ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๖๘

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ผู้ฟัง มีโลภะอยู่เบื้องหลัง หมายความว่า จะต้องเกิดโลภะก่อนแล้วโทสะจึงจะเกิดตามเสมออย่างนั้นหรือ

    อ.สมพร โลภะมีอยู่แล้วโดยปกติ แต่ว่าขณะที่เราได้ยิน เราก็มีความปรารถนาอยู่แล้ว อยากจะได้ยินเสียงเพราะ แต่มันสั้นมากจนกระทั่งเรากำหนดไม่รู้ว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่ที่มีอยู่โดยแท้จริงนอนเนื่อง มีอยู่แน่ แต่ขณะนี้ที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นโทสะ เพราะฉะนั้น เขาจึงกล่าวว่า โลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้กิเลสหรือทุกข์ทั้งหมดเกิดขึ้น โลภะเป็นต้นเหตุ อาจจะเป็นเหตุที่ว่า โลภะนอนเนื่อง หรือเกิดขึ้นแล้วนิดหนึ่งก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุ แต่ขณะที่มันเกิด พอด่าบุ๊บโกรธทันทีทันใด แท้จริงจิตเราก็อยากให้เขาพูดดีๆ แต่ก็ไม่แน่อาจจะนอนเนื่อง อันนั้นก็เป็นปัจจัยได้ให้โทสะเกิด เกิดขึ้นแล้วก็มีแต่โทสะ เราไม่รู้เลยว่า โลภะเกิด แต่โทสะมันเกิดนานเรารู้

    ผู้ฟัง แสดงว่าโลภะเป็นมูลเป็นเหตุ เป็นรากจริงๆ ที่จะให้เกิดโทสมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะศึกษาธรรมให้พิจารณาชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ที่เราชอบ เราชอบอะไร ทุกคนชอบรูป ชอบเสียง ชอบกลิ่น ชอบรส ชอบโผฏฐัพพะ ไม่มีใครปฏิเสธเลย เป็นชีวิตจริงๆ ทุกวัน เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ว่า อารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ให้ชอบไม่ได้เลย ถ้าประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ต้องไปคิดลึกถึงอะไรเลย แต่ว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า โลภะที่ไหน ก็คือที่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ แล้วถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทสะ ความขุ่นใจ มี นี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของกามบุคคล คือ คนที่เกิดในกามโลก ในโลกมนุษย์ เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา หนีไม่พ้นเลยที่จะต้องเห็น ที่จะต้องได้ยิน ที่จะต้องได้กลิ่น ที่จะต้องลิ้มรส ที่จะต้องกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีอวิชชา ความไม่รู้ในสิ่งที่มีเป็นประจำก็ย่อมมีความติด มีความต้องการ ไม่มีใครสักคนที่จะบอกว่า ไม่ต้องการรูป ไม่ต้องการกลิ่น ไม่ต้องการเสียง ไม่ต้องการรส ไม่ต้องการโผฏฐัพพะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในโลกของกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยโลภะเป็นประจำ เมื่ออารมณ์นั้นเป็นที่น่ายินดี แต่ถ้าอารมณ์นั้นไม่น่ายินดีก็เกิดโทสะ

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี เกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ เสียงไม่เพราะ สีไม่สวย กลิ่นไม่หอม รสไม่อร่อย โผฏฐัพพะที่ไม่น่าสบาย ก็ทำให้เกิดโทสะ เพราะเหตุว่าเราแวดล้อมอยู่ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเราก็ติดในสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นเหตุประกอบได้ไหม เพราะว่าสักครู่ได้พูดว่า โลภะเป็นเหตุ เป็นมูลรากที่จะให้เกิดโทสะ ทีนี้คงจะมีเหตุอื่นๆ เป็นเหตุประกอบด้วยว่า ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ เราติดแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง เราติดในอารมณ์ที่ดีๆ แต่พอประสบอารมณ์ที่ไม่ดี เราก็เกิดโทสะ ปฏิฆะ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราก็อยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี

    ผู้ฟัง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเหตุหนึ่งเหมือนกันที่ให้เกิดโทสะ ใช่ไหม ส่วนอีก ๓ อย่าง คือ

    ๑. มีอัธยาศัย เป็นคนมักโกรธ

    ๒. มีความไม่สุขุมเป็นปกติ

    ๓. มีการฟังพระสัทธรรมน้อย

    ๔. ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี

    ประเด็นที่ว่า มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ คนมักโกรธคือคนที่โกรธง่าย คือ มีนิสัยช่างโกรธ ทั้งๆ ที่บางเรื่องไม่มีเหตุผลสมควรที่จะโกรธก็โกรธ อะไรนิดหนึ่ง อาหารไม่อร่อยหรือว่าเห็นอะไรสกปรกนิดหน่อยก็โกรธง่าย ความเป็นคนมักโกรธ เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ การสะสม โกรธบ่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องโกรธง่าย

    ผู้ฟัง สะสมมาในชาติก่อนมานาน ที่จะโกรธง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติไหนก็คือการสะสม

    ผู้ฟัง สะสมมาแล้วที่จะโกรธง่าย ใช่ไหม คนมักโกรธ

    สมพร เรื่องความโกรธในอดีตเราก็สั่งสมมามาก สั่งสมมาไม่ใช่น้อย เมื่อเราสั่งสมในอดีตมามาก ในชาตินี้ที่เขาบอกว่าโทสะจริต เรามักจะมีโทสะจริต ก็เพราะในอดีตเราสั่งสมเรื่องโทสะ เล็กนิดหน่อยก็โกรธ เมื่อโกรธบ่อยๆ สั่งสมมากเข้าๆ พอเกิดมาใหม่ในชาตินี้ สิ่งที่เราสั่งสมไม่ได้สูญหาย เมื่อประสบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็โกรธอีก ไม่พอใจอีก มักจะมีแต่เรื่องไม่พอใจอยู่เสมอ เพราะว่าเราสั่งสมมาแล้ว สิ่งที่สั่งสมมาก็มาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง แล้วเราก็สั่งสมต่อไปอีก จิตก็เศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา อีกนัยหนึ่งท่านกล่าวว่า ที่เรามีโทสะในชาตินี้มาก เพราะในชาติก่อนเราทำกุศลแล้วมีโทสะเป็นบริวาร ที่เราเกิดมาในชาตินี้ด้วยอำนาจกุศลนั้น กุศลอันนั้น ที่มีโทสะเป็นบริวารนั้น พอชาตินี้เกิดขึ้นเราก็มักจะมีโทสะอีกนั่นแหละแวดล้อม แวดล้อมอะไร แวดล้อมจิตของเราเอง

    ผู้ฟัง กุศลที่มีโทสะเป็นบริวาร ทำไมโทสะเป็นบริวารของกุศลได้อย่างไร

    อ.สมพร คำว่า “บริวาร” หมายความว่าเรามีความไม่สบายใจ เกี่ยวกับคำพูดหรืออะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วขณะนั้นเราก็ทำกุศลด้วย กุศลเป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ความไม่สบายใจเป็นโทสะ เป็นอกุศล เมื่อกระทำกุศลแล้วก็ยังนึกถึงแต่สิ่งที่ไม่ดีอีก คือโทสะ คือไม่สบายใจ หรือว่าแวดล้อม

    บริวารหมายถึง แวดล้อม เมื่อจะกระทำกุศล โทสะก็เกิดขึ้นก่อน กระทำกุศลแล้ว โทสะก็เกิดขึ้นอีก ก็เหมือนบริวารแวดล้อมจิต เมื่อแวดล้อมจิตอย่างนี้ เราเกิดมาด้วยกุศลนั้น เกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นกุศล อกุศลซึ่งเป็นบริวารก็ติดตามมาด้วย เพราะว่าการสั่งสมเคยชิน การสั่งสมเป็นปัจจัยให้เกิดอีก

    ผู้ฟัง เหตุให้เกิดโทสะอีกประการหนึ่งที่ว่า มีความไม่สุขุมเป็นปกติ ก็เข้าใจว่า จะต้องเกี่ยวกับคนที่มักโกรธด้วย ความไม่สุขุมรวมถึงลักษณะของคนใจร้อนวู่วามด้วยหรือเปล่า ใจร้อนวู่วาม

    ท่านอาจารย์ ไม่สุขุม คือว่าไม่คิดให้ดีๆ พออะไรมากระทบก็เกิดเลย

    ผู้ฟัง ต่างกับคนที่โกรธยาก

    ท่านอาจารย์ โกรธยาก เพราะเขาก็ต้องคิดว่า ไม่น่าจะโกรธคนนั้น เขาอาจจะมีความตั้งใจดี แต่ว่าเขากำลังมีธุระหรืออะไรก็ได้ อย่างบางคนเห็นคนขับรถผิดทางก็โกรธ แต่ถ้าคิดว่าเขาคงมีความจำเป็น เพราะว่าบางครั้งเราก็มีความจำเป็น ที่จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้นด้วย แต่เวลาที่เราทำ ทำไมเราไม่คิดว่า คนอื่นเขาก็อาจจะมีความจำเป็นอย่างเราก็ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราคิดในแง่นี้ เหมือนกับว่าเราสนับสนุนให้เขาทำผิดกฎจราจร

    ท่านอาจารย์ โดยมากเรามักจะคิดว่าเราสนับสนุนใครก็ตาม แต่ความจริงแล้ว โลกของใครก็โลกของคนนั้นจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาให้สุขุมจริงๆ เราอาจจะคิดว่า เพราะเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะว่าต้องมีการสะสมในใจเขาที่จะคิดอย่างนั้น แม้ว่าเราอาจจะคิดว่า เรากำลังทำให้คนนั้นโกรธ แต่ความจริงเขาไม่ได้โกรธ เพราะเขาไม่ได้คิดอย่างเราก็ได้ หรือว่าใครก็ตามที่ทำอะไร ซึ่งอาจจะผิด แต่เราก็เคยทำอย่างนั้นเหมือนกันเพราะความจำเป็น เราก็ไม่โกรธเขาก็ได้ เพราะว่าเขากำลังมีความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องทำอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเห็นเป็นประจำว่าเขาทำอย่างนั้นเป็นอาจิณเลย ไม่ใช่ว่าเพราะความจำเป็นทุกครั้ง อย่างนี้เราอดที่จะโกรธไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเรารู้มาก ไปรู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง อยู่ด้วยกันก็เห็นด้วยกันว่า เขามีอัธยาศัยเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะความจำเป็น

    ท่านอาจารย์ อันนี้พูดถึงแต่ละกรณี ไม่ใช่ว่าเราจะต้องติดตามไปรู้จักใครหรือรู้เหตุการณ์อะไรอย่างนั้น แต่ว่ากำลังมีอะไรเผชิญหน้า อย่างคนหนึ่งไปด้วยกันกับเพื่อนแล้วก็เห็นเหตุการณ์อย่างหนึ่ง อีกคนยังไม่ทันพูดอะไรเลย เพื่อนว่าเสียแล้วว่าสิ่งที่เห็นรวดเร็วเหลือเกิน เพราะการสะสมมาที่จะไม่พอใจ แม้ในสิ่งเล็กน้อย อาจจะเห็นเด็กวัยรุ่นแต่งตัวหรือว่าทำอะไรผมยาว หรืออะไรก็แล้วแต่ คนนั้นเดือดร้อนมาก แต่ว่าคนที่มีความเข้าใจยุคสมัยของวัยรุ่น ก็จะมีความเข้าใจ ความเห็นใจ จะโกรธทำไม ไม่ใช่เรื่อง อย่างนี้จะเป็นการสนับสนุนวัยรุ่นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นกรณีสิทธิส่วนบุคคลของวัยรุ่น เขาจะแต่งอะไรอย่างไร เราก็ไม่ควรจะไปเดือดร้อนว่า เขาไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ไม่ได้ให้คนอื่นเดือดร้อน แต่บางกรณีเขาทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นแต่ละกรณี แต่ว่าถึงอย่างไรก็ตาม ความไม่โกรธกับความโกรธ อย่างไหนจะดีกว่ากัน นี่คือความสุขุม ที่จะต้องคิด เพราะว่าส่วนมากจะบอกว่า น่าโกรธ ต้องโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธแล้วเขาก็จะทำไม่ดี แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เกี่ยวกันเลยกับความโกรธของเรา

    ผู้ฟัง ทำไมถึงฟังพระสัทธรรมมากแล้ว ยังโกรธบ่อยๆ ได้ จะมีทางแก้ไขอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าฟังพระธรรมเพื่อมีพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ใช่เพียงฟัง หมายความว่าคนที่ฟังทุกคนต้องพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเหตุว่าการฟังจริงๆ ไม่ใช่ได้ยิน ฟังแล้วพิจารณาว่า สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นประโยชน์มหาศาล คือ มีพระมหากรุณาที่จะชี้คุณ และโทษของธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล อกุศลโดยละเอียด ให้เรามีความเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ในชีวิตนี้คือความดี เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความตั้งใจมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ ก็จะค่อยๆ มีพระธรรมเป็นสรณะ ทุกเรื่องอยู่ในใจเวลาฟังแล้วเราก็ยังเก็บสิ่งนั้นไว้ พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะทำให้เป็นผู้ที่สุขุมขึ้น

    ผู้ฟัง พยายามที่จะฟังพิจารณา คิดว่าเข้าใจพอสมควร เมื่อตั้งใจฟัง แต่จะมีเหตุอะไรจูงใจให้ประพฤติปฏิบัติตาม คือบางครั้งทั้งๆ ที่เข้าใจ แต่ว่ารู้สึกว่าการประพฤติปฏิบัติตามจะยาก เพราะฉะนั้น จะมีอะไรจูงใจให้ปฏิบัติตาม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้าฟังเข้าใจเราอยากปฏิบัติตาม ในทุกกรณี ต้องไม่เว้นเลยจริงๆ เมื่อฟังพระธรรมแล้วอยากจะปฏิบัติตามในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทานวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นของเล็กของน้อยหรืออะไรก็ตาม ของใช้ไม่ใช้มีประโยชน์กับใคร วางไว้หน้าบ้านหรืออะไรก็แล้วแต่นี่คือเรื่องของทาน เรื่องของศีลก็ทำให้เรามีความนอบน้อมขึ้น แล้วมีการช่วยเหลือบุคคลอื่นพร้อมที่จะกระทำสิ่งที่ดี ทุกอย่างที่คิดว่าถ้าเรามีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ คือพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ทุกโอกาส เราสามารถที่จะทำได้

    ผู้ฟัง แต่บางครั้ง รู้สึกว่าจะขัดกับอัธยาศัยในบางเรื่อง อย่างเช่นเรื่องทาน ทั้งๆ ที่ฟังแล้วเข้าใจว่า ทานดีอย่างไร อะไรอย่างนี้ แต่ว่าบางทีการที่คิดจะช่วยเหลือคนที่เขาตกทุกข์ได้ยากจริงๆ เราขัดกับอัธยาศัยของเรา เราไม่คิดที่จะช่วยทันที ต้องนานกว่าที่จะช่วยเขา การประพฤติปฏิบัติตามมันยาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าฝืน ให้เราเปลี่ยนจากการที่เราเคยให้ยากเป็นให้ง่ายขึ้นทันที แต่สิ่งใดที่มี เราอาจจะระลึกได้ว่าควรให้มากกว่าไม่เคยคิดมาก่อน เพราะว่าของๆ เราคงมีมากมายที่ไม่ได้ใช้ ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเรา เพียงแต่เก็บไว้ ถ้าเราไม่มีการนึกขึ้นมาได้เราก็คงจะทิ้งไว้เฉยๆ แต่ถ้าเรามีการนึกขึ้นมาได้ว่า สิ่งนี้จะมีประโยชน์กับคนอื่น แล้วถ้าเราเกิดมาเพื่อที่จะทำความดี ก็คงจะค่อยๆ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่ใช่ให้ฝืนอุปนิสัย ทันที่เพราะว่าไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงตัวเองรวดเร็วอย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง ก็จะพยายามนึกถึงคำพูดอาจารย์ เกิดมาเพื่อทำความดี

    ผู้ฟัง พูดถึงข้อ ๓ มีการฟังพระสัทธรรมน้อย อันนี้เห็นด้วยเลยจากประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อก่อนก็ไม่ได้ฟังหรือฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ เวลาโกรธ ก็โกรธมากๆ โกรธจนกระทั่งตัวสั่นหรือใจสั่น อันนี้ดิฉันคิดว่าดิฉันไม่ได้ปฏิบัติธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ด้วยความเป็นตัวตนก็ต้องยังมีอยู่ แต่ค่อยๆ เปลี่ยน

    ผู้ฟัง ดิฉันกลัวฆ่าสัตว์ ออกไปนอกมุ้งลวด ยุงจะกัดก็ไม่ออก คือไม่ใช่กลัวยุงกัดแล้วเราไม่ตบ มันต่างกัน ไม่ได้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็หนีไปเรื่อย หนีแล้วไม่พ้น ก็แล้วแต่ๆ ละขณะ เพราะว่าไม่เป็นโลภะก็เป็นโทสะ เป็นโมหะ ไม่เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง แต่ปัญหามีว่าเราก็ไม่ต้องมีโกรธ เราก็ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ แปลว่าไม่ชอบความโกรธ แล้วก็ไม่ชอบทุจริตกรรม คือการฆ่า

    ผู้ฟัง ยังเป็นอกุศลอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติปัฏฐานไม่เกิด สติสัมปชัญญะไม่เกิดจะไม่รู้สภาพของจิตก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา หนีไปหนีมา อย่างไรก็หนีไม่พ้น คิดอย่างนี้ดีกว่า เพราะอย่างไรก็หนีไม่พ้น

    ผู้ฟัง คำว่าจุดหนี คือดิฉันไม่ได้ทำกุศลนั่นเอง ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่ดิฉันเลี่ยง อันนี้ก็กลายเป็นอกุศลหรืออย่างไร แต่ว่ามันไม่ใช่ ดิฉันก็ละเว้นการโกรธ ละเว้นการฆ่าสัตว์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจะมีโลภะ มีโมหะ หรือมีกุศล ต้องเป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ก็เป็นอย่างนี้ เลี่ยงไป หนีไป แต่ไม่พ้น ใช้คำว่าไม่พ้นจากสังสารวัฏ ใครจะทำวิธีไหนก็ตามแต่ แต่ก็ไม่พ้น เพราะฉะนั้น ก็มีหนทางที่เราจะพ้นได้ แม้ว่าเป็นหนทางที่ช้า

    ผู้ฟัง คือจะต้องเผชิญกับสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามถ้าฟังเรื่องของสติปัฏฐานเข้าใจ มีปัจจัยที่จะเกิดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นก็มีปัจจัยที่จะระลึกไม่มีตัวตนไม่เหมือนกับเราที่กำลังพยายามเลี่ยงไปเลี่ยงมา

    ผู้ฟัง หมายความว่ายังคิดเป็นมีตัวมีตนอยู่ แต่ทีนี้ถ้าเราคิดถึง เอาอย่างนี้ง่ายๆ สมมติว่ายุงกัด เราก็ปล่อยให้เขากัด เราไม่ตบ กับเราไม่ต้องไปอยู่ในที่ให้เขากัดเลย เราก็ไม่ได้ฆ่าเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดนี้ คือบวกลบคูณหารอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ๆ ๆ

    ท่านอาจารย์ เหนื่อย ผลลัพธ์ออกมาก็เหนื่อยอย่างละเอียด

    ผู้ฟัง เราก็ต้องไปเจอ แล้วก็ระลึกรู้หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างนี้ เพราะว่าบางคนเขาก็คิดบวกลบคูณหารไปตลอดชีวิตเหมือนกับนักลงทุน หวังผล หรือว่า เหมือนกับคนที่กำลังคิดเรื่องกำไรขาดทุน แต่จริงๆ แล้วเราต้องทราบว่า ถึงเราจะทำอย่างไรเราก็ไม่พ้นจากสังสารวัฏ จนกว่าจะรู้กุศลอีกประเภทก็เจริญกุศลประเภทนั้น ด้วยความมั่นคงแทนที่จะเป็นตัวตนที่เลี่ยงไปเลี่ยงมา แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าอยู่ในอำนาจของเรา แต่ฟังจนกระทั่งเข้าใจ แล้วรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะนั้นคือนาทีทอง หรือยิ่งกว่าทอง

    ผู้ฟัง สำหรับเหตุให้เกิดโทสะมูลจิตหรือปฏิฆะสัมปยุตตจิต ๔ ประการที่ได้สนทนากันไป จะมีท่านผู้ใดทีปัญหาอีกไหม

    ท่านอาจารย์ อยากจะให้ทุกคนได้นับประโยชน์จากโทสะที่เกิดบ้าง แม้ว่าเล็กน้อย เพราะถึงอย่างไรโทสะก็ต้องเกิด คนที่ไม่เกิดโทสะไม่มีเลย ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แต่ถ้าโทสะเกิดแล้ว จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ก็คงจะไม่ปล่อยให้ผ่านไป เพราะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีลักษณะอย่างนั้นจริงๆ เกิดขึ้น แล้วก็จะรู้ความจริงว่า ที่เราพูดถึงว่าโทสะ หรือปฏิฆะ แล้วก็มีเหตุให้เกิดต่างๆ คือขณะนั้นมีสภาพธรรมนี้กำลังปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริง อาจจะทบทวนย้อนไปถึงที่เราฟังว่า เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของโทสะ เพราะฉะนั้น โทสะก็เกิด แล้วลักษณะของโทสะก็คืออย่างนี้ ต่างกับสภาพธรรมอื่น แต่ถ้าระลึกได้ก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงลักษณะธรรมหรือธรรมชาติ หรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นขณะใดก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็เพราะว่ายังมีเชื้อของโทสะอยู่ก็ จะเกิดก็ต้องเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ให้เห็นตัวจริงๆ เพราะว่าเราพูดถึงเรื่องโทสะ พูดมาก โทสะอย่างนั้น โทสะอย่างนี้ โทสะตอนนั้น โทสะตอนนี้ แต่เวลาที่โทสะเกิดจริงๆ ควรจะรู้ตัวโทสะ ลักษณะของโทสะแท้ๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้

    ผู้ฟัง จึงจะเป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่โทสะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ สมกับที่เราพูดเรื่องโทสะ

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะผ่านเรื่องปฏิฆะสัมปยุตตจิตไป ก็มีพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่จะเป็นของฝากไว้สำหรับผู้ที่ร่วมสนทนาธรรม คือ พระผู้มีพระภาคตรัสเกี่ยวกับโทสะตอนหนึ่งใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ข้อที่๒๒ ทรงตรัสว่า

    โทสะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะยังจิตให้กำเริบ โทสะเป็นภัยเกิดขึ้นเป็นภายใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกถึงภัยนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใดความโกรธเข้าครอบงำนรชน เมื่อนั้นเขาย่อมมืดมน

    ก็คิดว่าเป็นพระดำรัสที่จะเป็นเครื่องให้ระลึกถึงเวลาที่เกิดโทสะ

    ผู้ฟัง เรื่อง วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ธรรมชาติที่ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ตัดสินสภาวะยาก คือ ลำบาก

    อ.สมพร ความสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ คือไม่รู้ชัด ๒ แง่ ๒ มุม เกิดความสงสัยขึ้น ตัดสินใจลำบากว่า เมื่อยากลำบากแล้วก็จิตอยู่ในแง่มุมที่ว่า ไม่สบายใจแต่ว่าไม่ใช่โทสะ มันโมหะ ไม่รู้อะไร คือการไม่รู้อะไรตัดสินใจอะไรไม่ได้ เมื่อเขามีความสงสัยว่าพระพุทธเจ้า ต้องยกตัวอย่าง บางอย่างต้องยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เป็นเครื่องเปรียบเทียบเท่านั้นเอง เขามีความสงสัยว่าพระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นมานานแล้ว เขาก็มีความสงสัย มีจริงหรือเปล่าหนอพระพุทธเจ้า นี่มีความสงสัยอย่างนี้ เขาไม่แน่ใจ แล้วถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีจริง หรือมีจริง เขาก็ไม่แน่ใจอย่างนี้ เมื่อไม่แน่ใจอย่างนี้ การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะเริ่มต้น ไม่มีศรัทธา เบื้องต้นต้องมีความเชื่อเลื่อมใสเสียก่อน หรือสงสัยในพระธรรมว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นเหตุให้สัตว์พ้นทุกข์จริงหรือไม่ ก็มีความสงสัยอย่างนี้ เมื่อสงสัยก็ไม่ปฏิบัติธรรม เมื่อไม่ปฏิบัติธรรม จิตก็ตกไปในอกุศลตลอดเวลาก็ว่าได้

    ผู้ฟัง อีกวรรคหนึ่ง เพราะอรรถว่าธรรมชาตินั้นหมดการเยียวยารักษา เพราะยากที่จะกระทำ เป็นธรรมขัดขวางญาณ

    อ.สมพร ขัดขวางญาณ คือขัดขวางปัญญา การที่เราศึกษาธรรมเข้าใจดีแล้วไม่สงสัยแล้ว เราปฏิบัติแล้วปัญญาก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรมาปิดบัง แต่ถ้าเรามีความสงสัยอย่างนี้ๆ เหมือนเราอ่านหนังสือไป เราก็สะดุด เราก็ยังไปไม่ได้ ต้องพิจารณาว่า สิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ผิดเสียก่อน เพราะว่าความสงสัยมันขัดไม่ให้เกิดปัญญา ญาณก็คือปัญญาอันเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าสงสัย สงสัยอะไร ดิฉันสงสัยว่าวันนี้ฝนจะตก อันนี้เป็นวิจิกิจฉาหรือเปล่า

    อ.สมพร ใน อัฏฐสาลินี กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า ความสงสัย ๘ ประการเป็นอกุศลปิดกั้นญาณปัญญา ทีนี้สงสัยว่าฝนจะตกไม่ตก ไม่ได้ปิดกั้นปัญญาเลย

    ผู้ฟัง สำหรับวิจิกิจฉา มีอีกว่าจิตที่สัมปยุตต์ด้วยวิจิกิจฉา ๘ อันนี้จะทำให้เห็นชัดคือเวลานี้อยากจะให้เห็นชัด สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าใจวิจิกิจฉา เพราะมาใช้ภาษาไทยตัวเดียวกัน สงสัยคนนี้จะขี้ขโมย สงสัยว่าเขาจะถูกลอตเตอร์รี่ สงสัยได้สารพัด แต่วิจิกิจฉาไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปิดกั้นญาณ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ