ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๒๗

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๕


    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เห็นมีอยู่ตลอดเวลาแล้วทำไมจะต้องไปคอย ไปจ้อง ตรงตา แล้วก็ ได้ยินก็มีอยู่ตลอดเวลา ขอให้มีเสียง มันได้ยินของมันอยู่แล้ว แล้วทำไมจะต้องเอาสติไปคอยไว้ที่หู ซึ่งการเอาไปคอยอย่างนั้น ตาก็ดีก็เป็นเราแล้ว หูก็ดีก็เป็นเราแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่ามันไม่ถูก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีปัญญาเข้าใจความหมายของสีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด คือรู้ตัวเองว่าขณะนั้นผิดแล้ว ไม่ต้องคอย ไม่ต้องรออะไรเลย มีสภาพธรรมปรากฏซึ่งปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใช้คำว่าค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีที่สุด เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่าเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้สึกเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ ต้องรอ ต้องคอย ต้องทำแต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะใดที่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นนั่นเองคือสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง สภาพธรรมสั้นจริงๆ สั้นอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า ขณะที่พูดว่าเห็น เฉพาะคำว่าเห็นอย่างเดียว สภาพธรรมสั้นกว่านั้นอีก เห็นมีอยู่แล้ว สภาพธรรมมีอยู่แล้ว แต่ทีนี้การที่มาเรียนมาฟังท่านอาจารย์สอนเรื่องแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน อย่างที่คุณนิภัทรพูด มันจะเอาตัวตน เข้าไปเจริญสติ ขณะที่เห็นก็มีอยู่แล้ว แล้วสภาพธรรมที่เห็นก็ดี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี สั้นนิดเดียวจริงๆ ขณะที่พูด สิ่งที่ปรากฏทางหูก็ผ่านไปแล้วนิดเดียว สั้นๆ จริงๆ จากคำที่ท่านอาจารย์ย้ำเสมอว่า สภาพธรรมนี้สั้นจริงๆ แล้วสั้นจริงๆ เห็นก็สั้นจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วเราก็ลองมาสังเกตดูว่าเห็นนี้สั้นจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าหรือเปล่า มันก็สั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะถึงที่คุณอดิศักดิ์พูด คงจะเป็นค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ก่อน แล้วก็แยกจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ๒ อย่าง ต้องค่อยๆ เข้าใจไป

    ผู้ฟัง เห็น คือ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ อันนี้ก็ฟังมาอย่างมากแล้ว เสร็จแล้วถ้าเราไปนึกถึงมัน ไปคิดก็อดคิดมันไม่ได้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ คืออย่างไร เราก็สังเกต สำเหนียก เอาใจใส่อยู่เรื่อย เห็นเป็นอย่างไร ธาตุรู้เป็นอย่างไร สภาพรู้เป็นอย่างไร ก็ตั้งคำถามถามกับตัวเอง แล้วก็สังเกตสภาพธรรม ซึ่งก็ต้องใช้การศึกษาอย่างยาวนาน แต่สภาพธรรมที่มีสั้นๆ มันก็จะปรากฏบ้างนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ปริยัติที่ว่ายาก แต่พอถึงการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เป็นความเห็นถูกจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตนยิ่งยากกว่า แล้วก็เป็นเรื่องของการอบรม เพราะถึงแม้ว่า จะเข้าใจโดยการฟังก็จริง แต่อย่างที่คุณนิภัทรว่า ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นเราจะทำ หรือจะคอย ซึ่งผู้นั้นเองจะค่อยๆ รู้ขึ้น และค่อยๆ ละสีลพัตตปรามาส ซึ่งเป็นการเห็นผิด เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิด ทีละเล็กทีละน้อย แล้วผู้นั้นก็จะค่อยๆ รู้ความเจริญ ความก้าวหน้าขึ้นของปัญญาว่า ตอนนี้ไม่ต้องคอยแล้ว มีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติเกิดก็ระลึกที่ลักษณะนั้นเอง ไม่ใช่เราที่จะต้องไปคอย แล้วก็ถ้าสติหมดไป ก็คือหลงลืมสติ

    บางทีก็คิดเรื่องราวต่างๆ ต่อไป แล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งนั้น แต่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นเรา แล้วก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีเรา ไม่มีเรื่องราว มีปรมัตถธรรมเท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทีละน้อยจริงๆ อย่าคิดว่า จะละมาก หรือว่าจะถึงพระนิพพานเร็วๆ แต่ว่าเป็นปัญญาจริงๆ ที่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็จะรู้ลักษณะขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ แล้วเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมมากขึ้นก็จะรู้ได้ว่า นามธรรมประเภทนี้เป็นวิบากนั่นเอง และนามธรรมประเภทอื่นไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะเหตุว่ากำลังเห็น เพียงเห็น ยังไม่ได้ชอบหรือชังอะไรเลย ยังไม่ได้คิดเรื่องราวอะไรเลย แต่เห็นมี โดยที่ว่าจะไม่อยากเห็นก็ไม่ได้ ใครก็ตามที่ไม่อยากเกิด ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน เป็นสิ่งที่สุดวิสัย เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    เมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ก็ต้องมีปฏิสนธิ เมื่อมีการเกิดมาแล้ว ก็จะมีการดำรงภพชาติ แล้วในระหว่างที่ดำรงภพชาติ ก็จะมีการเห็นการได้ยิน

    การคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ ถ้าสติระลึกได้จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่เพียงเห็น แต่เป็นการคิดแล้วก็เป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดไม่ใช่วิบาก

    ผู้ฟัง ดิฉันขอถามสิ่งที่ได้กับตัวเอง ศึกษาไปศึกษาไป บางครั้งเมื่อได้ยิน แต่ว่ามันจะเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ท่องเอาอย่างนี้ ก็รู้สึกอันนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย คือ ท่องเอา ทำอย่างไรมันถึงจะไม่ต้องท่องเอาได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเรื่องทำอย่างไร ค่อยๆ อบรมไป สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหม แล้วต่อไปก็จะเกิดไหม

    ทีนี้ประเด็นนี้ น่าสนใจที่ว่า ใจคุณสุรีย์คิดอย่างไร เพราะว่าคนตั้งหลายคนที่ฟังพระธรรมแล้วก็บอกว่า สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็เป็นความจริง แต่ว่าอยากให้สติปัฏฐานเกิดไหม นี่เป็นจุดที่จะทำให้ผิดหรือถูก เริ่มเข้ามาแล้ว เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด ต้องทราบว่าพระธรรมทั้งหมดของพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อการละ ใครก็ตามซึ่งมีความสนใจในพระธรรม ต้องรู้จุดว่า เพื่อที่จะละกิเลส ละความไม่รู้ แต่ถ้าใครก็ตามซึ่งสนใจพระธรรมเพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเอา คนนั้นผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็จะไม่ได้อะไรเลย ถึงจะมีความรู้มากสักเท่าไร แต่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเองเพราะเหตุว่าไม่มีการละอะไรเลย เป็นเรื่องตัวเองทั้งหมดที่รู้ ที่เก่ง ที่ดี ที่ฉลาด ไม่ได้ละไม่ได้ขัดเกลาอะไร แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เห็นภัย เห็นโทษของอกุศล แล้วก็รู้ว่า พระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เกิดปัญญา แล้วเรื่องของการละเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา ไม่มีตัวตน ความเห็นผิดละอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นอกุศล แต่กุศลหรือปัญญาเท่านั้นที่จะละได้

    แม้แต่ในเรื่องของการที่จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการที่ปัญญาจะข้ามจากขั้นปริยัติถึงขั้นอบรมเจริญภาวนา ผู้นั้นก็จะต้องพิจารณาว่า เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด แล้วอยากให้เกิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยาก คือดิฉันคิดว่าถ้าดิฉันอยาก ดิฉันก็เหนื่อย ดิฉันชอบสบายๆ ให้มันเกิดของมันขึ้นมาเอง มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

    ท่านอาจารย์ อันนี้อาจจะเคยผ่านมาแล้วว่า อยากแล้วก็ไม่ได้อะไร

    ผู้ฟัง มันเหนื่อย

    ท่านอาจารย์ เหนื่อยจริงๆ ทุกคนเป็นอย่างนั้น จะไม่ได้อะไรนอกจากเหนื่อยเปล่า เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องอยาก เรื่องที่ว่ามีเหตุปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิดหรือยัง ถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติปัฏฐานเกิด เวลาสติเกิด รู้ได้ทันที นั่นเป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เราจะทำ นี่ก็เริ่มละการเป็นตัวตนที่จะทำ แต่ว่ามีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก แล้วจะรู้ลักษณะของสติด้วย เพราะเหตุว่าในมหาสติปัฏฐานจะมีข้อความที่แสดงว่าลักษณะของสติปรากฏ ไม่ใช่ว่าคนนั้นจะไม่รู้ลักษณะของสติเลย แต่ว่าในขณะใดที่สติปรากฏลักษณะ ขณะนั้นลักษณะของสติปรากฏด้วย ธรรมปรากฏด้วย

    ผู้ฟัง แต่สติก็ปรากฏ พอเราได้ยิน เราไม่ชอบ พอไม่ชอบปุ๊บ นี้เป็นสติหรือเปล่าไม่ทราบ อันนี้มันทำให้เราไม่สบายใจ ไม่ใช่เรื่อง มันเกิดตามเหตุปัจจัย อันนี้มันก็ทำให้เราสบายใจขึ้น แทนที่เราจะโกรธ อันนี้มันเกิดสติ ...

    ท่านอาจารย์ ก็เรา ไม่ใช่สติเกิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้จะใช้สรรพนามอะไร ที่จะพูดออกมาได้ ถ้าเผื่อมันไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ สติเกิด จะรู้ลักษณะของสติ

    ผู้ฟัง จะเป็นที่ภาษาก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ภาษา ไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องลักษณะของสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เกิดหรือยังถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีการรู้ลักษณะของสติปัฏฐานเลย จะพูดเรื่องลักษณะของสติสักเท่าไรก็ตาม แต่จะไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด

    ผู้ฟัง อารมณ์เกิดที่ไหนให้ระลึกรู้ที่นั่น จริงหรือไม่ แล้วก็จะดับไปเอง

    ท่านอาจารย์ รู้หรือไม่รู้ อารมณ์ก็ดับทันทีที่เกิด สั้นมาก ดับแล้ว โดยมากจะหาที่เกิดกันว่าเกิดที่ไหน ระลึกที่นั่น แต่ความจริงเวลานี้มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ อย่างสีที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น ไม่ต้องไปหาที่ แต่รู้ และพยายามเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างเวลาที่กระทบแข็ง จำเป็นต้องไปหาที่ไหม ในเมื่อลักษณะของแข็งปรากฏ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า รู้แข็งไม่ใช่แข็ง ไม่มีเราที่กำลังรู้แข็ง แข็งก็ไม่ใช่โต๊ะเก้าอี้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วสภาพที่แข็งปรากฏกับสิ่งหรือนามธรรมที่รู้แข็ง ถ้าไม่มีนามธรรมที่กำลังรู้แข็ง แข็งนั้นปรากฏได้เลย

    ขณะที่แข็งปรากฏ ก็แสดงว่ามีสภาพรู้แข็งในขณะนั้น ไม่ใช่เราอีกต่อไป แต่กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพรู้ แยกออกจากแข็งแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจว่าตรงไหน เพราะว่าแข็งก็ต้องมีตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปหาที่เกิดของแข็งอีก

    ผู้ฟัง การที่ว่าจะใช้สติเอามาพิจารณา หรือว่าเอามาระลึกได้ เพื่อที่ให้เห็นโทษของกิเลสที่เกิดขึ้น หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยาก ผมคิดว่ามาฟังวันนี้ จะถามให้ชัดๆ ว่าสติ ตามธรรมดาก็คิดว่า เราทำอะไรก็มีสติกันอยู่ คิดว่าตัวเองมีสติ แต่สติปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันกับสติปัฏฐาน มีความแตกต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การฟังต้องละเอียด ไม่ใช่ว่าทุกขณะที่ทำอะไรๆ มีสติ นั่นเข้าใจผิด สติต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ในขณะที่ระลึกเป็นไปในทาน การให้ มีการให้ขณะใด ขณะนั้นจึงมีสติที่เป็นไปในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ในขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นจึงเป็นสติ ในขณะที่มีจิตเมตตา หรือว่ามีกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา ทางใจ ขณะนั้นจึงเป็นสติ แต่ถ้าเดินไปซื้อของ รับประทานอาหาร นี่ ไม่ใช่สติ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นฝ่ายดี ทีนี้อย่างเวลาขับรถก็มีสติ แต่ว่าก็รู้ว่าในเวลาที่ขับรถ มีความต้องการ มีความรีบร้อน เพราะว่ามีความต้องการที่จะไปไหน ความต้องการนั้นเป็นความโลภ แต่ว่าก็มีสติที่จะระวังรถ ระวังอะไรไม่ให้ชน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ไม่ได้ ที่กล่าวว่า กำลังขับรถมีสติ ตอนไหน ขณะที่ขับรถมีสติ ตอนไหน

    ผู้ฟัง ก็ตอนที่เราระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือว่าในการใช้เกียร์ หรืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ต้องทราบว่า สติที่ว่าเป็นโสภณ เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปในกุศลธรรม คือ ต้องเป็นไปในทาน ในศีล หรือในความสงบของจิต หรือสติปัฏฐาน นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่สติ กำลังคุยกันขณะที่กำลังขับรถ เป็นสติหรือเปล่า ขณะที่กำลังระวังไม่ให้ชน เป็นสติหรือเปล่า ต้องพิจารณาแล้ว ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนา หรือในการเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ใน ทาน ศีล ภาวนาแล้ว ไม่ใช่สติ ขณะที่นั่งอยู่นี่ มีสติหรือเปล่า เดี๋ยวนี้มีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ธรรมดานี้ก็คิดว่า คิดว่ามี มีที่ว่ารู้ตัว

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องมีการกระทำกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ากำลังรับประทานอาหาร แล้วรู้ว่ากำลังรับประทานอาหารนั้น เป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เมื่อรู้รสของอาหารว่า เป็นรสอะไร น่าจะจัดว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่รับประทานส้มเปลี่ยว รู้ว่ารสเปลี่ยว ขณะนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นสติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นวันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดมาก พอรับประทานของที่เค็ม ก็บอกว่าปลานี้เค็ม พอรับประทานขนมก็บอกว่า นี่หวาน ก็เลยเป็นสติหมด อย่างนั้นก็รวยสติ สติเกิดมากวันหนึ่งๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นเป็นสติหรือว่ามีสติ เพราะว่าเรื่องสติที่เป็นโสภณธรรมที่เกิดกับวิบาก เป็นเรื่องละเอียดข้างหน้า เอาเพียงว่าในชีวิตประจำวันที่จะรู้ว่า มีสติหรือไม่มีสติก็ต่อเมื่อขณะใดเป็นกุศลเท่านั้น รับประทานอาหารเป็นกุศลหรือเปล่า รู้ว่าจานอยู่ที่ไหน ช้อนส้อมอยู่ที่ไหน แกงเผ็ดแกงจืด นี้เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ถ้าเอาทาน การบริจาคเข้ามาเทียบ ยังไม่ได้ให้ทาน ก็คงจะไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น ใช่ไหม แล้วก็ไม่ได้วิรัตทุจริต แล้วขณะนั้นก็เป็นโลภะด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่ยังไม่ได้ทำทุจริต ยังไม่ได้ถือว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ ต้องวิรัติทุจริต ไม่ใช่ไม่ทำทุจริต ถ้านั่งอยู่เฉยๆ ไม่พูดไม่จา แล้วก็คิดสนุกสนานเพลิดเพลินในใจ ขณะนั้นมีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ต้อง

    ท่านอาจารย์ นั่งเฉยๆ ไม่ได้ทำกรรม ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์

    ผู้ฟัง ถ้าจะให้มีสติก็ต้องมีสติต่อสิ่งที่มากระทบ เช่นนั่งอยู่ มีกายกระทบเก้าอี้อย่างนี้ จะต้องให้มีสติแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะต้องให้มีสติ อันนี้ขอความกรุณา เมื่อใช้ ๒ – ๓ คำ เช่นว่าใช้สติ ก็ไม่ถูก ไม่มีใครไปใช้สติได้เลย สติเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่มีใครไปใช้สติ ใช้สติก็ไม่ถูก ใช้ไม่ได้

    ผู้ฟัง สติเกิดเอง

    ท่านอาจารย์ สติเกิดหรือไม่เกิด สติขั้นไหน สติขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบที่เป็นสมถะ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็ยิ่งสงสัยใหญ่ว่า ที่นั่งก็ต้องมีการกระทบ อย่างน้อยๆ ก็กายต้องสัมผัสกับความอ่อนความแข็ง ก็รู้ ก็ต้องรู้ เพราะว่าธรรมดาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ากายได้สัมผัส อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็ต้องรู้ ทีนี้เมื่อรู้ตรงนี้ ก็ยังไม่ทราบว่า เป็นสติไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะใครๆ ก็รู้ ถามเด็ก เด็กๆ รู้ไหม เด็กก็บอกว่าแข็ง ก็จะเป็นสติปัฏฐานไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีอยู่ตลอดเวลา มีการรู้อารมณ์ เช่นเด็กก็รู้ว่า อะไรอ่อนอะไรแข็ง อะไรหวาน เปรี้ยว เสียงต่างๆ แต่ว่าขณะที่สติเกิด ต้องต่างจากเพียงรู้ด้วยจักขุวิญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาน กายวิญญาณ เวลาที่กระทบสิ่งที่แข็ง สภาพรู้แข็ง มี เป็นของธรรมดาเหลือเกิน ไม่ว่าใครก็จะต้องมีสภาพรู้แข็ง เป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้ภาษาบาลีก็คือ กายวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยกายคือกายปสาท จึงรู้สิ่งที่กระทบ ลักษณะแข็งที่กระทบกาย เป็นของธรรมดา แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะเห็นได้ว่า ในชีวิตธรรมดาประจำวันที่กระทบอ่อนแข็ง มีขณะที่หลงลืมสติ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดเลย กับขณะที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นจะรู้เลยว่า กระทบแข็งมาหลายครั้ง แต่ว่าก่อนๆ นี้สติปัฏฐานไม่ได้เกิด แต่ขณะนี้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งต่างกับเพียงกระทบแล้วรู้แข็ง แต่จะมีอาการที่ค่อยๆ รู้ กำลังรู้ตรงแข็ง หรือว่าสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งขณะนั้นกำลังมี ใช่ไหม รู้แข็งก็มี แข็งก็มี เป็นปกติ แต่มีสติ คือ มีการรู้ที่ลักษณะที่รู้หรือว่าลักษณะที่แข็ง จึงจะกล่าวได้ว่าสติเกิดระลึกที่รู้แข็ง หรือว่าระลึกที่แข็ง ไม่ใช่เพียงกายวิญญาณที่รู้แข็งเท่านั้น

    ผู้ฟัง คนปกติมีสติแต่ไม่ใช่สติปัฏฐานของพระพุทธองค์ สรุปแล้วคนทั่วไปยังมีสติไม่สมบูรณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ คือพูดกันเอาเอง โดยที่ไม่ได้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ถ้าสภาพปรมัตถธรรมที่เป็นสติ จะเรียกชื่ออะไรก็ได้ แต่ลักษณะอาการนั้นต้องเป็นสภาพที่เป็นโสภณธรรม

    ผู้ฟัง คำว่าสติ นั้นเป็นภาษาของเขา แต่ไม่ใช่สติ ที่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจลักษณะของสติ

    ผู้ฟัง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สี เสียง เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์เท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ส่วนหนึ่งหมายความอย่างไร

    ผู้ฟัง คงจะเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ชนิดหนึ่ง ชนิดหนึ่ง แต่ละชนิด แข็งก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง เสียงก็เป็นอารมณ์ ถ้าใช้คำว่า “อารมณ์” หรือ “อารัมมณะ” ต้องทราบว่าหมายความว่าจิตที่กำลังรู้ แข็งที่โต๊ะ ถ้าไม่มีจิตที่กำลังรู้แข็ง แข็งนั้นไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์ เป็นแต่เพียงโผฏฐัพพะ แต่ถ้าเป็นโผฏฐัพพารมณ์ ต้องแสดงว่าเป็นอารมณ์ของจิตประเภทหนึ่ง ประเภทใด

    คำว่า “อารัมมณะ” กับ “อาลัมพนะ” เพราะว่าเท่าที่เรียนๆ มา โดยมากเราจะใช้เพียงคำเดียว คือใช้คำว่า “อารมณ์” หรือ “อารัมมณะ” แต่จริงๆ แล้ว ถ้าดูในภาษาบาลี จะเห็นว่ามีคำว่า “อาลัมพนะ” บ่อยๆ ไม่ใช่มีแต่คำว่า “อารัมมณะ “ไม่ทราบว่าภาษาบาลีใช้คำไหนมากกว่ากัน อารัมมณะ กับอาลัมพนะ

    ผู้ฟัง โดยมากในวิถีจิต ก็เห็นว่า ใช้อาลัมพนะ แต่ว่าทั่วๆ ไปใช้อารมณ์ ส่วนมากใช้คำว่าอารมณ์ ก็พอจะเข้าใจง่าย ความจริงก็ถ้าภาษาไทยก็อย่างเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เรื่องภาษาบาลีนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี แต่ว่าสำหรับผู้ที่รู้ภาษาบาลีแล้วก็ชำนาญเหมือนคนที่ขับรถคล่อง ไม่ว่าจะมีอะไรก็สามารถที่จะแก้ไขได้ หรือว่าเข้าใจได้ลึกซึ้ง อย่างอารัมณปัจจัย ไม่เคยใช้คำว่า อาลัมพนปัจจัย ใช่ไหม แต่ว่าพอถึง ตทารัมพนะ หรืออาลัมพนะ จะใช้แทนกันได้ และมีหลายแห่งทีเดียวที่ใช้อาลัมพนะ อารามมะ กับ อาลัมพนะ

    ผู้ฟัง อารามก็เช่นเดียวกับ มาจากศัพท์เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ บางทีก็เสียงสั้น บางทีก็เสียงยาว พอถึงอารมณ์ก็อาลัมพนะ สั้นๆ พอถึงอารามณะก็ยาว โดยที่ว่ารากศัพท์อันเดียวกัน แต่ถ้าจะเข้าใจลักษณะของจิตโดยพยัญชนะหลายๆ พยัญชนะ จะทำให้เข้าใจขึ้น อย่างอาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่ยึดหน่วงจิตหรือ

    ผู้ฟัง อาลัมพนะ หมายความว่า เป็นเครื่องยึดหน่วงให้จิตเกิดขึ้น จิตที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นอารมณ์เกิดขึ้น เครื่องยึด หมายความว่าอารมณ์เป็นเครื่องยึดหน่วงให้จิตเกิดขึ้น จิตที่จะเกิดขึ้นได้ก็เป็นเครื่องยึดหน่วง หมายความว่าอารมณ์เป็นเครื่อง ยึดหน่วงทำให้จิตเกิดขึ้นนั่นเอง แปลว่ายึดหน่วงให้เกิดขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ