ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๗๕

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องทราบว่า เพื่อรู้ความจริงที่เกิดกับตนตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะถูกต้องเท่านั้น จะได้เป็นการละความอยากหรือความต้องการด้วย

    ผู้ฟัง แต่ความจริงแล้วปัญญาเขาเกิด แต่ว่าคนที่จะเกิดหรือไม่เกิด อันนี้แล้วแต่ว่าคนนั้นจะระลึกรู้หรือเปล่า หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ไม่น่าสนใจ คือ เรากำลังเรียนเรื่องของสภาพธรรม เวลานี้สภาพธรรมก็ยังเป็นสภาพธรรมที่ทำกิจการงานอยู่ อย่างในขณะนี้เป็นกุศลจิต กำลังฟังธรรมเป็นกุศลกรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงได้ยิน แต่มีการกระทำความเข้าใจที่ถูกต้องในขณะที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น กำลังฟังธรรมเป็นกุศล ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา นี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องพยายามไปรู้ชื่อก่อน แต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เมื่อได้ยินคำว่า ญาณสัมปยุตต์ ภาษาบาลี แต่ภาษาไทย คือ ขณะใดจิตเกิดพร้อมกับปัญญา คือ ความเห็นถูกต้อง ขณะนั้นเป็นคำที่เราใช้คำว่า ญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ให้ทราบจุดประสงค์จริงๆ ศึกษาชื่อเรื่องราว เพื่อให้รู้สภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่กับตนแต่ละขณะ

    ผู้ฟัง ขณะซึ่งยุงกัด ความจริงเราอยากตบ แต่พอเรารู้สึกว่า โอ นี่ชีวิตเขานะ เราหยุด อันนี้ดิฉันรู้สึกว่า อันนี้สติเกิด นี่รู้สึก แต่ตอนให้ ดิฉันไม่ค่อยระลึกว่าอันนั้นคือสติเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความจริงคืออย่างไร คืออย่างนั้น ขณะที่คุณสุรีย์ไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่สติที่ระลึก ก็ไม่ใช่ คือ เรียนธรรมอย่าไปหวัง อย่าไป คิดบวกลบคูณหาร หรือว่าไปเก็งกำไรข้างหน้าว่า เมื่อเราเรียนแล้วต่อไป เวลาที่เราให้ทาน กุศลญาณสัมปยุตต์จะเกิด หรืออยากให้เกิดมากๆ

    ผู้ฟัง อยากจะทราบ เพื่อจะเป็นในขั้นสุตตมยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขั้นสุตตมยปัญญา คือ ขณะใดที่มีความเห็นถูกต้องในสภาพธรรมขณะนั้นเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ขณะที่อยากจะฟัง อยากจะฟังมากเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อยากจะฟัง แต่ขณะที่มีความเห็นถูกต้อง ต้องไม่ใช่ขณะเดียวกัน

    ผู้ฟัง คนละขณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำกับได้เลยว่า ขณะใดที่มีความเห็นถูกต้องในสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าทางท่านผู้ฟังมานั่งฟังที่นี่พร้อมๆ กันอย่างนี้ด้วยความตั้งใจ อยากจะฟังด้วย ก็ไม่เสมอกันด้วยญาณสัมปยุตต์ และญาณวิปปยุตต์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดตลอด ไม่ใช่ว่ากุศลญาณสัมปยุตต์จะเกิดตลอด ขณะใดที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ถ้าจะศึกษาธรรมก็คือว่า ขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่าที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ธรรม ถ้าแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่ยังไม่ไปถึงขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง พูดถึงรูปกับนาม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของรูปต่างกับลักษณะของนามอย่างไร

    ผู้ฟัง รูปก็คือสิ่งที่กระทบ นามคือความรู้สึกในสิ่งที่กระทบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทางตา ลักษณะของรูป เป็นอย่างไร อะไรคือรูป

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่เห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา และอะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรุงแต่งให้เห็นว่า สิ่งนั้นเป็นอาจารย์ หรือเป็นผม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าต้องแยกว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่กำลังถูกรู้อยู่ จะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ได้ คือสภาพที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย แต่ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะไหนก็เป็นธาตุรู้ นี่คือความต่างกันของธาตุในพระพุทธศาสนากับธาตุทางโลก เพราะเหตุว่าธาตุทางโลกจะไม่จำแนกนามธาตุโดยละเอียดเลย แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ แต่ว่าก่อนที่เราจะจำแนกนามธาตุเป็นประเภทต่างๆ ก็ให้ทราบความต่างกันของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ คือนามธรรมกับรูปธรรม ไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ที่นี่ ที่ไหน หรือว่าไปนอกโลก หรือว่ากี่ภพกี่ชาติมาแล้ว หรือจะเกิดอีก สภาพธรรมที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดคือเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึงจะกล่าวยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงนามธาตุหรือนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ ส่วนรูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้เลย

    เพราะฉะนั้น ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เราต้องสามารถรู้ว่า สภาพใดที่สติเกิดระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เราต้องอาศัยการฟังตามลำดับขั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบเรื่องราวจากพระสูตรตอนหนึ่งหรือตอนนี้ตอนนั้น แล้วก็คิดว่าจะเข้าใจได้ เพราะว่าบางคนอ่านพระสูตรเจอคำว่าขันธ์ ๕ อ่านไปคิดว่าเข้าใจตามนั้น แต่จริงๆ แล้วอย่างที่กล่าวว่าความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติในเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมมี แต่เราใช้ชื่อสับสน เพราะเหตุว่าเราไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ เราเพียงแต่จำชื่อว่า ขันธ์มี ๕ เป็นรูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔ แต่เนื่องจากเราไม่ได้ศึกษาว่า แม้แต่คำว่ารูปขันธ์ ตรัสใช้คำนี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไร คำว่า เวทนาขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมอะไร คำว่า สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ดี

    ถ้าเราศึกษาก่อนตามลำดับ ไม่ใช่ไปปฏิบัติ เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่ มีเราตัวตนที่ปฏิบัติ แต่ว่าตามพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว สติเกิด ปฏิบัติกิจของสติ ปัญญาเกิด ปฏิบัติกิจของปัญญา เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ แต่ละองค์ก็เป็นสภาพของเจตสิก แต่ละประเภทซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยการฟังก่อน ว่าสติมีลักษณะอย่างไร ปัญญารู้อะไร ข้อสำคัญที่สุด ปัญญารู้อะไร ในเมื่อขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ปัญญาจะรู้อย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรู้ลักษณะของนามธรรมถูกต้องว่าเป็นนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรมถูกต้องว่าเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ผมจะคุยลึกลงไปอีก

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ถูกแล้ว ถ้าต่อไปก็ต้องไม่ถูกอีก

    ผู้ฟัง จะคุยถึงการปฏิบัติดีกว่า เพราะว่าไม่

    ท่านอาจารย์ นี่คือการปฏิบัติที่ไม่ตรง เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญาณขันธ์ ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผมปฏิบัติครั้งแรกก็ฝึกอาณาปานสติ คือ ฝึก พุทโธ

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่ต่างกันของสติกับสมาธิไหม

    ผู้ฟัง สติกับสมาธิ สติ ที่เข้าใจ สติคือระลึกได้ในสิ่งที่กระทบอารมณ์กระทบจิต

    ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ส่วนสมาธิก็คือความเป็นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ปฏิบัติ ทำสมาธิ หรือว่าสติเกิด

    ผู้ฟัง ทำทั้ง ๒ อย่าง ครั้งแรกทำเป็นสมาธิก่อน แล้วต่อมาก็เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงว่า ลักษณะของสติกับของสมาธิปนกันหรือแยกกัน

    ผู้ฟัง สติกับสมาธินี้มันจะเกื้อหนุนซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ตรงที่สติระลึกได้ ระลึกรู้ ระลึกเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ปฏิบัติคงจะไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าพระธรรมทรงแสดงไว้ว่าไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่ผัสสะปัฏฐาน แล้วก็ไม่ใช่สมาธิปัฏฐานด้วย แต่ใช่คำว่าสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ต้องรู้ชัดในลักษณะของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติว่า ขณะนั้นไม่ใช่ทำสมาธิ เพราะมิฉะนั้นเราจะไปทำสมาธิแล้วเราไปกล่าวว่า มีสติเกิด ซึ่งขณะนั้นกำลังทำสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของสัมมาสติที่เกิด

    ผู้ฟัง ผมจะแยกให้ออกว่าฝึกสมาธิมาเป็นอย่างไร ตอนแรกผมฝึกอาณาปานสติ ฝึกไปๆ พูดถึงอารมณ์ดีกว่า ไม่ใช่ฝึกแป๊บเดียวได้ เป็นเดือน ครั้งแรกฝึกไปก็เกิดความสงบขึ้นมา แล้วก็ตัวเบา

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น แค่นี้ก็ทราบแล้วว่า ไม่ได้อบรมปัญญา

    ผู้ฟัง ใช่ ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไปทำ ทำไม

    ผู้ฟัง ก็คนเราเดินมาโดยที่ไม่รู้ว่า อะไรคือปัญญา

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าตอนนี้รู้แล้ว ใช่ไหมว่าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ จะทำต่อไปไหม

    ผู้ฟัง สิ่งใดเป็นกุศลควรทำไว้

    ท่านอาจารย์ แต่อาจจะเป็นอกุศลก็ได้ ไม่ใช่กุศล เพราะว่ามีมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถจะแยกได้ว่า อย่างไรเป็นสัมมาสมาธิ อย่างไรเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำมิจฉาสมาธิทุกคน จะแสดงลักษณะของสัมมาสมาธิไม่ได้ แต่ผู้ที่รู้ลักษณะของสัมมาสมาธิจะบอกได้เลยว่า มิจฉาสมาธิต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำแล้วไม่เกิดปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่ภาวนาที่เป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง หรือ ว่าวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็เกิดความสงบที่เป็นกุศลไม่ได้ แต่ว่ามีจิตตั้งมั่นที่เป็นอกุศลได้ ขณะนี้ไม่เกิดปัญญา ทำไปแล้วไม่เกิดปัญญาเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สัมมาสมาธิ และ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ตอนไหนเป็นญาณสัมปยุตต์ ขณะใดจิตเกิดกับความเห็นที่ถูกต้องขณะนั้นเป็นปัญญา หรือว่าเป็นญาณสัมปยุตต์ ผมรู้สึกว่าผมจับประเด็นได้ตรงนี้ ก็เลยถาม การที่จะตัดสินว่าตรงนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง หนีไม่พ้นความเห็นของเรา แล้วทำไมตรงไหน ถูกต้องอยู่ตรงไหน อันนี้ผมไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ถูกต้องตามที่เราคิด แต่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เห็นผิดจากความจริงของสภาพธรรมนั้น อย่างสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้ามีความเห็นถูกต้องว่า นี่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะสภาพธรรมจริงๆ เป็นสัมมาสมาธิ หรือว่านั่นเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ เป็นมิจฉาสมาธิ นั่นคือความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นถูกต้องที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าเราคิดเองว่าถูกต้อง เพราะคนที่คิดเองว่าถูกต้องมีมากมาย ทำผิดแต่คิดว่าถูก แต่ว่าความเห็นถูกจริงๆ ก็คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นจึงจะเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็เป็นประเด็นอีกแล้ว เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงนี้ อย่างคนทั่วๆ ไปอย่างธรรมดา จะรู้ได้อย่างไรว่าตรงนั้นเป็น.สภาพความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครที่จะรู้โดยไม่ศึกษา นี่แน่นอน บางคนก็บอกว่า แต่เช้าตื่นมาเขาไม่มีโลภะเลย โลภะของเขาต้องแรง ต้องมีความตื่นเต้นดีใจ หรือทำอะไรอย่างนั้น เขาคิดว่า คนโลภเป็นคนที่มีโลภะ แต่เขาไม่ทราบว่า เมื่อลืมตาตื่นก็มีโลภะหรืออกุศลจิตแล้วทั้งวัน นี่เขาไม่ทราบ เพราะฉะนั้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่าเห็นถูกต้อง เพราะว่าความจริงสภาพธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างไร เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นจึงจะเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง เรื่องของโลภะที่อาจารย์พูดก็คือ ลักษณะของจิตที่เป็นโลภะ ๘ ลักษณะ เหมือนกัน ที่อาจารย์พูดถึงนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอกุศลจิต ๑๒ ประการ เราจะเห็นว่าชีวิตเราตื่นนอนขึ้นมา โลภะไปเสีย ๘ แล้วโทสะ ๒ แล้วก็โมหะ ๒ เป็น ๑๒ เพราะฉะนั้น ในลักษณะของจิตประเภทนี้ที่อาจารย์พูดนี่ คือลักษณะของความเห็นที่เป็นความเห็น ที่เราคิดว่าเราถูก พิจารณาถูกแล้ว ว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เราคิดนึกเอา ใช่ไหม แล้วธรรมจริงๆ ปรากฏ เช่น เย็นก็ตาม ร้อน อ่อน แข็ง ก็ตาม เราจะระลึกรู้ไม่ได้ หรือว่าเป็นธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ ความเห็นถูก ตั้งแต่ขั้นการฟัง ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แล้วก็เป็นนามธรรมประเภทอกุศล หลังจากที่เห็นแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นโลภะ พวกนี้เราต้องเรียน ต้องรู้ ถึงจะมีการระลึก แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้งได้ แต่ถ้าเราไม่เคยฟังมาก่อนเลย เราก็ไม่สามารถที่จะมีสัมมาสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ปัญหาส่วนตัวของดิฉัน ที่ว่าบางครั้งฟังแล้ว คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ว่าพอมีเพื่อนมาถาม ตอบไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าตังเองยังสงสัยอยู่ ก็เลยทำให้คิดว่า ยังไม่ได้รับอานิสงส์ในข้อนี้ คือ บรรเทาความสงสัย ก็เลยได้เรียนถามท่านวิทยากร เพื่อที่ท่านจะได้กรุณาแนะนำว่า ควรที่จะให้เกิดอานิสงส์ข้อนี้อย่างไร ท่านอาจารย์สมพรมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

    สมพร ข้อที่ ๑ หมายความว่าได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อันนี้ก็คงไม่แปลก เข้าใจได้ง่าย เมื่อเราฟังแล้วปีติเกิด ขณะนั้นปีติเกิด ถีนมิทธะก็ไม่เกิดร่วม เพราะว่ามันอิ่มอกอิ่มใจ หมายความว่าธรรมนี้แปลกจริงๆ เป็นไปได้ อย่างน้อยหลายอย่างที่เราจะคิดไป เรียกว่าปีติเกิด เมื่อปีติเกิดจิตเราก็ผ่องใส เป็นกุศลเหมือนกัน ขณะนั้น ผู้ฟังย่อมได้อานิสงส์ทำให้จิตผ่องใส อย่างพระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ นี่พระอัสสชิกล่าวกับปริพาชก เย ธัมมา เหตุ ปัพพวา ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ผู้ฟังต้องตั้งใจฟัง เมื่อตั้งใจฟังแล้วปีติมันก็เกิด แล้วก็จิตประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแทงตลอดไปมากมาย ขณะนั้นไม่ง่วง เพราะว่าอาศัยจิตที่กำจัดถีนมิทธะ จิตมีกำลัง นี่อานิสงส์ ข้อที่ ๑ เมื่อจิตไม่ง่วง จิตย่อมผ่องใส

    ข้อที่ ๒ สิ่งใดได้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจในสิ่งนั้นชัด เพราะว่าธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง เราฟังแล้วฟังเล่า ไม่เหมือนพระสารีบุตรฟังครั้งเดียวเข้าใจตลอด เราก็ฟังธรรมที่แสดงกับพระสารีบุตรตั้งร้อยครั้งพันครั้ง ต้องฟังอีกเรื่อยไป จนกระทั่งเมื่อเราแทงตลอดเมื่อใดเมื่อนั้นก็เข้าใจชัด ได้ประโยชน์เต็มที่ ฟังครั้งหนึ่งก็ได้ประโยชน์ แต่ว่าประโยชน์ ที่เข้าใจชัดอย่างพระสารีบุตรแทงตลอด เป็นพระอริยบุคคล อันที่ ๒ ต้องได้แน่ แต่ว่าต่างกัน

    ผู้ฟัง อีกประการที่ว่าบรรเทาความสงสัยได้

    สมพร ทุกอย่าง ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม ก็มีความสงสัยร้อยแปดพันประการ แต่ว่าความสงสัยในที่นี้ พระองค์มุ่งถึงว่าเป็นทางปิดกั้นปัญญา ไม่ให้ปัญญาเกิด ไม่ให้เจริญธรรม แต่เมื่อเราฟังแล้ว ไม่เป็นทางปิดกั้น เมื่อไม่เป็นทางปิดกั้น เราก็เจริญกุศลได้ จึงเรียกว่า ข้อที่ ๓ บรรเทาความสงสัย เราต้องฟังแล้วฟังอีก อันนี้จริงหรือเปล่า อันนี้เท็จหรือเปล่า ประกอบด้วยเหตุผล เราก็ไม่สงสัยแล้วเจริญธรรมถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างในปัจจุบันมีสถานีวิทยุหลายๆ สถานีทีเดียวที่เสนอรายการธรรม มีผู้บรรยายธรรมหลายท่าน มีหลายรายการที่แสดงที่เสนอสิ่งที่ ไม่ได้ทำความเห็นให้ตรง เพราะฉะนั้น คงจะมีผู้ฟังรายการเหล่านั้นไม่น้อยทีเดียว ที่เขาได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง จะเกิดได้อย่างไร แล้วก็จะได้รับอานิสงส์ในประการที่ทำความเห็นให้ตรงนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ยาก สำหรับคนที่ไม่ได้สะสมมาที่จะไตร่ตรองธรรม แล้วก็จะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นถูกต้องไหม แต่ว่าผู้ที่มีเหตุผล และเป็นผู้ที่ตรง เมื่อฟังก็ย่อมพิจารณาได้ แต่ว่าแล้วแต่กรรมในอดีต ถ้าเป็นผู้ที่เคยสะสมบุญไว้ในปางก่อน ก็มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ถูก แต่บางคนมีศรัทธามาก อยากจะฟังธรรม แต่ว่าฟังสิ่งซึ่งไม่ใช่ธรรม แล้วมีความเชื่อ เพราะเหตุว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังสิ่งที่ถูกต้องมาก่อน เพราะฉะนั้น บางคนก็บอกว่าเขาฟังธรรมมาตั้ง ๒๐ ปี แต่ว่าไม่เคยพบพระธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น สายเกินไปหรือทำไมเขาถึงได้ช้าเกินไปที่จะได้พบได้ฟังธรรม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแล้วแต่บุญกรรม ซึ่งทุกคนก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ตอนที่ทุกคนเป็นเด็กก็คงไม่คิดหรอกว่าจะมานั่งทีนี่ แล้วก็จะมาฟังพระอภิธรรมด้วย หรือว่าฟังธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะว่าบางคนพอสนทนาด้วยก็บอกว่า เขารู้แล้ว ฟังธรรมมาตั้งหลายปีแล้ว อ่านหนังสือมามากมายแล้ว แต่ว่าสิ่งที่พูดแสดงถึงความสับสน แล้วก็การที่ไม่เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่ามีบุญมาแล้ว จึงได้ฟังพระธรรม ควรที่จะได้สะสมบุญต่อไปที่ว่า เป็นผู้ที่อดทนจริงๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่สิ่งซึ่งฟังแล้วเข้าใจทันที แล้วอีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าเข้าใจแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้จักธรรมที่ได้ฟังทันที เช่น ขณะนี้เป็นธรรม ทุกคนก็พูดตามกันได้ทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรมต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็พูดซ้ำไปซ้ำมาได้ แต่ว่ารู้จักตัวธรรม จริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังคิดนึก เรียกว่าทุกขณะในชีวิตว่า เป็นธรรมจริงๆ อย่างที่พูดหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจปัญญาต่างขั้น ว่าปัญญาขั้นฟัง เพียงฟังเรื่องของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้ เวลาที่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ไม่มีเรา แล้วก็เป็นแต่เพียงธรรม เป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าสภาพธรรมเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นปรมัตถธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน เย็นร้อน อ่อนแข็ง ความคิดทุกอย่าง เรียกว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าถ้ามีความจำอย่างมั่นคงว่า ไม่มีเรา แต่เป็นปรมัตถธรรม ก็จะทำให้มีการระลึกที่ลักษณะของปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นฟังก็ขั้นหนึ่ง คือ ฟังเรื่องราว แต่ว่าสติยังไม่ได้ระลึกที่ ลักษณะของปรมัตถธรรม ส่วนปัญญาอีกขั้นหนึ่งซึ่งก็เป็นการศึกษา โดยสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ตรงกับที่เคยเข้าใจ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ