ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163


    ตอนที่ ๑๖๓

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ผู้ฟัง เหตุที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ประการที่ ๑ ก็บอกว่า มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย ทีนี้ที่ว่ามีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย แสดงว่าจะต้องมีการสะสมการเห็นผิดอยู่เป็นเนื่องนิจมาแต่อดีต เนิ่นนานมาแล้วจนถึงปัจจุบันนี้ การสะสมความเห็นผิดมาก็เป็นไปโดยความไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าความเห็นความเชื่อของตนนั้นเป็นความเห็นผิด ทีนี้ถ้าหากว่าตัวเราเองมีความเห็นผิด หรือว่าบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงญาติพี่น้องก็ตามที่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย เราจะมีความแนวทางอย่างไรที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมความเห็นผิดมานั้น ให้มีความเห็นถูก เพราะว่าได้กล่าวมาแล้วว่าไม่รู้ตัวที่ว่าตัวเองมีความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียว คือ พระธรรมเท่านั้น ไม่ทราบจะช่วยอย่างไร อย่างอื่น

    ผู้ฟัง พระธรรม ทีนี้ถ้าไม่ฟังก็

    ท่านอาจารย์ ไม่ฟังก็ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง ไม่มีทางอื่นเลย

    ท่านอาจารย์ ทีนี้โดยมากเราจะคิดถึงช่วยคนอื่น ใช่ไหม แต่ว่าตัวของเราเองก็เป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ความเห็นผิดที่เป็นความเห็นผิดชัดๆ เราไม่มี แต่ว่าความเห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังมีไหม เพราะว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ

    เวลาที่เราคิดถึงคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นจิตที่มีคนอื่นเป็นอารมณ์ แล้วก็จะคิดถึงช่วยเขา ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงความคิดของเราขณะนั้นที่เกิดขึ้นที่คิดจะช่วย นี่โดยปรมัตถ์ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเป็นผู้ที่ระลึกลักษณะสภาพของจิตบ่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจถูกขึ้น แล้วก็เป็นเรื่องของแต่ละคนต้องปฏิบัติกิจของตนเอง เราอยากจะช่วยคนอื่น จริง ถ้าเขาพร้อมจะให้ช่วย มีข้อแม้อยู่นิดเดียว ถ้าเขาพร้อมจะให้ช่วย เมื่อไรที่เขาพร้อม เราช่วยได้ทันที แต่ถ้าเขายังไม่พร้อม คิดว่าจะไม่สำเร็จ แล้วก็คงจะเสียเวลา

    ผู้ฟัง พร้อมนี่หมายถึงเขายินดีที่จะรับฟังพระธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ คุณกฤษณาอยากจะช่วยใครบ้าง

    ผู้ฟัง ก็พวกพี่น้อง

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ คนอื่นล่ะ

    ผู้ฟัง คนอื่นด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่เราทำอยู่นี้ คือการช่วยแล้ว ใช่ไหม คือช่วยตัวเราเองให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น เพื่อว่าเมื่อไหร่ที่เราสามารถจะช่วยคนอื่นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เมื่อเขาพร้อมที่จะรับฟัง เราจะเลือกบุคคลไม่ได้ว่า จะช่วยญาติหรือจะช่วยเพื่อน แต่ต้องเป็นคนที่พร้อม

    คุณกฤษณาเบาใจขึ้นไหมที่ไม่คิดเจาะจงจะช่วยคนนั้นคนนี้ แต่ว่าพร้อมที่จะช่วยใครก็ได้ที่เขาพร้อม เบาใจขึ้นไหม

    ผู้ฟัง ยังหนักใจนิดหนึ่งตรงที่ว่า ตัวเองก็ยังไม่ค่อยจะพร้อมเท่าไร แต่ว่าก็อยากจะช่วยคนอื่นด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ทุกคนจะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศลแท้ๆ จริงๆ ขณะนั้นเบา แต่ถ้าขณะใดแม้ว่าดูเหมือนเป็นกุศล เพราะว่าอยากจะช่วยตนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นเป็นความหนัก แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้น สามารถที่จะเปลี่ยนสภาพของอกุศลจิตเป็นกุศลจิตได้ คือรู้ว่าไม่มีใครสามารถจะช่วยใครได้จริงๆ เขาต้องช่วยตัวเขาเอง แต่เรามีหนทางที่ว่า เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้วเข้าใจแล้วก็มีโอกาส

    ผู้ฟัง อยากจะให้เขาได้แม้ฟังพระธรรมสักนิดหนึ่ง อยากจะช่วยให้เขาได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วสำเร็จไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ เพราะฉะนั้น ก็อย่างที่ว่า ต่อให้เราอยากสักเท่าไร ก็ต้องแล้วแต่คนอื่นพร้อมหรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหม เราจะสอนหรือจะบอกเขาตอนที่ถึงแม้เขาจะฟังไม่เข้าใจ บอกเขาฟังเอาบุญ อย่างที่มีการเทศน์กันทั่วๆ ไป ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ฟังเอาบุญก็แล้วกัน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วดิฉันก็มีวิธี อย่างเวลารับประทานอาหาร ถ้าเป็นรายการ ๗ โมงครึ่ง ก็เปิดธรรมไว้ที่โต๊ะเบาๆ ใครจะฟังบ้างไม่ฟังบ้างก็แล้วแต่ คือถ้าเป็นโอกาสซึ่งทุกคนอยู่พร้อมหน้า แต่จะไม่บอกใครเลยว่าให้ฟัง เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกเขา แต่ถ้าเขาได้ยิน แล้วเกิดความสนใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าโอกาสนั้นก็เป็นโอกาสซึ่งทุกคนอยู่ที่โต๊ะอาหารได้ ถ้าเป็นโอกาสอื่น ต่างคนต่างก็แยกกันอยู่ ก็ไม่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง ทีนี้เกี่ยวกับการคบหาสมาคมกับบุคคลผู้ที่มีทิฏฐิวิบัติ ถ้าหากว่าเราเองก็ดี หรือว่าญาติพี่น้องเพื่อนฝูงคนรู้จักของเราก็ดี คบหาสมาคมกับผู้ที่มีทิฏฐิวิบัติ ถลำตัวเข้าไปคบหาสมาคมไปคลุกคลีกับเขาแล้ว การที่จะถอนตัวออกมาจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง

    อ. สมพร เราจะช่วยคนอื่นได้ ก็เฉพาะคนที่เขามีความเห็น ยังไม่มีทิฏฐิอิย่างมั่นคง ถ้าหากว่าคนนั้นมีความเห็นอย่างมั่นคงแล้ว ยาก ช่วยไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณกฤษณาคงจะหมายความว่า การเสพที่นี่ ไม่ใช่หมายความแต่เฉพาะการคบหาสมาคม เช่น คบกับความเห็น คือ เรามีเพื่อนมาก มีญาติพี่น้องมาก แล้วก็ต่างคนก็มีความเห็นต่างๆ กัน แต่ละคนมีความเห็น เพราะฉะนั้น การเสพที่นี่หมายความว่า คบกับความเห็น ไม่ใช่คบกับบุคคล บุคคลต้องคบอยู่แล้ว เพราะเหตุว่าเป็นญาติบ้าง พี่น้องมิตรสหายบ้าง เราจะเลิกคบเขาบอกว่าคนนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คนนั้นเข้าใจผิดหรืออะไร เราจะไม่มีใครเลย เพราะว่าแต่ละคนอาจจะมีความเห็นที่ผิดๆ คนละเล็กคนละน้อย เพราะฉะนั้น ที่นี่คงจะหมายความถึงคบความเห็น เพราะเหตุว่าแต่ละคน มีความเห็น อย่างมีเพื่อน ๑๐ คน แล้วแต่ละคนก็มีความเห็น ๑๐ อย่าง เราจะคบกับความเห็นไหน เราก็ต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยความแยบคายว่า เราจะคบกับความเห็นไหน อันนี้มีเหตุผล อันนั้นไม่มีเหตุผล แม้ว่าเราจะอยู่กับ สมมติว่าอยู่โรงเรียนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ก็แวดล้อมไปด้วยพระคัมภีร์ และคำอธิษฐานต่างๆ หรืออะไรต่างๆ แต่เราก็ไม่คบกับความเห็นนั้นได้ ทั้งๆ ที่เราอยู่ในกลุ่มนั้น

    คบที่นี่ไม่ได้หมายความว่าคบบุคคล แต่เป็นผู้ระวังที่จะคบความเห็นที่ถูกต้อง จากใคร แล้วแต่ จะเป็นโรงเรียน มิตรสหาย หรือเพื่อนฝูงก็ตามแต่ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีเรื่องจริงๆ ตอนที่คุณพ่อป่วยหนักไม่สบาย น้องคนหนึ่งก็เจ้าพิธีรีตอง ก็ไปหาคาถาอะไรก็ไม่ทราบ จากใครก็ไม่รู้ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า คนนั้นสามารถที่จะรักษาได้ แล้วก็บอกว่าให้ไปจุดธูปนอกห้อง ตอนกี่ทุ่มกี่ยามก็ไม่ทราบ แล้วให้ไปนั่งอ่านคาถามืดๆ น้องดิฉันคนหนึ่งเฝ้าคุณพ่อ ๒ คนต่อคืน ก็ออกไป คนนั้นนั่งอ่านไปก็หัวเราะไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องน่าหัวเราะ แต่ว่าเขาให้ทำก็ทำ แต่ว่าแสดงให้เห็นว่า เราทำเพราะอะไร แต่เราไม่เสพความเห็นผิดอันนั้น ต่อให้ใครจะทำอะไร หรือชักชวนจะทำอะไรก็ตาม เราไม่ได้มีความเชื่อไปด้วย แต่เพื่อให้คนนั้นที่ให้เราทำอย่างนั้นสบายใจ แต่ดิฉันไม่ใช่เป็นคนทำ แต่ไปด้วยกัน ๒ คนข้างนอกห้อง แล้วน้องก็อ่าน อ่านไปแล้วก็หัวเราะไป เราก็หัวเราะกัน แล้วก็กลับเข้าห้อง

    ผู้ฟัง แสดงว่าใจไม่ได้น้อมตาม

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็น นี่คือการคบ คบความเห็นคบความคิดเห็นซึ่งอาจจะแวดล้อมตัวเราตลอดเวลา เพราะจริงๆ แล้วแต่ละคนอยู่ในโลกของตัวเอง เพราะฉะนั้น มีความเห็นต่างๆ ซึ่งมาจากบุคคลต่างๆ แต่เราสามารถจะเลือกได้โดยที่ว่า เรายังต้องคบเขา แต่ไม่คบความคิดเห็นที่ผิด

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราจะคบกับใครก็ตาม แต่เราจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเองที่จะต้องมีความเชื่อ

    ท่านอาจารย์ พิจารณาให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พิจารณาให้ถูกต้องที่จะเชื่อในสิ่งที่เป็นเหตุผล ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง เรื่องทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ ความคิดเห็นที่ประกอบกับความเห็นผิด ผมพิจารณาแล้วมีข้อคิดเห็นที่น่าพิจารณาข้อหนึ่ง คือว่าความเห็นผิด ขณะที่ว่าไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม คือว่าท่านเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่าขณะนั้นท่านไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ความเห็นในเรื่องปรมัตถ์ซึ่งผู้ที่ท่านได้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมที่ทรงแสดงก็รู้ว่า เป็นนามธรรมรูปธรรม แสดงว่านอกจากจะมีความเห็นในเรื่องปรมัตถ์ซึ่งเป็นนามเป็นรูปแล้ว ความเห็นในบัญญัติก็จะแตกต่างจากก่อนที่ได้เข้าใจพระธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่รู้จักปรมัตถธรรม ไม่รู้จักธรรม ฟังแต่เรื่องราว แต่ว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมจริงๆ ที่ทรงแสดงไว้กำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ แสดงว่าที่เราเคยศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะมาจะกี่ปริจเฉทก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ขณะที่ท่านเห็นเป็นคน คือว่า ไม่รู้ลักษณะของนาม และรูป ท่านก็ไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลยเห็นเป็นคน คนที่ศึกษาธรรมแล้วก็ยังเห็นเป็นคน หรือคนที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นถึงพระอรหันต์แล้วก็ยังเห็นเป็นคน แสดงว่าการที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่ต้องประกอบด้วยความเห็นผิดเสมอไป เพราะเหตุว่ามีสัญญาความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วทางใจก็สามารถจะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร หรือเป็นใคร นี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเป็นสัญญาความจำที่เคยเห็น เพราะฉะนั้น ก็จำได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด คือ เชื่อจริงๆ ว่านี่เป็นคน จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นคนที่เที่ยงด้วย เป็นคนนั้นคนนี้ ไม่ได้รู้เรื่องของธรรมเลย แล้วมีความเห็นว่า ต้องเป็นอย่างนี้ มีความยึดมั่นในความเห็นนั้น

    ผู้ฟัง ก่อนหน้านี้ผมก็ส่วนมากจะปฏิบัติสมาธิ แล้วก็สวดมนต์ภาวนา คือไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่พอได้มาฟังท่านอาจารย์บรรยายก็เริ่มสนใจ ท่านอาจารย์บอกระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ทีแรกก็เริ่มระลึกก็ไม่ค่อยทราบอะไร แต่พอได้ศึกษาพระอภิธรรม ได้ศึกษาเรื่องของจิตเจตสิกไปพอสมควร สติเริ่มเกิดมากขึ้นบ้าง การที่เราเจริญสติ เราไม่ต้องสามารถจำชื่อจิตได้นี้ ก็สามารถระลึกได้ แต่ผมมีความคิดเห็นว่า เจตสิกน่าจะจำได้บ้าง เพราะว่าขณะที่ รู้สึกลักษณะของเจตสิกจะปรากฏชัด ถ้าไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ เป็นอารมณ์ทางใจ อย่างอิสสา มัจฉริยะ มานะ อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่ต้องจำชื่อได้ไหม อย่างรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกเจ็บ ไม่ต้องจำชื่อได้ไหม ความรู้สึกรู้สึกแล้ว อย่าลืมว่า ความรู้สึกกำลังรู้สึกแล้ว ไม่ต้องจำชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าคือขณะระลึกก็ไม่ต้องจำ แต่ขณะศึกษาก่อนที่จะเจริญสติ รู้สึกว่าการที่สามารถทราบชื่อของเจตสิก กรุณาหมายถึงสภาพธรรมที่มีความเอ็นดู หรือสงสาร ต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วนี้กลับกัน กลับกันที่ว่าสภาพธรรมมี ถ้าไม่อาศัยชื่อเราไม่สามารถจะเข้าใจในสภาพธรรมนั้นได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสภาพธรรมปรากฏแล้วเราจำเป็นจะต้องไปรู้ชื่อ แต่การที่เราฟังชื่อต่างๆ ชื่อของเจตสิก ก็เพื่อให้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งใกล้เคียงกัน แล้วก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดได้คิดว่าสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ ธรรมที่แสดงไว้โดยพยัญชนะต่างๆ โดยละเอียด ก็เพื่อให้เราเข้าใจลักษณะที่ละเอียดของสภาพธรรม

    การฟังธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง ที่ใช้ชื่อต่างๆ เพื่อจุดมุ่งหมายอันนี้ เพื่อให้เข้าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เวลาที่เราศึกษาเราก็จะมีชื่อรวมไปด้วยในความจำของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปท่อง หรือจะต้องไปท่อง แต่หมายความว่า จากการได้ยินชื่อ ทำให้เราสามารถจะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเราได้ยินชื่อนี้ แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างแข็งก็กำลังปรากฏ จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ หรือว่าความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น จะใช้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ การที่ใช้ชื่อเพื่อให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าไม่สนใจ ไม่ใส่ใจศึกษาพระสัทธรรม ถ้าไม่ศึกษาในที่นี้ พระสัทธรรมคือไม่หมายเอาที่จะศึกษาคือพระไตรปิฎก และอรรรถกถา แล้วก็มุ่งที่จะปฏิบัติอย่างเดียว และปฏิบัติก็เป็นหนึ่งในพระสัทธรรมด้วย อันนี้เขาก็ไม่ได้เบือนหน้าหนีพระสัทธรรมทั้งหมด คือ เบือนหน้าหนีเฉพาะที่เป็นปริยัติสัทธรรม แต่ว่าไม่ได้หนีการปฏิบัติ จะเรียกว่าเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ไหม เพราะว่าเบือนหน้าหนีจากปริยัติ แต่ไม่ได้เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ

    อ. สมพร ถ้าไม่มีปริยัติก็ปฏิบัติไม่ถูก ถึงจะไม่เบือนหน้าหนีก็ปฏิบัติไม่ถูก ก็เหมือนเบือนหน้าหนี

    ผู้ฟัง ในทางตรงข้ามอีกขั้นหนึ่ง สมมติว่าเบือนหน้าหนีจากปฏิบัติมุ่งแต่จะสนใจแต่จะสนใจปริยัติอย่างเดียว อันนี้ก็เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ เป็นบางส่วนของพระสัทธรรมเหมือนกัน

    อ. สมพร การเรียนปริยัติถูกต้องดีแล้วผู้นั้นต้องปฏิบัติ ต้องเป็นไปตามเหตุ และผล คนที่ศึกษาเข้าใจดีแล้วที่จะไม่ปฏิบัติจะไม่มี นอกจากว่าปริยัติคือการเรียนศึกษายังไม่ดีพอ ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม ฟังธรรมอยู่นั้นคือปริยัติ พิจารณาตามนั้นคือปฏิบัติ เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบแล้วปฏิเวธก็เกิดขึ้น ไม่ได้แยกอย่างนี้ ในสมัยนี้คนมีปัญญาน้อย เราก็แยก เรียนก็เรียนกันอย่างมากมายเลย ให้เข้าใจแล้วปฏิบัติ สมัยก่อนรวบลัดสิกขาเกิดพร้อมกัน เกิดในระดับเดียวกัน สิกขา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วดิฉันคิดว่าต้องเกี่ยวเนื่องกัน เพราะเหตุว่าถ้าเราใช้คำว่าเบือนหน้าจากพระสัทธรรม ต้องทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นปริยัติ เพราะเหตุว่าบางคนบอกว่าพระอภิธรรมไม่เรียนเลย ไม่ฟังเลย ไม่สนใจเลย นั่นก็พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งสนใจ แต่ว่าสนใจที่จะรู้ แต่ว่าไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจธรรม

    จุดประสงค์ของการเรียนให้ทราบว่า เท่าที่เราเห็นผลของการศึกษาพระอภิธรรม จะเห็นได้ว่า บางคนมีความจำดีมาก แล้วก็สามารถที่จะสอบได้ที่ ๑ ก็ได้ แต่ว่าไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ให้ทราบได้ว่าการฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบจริงๆ ว่าเราฟังธรรมหรือเรามาศึกษาธรรมเรื่องจิต เรื่องเจตสิกพวกนี้ เพื่ออะไร ถ้าเพื่อจะสอบ จุดประสงค์ถูกไหม เพราะว่าบางคนบอกว่าอยู่บ้านไม่มีอะไรทำเลย มาเรียนพระอภิธรรมก็ยังดี ที่ว่าจะได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์

    เพราะฉะนั้น ก็มุ่งมั่น ขยันมาก อ่านตำราอะไรทุกอย่าง แล้วก็สอบด้วย ก็ถามว่าสอบทำไม เขาบอกว่าก็จะได้ให้ตัวเองขยันขึ้น เพราะว่าถ้าไม่มีการสอบก็จะไม่ขยัน คล้ายๆ กับว่าจะเรียนแบบเรียนเล่นๆ แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมหรือเปล่า นั่นเป็นการที่เข้าถึงพระสัทธรรมหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าจะเรียนแบบภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ท่องได้ บอกวันที่ได้ เหตุการณ์ได้ทุกอย่าง จะท่อง มหาสติปัฏฐานสูตร รัตนสูตร หรืออะไรก็ตามแต่ท่องได้หมด แต่เข้าใจธรรมหรือเปล่า สิ่งที่กำลังพูดหรือสิ่งที่กำลังกล่าวถึง

    แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เบือนหน้าจากพระสัทธรรม ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ เพียงไปโรงเรียน เรียนพระอภิธรรม แล้วจะบอกว่าผู้นั้นไม่ได้เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรมได้ไหม ถ้าการเรียนนี้เป็นไปเพื่อเพียงจำ ท่องได้บอกได้จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าไร จิตนี้เกิดร่วมกับเจตสิกเท่าไร แต่ไม่รู้ธรรมเลย ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    การฟังธรรมในสมัยโน้นกับในสมัยนี้ผิดกัน สมัยโน้นผู้ที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังพระธรรม ซึ่งทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยละเอียดให้คนนั้นเข้าใจได้ การฟังพระธรรม คือเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาเพื่อเข้าใจจริงๆ ผู้นั้นไม่ได้เบือนหน้าจากพระสัทธรรม แต่ถ้าการศึกษานั้นไม่เป็นไปเพื่อที่จะเข้าใจ ไม่มีทางที่จะถึง ไม่มีทางที่จะรู้ปริยัติสัทธรรมเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ที่ว่าไปปฏิบัติไม่มีหนทางที่จะเป็นไปได้ หรือผู้ที่เรียนแบบที่ว่ายังไม่สนใจปฏิบัติ สนุกสนานกับการเรียน ชอบฟังเป็นเรื่องความรู้ เป็นเครื่องเจริญปัญญา ลับสมองลับสติปัญญา เหมือนกับว่าตัวเองจะมีความสามารถที่จะรับฟังพิจารณาเหตุผล แต่ไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นก็ไม่ได้เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า เรียนเพื่ออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วผู้เดียวที่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น บุคคลอื่นไม่สามารถจะมาชี้แจงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    นี่แสดงให้เห็นว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วเราไม่รู้ เพราะฉะนั้น การฟังพระสัทธรรมหรือปริยัติสัทธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจขึ้นๆ แล้วก็ประจักษ์ความจริงได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จะเป็นการเบือนหน้าหนีพระสัทธรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการศึกษา และปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจว่าเรียนเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง บางคนศึกษาแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นผู้ที่ไม่เบือนหน้าหนีพระสัทธรรม เพราะว่าเรียนแบบเรียนเล่นๆ ไม่ได้เรียนเพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หรือว่าเรียนจริงๆ แต่ไม่เข้าใจธรรม เรียนสอบ เรียนที่จะได้รู้ว่าจบปริจเฉทที่ ๑ ที่ ๒ แล้วอะไรอย่างนี้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็ยังอาจจะเป็นการเบือนหน้าหนีพระสัทธรรมได้เหมือนกันเพราะว่าไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ความหมายข้อนี้ลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไตรสิกขา จะต้องไตรสิกขา

    อ. สมพร ไตรแปลว่า ๓ คือว่ามีการแปลหลายอย่าง บางองค์ท่านก็แปลว่าสำเหนียก บางองค์ก็แปลว่าสิ่งที่ควรศึกษา ไตร ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า ๓ อย่าง นี่คือไตรสิกขา แต่สิกขา อันนี้บางทีท่านก็เรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือว่าเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง คำว่าอธิศีลสิกขามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ถ้าศีลเฉยๆ ลัทธิอื่นก็มี พวกทำฌานได้เขาก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาของฌาณ แต่ไม่ใช่อธิ ถ้าคำว่า อธิมีแล้ว ต้องมีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มีเฉพาะในพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ อาจารย์ถ้าใช้คำว่าไตรสิกขา หมายความว่า ไม่แยกกัน ใช่ไหม

    อ. สมพร รวมกันสิกขา ๓ รวมกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยกว่าไปศึกษาศีลตอนหนึ่ง สมาธิตอนหนึ่ง ปัญญาตอนหนึ่ง

    ผู้ฟัง ไม่แยกกัน ก็คงจะต้องศึกษาพร้อมกัน ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

    ผู้ฟัง การศึกษาปริยัตินั้นที่พระพุทธองค์ท่านตรัส ท่านตรัสจากญาณ พระองค์เห็นอย่างไร ท่านก็ตรัสอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ศึกษานำไปตีความหมายในลักษณะที่คิดเป็นปริศนาธรรมว่า ท่านพูดนั้นหมายถึงอย่างไร โดยไม่พุ่งเป้าไปว่าเราจะทำความเห็นอย่างไรให้ปรากฏตามที่พระองค์ตรัส ผมคิดว่า ๒ ทางนี้ เป็นจุดที่อยากจะขอเรียนถาม ความเห็นท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ปริยัติ กับ ปฏิบัติ ความจริงไม่ต่างกันเลย ใช่ไหม หรือต้องเป็นคนละทางต้องไปนั่งปฏิบัติ แล้วก็ศึกษาปริยัติ หรือว่าไม่ต้องศึกษาปริยัติแล้วปฏิบัติเลย ซึ่งเป็นที่สับสนกันอยู่ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็ไม่มีใครสามารถจะคิดเองหรือว่าเข้าใจได้ถ้าไม่ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    13 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ