังคกิจ ไม่ได้ทำทัศนกิจ คือ กิจเห็น ไม่ได้ทำสวนกิจ คือ กิจได้ยิน แต่ทำอาวัชชนกิจ

    เราก็ทราบชื่อของจิตตามกิจ คือ จิตนี้ชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น หรือโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน ให้ทราบว่า นี่เป็นกิจของจิตที่เป็นกิริยาจิต ซึ่งทุกคนมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ให้ทราบว่า ขณะนี้มีสิทธิที่จะมีกิริยาจิต ๒ ดวง แล้วดวงหนึ่งก็คือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดทำงานตลอด ขณะที่ไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็มีอารมณ์กระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย จิตนี้ต้องทำหน้าที่ตลอด ถ้าอารมณ์กระทบตา จิตนี้ก็เกิดขึ้นปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่กระทบตา ถ้าเป็นเสียงที่กระทบหู จิตนี้ก็ทำกิจเกิดขึ้นรับรู้เสียงที่กระทบแล้วก็ดับไป

    สำหรับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ชื่อก็คุ้นหูคนไทยเกือบจะเรียกว่า ไม่ใช่ชื่อใหม่ ไม่ต้องมานั่งท่องนั่งจำ เพราะฉะนั้น ก็จำชื่อใหม่ซึ่งไม่เคยได้ยินคือปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วให้ทราบว่า เป็นจิตซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดง ไม่มีใครเลยที่จะรู้ความรวดเร็ว ระหว่างจากภวังคจิตแล้วก็มารู้อารมณ์ทางตา แล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็รู้อารมณ์ทางใจสืบต่อ แล้วก็รู้อารมณ์ทางหู แล้วก็เป็นภวังค์

    นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่เราก็มีโอกาสที่จะได้รับฟังว่า มีจิตหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอะไรก็ตาม ก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน แล้วเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจ เวลานี้ที่เห็นคือจิตหนึ่งกำลังทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นทางหู ก็จิตหนึ่งคือโสตวิญญาณกำลังเกิดขึ้นทำกิจได้ยินเสียง

    นี่คือกิจของวิบากจิต คำว่า “วิบาก” ก็ต้องทราบให้แน่นอนเลยว่า เป็นผลของกรรมไม่มีใครทำ ไม่มีใครบันดาล ไม่มีใครจะสร้างจิตเหล่านี้ขึ้นมาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไหร่ ที่จะให้วิบากจิตประเภทใดเกิดขึ้น วิบากจิตประเภทนั้นก็เกิด เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน ดูเป็นของธรรมดาสามัญ แต่ให้ทราบว่า มีกรรมในอดีตเป็นปัจจัยที่ทำให้โสตปสาทรูปเกิดกระทบกับเสียง แล้วโสตวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต เกิดต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิตแล้วดับไปแล้ว ชาติก็ต่างกัน เหตุปัจจัยก็ต่างกัน แล้วไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงการเกิดดับของจิต จะต้องเป็นอย่างนี้ คือ วิบากจิตก็เป็นผลของกรรม ดับไป แต่กรรมก็ไม่ได้ทำให้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้วดับ ยังทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดรับอารมณ์นั้นต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต แล้วเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเป็นวิบากดับ ก็ยังมีวิบากซึ่งเกิดต่อแล้วก็พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต จิตซึ่งเป็นวิบากเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ คือ สันตีรณจิต เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม นอกจากทำกิจสันตีรณะ ก็ยังมีกิจอื่นๆ ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน คือ สันตีรณะมี ๓ ดวงก็จริง แต่เฉพาะอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำได้ถึง ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจด้วย ภวังคกิจด้วย จุติกิจด้วย สันตีรณกิจด้วย ตทาลัมพนกิจด้วย ซึ่งเรายังไม่ได้ถึงกิจของตทาลัมพนะ แต่เราก็ได้กล่าวถึงกิจอื่น คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ ว่าการที่คนเราต่างกันก็เพราะปฏิสนธิต่างกัน การที่สัตว์โลกทั้งหมดต่างกัน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ ทำภวังคกิจ แล้วก็จะทำจุติกิจ แต่ก่อนที่จะทำจุติกิจ ก็จะต้องทำกิจอื่นที่เป็นวิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ