ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๔๒

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ สำหรับอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลือกไม่ได้เพราะว่าเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ของอเหตุกจิตจะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และอเหตุกจิตทั้งหมดไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๓ ดวงสุดท้ายนี้ก็ตัดออกไป แล้วก็พิจารณาดูว่า ขณะใดเวทนาเป็นโสมนัส ขณะนั้นก็จะมีปีติเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แต่โวฏฐัพพนเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นวิบาก เป็นอเหตุกจิต เรื่องเท่ากันนี้หมายความว่า เมื่อไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงแล้ว ต้องอาศัยเจตสิกอื่นด้วย เฉพาะจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเท่านั้นจริงๆ ที่มีเจตสิกเพียง ๗ แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ยังจะต้องมีวิตกที่จะตรึกถึงถ้าอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร เพราะเหตุว่า เป็นวิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง การสะสมสันดานของจิต ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี คือ เป็นการสืบต่อสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงามซึ่งเป็นอกุศล หรือเป็นสภาพธรรมที่ดีงามซึ่งเป็นกุศลก็ตาม ซึ่งสภาพธรรมที่ดีงาม หรือสภาพธรรมที่ไม่ดีงามก็เกิดขึ้นพร้อมกับชวนวิถีจิต ซึ่งทำกิจหรือทำหน้าที่เสพหรือเสวยอารมณ์ ชวนวิถีจิตนี้ก็เกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ แล้วก็ทำการสะสมหรือสั่งสมสันดานในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ๗ ขณะ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับชวนวิถีจิตนั้น ก็สะสมสืบต่อถ่ายทอดจากชวนจิตดวงที่เกิดก่อนแล้วดับไป สู่ชวนจิตดวงที่เกิดต่อ คือ ดวงที่เกิดทีหลังที่เกิดต่อ เป็นอย่างนี้ ๗ ขณะ แต่ว่าชวนจิตดวงที่ ๗ จะไม่ส่งให้จิตที่เกิดต่อ เพราะเหตุว่าชวนดวงที่ ๗ จิตดวงที่เกิดขึ้นก่อนแล้วดับไป ก็จะถ่ายทอดหรือสืบต่อสิ่งสะสมให้กับชวนจิตดวงที่เกิดทีหลัง อันนี้ก็เป็นการสรุปโดยย่อๆ และสั้นที่สุด เกี่ยวกับการสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ไม่ทราบว่าข้อสรุปนี้จะมีอะไรที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยแนะนำเพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ รายการนี้ก็เป็นรายการทบทวน เพราะว่าผู้ฟังจะได้ไม่ต้องท่อง และในขณะเดียวกันก็มีความเข้าใจลักษณะสภาพของจิตใจของตนเองจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงเรื่องของจิต เรามักจะไม่ค่อยพิจารณาสภาพจิตใจของเรา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงความละเอียดของจิต เพื่อที่จะให้เราหันกลับมารู้จักสภาพที่แท้จริงซึ่งเป็นจิตใจของเรา โดยให้ระลึกรู้ลักษณะของจิต

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าเพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของจิตก็เป็นเรื่องที่เหมือนเรียนเรื่องชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ล้วนเป็นสภาพของจิตที่เรากำลังกล่าวถึงว่า มีจิตหลายประเภท.แล้วก็จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว จิตเกิดแล้วก็ทำหน้าที่เฉพาะของตน แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหน แล้วก็ดับไป

    ในวันหนึ่งๆ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดง ตั้งแต่เริ่ม ตอนเกิดก็ผ่านไปแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินว่า ก่อนที่จะเห็น ก่อนที่จะได้ยิน จะต้องมีจิตอะไรเกิดก่อน ที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ภวังคจิต แล้วเมื่อมีอารมณ์มากระทบ วิถีจิตก็เริ่มเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้อารมณ์นั้น แล้วเมื่อวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นสืบต่อกันดับไปหมด ก็เป็นภวังคจิตอีก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตในขณะนี้เอง ซึ่งพร้อมที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำหรับเรื่องของวิถีจิตก็มีไม่มากเลย เพราะเหตุว่าก็มีวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียง ๖ ทางเท่านั้น แล้วก็เกิดซ้ำพอที่จะให้เห็นแล้วเข้าใจความจริงได้ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเป็นอนัตตา ให้เห็นว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เมื่อเป็นอนัตตาก็จะต้องเป็นธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อ ทำกิจการงานสืบต่อกันด้วย ทางตาก็จะต้องเริ่มตั้งแต่อดีตภวังค์ คือ เมื่ออารมณ์กระทบภวังค์ ยังไม่เห็น และก็ยังไม่ใช่วิถีจิต แล้วก็เมื่ออดีตภวังค์ดับไปแล้ว ภวังคจิตขณะต่อไปก็ยังไม่ใช่วิถีจิต แต่ว่าไหวตามอารมณ์ที่กระทบ ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคจลนะ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์เกิดอีก ๑ ขณะ สิ้นสุดกระแสของภวังค์ เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นภวังค์ๆ อยู่ จะให้รู้อารมณ์ทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีอดีตภวังค์ ซึ่งถูกอารมณ์กระทบดับไป ภวังคจลนะไหวตามอารมณ์นั้นดับไป ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายดับไป ต่อจากนั้นจิตจึงจะเริ่มรู้อารมณ์ใหม่ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จิตซึ่งไม่รู้อารมณ์ของภวังค์เป็นวิถีจิตทั้งหมด

    ผู้ฟัง ผมอยากจะพูดเรื่องพยัญชนะ ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ถ้าแปลเป็นภาษาไทย เราทั่วๆ ไปก็คือ จิตเราจะสั่งสมสันดานของตนก็ในขณะที่เป็นชวนะ ถูกหรือไม่

    สมพร เพราะว่าบุญ และบาปเกิดที่ชวนะ เมื่อบุญเกิดขึ้นเราก็สั่งสมเอาไว้ หรือความดีที่ปรากฏก็คือกุศลเกิดที่ชวนะ ความชั่วก็เช่นเดียวกัน เมื่อความดีปรากฏที่ชวนะ ความชั่วปรากฏที่ชวนะ ท่านจึงกล่าวว่า สั่งสมด้วยชวนะนั่นเอง เป็นเครื่องสั่งสมสืบต่อ

    ผู้ฟัง ไม่มีภาษาท้องถิ่นที่ดีกว่านี้

    ท่านอาจารย์ คงจะได้เหมือนกัน ถ้าสงเคราะห์กันได้ เพราะว่าจิตอื่นไม่สามารถ เฉพาะชวนวิถีจิตซึ่งเป็นกุศล และอกุศลเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างคนที่อ่านมาแล้วมากมายก็คงไม่สงสัยอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตอื่นก็เป็นวิบากจิต จะสั่งสมก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิบากจิต เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพราะกรรม มีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดขึ้นรับผลก็เกิดขึ้นรับผล เมื่อรับผลคือเป็นวิบากจิต แล้วก็ดับ ไม่สามารถที่จะทำอะไรต่อไปได้

    ผู้ฟัง จิตเกิดขึ้น ๗ ขณะในชวนวิถี แล้วสั่งสมสันดาน ทีนี้คนใกล้ตายจิตเกิด ๕ ขณะ ชวนจิตจะเกิด ๕ ขณะ แล้วทีนี้ ๕ ขณะ เขาจะสั่งสมอะไร ในเมื่อเขาก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว จะสั่งสมอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วถ้าพูดถึงชวนวิถี หมายความถึงขณะที่จิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จึงทำชวนวิถี คือต้องทราบเรื่องชาติของจิตก่อน ว่าจิตมีกี่ชาติ แล้วต่อไปก็ทราบว่า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจ ซึ่งจะต้องทำกิจ จิตซึ่งเกิดขึ้นไม่ทำกิจการงานไม่มีเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่อกุศลจิตก็ทำกิจ กุศลจิตก็ทำกิจ วิบากจิตก็ทำกิจ กิริยาจิตก็ทำกิจ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า จิตไหนทำกิจอะไร กุศลจิต และอกุศลจิตทำชวนกิจ ถ้าเป็นภาษาไทยก็แปลว่าแล่นไปโดยเร็ว หมายความว่าไม่ต้องมาทำกิจสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ อะไรอีกแล้ว ถึงเวลาที่จะเป็นกุศล และอกุศลก็เกิดขึ้น ชอบ ไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือเป็นกุศลจิตก็ได้ เวลานี้ที่กำลังเห็น เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้ เวลาที่ได้ยินก็เหมือนกัน เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้

    ขณะที่เป็นกุศลอกุศลนั้น จิตทำชวนกิจไม่ใช่ทำทัศนะ สวนะ หรือว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนกิจเลย แต่ทำชวนกิจ คือ แล่นไปด้วยความเป็นกุศลหรืออกุศลในอารมณ์ที่ปรากฏ เมื่อเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลแล้วก็สั่งสมสันดาน ไม่ว่าจะเป็นกี่ขณะก็ตาม

    ผู้ฟัง ในจิตทุกๆ ดวงที่เกิดขึ้นจะต้องประกอบด้วยเวทนาเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ แล้วก็ชวนจิตก็เป็นจิตที่เสพอารมณ์ หรือเสวยอารมณ์เหมือนกัน ทีนี้ก็เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจิตจึงไม่สามารถจะเป็นชวนจิตได้ทุกดวง ทั้งๆ ที่จิตแต่ละดวงก็ต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาที่เสวยอารมณ์ เพราะฉะนั้น การเสวยอารมณ์ของเวทนาเจตสิกจะต่างหรือเหมือน หรือแตกต่างอย่างไรกับการเสวยอารมณ์ของชวนวิถีจิต

    สมพร คำว่า “จิต” มันก็ต้องมีเวทนาเสมอ แต่ว่าเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเกิดที่ไหน จิตนั้นเป็นวิบาก ก็ไม่ใช่ชวนจิต หรือจิตเป็นกิริยา ๒ ดวง ไม่ใช่มหากิริยา ก็ไม่ใช่ชวนจิต ถ้าจิตเกิดในชวนะ ๕ ดวงนั้น เวทนามันก็ต้องเกิด เวทนาต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าเวทนาอะไร เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ทีนี้เวทนาที่เกิดใน ชวนจิต ถ้าปุถุชนก็มีเวทนาที่เป็นโทมนัสเวทนา ถ้าเป็นกุศลก็เป็นโสมนัสเวทนา เพราะว่าสุขเวทนานั้นเกิดทางกาย เป็นวิบาก ทุกขเวทนาเกิดทางกาย เป็นวิบาก กุศลหรืออกุศลนั้นเกิดทางใจ เรียกว่าโสมนัสหรือโทมนัส ดังนั้นในชวนะต้องมีโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา เพียง ๓ อย่าง ไม่มีสุขเวทนา ไม่มีทุกขเวทนา

    ผู้ฟัง สุขเวทนา ทุกขเวทนาเกิดกับวิบากจิต ซึ่งสืบสันดานไม่ได้

    ผู้ฟัง สมมติว่าเรามองเห็นรูป ต้องมีเฉยๆ อยู่ก่อน แล้วต่อจากนั้นจึงจะเป็นกุศลหรืออกุศล หรือสุขหรือ ทุกข์ อันนี้จะเป็นได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนะซึ่งเป็นกิริยาจิต ก็เป็นอุเบกขา แล้วจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เป็นอุเบกขา สัมปฏิจฉันนะเป็นอุเบกขา สันตีรณะเป็นอุเบกขา โวฏฐัพพนะเป็นอุเบกขา ก็ต้องเป็นสภาพของจิตซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ

    ผู้ฟัง ต่อจากนั้นถ้าพิจารณาซ้ำไปอีก จิตนั้นจะถึงจะเป็นสุข เป็นกุศล ถึงจะเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดภายหลัง ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง ครั้งแรกจะต้องเป็นเฉยๆ ก่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าทวารไหน

    ผู้ฟัง ตามองเห็นอะไร อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็น ๔ ทวารก็เป็นอุเบกขา

    ผู้ฟัง ผมเคยพิจารณาธรรมอยู่ สติปัฏฐาน ๔ จะเป็นกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี เมื่อมีสติแล้ว ธรรม ๔ อย่างนี้ ผมว่าจะไม่แยกออกจากกัน จะถูกหรือผิด คือสมมติว่า เรามีสติทางรูป จิตก็ต้องเกิดขึ้น เวทนาก็ต้องเกิดขึ้น ธรรมก็ต้องเกิด คือ ธรรม ๔ เหล่าแล้ว แต่ว่าผู้มีสติขณะกำลังเจริญสตินั้นจะมีอะไรเป็นอธิบดี แต่ว่าสมมติว่ามีธรรมเป็นธรรม คือเรื่องราว สังขารที่เราปรุงแต่ง เกิดขึ้นแก่จิต ก็ต้องมีจิต มีเวทนา มีกายด้วย อันนี้จะถูกผิดประการใด

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นเรื่องชื่อหมายความว่า เรามาคิดถึงกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา หรือ ธัมมานุปัสสนา แต่ถ้าสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏแล้วก็จะพ้นจาก ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ สติระลึกได้ แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องชื่อ

    ผู้ฟัง ผมติดใจอยู่เกี่ยวกับจิตที่สั่งสมสันดาน ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตของพระอรหันต์ กุศลจิต อกุศลจิตสั่งสมสันดานนี้ก็พอจะเข้าใจได้ แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์นี้ พระอรหันต์ท่านละบุญละบาปได้แล้ว กิริยาจิตของท่านจะสั่งสมอะไร

    สมพร ตอนนี้ท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าอรหัตมรรค อรหัตผลไม่มีการสั่งสม แต่ว่าก่อนนั้น ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์ก็เคยสะสมเอาไว้ แต่พอเป็นพระอรหันต์แล้ว นิสัยอย่างนั้นยังติดอยู่ ก็เหมือนพระเถระองค์หนึ่งซึ่งเคยเกิดเป็นพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติ ยังเป็นปุถุชนอยู่ มักจะกล่าวคำว่า ไอ้ถ่อยๆ แต่พอท่านมาเป็นพระอรหันต์แล้วความสั่งสมซึ่งยังเคยเป็นก็มาปรากฏอยู่ แม้ท่านมีแต่กิริยาจิต อกุศลท่านก็ไม่มี กุศลท่านก็ไม่มี การสั่งสมที่เก็บไว้ยังมีอยู่ ท่านก็ยังพูดว่าไอ้ถ่อย เห็นใครก็ไอ้ถ่อย แต่จิตของท่านไม่ได้เป็นไปที่คำพูด นี่เป็นการสั่งสมส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ลึกซึ้งอาจจะมีอีกก็ได้

    ผู้ฟัง ที่จะเป็นการสั่งสม เพื่อจะให้ผล เป็นวิบากในชาติต่อไปก็ไม่มีแล้ว

    สมพร ไม่มีแล้ว

    ผู้ฟัง ลักษณะของมหากิริยา ที่ว่าสั่งสมสันดานของตนนั้นสั่งสมอะไร

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ท่านคิดเหมือนกันหมดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน แล้วในพระสูตรหนึ่งคงจำได้ ที่ว่าพระเถระทั้งหลายท่านจงกรมกันเป็นกลุ่มๆ อย่างผู้ที่มีปัญญา ก็จงกรมกับท่านพระสารีบุตร แล้วก็ผู้ที่สามารถในทางฤทธิ์ก็เดินจงกรมกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านที่สรรเสริญธุดงค์ก็เดินจงกรมกับท่านพระมหากัสสัปปะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าเป็นพระอรหันต์ชวนจิตที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา มิฉะนั้นท่านก็ต้องเหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นเกี่ยวกับอัธยาศัยที่สะสมมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความคิดของเราครั้งหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดอย่างนี้อีก อย่างบางคนที่ชอบเรื่องทาน เวลาที่เกิดกุศลจิตเป็นไปในเรื่องทานประเภทใด ก็มักจะคิดที่จะทำทานอย่างนั้น อย่างท่านผู้หนึ่งท่านก็ทอดกฐินเป็นประจำ ท่านก็คิดเรื่องกฐินทุกปี แต่คนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องกฐินก็จะสนใจในเรื่องของการช่วยเหลือเด็กที่ขาดอาหาร หรือว่าโรงพยาบาลต่างๆ เขาจะคิดเป็นไปอย่างนั้น ชวนะแต่ละวิถีหรือวาระหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นก็สะสมจริงๆ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดคิดเป็นไปต่างๆ แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็คิดไม่เหมือนกัน ในวันหนึ่งๆ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านมหากัสสัปปะท่านก็ต่างคนต่างคิด ตามชวนะที่ท่านได้สะสมมา ทุกครั้งที่ชวนจิตเกิดขึ้นก็จะเป็นปัจจัยให้สะสม แล้วก็คิดไปตามการสะสมนั้นๆ

    ผู้ฟัง จากคำถามของคุณนิภัทรต่อเนื่องมา เรื่องนี้ก็เคยสงสัยว่า พระอรหันต์ท่านมีมหากิริยาจิตเท่านั้น จะสั่งสมต่อไปหรือ ซึ่งความจริงไม่ได้สั่งสมต่อไป แต่ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ก็ชัดเจนว่า ในขณะที่ชวนจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นความคิดของพระอรหันต์ก็ยังมีอยู่ก็คิดไปต่างๆ นานา จากอดีตของท่านแต่ละบุคคลซึ่งสั่งสมมาในทางต่างๆ เช่น ผู้มีฤทธิ์ก็ดี หรือธุดงค์ก็ดี เหล่านี้เป็นต้น ก็แสดงว่า ต้องเอาของอดีตมาเกี่ยวข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาเป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว แต่ทำไมท่านยังต่างกัน กว่าจะปรินิพพานก็ต่างกันไป พฤติกรรมของแต่ละท่านก็ต่างกัน อย่างบางท่านก็สันโดษ ไปอยู่ในป่า ไม่มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย ซึ่งก็ต่างกับท่านพระอานนท์หรือท่าน ตอนนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็จริง

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่เป็นมหากิริยาของท่าน เมื่อชวนะของท่านเกิดขึ้นก็หมายความว่า ความคิด ความคิดนั้นคือต้องอาศัยอดีตมาบวกกันด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยน หมายความว่าแต่ละวาระที่เกิดก็สั่งสมๆ ไป แต่ว่าไม่ใช่สั่งสมเพื่อที่จะให้เกิดวิบาก เหมือนอย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    ผู้ฟัง ไม่ได้สั่งสมเพื่อที่จะให้เกิดวิบาก

    ผู้ฟัง ขอเจริญพรโยมอาจารย์ คือ อาตมามีความเข้าใจว่า จิตนี้คงจะสั่งสมตลอดไป สิ่งที่สั่งสมจะหาอะไรมาเก็บไว้คงไม่ได้ แต่ว่าเมื่อไหร่จิตจะหยุดการสั่งสม เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น หรือเมื่อบุคคลได้ปรินิพพานไปแล้ว

    สมพร จิตที่ไม่สั่งสมมันก็มีต่างหาก เช่น โลกุตตรจิต หรือมหคตจิต ที่ได้กล่าวไว้ โลกุตตรจิต มหคตจิตไม่มีการสั่งสม หรือว่าเมื่อยังเกิดอยู่ตราบใด มีจิตอยู่ตราบใด ถ้ายังเป็นกามชวนะอยู่ ส่วนมากก็มีการสั่งสมเสมอในชวนะ ในวิถี เฉพาะในวิถี เพราะจิตไม่ได้อยู่นิ่งอยู่เฉยๆ ดวงเดียว แต่โลกุตตรจิตเกิดขึ้นเพื่อทำลายวัฏฏะ ไม่มีการสั่งสมอะไรเลย ประหารสิ่งที่ควรประหารเท่านั้น ไม่มีการสั่งสม ก็นิพพานเลย แล้วจิตบางอย่างไม่มีการสั่งสมก็มี

    ผู้ฟัง จิตเมื่อไหร่จะหยุดการสั่งสม

    ท่านอาจารย์ จิตที่สะสม ขณะไหนบ้าง คือ ไม่ใช่วิบากจิต นี่แน่นอน แล้วก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตที่สั่งสม แต่ความละเอียดก็ยังแยกออกไปอีกว่า ในกุศลจิตนั้น ที่เป็นโลกุตตระไม่สั่งสม เพราะเหตุว่าโสดาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต อรหัตมรรคจิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท กิเลสใดที่ดับแล้วก็ไม่ต้องมีการมาดับซ้ำ เพราะฉะนั้น สำหรับโลกุตตรกุศลจิต คือ มรรคจิต ๔ ก็ไม่สั่งสม และสำหรับวิบากจิตนั้นแน่นอนว่าไม่มีการสะสม สำหรับกิริยาจิตที่เราเห็นชีวิตประจำวัน พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต แต่ท่านมีกิริยาจิต มีการเดิน การยืน การนั่ง การคิด การกระทำกิจต่างๆ ตามการสั่งสมของแต่ละท่านว่าท่านสะสมมาอย่างไร คือ ขณะที่ชวนวิถีจิตเกิด ถ้ายกเว้นโลกุตตรกุศลก่อนก็สั่งสม นี่ก็คงจะสรุปได้

    ผู้ฟัง แต่สักครู่นี้ปัญหาของพระคุณเจ้าที่ว่า เมื่อไหร่จิตจึงจะหยุดการสั่งสม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่ใช่ชวนจิต แล้วก็เว้นจิตที่กล่าวถึงแล้วพวกนี้ เพราะว่าท่านยังไม่ปรินิพพาน ถ้าปรินิพพานแล้วก็ไม่มีจิตเกิดอีก

    ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า อเสวนปัจจัย

    สมพร อเสวนะ แปลตามตัวก็แปลว่า เสพ คือ ซ้ำไปอีกที อย่างชวนะดวงที่ ๑ ยังไม่ได้อเสวนปัจจัย เพราะเกิดดวงแรก พอเกิดอีกครั้ง ครั้งที่ ๒ ก็เสพ ซ้ำลงไปอีกที๑ จนกระทั่ง ๗ ครั้ง อเสวน คือการเสพซ้ำๆ นั่นเอง

    ผู้ฟัง อเสวนก็คือการเสพอารมณ์ ใช่ไหม

    สมพร เสพซ้ำไปอีก

    ผู้ฟัง ธรรมที่ทำหน้าที่อเสวนปัจจัย คือ ธรรมที่ช่วยอุปการะโดยการเสพอารมณ์บ่อยๆ ก็ได้แก่ชวนวิถีจิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ