ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
ตอนที่ ๑๔๓
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ผู้ฟัง ธรรมที่ทำหน้าที่อาเสวนปัจจัย คือธรรมที่ช่วยอุปการะโดยการเสพอารมณ์บ่อยๆ ก็ได้แก่ชวนวิถีจิต ซึ่งได้พูดถึงชวนวิถีจิตไปแล้ว หมายถึงว่าชวนจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นเป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนจิตดวงที่ ๒ ชวนจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นเป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนจิตดวงที่ ๓ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนถึงชวนจิตดวงที่ ๗ ก็จะไม่เป็นอาเสวนปัจจัยให้กับจิตที่เกิดต่อจากชวนจิตดวงที่ ๗
ทำไมชวนจิตดวงที่ ๗ จึงไม่เป็นอาเสวนปัจจัย
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเข้าใจสืบเนื่องต่อกันหรือยัง ที่เรากำลังพูดถึงเรื่องวาระหนึ่งๆ ของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีชวนวิถี คือ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากปัญจทวาราวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฆฐัพพนจิตแล้วก็ ต้องเป็นชวนจิต คำนี้บางคนงง มาอีกแล้ว ไม่เคยได้ยิน ชวนจิต ได้ยินแต่โลภมูลจิต โทสมูลจิต แต่ให้ทราบว่า ชวนจิตก็คือกุศลจิต และอกุศลจิตนั่นเอง โดยชาติ แต่ว่าทำกิจชวนะ เพราะว่าทำกิจแล่นไปในอารมณ์ พูดอย่างคำแปล แต่หมายความว่า พอเห็นแล้ว รู้แล้ว ก็เกิดความชอบ ไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่รู้ที่นี่ไม่ได้หมายความว่ารู้เรื่อง เพียงแต่ว่าไม่ต้องมีการรับ หรือการพิจารณา หรือการที่จะต้องเป็นโวฏฐัพพนจิตอีกแล้ว ทำกิจหมดแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นชวนะ
ให้ทราบว่าชวนจิตเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เป็นปัจจัยพิเศษ ไม่เหมือนปัจจัยอื่นๆ อย่างปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ อันนี้เป็นโดยอนันตรปัจจัย หมายความว่า จิตซึ่งดับไปจะต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิด แล้วจิตนั้นดับไปก็ต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิดสืบต่อไป ไม่มีระหว่างคั่น จึงชื่อว่า อนันตรปัจจัย โดยศัพท์อาจารย์ช่วยกรุณาแปล
อ. สมพร อนันตร แปลว่าไม่มีระหว่างคั่น
ท่านอาจารย์ หมายความว่าที่กำลังเกิด ไม่มีอะไรที่ว่างไปจากจิตเลย ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่มีจิตหายไปเลย แล้วสืบมาจากแสนโกฏิกัปป์ จิตเกิดขึ้นทำงานติดต่อสืบกันอย่างนี้ เห็นชาติก่อนกับชาตินี้ตามวัย ไม่ห่างกันเลย ก็ต้องเห็นอีก หรือถ้าจะตายขณะนี้ อีกไม่กี่ขณะ ก็มีการเห็นเหมือนกันอย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยสำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกซึ่งเกิด และดับ แต่พอถึงอาเสวนปัจจัย จำกัดเฉพาะชวนวิถีจิต คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้น อันนี้ก็คงจะต้องแยกละเอียดทีหลัง แต่ให้ทราบคร่าวๆ ว่า สำหรับจิตซึ่งเกิดซ้ำติดต่อโดยชาติเดียวกันต้องเป็นชาติเดียวกันด้วย ๗ ขณะ ขณะแรก คือ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่ทำชวนกิจเป็นโลภมูลจิตในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ มีความยินดี มีความพอใจเกิดขึ้นในอารมณ์นั้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นโลภมูลจิตซ้ำอีก ประเภทเดียวกันอีก ในอารมณ์นั้น ต้องเป็นจิตชาติเดียวกัน ประเภทเดียวกันด้วย เมื่อโลภมูลจิตขณะที่ ๒ ดับไป โดยที่มีความพอใจในอารมณ์ที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้น มีความพอใจเหมือนอย่างนั้น คือ เหมือนกับชวนะดวงที่ ๑ ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๖ ดวงที่ ๖ เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นชอบในอารมณ์นั้นอย่างเดียวกัน แล้วก็ดับ แต่ว่าเมื่อจิตต่อจากนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตอีกต่อไป เพราะเหตุว่าโลภมูลจิตจะเกิดเพียง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตขณะที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอาเสวนปัจจัยแล้ว จิตขณะต่อไปต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน แล้วก็เป็นชาติเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกันโดยทำกิจชวนะ เหมือนกันด้วย อันนี้ก็คงจะเข้าใจความหมายของอาเสวนปัจจัย
ผู้ฟัง คำว่า ตทาลัมพนะ กับ ตทารัมมณะ ช่วยอธิบาย ๒ คำนี้ให้ด้วย
อ. สมพร ตทาลัมพนะ ก็มาจาก ตํ อารมฺมณํ ตํ ก็หมายความว่าเป็นสรรพนาม คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในชวนะดับไปแล้ว ตทาลัมพนะหมายความว่าจิตเป็นวิบาก มีอารมณ์เช่นเดียวกัน มีอารมณ์นั้น พูดง่ายๆ อารมณ์นั้น อารมณ์ที่เป็นชวนะนั้น
ผู้ฟัง ตทารัมมณะ อันนั้นตัวเดียวกัน ใช่ไหม
อ. สมพร กับตทาลัมพนะ ตทารัมมณะ ภาษาไทยเป็นอย่างเดียวกัน
ผู้ฟัง รัมมณะ นั้นเขียน รัมมณะ
อ. สมพร ภาษาบาลีก็อารัมมณะ อาลัมพนะ ก็เหมือนกัน ภาษาบาลีใช้ ๒ อย่างแต่ภาษาไทยใช้อย่างเดียว แปลว่าอารมณ์
ท่านอาจารย์ ธรรมดาเวลาที่อารมณ์ไม่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตเป็นภวังค์ ต้องเป็นภวังค์แน่นอน เพราะว่ายังไม่ตาย หลังจากปฏิสนธิแล้วต้องเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น เวลาที่อารมณ์มากระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าจิตรู้อารมณ์ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ซึ่งเป็นวิถีจิต ซึ่งจะต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิด แล้วถ้าเป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ธรรมดาถ้ารับอารมณ์เสร็จแล้ว จิตก็ต้องเป็นภวังค์เสมอไป คั่นระหว่างอารมณ์หนึ่งกับอีกอารมณ์หนึ่ง แต่เมื่ออารมณ์นั้นทั้งๆ ที่กระทบกับอดีตภวังค์ดับไป ภวังคจลนะดับไป ภวังคุปัจเฉทะดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณพวกนี้ดับไปแล้ว สัมปฏิฉันนจิตดับไป สันตีรณจิตดับไป โวฏฐัพพนจิตดับไป ชวนะ ๗ ขณะซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามแต่ดับไป อารมณ์ยังไม่ดับ ซึ่งถ้าดับ จิตต้องเป็นภวังค์ เพราะว่าไม่มีอารมณ์ใหม่ที่ยังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นภวังคจิตสืบต่อไว้ แต่เพราะเหตุว่าอารมณ์ยังอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นซึ่งยังไม่ดับต่อจากชวนจิต
ผู้ฟัง หมายความว่า หลังจากชวนจิตดับไปแล้ว ก็จะมีปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ อารมณ์ยังไม่ดับ ถ้าอารมณ์ดับก็ต้องเป็นภวังค์ แต่เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิต ซึ่งต้องเป็นกามาวจรจิต กามาวจรวิบากเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ นี่พูดถึงทางปัญจทวาร
ผู้ฟัง กามวิบาก หมายความว่าจะต้องทางกามอารมณ์ หรือกามวิถีเท่านั้น ถ้าไมใช่กามอารมณ์หรือกามวิถี ตทาลัมพนะก็
ท่านอาจารย์ ถ้าอารมณ์ดับ ก็หมดปัญหา ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุว่าอารมณ์นั้นดับ แต่เพราะอารมณ์ยังไม่ดับ
ผู้ฟัง อันนี้เป็นเรื่องของเหตุ และผล ถ้าเผื่อสมมติว่าเฉพาะกามอารมณ์ในกามบุคคล และกามวิถีเท่านั้นที่จะมีตทาลัมพนะ คำถามต่อไปก็คือว่า ตทาลัมพนะจะไม่เกิดในวิถีที่ไม่ใช่กาม คือ อย่างโลกุตตรวิถี
ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่มี เฉพาะรูปที่ยังไม่ดับ
ผู้ฟัง คำถามก็ต่อไปอีกว่า เมื่อเป็นกามวิถี ก็คือว่าเขาพอใจ พอใจในรูป จึงไม่ยอมทิ้งรูป
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของวิบาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร เอาชื่อออกหมด แต่ถ้ารูปนั้นยังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้กามาวจรวิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่มีความสำคัญอะไร เพียงแต่ว่าเป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับต่อจากชวนะเพียง ๒ ขณะเอง และต่อจากนั้นเมื่ออารมณ์ดับก็เป็นภวังคจิตต่อไป
ผู้ฟัง ทีนี้พอรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ ทำไมเขาถึงเกิด ๒ ในเมื่อคนอื่นเกิด ๑, ๑, ๑ แล้วก็มาอันนี้ ๗ แล้วมาเป็น ๒
ท่านอาจารย์ ก็ต้องนับอารมณ์ว่าเหลืออีกกี่ขณะ เมื่ออารมณ์เหลือ ๒ ขณะ ตทาลัมพนะก็ ๒ ขณะ
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อมีอารมณ์มากกว่านั้น
ท่านอาจารย์ มีอารมณ์มากกว่านั้นไม่ได้ เกิน ๑๗ ขณะไม่ได้
ผู้ฟัง ๑๗ ขณะ บังคับอยู่
ผู้ฟัง ผมสงสัยว่าที่ว่า ๑๗ ขณะนี้ ถ้าจะถามว่าจริงๆ รู้โดยปรมัตถ์หรือเปล่า หรือว่าสามารถรู้โดยผัสสะทางอื่น
ท่านอาจารย์ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ มีการใส่ชื่อไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งเลย ที่ไม่ต้องมานั่งนับว่าจักขุวิญญาณ ๑ ขณะ หรือว่าชวนะกี่ขณะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่า เราไม่ต้องไปสนใจมัน ว่าจะเกิดตอนไหนดับตอนไหน
ท่านอาจารย์ ขอให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ สภาพรู้ ต่างกับ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริงทั้ง ๖ ทาง ไม่ต้องสนใจในเรื่องอื่น เรื่องชื่อเรื่องอะไรเลย การที่เราฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องประกอบ หรือว่าเป็นสังขารขันธ์ที่จะให้มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขั้นของการฟังเข้าใจ แต่ว่าในขณะที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะต้องมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนั้นจะไม่มีชื่อเลย แต่ขณะนี้กำลังพูดเรื่องชื่อต่างๆ ของสภาพธรรม
สภาพธรรมจริงๆ ไม่มีชื่อ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดขึ้นทำกิจการงานนั้นๆ เช่น สติ เราพูดบ่อย เหมือนกับรู้จักสติ แต่ว่าแม้แต่สติขั้นปริยัติที่จะแยกออกจากสมาธิ บางคนก็อาจจะไม่ได้สนใจเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติ หรือถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ได้
ที่เราใช้คำว่า สติ เพื่อที่ให้เข้าใจลักษณะที่เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาธรรมที่ปรากฏ แล้วจะรู้ลักษณะของสติก็ต่อเมื่อสติเกิดแล้วระลึกจริงๆ เพราะขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าสติไม่เกิด เราก็ฟังเรื่องของสภาพธรรม
ผู้ฟัง เคยได้ยินอาจารย์บรรยายว่า การเห็นเกิดขึ้นเพราะว่ารูปดับ ๑ ขณะ เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น เราก็มาตั้งคำถามว่า แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร หมายความว่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เราถึงเห็น เราก็ตอบอย่างนั้น เพราะว่ารูปกับนามเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันขาดกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทำให้สงสัยว่าที่ผมพูดนี้ พูดผิดหรือเข้าใจถูกไหม หรือว่าไม่ใช่อย่างนั้น การเห็นเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ การที่จะรู้เรื่องการเกิดดับของจิต ไม่ใช่โดยนั่งคิด ขณะนี้เราฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดง แม้แต่เรื่องอายุของรูป หรือว่าจิตเกิดดับเร็วมากเพียงแค่อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ซึ่งขณะนี้ก็เกิดดับนับไม่ถ้วนแล้ว แต่ว่าการจะรู้จริงๆ ต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาขึ้น แม้แต่คำที่ว่า สภาพธรรมเกิดขึ้น จึงปรากฏ ขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ก็สุดวิสัยที่จะเชื่อ เป็นไปได้อย่างไรที่สีทางตาขณะนี้จะปรากฏแล้วกระทบจักขุปสาท ทางหูก็อาจจะคิดว่า เป็นไปได้ เพราะเหตุว่าเมื่อกี้นี้ไม่มีเสียง แล้วก็มีเสียง แล้วก็ไม่มีเสียง เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าเสียงเกิดกระทบโสตปสาท แล้วก็ดับ แต่ทางอื่น เช่น ทางกายกระทบสัมผัส ก็ดูเหมือนว่าแข็งอยู่นาน
นี่คือปัญญาของผู้ที่ไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรม แต่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วไม่เป็นสอง เพราะว่าเกิดจากการตรัสรู้ ค่อยๆ คิดค่อยๆ พิจารณา แล้วจะรู้ว่าปัญญาต้องเจริญอีกมาก เช่น เวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แข็ง ถ้าแข็งไม่เกิด ขณะนั้นแข็งไม่ปรากฏ แต่เราไม่เคยคิดเลยว่า ขณะที่กระทบสัมผัส แข็งเกิดจึงปรากฏ ดูเสมือนว่ามีแข็งตลอดเวลา แล้วพอกระทบก็ลักษณะที่แข็งก็ปรากฏ แต่ที่แข็งจะปรากฏได้เพราะแข็งนั้นเกิด แล้วกระทบกายปสาทซึ่งต้องเกิดด้วย แล้วยังไม่ดับไปด้วย
นี่คือโลกตามความเป็นจริง คือ ทีละขณะจิต แต่ว่าเวลาที่เราคิดถึงเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นวัด เป็นศาลาพวกนี้ใหญ่โตมาก เพราะฉะนั้น กระดานดำทั้งแผ่นก็ยังเหมือนกับแข็งที่แข็งอยู่นาน แต่ย่อลงมาเหลือขณะจิตเดียวแล้ว ให้รู้ว่าสภาพธรรมที่จะเกิดปรากฏได้นั้น ต้องมีเหตุมีปัจจัยเกิดแล้ว ปรากฏ แล้วดับด้วยอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมปัญญาจริงๆ ไม่มีตัว ไม่มีกระดาน มีสภาพที่กำลังรู้แข็ง เมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นลักษณะของนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น คือ ไม่มีเราในขณะนั้น ปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ก็จะรู้ว่า แข็งที่กำลังปรากฏซึ่งเราเคยกระทบสัมผัสมาตลอดนั้น แท้จริงแล้วเกิดดับในขณะนั้น
นั่นคือการที่จะพิสูจน์ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นความจริง แล้วก็มีผู้สามารถรู้แจ้งจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่โดยขั้นคิดไปคิดมา แต่โดยการที่จะต้องค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมทีละทาง แล้วแยกออก ไม่ปนกัน แล้วก็ไม่ยึดโยงไว้ด้วย เพราะเหตุว่าถ้ายึดโยงอยู่ ก็ยังเป็นเรา แข็งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเราอยู่นั่นเอง
นี่คือเยื่อใยของอัตตสัญญา แต่ถ้ารู้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทีละขณะ แล้วก็ดับก่อน แล้วจิตขณะต่อไปจึงจะเกิดขึ้นมาได้ ก็จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นจิตมากมายหลายชนิด ทางตาก็ชนิดหนึ่งที่เห็น ทางหูก็ชนิดหนึ่งที่ได้ยิน ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัสก็อีกชนิดหนึ่ง แล้วทางใจที่กำลังคิดนึกก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่ง อีกชนิดหนึ่ง แต่เวลาที่ปรากฏเหมือนกับว่าไม่ดับเลย แล้วก็พร้อมกันด้วย แสดงถึงการเกิดดับที่เร็วมาก เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เห็น พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรม แล้วก็ทรงแสดงโดยละเอียดตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีผู้อื่นสามารถที่จะแสดงได้ แล้วการพิสูจน์คือว่า ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นนามธรรม และรูปธรรมทั้ง ๖ ทาง
ผู้ฟัง เราก็เรียนเรื่องสันตีรณะมาแล้วว่ามี ๓ อันนี้ตัวสันตีรณะก็มาทำหน้าที่ตทาลัมพนะอีกหน้าที่หนึ่ง สำหรับมหาวิบาก ๘ ดวงนั้น เราก็คงตามมาทีหลังว่า คืออะไรบ้าง เราคงจะไม่พูดละเอียดในเรื่องนี้
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงตัวสันตีรณะมาทำหน้าที่ตทาลัมพนะ อันนี้ตอนต้นๆ อาจจะใช้คำนี้กันบ่อยๆ ว่า ปฏิสนธิจิต เป็นวิบากดับไปแล้ว ทำภวังคกิจ คล้ายๆ ว่า เป็นตัวเก่าอะไรอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่า จิตมีมากมายหลายประเภท สุดปัญญาที่ใครจะจำแนกความละเอียดยิบได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงประมวลจิตทั้งหมด แล้วทรงแสดงโดยประเภทต่างๆ โดยกิจ แต่ให้ทราบว่าจิตขณะหนึ่งไม่ใช่มาจากไปเก็บไว้ที่ไหนก่อน แล้วก็มาทำกิจนี้ แต่ละขณะเกิดใหม่ๆ แล้วก็ดับไปเลย แล้วก็เกิดอีกใหม่ๆ แล้วก็ดับไปเลย แต่ละขณะไม่มีซ้ำเก่าไม่ใช่อันเก่าเลย แต่เป็นประเภทเดียวกัน เพราะว่าถ้าจะจำแนกให้กว้างกว่านี้อีก ก็ยากที่จะจำได้ มากมายเหลือเกิน เอาเพียงเท่าที่สมควรที่จะเห็นว่า เมื่อเป็นจิตประเภทเดียวกันนี้แหละ แต่จิตประเภทนี้ทำได้กี่กิจ เช่นจิตนี้ทำปฏิสนธิกิจก็ได้ ทำภวังคกิจก็ได้ ทำตทาลัมพนกิจก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าดวงเก่า หรือว่าดวงนั้นที่เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว กลับมาเกิดอีก แล้วก็มาทำกิจนี้ แต่ให้ทราบว่าขณะที่ทำกิจนี้ คือจิตประเภทเดียวกัน ชนิดเดียวกันกับจิตที่เป็นจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ และภวังคกิจ เพราะว่าได้แก่มหาวิบากจิต ๘ ดวง
ผู้ฟัง แล้วทีนี้เรามามองดูอีกที สันตีรณะ จะมีอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก จะมีอกุศลวิบากอยู่อัน อันนี้เป็นกุศลวิบาก จิต ๑๑ ดวงมีกุศลวิบาก ๑๐ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำไมมันถึงมีกุศลวิบากต้อง ๑๐ แล้วก็อกุศลวิบากมาปน ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไม อกุศลวิบากก็มาทำตทาลัมพนะปนกับกุศลวิบากได้
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเท่าไหร่ๆ แต่ให้ทราบว่า จิตที่ทำสันตีรณะกิจ มี ๓ ดวง ทั่วจักรวาล ไม่ว่าจะภพไหนก็ตาม จิตที่ทำสันตีรณะกิจมี ๓ คือที่เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๑ โสมนัสสันตีรณะ ๑ แล้วที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง คือ อุเบกขาอกุศลวิบากสันตีรณะ ก็แสดงให้เห็นว่าทางฝ่ายอกุศลมี ๑ แต่ทางฝ่ายกุศลมี ๒ เพราะความประณีตของอารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ที่ดีกับอารมณ์ที่ดียิ่ง
เมื่อเป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง คือ อติอิฏฐารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่ทำสันตีรณะเป็นโสมนัส มีโสมนสเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับกิจนี้จึงมีโสมนัสสันตีรณะซึ่งทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ และอุเบกขาสันตีรณะก็พิจารณาอารมณ์ที่ดีที่เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดา ตามประเภทของอารมณ์
เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำตทาลัมพนะกิจ สันตีรณะจิตทำได้ทั้ง ๓ ดวงตามประเภทของอารมณ์
ผู้ฟัง สำหรับตทาลัมพนะก็มีกุศลวิบาก อกุศลวิบากปนอยู่ด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของวิบาก หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ จิตที่รู้อารมณ์เป็นวิบากจิตก็ต้องมีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ มีทั้งที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก
ผู้ฟัง อันนี้ก็คือความแปลกของตทาลัมพนะ ของลักษณะของตทาลัมพนะอีกอันหนึ่ง เขามีแปลกอยู่ ๒ อย่าง ซึ่งสะดุดใจตัวดิฉันเองก็คือว่า ๒ ขณะ คนอื่นนี้ ๑, ๑, ๑ พอถึงชวนะ ๗ แต่พอมาถึงตทาลัมพนะ แทนที่จะ ๑ ก็เป็น ๒ เสร็จแล้วมีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบากทำหน้าที่ปนอยู่ มีกุศลวิบากถึง ๑๐ ดวงอกุศลวิบาก ๑ ดวง
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ใครก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในบางแห่งคุณสุรีย์ค้นคว้าอรรถกถาต่อไป จะมีเกจิอาจารย์ที่ท่านวินิจฉัยกันว่า ตทาลัมพนะจะเกิด ๑ ขณะได้ไหม หรือว่าต้องเกิด ๒ ขณะเสมอไป ถึงแม้ในอรรถกถาของท่านพระพุทธโฆษาจารย์เอง เล่มหนึ่งก็อาจจะเป็นตทาลัมพนะ ๑ ขณะ ส่วนอีกเล่มก็เป็นตทาลัมพนะ ๒ ขณะ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่วิสัยที่เราจะพยายามสักเท่าไรจะไปรู้ตทาลัมพนะว่า ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องตั้งแต่สมัยเกจิอาจารย์อื่นๆ ในยุคโน้นที่ท่านพูดกันมาแล้ว เราก็คงไม่ต้องไปวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะว่ามีอยู่แล้วที่ท่านเคยพูดกันมา และเคยตั้งเป็นคำถามกันไว้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180