ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๗๗

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ อย่างคุณวีระเองก็จะทราบได้ว่า เคยทำอะไรมาตั้งหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ขณะไหนเป็นโลภะที่มีกำลัง ขณะไหนเป็นเรื่องธรรมดาเฉยๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่จำเป็นต้องไปนึกว่าเรามีเหตุ ๖ นี้หรือเปล่า เพราะว่าเราไม่ใช่มีโลภมูลจิตอสังขาริกตลอดกาล บางครั้งก็เป็นโลภมูลจิตสสังขาริก เพราะฉะนั้น ส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงการสะสม ถ้าเราเห็นคนซึ่งไม่กล้าทำอะไรเลยสักอย่างเดียว ต้องคอยตามคนอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นเราจะรู้ได้เลยว่า คนนี้ยากที่เขาจะมีอสังขาริกในเรื่องนั้น แต่เขาอาจจะมีอสังขาริกในเรื่องอื่นก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง สำหรับการที่จะเห็นลักษณะที่ต่างกันของโลภะว่า ขณะใดเป็นโลภะที่มีกำลังกล้า มีกำลังแรง แล้วขณะใดเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม หรือทางฝ่ายกุศลก็ตาม ให้ทราบว่ามี ๒ อย่าง คือ ที่มีกำลังกับที่ไม่มีกำลัง แต่อย่าเพิ่งไปคิดว่าคนอื่นเขาชวนเสียทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เพียงได้ยินได้ฟัง แล้วก็เป็นเรื่องที่ขณะนั้นโลภะของเราเกิดหรือไม่ มีกำลังกล้าหรือไม่ หรือว่าต้องอาศัยการชักจูง

    ผู้ฟัง โฆษณาหลายๆ อย่าง มีคำโน้มน้าวเชิญชวนให้บริโภค ให้ใช้สินค้านั้นๆ จนเราคล้อยตาม

    ท่านอาจารย์ จน จน อย่าลืมว่าทีแรก เราไม่สนใจก็ได้ เพราะฉะนั้น จะถือว่าคำโฆษณาเป็นคำชักชวนไม่ได้ ถ้าเราเกิดชอบขึ้นมาทันที จะถือว่าชักชวนไม่ได้ เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า อย่างอาหารนี้อร่อย อย่างนี้จะถือว่าโฆษณาหรือเปล่า นั่งด้วยกันหลายๆ คน แล้วก็มีกับข้าวหลายๆ อย่าง แล้วคนหนึ่งชิมแล้วก็บอกว่า จานนี้ อาหารนี้อร่อย อย่างนี้จะถือว่าชักชวนหรือเปล่า หรือเป็นความบอกเล่า คนอื่นอาจจะเกิดโลภะ หรือไม่เกิดโลภะ หรืออาจจะมีต้องการทันทีที่จะชิมก็ได้ บางคนก็เฉยๆ ก็ได้

    ผู้ฟัง กรณีอย่างนี้อาจจะไม่ใช่โฆษณา เป็นความบอกเล่า แต่ว่าโฆษณาหลายๆ อย่าง สินค้า หลายๆ ตัวในทีวี ชักชวน แล้วก็เชิญชวน

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าเพิ่งคิดไกล เพียงแต่ว่าเขาพูดให้เราได้ยินก่อน ใช่หรือเปล่า แต่ทีนี้วิธีพูดมีหลายอย่างจริง เขาอาจจะไม่ได้พูดว่า อาหารอร่อยแค่นี้ คนนั้นอาจจะพูดมากกว่านี้ก็ได้ อาหารนี้หารับประทานยาก ต้องคนที่เคยอยู่ในรั้วในวังเก่า หรือว่าคนโบราณทำใส่เครื่องปรุงต่างๆ อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เราจะถือเป็นคำบอกเล่า หรือว่าจะถือว่าเป็นคำโฆษณา เพราะจริงๆ ที่เราใช้คำว่า โฆษณา หรืออะไรอย่างนี้ คือคำบอกเล่าก่อน แล้วแต่ใจของเรา ไม่ใช่เขาบอกปุ๊บ เราชอบปั๊บ ก็จะต้องเป็นสสังขาริก เราอาจจะไม่สนใจเลย แล้วภายหลังเราสนใจก็ได้ ใช่ไหม หรือว่าเราอาจจะสนใจทันทีก็ได้ พอได้ยินแล้วเราสนใจทันที บางเรื่องได้ยินแล้วไม่สนใจทันที จะถือว่าเป็น สสังขาริกหรืออสังขาริก ต้องคนนั้นรู้ว่าจิตนั้นมีกำลังหรือไม่มีกำลัง

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่ๆ ละเรื่อง แต่ละวาระ

    ท่านอาจารย์ ถ้าถือสภาพจิตที่มีกำลังกับอ่อนกำลัง จะทำให้เข้าใจ อสังขาริกหรือสสังขาริกมากกว่า จะไปถือเรื่องการชักชวน

    ผู้ฟัง ถ้าขณะที่ผมหลับอยู่ แล้วฝันว่ามีพระมาชวนไปฟังธรรมที่วัดบวร ดีใจมากที่ได้ไปฟัง คือไปฟังธรรมที่วัดบวร อันนี้ผมก็เลยจะสรุปว่า จริงๆ แล้วในระหว่างฝัน ก็น่าจะเกิดเป็นอสังขาริกทั้งนั้น จะสรุปว่าอย่างนี้ได้ไหม แต่ว่าเมื่อฟังคำตอบที่ท่านอาจารย์ได้กรุณากล่าวเมื่อสักครู่นี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอสังขาริกหรือเปล่า เพราะว่าก็ต้องพิจารณาดูอีกทีว่า ในขณะนั้นเป็นอสังขาริกหรือไม่ แต่ว่า อนุญาตอีกนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตามในฝันไม่มีปัญจทวารเข้ามาเกี่ยวข้องสอดแทรกด้วยเลย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นเรื่องเก่าๆ ที่ผมสะสมเอาไว้ แล้วผมก็ควรจะเรียกอันนั้นว่า อสังขาริกแน่นอน

    ท่านอาจารย์ อสังขาริก สสังขาริกไม่ได้จำกัดทวาร ไม่ได้จำกัดทวาร เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง ผมเน้นประเด็นที่ว่า ถ้าเกิดขณะที่ผมเป็นมโนทวาร แล้วก็มีภวังค์คั่น ตลอดเวลา สลับไปสลับมา ต้องเป็นอสังขาริกทั้งนั้น เพราะว่าจิตในมโนทวาร น่าจะเป็นอสังขาริก ถ้าไม่เป็นมโนทวาร มโนทวารวิถีจิตที่ตามปัญจทวารวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราคงจะไม่มีความสามารถถึงขั้นที่จะไปจำกัดว่า อสังขาริก และสสังขาริกจะเกิดเฉพาะทางทวารไหน เช่นขณะที่กำลังฝัน เป็นต้น แต่เราสามารถที่จะรู้สภาพของจิตที่มีกำลังหรือไม่มีกำลังได้ แล้วจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องการคิดเท่านั้น ต้องเป็นเรื่องสติสัมปชัญญะที่รู้จริงๆ เพราะฉะนั้น บางคนก็บอกว่า ทำไมถึงต้องคิดมากในเรื่องของอสังขาริกกับสสังขาริก เพราะว่าจริงๆ แล้วเพียงให้ทราบว่า เป็นจิต เป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา นี่สำคัญที่สุดเลย แล้วก็นามธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน เป็นจิตประเภทที่มีกำลังบ้าง ไม่มีกำลังบ้าง แล้วเราก็มาเรียกชื่อทีหลัง ใส่ชื่อลงไป ให้รู้ว่า ขณะที่มีกำลังเป็นประเภทอสังขาริก ถ้าประเภทที่อ่อนกำลังก็เป็นสสังขาริก

    ผู้ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่า จิตพวกนี้ที่ไม่มีชื่อระบุว่า อสังขาริกกัง หรือ สสังขาริกกัง จิตดวงไหนเป็นอสังขาริก จิตดวงไหนเป็นสสังขาริก คือถามถึงจิตที่มีชื่อภาษาบาลีที่ไม่ลงท้ายด้วย อสังขาริกกัง หรือสสังขาริกกัง มีพวกโมหมูลจิต ๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต

    สมพร จิตซึ่งโมหมูลจิต ๒ ดวง ท่านไม่กล่าวสสังขาริก อสังขาริก ตามนัยของพระอนุรุทธาจารย์ เราจะกล่าวว่าเป็นอสังขาริกหรือเป็นสสังขาริกไม่ได้ เพราะว่าโมหะมันก็เกิดขึ้น หรือว่าไม่มีกำลัง เมื่อเปรียบเทียบ จิตมี ๒ อย่าง เช่น โลภะ มีกำลัง และไม่มีกำลัง ส่วนโมหะไม่กล่าวถึง มีกำลัง และไม่มีกำลัง โมหะเป็นไปโดยอาการสั่งสม เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว มีการสั่งสมมาแต่อดีต เหมือนว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้สังขารมีการสั่งสมมา เนื่องจากอาสวะเป็นเหตุ แต่นี้อย่างโลภะแบ่งออกเป็น ๒ พวก เพราะว่าประเภทหนึ่งจิตมีกำลังกล้า อีกประเภทหนึ่งจิตมีกำลังอ่อน หรือมหากุศลก็เช่นเดียวกัน ที่ท่านไม่จัดเป็นอสังขาริก และสสังขาริกก็เฉพาะโมหมูลจิต และอเหตุกจิต ๑๘ ตามนัยของพระอนุรุทธาจารย์ ไม่ใช่อาจารย์รุ่นใหม่ อาจารย์รุ่นใหม่เขาจัดไปอีกอย่างหนึ่ง

    สมัยนี้เขาจัดโมหมูลจิต ๒ ดวง เป็นอสังขาริก เพราะมีกำลังกล้า แต่รุ่นใหม่เขากล่าวอย่างนั้น แล้วอเหตุกจิตนั้นก็เกิดขึ้นเอง เป็นประเภทรวมอยู่ในอสังขาริกได้ เกิดขึ้นเอง ก็แสดงว่ามีกำลังกล้า นี่อาจารย์รุ่นใหม่ แต่รุ่นเก่าพระอนุรุทธาจารย์ไม่จัด โลภมูลจิต ๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ไม่จัดเป็นสสังขาริก และอสังขาริก เฉพาะจิต ๒ ประเภทนี้

    ท่านอาจารย์ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต

    สมพร รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต แล้วก็ตามวิถีจิตก็ไม่มี รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต พวกได้ฌานต่างๆ ก็ไม่กล่าวถึงสสังขาริก อสังขาริก แต่อาจารย์รุ่นใหม่บอกว่าเป็น สสังขาริก อันนี้เราก็ต้องแยกกัน ท่านไม่กล่าว ดูตามนัยพระบาลีของท่าน ท่านไม่กล่าวถึงสสังขาริก และอสังขาริกเลย เช่นพวกได้ฌาน ฌานจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดทันทีทันใด ต้องมีเริ่มต้น มีตั้งแต่บริกัมม์ เรื่อยไปจนกว่าฌานจะเกิด แต่ที่กล่าวว่า สสังขาริก อสังขาริก ต้องเกิดทันทีทันใด เช่น โลภมูลจิตเป็นอสังขาริกเกิดขึ้นในขณะนั้นเอง ส่วนฌานกว่าจะเกิดได้ก็เป็นเวลานาน ตั้งแต่บริกัมม์ อุปจาร อนุโลม โคตรภู ถึงฌาน แล้วท่านจึงไม่จัดเป็นสสังขาริก และอสังขาริก เพราะว่าไม่ได้เกิดด้วยขณะจิตนั้น เหมือนโลภะเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิต

    สมพร โลกุตตรจิต ก็อีกอันหนึ่ง ก็ไม่ได้จัดเป็นสสังขาริก อสังขริก เพราะว่าในพระบาลีไม่ได้กล่าว เมื่อไม่ได้กล่าวพระอนุรุทธาจารย์ก็ไม่กล่าวว่าโลกุตตรจิต ๘ เป็นสสังขาริก อสังขาริก

    ผู้ฟัง แล้วอเหตุกจิตเกิดขึ้นเอง

    สมพร อเหตุกจิตนั้นมันเกิดขึ้นเพราะปัจจัย สีกระทบกับตา เมื่อได้ปัจจัยนี้ จิต นี้ก็เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องชักชวนหรือไม่ชักชวนอะไร เกิดขึ้นเพราะปัจจัยประชุมพร้อมกัน

    ผู้ฟัง แสดงว่าเขามีกำลังกล้าที่จะเกิดขึ้นเอง ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น

    สมพร กำลังของปัจจัย ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ในอเหตุกจิต จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น เรียกว่าอเหตุกจิต

    ผู้ฟัง เราพูดเรื่องอสังขาริก สสังขาริก เป้าหมายเพื่อให้รู้อะไร อันนี้ยังสับสนอยู่

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดเป็นเรื่องๆ แม้แต่ลำดับภูมิ อย่างกามาวจรจิตเท่านั้นที่มีอสังขาริก สสังขาริก แล้วก็เฉพาะอกุศลจิต สำหรับทางฝ่ายกุศลก็เป็นมหากุศลหรือมหาวิบาก มหากิริยา เฉพาะกามาวจรจิต เพราะฉะนั้น ต้องเรียนตามลำดับ แต่ว่าก่อนอื่นใดทั้งสิ้นให้ทราบว่า จิตไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม เป็นจิตประเภทที่มีกำลังแรงกับประเภทที่มีกำลังอ่อน หรือว่าอ่อน ไม่มีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรือทางฝ่ายอกุศล แล้วเราก็พิจารณาว่าจริงไหม จิตนี้มีกำลังเสมอกันทุกครั้งหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือทางฝ่ายกุศล

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโลภะบางครั้งมีกำลังแรง บางครั้งก็เป็นโลภะธรรมดาๆ ไม่มีกำลังแรง แล้วก็สำหรับกุศลก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็เป็นกุศลที่มีกำลัง บางครั้งก็เป็นกุศลธรรมดาๆ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบความหมายของอสังขาริก และสสังขาริก ในเรื่องของกำลังก่อน แล้วก็ค่อยๆ แยกไปว่า โลภะมีจริง ที่มีกำลังก็มี ไม่มีกำลังก็มี เพราะฉะนั้น มีทั้งสสังขาริก อสังขาริก โทสะก็เช่นเดียวกัน แล้วทางฝ่ายกุศล วิบาก กิริยา ก็เช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง สรุปแล้วว่าเป็นกามาวจรจิตเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สำหรับจิตบางประเภทไม่มีการที่จะต้องมีกำลังหรือไม่มีกำลังเลย จักขุวิญญาณจิต หรือ อเหตุกจิตทั้งหมด ไม่ได้แยกว่าจักขุวิญญาณนี้มีกำลัง จักขุวิญญาณนั้นไม่มีกำลัง หรือโสตวิญญาณนี้มีกำลัง โสตวิญญาณนั้นไม่มีกำลัง ไม่มี สำหรับอเหตุกจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาในเหตุผลจริงๆ เราก็พอจะทราบเพราะเหตุใด ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ให้เราพิจารณา ไม่ใช่ให้เราเกิดความสงสัย แล้วอยากจะรู้โดยที่ว่า สติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็จะไปรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้เป็นประเภทอสังขาริกหรือว่า สสังขาริก

    ผู้ฟัง อย่างอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ถือว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก

    ท่านอาจารย์ สำหรับอเหตุกจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเฉพาะๆ ของตนๆ ต้องเกิด อย่างไรก็ต้องเกิด ไม่มีที่จะว่าอ่อนหรือกล้า โดยประเภทจัดเป็นประเภทอสังขาริก

    ผู้ฟัง มีคำถามอีกไหม เกี่ยวกับอสังขาริก สสังขาริก ถ้าไม่มี คิดว่าการจำแนกจิตโดยประเภทของสังขาร เราก็คงจะไว้เพียงเท่านี้ แล้วก็จะเลื่อนไปสู่ จำแนกจิตโดยเหตุ โดยนัยแห่งเหตุ

    ท่านอาจารย์ เรื่องอสังขาริก สสังขาริก คงจะไม่มีใครกลับไปนอนคิดให้วุ่นวายในเรื่องของอสังขาริกกับสสังขาริก เพราะเหตุว่าแล้วแต่สภาพของจิตขณะนี้ ควรที่สติสัมปชัญญะจะเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ดีกว่าที่จะไปนั่งคิดเปล่าๆ ไปว่า สสังขาริกเป็นอย่างนี้ หรืออสังขาริกเป็นอย่างไร หรืออะไรอย่างนี้ เพราะเหตุว่าทั้งหมดของการฟัง ไม่ว่าจะในชาติก่อน รวมมาถึงชาตินี้ ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ที่สติสัมปชัญญะจะเกิด แล้วก็รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักเรื่องราว หรือว่ารู้จักเพียงชื่อ แล้วก็ไปคิดแต่เรื่องราวกับชื่อ โดยที่สติสัมปชัญญะไม่ระลึกลักษณะของสถาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    สิ่งใดที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าทางตากำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพที่กำลังรู้ด้วย เป็นธาตุรู้ แยกขาดจากสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ

    นี่เป็นของที่แน่นอนว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นี่เป็นสิ่งซึ่งสามารถจะรู้ได้ ประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้น ที่ฟังมาทั้งหมด เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกที่นี่ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็คงจะเข้าใจจุดประสงค์ของการฟัง แล้วก็คงจะไม่ไปคิดวุ่นวายเรื่องของอสังขาริก สสังขาริก

    อย่างพระโสดาบันบุคคลท่านสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมโดยทั่ว เท่านั้น แต่ว่าท่านจะไม่เหมือนกับผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ความสามารถที่จะแทงตลอด จนกระทั่งขณะที่รวดเร็วของสสังขาริก มีถีนะมิทธะ ไม่มีถีนะมิทธะ หรืออะไรอย่างนั้น เพียงแต่ว่าให้สามารถที่จะให้รู้จริงๆ ว่า ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด อยู่ในสถานการณ์ใด สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ ไม่มีความสงสัยเลยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ส่วนพระโสดาบันที่ต่างกันไปก็เพราะเหตุว่าแล้วแต่กำลังของสติปัญญาที่ท่านสะสมมาว่า จะมากน้อยประการใด ถ้าท่านสะสมปัญญามามาก ท่านก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ไม่ว่าจะเป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก โดยไม่ใส่ชื่อเลย เพราะเหตุว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ไม่มีการใส่ชื่อ สภาพธรรมนั้นจะเป็นสสังขาริกก็ปรากฏได้ สภาพธรรมนั้นจะเป็นอสังขาริกก็ปรากฏได้ แต่ปัญญาจะต้องคมที่จะรู้แล้วละความสงสัย ความไม่รู้ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง สำหรับโลภเหตุก็มีลักขณาทิจตุกะอยู่ ๔ ข้อ คือ ลักษณะเป็นต้น ของโลภะ ดังนี้ คือ

    ข้อ ๑. มีการยึดในอารมณ์ เป็นลักษณะ เหมือนลิงติดตัง

    ข้อ ๒. มีความข้องติดอยู่อย่างยิ่งในอารมณ์ เป็นกิจ เหมือนชิ้นเนื้อที่ซัดไปบนกระเบื้องอันร้อน

    ข้อ ๓. มีความไม่ละไป เป็นผล ดุจผ้าเปื้อนสีน้ำมัน

    และข้อ ๔. มีความเห็นความสำราญในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เป็นเหตุใกล้

    โลภะนั้นเมื่อเจริญ โดยความเป็นแม่น้ำคือตัณหา พึงเห็นว่าย่อมพาไปสู่อบายอย่างเดียว ดุจแม่น้ำมีกระแสเชี่ยวพาไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น

    มีท่านผู้ใดสงสัยเกี่ยวกับลักขณาทิจตุกะของโลภะเหตุ มีบ้างไหม มีการยึดในอารมณ์เป็นลักษณะ คือ ลักษณะของการยึดของโลภะ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเห็น เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่า เรามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ และในเห็น เรียกว่าเราเกิดมา ปราศจากโลภะไม่ได้เลย จนกว่าจะดับโลภะหมด เป็นพระอรหันต์เมื่อไรแล้วก็ปรินิพพาน มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงมีโลภะอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม จะมองไม่เห็นโลภะเลย เพราะว่าไม่รู้ตัวเองว่า มีโลภะ บางคนก็บอกว่าเขาไม่มีเลย เขาไม่เห็นอยากได้อะไรเลย ก็อยู่ไปวันๆ สบายๆ ไม่ได้ต้องการอะไรเลย แต่เขาไม่ทราบเลยว่า โลภะไม่ได้หมายความว่า เวลาที่เขาเกิดความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างมากๆ เพียงแต่เห็น แล้วขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงหลังจากที่เห็นแล้วมีความติดข้อง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต หรือไม่ใช่โมหมูลจิต หรือไม่ใช่กุศลจิต ก็ต้องเป็นจิตประเภทที่เป็นโลภะ

    เพราะฉะนั้น วันนี้ที่เห็นมีโทสะเกิดบ่อยไหม หรือว่าไม่ได้มีโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ว่ามีความต้องการติดข้องในสิ่งที่เห็นเป็นประจำ

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน บางทีไม่รู้เลยว่า ขณะใดเป็นโลภะ ซึ่งแทบทั้งวันเลยจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะทำอะไร แล้วจะทำอย่างไรดี อาจารย์ โลภะละเอียด เรายังไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ รู้โดยการศึกษา ตื่นขึ้นมาลืมตาเป็นโลภะไหม

    ผู้ฟัง รู้โดยการศึกษา แต่ว่าไม่รู้จริงๆ โดยสภาพจริงๆ โลภะละเอียด อันนี้เป็นโลภะแล้ว เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่ใช่ระดับขั้นสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ก็เป็นเพียงแต่เข้าใจว่ามี

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า มี

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้จักสภาพที่เป็นความติดข้องจริงๆ ว่าขณะนั้นติดข้องแล้ว

    ผู้ฟัง จนกว่าจะเจริญสติปัฏฐานไปถึงอีกระดับหนึ่ง

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่า ทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ทุกครั้งเท่าที่สนทนากันมา

    ท่านอาจารย์ คือว่าสภาพธรรมมีอยู่ ขณะนี้ก็กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่เราพูดเรื่องสภาพธรรมก็เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ทั้งๆ มีอยู่ ไม่เข้าใจเลย ทำอย่างไร ถ้าหากว่า เราจะจำไปเลย อย่างนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ

    ท่านอาจารย์ จะจำอย่างไร ธรรมกำลังปรากฏแล้วจะจำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็โลภะไม่ชอบไม่ดี ก็บอกว่าโลภะไม่ดี ก็บอกว่า โลภะไม่ดี สอนกันไปบอกกันไปอย่าอยากได้เลย อย่าโกรธเลย อย่างนี้ ชัดเจน เวลาคนโกรธ ก็บอกว่า อย่าโกรธน่า อย่าโกรธน่า ก็โกรธเอาโกรธเอา ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นโกรธอยู่ที่ไหน เวลาบอกว่าอย่าโกรธๆ แล้วโกรธอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง โกรธอยู่ที่ คนอื่นทำให้โกรธ

    ท่านอาจารย์ คือพูดเรื่องโกรธ แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังโกรธ ขณะนี้เราอาจจะพูดเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ทั้งหมดก็คือสภาพธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การพูดเรื่องสภาพธรรม เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบถึงเหตุของบุคคลแต่ละบุคคล เช่นว่า บุคคลนี้ เคยสะสมเหตุอย่างไรมา เช่นว่าสะสมความโกรธมามาก ชาตินี้ก็มาเกิด ความโกรธก็ปรากฏตามมาอีก เพราะฉะนั้น กำลังของความโกรธก็มีมาก ท่านอาจจะรู้ต้นเหตุของการสะสมกิเลส อย่างนี้หรือเปล่าที่ทำให้พระพุทธเจ้าเวลาทรงแสดงธรรม รู้สึกจะบรรลุกันค่อนข้างจะเร็ว แล้วก็รู้สึกว่า อันนี้จะเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่เรากำลังศึกษาเรื่องเหตุปัจจัยหรือเปล่า อันนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ที่บรรลุเร็วไม่ใช่ว่า เพราะว่าเป็นพระองค์ที่ทรงแสดง แต่เพราะเหตุว่าคนนั้นเคยสะสมปัญญาความเข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บุคคลนั้นสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจจริงๆ แล้วก็ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครแสดง แล้วก็แสดงเรื่องอะไรเท่านั้น แต่ว่าคนนั้นเมื่อฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน อย่างเราพูดถึงเรื่องความโกรธแล้วก็ไปบอกให้คนอื่นเขาไม่โกรธ แล้วตัวเราโกรธหรือเปล่า ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ