ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178


    ตอนที่ ๑๗๘

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครแสดง แล้วก็แสดงเรื่องอะไรเท่านั้น แต่ว่าคนนั้นเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแค่ไหน อย่างเราพูดถึงเรื่องความโกรธแล้วก็ไปบอกให้คนอื่นเขาไม่โกรธ แล้วตัวเราโกรธหรือเปล่า ใช่ไหม นี่ก็เป็นเรื่องจริงๆ ไม่ใช่เรื่องบอกกัน แล้วก็จะทำได้ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องรู้สภาพธรรมเป็นลำดับขั้น เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะดับกิเลสได้ โดยที่ปัญญาไม่เกิด นอกจากจะคิด ระงับไปทีละนิดทีละหน่อย แต่จริงๆ แล้วก็มีเหตุที่จะให้เกิด ตราบใดที่กิเลสยังไม่หมด

    ผู้ฟัง ใน อัฏฐสาลินี ท่านบอกว่า โมหะเป็นลักษณะเหตุให้หลง หรือด้วยสำคัญว่าหลงเอง หรือด้วยอรรถที่ว่า เป็นเพียงความหลงเท่านั้น ในข้อที่ ๑ ท่านบอกว่า มีความมืดของจิตเป็นลักษณะ คือ มีความไม่รู้ตามความเป็นจริงตามลักษณะ ลักษณะความมืดของจิตเป็นลักษณะ หรือความไม่รู้ตามความเป็นจริงเป็นลักษณะ อันนี้ของลักขณาทิจตุกะ อันนี้เป็นเหตุหนึ่งในจำนวนของ ๖ เหตุที่ท่านแสดงไว้ ในความหมาย มืดของจิต คงจะอุปมาในลักษณะของรูปธรรมเข้าไปด้วย คือเอาแสงสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ความมืด ที่จริงแล้วลักษณะของจิต ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ลักขณาทิจตุกะ ที่ว่าความมืดของจิตเป็นลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่มีอวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะความจริงของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าโลภะไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะสภาพของโมหะไม่ใช่สภาพที่ติดข้องอย่างโลภะ แล้วไม่ใช่สภาพที่เดือดร้อนใจ ประทุษร้ายใจอย่างลักษณะของโทสะ แต่โมหะคือสภาพที่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง อย่างในขณะนี้กำลังเห็น สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า เป็นวิชชาหรืออวิชชาหลังจากที่เห็นแล้ว เพราะเหตุว่าทั้งๆ ที่เห็น ก็เห็นกันอยู่ แต่ว่าเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วยังเป็นลักษณะอาการของธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งไม่ใช่รูปธาตุ เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือลักษณะรู้เท่านั้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีแสงสว่างแล้วก็สีต่างๆ ถ้าจะกล่าวว่า มีแสงสว่าง ทุกคนก็รู้ว่า กำลังเห็น แล้วก็มีสีต่างๆ แต่ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ใครเลยสักคนเดียว ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นวัตถุที่เที่ยง แต่เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งสิ่งนี้กระทบตาปรากฏแล้วดับอย่างรวดเร็ว ถ้ารู้อย่างนี้ก็เป็นวิชชาหรือว่า ถ้าเข้าใจถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการฟัง ก็เป็นการเริ่มต้นของปัญญาที่จะรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ เราอาจจะเคยเข้าใจว่า มีคน แต่จริงๆ แล้วถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีการเห็น จะมีอะไรปรากฏ จะมีจิตที่คิดนึกต่อไปไหมว่า สิ่งที่กำลังเห็นคืออะไร เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แล้วด้วยอวิชชานี้เอง เมื่อไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด บางคนก็ยึดถืออย่างมั่นคง ถ้าจะไปพูดกับคนที่ต่างลัทธิ ต่างความเชื่อ ต่างศาสนา เขาจะไม่เห็นความจริงเลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นจริงอย่างนี้ที่ควรจะรู้ เขาก็ไปมีความเห็นอย่างอื่นว่า ต้องมีผู้สร้างแน่นอน ต้องมีคนแน่นอน นี่คืออวิชชา ทั้งหมด

    ผู้ฟัง เขาคิดเอาหรือเปล่า เป็นเรืองของความคิดมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็คิดทั้งนั้น

    ผู้ฟัง เขาคิดในเรื่องที่ว่าหาเหตุเดิมว่า ทำไมเราเกิดมา เกิดมาเพราะอะไร คิดไปๆ ไปจนว่า อย่างนั้นต้องมีผู้สร้าง เพราะอะไรๆ ก็สร้างทั้งนั้น เราจะเกิดมา เราก็มีผู้สร้าง มีบิดามารดาเป็นที่เกิดของเรา เขาคิดต่อไป มนุษย์คนแรกๆ ที่สร้างขึ้นมาก็คงจะต้องไปจุดจบที่ว่า ต้องมีผู้สร้างแน่ๆ อย่างนี้เป็นความคิดอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ว่าศาสนาไหน ลัทธิไหนก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็มีความเชื่อละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเชื่อในบุคคลบางคนว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงความคิดก็คิดไปในเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนั้นที่คิดก็คิดด้วยความไม่รู้ เป็นอวิชชา เป็นอกุศล แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ อย่างโลภะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ บางคนก็บอกว่าดี ถ้าไม่มีโลภะโลกก็ไม่เจริญ ไม่มีการที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ แสดงว่าไม่เห็นตัวโลภะตามความเป็นจริงว่า ความติดข้องเป็นโทษ เป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นฝ่ายกุศล

    ผู้ฟัง ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง เป็นผลที่ว่ามืดมน อันธกาล อันนี้บอกไว้ว่ามีความไม่ปฏิบัติชอบเป็นผล ปฏิบัติชอบในที่นี้ หมายถึง

    ท่านอาจารย์ เป็นผล หรือเป็นอาการที่ปรากฏ คือไม่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง ผลนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ที่เราประพฤติปฏิบัติในการกระทำทุกๆ วัน แล้วก็เป็นผลออกมา เพราะว่าเราไม่ปฏิบัติชอบ

    ท่านอาจารย์ อันนี้เอาตัวต่อๆ ไป แล้วก็เอาสภาพธรรมที่เป็นธรรมแต่ละอย่างขึ้นมา อย่างโมหะ เป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ไม่รู้ อย่างเรื่องของความมืดเมื่อกี้นี้ก็พอจะเห็นได้ว่า ขณะนี้เรารู้สึกว่ามีแสงสว่างบ้างหรือยัง ถ้าจะเทียบอาการของโมหะว่า โมหะคือการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ตอนที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่มีใครรู้เรื่องของนามธรรมกับรูปธรรม ไม่มีใครรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพียงฟังแค่นี้ ยังไม่ได้ประจักษ์ตัวจริงๆ ของธรรม แต่เริ่มเข้าใจลางๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ความมืด ก็คือความไม่รู้ ความไม่รู้ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูกใดๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏได้เลย เมื่อไม่มีความเห็นถูกแล้วก็ย่อมแทงตลอดไม่ได้ และอาการที่ปรากฏก็คือว่า ย่อมทำสิ่งซึ่งไม่เป็นกุศล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้เป็นอกุศลที่ปิดบังไม่ให้มีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ประพฤติปฏิบัติไปก็เป็นอกุศลส่วนใหญ่

    ท่านอาจารย์ อาการที่ปรากฏของโมหะ ก็คือว่า ขณะนั้นไม่เป็นกุศล เวลาที่โมหะเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง อกุศลเกิดจากการที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ถึงแม้จะปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องพูดถึงปฏิบัติก็ได้ ขณะใดที่อกุศลเกิด ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังไม่ต้องไปปฏิบัติเลย เพียงแต่อกุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตก็ตาม ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังไม่ต้องปฏิบัติ อาการปรากฏ ผลก็คือว่า ขณะนั้นไม่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง เพราะตัวโมหะล้วนๆ ไม่มีหรือ เวลาปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกต้องเกิดกับจิต แล้วก็จิตที่เป็นอกุศลแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือโลภมูลจิตประเภทหนึ่ง มีโมหเจตสิกกับโลภเจตสิก ๒ เหตุ โทสมูลจิต มีโมหเจตสิกกับโทสเจตสิก ๒ เหตุ แล้วก็มีจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นอกุศล คือ โมหมูลจิต มีแต่โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อย่างเดียวเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่นับเจตสิกอื่น นับเฉพาะเหตุ

    ผู้ฟัง แสดงว่าแรงมาก ลักษณะของโมหะล้วนๆ เลย เจตสิกนี้ประกอบ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว โมหะล้วนๆ จะแรงไม่ได้ เพราะว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องอ่อนกว่า

    ผู้ฟัง เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ในลักขณาทิจตุกะ คือลักษณะของโมหะเป็นลักษณะของอโยนิโสมนสิการ ท่านว่าอย่างนั้น ที่นี้กราบเรียนถามท่านอาจารย์อ. สมพรว่า อันนี้เป็นเหตุใกล้

    อ. สมพร อโยนิโส แปลว่าโดยไม่แยบคาย คือไม่แยบคายเป็นปัจจัยให้อกุศลทั้งหมดเกิด ไม่ใช่เฉพาะโมหะอย่างเดียว อกุศลทั้งหมดที่เกิด อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ทั้งหมดเลย อาศัยอโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น เพราะว่าพิจารณาโดยไม่ถูกทาง คือไม่แยบคาย กิเลสก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโมหะอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ผู้ที่มีลักษณะอโยนิโสมนสิการ สภาพความรู้สึกเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะติดชื่อภาษาบาลี แล้วรู้สึกว่าบางคนก็อยากจะใช้ พอได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการ ก็เลยไม่ใช่คำภาษาไทยกัน แต่จริงๆ แล้วขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเพราะอโยนิโสมนสิการ ไม่ใส่ใจ โดยความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นอกุศล โดยแยบคายก็คือโดยเหตุโดยผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง โดยแยบคาย คือ ความละเอียดของการพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้ง่าย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเวลานี้ อย่างจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นความละเอียดจริงๆ ใครจะรู้ลักษณะของมนสิการเจตสิก ใครจะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก ใครจะรู้ลักษณะของสัญญาเจตสิก หรือว่าเอกัคคตาเจตสิก ชีวิตตินทรียเจตสิก ล้วนแต่เป็นชื่อ แต่ให้ทราบว่า เพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งเกิดมีปัจจัย คือเจตสิกที่ต้องเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยถึง ๗ ดวง เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอกุศลจิตเกิดขึ้น ก็มีเพิ่มขึ้นมาอีก คือต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า อโยนิโสมนสิการ คือ เจตสิกหนึ่งซึ่งกระทำกิจใส่ใจในอารมณ์โดยไม่แยบคายเพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับอกุศลธรรม เกิดกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปทำ หรือเราพยายามไปทำ แต่ว่าขณะใดก็ตามซึ่งสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ให้ทราบว่าเพราะอะไร เพราะไม่แยบคาย ในการที่พิจารณาหรือรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศล ถ้าแยบคายก็เป็นกุศล เท่านั้น

    ผู้ฟัง ไม่ต้องไปรู้ว่าเจตสิกเกิดขึ้น ๗ ดวงแล้ว ตอนนี้ เลยไม่แยบคายเลย ก็คงไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วรู้เพื่อที่จะละความยึดถือว่า การที่ทรงแสดงจิตหลายประเภท แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มีจิตดวงเดียว แล้วก็มีจิตต่างๆ กันตามเหตุตามปัจจัย ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยขั้นของแม้การฟังว่า แท้ที่จริงขณะนี้ก็คือจิตหลายๆ ชนิด หลายๆ ประเภท ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน บางประเภทเป็นกุศล บางประเภทเป็นอกุศล บางประเภทก็เป็นวิบาก

    ที่แสดงว่ามนสิการ ไม่ใช่เวทนาเจตสิก ไม่ใช่ผัสสเจตสิก ไม่ใช่สัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกนี้มีกิจใส่ใจในอารมณ์ แม้ว่าจะเล็กน้อยสักแค่ไหน ขอให้คิดดูถึงขณะจิตที่แสนสั้นที่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เวทนาก็สั้นมาก เจตนาก็สั้นมาก ชีวิตตินทรีย์ก็สั้นมาก เจตสิกทุกเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนี้สั้นมาก แม้แต่มนสิการ การใส่ใจในอารมณ์ก็ต้องสั้นด้วย ทีนี้พูดถึงเรื่องของกุศล และอกุศล จะเห็นได้ว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นมนสิการจะเป็นโยนิโสมนสิการไม่ได้ ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ

    เราก็ไม่ต้องพยายามที่จะไปเฟ้นว่าเป็นอะไร จิตหรือเจตสิก หรือหน้าที่ของอะไรตรงไหน แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมเกิดรวมกัน แล้วขณะนั้นก็มีมนสิการเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า มนสิการเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นโยนิโสมนสิการไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง หน้าที่ของมนสิการในที่นี้ ที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลตามไปด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นเกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นเจตสิกทั้งหมดต้องเป็นกุศล ถ้าขณะที่อกุศลเจตสิกเกิด จิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกันต้องเป็นอกุศลด้วย

    ผู้ฟัง ตามกันไป

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เจตสิกอันนี้ก็เกิด ไม่ว่าจิตชนิดไหนเกิดขึ้นก็มีมนสิการเกิดขึ้นร่วมไปด้วยทุกครั้ง ก็คงชัดเจนขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก แต่ต้องคิดถึงเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยอีก

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เป็นโมหะ สังเกตได้อย่างไร คือถ้าเผื่อเป็นโลภ เราก็พอจะรู้ว่าติดข้อง ต้องการ เป็นโกรธ มีลักษณะหยาบกระด้าง ไม่สบายใจ โมหะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สภาพของโมหมูลจิต คือขณะใดที่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดด้วย แล้วขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นโมหเจตสิกนี้แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่นี้ถ้าเราจะคิดต่อไปอีก พอมีความสงสัย จะต้องเป็นโมหะแน่ๆ เพราะว่าเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เราจะสังเกตอันนี้ได้หรือเปล่า

    อ. สมพร สงสัยในธรรม ๘ ประการนั้น ขณะที่สงสัย ความสงสัยนั้นเกิดจากโมหะ เมื่อจิตที่สงสัยสัมปยุตต์กับโมหะ หมายความว่ามีโมหะเป็นปัจจัย ความสงสัยก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง โมหะปกปิดความเป็นจริง แต่ว่าสามารถจะรู้สิ่งที่ไม่เป็นจริงได้ เช่น รู้ในบัญญัติต่างๆ มีความแตกฉานในบัญญัติต่างๆ ก็สามารถจะรู้ได้ แต่รู้ตามความเป็นจริง รู้ไม่ได้ โมหะรู้ไม่ได้ รู้ในบัญญัติต่างๆ รู้ได้เลย

    ผู้ฟัง ดิฉันเองหาไม่เจอว่า ตัวโมหะอยู่ที่ไหน เลยมาสังเกตเอาตัวสัมปยุตต์เอาว่า ถ้าเราสงสัยนั้นแหละ คือโมหะแล้ว อันนี้จะเป็นทางที่สังเกตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ เคยเผลอไหม

    ผู้ฟัง เผลอ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นโลภะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นโทสะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง ที่เผลอเป็นโมหะ ชัดเจน อันนี้ถ้าผลอยหลับไปเลย เป็นไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดโดยชื่อ ขณะใดซึ่งดูเสมือนกับไม่ใช่โลภะ แต่เป็นโลภะอย่างบางเบาก็ได้ หรืออาจจะเป็นจิตประเภทอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องสติสัมปชัญญะเท่านั้น ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ผลอยไปแล้ว สติก็ไม่มี มารู้ทีหลังต้องหลายวัน

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างนี้ ก็อย่างที่ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะใช่ไหม เป็นโทสะใช่ไหม เป็นกุศลใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเป็นโมหะ

    ผู้ฟัง ต้องมาไล่ทีละอย่างๆ

    ท่านอาจารย์ เกือบไม่ต้องไล่ เพราะว่ามันมีสภาพธรรมอย่างนี้อยู่ เพียงแต่เราอยากจะใส่ชื่อเหลือเกินว่าเราจะเอาชื่ออันนี้ไปลงตรงไหนดี

    ผู้ฟัง สภาวะมีอยู่ แต่ว่าเพื่อจะได้เข้าใจ ก็เอาชื่อ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจให้ชัดๆ คือขณะใดที่ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ แล้วก็ไม่ใช่กุศล ไม่ว่าอาการใดๆ จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น อย่างโลภะพอจะสังเกตได้ เป็นสภาพที่ติดข้อง ต้องการ โทสะ ขณะนั้นก็ตรงกันข้าม คือ ปฏิเสธ หรือประทุษร้าย ไม่ชอบ ขุ่นเคือง ถ้าขณะใดกุศลก็ไม่ใช่โลภมูลจิตก็ไม่ใช่โทสมูลจิตก็ไม่ใช่ ขณะนั้นใครจะเรียกว่าอะไร จะใช้คำว่าอะไร มีกิริยาอาการ มีสภาพอย่างไร ขณะนั้นคือโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ต้องตัดสินด้วยสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานของท่าน แต่ละขั้น จึงจะรู้ความเป็นจริงในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตก็ไม่รอ คือเร็วมาก เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จะไปคอยจ้องคอยจับก็ไม่ได้ แต่ว่าเป็นการค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วสติเริ่มระลึก ขณะที่เริ่มระลึก จะรู้ได้ว่าไม่ใช่เราเลือก เพราะฉะนั้น อย่าไปจงใจจะหาโมหมูลจิต หรือว่าอยากจะรู้ว่า โมหมูลจิตเป็นอย่างไร ขณะนั้นไม่ใช่ทางที่จะเข้าใจสภาพธรรม แต่ทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างหรือทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดเลย แม้ในขณะนี้เอง แยกโดยละเอียด ย่อยลงไปเป็นเสี้ยววินาที สภาพธรรมที่เกิด เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะว่าเราอยาก หรือเราต้องการ หรือเราควรจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเริ่มที่จะระลึก ลักษณะของสภาพธรรมต้องเข้าใจว่า ธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อรู้แล้วละ แต่ว่าถ้ามีความต้องการเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นตรงกันข้ามไม่ใช่เป็นตามแนวหรือตามคลองของพระธรรมเสียแล้ว เพราะเหตุว่าด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความต้องการ

    ต้องแยกให้ละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องร้อนใจ ไม่ใช่เรื่องเป็นห่วง ไม่ใช่เรื่องกังวล ไม่ใช่เรื่องอยากรู้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เริ่มที่จะเข้าใจธรรม แล้วถ้าเป็นความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความเข้าใจระดับไหน ระดับที่ฟังแล้วค่อยๆ รู้เรื่อง แล้วถ้าสามารถที่จะรู้ว่า สติที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร ต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร ก็จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเกินวิสัยที่ใครจะไปทำ มีปรากฏ แล้วสติระลึกเท่านั้น หมดแล้ว จะไปหาอีก รออีกก็ไม่ได้ จะไปพยายามต้องการจะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมไป และค่อยๆ ละความไม่รู้ แล้วก็แล้วแต่ขณะนั้นสติจะระลึกที่สภาพนามธรรมใดรูปธรรมใด

    ผู้ฟัง ท่านผู้ฟัง ความวิจิตรของการฟังเป็นลำดับขั้นจริงๆ ละเอียดประณีตมากในเรื่องการที่จะให้เข้าไปถึงความเป็นจริง แม้กระทั่งเรื่องที่อยากจะรู้อยากจะเข้าใจ พยายามเพ่ง พยายามเพียร ก็เป็นเรื่องของกิเลสแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องเหล่านี้ถ้าไม่ได้อาศัยการฟังให้เข้าใจเป็นลำดับแล้ว ท่านจะไม่รู้ความเป็นจริงเอาเสียเลย

    ผู้ฟัง มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล กุศลเกิด แต่ในขณะเดียวกัน กุศลเกิดได้ทั้งญาณสัมปยุตต์ และญาณวิปปยุตต์ ตัวตนอยู่ที่ไหนในขณะนั้น ที่ว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ที่รู้สึกว่า จะต้องมีตัวตนสร้างโยนิโสเพื่อให้กุศลเกิด ในเมื่อบางครั้งกุศลเกิดได้โดยญาณวิปปยุตต์ คือไม่มีปัญญาประกอบก็เป็นกุศล เกิดได้ แต่ว่ารู้ว่าเป็นกุศลหรือไม่อย่างไร อันนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่เกิดขึ้นเองในขณะนั้น จะเรียกว่าเป็นสภาพธรรม หรือว่าเป็นตัวตน หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตัวตนตัดออกไปได้เลย

    ผู้ฟัง ไม่มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ มีแต่ธรรม

    ผู้ฟัง มีแต่ธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมนี่เรื่องรู้ ขณะที่รู้ คือ ละความไม่รู้แล้ว พอไหมที่ปัญญาจะเกิดแล้วค่อยๆ ละความไม่รู้ไปเรื่อยๆ อย่าได้คิดที่จะไปทำอะไรเลย เพราะเหตุว่าฟังเพื่อพิจารณาแล้วเข้าใจ พอเข้าใจขณะนั้น ความเข้าใจก็ละความไม่รู้ ปัญญาทำกิจของเขา ไม่ใช่มีเราไปเป็นตัวตนอีกคนหนึ่งซึ่งพยายามใหญ่เลย พยายามจะทำหน้าที่ของปัญญา แต่ทำไม่ได้

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรจะให้มันเข้าใจ เพราะคิดจะทำอยู่เรื่อย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นรู้ตัวไหมว่า จิตอะไรที่พูดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ความต้องการ อยาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    20 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ