ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๕๑

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ผู้ฟัง แต่ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม เราก็ยังเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นสิ่งเป็นของ เป็นอะไรสารพัด โดยที่ปรมัตถธรรมนี้แทบจะปิดบังสนิทเลย ไม่เห็นเลย ก็เห็นเป็นคน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย เห็นเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เห็นเป็นใครต่อใครไปหมด อันนี้เป็นเพราะอะไรไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รู้จักตัวอวิชชา ซึ่งตรงกันข้ามกับวิชชา ถ้าเป็นวิชชาแล้วก็สามารถจะเข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง คือ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ปรากฏ โดยที่ว่าเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแม้ว่าเราจะเคยเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ หรือเวลานี้ก็ยังเห็นอยู่ว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นสิ่งของ แต่เริ่มจะมีความเข้าใจถูกขึ้นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริงๆ จะเห็นเป็นอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏทางตานี้มีจริงๆ นี่คือปรมัตถธรรม ส่วนที่จะคิดนึกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ก็มีจริงๆ อีกเหมือนกัน

    ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงรู้สภาพธรรมตามปกติ แต่ก่อนเคยเห็นเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่พอฟังพระธรรมแล้ว เริ่มค่อยๆ ระลึกได้ว่าแท้ที่จริงแล้วจริงๆ ก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งเป็นของ เป็นอะไรๆ สิ่งนั้นก็มีจริงๆ แต่ไม่ใช่จริงทางตา เป็นเรื่องที่ทางใจคิดนึกเอา เป็นของจริง ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ไม่เห็นอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เรียกกันไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเห็นมีแน่ แต่คิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ เห็นแน่นอนว่ามี แล้วแต่จะคิด และยังมีจิตที่คิดอีก ว่าจิตที่คิดจะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศลจากสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่ก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ ความเกี่ยวเนื่องตั้งแต่เห็น เริ่มจากมีการเห็น แล้วก็มีวิตก มีวิจาร มีมโนทวาร มีอะไรๆ ต่อๆ ไป ซึ่งสืบเนื่องมาจากเห็น นี่แสดงให้เห็นถึงว่าต้นตอจริงๆ คือ เห็น หลังจากเห็นแล้วจะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ และแม้ว่าคิดจะเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ จะคิดสั้นๆ ก็ได้ จะคิดยาวๆ ก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แยกกันเป็นแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ต้องแยกให้รู้กันว่ามันจริงทางไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าสามารถที่จะประจักษ์การดับไปจริงๆ การเกิดขึ้น และดับไป ก็จะรู้ความหมายของความว่างเปล่า คือ ไม่มีอะไรเหลือเลย ดับแล้วจริงๆ สิ่งที่เคยเป็นตัวตนก็เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่ปรากฏแล้วเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดดับก็เห็นความว่างเปล่าจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มีสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นคนอยู่เลย

    ผู้ฟัง ขณะที่พัดลมกำลังเป่าอยู่ ก็ยังไม่เห็นทุกข์อะไร แต่บางขณะที่ไฟฟ้าเกิดดับ ขณะนั้นเห็นทุกข์ทันทีเลย อันนี้จะตรงทุกขลักษณะไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ตรง อันนี้เป็นว่างอย่างชาวโลก ที่ว่าว่างๆ อ้างว้าง ว้าเหว่ หรือว่าไม่มีอะไรต่างๆ เป็นสาระ นั่นคือคิดกันไปเรื่องว่าง แต่ไม่รู้ลักษณะที่ว่างจากความเป็นตัวตนที่เราเคยยึดถือไว้

    ผู้ฟัง ประเด็นที่กำลังสนทนาตอนนี้ เป็นเรื่องสามัญลักษณะของจิต ซึ่งก็ได้แก่ไตรลักษณะ

    อนิจจลักษณะก็หมายถึงลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ แล้วลักษณะที่ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วดับไป นั่นก็เป็นทุกข์ สภาพที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไตรลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ไม่แยกจากกัน คือ จะไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่จะมีเพียงลักษณะเดียว สำหรับสังขารธรรม ถ้าสำหรับวิสังขารธรรม คือ พระนิพพานแล้วก็จะมีเฉพาะอนัตตลักษณะเท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องสามัญลักษณะที่เราได้สนทนากันเป็นประเด็นแรก

    ต่อไปก็เป็นเรื่องสภาวลักษณะของจิต ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของจิต เราก็จะพูดกันใน ๔ หัวข้อ

    ๑. อารัมมณวิชานนลักขณัง มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

    ๒. ปุพพังคมรสัง มีการถึงก่อน คือมีความเป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เป็นรส คือเป็นกิจ หน้าที่ของจิต

    ๓. สันตานปัจจุปัฏฐาน มีการสืบเนื่องกัน คือ การเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ

    ๔. นามรูปปทัฏฐานัง มีนามธรรม และรูปธรรมเป็นปฎัทฐาน คือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ที่ว่ามีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ เป็นข้อที่ ๑ อันนี้ก็ตรงกับที่ได้สนทนากันไปในเรื่องลักษณะของจิตประการที่ ๑ ไปแล้วที่ว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์

    สำหรับข้อที่ ๒ ปุพพาคมรสัง มีการถึงก่อนเป็นรส เป็นกิจ ผู้ร่วมสนทนาจะมีข้อคิดเห็นประการใด

    ผู้ฟัง สภาวลักษณะ และปัจจัตตลักษณะ มีความหมายกว้างแคบกว่ากันแค่ไหน

    สมพร สภาวลักษณะ ลักษณะที่มีอยู่ของตน

    ผู้ฟัง ผัสสะก็มีลักษณะกระทบอารมณ์ สัญญามีลักษณะจำอารมณ์อย่างนี้เรียกสภาวลักษณะ

    สมพร สภาวลักษณะ

    ผู้ฟัง แล้วปัจจัตตลักษณะ

    สมพร ปัจจัตตลักษณะ หมายถึงลักษณะเฉพาะตน คือ กล่าวเฉพาะศัพท์เดียว อย่างเดียว ธรรมอย่างเดียว ผัสสะ มีลักษณะเฉพาะของผัสสะ เวทนามีเฉพาะลักษณะของเวทนา แต่ละอย่างๆ ปัจจัตต มาจาก ปฏิ กับอัตต ปฏิ แปลงสระ อิ เป็น จะจะ บวกกับอัตตะเป็น ปัจจัตตะ ลักษณะเฉพาะตน เฉพาะศัพท์หนึ่ง บทหนึ่ง ก็เป็นลักษณะของเขา แต่สภาวะลักษณะนี้ทั่วไป ที่เป็นปรมัตถ์แล้วต้องมีลักษณะของตน ไม่ได้กล่าวว่า เป็นลักษณะของตนของตน หมายความว่ากว้างๆ

    ผู้ฟัง หมายความว่าสภาวะลักษณะกว้างกว่า มี ๔ ลักษณะใช่ไหม สภาวะลักษณะ

    ผู้ฟัง ข้อที่ ๒ ที่เรียกว่าปุพพคมรสัง กรุณาให้ความกระจ่างบาลีตรงนี้

    สมพร จิตมีลักษณะ มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หน้าที่ของจิต คือการงานของจิต ท่านใช้คำว่า ปุพพคมรสัง มีการถึงก่อน หมายความว่า เป็นประธาน จิตทำกิจ ทำหน้าที่รู้อารมณ์ โดยความเป็นประธานในการรู้อารมณ์ ไม่เหมือนเจตสิก ส่วนเจตสิกบางดวงเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ จิตที่ว่าเป็นประธาน เพราะว่าต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง ปุพพัง ท่านหมายความว่าเกิดขึ้นก่อน หมายความว่าเป็นประธาน เป็นประธานในการรู้อารมณ์ คือ การทำกิจรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง พูดถึง สภาวลักษณะกับวิเสสลักษณะ เป็นอันเดียวกัน ใช่ไหม

    สมพร คำว่า วิเสสลักษณะ ลักษณะที่แตกต่างกัน หมายความว่าผัสสะนี้มีลักษณะแตกต่างจากเวทนา เวทนาก็มีลักษณะแตกต่างผัสสะ จิตก็มีลักษณะแตกต่างจากเจตสิก เจตสิกก็มีลักษณะแตกต่างจากจิต เรียกว่าวิเสสลักษณะ คือมันแตกต่างกันไปเลย

    ผู้ฟัง ใช้แทนกันได้ไหม สภาวลักษณะ วิเสสลักษณะ และลักขณาทิจตุกะ

    สมพร เป็นปรมัตถ์ทั้งหมด เป็นของจริงทั้งหมด แต่ท่านใช้ศัพท์คนละอย่าง เป็นปรมัตถ์ เป็นของจริงทั้งหมด เป็นรูปหรือเป็นนาม อะไรก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง บางแห่งก็ใช้คำว่า วิเสสลักษณะ

    สมพร วิเสสลักษณะ หมายถึงลักษณะที่แตกต่างกัน ท่านกล่าวแต่ละดวง เช่น ผัสสะมีลักษณะอย่างนี้ๆ หมดแล้ว ก็กล่าวถึงเวทนาว่าลักษณะเวทนาเป็นอย่างนี้ๆ เพราะว่ามันแตกต่างจากเวทนา ผัสสะมีลักษณะแตกต่างจากเวทนา คำว่าแตกต่างนี้ท่านใช้คำว่าวิเสสะ แปลว่าแตกต่าง

    ผู้ฟัง ทีนี้มันแตกต่าง ทั้ง ๔ ลักษณะเลยหรือเปล่า

    สมพร ก็ทั้งหมดเลย

    ผู้ฟัง ทั้งหมด คือสภาวลักษณะ หมายถึง

    สมพร สภาวลักษณะ ลักษณะที่มีอยู่จริง

    ผู้ฟัง ที่มีอยู่จริง ก็ต้องเอา ๔ ใช่ไหม ลักษณะที่จริง

    สมพร ลักษณะจริงนี้มันกว้าง ยังไม่ได้กล่าวแต่ละอัน แต่ละอัน

    ผู้ฟัง แต่ละอัน ถือเป็นวิเสสะ

    สมพร วิเสสะ แตกต่างกัน ลักษณะของจิตแตกต่างกับลักษณะของเจตสิก คำว่าแตกต่างนี้ เรียกว่า วิเสสะ ลักษณะที่แตกต่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ลักษณะกับกิจก็คล้ายๆ กัน

    ผู้ฟัง อย่างโลภะเราก็จำได้ว่าติด ติดในอารมณ์ เท่าที่เรียนๆ มา ลักษณะโลภะก็ติดในอารมณ์ ถ้าเอา ๔ ก็คงเรียงไม่ได้ จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียง แล้วก็ไม่ต้องจำ แต่ว่าเข้าใจให้ถูก เพราะเหตุว่าการฟังเดี๋ยวนี้ เรื่องจิต ไม่ใช่ให้ไปจำลักษณะทั้ง ๔ แต่ให้รู้ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ฟังอย่างไรใน ๔ อย่างให้เข้าใจขึ้นถึงลักษณะของจิตที่กำลังมีอยู่ทุกขณะ แล้วก็กำลังเกิดดับ

    ผู้ฟัง อย่างยกตัวอย่าง ลักษณะเห็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จิตทั้งหมดที่กำลังมี ทุกคนกำลังมี จะต้องรู้ว่าเป็นสภาพรู้อารมณ์ เป็นสภาพรู้ไม่ใช่เป็นสภาพสั่ง

    ผู้ฟัง จิตมีลักษณะรู้ เรียกว่ารู้อารมณ์เป็นลักษณะ แต่พอคุณกฤษณาเอามาอ่าน ๔ อย่าง ก็ลืมเรื่องความเป็นหัวหน้า ความถึงก่อน

    ท่านอาจารย์ คุณกฤษณาก็คงจะยก ๔ อย่างขึ้นมา เพื่อให้เห็นความต่างกันของจิตกับเจตสิก

    ผู้ฟัง ทำให้เรารู้ลักษณะของจิตได้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่านอกจากจิตแล้วก็มีนามธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ก็แยกลักษณะเฉพาะของแต่ละอันๆ ออกมาให้เห็นชัดว่าต่างกัน มิฉะนั้นแล้วความเป็นตัวตนยังมีอยู่ ไม่มีทางจะหมดไปได้เลย ทั้งๆ ที่เรียนเรื่องจิต เรียนเรื่องเจตสิก รู้ว่าจิตไม่ใช่เจตสิก รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ก็ยังเป็นเราอยู่นั่นแหละ

    จึงต้องฟังให้กระจ่าง ให้มีความจำที่มั่นคง จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ตัวจริง คือ ตัวจริงที่กำลังเห็น มีทั้งจิต เจตสิก ตัวจริงที่กำลังได้ยิน ตัวจริงที่กำลังนึกคิดซึ่งเป็นทั้งจิต และเจตสิก โดยอาศัยการฟังจนกระทั่งซึมซาบจริงๆ ในเรื่องของจิตว่าเป็นสภาพรู้ แล้วก็ในเรื่องของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง แต่ความเหมือนกันก็ต้องมี อย่างเช่น ข้อ ๓ มีการสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง มีการสืบเนื่อง คือ เกิดดับสืบต่อกัน เป็นอาการปรากฏของจิต

    ผู้ฟัง เจตสิก ก็คงมีลักษณะอย่างนั้น

    ผู้ฟัง อันนี้ไว้ถึงเวลาเรื่องเจตสิก

    ผู้ฟัง บางอย่างมันก็คงจะต้องเหมือนกันบ้าง

    ผู้ฟัง อาการปรากฏของจิต คือ เกิดดับสืบต่อ สืบเนื่องกันทั้งๆ ที่จิตก็มีการสืบต่อ เกิดดับต่อต่อเนื่องอาการปรากฏ แต่ทำไมเราไม่เห็นอาการปรากฏของจิต

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเห็นไม่ได้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจลักษณะอาการปรากฏ ข้อที่ ๔ ก็เหตุใกล้ให้เกิด ข้อที่ ๓ อาการปรากฏ คือ มีการสืบเนื่องกัน คือ การเกิดดับสืบต่อกันเป็นอาการปรากฏ ภาษาบาลี สันธานปัจจุปัฏฐานะ

    สมพร สันธานะ หมายความว่าเกิดเนื่องกันไปเป็นอาการปรากฏ จิตนี้ไม่หยุดเกิด การปรากฏของจิตต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ ก็เพราะมีปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ การปรากฏของจิตเพราะมันเกิดขึ้นบ่อยๆ ๆ แล้วก็ จึงจะปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สันธานะ

    สมพร สันธานะ เกิดสืบต่อกันไปไม่สิ้นสุด ไม่มีหยุดเลย

    ท่านอาจารย์ ทำไมเรียกว่าสันธานะ ในเมื่ออาการของเขาคือสันธานะ

    สมพร การปรากฏการเกิดสืบต่อกันไปเรื่อยๆ สืบต่อปกติ การปรากฏของจิตก็อาศัยการเกิด เกิดสืบต่อ รู้ได้โดยการเกิดสืบต่อกันไป ดวงนี้ดับไปแล้วดวงนี้ก็เกิดขึ้น ดวงนี้ดับแล้วดวงนี้ก็เกิดขึ้น เป็นการปรากฏของจิต

    ผู้ฟัง ความหมายของคำว่าสืบต่อ มาจากความหมายของ สันธานะ อย่างนั้นใช่ไหม

    สมพร สันธานะ ก็ทำนองเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ขอกลับมาที่สภาวลักษณะของจิต ลักษณะของจิตข้อที่ ๔ ก็คือ นามรูปปทัฏฐานัง คือมีนามธรรม และรูปธรรม เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ที่ว่านามธรรม และรูปธรรมเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เป็นเหตุใกล้ในฐานะที่เป็นอารมณ์หรือเปล่า หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่า จิตจะเกิดต้องอาศัยเจตสิก และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยรูปด้วย ถ้าไม่ใช่ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เว้นรูป

    ผู้ฟัง คำว่า ชาติ หมายความว่าอะไร

    สมพร คำว่าชาติ ชาต ถ้ามีสระอิ เป็นชาติ เราก็อ่านว่า ชาด ชา-ติ กับ ชา-ตะ มีความต่างกันนิดหนึ่ง ชาติที่บอกว่าการเกิด การเกิดขึ้นของรูปธรรมนามธรรม เราใช้ ชา-ติ

    แต่บางทีในภาษาบาลี เรียกว่า ชาตะ แปลว่าเกิดแล้ว ส่วนมากเขาใช้เป็น ชา-ติ ในที่นี้ก็หมายถึงชาติแน่ว่า จิตมี ๔ ชาติ ไม่ใช่ชาตะ เป็นชาติ หมายถึงการเกิดขึ้นของจิต ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

    ผู้ฟัง ชา-ติ หมายถึงการเกิด ถ้าชา-ตะ เกิดแล้ว

    สมพร ใช่

    ผู้ฟัง ชาติของจิต คือ การเกิดขึ้นของจิต อย่างนี้ใช่ไหม

    สมพร การเกิดขึ้นของจิต ประเภทต่างๆ เป็นกุศล อกุศลอะไรก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นเป็นกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายของเราก็มีอยู่ตรงนี้ ให้รู้สภาวะการเกิดแล้วก็การดับ ทีนี้จิตมันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเดียว เมื่อจิตเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ปัญหาว่าทำอย่างไรปัญญาจะแยกได้ว่า นี่จิต นี่เจตสิก ส่วนรูปนั้นแน่นอนเพราะว่าจิตเจตสิกจะเกิดขึ้นเฉยๆ โดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ คำถามเรื่องของชาติ ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง แล้ววันนี้ขณะนี้เองก็ผ่านไปหลายขณะ โดยไม่รู้ว่า เป็นจิตชาติอะไร เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็เพื่อที่จะให้ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็เคยยึดถือว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงแล้วเป็นจิต เจตสิก รูป

    การที่เราเรียนจิตชาติต่างๆ เพื่อที่จะให้ทราบว่า แม้ขณะนี้เองมีจิตประเภทใดบ้าง เพราะว่าเราเรียนเรื่องจิตจริง แต่ว่าเรียนเพียงเรื่องของจิต ไม่ใช่ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นจิตในขณะนี้

    การจะเรียนเรื่องชาติก็ดี หรือการจะเรียนเรื่องลักษณะของจิตก็ดี เพื่อให้รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เราสามารถจะรู้เองได้ เช่น ขณะนี้ก็มีทั้งจิตที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม แล้วก็มีจิตที่เป็นเหตุ เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง แล้วก็มีกิริยาจิตด้วย ซึ่งถ้าไม่ศึกษาแล้วก็ไม่มีทางที่เราจะทราบได้ หรือว่าถึงแม้ว่าได้ศึกษาแล้วก็ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งว่า สภาพนั้นๆ เป็นแต่เพียงจิตประเภทต่างๆ แต่นี่เป็นบันไดขั้นที่จะเกื้อกูลให้เราค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาที่จะเห็น จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ที่เรียนเรื่องจิตประเภทต่างๆ ก็เพื่อที่จะให้ถึงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้วให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าอวิชชาอยู่ที่ไหน เราก็เพียงแต่บอกว่า มีอวิชชา ทุกคนเกิดมามีอวิชชา ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ขณะเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นกำลังได้ยิน ที่เป็นจิตประเภทต่างๆ ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อน แล้วก็ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง เราก็ได้แต่เรียนไป กิริยาบ้าง วิบาก กิริยาแล้วก็มาวิบาก แล้วก็มากิริยา มากุศล อกุศล แล้วก็มาวิบาก พอเวลาตัวดิฉันเองเวลาโกรธแล้วรู้ว่ามันโกรธ ชวนะอีกแล้ว อันนี้เรารู้ชาติ ดิฉันรู้ชวนะแล้ว เวลานี้เรารู้ชวนะ แต่ทุกคนยังไม่รู้ กิริยา วิบาก กุศลจิต บางทีก็ไม่รู้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะให้เรามีความเชื่ออย่างมั่นคง ในเรื่องของกรรม และผลของกรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจะไม่กล่าวถึงกิริยาจิต ก็จะมีจิตที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิต อกุศลจิต และจิตที่เป็นผล คือ อกุศลวิบาก และกุศลวิบาก

    ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องของวิถีจิต มีผู้ฟังใหม่ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับชาติ ๔ ชาติว่า จิตจะมีมากน้อยสักเท่าไหร่ก็ตาม ในชาตินี้ทั้งหมด ชาติก่อนๆ หรือว่าจะในโลกนี้หรือว่าในสวรรค์ หรือในนรก หรือเป็นเปรต หรืออสุรกายก็ตาม เมื่อจำแนกจิตโดยชาติแล้ว โดยเหตุ และโดยผล และไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ก็จะมีจิต ๔ ประเภท ที่เรียกว่า ๔ ชาติ คือเป็นกุศล๑ เป็นเหตุที่ดี แล้วก็ต้องทำให้เกิดผลที่ดี ซึ่งก็ต้องเป็นจิตนั่นเอง เป็นกุศลวิบากจิต ให้ทราบว่ากุศลเป็นจิต แล้วก็วิบาก คือ ผลของกุศลก็ต้องเป็นจิตด้วย มีจิตซึ่งเป็นเหตุ และมีจิตซึ่งเป็นผล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุอกุศลวิบากจิตเกิด

    นี่คือให้ทราบว่ามีแต่จิต เจตสิก รูป แต่เวลาที่เราพูดเรื่องจิต เรายังจะไม่กล่าวถึงเรื่องเจตสิก เพราะเหตุว่าทราบกันอยู่แล้วว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ เวลาที่มีจิตเกิดขึ้นก็จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อพูดถึงจิตก็หมายความรวมถึงเจตสิก ถ้าพูดถึงกุศลจิตก็ต้องมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าพูดถึงอกุศลจิตก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าพูดถึงจิตซึ่งเป็นวิบากซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ก็จะมีอกุศลวิบากเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลวิบากจิตด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วมีจิต ๔ ชาติ แล้วใน ๔ ชาตินี้ จะเห็นได้ว่าเป็นกุศล๑ อกุศล๑ เป็นเหตุ ๒ แล้วก็เป็นวิบาก๑ ซึ่งเป็นผล แล้วก็ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบากอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต

    ก็คงจะไม่ยากเกินไป ที่เราจะเข้าใจแล้วก็จำได้ในเรื่องชาติของจิต แล้วข้อสำคัญ คือ ลืมไม่ได้ ไม่ว่าจะไปถึงอริยสัจหรือว่าปฏิจจสมุปบาท หรืออะไรก็ตาม ก็จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันโดยอะไร

    ขั้นต้นที่สุดของคนที่จะเข้าใจปรมัตถธรรม คือ เมื่อรู้ลักษณะของจิตแล้วก็ยังจะต้องรู้ความละเอียดว่า จิตนั้นมี ๔ ชาติ คือ กุศล๑ อกุศล๑ วิบาก๑ กิริยา๑

    ขณะนี้เราพอที่จะมั่นใจหรือยังว่า ขณะไหนเป็นชาติวิบาก เพราะว่ามีบางคนปนกันระหว่างวิบากกับกุศลจิต อกุศลจิต ให้ทราบว่าโดยนัยของพระสูตร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ