ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๒๒

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๕


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีการไม่ลืม แล้วก็สามารถที่จะพิจารณา ที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ และนิพพานปรมัตถ์ ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น มีปรมัตถ์อยู่ ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม สำหรับนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรม และเป็นอสังขตธรรม จิต เจตสิก รูป ที่เป็นสังขารธรรมนั้น เป็นขันธ์ด้วย ซึ่งความหมายของขันธ์หมายถึงกอง เช่น กองรูป ก็ได้แก่รูปทุกรูป อยู่ในกองรูป ไม่ใช่อยู่ในกองอื่น เพราะฉะนั้น รูปทุกชนิด จึงเป็นรูปขันธ์ ขันธ์นั้นหมายถึงสภาพธรรมที่จำแนกเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้

    ในบรรดาปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น ปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์ ก็ได้แก่จิต เจตสิก และรูป ส่วนปรมัตถธรรมที่ไม่เป็นขันธ์ก็ได้แก่นิพพาน ซึ่งเรียกว่าขันธวิมุตติ หมายความว่าพ้นจากขันธ์

    ทีนี้ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นขันธ์นั้น จำแนกออกได้เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ที่เหลืออีก ๕๐ ชนิดเป็นสังขารขันธ์ และจิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์ เมื่อทบทวนเรื่องปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่ควรจะต้องพูดถึงควบคู่ไปด้วยคือ อุปาทานขันธ์

    อุปาทานขันธ์ ก็คือขันธ์เป็นที่ตั้ง หรือเป็นอารมณ์ของความยึดมั่น ความยึดถือ นั่นเอง ฉะนั้นรูปขันธ์ก็ดี เวทนาขันธ์ก็ดี สัญญาขันธ์ก็ดี สังขารขันธ์ก็ดี วิญญาณขันธ์ก็ดี ที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่น ยึดถือ จึงเป็นอุปาทานขันธ์ เช่น มีชื่อเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ เป็นต้น ทีนี้ ขันธ์ที่จะเป็นที่ตั้งของความยึดมั่น ยึดถือ หรือว่าเป็นอารมณ์ของอุปาทานนั้น จะต้องเป็นขันธ์ที่เป็นโลกียะ เพราะเหตุว่าอุปาทานจะเกิดขึ้นก็ด้วยอาศัยรูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณที่เป็นโลกียะ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นโลกุตตระนั้น ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน

    ขันธ์ ๕ สรุปได้เป็นธรรม ๒ อย่างคือ รูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมนั้น คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ส่วนนามธรรมนั้นคือสภาพธรรมใดที่ไม่ใช่รูปธรรม สภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม

    นามธรรม ก็ได้แก่ จิต เจตสิก และนิพพาน นามธรรมนั้นก็มีทั้งนามธรรมที่รู้อารมณ์ และนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ นามธรรมที่รู้อารมณ์ ก็ได้แก่จิต และเจตสิก ส่วนนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์คือพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขปว่า จุดประสงค์ของการศึกษา เรื่องของจิตปรมัตถนั้น ก็เพื่อที่จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก เป็นต้น และก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นอาการรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้

    เมื่อพูดถึงลักษณะของจิต ถ้าจะแบ่งอย่างกว้างๆ แบ่งออกได้เป็นสามัญลักษณะกับสภาวะลักษณะ

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตมี ๒ อย่างสามัญลักษณะอย่างหนึ่ง กับวิเสสลักษณะอย่างหนึ่ง สามัญลักษณะ คือลักษณะของจิตโดยย่อมี ๒ คำว่า “สามัญ” แปลว่าเสมอกัน อะไรที่เสมอกัน ในโลกนี้มีอะไรบ้างที่เสมอกัน คือมีไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ลักษณะทั้ง ๓ นี้เสมอกันหมดไม่ว่าใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจิต ไม่ว่าเจตสิก ไม่ว่ารูป จะต้องมีลักษณะทั้ง ๓ นี้เสมอกัน ท่านจึงเรียกลักษณะนี้ที่เสมอกันนี้ว่า

    สามัญลักษณะ ลักษณะแปลว่า เครื่องหมาย

    เครื่องหมาย คือหมายความว่า สิ่งที่ให้เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เสมอกันนั้นคืออะไรบ้าง คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ท่านเรียกว่าสามัญ แปลว่าลักษณะที่เสมอกัน เสมอกันหมด ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป นี่เฉพาะสามัญ เท่านั้น

    จิตมีลักษณะ ๒ อย่าง คือ

    ๑. สามัญลักษณะ ลักษณะที่เสมอกัน หมายความว่าทั่วไปกันเสมอกับธรรมอื่นๆ เช่น เจตสิก ก็อย่างเดียวกัน ต้องมีการเสมอกันโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สามัญลักษณะของจิต

    ๒. แต่จิตมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ หรือเรียกว่า วิเสสลักษณะ ลักษณะที่แตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น วิเสส แปลว่าแตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น หมายความว่าจิตนี้ไม่เหมือนเจตสิก เพราะอะไรไม่เหมือนเจตสิก เพราะว่า จิตมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ส่วนเจตสิกนั้นมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มีการประกอบจิตเป็นลักษณะจึงต่างกัน เรียกว่าวิเสส แปลว่าต่างกัน หรือจะเรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะ เฉพาะตัวของเขา เฉพาะจิต ถ้าเป็นเจตสิกก็เฉพาะเจตสิก ถ้าเป็นรูปก็เฉพาะรูป เรียกว่า ปัจจัตตะ หรือเรียกว่า วิเสสลักษณะ ลักษณะที่แตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น ท่านจึงเรียกว่า วิเสสลักษณะ

    ผู้ฟัง เนื้อความ ๔ อย่าง ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ ของจิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ก็มีความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เป็นกิจหน้าที่มีการเกิดดับสืบต่อเนื่องกัน เป็นอาการปรากฏ และมีนามธรรม และรูปธรรมเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ทีนี้นอกจากนี้ก็ยังมีเนื้อความที่เป็นลักษณะเฉพาะ หรือว่าวิเสสลักษณะ หรือสภาวะลักษณะของจิตอีกโดยประการอื่นๆ สรุปแล้วก็มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน คือ

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลส สั่งสมวิบาก

    จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    และที่ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    ผู้ฟัง คำว่า “จิต” ก็มี วิเคราะห์ศัพท์ไว้แล้วว่า วิชานลักขณัง จิตตัง จิตมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ความจริงถ้าเราจะว่าโดยพิสดาร หรือว่าโดยย่อ ถ้าว่าโดยย่อไม่ยากเลย ว่าโดยย่อหมายความว่าจิตทั้งหมดก็มีจิต ๘๙ หรือโดยพิสดาร ๑๒๑ ว่าโดยย่อ จิตมีลักษณะเดียว นี้เรียกว่าโดยย่อ ลักษณะเดียว คือ รู้แจ้งอารมณ์ หรืออีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าสามัญลักษณะนั่น ๒ อย่าง อันนี้ว่าโดยจิตจริงๆ ที่เป็นวิเสสลักษณะ มีอย่างเดียวคือรู้แจ้งอารมณ์ แต่ถ้าเราจะว่าโดยพิสดาร การรู้แจ้งอารมณ์ มีถึง ๘๙ ดวง เพราะว่า ๘๙ ดวง อารมณ์คนละอย่าง เมื่ออารมณ์คนละอย่างแล้ว จิตก็รู้อารมณ์คนละอย่าง เช่น รู้สีมีสีเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง มีเสียงเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง มีสีเป็นอารมณ์ คือ จักขุวิญญาณ มีเสียงเป็นอารมณ์ก็คือโสตวิญญาณ จักขุวิญญาณไม่ใช่โสตวิญญาณ โสตวิญญาณไม่ใช่จักขุวิญญาณ เพราะอารมณ์คนละอย่าง

    ดังนั้นถ้าว่าโดยย่อ จิตมีการรู้อารมณ์เท่านั้น โดยย่อ เป็นลักษณะ แต่ถ้าว่าโดยพิสดาร จิตต้องรู้อารมณ์ถึง ๘๙ ประเภท เพราะมันต่างกันโดยอารมณ์ ก็ตามจำนวนจิตนั่นเอง ทำไมจึงเรียกว่าจิต ๘๙ ก็เพราะอารมณ์มันต่างกัน พิจารณาดู จิตเห็นก็จักขุวิญญาณ ๑ แล้ว จิตได้ยินก็โสตวิญญาณ จิตได้กลิ่นก็ฆานวิญญาณ ลิ้มรสก็ชิวหาวิญญาณ ถูกต้องทางกายก็โผฏฐัพพะวิญญาณ เห็นไหม จิตมีชื่อแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ท่านรวมเพื่อจะให้ศึกษาได้โดยง่าย ว่าโดยสภาวะ สิ่งเหล่านั้นเป็นอารมณ์ทั้งหมด รวมอารมณ์ทั้งหมด แต่เมื่อจำแนกอารมณ์โดยพิสดารแล้ว อารมณ์คนละอย่าง เช่น สีก็อย่าง ๑ เสียงก็อย่าง ๑ สีนั้นเป็นอารมณ์ เสียงก็เป็นอารมณ์ เป็นคนละอย่าง คนละอย่าง

    ที่เราพูดนี้เราคงพูดมุ่งถึงเอาอย่างย่อ เอาแต่เพียงอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ช่างเถอะ จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส อะไรก็ช่างเถอะให้เป็นอารมณ์ ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้โดยย่อว่า จิตมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ รู้อารมณ์ เป็นลักษณะ

    ผู้ฟัง มนะ

    ผู้ฟัง มนะ ก็แปลว่ารู้เหมือนกัน มนธาตุเป็นไปในความรู้

    ผู้ฟัง จะเห็นว่า คำที่ ๒ แล้ว แปลว่ารู้ มนายตนะ

    ผู้ฟัง มนายตนะ รู้โดยการกระทบต่อ เช่น อายตนะ มีภายนอก ภายใน

    ภายนอก ๖ ภายใน ๖ ก็เช่นอายตนะภายนอก ท่านเรียกว่ารูปายตนะ คือ สีนั่นเอง อายตนะภายนอกกระทบอายตนะภายใน คือ จักขายตนะ จักขุประสาทนั่นเอง ท่านเรียกว่าจักขายตนะ เมื่อเป็นอายตนะ ท่านเรียกจักขุประสาทนั้นว่า จักขายตนะ สีเมื่อเป็นอายตนะ ท่านเรียกว่ารูปายตนะ เมื่ออายตนะกระทบกัน ก็เกิดอายตนะอีกประเภท ๑ เรียก มนายตนะ มุ่งถึงใจที่รู้อารมณ์ คือ รู้เมื่ออายตนะกระทบกัน เช่นเดียวกับท่านกล่าวว่าสีกระทบจักขุ เกิดวิญญาณ วิญญาณรู้แจ้งอารมณ์ทางตาเรียก จักขุวิญญาณ แต่ถ้าเป็นอายตนะ ท่านไม่ใช้จักขุวิญญาณ ท่านใช้มนะ เป็นมนายตนะ ก็คือการรู้อารมณ์ที่มากระทบกันนั้นเอง

    ผู้ฟัง คำจำกัดความ เพื่อจะเข้าใจคำว่ารู้แจ้งอารมณ์ คือ หทยะ

    ผู้ฟัง ที่เป็นไวพจน์ของจิตนี้ หทยะ หมายถึงอารมณ์ภายใน เช่น ภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ภายใน ไม่ได้รู้อารมณ์ภายนอกเลย ภายในที่เกี่ยวกับรับอารมณ์ต่อมาจากจุตินั่นเอง หมายความว่า จิตที่รู้อารมณ์เป็นจิตภายในตัวเรา ไม่ใช่จิตคนอื่น

    คำว่ารูป ก็เข้าใจกันดีแล้วว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้อารมณ์ ภาษาบาลีเป็นรูปัง แปลว่ารูป ธรรมชาติใดที่เกิดแล้วเสื่อมสลายเพราะปัจจัย มีความเย็นความร้อนเป็นต้น ธรรมชาตินั้นก็ย่อมแตกสลายไป ก็มีคำขัดแย้งนิดหนึ่ง ก็นามธรรมมันก็เสื่อมดับไปเหมือนกัน แต่นามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดดับตามธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างหนึ่ง แต่รูปนี้เกิดดับตามธรรมชาติอย่างหนึ่งด้วย เกิดดับเพราะปัจจัย มีความเย็นความร้อน และสัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้นหลายอย่างด้วย

    ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงใช้คำว่า “รูป” ที่ชื่อว่ารูปเพราะอรรถว่า แตกสลายไป เพราะปัจจัยมีความเย็น เป็นต้น คือ ธรรมที่เป็นข้าศึกกัน ก็ต้องทำให้รูปนั้นแตกสลายไป นี่คือความหมายของคำว่า “รูป”

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ารูปมีการทำลายได้ โดยที่จิตไม่มีใครจะไปทำลายได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง รูปนั้นมีหลายอย่างที่ว่า เมื่อเกิดขึ้นมันก็ทำลายไป เช่น ร่างกายของเรา รูปร่างกายของเราแบ่งออกเป็นรูป ๒๗ ประเภท รูป ๒๗ ประเภท นี้ มันก็เกิดดับ ตามธรรมดาเรียกว่า ๑๗ ขณะแล้วก็ต้องดับไปๆ แต่บางครั้งบางคราว ถูกคนฆ่าให้ตาย สัตว์ทั้งหลายฆ่าให้ตาย ก็คือทำลายรูป แต่ไม่ใช่ทำลายนาม แต่เมื่อนามไม่มีที่อาศัยเกิด คือ ไม่มีรูปเกิด นามก็ต้องดับไปด้วย

    ดังนั้นพระอรรถกถาจารย์ท่านจึงมุ่งกล่าวถึงคำนี้ว่า รูปแตกสลายไปเพราะปัจจัยด้วย ไม่ใช่ตามธรรมดาของมันอย่างเดียว เพราะปัจจัยมีคนทำลาย แต่นามไม่มีใครทำลายได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ที่เราฆ่าสัตว์ชีวิตตินทรีย์ เพราะรูปดับไป นามไม่มีที่อาศัยเกิด สัตว์นั้นจึงตาย ท่านมุ่งถึงอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คงไม่ได้หมายความถึงสภาพปรมัตถธรรมที่ลึกซึ้ง แต่คงหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏที่พอให้เห็นว่า เป็นความต่างของนามธรรม และรูปธรรม อย่างรูปก็เป็นสิ่งที่ทำลายได้อย่างเอาไฟเผา หรืออะไรอย่างนี้ก็ เผาได้ แต่ว่า นามธรรมคงไม่มีใครเอาไฟไปเผาได้ ก็พอจะเห็นได้ว่าเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง จิตเจตสิกรูปท่านว่าเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง คำว่าสังขารธรรม ต้องหมายถึงทั้งหมด อย่าลืม สังขารธรรมกับสังขารขันธ์ต่างกัน สังขารธรรม ธรรมที่ปรุงแต่งด้วยปัจจัย ธรรมที่ปรุงแต่งด้วยปัจจัย รูปก็มี เวทนาก็มี สัญญาก็มี สังขารก็มี วิญญาณก็มี ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็หมายถึงขันธ์ ๕ ถ้าพูดถึงขันธ์ เช่น สังขารขันธ์ ก็หมายถึงเจตสิกอย่างเดียว เจตสิก ๕๐ เรียกว่าสังขารขันธ์ เพราะว่าขันธ์ทั้งหมดมี ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่นี้เราพูดถึงธรรม ไม่ใช่พูดถึงขันธ์ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ก็ต้องทั้งหมดเลย ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่พูดขันธ์ พูดต่างกัน

    ท่านอาจารย์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ในหนังสือปรมัตถธรรม มีคำว่า สังขารธรรม เวลาที่คุณนีน่าเขียนหนังสือก็ใช้คำว่าสังขารธรรมด้วย ได้รับคำติงจากพระภิกษุที่ท่านรู้ภาษาบาลีชาวต่างประเทศ ท่านบอกว่าไม่มีคำว่า สังขารธรรม เพราะเหตุว่าแม้แต่ภาษาบาลีที่ว่า สัพเพสังขารา ก็ไม่ได้ใช้คำว่าสังขารธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง สัพเพสังขารา ทุกขา

    สัพเพสังขารา อนิจจา

    สัพเพธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหมดทั้งปวง

    สังขาร กับธรรม จึงต่างกัน สัพเพสังขาราสังขาร สัพเพธัมมาธรรมทั้งปวง สังขารกับธรรม

    จึงมีอรรถที่กว้าง และแคบต่างกันไป พระธรรมหมายความถึงทั้งหมด สังขารด้วย ทีนี้ท่านบอกว่า คำว่าสังขารๆ เราพิจารณาดู ที่เขาบอกว่า บางที่เขาใช้ศัพท์ว่าสังขตธรรม บางทีก็ใช้ สังขารธรรม ก็ใช้ได้ เพราะว่าสังขต แปลว่าปรุงแต่งแล้ว สังขารแปลว่าสภาพที่ปรุงแต่ง ไม่ได้บอกว่าแล้วก็ต่างกัน ศัพท์เดียวกันนั้น แต่ก็ใช้ได้ เราจะใช้สังขตธรรม ตามที่เขานิยมก็ได้ หรือเราจะใช้สังขารธรรม คือการปรุงแต่ง ทุกอย่างมีการปรุงแต่งมี ๔ อย่าง ขันธ์ ๕ นั้นเองปรุงแต่งด้วยปัจจัย

    ท่านอาจารย์ สังขารธรรม หมายความถึง ธรรมทั้งหมดที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วเป็นสังขตธรรม คือปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงได้เกิด แต่ว่าสำหรับสังขารขันธ์ หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ เพราะว่าปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป สงเคราะห์เป็นขันธ์ ๕ รูปทุกชนิด รูปทุกรูป เป็นรูปขันธ์ เพราะว่าบางท่านเข้าใจความหมายของขันธ์ ขันธ หรือขันธ์ เป็นกอง หมายความถึงกอง ก็เลยคิดว่า ต้องเป็นกองโดยที่เอามารวมกัน ถึงจะเป็นกองหนึ่งๆ แต่ความจริงกองของรูป ได้แก่ รูปทุกรูปอยู่ในกองรูป ไม่ใช่อยู่ในกองอื่น

    รูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก๑ ในเจตสิก ๕๒ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ เป็นสภาพความรู้สึกที่ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ เฉยๆ สัญญาเจตสิก๑ ในเจตสิก ๕๒ เป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ได้แก่เจตสิก ๕๐

    ความต่างกันของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์ก็คือว่า สังขารธรรมหมายรวมจิต เจตสิก รูป ทั้งหมดที่มีปัจจัยปรุงแต่ง แต่สังขารขันธ์หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ ดวงซึ่งปรุงแต่งจิต ซึ่งต่างกับเวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์

    ผู้ฟัง สรุปว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม สังขารธรรม สังขตธรรมเหมือนกัน คือเกิดดับปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย ดิฉันเลยนึกไปว่า เรามีอยู่ ๔ ตัวปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวลานี้เราพูดว่าจิตเจตสิกรูปนั้นเป็นสังขารธรรม นิพพานจะเป็นอะไร

    ผู้ฟัง นิพพานก็เป็นวิสังขารธรรม เป็น วิ ไม่มี หมายความว่าไม่มี ปราศจากสังขาร เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง วิสังขาร วิ แปลว่าปราศจาก เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง คือมันคู่กัน สังขารธรรม วิสังขารธรรม ถ้าเราใช้คำอย่างนี้ หรือเราจะใช้คำ สังขตธรรม ถ้าเราใช้อย่างนี้เราก็ต้องใช้คู่กันไป เพราะเราใช้ในนิพพานใช้ วิสังขารธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นสังขตธรรม

    ผู้ฟัง เราเรียกว่า อสังขตธรรม หรืออสังขตธาตุ ธาตุที่ไม่มีการปรุงแต่ง ธาตุทุกอย่างมีการปรุงแต่ง เข่น จิต เจตสิก รูป มีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะปัจจัย แต่พระนิพพานนั้นไม่มีการปรุงแต่ง ปราศจากการปรุงแต่งท่านจึงเรียกว่า “วิสังขาร” ปราศจากการปรุงแต่ง วิสังขารธรรม ธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง คือไม่มีการปรุงแต่งด้วยปัจจัย เป็นของที่มีอยู่จริงเหลือวิสัยของคนธรรมดาที่จะรู้ได้ เว้นพระอรหันต์หรือพระอริยะเท่านั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ