ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๔๗

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือก่อนที่สติจะเกิด ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องสภาพธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว ทางตาก็ต้องเป็นธรรมไปหมด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่เคยเข้าถึงลักษณะของธรรมที่พูด ซึ่งทุกคนก็อาจจะพูดตามๆ กันว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ล้อมรอบตัวเป็นธรรม แม้แต่ในตัวก็เป็นธรรม ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรม ก็พูดตามไปอย่างนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ แปลว่ายังไม่เข้าถึงลักษณะของธรรมในขั้นเข้าใจ ต้องเริ่มตั้งแต่ว่า ถ้ากล่าวคำว่าธรรม ก็ต้องเข้าใจธรรมจริงๆ ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และทรงสภาพของสิ่งนั้น เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก แต่ทำไมกำลังปรากฏทางตาขณะนี้ เพราะเหตุว่ามีเห็น มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นสภาพเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าตาบอดหรือว่าจิตเห็นไม่เกิด กำลังนอนหลับ สีสันวัณณะขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    เมื่อมีขณะนี้ที่กำลังเห็นเกิดขึ้น ก็เป็นของจริง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ไม่เคยระลึกได้ นี่คือหลงลืมสติ แต่ถ้าสติเกิด ต้องหมายความว่า มีการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เรื่องธรรม แล้วก็รู้ด้วยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่นั่นเป็นขั้นฟัง เพราะฉะนั้น ขั้นที่จะไม่ใช่ขั้นฟัง ก็คือว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด แล้วก็ระลึกลักษณะที่เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ปัตติทานมัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นรู้ เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา อันนี้ส่วนใหญ่เราก็มุ่งเน้นไปที่อุทิศไปที่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้รับทราบการอุทิศส่วนกุศลของเรา แล้วจะได้อนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องทราบ หรือทราบไม่ได้

    ผู้ฟัง เรามีจุดประสงค์ให้เขาอนุโมทนา ถ้าเขาไม่ต้องทราบ หรือทราบไม่ได้แล้วจะอนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าเรามีจิตที่อุทิศส่วนกุศล แต่เราไม่สามารถจะทราบได้ว่า ผู้นั้นอนุโมทนาหรือเปล่า แล้วก็รู้หรือเปล่า ไม่มีทางจะทราบได้เลย

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าเรา เวลาจะอุทิศส่วนกุศลให้ เราเป็นการพูดเหวี่ยงแหไปทราบก็ทราบไม่ทราบก็ไม่เป็นไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเรามีเจตนาอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นได้อนุโมทนา ถ้าเราทำอกุศลก็คงจะไม่ต้องไปอุทิศให้ใครรู้ แต่ว่าทำกุศลแล้วก็เป็นโอกาสที่ว่า ถ้าคนอื่นรู้แล้วอนุโมทนาด้วย เขาเกิดกุศลอนุโมทนา

    ผู้ฟัง ถ้าเขารู้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้

    ผู้ฟัง ถ้าเขาไม่รู้ ก็เป็นเรื่องไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เราก็ไม่มีทางจะทราบได้เลยว่าเขาจะรู้หรือไม่รู้ ไม่ใช่วิสัยของเราที่จะทราบ แต่เรามีกุศลจิตเกิดขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าเขาสามารถจะรู้ และเขาอนุโมทนา กุศลจิตเกิด เป็นกุศลกรรมที่สำเร็จจากการอนุโมทนา เขาก็ย่อมจะได้รับผลคือวิบาก แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราไปรู้ว่าที่เราอุทิศไปแล้ว ใครได้บ้าง ใครไม่ได้บ้าง ไม่มีทางจะทราบได้

    ผู้ฟัง เรื่องทานเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ ปัตตานุโมทนามัย ซึ่งเป็นบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนากุศลของผู้อื่น อันนี้ก็จัดเข้าอยู่ในหัวข้อของทาน ซึ่งเป็นการให้ แต่ว่าการอนุโมทนาในส่วนกุศลของคนอื่น จะเป็นการให้อะไร อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ให้คนอื่นได้เกิดกุศล

    ผู้ฟัง ให้คนอื่นได้เกิดกุศล

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องการอนุโมทนาในส่วนบุญ ทีนี้พูดถึงเรื่องบาปบ้าง ทำบาปแล้วจะอุทิศบาปให้คนอื่น หรือว่ายินดีในการทำบาปของผู้อื่น เราก็ได้บาปด้วยใช่ไหม อย่างเช่นพระองค์ทรงปวดพระเศียร พระพุทธองค์ทรงมีบุพกรรมเนื่องด้วยว่าครั้งหนึ่งชาวประมงจับปลาแล้วยินดีในการทำบาปนั้น บาปที่ยินดีในการกระทำบาปของคนอื่นส่งผลให้ปวัตติกาล ทำให้พระองค์ทรงปวดพระเศียร เพราะฉะนั้น ผมจึงเข้าใจว่า การพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นทำบาป เราก็พลอยได้รับบาปไปด้วย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่บุญกิริยาวัตถุ แต่เป็นสภาพที่ตรงกันข้าม เหมือนกับว่า เห็นคนอื่นทำบุญแล้วอนุโมทนา ในส่วนบุญ เราก็สำเร็จเป็นบุญด้วย เป็นอย่างนั้นไหม

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนาเวลาที่คนอื่นทำบุญเป็นกุศล เป็นบุญกิริยา

    ผู้ฟัง ทีนี้เห็นคนอื่นทำบาป เราก็สะใจสมใจไปด้วยเราก็พลอยได้บาปไปด้วย อย่างนั้นไหม

    ท่านอาจารย์ พลอยได้บาป หรือว่าขณะนั้นจิตเราเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นจิตของเราเองที่เป็นอกุศลในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง อย่างที่คุณเรียงกล่าว เป็นการตรงข้ามกับบุญกิริยาวัตถุ พูดได้ไหมเป็นบาปกิริยาวัตถุ

    สมพร ผมแยกศัพท์ ปัตติ ทาน ปัตติ แปลว่าส่วนบุญ ทาน แปลว่าให้ การให้ส่วนบุญ ปัตติทาน เพิ่มมัย อีกตัว ก็ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เราให้เขา อุทิศส่วนกุศล แล้วก็ปัตตานุโมทนา ปัตตาก็มาจากปัตติ อนุโมทนา อนุโมทนาส่วนบุญที่คนอื่นเขาทำ ขณะที่เราอนุโมทนา เราก็พลอยดีใจด้วยในกุศลที่คนอื่นเขาทำ ขณะนั้นจิตของเราก็ผ่องใส่ ก็เป็นกุศล ถ้าเราไม่อนุโมทนา บางครั้งจิตเราจะกระด้าง เหมือนว่าเรามีความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนไม่ได้ อย่างนี้เป็นอกุศล แต่ปัญหาที่ถาม ถามว่าคนอื่นทำบาปแล้วเราก็พอใจ คำว่าพอใจ ไม่ใช่อนุโมทนา เป็นฉันทะ ฉันทะเกิดร่วมกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ตรัสบุพกรรมของพระองค์ บุพกรรมหมายความว่ากรรมในชาติก่อน ขณะนี้พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทุกข์ใจไม่มี แต่มีทุกข์กาย ทุกข์มี ๒ อย่าง ทุกข์กาย ทุกข์ใจ พระองค์ตรัสว่าทุกข์กายของพระองค์ที่เกี่ยวแก่ปวดพระเศียร เนื่องมาจากชาติหนึ่งพระองค์เกิดเป็นมนุษย์ แล้วเห็นเขาฆ่าปลา แล้วพระองค์ก็พอใจในการฆ่าสัตว์ เท่ากับว่าสนับสนุนเพราะว่ากิเลสเกิดแล้วก็สลับกันอย่างรวดเร็ว ถ้าพอใจ พอใจนี้คือ ฉันทะเกิดร่วมกับ โลภะก็ได้ กับโทสะก็ได้ แต่การฆ่าสัตว์นั้นเป็นโทสะ แต่พอใจ พอใจครั้งแรกอาจเป็นโลภะก็ได้ คือ พอใจเกิดร่วมกับโลภะส่วนมาก แต่นี้ขณะที่ฆ่าสัตว์เป็นโทสะ ก็เท่ากับว่าเกิดร่วมกับโทสะ ด้วยบาปกรรมอันนั้นแม้นิดหนึ่ง บาปกรรมอะไรก็แล้วแต่นิดหนึ่ง ได้โอกาสให้ผลย่อมให้ผล แต่บาปกรรมอันนั้นไม่ใช่บาปกรรมมากมาย จึงไม่ให้ผลในปฏิสนธิ ทำให้พระองค์เกิดในอบาย แต่ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมแล้ว แม้นิดหนึ่งต้องให้ผลคือให้วิบาก เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์เกิดมาแล้วบาปกรรมอันนี้ได้โอกาสก็ให้พระองค์ปวดศีรษะ เป็นทุกข์กาย เรื่องเป็นมาอย่างนี้

    ผู้ฟัง เรื่องปัตตานุโมทนามัย สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ คือ ตามปกติแล้วเราจะอนุโมทนาส่วนบุญ หมายถึงว่า มีคนเขาให้ส่วนบุญเรา เช่น เขาไปวัดฟังเทศน์ ทำบุญมาแล้วมาถึงบ้านถึงช่องก็บอกลูกบอกหลาน หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงฉันไปทำบุญอย่างนี้อย่างนั้นมา ขอให้พวกท่านทั้งหลายจงอนุโมทนาด้วยก็แล้วกัน คนที่ได้ฟังก็ยกมือสาธุอนุโมทนาด้วย อย่างนี้เรียกว่ามีผู้ให้ส่วนบุญ แล้วก็มีผู้อนุโมทนาส่วนบุญ อย่างในกรณีที่ไม่มีผู้ให้ แต่เราไปเห็นการกระทำของคนอื่น เช่นเห็นเขาทำบุญ เห็นเขาใส่บาตร เห็นเขารักษาศีล หรือเห็นเขาฟังเทศน์ฟังธรรม เราเดินผ่านไปที่วัดบวร คนเดินผ่านมา เขาเห็นเขาก็ยกมืออนุโมทนายินดีด้วยอย่างนี้ จะถือเป็นอนุโมทนาส่วนบุญด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปัญหา

    ผู้ฟัง ไม่มีปัญหา

    ท่านอาจารย์ คือต้องเป็นกุศลจิตแน่ที่อนุโมทนา ไม่ต้องรอใครให้

    ผู้ฟัง ไม่ต้องรอใครให้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแบ่งกุศลเป็น ๒ ฝ่าย คือ ปัตติทานกุศล คือเวลาที่เราทำกุศลแล้ว เราก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำแล้วให้คนอื่นรู้ นี่ฝ่ายเรา ฝ่ายเราโดยที่ไม่ต้องไปมุ่งว่าใครจะรู้ ใครจะรับ ใครจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา เพราะเหตุว่าขณะนั้นกุศลจิตเกิดแล้วจึงกระทำกรรมนั้น ขณะที่กระทำการอุทิศเป็นกุศล เป็นกุศลจิตที่เกิดแล้ว กระทำกรรม แต่ส่วนผู้ที่จะอนุโมทนานั้น คนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกัน ไม่ใช่ว่าต้องมีคนให้ แล้วกุศลจิตของเราจึงจะต้องเกิด ไม่ใช่ ถึงแม้ไม่มีใครที่จะอุทิศให้ แต่เราเห็น เรารู้แล้วเกิดกุศลจิต อนุโมทนา นั่นก็เป็นกุศลจิตข้ออนุโมทนา เป็นบุญกิริยาในการอนุโมทนาไม่ใช่บุญกิริยาในการแบ่งส่วนกุศลอุทิศให้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็น ๒ ฝ่าย

    ผู้ฟัง ในกรณีอย่างให้ส่วนบุญ

    ท่านอาจารย์ คนนั้นก็ให้ไป แล้วก็ไม่คำนึงถึงผู้รับ แล้วเวลาที่ใครเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่า เขาให้หรือเปล่า เขาไม่ได้ให้เราจะเกิดกุศลจิตได้ไหม ไม่ต้องไปเกี่ยวกัน

    ผู้ฟัง ปกติเราจะนึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อย่างกรณีว่าอุทิศส่วนกุศล ก็หมายถึงว่าให้ผู้ที่ตายไปแล้ว แต่ในกรณีปัตติทานมัย ไม่น่าจะหมายเอาเฉพาะผู้ที่ตายไปแล้วอย่างเดียว คงจะหมายถึงทั่วไป เราไปทำบุญให้ทานที่ไหนที่ไหน เพื่อนฝูงเราก็บอกกล่าวเขาให้อนุโมทนาด้วย เราไปทำบุญมาเราก็ให้เธอด้วย ให้เพื่อนด้วย ให้ญาติพี่น้องทั้งหลายด้วย อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการปัตติทานมัยเหมือนกัน ให้ส่วนบุญเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าอยู่ในภูมิเดียวกันก็น่าจะเห็น แต่อีกภูมิหนึ่ง ยาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ก็มีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ด้วยความตั้งใจจงใจ ที่จะให้บุคคลอื่นอนุโมทนา แต่สำหรับในภูมิมนุษย์ ดิฉันคิดว่า คงจะลำบากหรือว่าคงจะแปลก หรือว่าบางคนก็อาจจะไม่ชอบเลย ถ้ามีใครมาบอกนี่นะอุทิศส่วนกุศลให้ วันนี้ไปทำบุญมา ซึ่งชาวโลกยุคนี้คงจะไม่เคยมีการกระทำอย่างนี้ หมายความว่า วันนี้ถ้าคนในบ้านจะไปทำบุญจะไปเลี้ยงเด็กพิการ คนอื่นก็อนุโมทนาในใจไม่ต้องกล่าวว่าสาธุหรืออนุโมทนา ไม่จำเป็น แต่พลอยช่วยเหลือในกิจกรรมนั้น หรือว่ามีกุศลจิตอนุโมทนาพลอยยินดีด้วย ที่คนอื่นทำกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น เราไม่ควรที่จะติดคำหรือว่า คิดถึงคำว่า เมื่อจะอนุโมทนาก็ต้อง มีผู้ให้ ถ้าเขาไม่ให้เราก็อนุโมทนาไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นกุศลจิตที่เกิดเพราะปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยจิตที่เป็นกุศลจะอนุโมทนาก็ไม่เกิด ทั้งๆ ที่เห็นคนอื่นทำกุศล แต่ว่าทั้งๆ ที่คนอื่นไม่ได้กล่าวให้ แต่คนนั้นก็เกิดปีติอนุโมทนาได้ ไม่จำเป็นต้องให้เขามาให้เสียก่อนแล้วเราเป็นฝ่ายรับ หรืออะไรอย่างนั้น เพียงแต่เห็นการกระทำที่เป็นกุศลของคนอื่น แล้วเราก็ยินดีด้วย อนุโมทนาด้วยในใจก็ได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นกรณีปัตติทานมัย คือเน้นหนักไปในทางที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ตายไปแล้ว อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากก็ทราบอยู่ว่า ผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้วก็เกิดในภพภูมิต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ต้องอยู่ในฐานะที่จะรับอุทิศส่วนกุศลได้ เช่น เกิดเป็นเปรต หรือเป็นเทพ ถ้าคนนั้นเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ไม่มีทางที่เขาจะรู้ เรามาจากภพไหนภูมิไหนก็ไม่ทราบ คนอื่นกำลังอุทิศส่วนกุศลให้เรา เราก็ไม่รู้ ถึงจะตายไปกี่ปีๆ เขาก็ยังทำบุญอุทิศส่วนกุศลมาให้ทุกปีๆ ก็ได้ แต่เราก็ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ฐานะว่า อยู่ในภูมิที่สามารถที่จะรู้ และอนุโมทนาได้

    ผู้ฟัง ปกติสาธุชนทั่วไป ไม่ใช่คนที่มิจฉาทิฏฐิ รู้ดีรู้ชอบทั่วๆ ไปปกติธรรมดา มีผู้ให้ส่วนกุศล เช่นไปทอดกฐินทอดผ้าป่า หรืออะไรมา ส่วนใหญ่ก็จะยินดีอนุโมทนา แต่วาจิตใจจะโน้มน้อมไปแค่ไหนก็ไม่รู้ได้ แต่ว่าปากเขาก็จะต้องยินดีด้วยนะ หรืออนุโมทนาด้วยนะ ก็คงเป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วอย่างกับว่า คนนั้นทำกุศลน้อยเหลือเกิน นานๆ ก็มานี้นะทำกุศลแล้วก็ขอแบ่งส่วนบุญให้ ถ้าเราฟังธรรม ก็อุทิศส่วนกุศลได้ ถ้าเราทำอะไรที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือสงเคราะห์ใคร ก็อุทิศส่วนกุศลได้ ทุกอย่างที่เป็นกุศล วันหนึ่งๆ ก็ต้องมานั่งพูดอย่างนี้หรือ ฟังธรรมมาแล้วเมื่อกี้นี้ ขอแบ่งส่วนบุญให้ ทำเทปมาเมื่อกี้ขอแบ่งส่วนบุญให้ อ่านพระไตรปิฎกมาเมื่อกี้ ขอแบ่งส่วนบุญให้ ก็คงจะไม่เป็นชีวิตประจำวันแน่ ถ้าชีวิตประจำวันอยู่ด้วยกันแล้วเห็น หรือว่าคนอื่นทำ แล้วก็เกิดกุศลจิตอนุโมทนา โดยเขาไม่จำเป็นต้องให้ก็ได้ สำหรับคนที่เห็นอยู่แล้ว แล้วสำหรับคนที่เห็นอยู่แล้ว บางคนเขาไม่อนุโมทนาก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็เกือบจะเรียกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวคำที่จะแบ่งส่วนกุศลให้สำหรับคนที่เห็นอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง สำหรับคนที่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วันนี้ คุณนิภัทรจะอุทิศอะไรบ้าง เมื่อเช้ากราบพระก็อุทิศ ฟังธรรมทางวิทยุตี ๕ ก็อุทิศ ๖ โมง ก็อุทิศ แล้วอ่านพระไตรปิฎกก็อุทิศ

    ผู้ฟัง ไม่ถึงขนาดนั้น เป็นแต่ว่าวันหนึ่งก็ทำวัตรสวดมนต์แล้วก็อุทิศไปสักครั้งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ทุกวันหรือ แบ่งส่วนบุญหลังจากที่ทำวัตรสวดมนต์แล้วทุกครั้งหรือ

    ผู้ฟัง ผมทำทุกวัน

    ท่านอาจารย์ แบ่งส่วนบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จะเรียกว่าแบ่งหรือเปล่าไม่ทราบ ด้วยอำนาจกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญนี้ขออุทิศให้แก่

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ อันนี้คืออุทิศสำหรับคนที่คุณนิภัทรคิดว่าจะรู้

    ผู้ฟัง แต่ผมไม่เคยแบ่งให้บริวาร ครอบครัว ไม่เคยแบ่ง เพราะว่าผมไม่ทราบว่าเขาจะยินดีด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อันนี้เราพูดถึงมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันแล้วเห็นกัน เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในข้อบริวารครอบครัวคือเขาเห็น แล้วแต่ว่าเขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา

    ขอพูดเรื่องของทานนิดหนึ่ง คือรู้สึกว่าเป็นปัญหามากมาย เพราะว่ามีคำถามเกี่ยวกับว่าได้ผลมากหรือน้อย จะได้หรือไม่ได้อะไรต่างๆ ขอให้ทราบว่าเรื่องของกุศลแล้วเป็นเรื่องของการขัดเกลาจิตใจ แล้วก็เป็นเรื่องของจิตที่เป็นกุศล คือ เป็นจิตที่ดีงาม เมื่อเป็นจิตที่ดีงามแล้ว ในขณะนั้นก็ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มุ่งหวังสิ่งใดๆ เป็นการตอบแทนทั้งสิ้น แล้วก็ไม่มีการคิดว่าจะได้มากได้น้อย ทำกุศลแล้วมานั่งคิดว่าได้มากได้น้อยได้อย่างไร จะเป็นกุศลได้อย่างไรในเมื่อบวกลบคูณหารอยู่ตลอดเวลาที่จะทำ

    ไม่ใช่คิดว่าทำอย่างนี้แล้วจะได้กุศลมากไหม อย่าคิด ไม่ต้องคิดเพราะเหตุว่าทำไมจึงต้องคิดอย่างนั้น ถ้าไม่เป็นการติดข้องในความเป็นตัวตน หรือว่าในผลของกุศล กุศลจะเล็กจะน้อย จะมากจะใหญ่อย่างไร ถ้ามีโอกาสที่จะทำ หรือว่าที่กุศลจิตจะเกิด ก็เกิดโดยที่ไม่ได้มุ่งหวังว่า กุศลนั้นจะกลับมาตอบสนองให้มากมายใหญ่โตหรือว่าเมื่อไหร่ อันนั้นไม่ใช่เรื่องของการที่จะเป็นทาน หรือว่าเป็นกุศล ถ้ากุศลจริงๆ คือว่า มีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลแล้วก็หมด แล้วกุศลนั่นเองเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งไม่มีตัวตน แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย เมื่อกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุมี กุศลกรรมมี ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ทั้งกุศลจิตกุศลวิบากก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ทำไมต้องไปกังวลเรื่องมาก เรื่องน้อย เรื่องอะไรอย่างนั้น ให้ทราบว่า ไม่ควรจะคิดบวกลบคูณหารกับกุศล

    ผู้ฟัง ใช่ เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ทาน ดิฉันก็ทราบมาบ่อยๆ เวลามีงานทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินก็ตาม ถ้าเผื่อวัดนั้นได้เงินน้อยก็รู้สึกว่าจะได้บุญน้อย ถ้าได้เงินมากก็รู้สึกว่าจะได้บุญมาก อะไรอย่างนี้ อันนี้รู้สึกว่าเป็นความที่เข้าใจที่ดิฉันว่าไม่สำคัญอยู่ที่จำนวนเงิน อยู่ที่จิตที่เป็นกุศลมากกกว่า

    ท่านอาจารย์ จริงๆ น่าคิดว่า ถ้าได้เงินมากแล้วเป็นกุศลมาก หรือว่าเป็นโลภะ

    ผู้ฟัง เป็นโลภะมากกว่า

    ผู้ฟัง ฟังว่า ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ใช่ไหม ฟังเหมือนกับว่าขณะนั้นต้องมีปัญญาด้วย เพราะว่าไม่มีโมหะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีโมหะ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แต่ว่าขณะนั้นไม่มีโมหะแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีโมหะก็เป็นกุศลไม่ได้เลย ในขณะนั้นต้องเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แต่จะว่าเป็นปัญญาก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ กุศลมี ๒ อย่าง มีปัญญาเกิดร่วมด้วยกับไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพียงไม่มีโมหะ ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง สำหรับทิฏฐุชุกรรม บุญที่สำเร็จด้วยการกระทำความเห็นให้ถูก ตรง คือการกระทำความเห็นให้ถูกตรง หมายถึงในระดับของสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าเป็นบุญทั่วๆ ไป

    ท่านอาจารย์ ทั่วๆ ไป เพราะว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในข้อของภาวนา

    ผู้ฟัง ปัญญายังไม่ต้องถึงขั้นระดับสติปัฏฐานก็ได้ ที่กระทำความเห็นให้ถูก

    ท่านอาจารย์ กระทำความเห็นให้ถูก คือ เป็นกุศลแล้วก็เห็นถูก

    ผู้ฟัง มีความเห็นถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ในเหตุ ในผล

    ผู้ฟัง เมื่อมีกิเลส กิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมทั้งที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง และที่เป็นกุศลกรรมบ้าง ซึ่งเราก็ได้พูดคุยกันไปในเรื่องของอกุศลกรรมบถ แล้วก็บุญกิริยา ๑๐ ไปแล้ว ทีนี้คำถามก็คือว่า ในเมื่อกิเลสเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง แล้วก็ทำจิตใจให้เศร้าหมองเร่าร้อนด้วยแล้ว เป็นเหตุให้กระทำอกุศลนั้นก็ไม่เป็นปัญหา แต่ว่ากิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำกุศลเป็นได้อย่างไร อันนี้อ่านจากปรมัตธรรมสังเขป ก็มีข้อความที่ว่า เมื่อมีกิเลสกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง ที่เป็นกุศลกรรมบ้าง ทีนี้ก็สงสัยว่า กิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมได้อย่างไร ถ้าจะพูดโดยนัยของปฏิจจสมุปบาทจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร อวิชชาเป็นโมหเจตสิกทำให้เกิดสังขาร คือ อกุศลกรรม และกุศลกรรม

    ผู้ฟัง โมหะเป็นกิเลสตัวหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็ได้แก่เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต และกุศลจิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ