ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135


    ตอนที่ ๑๓๕

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ . ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ จักขุปสาทในขณะนี้ให้ทราบว่า กำลังเกิดดับเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทั้งๆ ที่ขณะนี้จักขุปสาทเกิดแล้วดับว่ามีกัมมปัจจัยที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดอีกแล้วดับอีก ในขณะที่กำลังเห็นนี้ก็เกิดอีกแล้วดับอีก แม้แต่ขณะที่กำลังนอนหลับสนิทก็มีกรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับ แม้ไม่เห็น แต่กรรมก็ไม่เคยหยุดที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ตราบใดซึ่งกรรมนั้นยังเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด

    นี่เป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่พอ ใช่ไหม หมายความว่ากรรมซึ่งเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิด เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เห็น เพราะว่ากำลังนอนหลับก็มีจักขุปสาทรูปเกิด แต่ว่าไม่มีการเห็นอะไร เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ ๒ ก็คือสีที่กระทบกับจักขุปสาท จะไม่กระทบกับปสาทอื่นเลย ถ้ากระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะบอกไม่ได้ว่าสีอะไร ใช่ไหม แต่ต้องอาศัยตาเห็น จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า สีที่กระทบตาปรากฏเป็นสีสันวัณณะรูปร่างสัณฐานอะไร

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมี ๒ ปัจจัย แต่นอกจากนั้นก็ยังต้องมี ถ้าในที่สว่าง จะเห็นได้ว่า การเห็นไม่เหมือนกับที่มืด คนที่มีจักขุปสาทต่างกับคนตาบอด คนตาบอดนั้นมืดสนิท แต่คนที่มีจักขุปสาท แม้จะอยู่ในห้องมืด เห็นว่ามืดมาก มืดจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ความมืดอย่างความมืดของคนตาบอดซึ่งไม่มีจักขุปสาท ตาสามารถที่จะกระทบกับแม้ความมืด เปรียบเทียบให้เห็นว่ามืดก็เป็นรูปารมณ์ เพราะว่ากระทบกับจักขุปสาทได้ สว่างก็เป็นรูปารมณ์ เพราะเหตุว่ากระทบกับจักขุปสาทได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าคนที่มีจักขุปสาทสามารถที่จะบอกได้ ถึงอาการของสีที่กระทบตา ซึ่งคนตาบอดไม่มีทางที่จะเปรียบเทียบเลย

    โลกของคนตาบอดเป็นโลกที่มืดสนิท ต้องใช้คำว่า มืดสนิท เหมือนกับทางมโนทวารซึ่งมืดสนิทด้วย เพราะเหตุว่าทางมโนทวารไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสใดๆ ถ้าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงมโนทวารที่คิดนึก แต่ถ้าเป็นมโนทวารที่รับรูปสี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่อจากทางปัญจทวาร แยกไม่ออกเลยว่า ขณะที่กำลังปรากฏนั้น ทางจักขุทวารหรือทางมโนทวาร เช่น ในขณะนี้แยกไม่ได้ สีปรากฏกระทบตาดับแล้ว แล้วก็ทางใจรับรู้สีนั้นต่อจึงปรากฏเห็นว่าเป็นคนต่างๆ วัตถุสิ่งต่างๆ ไม่มีการที่จะแยกออกได้เลยว่า สีที่กำลังปรากฏทางตาเป็นทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร ถ้ากระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ขณะนี้ก็แยกไม่ออก จะบอกว่าเป็นแต่เพียงกายทวารอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก รูปที่กำลังปรากฏทางกายที่กระทบ ต้องเกิดขึ้น เราอย่าไปคิดว่า มีรูปนี้มาก่อน แล้วเราก็มากระทบสัมผัส ความจริงรูปทุกรูป ทุกกลุ่ม เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นรูปที่ไม่อาศัยกรรมก็เกิดเพราะอุตุ เกิดแล้วดับ กำลังเกิดดับอยู่

    ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จึงประจักษ์การเกิดขึ้น แม้ของรูปที่กำลังกระทบสัมผัส และการดับไป เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ในขณะนี้ที่เรากำลังกระทบสัมผัสกายปสาทรูปก็เกิดดับ และวัตถุที่แข็ง ที่มีลักษณะแข็งก็กำลังเกิดดับด้วย

    จึงมีเหตุปัจจัยของแต่ละวิญญาณที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าเป็นทางตาก็มีจักขุปสาท แล้วก็มีรูปารมณ์ แล้วถ้าเป็นที่ๆ เห็นสีสันวัณณะกระจ่างชัดก็ต้องอาศัยแสงสว่าง ซึ่งถ้าไม่มีแสงสว่าง ไม่มีทางเลยที่สีสันวัณณะต่างๆ จะปรากฏ คนในห้องนี้จะมีเท่าไหร่ เพียงมืดสนิทจะไม่รู้เลย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สีที่กำลังปรากฏทางตาที่ทำให้เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานนั้นต้องอาศัยแสงสว่างด้วย จึงปรากฏรูปร่างสัณฐานได้

    แล้วประการสุดท้าย ก็คือว่าต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตยังไม่เกิด ไม่มีทางที่จักขุวิญญาณจิตขณะนี้จะเห็นได้

    ด้วยเหตุนี้คำว่า มนสิการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ๔ ซึ่งจากพระไตรปิฎกโดยตรง จะตัดแสงสว่างออก จะมีแต่เพียงปัจจัย ๓ อย่าง สำหรับทางตาที่เป็นมนสิการ ก็ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อน

    คำว่า มนสิการ มี ๓ อย่าง ได้แก่ วิถีปฏิปาทกมนสิการ ๑ ชวนปฏิปาทกมนสิการ ๑ อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ๑ ซึ่งก็คงจะขอให้อาจารย์ช่วยแปลคำว่า ปฏิปาทกะ ความหมายที่ ๑ ที่ ๒

    อ. สมพร ปฏิปาทกะ อันที่ ๑ แปลว่าเป็นทาง อันที่ ๒ แปลว่าให้สำเร็จ อันที่ ๓ แปลว่าเป็นบาท ภาษาบาลีมีการแปลได้หลายอย่าง ศัพท์ๆ เดียวกันก็แปลได้หลายอย่าง ปฏิ ก็ถ้าจะแยกศัพท์ก็แปลว่า เฉพาะ ปาทกะ แปลว่าทาง ทางเฉพาะ ถ้าจะแยกอย่างนั้น ถ้าเรารวมกันบางทีก็ ปฏิปาทกะ ก็แปลว่า ให้สำเร็จ หรือเป็นบาท อะไรก็แปลได้ทั้งนั้น

    ผู้ฟัง คำว่า มนสิการ มีทั้งจิต มีทั้งเจตสิกด้วย คนฟังก็คงสับสนแน่นอน เพราะว่าพอเราเรียนมาเจตสิกก็มนสิการ ก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว เดี๋ยวก็มีโยนิโสมนสิการ เดี๋ยวก็มีอันนี้เพิ่มมาอีกแล้ว ปฏิปาทกมนสิการ แล้วก็จะมีมนสิการอะไรอีกก็ไม่รู้ ก็ชักจะสับสนเหมือนกัน ช่วยกรุณาให้ชัดๆ

    ท่านอาจารย์ ตั้งต้นตั้งแต่ว่าวิถีจิต เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจิตอื่นนอกจาก ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้วละก็เป็นวิถีจิต

    วิถีจิตก็จะต้องเกิดกันตามลำดับ ไม่ใช่ว่าสับสน

    สำหรับทางตา วิถีจิตแรก ต้องจำไว้เลยว่าวิถีจิตแรก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ตามชื่อ ปัญจ แปลว่า ๕ ทวารก็เป็นทางหรือประตู อาวัชชนะก็รำพึงถึง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องรำพึงยาวเลย เพียงแต่ว่ารู้หรือนึกถึงอารมณ์ที่กระทบ ก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน พวกนี้ จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วจะเกิดเห็น เกิดได้ยินขึ้นทันทีไม่ได้ เพราะว่าจิตที่ไม่ใช่ภวังค์แล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า โลภมูลจิต หรือว่ามหากุศลจิต หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติแล้ว ต้องเป็นวิถีจิต แล้วให้ทราบว่าวิถีจิตในขณะนี้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องเกิดตามลำดับ

    การที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนของธรรมก็คือว่า ไม่มีใครสามารถ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงลำดับการเกิดของจิตได้ โดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ธรรมทั้งหลายต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ และต้องเกิดตามปัจจัยด้วย แล้วปัจจัยก็มีกำกับไว้ว่า ต้องเกิดตามลำดับด้วย แล้วก็ต้องเกิดติดต่อกันด้วย หมายความว่าจิตขณะหนึ่งซึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด นี่โดยอนันตรปัจจัย

    ในขณะนี้ให้ทราบว่าเป็นปัจจัยซึ่งเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือเมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าเมื่อจิตขณะนั้นดับแล้ว จิตอะไรจะเกิดต่อก็ไปสับสนอีกไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าโดยสมนันตรปัจจัย คือ ถ้าจิตนี้ดับแล้ว จิตต่อไปต้องเป็นจิตประเภทไหน เช่น เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารแล้วละก็ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน จำชื่อไว้ด้วย ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร จิตดวงนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือให้จำไว้กำกับกันนั่นเองว่า ที่ว่าเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ยืนยันว่าต้องเป็นจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิดแล้วละก็ วิถีจิตต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น คำว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการไปใช้กับจิตดวงอื่นไม่ได้ ต้องได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตดวงเดียวเท่านั้น

    ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นระเบียบของลักษณะจิตอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นนิยามหรือธรรมเนียม ซึ่งสภาพธรรมต้องเกิดเพราะปัจจัย แล้วก็มีปัจจัยกำกับไว้ว่า หลังจากภวังคุปัจเฉทะแล้ว ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตเท่านั้นที่จะเกิดต่อจากภวังคุปเฉทะ จึงเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ เพราะว่าถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิด วิถีจิตต่อๆ ไปเกิดไม่ได้ เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ รู้เรื่องไม่ได้ ชอบไม่ได้อะไรทั้งหมด

    ผู้ฟัง สภาพจิตอย่างนี้ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ได้ไหมว่า ลักษณะจิต เราสามารถจะรู้โดยสภาวะของจิตที่เป็นอาวัชชนจิตอย่างนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปรากฏหรือเปล่า ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นที่จะไปถึงรู้นั่นได้ไหม รู้นี้ได้ไหม สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ รู้แล้วหรือยัง เท่านี้เอง การอบรมเจริญปัญญาจะไม่ข้ามเลย เมื่อกำลังฟังพระธรรมระลึกได้ เข้าใจได้ว่า กำลังพูดถึงเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาหรือยัง หรือว่าปัญญารู้ลักษณะของสภาพเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้หรือยัง ยังไม่ต้องไปถึงชื่อว่าจะรู้ ปัญจทวาราวัชชนจิตได้ไหม หรืออะไร แต่ให้ทราบว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ โดยลักษณะที่ต่างกัน คือ สภาพรู้มีแน่ๆ มีจริงๆ แต่ว่าไม่เคยเข้าใจเลยว่า กำลังเห็นเป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเริ่มเข้าใจในขณะที่กำลังเห็น จะได้เข้าใจสภาพที่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่เคยรู้ ส่วนชื่อปัญจทวาราวัชชนจิตขณะนี้ต้องมี เกิดแล้วดับแล้วก่อนจักขุวิญญาณจิต แล้วเมื่อจักขุวิญญาณจิตซึ่งเห็นดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็ต้องเกิดต่อต้องมีตามลำดับ สันตีรณะต้องเกิดต่อ โวฏฐัพพนะต้องเกิดต่อ ชวนะต้องเกิดต่อ แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมที่เป็นชื่อต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้ปรากฏ ไม่มีชื่อออกมาว่าขณะนี้ ที่กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ ไม่มีชื่อว่าก่อนเห็น เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    นั่นเป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ให้เห็นความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า กำลังเห็นต้องอาศัยเพียงจักขุปสาทรูป นิดเดียว ตรงกลางตา เล็กมากซึ่งมองไม่เห็น ให้เห็นความยิ่งใหญ่ ความสำคัญของปัจจัยว่า เพียงขาดรูปนี้รูปเดียว สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้

    แต่ละขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว จะต้องอาศัยปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ แต่จริงๆ แล้วก็สำคัญ เพราะเหตุว่าเราไม่เคยรู้เลยว่า ที่กำลังเห็น ถ้าเพียงขาดจักขุปสาทนิดเดียว โลกนี้ก็ไม่ปรากฏ หรือว่าเสียงที่เราได้ยินเรื่อยๆ ถ้าเพียงแต่โสตปสาทดับแล้วไม่เกิดอีก การได้ยินก็จะเกิดไม่ได้ ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา และความไม่มีสาระ เพราะว่าเพียงอาศัยปัจจัยนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ที่ต้องฟังแล้วฟังอีก แล้วถามกันเรื่องวิถีจิต หรือว่าจะต้องมานั่งจำกัน ก็เพื่อที่จะให้เราไม่หลงลืมว่า ความเป็นอนัตตานั้นเป็นอย่างนี้ แม้แต่จะจำเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิตก็เพื่อให้ทราบว่า ไม่ใช่มีแต่จิตเห็น ก่อนจิตเห็นก็มีจิตอื่นแล้วก่อนนั้นก็เป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ให้เห็นความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อกันของจิต ถ้าไม่มีวิถีจิตหรือวิถีจิตไม่เกิดแล้ว ไม่มีการที่จะรู้หรือเข้าใจสภาพธรรมได้เลย เพราะว่าขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ โลกนี้ไม่ปรากฏ

    ทางเดียวที่จะเข้าใจสภาพธรรมก็คือในขณะที่เป็นวิถีจิต แล้วเราก็กำลังจะพูดถึงเรื่องวิถีจิต ซึ่งเป็นความจริงในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทางตาเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต

    ต่อไปนี้คงจะไม่มีใครลืมชื่อนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตาอยากจะเปลี่ยนก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงแต่คำที่ใช้เรียกเท่านั้นเอง ให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ทางตาจะเปลี่ยนเป็น จักขุทวาราวัชชนจิตก็ได้ หรือว่าทางหูก็จะเปลี่ยนเป็นโสตทวาราวัชชนจิตก็ได้ จะเปลี่ยนอย่างไรก็ตามแต่ ถ้าความเข้าใจ เข้าใจแล้ว ก็เข้าใจได้ว่าเป็นแต่เพียงคำที่ใช้แทนจิตขณะหนึ่งซึ่งเป็นวิถีจิต ซึ่งเกิดก่อนจิตอื่นๆ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดแล้วดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แล้วจิตอื่นก็จะเกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเองเป็นทั้งอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ซึ่งเมื่อดับไปแล้วถ้าเป็นทางตา รูปกระทบกับจักขุปสาท จิตต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเป็นจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    นี่ก็เป็นวิถีจิตที่ ๒ ต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต

    นี่คือการเกิดดับที่เร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่สามารถที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิดซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังจะพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของเห็น คือ วิถีจิตทางตา ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีสิ่งที่กระทบตาเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีอารมณ์ของภวังค์ ถ้าไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว ต้องมีอารมณ์อื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็มีสีที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ แต่ไม่เห็น นี่คือความต่างกันของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับทำหน้าที่เฉพาะรู้อารมณ์เดียวกัน แต่กิจต่างกัน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เห็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่กิจเห็น จิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทำทัศนกิจ แต่ทำอาวัชชนกิจ เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะที่เกิดต้องทำกิจ แล้วสำหรับจักขุทวาราวัชชนจิตก็คือ ทำกิจนึกคิดรู้อารมณ์ที่กระทบ ซึ่งอารมณ์นั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากสีสันวัณณะแต่ ไม่เห็น

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า อาวัชชนจิตยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้รับรส กายสัมผัสต่างๆ ยังไม่ถึงจุดนั้น

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่ทำอาวัชชนกิจ ถ้าได้ยินคำว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ อย่าคิดว่าเป็นเจตสิก เพราะมีคำว่า มนสิการ หรือว่าได้ยินคำว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ ก็อย่าคิดว่าเป็นเจตสิก ให้ทราบว่า ที่นั่นต้องหมายถึงปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ เพราะเหตุว่าเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิตมี ๔ คือ ๑. รูปารมณ์ ๒. จักขุปสาท ๓. อาโลกะ แสงสว่าง ๔. ใช้คำว่า มนสิการ เฉยๆ

    บางคนก็อาจจะคิดว่า ที่นี่หมายความถึงเจตสิก แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า เจตสิกเขาเป็นสัพพจิตสาธารณะอยู่แล้ว ที่นี่หมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด เป็นเหตุใกล้ จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นการเห็น หรือการได้ยิน ให้ทราบว่าเป็นวิบาก เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นความวิจิตรจริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลย แต่ว่ากรรมทำได้ แม้แต่จักขุปสาทรูปก็กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น แล้วเมื่อกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาทรูปแล้ว การเห็นของแต่ละคน หรือการได้ยินของแต่ละคนก็ต้องแล้วแต่กรรม อย่างเมื่อเช้านี้มีฝนตกบางแห่งแล้วก็มีเสียงฟ้าร้อง แต่ว่าที่อื่นเงียบ ไม่มีกรรมที่จะทำให้เกิดได้ยินเสียงนั้นเลย หรือว่าคนที่นอนหลับสนิท กรรมทำให้หลับ วิบากจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ยังไม่ได้ทำให้ได้ยินเสียง หรือว่าได้เห็นอะไรเลย แต่สำหรับคนที่นอนไม่หลับ หรือว่าบังเอิญตื่นขึ้นมาก็เพราะกรรมทำให้เห็น หรือว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่เหตุที่จะให้เราเกิดมา แล้วก็เป็นภวังค์โดยที่ว่าบังคับไม่ได้ แล้วก็ตื่นขึ้นที่จะให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้างก็บังคับไม่ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่าง อย่าเสียเวลาไปห่วงกังวลคิดมาก เพราะว่าอะไรจะเกิดก็มีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้เกิดจริงๆ นอกจากว่าจะทำดีที่สุด คิดดีที่สุด แล้วก็เจริญกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วก็ ที่ชาวกุรุบอกว่ามีชีวิตอยู่ก็เหมือนตาย เพราะว่ามีชีวิตอยู่แล้ว ก็มีแต่โลภะ โทสะ โมหะไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเสียกว่าตาย เพราะเหตุว่าคนตายก็ไม่ได้สะสมอกุศล

    ผู้ฟัง ทำไมถึงไม่สับสน โดยเฉพาะอย่างจิตที่ไม่ใช่วิถี ตั้งตนด้วยอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ แล้วพอเข้าวิถีก็เป็นปัญจทวาราวัชชนะ แล้วเป็นทวิปัญจวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของปัจจัย ซึ่งความจริงก็ถ้าจัดโดยปริเฉทก็ปริเฉทที่ ๘ ถ้าโดยคัมภีร์ก็เป็นอภิธรรมคัมภีร์สุดท้าย เมื่อได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูปแล้ว การที่จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็จะต้องรู้ถึงสภาพที่เป็นปัจจัยของธรรม ซึ่งต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ แล้วปัจจัยก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะปัจจัยเดียว มีหลายๆ ปัจจัย

    เราจะค่อยๆ พูดถึงบางปัจจัย เริ่มต้นเพื่อให้ชินหูกับความเป็นปัจจัยว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ ๑.จิต ๒. เจตสิก ๓.รูป ๔.นิพพาน ส่วนธรรมที่ไม่ใช่ปรมัตถ์นั้นก็มีบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็จะได้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ก็ไม่ใช่อื่นไปจากปรมัตถธรรมนั่นเอง จิตเป็นปัจจัยหลายอย่าง เจตสิกก็เช่นเดียวกัน รูปก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับบัญญัตินั้นเป็นปัจจัยได้ปัจจัยเดียวคือเป็นอารัมมณปัจจัย เป็นอารมณ์เท่านั้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง การที่เราจะศึกษาธรรม เราก็พยายามที่จะเข้าใจความละเอียดของธรรม แม้แต่ในเบื้องต้นประกอบไปด้วย เพื่อที่จะเห็นความเป็นอนัตตา อย่างเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นขณะแรกในภพชาตินี้ สภาพของจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับ ต้องมีจิตเกิดสืบต่อทันที

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    31 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ