ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๖๖

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ พอถึงโมหะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่าโมหะสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าโมหะนั้นต่างเป็น ๒ โดยการที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ดวงหนึ่ง แล้วก็อุทธัจจสัมปยุตต์ดวงหนึ่ง

    ผู้ฟัง ลักษณะหรือธรรมชาติของโทสะ

    ท่านอาจารย์ ความไม่พอใจทั้งหมด ข้อสำคัญที่สุดที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทไหน คือสังเกตที่เวทนา ความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ทั้งหมดจะพ้นจากโทสมูลจิตไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเสียใจ น้อยใจ ขุ่นใจ กังวล หรืออะไรก็ตาม ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นสุขเลย ขณะนั้นจะต้องเป็นโทสมูลจิตเท่านั้น จะเป็นโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าหากเราสังเกตที่เวทนา ก็จะต้องเป็นโทมนัสเวทนาได้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ จิตต้องเป็นโทสมูลจิตด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราเรียนโลภมูลจิตไปแล้ว ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนานั้น เจ้า ๒ ตัวนี้เขาจะเข้ามาอยู่กับโทสะไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะขัดกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวทนาสำหรับโลภะแล้วได้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสหรืออุเบกขา เพราะฉะนั้น สภาพของเวทนาซึ่งต้องนำหน้าจิตทุกดวง จะสังเกตได้ว่า พอพูดถึงโลภมูลจิตก็ต้องเป็นโสมนัสสสหคตัง หรืออุเบกขาสหคตัง พอพูดถึงโทสมูลจิตก็ต้องเป็น โทมนัสสสหคตัง พอพูดถึงโมหมูลจิตก็ต้องเป็นอุเบกขา

    ผู้ฟัง ในความรู้สึกโสมนัสอันนั้น อะไรที่เป็นสิ่งบอกเราว่า นี้เป็นโลภะ อยากได้บุญ แต่นี่เป็นกุศล ถ้าหากท่านได้สังเกตอันนี้ บางครั้งท่านจะเผื่อว่า อันนั้นเป็นกุศล แต่อันนั้นเป็นโลภ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีสติสัมปชัญญะจะรู้สภาพของจิตที่เบา ไม่หนักเลย ลักษณะของกุศลจิต ต้องเป็นสภาพที่ไม่ติดข้อง แล้วก็เป็นสภาพที่เบา ไม่มีความหวัง ไม่มีอะไรที่จะมาเจือที่จะทำให้รู้สึกว่า ขณะนั้นหนักหรือว่าเป็นความต้องการ เป็นสภาพที่เหมือนปล่อยวาง เบา สบาย ลักษณะของกุศล ขณะนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้ก็อาจารย์สอนเสมอว่า อย่าไปถามใครที่ไหน ให้รู้สึกตัวเอง เพราะฉะนั้น จากความรู้สึกของตัวดิฉันเอง ถ้าเราทำบุญแล้ว อยากได้บุญ อย่างอาจารย์ว่า เหนื่อย ทำอีกๆ เหนื่อย อยากจะไปถึงตรงนั้น ไปถึงตรงนั้น แต่ถ้าเรานึกเป็นกุศลแล้ว แค่นี้คือแค่นี้ อันนั้นใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ไม่ให้เฉียด เพราะว่าบางคนคิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงยังไม่ใช่กุศล ยังเป็นอกุศลอยู่ เช่น อยากทำบุญ อยากบวชพระ หรืออยากจะให้อะไรๆ ที่ไหน อย่างนี้ก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่เหมือนกับความตั้งใจ ความตั้งใจที่เป็นกุศล มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะสละ ไม่ใช่เพียงอยาก ถ้าอยากเท่านั้นเป็นความที่หนัก อยากแล้วก็ไม่สมกับสิ่งที่จะกระทำ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้กระทำ ยังอยากอยู่ เพราะฉะนั้น ลักษณะของอยาก เป็นลักษณะของอกุศล ลองคิดถึงอยากทำบุญ กับ จะทำบุญ ผิดกัน มีความตั้งใจที่จะทำ เป็นกุศลแล้ว แต่เวลาที่อยากจะทำ ไม่ใช่ ขณะอยากนั้นต้องเป็นอกุศล แม้ว่าอยากจะทำบุญ

    ผู้ฟัง คำว่า โลภ โกรธ หลง คนก็สงสัย ไอ้คำว่าโกรธ โกรธอย่างเดียว ไม่เหมือนกับเครียด นั่นเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเผื่อเป็นโทสะ หรือเป็น ปฏิฆะแล้ว เครียดอยู่ในตระกูลโทสะหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามที่ไม่สบายใจทั้งหมด

    ผู้ฟัง โศกเศร้า ร้องไห้ อะไร อยู่ในตระกูลโทสะทั้งสิ้น อันนี้ก็อยู่ในเรื่องลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงลักษณะที่ทำร้าย ไม่ใช่เพียงดุร้ายอย่างเดียว ลักษณะที่ร้ายๆ ที่ไม่สบายใจ ทั้งหมดก็เป็นลักษณะของโทสะ

    ผู้ฟัง มีการแผดเผาสัมปยุตตธรรมเป็นกิจ

    สมพร อธิบายคำว่า สัมปยุตตธรรม ธรรมที่เกิดพร้อมกันเรียกว่า สัมปยุตตธรรม โทสะเป็นกิเลสเกิดขึ้นก็เผาสิ่งที่เกิดร่วมด้วย คือ เผาจิต เผารูป เรียกว่าสัมปยุตตธรรม แต่ว่ารูปดับไม่พร้อมกัน แต่จิตดับพร้อมกันเรียกว่า เผาสัมปยุตตธรรม หมายความว่า สิ่งที่เกิดพร้อมกับโทสะนั่นแหละทำให้เร่าร้อน กระสับกระส่าย ต่างๆ นานา เรียกว่ามีการเผาสัมปยุตตธรรม คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันทั้งรูปทั้งนาม เอาเฉพาะเกิดพร้อมกัน ถ้าว่ารูปเกิดดับไม่พร้อมกัน เกิดพร้อมกันได้ จิตเกิดพร้อมกันกับโทสะได้ เผาคือทำให้เร่าร้อนกระสับกระส่าย

    ผู้ฟัง ถ้าเรารู้สึกมีการแผดเผา ทำอย่างไรให้มันเย็นลงได้

    ท่านอาจารย์ เย็นลง แล้วก็มีอีก ถ้าวิธีของคุณสุรีย์ เย็นลง แล้วก็มีอีก แล้วเย็นลง แล้วก็มีอีก ก็ไม่จบ

    ผู้ฟัง หมายความให้ทุเลา

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องการทุเลา ทำไมไม่ต้องการดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ยังไม่ถึงตรงนั้น ต้องค่อยๆ ไปทีละเล็กละน้อย เอาเป็นสมุจเฉทก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมากคนต้องการผลเป็นปัจจุบันเล็กๆ น้อยๆ นิดเดียว คือเวลาที่เกิดขุ่นเคืองใจ ก็อยากจะให้ใจสบาย พอใจสบายแล้วก็เลิกแล้ว พอแล้ว ถูกใจแล้ว ใช่ไหม แต่ว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับ เพราะเหตุว่าถ้าตราบใดยังมีโลภะ มีความติดข้อง ที่จะไม่ให้เกิดโทสมูลจิตนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ต้องสามารถรู้ถึงสมุฏฐานหรือเหตุที่จะให้เกิดโทสะ ได้แก่ โลภะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าตราบใดยังมี ไม่มีทางเลย ซึ่งจะบอกว่าพอโทสะเกิด ทำอย่างไรถึงจะเย็น ไม่มีทางเลย

    ผู้ฟัง ต้องไปตัดที่ต้นเหตุ

    ท่านอาจารย์ ต้องเจริญปัญญารู้ความจริง แล้วก็ต้องทราบได้ว่า ผู้ที่จะดับโทสมูลจิตได้ ผู้นั้นคือพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น เลิกพูดกันเสียเลยว่า ทำอย่างไรๆ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาซึ่งเจริญตามลำดับขั้น จนกระทั่งถึงสามารถที่จะดับได้จริงๆ

    ขั้นแรกเมื่อทราบว่า ผู้ที่จะไม่มีโทสมูลจิตคือพระอนาคามีก็ยกไปเลย ใครมีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ให้ทราบในลักษณะสภาพธรรมขณะนั้นว่า เป็นสภาพหรือธาตุแต่ละชนิดซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คือขั้นต้นของคนซึ่งจะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ด้วยการมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน ไม่ใช่จะว่าจะไม่ให้มีโทสะในขณะนี้

    ผู้ฟัง หมายความว่าเจริญสติปัฏฐาน ให้เกิดสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ แล้วสติปัฏฐานก็คือขณะนี้ธรรมดาๆ ที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรม แล้วก็มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ให้เริ่มเข้าใจขึ้น ตอนแรกที่สติยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ถึงจะชื่อว่าเป็นการศึกษาเพื่อรู้สภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องราวของธรรมทั้งๆ ที่ในขณะนี้ธรรมกำลังเกิด กำลังดับ ทำกิจการงานของธรรมแต่ละชนิดที่เรากำลังพูดถึง ถ้าเป็นโสภณธรรมขณะนี้ก็มีสติ แต่ว่าถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโสภณ ก็ไม่มีการที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรม ก็เป็นเราไปตลอด

    ขั้นต้นไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการที่จะไม่มีโทสะ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรายังไม่ถึงขั้นที่จะเชี่ยวชาญพอที่จะเจริญสติปัฏฐาน เราระลึกรู้ได้ไหมว่า ในขณะซึ่งเกิดขุ่นเคือง หลังจากขุ่นเคืองแล้ว จิต สติระลึกว่าอันนี้เป็นขุ่นเคืองแล้ว ให้ระลึกรู้แค่นี้ก่อนได้ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนพยายามถามวิธี เพื่อที่จะทำแล้วก็จะให้เป็นกฎเป็นเกณฑ์ แต่ให้ทราบว่า อนัตตา เป็นความจริงแท้ของสภาพธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ไม่มีธรรมใดเลยที่เป็นอัตตา หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้สติ แม้การฟังในขณะนี้ ฟังให้เข้าใจ แล้วเมื่อมีความเข้าใจในขั้นการฟังแล้วไม่ต้องห่วง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ ส่วนการที่จะเกิดสติขณะไหนนั้น อย่ากังวล เพราะเหตุว่าถ้ากังวลก็ไม่พ้นจากเครื่องเนิ่นช้า คือ โลภะ แสดงให้เห็นว่า โลภะเขาจะติดตามแล้วก็กั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่รู้ความจริงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็สภาพธรรมในขณะนี้เป็นปกติ เพียงแต่สติเกิดระลึกเท่านั้น ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เป็นเราจะเอาตรงนี้หน่อยหนึ่ง ขั้นต้นแค่นี้ได้ไหม หรืออะไรไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่ว่าสภาพธรรมก็เกิดดับตามปกติ สภาพธรรมใดดับแล้วก็ไม่ต้องกังวลถึง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใดอยู่ตลอดเวลาแม้ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ที่สติจะระลึกหรือไม่ระลึกอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง สติเกิดระลึกเป็นปกติของสติ โดยที่ไม่มีอะไรไปบอกว่า เอาแค่นี้ หรือแค่นั้น

    ผู้ฟัง ทีนี้ไปถึงข้อ ๑๐ อาฆาตในฐานะที่ไม่สมควร เช่น ขณะที่เดินสะดุด หรือเหยียบหนามเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์คิดถึงอาฆาตเหมือนกับไปผูกพยาบาทอาฆาตใคร ที่ใช้คำว่า อาฆาตวัตถุ อย่าลืมว่า เป็นแต่เพียงวัตถุที่ตั้งที่ทำให้เกิดโทสะ เพราะฉะนั้น เวลาบอกว่าข้อ ๑๐ หมายความว่าไม่เกี่ยวกับคนซึ่งทำไม่ดีกับเราทำไม่ดีกับคนที่เรารักหรือทำดีกับคนที่เรารักก็ตามแต่ ถ้าคุณสุรีย์เกิดชนโต๊ะ ชนเก้าอี้หรืออะไรสักอย่างก็ตามแต่ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศลประเภทไหน

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปใช้คำว่าอาฆาต ว่าจะต้องเป็นคน นี่ไม่ใช่คน หรืออะไรก็ตามแต่ อะไรก็ตามที่ทำให้ขณะนั้นจิตไม่สบายใจ ไม่ใช่โลภะ หรือไม่ใช่โมหะ

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้ในขณะซึ่งโกรธ ก็มีบุคคลชนิดที่ว่า นี่ทำไมเอามาวางให้ฉันเตะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง ยังไม่ต้องไปคิดถึงว่าใครเอามาวาง

    ผู้ฟัง แต่พอมาเรียนแล้ว โอ นี่มันเป็นวิบากของเรา

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ ยัง ยังไม่ต้องมาคิดถึงใคร เอามาวาง เพราะเหตุว่าจิตนี้ละเอียดมาก ให้ทราบว่าวันหนึ่งๆ อกุศลมาก ขณะใดที่ไม่เป็นกุศลในบุญกิริยาวัตถุ ต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ อย่าง คือ ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ก็ต้องเป็นโมหะ ทีนี้ถ้าคุณสุรีย์เกิดหกล้มเจ็บ ไม่สบายใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นยังไม่ได้คิดถึงว่าใครทำอะไร เอาอะไรมาว่างตรงนี้เลย แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า แล้วถ้าเป็น เป็นชนิดไหน เมื่อไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ก็เป็นโมหะ

    ผู้ฟัง แต่คนมักจะไม่โทษตัวเราที่ว่าเดินซุ่มซ่าม มักจะโทษคนเอามาวางไว้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น เพียงแต่ให้สังเกตจิตว่า เป็นกุศลประเภทไหน

    ผู้ฟัง เราก็ต้องโกรธแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ได้คิดว่า ใครเอามาวางไม่เอามาวาง แต่โทสมูลจิต เพราะไม่สบายใจ ไม่ชอบที่เจ็บที่ถูกบาดแผลหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณสุรีย์สะดุดเก้าอี้ แล้วก็เจ็บ บ่นไหม

    ผู้ฟัง บ่น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่บ่นเป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ โทสะ เพราะฉะนั้น แม้แต่คำพูดสักนิดหนึ่ง หรือยังไม่ทันพูด เพียงแต่ว่าความเจ็บเกิดขึ้น ทุกขกายวิญญาณเกิด แต่ว่าใจเป็นอย่างไร แสดงให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ดับกิเลส จะเห็นได้ว่า เวลาที่มีความปวดเจ็บเกิดขึ้น ความไม่สบายกายเกิดขึ้น จะต้องมีความรู้สึกที่ไม่พอใจ ไม่ชอบ แม้แต่ว่าจะไม่ป่น แต่ใครจะชอบลักษณะของความปวดเจ็บที่กำลังปรากฏกระทบทางกาย ซึ่งเมื่อดับไปแล้วจิตขณะต่อไปซึ่งเป็นชวนจิตเป็นกุศลหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด หรือแม้ว่าโทสมูลจิตเกิดแล้ว สติก็ระลึกได้

    การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่เว้นไม่ว่าอกุศลประเภทใด ไม่มีการที่จะไปบังคับว่า พอเจ็บแล้วก็ให้เป็นกุศล ไม่มีเลย แล้วแต่ว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิดปรากฏก็เกิด เพราะว่าชั่วขณะที่สั้นแสนสั้น สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏสั้นมาก แม้แต่โทสะก็สั้น เพราะอะไร เห็นก็มีสลับแล้ว ได้ยินก็มีสลับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สติจะระลึกแล้วรู้ความจริงว่าแม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่สั้น แต่ปัญญาก็สามารถจะรู้ได้ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทใด แต่จะบอกว่า ไม่มีอกุศลจิตเวลาที่ป่วยเจ็บก็ยาก เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่จะบ่นหรือไม่บ่น ก็มีความรู้สึกว่าไม่ชอบไม่พอใจในความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น

    ผู้ฟัง โทสะมูลจิต ตามภาษาบาลีก็คือ โทมนัสสสหคตัง ซึ่งเราก็คุยกันมามากแล้ว โทมนัสก็คือความไม่พอใจนั่นเอง ปฏิฆะสัมปยุตตัง อสังขาริก ก็ปกติก็เห็นแต่อสังขาริกกัง ไปอ่านหนังสือของอาจารย์ มี อสังขาริกเมตัง มีเม อีกตัว

    สมพร อสังขาริกเมกัง ก็แยกศัพท์ อสังขาริก แล้วก็ เอกัง คำว่าเอกัง คือหนึ่งอย่างหนึ่งๆ เอกัง ถึงเราไม่มี เราใส่แค่อสังขาริกัง ก็ได้ แต่ถ้าใส่แล้วก็หมายความว่าอย่างหนึ่งๆ ๘ อย่าง หรือ ๒ อย่าง อะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ เอกะ แปลว่า ๑

    ถ้าเราใส่คำว่า อสังขาริกกัง ไม่ได้ใส่หนึ่งเข้าไป แต่ถ้าอสังขาริกเมกัง หมายความว่า ๑ ๑ ๑ เพราะฉะนั้น บางคนก็สงสัย อย่างไหนถูก จะเป็นอสังขาริกัง หรืออสังขาริกเมกัง ถูก ก็ไปนั่งคิดกันใช่ไหมว่า ๒ อย่าง คงจะสำคัญมาก แล้วก็อย่างไหนจะถูก แต่จริงๆ แล้วเราพูด หนึ่ง ทุกครั้ง หรือเปล่า ในเมื่อเราไม่ได้แยก เราก็บอกว่าโลภมูลจิต โทสมูลจิต เป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ หนึ่งเข้าไปทุกครั้ง มิฉะนั้นแล้วก็ต้องกลายเป็นว่าเราเพิ่มคำว่า ๑ เข้าไปทุกครั้งที่เราพูด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าปฏิฆะสัมปยุตต์ ฟังดูแล้วก็คุ้นๆ หู ภาษาที่ว่า ปฏิฆะ ผมคิดว่าเผื่อบางท่านที่มาใหม่ๆ จะได้เข้าใจว่า ลักษณะปฏิฆะที่เกิดขึ้นแล้วในจิตนั้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นขอทบทวนว่า เรื่องของจิตมีมาก แล้วเราก็ไม่ทราบว่าเราจะเรียกจิตประเภทไหน โดยนัยอย่างไร เพราะฉะนั้น เราก็แบ่งออกเป็น เรียกโดยชาติ คือ เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยาบ้าง หรือว่าเรียกโดยประเภทของภูมิ ที่ว่าจิตระดับนี้เป็นระดับกามาวจรจิตเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือเป็นการแบ่งจิตให้เห็นว่า จิตแยกเป็นประเภทได้อย่างไรบ้าง โดยเวทนา หรือว่าโดยเหตุที่เกิดร่วมด้วย และอีกนัยหนึ่ง ก็คือโดยสัมปยุตต์

    เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าลักษณะของจิตมีอยู่เป็นประจำทุกวัน แต่มีใครที่จะสังเกตลักษณะของจิต นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะได้ประโยชน์จากการศึกษา ถ้าเราศึกษาเพียงชื่อ แล้วเราไม่รู้เลยว่า จิตขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน อย่างไร ก็เท่ากับว่าไม่ได้รู้จักตัวจริงๆ ของจิต เพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของจิต เพราะฉะนั้น แม้แต่จะใช้คำว่า โดยนัยของสัมปยุตต์ คือ สภาพของเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ก็เป็นการแสดงให้เราเห็นว่า เราสามารถจะรู้ลักษณะของจิตซึ่งต่างกันในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าแม้ว่าจิตในวันหนึ่ง จะเกิดขึ้นเพียงทีละ ๑ ขณะเท่านั้น แต่ว่าต่างประเภทกันออกไปมาก เช่น จิตเห็นก็เป็นประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับจิตอื่น

    การที่เราจะกล่าวถึงโดยสัมปยุตต์ คือ โดยเจตสิกซึ่งเกิดที่สามารถจะทำให้รู้ว่า จิตประเภทนั้นต่างออกไป ก็มีที่เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ แล้วก็ที่เป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑

    นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเราในวันหนึ่งๆ สามารถจะรู้ได้โดยลักษณะของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ที่ใช้คำว่าสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าหมายความถึงสภาพนามธรรมที่เกิดร่วมกัน จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่งแล้วก็เห็น ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่งแล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีใครรู้ ใช่ไหม มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมกับจิตในขณะที่เห็น

    สภาพของเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า สัมปยุตต์ ซึ่งเด่น ที่จะทำให้สามารถสังเกตรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตนั้นมีเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย คือ ทิฏฐิเป็นความเห็นผิดสัมปยุตต์ ๑ ที่เป็นอกุศล มานะที่เป็นสัมปยุตต์ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เวลาที่เกิดมานะ ความสำคัญตน ส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้สึกตัว ใช่ไหม เวลาที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ หรือเกิดมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้สำคัญตนเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ยังแสดงให้เห็นว่า เราสามารถจะรู้ลักษณะของจิตประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยมานะ แต่ว่ามานะนี่เกิดกับโลภะก็จริง แต่ว่าไม่ได้เกิดเป็นประจำ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ประเภทที่เป็นสัมปยุตต์ สำหรับอกุศลสัมปยุตต์ก็มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ ความเห็นผิด เกิดกับโลภมูลจิต แล้วสำหรับโทสมูลจิตก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่ใช้คำว่า ปฏิฆสัมปยุตต์ ที่เรากำลังกล่าวถึง แสดงให้เห็นว่าลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโทสเจตสิก เราสามารถจะรู้ได้ เช่น เวลาที่เกิดโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ขณะนั้นมีใครไม่รู้บ้างไหม กำลังขุ่นใจ ขุ่นเคือง แสดงให้เห็นว่า เพราะมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปยุตต์กับจิต ก็ทำให้เห็นว่าต่างกับจิตเห็น ต่างกับโลภมูลจิต ต่างกับความเห็นผิดที่เกิดกับโลภะ

    เพราะฉะนั้น ที่เรายกเจตสิกเป็นสัมปยุตต์ ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า เมื่อสภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นสามารถระลึกรู้ได้ ไม่เหมือนผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่เวลานี้ก็ไม่มีใครรู้ลักษณะของผัสสะ แต่พอโทสะเกิดร่วมด้วย ก็สามารถที่จะรู้ได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในอกุศลสัมปยุตต์

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น ยังไม่โกรธได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นไม่โกรธ มันก็คนละขณะ

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ

    ผู้ฟัง ใช่ไหม นี่พูดเป็นภาษาธรรมดาๆ ไม่ต้องใช่คำว่า จักขุวิญญาณหรือว่าปฏิฆะสัมปยุตต์ ที่ว่าเวลาเห็นมันก็ไม่ได้โกรธ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรสัมปยุตต์

    ผู้ฟัง แต่ว่าตอนสัมปยุตต์เราก็ไม่รู้ ในสภาพของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วสามารถที่จะรู้ได้ อย่างเช่นเวลาที่โทสะเกิดร่วมกันกับจิตเป็นปฏิฆะสัมปยุตต์ ทุกคนก็รู้ได้

    ผู้ฟัง ที่นี้จากเห็นแล้วมาเป็นโทสะ อันนี้ชัดมาก เวลาโกรธๆ อันนี้ชัดเหลือเกิน เวลาโกรธ ตัวเนื้อสั่นขึ้นมา หรือว่าตาหูแดง หรือว่าไม่พอใจขึ้นมา นี้เห็นชัดมากตอนโกรธ แต่ว่ามันเลยจากการเห็นไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เลยจากการได้ยินมาแล้ว เป็นสิ่งที่เขาพูดมา เวลาได้ยินแล้ว ไม่ได้โกรธ ตอนได้ยินไม่ได้โกรธ

    ท่านอาจารย์ อย่างน้อยที่สุด เวลารู้ชื่อ โทสะว่าเป็นปฏิฆะสัมปยุตต์ ให้รู้ตัวจริงเวลาเกิด ให้รู้ว่านี่คือสภาพของจิตที่เรากำลังกล่าวถึง เพราะเหตุว่าไม่ว่าเราจะศึกษาเรื่องจิตประเภทไหนก็ตาม เพื่อรู้ลักษณะของจิตในชีวิตประจำวัน

    เราจะแยกกันโดยสัมปยุตต์ เช่น ปฏิฆะสัมปยุตต์ ก็คือขณะที่โทสะเกิดร่วมด้วยกับจิต

    ผู้ฟัง ท่านที่มาใหม่คงจะฟังพอจะเข้าใจว่า คนละขณะ สภาพเห็นขณะหนึ่ง สภาพโกรธขณะหนึ่ง แต่ขณะที่โกรธนั้นมีที่เราเรียกกันว่าเจตสิกเข้ามาสัมปยุตต์ คือเป็นเจตสิกเข้ามาสัมปยุตต์ เป็นปฏิฆะสัมปยุตต์ แต่อย่างไรก็ตามแต่ โกรธเสร็จแล้ว เหตุของการโกรธ ก็มีสาเหตุมา ในเรื่องของความไม่พอใจต่างๆ เกิดจากโลภะเป็นต้นเหตุด้วยเหมือนกัน วันหนึ่งๆ เราจะพบแต่เรื่องของความพอใจ และไม่พอใจ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ตลอดเวลา แต่การที่มาพิจารณาสักขณะหนึ่ง ในเรื่องของว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะพิจารณา บางครั้งจะเห็นได้ว่าคำพูดที่พูดกันภาษาธรรมดาๆ เป็นเรื่องที่เราประพฤติปฏิบัติได้จริงๆ คือ การเห็น มีโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ ขณะเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ที่ว่าอาจารย์กำลังจะกล่าวถึง ใช่ไหมเรื่องเจตสิก

    สมพร เจตสิกก็กล่าวไว้แล้ว ที่ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เพราะว่าเจตสิก คือธรรมนั่นเอง เกิดร่วมกับจิต แต่ต้องมีธรรม ๗ ประเภท ที่มีธรรม ๗ ประเภทเกิดร่วมกับจิต ธรรมคือผัสสะเป็นต้นนี้ ๗ ประเภท ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะก็เป็นธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ