ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
ตอนที่ ๑๓๔
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่ามีจิตอยู่ ๒ ประเภท คือ จิตประเภทหนึ่งรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร อีกประเภทหนึ่งรู้อารมณ์โดยต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ภวังคจิตของแต่ละคนมีอารมณ์อะไร เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย อย่างทางตาเห็น เราบอกว่าเห็น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะอาศัยตาจึงรู้ว่าสีสันวัณณะกำลังปรากฏ ทางหู เสียงปรากฏก็แสดงว่าจิตที่รู้เสียงอาศัยทวารคือโสตปสาท จึงเป็นทางที่จะให้จิตได้ยินเสียงให้เสียงปรากฏ แต่ว่าสำหรับภวังคจิตไม่มีอะไรปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นจิตไม่รู้อารมณ์ ถึงแม้ว่าเป็นภวังคจิต ถึงแม้ว่าไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยก็ตาม แต่จิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ด้วยเหตุนี้อารมณ์ของปฏิสนธิจิตจึงไม่ปรากฏ ไม่มีใครบอกได้เลยว่า อารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ของแต่ละคนคืออะไร แต่ว่าสามารถบอกได้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังเห็นเพราะอาศัยตา ขณะนี้กำลังได้ยินเพราะอาศัยหู
ต้องทราบด้วยว่ามีจิต ๒ ประเภท อย่างไรๆ จิตก็ต้องเป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่ว่าจิตพวกหนึ่งประเภทหนึ่งนั้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย แล้วอีกประเภทหนึ่งอาศัยทวาร จิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวาร ภาษาบาลีเรียกว่าอะไร
อ. สมพร จิตที่อาศัยทวาร เรียกว่า ทวาริกจิต
ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่ไม่อาศัยทวาร
สมพร ท่านใช้คำว่าทวารวิมุตต์ก็ได้ วิมุตต์ แปลว่าพ้น ทวารวิมุตต์ แปลว่า พ้นแล้วจากทวาร เป็น ทวารวิมุตต์
ท่านอาจารย์ ทวารวิมุตตจิต
สมพร วิมุตต์ วิมุตตจิต วิมุตตะ ไม่ใช่ ติ
ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้ามีคนเกิด จะมีคนพูดว่า ทวารวิมุตติจิต นี้ผิดใช่ไหม
สมพร ผิด
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นทวารวิมุตตะ
สมพร ตะ
ท่านอาจารย์ ตะ
สมพร ตะ ติไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เรียนภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย
ผู้ฟัง เรื่องอาเสวนปัจจัยของ ชวนจิตดวงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นอาเสวนปัจจัย แต่ดวงที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย ทีนี้พูดถึงภวังคจิต ซึ่งเกิดติดต่อกันเป็นเวลาระยะยาวนาน เช่นเวลาหลับอย่างนี้ ก็มีอารมณ์อย่างเดียวกัน แล้วก็เกิดดับสืบต่อกัน อย่างนี้เป็นอาเสวนปัจจัยไหม
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่ชวนะ เป็นอาเสวนปัจจัยไม่ได้
ผู้ฟัง ที่เกิดของทวิปัญจวิญญาณ และเหตุที่เกิดนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เข้าใจถึงว่ามันไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงรูปกับนาม
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็คงจะขอทบทวนเพื่อให้ได้ทราบว่า ทำไมเราถึงต้องพูดเรื่องลักษณะของจิต แล้วก็หัวข้อทุกๆ อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องลักษณะของจิต เพราะว่าขณะนี้มีจิต จุดสำคัญก็คือว่า ขณะนี้มีจิต แต่ยากแสนยากที่จะรู้ว่า จิตในขณะนี้เป็นอย่างไร แล้วก็เราจะรู้จักจิตจริงๆ ได้อย่างไร
เริ่มมาตั้งแต่ต้นที่จะพูดถึงเรื่องหน้าที่กิจการงานต่างๆ แล้วโดยเฉพาะก็คือว่า สามารถที่จะเข้าใจจิตในขณะนี้ได้ แม้แต่เรื่องทวารที่คุณสุรีย์พูดไม่พ้นจากจิตทั้งนั้นเลย ที่จะใช้คำว่ามโนทวารวิถี หรือปัญจทวารวิถี ก็เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ การที่จะรู้อารมณ์ได้นั้นต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร มิฉะนั้นแล้วถ้าขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต จะไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลยทั้งสิ้น แม้ว่ามีจิต
นี่คือความลึกลับของจิต จิตมี แต่ก็ไม่รู้ว่ามีจิตเมื่อไหร่ ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท หรือว่าขณะที่กำลังเป็นภวังค์ จิตมี แล้วก็จะรู้จักจิตเดี๋ยวนี้ได้ ก็เพราะเหตุว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แล้วก็มีใจด้วย ซึ่งเป็นทางที่จิตจะรู้อารมณ์ เวลาที่กำลังนอนหลับสนิท คือ ไม่คิดไม่ฝัน ขณะนั้นมีจิตแต่ก็ไม่รู้
ในทวาร ๖ ทวาร คือชื่อก็คงจะง่าย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาไม่สงสัย หูไม่สงสัย จมูกไม่สงสัย ลิ้น กายไม่สงสัย แต่ใจที่เป็นทวาร หมายความว่า ขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่คิด แล้วก็เกิดคิด โดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น แต่จิตสามารถที่จะนึกคิดได้ ขณะใดก็ตามซึ่งมีอาการปรากฏของความคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นแสดงว่า แม้จิตไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจนั่นเอง คือหลังจากภวังคจิตดับ เวลาที่จะคิดนึก ภวังคจลนะเป็นขณะที่เกิดสืบต่อจากภวังค์ ไหวที่จะคิดนึกเรื่องที่จะคิดต่อไป แล้วหลังจากนั้นภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นภวังคจิตต่อไปก็เกิดแล้วดับ ด้วยเหตุนี้ภวังคุปัจเฉทะจึงเป็นมโนทวาร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าทวารอื่นไม่ยาก แต่สำหรับทางใจที่เราคิดนึก เราต้องทราบว่า ที่ใช้คำว่ามโนทวาร ก็เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เพราะเหตุว่าจิตคิดนึก เพราะฉะนั้น อาศัยจิตซึ่งเกิดก่อน คือ ภวังคุปัจเฉทะเป็นทวารให้จิตเกิดนึกคิดได้
ข้อสำคัญตอนนี้ ขอให้รู้จักมโนทวารจริงๆ เพราะเหตุว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเรื่องเล็ก เล็กมากทีเดียว เพราะเหตุว่าเสียงปรากฏนิดเดียว แต่ว่าใจคิดนึกยาวไกลนานมาก
เพราะฉะนั้น ให้เปรียบเทียบว่า ทางตาก็ปรากฏเพียงสั้นๆ เล็กน้อยมาก กลิ่นก็ปรากฏสั้นๆ เล็กน้อยมาก รสก็ปรากฏสั้นๆ เล็กน้อยมาก แต่ใจคิดนึกสืบต่อไว้ จะเห็นได้ว่า เพราะทางใจเกิดขึ้นปิดบังการเกิดดับของทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลยทำให้คิดว่า โลกนี้ไม่ดับเลย แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวมากมายด้วย แต่แท้ที่จริงแล้วสำคัญอยู่ที่ทางมโนทวารที่คิด
ผู้ฟัง หมายความว่าวันๆ หนึ่ง เราก็คิดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ยับยั้งความคิดไม่ได้ด้วย ต้องคิด ไม่อยากคิดก็ต้องคิด แม้กินยานอนหลับไปแล้ว หลับไปแล้วก็ต้องฝัน นี้มันก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ไปสนทนาธรรมตามที่ต่างๆ แล้วก็จดหมายที่ได้รับจะเป็นเรื่องของความทุกข์ แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของความคิด ถ้ามีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมจริงๆ แล้วทุกข์จะลดน้อยลงมาก เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรที่เหลือเลย นอกจากขณะปัจจุบันขณะ ขณะนี้ ขณะเดียว ทีละขณะเท่านั้น
เพราะฉะนั้น จะมีอะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีใครเป็นทุกข์ ถ้าจะทุกข์เพราะคิดเท่านั้น แต่ถ้าไม่คิด ทุกข์นั้นก็ไม่มี ไม่ว่าใครจะว่า มีทุกข์มากสักเท่าไหร่
ผู้ฟัง เพื่อปลดทุกข์พวกเราว่าอย่าคิด ถ้าเป็นทุกข์แล้วก็อย่าคิด เพราะคิดแล้วยิ่งเป็นทุกข์
ท่านอาจารย์ ห้ามความคิด ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความคิด
ผู้ฟัง อะไรที่ทำให้จิตมันคิด เราจะได้จับมันเสีย ตัวที่ทำให้จิตเราคิด คืออะไร
ท่านอาจารย์ สังขารธรรม สภาพธรรมเกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครยับยั้งสภาพของจิตแต่ละขณะที่จะเกิดได้เลย หลังจากเห็นแล้วที่จะบอกว่า อย่าคิดก็ไม่ได้ หลังจากที่ได้ยินแล้วที่จะบอกว่า อย่าคิดก็ไม่ได้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินก็ตาม แล้วก็จะไม่ให้คิดก็ไม่ได้เหมือนกัน
นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ความจริงว่า จิตเท่านั้นที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา ก็ขณะหนึ่ง ทางหูขณะหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทีละขณะสืบต่อกัน ถ้าเป็นทางปัญจทวาร จิตจะต้องรู้อารมณ์ที่กระทบจนกว่ารูปที่กระทบจะดับ แต่ถ้าเป็นทางใจ ไม่มีอารมณ์กระทบ แต่คิดมากในเรื่องสิ่งที่ดับแล้ว เกิดแล้วดับไป
ผู้ฟัง ถ้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อารมณ์ทำให้คิดอย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่า หลังจากเห็นแล้ว ทางใจต้องคิดต่อ ยับยั้งไม่ได้ หลังจากได้ยิน ทางโสตทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดต่อ คิดเรื่องที่ได้ยิน ยับยั้งไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ความคิดมากมายกว่าสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ปรากฏ สุขทุกข์ก็เกิดจากความคิด
ผู้ฟัง แต่ทางใจไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยหู จมูก ลิ้น กาย ก็คิดของมันเองได้
ท่านอาจารย์ ได้
ผู้ฟัง แล้วก็อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายนี้คิดได้ด้วย
ท่านอาจารย์ ต้องคิดตามด้วย วันๆ หนึ่งคิดตลอด มากมาย
ผู้ฟัง ที่ทางใจไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย คิด สังขารธรรมเป็นเหตุให้ปรุงแต่งจิตให้คิดนึกต่างๆ สังขารธรรมนี่ก็คงจะหมายถึงเจตสิกทั้งหมด
ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะย้ำให้เห็นความสำคัญของมโนทวาร ถ้าเข้าใจเรื่องมโนทวารแล้ว เรื่องอื่นก็เข้าใจได้
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน แล้วมันก็ยังคิดอยู่ มาจากไหน
ท่านอาจารย์ จำ ความทรงจำ
ผู้ฟัง สะสมด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สะสมไปทุกขณะจิต ถ้าไม่คิด มีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย ให้ทราบด้วย เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จะไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าความคิดมีหลายระดับ โดยมากที่เราพูดถึง เราจะพูดถึงความคิดเป็นเรื่อง เป็นคำ แต่ความจริงเรื่องคำทั้งหลาย หรือความหมายทั้งหลาย ต้องมาจากความทรงจำ ในสิ่งที่ปรากฏโดยรูปร่างสัณฐาน ถ้าเป็นทางตา
นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เพียงเห็นสิ่งที่กระทบตาสั้นมาก หลังจากนั้นยังไม่ได้คิดเป็นคำอะไรเลย แต่มีความคิดจำเรื่องรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ทุกคนเคยหาของที่หาย บางครั้งของก็อยู่ตรงหน้า แต่ไม่เห็น รูปารมณ์ไม่ได้หายไปเลย รูปารมณ์หายไม่ได้ รูปารมณ์กระทบจักขุปสาทแล้วดับ แล้วก็กระทบจักขุปสาทแล้วดับ แต่ขึ้นอยู่กับความคิดว่า จะคิดหรือไม่คิดในสิ่งนั้น ถ้าไม่คิดถึงสัณฐานของสิ่งนั้น จะไม่เห็นสิ่งนั้นเลยทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็ปรากฏ
มีเรื่องจริง มีท่านผู้หนึ่งท่านใช่รถสีดำ คนที่เห็นรถสีดำ ก็มาเถียงกันว่า ท่านใช้รถสีขาว มีพยานถึง ๒ คนว่าเป็นสีขาว คนสีดำก็แน่ใจเหลือเกินว่าสีดำแน่ๆ แล้วก็ปรากฏว่าเป็นสีดำจริงๆ แต่ระหว่างนั้นอีก ๒ คนเห็นได้อย่างไรว่ารถคันนั้นเป็นสีขาว แล้วบางที คิดว่ามีคนหนึ่งเข้าใจว่าคนนี้ไม่ได้นอนอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เห็นคนนี้นอนก็คิดว่าอีกคนหนึ่งนอน แต่ความจริงที่นั่นไม่มีคนเลย
ผู้ฟัง คิดเอาเอง
ท่านอาจารย์ คิดได้ทุกอย่าง นี่เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะปกติ ไม่ใช่เป็นคนที่วิกลจริต หรืออะไร แต่นี่แสดงให้เห็นความจริงของปรมัตถธรรมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงกระทบเป็นแสงสว่าง สีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความคิดหรือความทรงจำในเรื่องรูปร่างสัณฐาน จะมีชีวิตไม่ได้เลย
นี่เป็นขั้นหนึ่ง หลังจากที่สีปรากฏทางตา ถ้าเป็นเสียงที่กระทบทางหู บางคนไม่ได้คิดความหมายเลย เสียงนั้นก็ดับไป ไม่เข้าใจ ต้องถามซ้ำว่าพูดว่าอะไร ทั้งๆ ที่เมื่อกี้นี้ก็ได้ยินเสียง แต่ถ้านึกถึงความหมาย ไม่ต้องถามซ้ำ รู้เลยว่า เสียงนั้นหมายความว่าอะไร
เพราะฉะนั้น จะเห็นความวิจิตของความคิดว่า ถ้าไม่คิดอะไรเลย อยู่ในโลกไม่ได้ แต่คิดมีหลายอย่าง ทันทีที่เห็นคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ยังไม่มีเรื่องราว นี่ก็จำได้ว่าใครนั่งอยู่ กลับไปบ้านลองถามว่าคนที่นั่ง ใส่เสื้อสีอะไร ดอกอะไรบ้าง จะตอบไม่ถูกเลย เพราะว่าจำเพียงรูปร่างสัณฐานว่าเป็นใคร จำเรื่องราว ไม่ได้จำส่วนละเอียด จะเห็นได้ว่า ทางตาก็เห็นจริง แต่ทางใจปรุงแต่งคิดสารพัด แล้วแต่ว่าจะคิดถูกคิดผิด แม้แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นสีขาว สีดำก็คิดให้เป็นสีขาวได้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความคิด นี่เป็นตอนหนึ่ง นอกจากนั้นยังจะมีเห็นถูกหรือเห็นผิดในสภาพธรรมอีก อย่าไปยับยั้งความคิด แต่ว่าจะต้องเข้าใจว่า ความคิดนั้นไม่ใช่ตัวตน
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้ววันหนึ่งๆ สำคัญที่สุดคือความคิด ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งไปที่ให้เข้าใจเรื่องความคิดเสียก่อนว่า แท้ที่จริงแล้วเตือนให้ระลึกว่า ในขณะที่คิดเป็นจิต แล้วก็ขณะที่เห็นก็มีคิดต่อไปด้วย ขณะที่ได้ยินก็มีคิด พ้นความคิดไปไม่ได้เลย
ผู้ฟัง หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน เราก็คิด แต่ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน อาจจะเกิดมาจากความจำก็ได้ ความรู้สึกคือเวทนาก็ได้ด้วย
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าทางจักขุทวารวิถี รูปมีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วลองคิดดูว่า ในขณะนี้รูปทางตากำลังดับอย่างเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าดูทุกคนเหมือนว่า เห็นด้วย ได้ยินด้วยพร้อมกัน จักขุปสาทใดที่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตเห็น ยังไม่ถึงจิตได้ยินเลย จักขุปสาทพร้อมสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นดับแล้ว แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะถึงได้ยิน มีความคิดแทรกคั่น มีภวังค์แทรกคั่น
นี่คือความรวดเร็วของจิต ซึ่งทำให้เราไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ถ้าเราจะไปจำเพียงหัวข้อ แต่ว่าขณะนี้มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ หรือยัง กำลังคิดนึก กำลังรู้หรือยังว่าเป็นสภาพคิดนึก ซึ่งต่างกับเห็น
เพราะฉะนั้น ก็กำลังจะเริ่มแยกให้เข้าใจความต่างกันของคิด เพราะว่าโดยมากทุกคนจะลืมจิตที่คิด เพราะไปมุ่งที่สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ใช่ไหม แต่ทีนี้ถ้าเรารู้ว่ามันสั้นมากแล้วที่เหลือนั้นเป็นเรื่องของความคิด ก็จะได้มุ่งมาเข้าใจลักษณะของความคิด
ในขณะนี้เองมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นวิถีแรก แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นจิตของทุกคนที่กำลังมีมโนทวาราวัชชนจิต ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้ทราบว่า ขณะนี้ที่เราไม่รู้อะไรเลย เวลานี้เรามารู้ว่า มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิด แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต นี่ทางใจซึ่งสั้นมาก หลังจากมโนทวาราวัชชนะ ก็เป็นกุศลหรืออกุศล เพื่อที่เราจะได้มาถึงวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายว่าก่อนที่จะเป็นวิถีจิต ก็ต้องเป็นภวังคจิตก่อนทุกครั้งไป จะมีวิถีจิตโดยที่ไม่มีภวังคจิตเกิดก่อนไม่ได้ เพราะว่าภวังคจิตเป็นจิตซึ่งเกิดดำรงภพชาติอยู่
ในขณะนี้ทุกคนยังไม่ตาย ต้องมีภวังคจิตแน่นอน แล้วก็ก่อนที่วิถีจิตแต่ละวาระจะเกิดทางทวารหนึ่งทวารใด ก็ต้องมีภวังคจลนะ แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะ แต่สำหรับการเห็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่จิตที่คิด เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท แล้วต้องอาศัยสีที่กำลังปรากฏกระทบตา แต่ก่อนเห็น จิตจะต้องเป็นวิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต
เพราะฉะนั้น ให้ทราบความต่างกันว่าวิถีจิตแรกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรกทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต นี่คือวิถีจิตแรก
สำหรับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อใช้คำว่าวิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน จิตเห็น จิตได้ยิน ยังไม่เกิด นี่คือความรวดเร็ว ซึ่งทุกคนในขณะนี้ก็จะจำได้ว่า ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แล้วขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ก็ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน เรียกรวมไปเลย ๕ ทวาร ว่าปัญจทวาราวัชชนจิต หมายความถึงวิถีจิตแรกที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากนั้นถ้าเป็นทางตาในขณะนี้เห็น คือจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นทางหูที่กำลังได้ยินก็เป็นโสตวิญญาณ ถ้าใครจมูกดี ขณะนี้ได้กลิ่นอะไร ขณะนั้นก็เป็นฆานวิญญาณ ถ้าลิ้มรสอะไรขณะนั้นก็เป็นชิวหาวิญญาณ ถ้ารู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เป็นกายวิญญาณ
ผู้ฟัง ทวิปัญจวิญญาณเกิดที่ไหน แล้วก็มีเหตุอย่างไรในการเกิด
ท่านอาจารย์ ขอเชิญอาจารย์สมพร
อ. สมพร ทวิปัญจวิญญาณ เราก็ต้องแยกกล่าวที่ละวิญญาณ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณก็เกิดที่ตา แล้วก็ดับที่ตา
ผู้ฟัง ตานี่ที่ไหน ปสาทใช่ไหม
อ.สมพร จักขุปสาท ประสาทตา เกิดที่ประสาทตาก็ดับที่ประสาทตา คือไม่ใช่เกิดที่ตาแล้วไปดับที่หู ไม่ใช่อย่างนั้น เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น ดับอย่างรวดเร็ว เพราะว่าจิตดับไปอย่างรวดเร็ว ดับไวมาก ไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ยังไม่ดับ จิตดับไปแล้ว จิตเห็น เห็นที่ตาแล้วก็ดับที่ตา แต่อารมณ์ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จึงมีจิตดวงอื่นต่อไป ถ้าได้ยินที่หู คือ ประสาทหู ได้ยินที่หูก็ดับไปที่หูนั่นแหละ จิตดวงนั้นแหละ เกิดที่หูดับที่หู จิตอีกดวงหนึ่งเกิดที่จมูก นี่กลิ่นใช่ไหม ก็ดับที่จมูก เกิดที่ไหนดับที่นั่น เกิดเฉพาะทวารของเขา เกิดที่ลิ้นก็ดับที่ลิ้น เกิดที่กายก็ดับที่กาย ไม่ยักย้ายไปที่อื่น เขาจึงว่า จิตนี้มีอายุสั้น
ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทุกคนจะได้ทราบว่า เราพ้นกรรมที่ได้ทำแล้วไม่ได้ เราจึงต้องเห็นต้องได้ยินจนกว่าจะตายไป และในขณะเดียวกันเมื่อยังมีกิเลสอยู่ เวลาที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งสำหรับพระอรหันต์ท่านไม่เป็นเลย นี่คือความต่างกันที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะถึงระดับที่ เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ยังต้องถึงกับเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นกิริยาจิต ไม่เป็นกุศล อกุศลอีกต่อไป เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องการเกิดของจิตเห็น จิตได้ยินเหล่านี้
เหตุที่จะให้เกิดการเห็นการได้ยิน ทั้งๆ ที่เป็นวิบาก ต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นวิบากแล้ว ก็จะเกิดขึ้นได้ตามใจชอบ จะเห็นความสำคัญของแต่ละส่วน ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น เช่น ต้องมีจักขุปสาท นี่แน่นอน สำหรับคนที่ไม่มีจักขุปสาทซึ่งเป็นรูปที่อยู่กลางตา บางคนอาจจะมีส่วนของตา แต่ที่ตาบอด เพราะขาดจักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทในขณะนี้ ให้ทราบว่า กำลังเกิดดับเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทั้งๆ ที่ขณะนี้จักขุปสาทเกิดแล้วดับ ก็มีกัมมปัจจัยที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดอีกแล้วดับอีก ในขณะที่กำลังเห็น ก็เกิดอีกแล้วดับอีก แม้แต่ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ก็มีกรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับ แม้ไม่เห็น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180