ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
ืื ตอนที่ ๑๗๓
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟัง ทำไมโมหมูลจิตจึงไม่มี ชักจูงหรือไม่ชักจูง หรือชักจูงอยู่แล้ว
อ.สมพร จิตที่อาศัยโมหะเกิด ๒ ดวง ท่านได้กล่าวว่า อสังขาริก และสสังขาริก ๒ ดวง ก็คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตจิตที่เกิดพร้อมกับโมหะ ๑ ดวง แล้วอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เกิดพร้อมกับโมหะ ๑ ดวง ๒ ดวงนี้เฉพาะในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านไม่กล่าวว่าเป็น อสังขาริกหรือสสังขาริก แต่ว่าอาจารย์รุ่นหลังเขามาสงเคราะห์กันเอง ว่าเป็นอสังขาริก
ผู้ฟัง ทำไมถึงเป็นอสังขาริก
ท่านอาจารย์ สำหรับโลภมูลจิตที่ต่างกันเป็น ๘ เพราะเหตุว่ามีทั้งที่เป็นอสังขาริก และสสังขาริก สำหรับโทสะที่ต่างกันเป็น ๒ เพราะเหตุว่ามีทั้งที่เป็นอสังขาริก และสสังขาริก แต่โมหะนี่ไม่ต่าง
ผู้ฟัง ทำไม
ท่านอาจารย์ ไม่มีที่จะแยกออกอย่างโลภะหรือโทสะ แล้วที่สงเคราะห์เป็น อสังขาริก ก็เพราะเหตุว่าไม่มีใครอยากจะให้เกิด ไม่ต้องไปจูงให้เกิด ไม่ต้องไปชักจูงให้เกิดเลย
ผู้ฟัง เขาเกิดเอง
ท่านอาจารย์ มีปัจจัยก็เกิด
ผู้ฟัง อันอื่นก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ต้องไปจูงเหมือนกัน ธรรมทุกอย่างมีเหตุปัจจัยก็เกิดด้วย
ท่านอาจารย์ แต่ก็เป็นโลภะที่มีกำลัง กับโลภะที่อ่อนกำลัง
ผู้ฟัง เข้าใจ หมายความว่าโมหะนี้มีกำลังมาก เพราะฉะนั้น ไม่ต้องชักจูงมันก็เกิดของเขา
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีกำลังมากแบบโลภะกับโทสะ เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยโลภะกับโทสะ เพราะฉะนั้นต้องมีกำลังน้อยกว่าโลภมูลจิตกับโทสมูลจิต ถูกไหม แต่ว่าที่กล่าวว่าไม่เป็นสสังขาริก เพราะเหตุว่าไม่ต้องมีการที่จะต้องตรึกตรอง หรือว่าแบบที่ว่าเราต้องคิดลังเลเสียก่อน อย่างโลภะต้องการ จะทำดีหรือไม่ดี ทำดีกว่าอะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ว่าเกิดทันทีแบบโลภะที่เป็นอสังขาริก ถ้าเป็นสสังขาริกจะมีกำลังอ่อนกว่า แต่ว่าโทสะก็ต่างกัน เช่นเดียวกับโลภะ โดยนัยเดียวกัน ที่มีอสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง แต่โมหะไม่ใช่เหมือนทั้ง ๒ อย่าง
ผู้ฟัง หมายความว่าโมหะมีแต่อสังขาริก คือมีกำลังหรือไม่ต้องชักจูง เขาก็เป็นอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ไม่อยากจะใช้แบบมีกำลังหรือไม่มีกำลัง เพราะเหตุว่าสำหรับโลภะเราพูดได้ว่า อสังขาริกมีกำลังกว่าสสังขาริก เพราะไม่มีการลังเล ไม่มีการที่จะต้องรีรอ
ผู้ฟัง นิวรณ์ มีอุทธัจจะ กุกกุจจะด้วย แสดงว่าเป็นธรรมอะไร ทำไมต้องแสดงอย่างนั้น ทำไมไม่แสดงแยกกันอย่างในพระอภิธรรมแสดง นิวรณ์บอกไว้ชัดเลยว่ามี อุทธัจจะ กุกกุจจะเพิ่มขึ้นมา คือ ฟุ้งซ่านไม่พอ ยังมีรำคาญใจอีก ผมก็รู้สึกว่า เรารำคาญใจจริงๆ เหมือนกันในความรู้สึก รู้สึกจะน้อมตามคำสอนของนิวรณ์มากกว่าตามกุกกุจจะ
อ.สมพร ในนิวรณ์ พระองค์ทรงแสดงพิเศษต่างหาก หมายความว่า อันที่แยกได้พระองค์ก็ทรงแสดงเป็นคู่ เช่น ถีนะ มิทธะ อย่างอุทธัจจะ กุกกุจจะ แสดงเป็นคู่ไปเลย กุกกุจจะเกิดขึ้นครั้งใดอุทธัจจะก็ต้องเกิดร่วมด้วยทุกครั้งเลย กุกกุจจะ แปลว่ารำคาญใจ รำคาญใจเป็นประเภทพวกโทสะ เมื่อเกิดขึ้นครั้งใดอุทธัจจะต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง อุทธัจจะนี้ก็รวมอยู่ในเจตสิกที่เป็นประเภทโมหะ เรียกว่า โมจตุกะ เกิดกับอกุศลทั้งหมด อุทธัจจะ แล้วอย่างถีนะมิทธะ เราแยกได้ ถีนะ มิทธะ ถีนะหมายความว่าทำจิตให้ง่วงเหงาหาวนอน มิทธะทำเจตสิกให้ง่วงเหงาหาวนอน ทีนี้ที่ท่านบอกว่า ถีนะ เป็นกิเลส มิทธะไม่ใช่เป็นกิเลส อันนี้ไม่ได้แสดงไว้ชัดเจน เป็นแต่เพียงสันนิษฐานว่า เพราะประกอบกับจิต ถีนะตัวนั้น พระองค์จึงตรัสว่าเป็นกิเลส มิทธะนั้นเพราะประกอบกับเจตสิก แต่ว่าไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่า พระองค์ทรงแยกอย่างนี้ แยกเพียงแต่ว่าประกอบกับจิตหรือเจตสิก เราก็สันนิษฐานว่าประกอบกับจิตก็ต้องเป็นกิเลสเพราะว่าจิตนั้นเศร้าหมองด้วยอำนาจกิเลส แท้จริงเมื่อเกิดกับเจตสิก ถึงจิต ถ้าแยกเป็นส่วน จิตส่วนหนึ่ง เจตสิกส่วนหนึ่ง
ผู้ฟัง ความฟุ้งซ่านที่ว่า เกี่ยวกับอุทธัจจะ เป็นอย่างไร
ผู้ฟัง คิดๆ ดูแล้วนั่นแหละคือฟุ้งซ่านแน่
ผู้ฟัง ฟุ้งซ่านอย่างที่เราเคยฟุ้งซ่าน
ผู้ฟัง นอนไม่หลับอะไรอย่างนี้ บางทีทะเลาะกับคนโน้นคนนี้มา คิดอยู่นั่น ไม่จบสิ้นเสียที นี่คือฟุ้งซ่าน
ท่านอาจารย์ เวลาที่บอกว่านอนไม่หลับ คิดมาก ฟุ้งซ่าน ด้วยโลภะหรือว่าด้วยโทสะ
ผู้ฟัง ด้วยโทสะ ไม่ค่อยพอใจ
ท่านอาจารย์ บางคนอาจจะฟุ้งไปด้วยโลภะก็ได้ ถ้ากำลังต้องการอะไรสักอย่าง อาจจะคิดเพลินไปเลย จะสร้างวิมานอย่างนั้นอย่างนี้ หรืออะไรอย่างโน้นก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ที่จริงแล้วลักษณะของอุทธัจจะ คือสภาพที่ไม่สงบของธรรมนั้น เมื่อธรรมนั้นเกิดแล้วจะหวั่นไหวฟุ้งไป ไม่สงบ เพราะว่าถ้าเป็นฝ่ายสงบต้องเป็นฝ่ายโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิ กายปัสสัทธิ แต่ลักษณะของอุทธัจจะ โมหะเป็นลักษณะที่ไม่รู้เลย ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง มืดบอด แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับธรรม เช่น ทางตากำลังเห็น โมหะไม่สามารถที่จะรู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แต่โมหะไม่สามารถจะรู้อย่างนี้เลย นั่นคือโมหะ แต่อุทธัจจะเป็นสภาพที่ไม่สงบ เพราะเหตุว่าเมื่อมีความไม่รู้ ขณะนั้นจะสงบไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของอุทธัจจะ และโมหะซึ่งยังไม่ประกอบด้วยโลภะ ก็จะเป็นอาการอย่างที่เรารู้ว่า เหมือนลืม หรือว่าไม่รู้อะไร เป็นอุเบกขา แต่พอมีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นจิต ที่เราบอกว่าฟุ้ง ฟุ้งไปด้วยโลภะ คิดมากมาย เรื่องของโลภะทั้งนั้น หรือว่าฟุ้งด้วยโทสะ
แสดงให้เห็นว่า เวลาที่เราบอกว่าเราฟุ้ง จิตสงบหรือว่าเป็นทุกข์ ขณะนั้นจะสงบ เป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าเป็นโทสมูลจิต เราก็คิดไปด้วยความไม่สบายใจ บางคนก็อาจจะคิดว่าจะทำร้ายคนอื่นอย่างไร หรือว่าคิดไปสารพัดเรื่อง นั่นด้วยกำลังของโทสะ แต่ถ้าคิดไปด้วยโลภะก็ดูเพลินไปเลย เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราก็ใช้คำว่าฟุ้ง แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตไม่สงบ แต่มีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือว่าจิตไม่สงบแล้วมีโทสะเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง แล้วถ้าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ
ท่านอาจารย์ เป็นโมหมูลจิต
ผู้ฟัง แล้วก็สงบ
ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไร
ผู้ฟัง ไม่รู้อะไร แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรเลยเหมือนกัน แต่สงบไหม
ท่านอาจารย์ ลืม นึกไม่ออก นึกอะไรก็นึกไม่ออก เคยพยายามจะนึกชื่อของคนที่จะพูดด้วย หรือที่หนึ่งที่ใดก็ได้ นึกไม่ออก เคยไหม ลักษณะที่กำลังนึกไม่ออก ไม่รู้ ขณะนั้นสงบหรือเปล่า
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น อุเบกขาก็ไม่จำเป็นต้องสงบ
ท่านอาจารย์ แน่นอน อุเบกขาเวทนาเกิดกับอกุศลจิตได้ เกิดกับกุศลจิตได้ เกิดกับวิบากจิตได้ เกิดกับกิริยาจิตได้ แต่เกิดกับโทสมูลจิตไม่ได้ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เกิดเฉพาะกับโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตเท่านั้น
ผู้ฟัง โมหะ ไม่ใช่ว่าพอไม่รู้แล้วสบาย ไม่ใช่อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่รู้แล้วเฉยๆ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ไม่ใช่ว่าดี แต่ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วยดีกว่ามีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็ยังดีกว่ามีโทสะเกิดร่วมด้วย ใช่ไหม
ผู้ฟัง ความรู้สึกในขณะนั้น เราเทียบเวทนา ได้ไหม
ท่านอาจารย์ เวทนาที่เป็นอุเบกขา ถ้ามีการระลึกรู้จะเห็นว่า ต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนาที่เกิดกับเป็นโลภะ หรือว่าอุเบกขาเวทนาที่เกิดเป็นโมหะ หรืออุเบกขาเวทนาที่เกิดกับโสภณะ เช่น เป็นกุศล หรือเป็นวิบาก
ผู้ฟัง ทำไมเขาจึงยกว่าเป็นมูล หรือเป็นรากเป็นยอดแห่งความไม่รู้อะไรทั้งหลาย เป็นอย่างไร
อ.สมพร มูล หมายถึง เป็นของที่มั่นคงในฝ่ายอกุศล มูล เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีราก ที่มั่นคงแข็งแรง มูลแปลว่ารากก็ได้ แปลว่าเหตุก็ได้ เหตุหมายถึงปัจจัย คือว่าท่านไม่รู้จะเปรียบอะไร ท่านเลยเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากแข็งแรงหรือรากแก้ว อย่างที่เราบอกว่ารากใหญ่ ทำให้ต้นไม้นั้นแข็งแรง เมื่อมีเหตุมีมูลที่ประจำอยู่ ขันธ์ ๕ ของเราก็แข็งแรง แต่แข็งแรงในด้านอยู่ในวัฏฏะ ไม่ใช่ออกจากวัฏฏะ นอกจากมีมูลอีกอันหนึ่ง เรียกว่ามูลในฝ่ายกุศล คือว่า ถ้ามูลในฝ่ายอกุศล เรียกว่าโมหะมูล ถ้ามูลในฝ่ายกุศลก็ อโมหะ คือ วิชชา มันต่างกัน มูลในที่นี้หมายความว่ามั่นคงแข็งแรงนั่นเอง
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่ามูลของอกุศลมี ๓ คือ โลภเจตสิกเป็นโลภมูล โทสเจตสิกเป็นโทสมูล โมหเจตสิกเป็นโมหมูล แต่ว่ามูลที่ขาดไม่ได้เลย คือ โมหะ สำหรับอกุศลจิตทุกประเภท ถึงแม้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่มีโลภะก็ได้ ไม่มีโทสะก็ได้ แต่ไม่มีโมหะไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีโมหะเสมอยืนพื้น บางกาลก็มีโลภเจตสิกเกิดเพิ่มอีก ๑ มูล จึงเป็น ๒ มูล หรือ ๒ เหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ซึ่งสำหรับโทสมูลจิตมี ๒ เหตุเหมือนกัน คือ โมหเหตุกับโทสเหตุ หรือโมหมูล โทสมูล ก็ได้
เพราะฉะนั้น แยกจิตออกโดยเหตุที่ร่วมด้วย คือ จิตที่มีเหตุ ๑ จิตที่มีเหตุ ๒ ทางฝ่ายอกุศล จะไม่มีรวมกันเป็น ๓ เหตุ เพราะว่าอกุศลเหตุมี ๓ โมหเจตสิกเกิดกับจิตโดยที่ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย เป็นโมหมูลจิต เป็นเอกเหตุกจิต เป็นจิตที่มีเหตุเดียว โลภเจตสิกกับโมหเจตสิก ๒ เหตุ ก็เป็นทวิเหตุ หรือทวิเหตุกจิต โทสเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิก ในโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตก็มี ๒ เหตุ แต่ทางฝ่ายกุศลจะมี ๒ เหตุหรือ ๓ เหตุ ไม่มี ๑ เหตุ นี่เป็นความต่างกัน แต่เราก็คงจะไม่ต้องพูดถึง
ผู้ฟัง การได้ฟังธรรม ปัญญาในขั้นที่ได้ฟังก็คงเป็นขั้นหนึ่งเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นฟังก็ดับกิเลสอะไร ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากทำให้เราเข้าใจว่า เรามีกิเลส ซึ่งยังไม่ได้ดับ แล้วจะเข้าใจหนทางที่ถูกต้องที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นที่จะละกิเลสได้
ผู้ฟัง ปัญญาที่ค่อยๆ เกิด ในเรื่องของการที่จะให้ละคลายโมหะลงไปได้บ้าง
ท่านอาจารย์ ที่เราฟังธรรม ให้ทราบจุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อที่จะรู้จักตัวธรรมซึ่งกำลังมีอยู่ นี่เป็นจุดประสงค์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายแม้เดี๋ยวนี้ แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาปรมัตถธรรมก็เพื่อให้รู้ลักษณะสภาพของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่เวลาที่สติระลึก จะได้รู้ว่า นี่คือลักษณะของปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษา เป็นการที่เริ่มเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม โดยสติระลึกที่ลักษณะนั้นๆ
ผู้ฟัง โสภณะ คือ ดีงามใช่ไหม ก็เกิดความสงสัยว่า โสภณะกับกุศล โสภณธรรมกับกุศลธรรม ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่ากุศล หมายความว่าเป็นเหตุที่ดี ซึ่งจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล ไม่ว่าเป็นกามาวจรกุศล ก็จะต้องเป็นเหตุให้เกิดวิบาก ระดับขั้นของกามาวจรจิตฝ่ายที่ดี ถ้าเป็นรูปาวจรกุศล เป็นเหตุให้เกิดรูปาวจรวิบาก ถ้าเป็นอรูปาวจรกุศลเป็นเหตุให้เกิดอรูปาวจรวิบาก ถ้าเป็นโลกุตตรกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดโลกุตตรวิบาก เพราะเหตุว่ากุศลต้องเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก
ผู้ฟัง แต่โสภณะนั้นเป็นวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า โสภณเจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกที่ดีเป็นกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้
ผู้ฟัง ถ้าหากเราเรียนเรื่องชาติมาแล้ว เราจำแนกจิตโดยชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดอีกทีก็คือว่า กุศลก็เป็นกุศลชาติเดียว แต่โสภณะสามารถจะเป็นกุศลชาติก็ได้ เป็นวิบากชาติก็ได้ เป็นกิริยาชาติก็ได้ อันนี้คือความกว้างของโสภณะ ว่าโสภณะคลุมได้ถึง ๓ ชาติ แต่กุศลนั้นคลุมได้ชาติเดียว อันนี้คือข้อแตกต่างข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ คือว่ากุศลชาติเป็นเหตุ แต่โสภณะไม่เป็นเหตุ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ เป็นเหตุก็ได้
ผู้ฟัง เป็นเหตุก็ได้ ถ้าเป็นวิบาก เป็นกุศล คือรวมหมด อันนี้ก็เป็นข้อแตกต่างของโสภณกับกุศล คงไม่มีใครสงสัย
ทีนี้ต่อไป ไปถึงปัญญา เพราะว่าเราพยายามพูดว่า โสภณสัมปยุตต์ได้แก่ญาณสัมปยุตต์ คือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรารู้จักโสภณะแล้ว เรารู้จักกุศลแล้ว ทีนี้เราจะมารู้จักปัญญา ทีนี้จากปริจเฉทที่ ๑ ของท่านอาจารย์สมพร ท่านเขียนว่า ปัญญาเพราะอรรถว่า รู้ทั่ว คือ รู้อริยสัจจ์
อ.สมพร รู้ทั่ว หมายความว่ารู้ตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรปิดบังเลย รู้โดยที่ไม่หลงเหลืออยู่เลย เมื่อไม่มีโมหะปกปิดเลย รู้ทั่ว รู้แจ้งชัด
ผู้ฟัง ทำไมท่านถึงว่ารู้ทั่ว คือ รู้อริยสัจจ์
สมพร เพราะว่าอริยสัจจ์เป็นธรรมที่รวมแล้วทั้งหมดแล้ว ธรรมจำแนกออกเป็น ๔ อย่าง การที่เรามีปัญญารู้อริยสัจจ์ ๔ เรียกว่ารู้ทั่วหมดแล้ว เมื่อผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล รู้อริยสัจจ์ ๔ นี้แหละ รู้ทั่วถึงอริยสัจจ์ ๔ ทั้งหมด ไม่มีความสงสัยใดๆ ในเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิด มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา รู้ทั่วถึงอย่างนี้ ไม่มีหลงเหลือ ไม่มีความสงสัย ปัญญาอย่างนี้เรียกว่า รู้ทั่ว
ผู้ฟัง เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ อย่างเวลานี้ทุกคนมานั่งที่นี่ แล้วก็ฟัง เกิดความเข้าใจขณะไหน ขณะนั้นไม่ใช่แต่ละบุคคลที่ว่า เป็นสัตว์ เป็นตัวตน แต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นกามาวจรจิต หรือจะใช้คำว่าโสภณจิตก็ได้ เป็นจิตที่ดีงามที่กำลังเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง
ผู้ฟัง ในเหตุในผล
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจถูกก็ต้องรู้ในเหตุในผล แสดงว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่มีเหตุผลเลย
ผู้ฟัง ดิฉันติดคำว่า ในเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ เหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อกล่าวเรื่องของกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต กุศลจิตเป็นเหตุ วิบากจิตเป็นผล แสดงว่าต้องมีเหตุมีผล
ผู้ฟัง อันนั้นถึงจะเป็นปัญญา
ท่านอาจารย์ ปัญญา คือ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เห็นผิดหรือคลาดเคลื่อนจากความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง โสภณะกับกุศล ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่
ท่านอาจารย์ คำว่า โสภณะ แปลว่า ดี งาม ถ้ากุศลต้องเป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบาก เพราะฉะนั้น โสภณะหมายความถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่ดีงาม จิตจะดีงามก็ต่อเมื่อประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม แล้วเจตสิกที่ดีงามเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นวิบากก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นกิริยาก็ได้ เพราะฉะนั้น คำว่าโสภณะกว้างกว่าคำว่ากุศล เพราะคำว่ากุศล เฉพาะจิตที่เป็นเหตุ และเจตสิกที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมกัน ที่จะให้เกิดวิบาก
ผู้ฟัง นิพพานของพระโสดาบันบุคคล กับนิพพานของพระอรหันต์ ยกตัวอย่างสมมติว่า พระโสดาบันบุคคลตาย ในขณะนั้นท่านมีสติ เกิดขึ้นรู้แจ้งนิพพาน หมายความว่า พ้นสภาพความไม่เกิด เหมือนพระอรหันต์หรือเปล่า หรือว่ามีอะไรมาขีดคั่น
ท่านอาจารย์ เรื่องที่ยังไม่ตามลำดับ ทำให้ความเข้าใจไม่ชัดเจน เพราะว่าแม้แต่ปรมัตถธรรม ๔ ต้องทราบว่าจิตปรมัตถ์ เป็นสภาพหรือธาตุที่เป็นจิตอย่างเดียว ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นเจตสิก คือไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน ต้องเกิดกับจิตเท่านั้น สภาพที่เป็นเจตสิก ส่วนรูปนั้นคือสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้โดยประการใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน เวลาพูดถึงปรมัตถธรรม ๔ ให้ทราบว่าเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถที่จะเข้าใจได้พิสูจน์ได้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้จิต เจตสิก รูปมี เพราะฉะนั้น เราจะไม่พูดถึงนิพพาน เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจลักษณะของจิต เจตสิก รูปเสียก่อนว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป จึงเป็นสังขตธรรมหรือสังขารธรรม แต่ส่วนนิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าพระโสดาบันเป็นนิพพาน หรือว่าไม่ใช่จิตเป็นนิพพาน หรือว่าไม่ใช่เจตสิกเป็นนิพพาน หรือไม่ใช่รูปเป็นนิพพาน แต่นิพพานปรมัตถ์เป็นนิพพาน
สุรีย์ ปัญญามีหลายระดับ ทั้งโลกิยปัญญา และโลกุตตรปัญญา จะต้องเป็นไปตามระดับขั้น รู้ทั่วอริยสัจจ์ รู้ทั่วอะไร ไปถึงโลกุตตระ
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ต้อง ๔ เพราะว่าอริยสัจจ์มี ๔ ถ้ารู้เพียงแค่ทุกขสัจจ์ก็ยังไม่ใช่รู้อริยสัจจ์ ถ้าเป็นโลกุตตระแล้วต้องทั้ง ๔
ผู้ฟัง คำว่าปัญญาทางโลกกับทางธรรม ต่างกันอย่างไร ปัญญาที่เรากำลังคุยกันอยู่ คือ ปัญญาเจตสิก กับปัญญาภาษาไทย เพื่อที่จะไม่ให้เพี้ยน เพราะว่าอันนี้ปัญหามากมาย ที่ยืมภาษาบาลีมาใช้ เสร็จแล้วความหมายไม่เอาของเขามาอย่างนี้ สติปัญญาใช้กันเหลือเกิน อยากจะแยกให้ออกว่า ปัญญาที่เป็นภาษาไทยกับปัญญาเจตสิกนี้ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดถึงเรื่องสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แล้วเป็นปรมัตถธรรมด้วย ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แท้จริงแล้วถึงไม่ใช่ชื่อเรียกใดๆ ทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น นี่คือเรากำลังจะเข้าใจเรื่องสภาพธรรมซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงสภาพธรรม ที่เป็นปัญญาเจตสิก สภาพธรรมไม่ใช่ชื่อ ปัญญา พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เป็นความเข้าใจถูกในสภาพธรรม
ถ้าเราพูดถึงปัญญาในภาษาไทยว่าคนนั้นมีสติปัญญามาก เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือสามารถที่จะคิดค้นวิธีต่างๆ ได้ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นปัญญา
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าในพระพุทธศาสนา ถ้าใช้คำว่าปัญญาแล้วหมายความถึง เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ใช้คำนี้เพื่อให้เข้าใจว่า หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นความเห็นถูกต้องในความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ปัญญา คือ รู้ลักษณะของธรรม คนที่มีปัญญาทางโลก เก่ง แต่ไม่รู้ลักษณะของธรรม อันนั้นเรียกว่าความฉลาดทางโลก แต่ไม่ใช่ปัญญาทางธรรม
ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงภาษาทั่วๆ ไป เราก็เคยใช้ตั้งแต่เล็กแต่น้อยมา เป็นเรื่องของความเคยชิน แต่เวลาที่จะเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม เราต้องเข้าใจให้ตรง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180