ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๔๕

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตคิดเป็นไปในกุศล ก็เป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องความสงบของจิต ในเรื่องการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม นอกจากนั้นเป็นอกุศล ใครจะบอกว่าทำอะไรที่ไหน เหาะอยู่ที่นั่นที่นี่ ก็ตามแต่ เป็นเพียงความคิด เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าเป็นการสั่งสมที่จะคิด ใช้คำว่า “เลอะเทอะ” ได้หรือเปล่า คิดไปเรื่อยๆ โดยที่ว่าขณะนั้นๆ ไม่รู้ว่า เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็คิดไปใหญ่ แต่ว่าคนที่รู้ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แล้วเห็นโทษ ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าเป็นอกุศลจิตเท่านั้น แต่ต้องเห็นโทษของการสั่งสมด้วยที่คิดอย่างนั้น ทำไมไม่คิดในเรื่องดีๆ ทำไมไม่คิดในเรื่องสภาพธรรม ทำไมไม่คิดที่จะช่วยเหลือคนอื่น ทำไมไม่คิดศึกษาหาความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม แต่ไปคิดเรื่องอื่นที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แต่ก่อนผมก็เชื่อหมด ตั้งแต่เริ่มศึกษาใหม่ๆ เชื่อมาเรื่อยๆ จนมาถึงสุดท้าย ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายพระไตรปิฎกแล้วก็ไปเปิดพระไตรปิฎก เวลาใครพูดถึงอะไร นึกถึงพระไตรปิฎกเอามาเทียบเคียง อาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้า ตัดสินว่าถูกหรือไม่ถูก แล้วพอเอาปัญญาตัวเองตัดสินไม่ได้ ใครพูดอะไรก็ฟังไว้ฟังไว้ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าได้หลักเกณฑ์บ้างพอสมควร คือ จะไปเทียบกับพระไตรปิฎก ว่าถูกไหม ถ้าไม่ตรงพระไตรปิฎกก็ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ดิฉันก็ยังขอค้านอยู่นิดนึ่ง ฟังไว้แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื่อ ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องใครพูดอะไรก็เชื่อ ใครบอกว่าเป็นพระอรหันต์ก็เชื่อ ใครบอกว่าเหาะได้ก็เชื่อ ก็ไม่ถูก ไม่จำเป็นต้องเชื่อ หมายความว่าคนนั้นคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ฟังหูไว้หู เขาชวนไปปฏิบัติ ผมก็ไม่เคยไป เพราะผมก็ฟังอาจารย์สุจินต์บ้าง อ่านในประวัติพระอริยสาวก ท่านนั่งฟังเทศน์กันเป็น ๑๑ หมื่น ๑๒ หมื่น บริวารพระเจ้าพิมพิศาล ท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ได้เข้าวิปัสสนาที่ไหนเลยอะไรอย่างนี้ผมก็คิดตามพระไตรปิฎก ตามที่อาจารย์แนะแนว ก็ได้ความคิดมาเทียบเคียงกับหลักพระไตรปิฎก ก็เลยไม่ต้องเชื่อเขาอย่างงมงาย ผมคิดว่าถ้านักศึกษาทุกท่านก็ควรจะเอาหลักพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

    ผู้ฟัง ในเรื่องสังสารวัฏ คือ กิเลส กรรม วิบาก ทำไมจะต้องมีสังสารวัฏ แล้วมี กิเลสวัฏ อะไรวัฏ ทั้ง ๓ วัฏ

    ท่านอาจารย์ คิดถึงขณะจิตทีละขณะ จะเข้าใจชัด หมายความว่า จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งเห็น แล้วก็ขณะต่อไปก็อาจจะเป็นได้ยิน ก็วนเวียนอยู่ ๖ ทาง ท่องเที่ยว เพราะเหตุว่าจิตไม่ได้เกิดอยู่ที่เดียว แล้วก็ไม่ได้รู้อารมณ์เดียว เมื่อมีปัจจัยที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียง จิตได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กามาวจรภูมิ จิตวนเวียนไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หมุนไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ท่านถึงได้กำหนดไว้ว่า สังสารวัฏ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิบากวัฏ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง เราจะพูดคำว่า กิเลส กรรม วิบาก ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรทั้งหมด กิเลสวัฏก็ไม่มี กรรมวัฏก็ไม่มี วิปากวัฏก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่ามีจิตเกิดขึ้น แล้วเมื่อเกิดแล้วก็มีกิเลสซึ่งทำให้เกิดกรรม กรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต

    ผู้ฟัง ในภูมิมนุษย์นี้ รูปอาศัยหรือจิตอาศัยรูป ผมได้ฟังทางวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่า ถ้าเกิดล้มลงไปกระทบแรงๆ ทำให้ความจำเลอะเลือน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า ขณะที่เห็น ถ้าไม่มีรูปกระทบกับจักขุปสาท หรือไม่มีจักขุปสาทซึ่งเป็นรูป จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า นามอาศัยรูปหรือรูปอาศัยนาม ก็แล้วแต่จะกล่าวถึงทีละลักษณะ ถ้าเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิต รูปนั้นต้องอาศัยจิต ถ้าเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม รูปนั้นก็ต้องมีกรรมเป็นสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดผ่าตัดสมองบางอย่างออกไป แล้วทำให้มีลืมบางอย่างออกไป

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของความคิดนึก ขณะนั้นต้องมีจิตเห็น ต้องมีจิตได้ยิน ต้องมีจิตได้กลิ่น ต้องมีจิตคิดนึก ก็แล้วแต่ก็ไม้พ้นจาก ๖ ทาง ๖ ทางนี้ตลอด ไม่ว่าวิทยาการสมัยใหม่จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม จะไปอยู่ที่โลกไหน ในจักรวาลไหน ก็ไม่พ้นไปจาก ๖ ทาง เพราะฉะนั้น ก็สรุปได้ดีกว่าวิชาอื่น

    ผู้ฟัง การเข้าใจเรื่องของวิถีจิต เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และคิดนึกนั้น ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม และขณะใดเป็นวิบาก เช่น ขณะเห็น ยกตัวอย่างขณะเห็น ถ้าเผื่อเห็นแล้ว ในวิถีทั้ง ๗ วิถีจิตไหน ขณะใดเป็น กรรมขณะใดเป็นกิเลส และขณะใดเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส พวกนี้เป็นวิบากจิต แล้วก็จิตที่มีชื่อว่าวิบาก เช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ พวกนี้ก็เป็นวิบาก แต่เวลาพอถึงชวนะแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เป็นกุศล อกุศล ถ้าเป็นกุศลขณะนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดกรรมที่ดีได้ ถ้าเป็นอกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรม แล้วแต่ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรมหรือไม่ใช่อกุศลกรรม ถ้าเพียงแต่มีความยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้กระทำทุจริตกรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรม

    ผู้ฟัง หมายความว่าใน ๗ วิถี จะมีวิบาก

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนะไม่ใช่วิบาก จักขุวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณเป็นวิบาก สันปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก ชวนะไม่ใช่

    ผู้ฟัง ขณะที่เจริญสติปัฏฐานอยู่นั้น กำหนดจิตอยู่ที่การเจริญสติปัฏฐาน สภาวธรรมที่ปรากฏขณะนั้น แล้วก็สภาวะเหล่านั้นหายไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว สภาวะไม่รู้สึกตัว จะว่าหลับก็ไม่ใช่ แต่ว่ารู้อยู่ชัดอยู่ ขณะนั้นว่า ไม่ได้ยิน ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน มันเงียบไป แล้วก็พอมารู้สึกตัว ก็รู้สึกว่า ผมไม่กล้าที่จะใช้คำว่า มหคตจิต มันกลายเป็นว่าสภาวะที่สูงไปแต่ว่าสภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ ผมมานั่งนึกว่าอันนี้เป็นการสั่งสมหรือเปล่า เพราะว่าเราไม่ได้เจตนาให้เกิด

    ท่านอาจารย์ นี้คงแยกได้เป็นหลายข้อ ข้อที่ ๑ เมื่อกี้บอกว่ากำลังเจริญสติปัฏฐาน อันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสติเกิด สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วดับ สติปัฏฐาน เจริญ แต่ไม่มีใครที่จะกำลังเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะทราบได้ว่า ไม่มีตัวเราที่กำลังเจริญแน่นอน แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสติระลึก คือ มีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้ว แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใด ๑ ใน ๖ ทาง ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางใจกำลังคิดนึก แล้วแต่สติ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีว่า ผู้หนึ่งผู้ใดกำลังเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจว่ามีการกำลังเจริญสติปัฏฐาน แล้วเหมือนเป็นเรื่องยาวเรื่องใหญ่ กำลังนั่งนิ่งๆ สัก ๕ นาที หรือว่ากำลังดูนั่นดูนี่ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการละ และไม่ใช่ลักษณะของการรู้ ถ้าเป็นลักษณะของการรู้ ต้องเริ่มถูกตั้งแต่ต้นว่า สติเกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ไม่ใช่เรากำลังเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ก็จะเข้าใจความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จะไม่มีข้อสงสัยว่าเรื่องอะไรหายไป ข้อสำคัญก็คือว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานต้องมีหลายเรื่องที่จะพิจารณาไม่ให้หลงทาง หรือไม่ให้ผิดทาง ถ้าปรากฏว่า ขณะใดแม้ผิดปกติไปเพียงเล็กน้อย ก็ยังต้องรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูก

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่สนใจเลยกับสิ่งซึ่งไม่ใช่ปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตทุกคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ไม่ว่าขณะจิตนั้นจะเป็นจิตประเภทที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม จะเป็นสี จะเป็นเสียง จะเป็นกลิ่น จะเป็นรส จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จิตเกิดขึ้นขณะใดมีอารมณ์ใดเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุปัจจัย ถ้าเกิดมีความผิดปกติด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญปัญญา ชวนจิตสั่งสมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ในวาระหนึ่ง เช่นวาระเห็น จะรู้ละเอียดว่า อะไรเป็นวิบาก จะให้ประโยชน์อะไรกับเรา

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์มีมาก เพราะว่าทุกคนหลงวิบาก คือ ต้องการเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส ชั่วขณะเดียวสั้นๆ แต่ว่ามีความพอใจที่ติดตามมากมายมหาศาล ในขณะที่ลิ้มรสที่อร่อย ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว ก็จริง ก็ยังคิดถึงรสนั้นแล้วยังต้องขวนขวายเพื่อที่จะได้รสนั้นมาอีก เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสจะติดตามมามากมาย ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็สั้นมาก เสียงที่กระทบหูก็สั้นมาก กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่กำลังปรากฏก็สั้น แต่เมื่อไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่แสนสั้น แล้วก็จริงๆ แล้วไม่ใช่ของใครเลย เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น สภาพของชวนวิถีจิต ซึ่งยินดีพอใจในสิ่งที่ตาเห็น แม้ว่ารูปนั้นจะยังไม่ดับ รูปารมณ์ยังไม่ดับ ยังไม่ทันรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภะ คือ อกุศลจิตเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เสพอารมณ์นั้น เป็นชวนวิถีจิตมากกว่าขณะที่ตาเห็นสั้นๆ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตก็เกิด ๗ เท่าของจักขุวิญญาณ หรือว่าโทสมูลจิตก็เกิดขึ้น ๗ เท่า

    นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ถ้าไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ใครจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร เป็นเรื่องของวิบาก คือ ผลของกรรม อย่างไรๆ ก็หนีไม่พ้นต้องเห็นสิ่งนั้นแน่นอน ต้องได้ยินเสียงนั้นแน่นอน ในเมื่อเป็นผลของกรรมที่ทำให้มีตาสำหรับเห็น มีหู โสตปสาทรูป ซึ่งบุคคลอื่นก็ทำให้เกิดไม่ได้นอกจากกรรม เมื่อทำให้เกิดแล้วก็ยังแล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรมใด ก็ทำให้เสียงนั้นกระทบกับโสตปสาท ทำให้การได้ยินเกิดขึ้น ทุกท่านซึ่งมีความสนใจในธรรม มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ให้ทราบว่า ถ้าไม่มีอดีตกรรมที่ได้สะสมที่จะทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่สามารถจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมแล้ว จะไม่มีโอกาสได้ยิน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การได้ยินเสียง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา หรือเกิดโลภะ เกิดโทสะก็ตามแต่ ก็ต้องแล้วแต่อดีตกรรมที่ทำมา ตั้งหลายคนในโลกนี้ก็คงแสวงหาสัจธรรมแต่ว่าผู้มีโอกาสจะได้ฟังก็ต้องทราบความเป็นมาเป็นไปว่า ถ้าไม่มีการสั่งสมบุญไว้ในอดีตก็ไม่ได้ฟัง บางท่านก็ต้องเดินทางไกลมาเพื่อจะฟัง แม้แต่ในที่นี้ก็มีท่านหนึ่งซึ่งมาจากประเทศนิวซีแลนด์ที่จะฟังพระธรรม

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของวิบากซึ่งเมื่อมีเหตุที่สะสมมาแล้วต้องเกิด แล้วแต่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ทางกายบางคนก็กำลังเจ็บป่วย ก็ไม่ได้ต้องการปรารถนาเลย แต่ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพของจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะอย่างรวดเร็ว สั้นมาก แต่ใครทำ มีอะไรที่เป็นปัจจัยทำให้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น แล้วรู้เฉพาะแต่ละอารมณ์ แต่ละขณะ ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของกรรม ถ้ารู้ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่เมื่อรู้แล้วว่า ขณะไหนเป็นวิบากก็ควรที่จะระวัง ที่จะให้หลังจากนั้นแล้วกุศลจิตเกิด แทนที่จะเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าถ้ายังมีกิเลสอยู่ยากที่จะให้กุศลจิตเกิด ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    นี่ก็เป็นการที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้ผู้ที่ได้เข้าใจจริงๆ ได้เห็นว่า ทั้งหมดไม่มีอะไรประเสริฐเท่ากับปัญญา เพราะว่าอย่างไรๆ ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ทั้งชื่อ ก็ไม่ใช่ของตัวเอง ทรัพย์สมบัติ ทุกสิ่งทุกอย่าง วงศาคณาญาติ ก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดนึกหลังจากเห็น หลังจากได้ยิน หลังจากได้กลิ่น หลังจากลิ้มรส หลังจากที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ความคิดนึกหลังจากเห็น ได้ยินจะปรุงแต่ง แล้วแต่ว่าโลกของใครจะเป็นโลกซึ่งขัดเกลากิเลส หรือว่าจะสะสมกิเลส มากน้อยเท่าไร แต่ว่าทางเดียวที่จะละกิเลส ดับกิเลสได้ โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่คอยเลย ปรากฏแล้วก็ดับไป ปรากฏแล้วก็ดับไปทุกขณะ

    ผู้ฟัง เจริญพร ถ้าเป็นอกุศลจิตเกิดขึ้นเจตนาที่เป็นกรรมก็ต้องมีกิเลสเกิดร่วมด้วยบ้าง บางประเภทอาจไม่เกิดถึง ๑๐ ประเภท เจตนาที่เป็นกรรมที่ทำอกุศลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตนี้ กิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้นหมายถึงในขณะที่เป็นสัมปยุตตธรรมในขณะนั้นเลย หรือหมายถึงกิเลสต่างๆ ที่สะสมมาในอดีตด้วย ที่เป็นปัจจัยให้ขณะที่เห็นแล้ว ก็เกิดการติดข้อง เช่น เป็นโลภมูลจิต เมื่อเกิดขึ้นแล้วเจตนาก็เกิดขึ้นกระทำกรรมในการลักทรัพย์เป็นต้น กิเลสในขณะที่เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น เกิดจากการสะสมกิเลสในอดีตด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ เจริญพร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเรื่องของกรรมเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เวลาที่พูดถึงเรื่องเจตสิก ก็จะมีเจตนาเจตสิก ซึ่งแม้แต่ข้อความในอรรถกถาทั้งหลายก็ได้แสดงไว้ละเอียด เพราะว่าบางที่เราผ่านข้อความเรื่องอกุศลกรรมบถ เราก็เข้าใจว่า ได้แก่ อกุศลเจตนา ที่กระทำทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วก็มีองค์ ต่างๆ แต่ความจริงถ้ากล่าวละเอียดไปจนกระทั่งถึงปัจจัย และลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด จะเห็นได้ว่า มีสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย กระตุ้นสหชาตธรรมให้เกิดขึ้นเป็นไป สภาพธรรมนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า “เจตนาเจตสิก” แล้วก็ยังจำแนกไปว่า เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ก็เป็นทั้ง ๔ ชาติ คือ เจตนาที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี แล้วยังแจกไปตามทวาร ว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ อกุศล ขอพูดเฉพาะอกุศล เพราะเหตุว่าเราจะพูดถึงเรื่องอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น อกุศลก็เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิต ทางตารูปยังไม่ดับไป เป็นกรรมหรือไม่เป็นกรรม ถ้าโดยปัจจัยแล้วต้องเป็น คือ เป็นสหชาตกรรมปัจจัย ไม่ใช่นานักขณิกกัมมปัจจัย ซึ่ง ๒ คำนี้ต้องอธิบายกันอีก เวลาพูดถึงเรื่อง ปัจจัย สหชาตปัจจัยหมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยเกิดร่วมกับปัจจยุบปัน หมายความว่าเกิดพร้อมกันนั่นเอง สหชาตก็เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเจตนาเจตสิกเกิดกับจิต และเจตสิกอื่นๆ พร้อมกัน ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยโดยเป็น สหชาตปัจจัย จึงชื่อว่า สหชาตะ

    ผู้ฟัง เจตนาที่เกิดกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ทุกดวง เจตนานั้นหมายถึง

    ท่านอาจารย์ สหชาตกัมมปัจจัย

    ผู้ฟัง สหชาตกัมมปัจจัย ซึ่งเจตนานั้นเป็นตัวจงใจกระทำ พร้อมกับ สัมปยุตตธรรม

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ ซึ่งเกิดทั้ง ๖ ทวาร ในขณะนี้ตามปกติ ถ้าเป็นอกุศล ทางตาที่เห็นแล้วชอบสิ่งที่ปรากฏ ทันทีที่กระทบเสียง ก็เกิดชอบหรือไม่ชอบในเสียงที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกรรม โดยเป็นสหชาตกรรมปัจจัย แล้วก็เป็นทางมโนทวารด้วย เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า มโนกรรม

    นี่แสดงให้เห็นว่า ที่เราเคยได้ยินเรื่องของมโนกรรมทาง อกุศลกรรมบถ ๑๐ กล่าวถึงทุจริตกรรมเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งความจริงแล้วต้องรวม เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นมโนกรรม

    ผู้ฟัง เจตนาที่ยังไม่เป็นปัจจัยให้มีการเคลื่อนไหวทางกาย และวาจา จึงจัดเป็นมโนกรรม

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ แต่ไม่ใช่มโนกรรมในอกุศลกรรมบถ นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ศึกษาไป แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรมากมาย เพราะว่าเป็นเรื่องของภาษา เป็นเรื่องของพยัญชนะ แต่สิ่งที่ควรจะทราบว่า ก็คือว่าขณะใดเป็นอกุศลจิต ไม่ต้องไปคิดถึงว่า ระดับไหนแล้ว ครบองค์หรือยัง แล้วก็เดือดร้อนวุ่นวาย กรรมนี้จะหนักแค่ไหนหรืออะไร นั่นก็เป็นเรื่องของความคิดนึก แต่ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ แม้เล็กน้อยก็ควรเห็น คือ ยังไม่ต้องปล่อยให้ถึงกับเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ เพียงเป็นผู้ที่มีสติแล้วก็ลักษณะของอกุศลกรรมจิต ก็จะทำให้เห็นโทษแม้อกุศลจิตเพียงเล็กน้อยได้ แต่ก่อนอื่นก่อนที่จะเห็นอย่างนี้ ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน

    เพราะฉะนั้น การฟัง การศึกษา การอบรมเจริญปัญญา ต้องตามลำดับขั้นจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เราศึกษาทางตำรามาก แต่ว่าขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นสภาพของนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนั้นก็ต้องตั้งต้นกันใหม่

    ผู้ฟัง กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก โดยมีการแสดงของการสั่งสมสันดานของตนก็ดี จะต้องหมายถึงกรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากเท่านั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอกุศลกรรมบถ แล้วถ้าครบองค์ ก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ถ้าไม่ครบองค์ ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ให้ผลในปวัตติกาล ปวัตติกาลคือหลังปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น คนเราเกิดมาด้วยผลของกุศลที่ทำให้เป็นมนุษย์ แต่หลังจากเกิดมาแล้ว สุข ทุกข์ ต่างกันมาก แล้วแต่อกุศลกรรมให้ผล หรือกุศลกรรมให้ผล เคยสบายมานานแล้วก็ป่วยไข้ได้เจ็บ ก็เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ถึงกาลที่จะให้ผล เพราะฉะนั้น ก็หนีไม่พ้นกรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดว่า ไม่ถึงกับล่วงกรรมบถ หรือว่าเป็นเพียงแค่ทุจริตกรรม เช่น ยินดีพอใจในรสอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นโลภมูลจิตที่มีเจตนาร่วมด้วย ไม่ทราบว่าเจตนานั้นจะมุ่งหมาย เอานัยกรรมเป็นปัจจัยด้วยไหม ไม่ทราบ เจริญพร

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยโดยปัจจัยอื่น คือ อุปนิสยปัจจัย ไม่ใช่โดยกรรมปัจจัย ถ้าโดยกรรมปัจจัยแล้ว ต้องถึงขั้นทุจริตกรรม แต่ถ้าไม่ถึงขั้นทุจริตกรรม แล้วก็สั่งสมโดยเป็นปกตูปนิสยปัจจัย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ถึงกับเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก แต่เป็นการสั่งสมได้ ถ้าภายหลังมีการติดมากขึ้น ยินดีพอใจมากขึ้น อาจจะทำให้ล่วงอกุศลกรรมบถ เช่นมีการลักขโมยเป็นต้นก็ได้

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ กำลังเห็นเป็นกรรมหรือเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นไม่ได้ทำกรรมอะไรเลย ไม่ได้ทำทุจริตกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเห็น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย นี่เป็นสิ่งซึ่งใครก็สร้างจิตสักขณะเดียวไม่ได้ ให้เห็นธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ วิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น เหมือนไฟซึ่งมีเหตุปัจจัยเมื่อไหร่ ไฟก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนี้เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเป็นจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ