ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
ตอนที่ ๑๓๗
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ จากการซึ่งไม่เคยรู้เลย ไม่เคยฟังเลย แล้วเมื่อเริ่มฟังแล้วก็ มีความเข้าใจ มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏเพื่อรู้ความจริง แต่เมื่อยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ยังจะรู้ความจริงของสภาพธรรมไม่ได้ เพียงแต่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เวลาที่สติเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่าสติเกิด ก็เป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ แล้วก็มีการเจริญขึ้นในการฟังด้วย คือไม่ใช่ความอยากที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นผู้มีปกติรู้จักตนเองว่า สติเกิดกับหลงลืมสติ และเมื่อสติเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่า แต่ก่อนนั้นสติไม่เคยเกิด อาศัยการฟังเข้าใจ สติจึงมีการระลึกได้ แล้วแต่ว่าจะระลึกที่ลักษณะของนามหรือว่าจะระลึกที่ลักษณะของรูปที่เป็นปกติอย่างนี้ แล้วก็ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า อย่าให้มีการผิดปกติเกิดขึ้น เพราะถ้ามีความรู้สึกว่า อยากจะทำสักนิดหนึ่ง หรือมีความต้องการสักนิดหนึ่ง นั่นคือลักษณะของโลภะ ซึ่งถ้ามีมากก็จะประกอบกับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ในการที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การรู้แล้วละความไม่รู้จากสิ่งที่กำลังปรากฏ
เมื่อสติเกิดก็เป็นผู้มีปกติ ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วสติก็ดับ ไม่ใช่สติไม่ดับ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ผู้ที่พยายามจะให้มีสติมากๆ หรือว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่อยากมีสติมากๆ หรือไม่ใช่ผู้ที่มารำพันว่า วันนี้สติเกิดน้อยเหลือเกิน ถ้าใครพูดอย่างนั้นก็แสดงอยู่แล้วว่าตัวอยากอยู่ที่นั่น จนทำให้ถึงกับเอ่ยวาจาว่า สติเกิดน้อยเหลือเกิน ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมว่า ตัวจริงคืออย่างนี้ ความจริงคืออย่างนี้ ลักษณะที่สติเกิดคืออย่างนี้ ลักษณะที่หลงลืมสติ คือต่างกับที่สติเกิด ผู้นั้นก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เริ่มที่จะเข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ หมายความว่า การพิจารณาหรือความมั่นคงในความเข้าใจที่เกิดจากการฟังยังไม่พอ
เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังอีก ผู้ที่เป็นสาวกขาดการฟังไม่ได้เลย ฟังไม่ใช่เพื่อที่จะให้สติเกิดในขณะนั้น ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ แล้วแต่ว่าขณะที่เข้าใจนั้นจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม หรือยังไม่เกิด ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของสังขารขันธ์
นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาด้วยความรู้ ความเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรมมีอยู่ตามปกติ ขึ้นอยู่กับสติ และปัญญาที่จะระลึก และที่จะรู้ หรือยังไม่ระลึก หรือยังไม่รู้ ก็ค่อยๆ อบรมไป โดยที่ว่าไม่ต้องไปสงสัย หรือว่าอยากจะทำอย่างนั้น อยากจะทำอย่างนี้ หรือคร่ำครวญอยากจะมีสติมากๆ ซึ่งถ้าใครคิดอยากนั้น โลภะมาแล้ว
ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนะ ก็ไม่มีอะไร นอกจากว่าเมื่อจักขุวิญญาณจิตดับ อนันตรปัจจัยคือจักขุวิญญาณนั่นเอง เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้น โดยเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย คือต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันที แล้วจะเป็นจิตอื่นซึ่งทำกิจอื่นก็ไม่ได้ นอกจากจิตที่เกิดต่อต้องทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือ รับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ นี่ก็เป็นการสืบต่อในขณะที่รูปๆ หนึ่ง กระทบทวารหนึ่ง แล้วก็รูปนั้นยังไม่ดับไป ก็จะต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้น ตามกิจ การงาน หน้าที่ เช่น อาวัชชนจิต ก็ทำกิจรำพึงหรือถึงอารมณ์นั้นก่อนจักขุวิญญาณ เป็นต้น แล้วเมื่อทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดดับไปแล้วเพียง ๒ ขณะ รูปยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้น จิตอื่นก็เกิดสืบต่อทำกิจรู้อารมณ์ โดยรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ
ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ เป็นปรมัตถอารมณ์ จะรู้ความหมายได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ แต่สัมปฏิจฉันนะไม่ใช่อารมณ์ รูปยังไม่ดับ เมื่อจักขุวิญญาณดับ หรือถ้าเป็นทางหู โสตวิญญาณดับ ทางจมูก ก็คือฆานวิญญาณดับ หลังจากนั้นแล้วรูปนั้นยังไม่ดับ เมื่อรูปยังไม่ดับ ก็มีจิตอื่นที่จะเกิดขึ้นรู้รูปนั้น ไม่ใช่มีแต่เพียงจักขุวิญญาณขณะเดียว แต่ว่าจะต้องมีจิตอื่นๆ เกิดขึ้นทำกิจการงานรับรู้อารมณ์ต่อกันมาเรื่อยๆ
สัมปฏิจฉันนะก็เป็นจิตที่ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ
ผู้ฟัง แล้วเป็นตัวเชื่อมที่จะให้วิถีจิตอื่นต่อด้วย มิฉะนั้นเราก็จะไม่ทราบความหมาย
ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อกันของจิต ซึ่งเป็นจิตนิยาม ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงหรือบังคับบัญชาได้ แต่ไม่รู้ ในพระสูตรจะไม่มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเลย จะมีพอใจหลังจากที่เห็น หรือว่าไม่พอใจหลังจากที่เห็น นั่นโดยนัยของพระสูตร แต่ว่าโดยนัยของพระอภิธรรม เพื่อที่จะแสดงให้เห็นการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก สำหรับผู้ที่ขณะนี้เอง เห็นก็ไม่ทราบว่า มีจิตอะไรเกิดสืบต่อ จึงไม่ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทันที ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนพวกปทปรมะ คือ ผู้ที่จะต้องฟังมาก แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะที่เห็นนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร หรือแม้แต่ความรู้สึกชอบไม่ชอบ ซึ่งเกิดต่อก็ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร โดยแสดงให้เห็นว่าวาระหนึ่งซึ่งรูปกระทบกับทวารแล้วยังไม่ดับ จะต้องมีจิตเกิดขึ้นกี่ขณะ จนกว่ารูปนั้นจะดับไป
ผู้ฟัง “ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย” มีความหมายอะไร ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเห็น การได้ยิน หรือว่าการคิดนึกอะไรก็ตามแต่
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นข้อวามในพระสูตรซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรม และสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งกล่าวถึง “ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย” แสดงให้เห็นว่าการเกิดดับของจิตเร็วมาก แล้วที่เราคิดว่าเรามีชีวิตอยู่ เมื่อแตกย่อยลงไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ทุกคนมีจิตเพียงชั่วขณะเดียวเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อจิตขณะก่อนดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
ขณะอย่าได้ล่วง หมายความว่า แต่ละขณะเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก แต่ถ้าไม่รู้ความจริง เราก็จะไม่คิดว่า ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่เราจะหลง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของขณะเดี๋ยวนี้ซึ่งก็กำลังเกิดดับ การที่เราศึกษาเรื่องขณะจิต ก็เพื่อที่จะให้ทราบว่า ทุกขณะสามารถพิสูจน์ได้ รู้ได้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจโดยการฟังก่อน คือ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงเท่านี้ เราอาจจะได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ แล้วในชาตินี้ก็ได้ยินมาก แต่ประโยชน์ไม่ใช่เพียงทวนคำว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ต้องรู้จริงๆ ในขณะแต่ละขณะซึ่งเป็นจิตทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายที่จะปราศจากจิตไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าขณะไหนสติจะเกิดระลึก ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เราจะดูก็ไม่ได้ แต่ว่าต้องเป็นสติที่เกิดขึ้นแล้วก็ระลึก จึงรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ลักษณะแท้ๆ ขณะนี้ก็คือเป็นธาตุ หรือว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่งซึ่งคนตายไม่มี แล้ววันหนึ่งๆ เราก็เห็นแล้วกี่ขณะที่ว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย คือในขณะที่กำลังเห็น สติก็ควรที่จะมีปัจจัยที่จะเกิดระลึกได้ แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย จะปราศจากจิตไม่ได้ แต่ละขณะก็สามารถที่จะให้ความจริงได้ ถ้าเราเข้าใจขึ้น แล้วก็สติสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดระลึก แล้วค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เห็นนี้ ขณะที่ได้ยิน หรือว่าขณะที่กำลังคิดนึกก็ตามแต่ ขณะนั้นเป็นขณะที่สติระลึกได้ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ทีนี้สติที่ระลึกได้ในขณะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สติเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับจิต
ท่านอาจารย์ ถูก
ผู้ฟัง เมื่อจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง มีเจตสิกเกิดขึ้น แสดงว่า จิตแต่ละครั้งแต่ละลักษณะก็มีเจตสิกเกิดร่วมเสมอ
ท่านอาจารย์ ถูก
ผู้ฟัง ทีนี้มีปัญหาว่า ที่ฟังคราวก่อนๆ มีบอกว่า สัตว์บางประเภทไม่มีจิต แล้วก็มนุษย์อาจจะมีจิตมาก มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมได้ฟังบอกว่า สำหรับสัตว์ที่มาเกิด เมื่อจิตเกิดขึ้นในขณะหนึ่ง จะไม่มีจิตที่เป็นกุศล เช่นว่าสติเกิดขึ้น หรือว่าศรัทธาหรือว่าปัญญาก็ตามแต่ แสดงว่าลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เจตสิกที่ปรุงแต่งในขณะนั้น สัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน คือ ต้องเข้าใจ ปฏิสนธิจิตไม่เหมือน แต่จิตอื่น เช่น จิตเห็นของสัตว์กับจิตเห็นของมนุษย์ หรือจิตเห็นของเทพ หรือแม้แต่จิตเห็นของรูปพรหม จักขุวิญญาณ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเหมือนกันหมด
นี่แสดงให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน เราเพียงสมมติกระแสของการเกิดดับของจิต จากปฏิสนธิว่าจิตประเภทนี้เมื่อปฏิสนธิแล้วเป็นสัตว์ หรือว่าเป็นเทพ หรือว่าเป็นพรหมตามปฏิสนธิจิต แต่ว่าจิตขณะอื่นก็จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตนั้นๆ ไม่ได้ เพราะส่วนมากเรามักจะคิดว่า จิตเที่ยงแล้วก็สืบต่อกัน แล้วก็มีอยู่แล้วบ้าง แล้วก็ทำกิจต่างๆ กัน คล้ายๆ กับว่า มีจิตแล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆ แต่ความจริงจิตยังไม่ได้เกิด แต่เกิดเมื่อมีปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีจิตคอยอยู่แล้ว หรือว่ามีจิตเตรียมเก็บเอาไว้หลายๆ ประเภทแล้ว แล้วแต่ว่าประเภทไหนจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เลย แต่หมายความว่าทุกขณะยังไม่มีจิตเกิด แต่จิตเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่จักขุวิญญาณ จิตที่กำลังเห็น หรือว่าโสตวิญญาณ คือจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ จิตที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ไปคอยสำหรับจะเกิด แต่เกิดเพราะโสตปสาทรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ กระทบกับเสียงซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะยังไม่ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยโดยการที่กระทบกับภวังคจิตก่อน แล้วเมื่อภวังคจิตซึ่งเป็นขณะเดียวของทุกคน เกิดแล้วก็ดับไป การกระทบนั้นก็ทำให้จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจลนะ แต่ยังไม่รู้อารมณ์ใหม่ แล้วเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิด ก็ยังไม่รู้อารมณ์ใหม่ เพราะเหตุถ้าเป็นภวังคจิตแล้ว จะไม่มีรูป สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธรรมารมณ์ ที่อาศัยภวังค์เกิดเลย ขณะนั้นก็ยังไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาที่จิตเกิดไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ก็ไม่ใช่ว่าคอยมาเกิด แต่เกิดเพราะปัจจัย คือการกระทบกันของอารมณ์ที่กระทบกับทวารแล้วก็ดับ แล้วการดับนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ให้ทราบว่าเหมือนกับไฟ ซึ่งอาศัยเชื้อแล้วก็เกิดขึ้น แล้วเมื่อดับแล้วก็ดับเลย แต่ว่าสำหรับนามธาตุนั้น เมื่อดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย คือ ไม่มีการที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดอีก เมื่อจิตขณะก่อนดับ ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น
เราทราบได้เลยว่า จิตซึ่งไม่เป็นอนันตรปัจจัยได้แก่จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเกิดจะตายอย่างไร ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิด
ผู้ฟัง การศึกษาการอบรมในเรื่องของพระอภิธรรม หรือว่าศึกษาในเรื่องของธรรมก็จะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้สติเกิดได้ปัญญาเกิดได้ ก็หมายความว่าต้องศึกษาอย่างเดียวเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ เท่าที่เราทราบมาเรื่องขันธ์ ๕ ก็จะต้องทราบว่าสติปัญญาที่ได้ฟังทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่ตัวตน ปรุงแต่งให้เกิด แล้วแต่ว่าจิตขณะต่อไปจะเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทใด
ผู้ฟัง เรื่องเจตสิก ที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ตามที่ได้มีแสดงเอาไว้พอที่จะเป็นแนวทาง
อ.สมพร เรื่องจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ว่าเจตสิกนั้นเกิดครั้งละหลายๆ ดวง คือ หลายๆ ดวง หรือหลายๆ ประเภท แต่จิตเกิดขึ้นครั้งละ ๑ ดวง หรือครั้งละ ๑ ประเภท แต่ก่อนอื่นที่ผมจะกล่าวอย่างนี้ ผมจะขอย้อนต้นนิดหนึ่งที่กล่าวว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย คำว่า “ขณะ” นี้มีความหมายหลายอย่าง ผมจะกล่าวอีกแง่หนึ่ง อีกนัยหนึ่ง นัยหนึ่งอาจารย์ท่านก็กล่าวไปแล้ว แต่ว่ามีอีกหลายนัย อีกนัยหนึ่ง คำว่าขณะ นี้หมายถึงเวลา คำว่าเวลา นี่ก็มีความหมายหลายอย่าง เวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เวลาที่พระธรรมยังเป็นไปอยู่ เวลาที่พระสงฆ์ยังเป็นไปอยู่ หรือเวลาที่เราเกิดเป็นมนุษย์ อันนี้เขาก็ใช้คำว่า ขณะ หรือคำว่า จิต เราก็ใช่เป็นขณะ แต่ขณะนี้ ก็คือเวลา แปลว่าเวลา ขณะหนึ่ง ครู่หนึ่ง ยามหนึ่ง อะไรอย่างนี้ เป็นประเภทเดียวกัน คำว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย นี้ก็หมายความว่าไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปๆ หมดไปๆ โดยที่เราไม่มีสติเกิดขึ้นเลย เป็นการสูญเปล่า เวลาที่มีค่าเพราะว่าชีวิตของเราเมื่อผ่านไปๆ ก็ใกล้ความตายเข้าไปทุกครั้ง เหมือนนายโคฆาตคือคนฆ่าโค จูงโคไปสู่ที่ฆ่า ก้าวเท้าเข้าไปก้าวหนึ่งก็ใกล้เข้าไปก้าวหนึ่ง ๒ ก้าวก็ใกล้ไป ๒ ๓ ก้าว ท้ายที่สุดก็ถึงความตาย ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าอย่าให้ขณะได้ล่วงไปเลย หมายความว่าเวลาของเรากำลังมีค่า มีค่าเพราะมีสติ ถ้าไม่มีสติก็ไม่มีค่า เวลาก็เสียไปเปล่าๆ ดังนั้นเพื่อจะย้ำให้มีสติอยู่ทุกขณะ ท่านจึงกล่าวว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลยเป็นความหมายที่รู้ยาก ขณะนี้ก็คือเวลา อย่าให้เวลานั้นผ่านไปเฉยๆ
ทีนี้ปัญหาที่ ๒ ที่ถามว่าจิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงจะต้องมีเจตสิกเป็นเครื่องปรุงแต่ง แต่เราจะไม่กล่าวจิตอื่น จะกล่าวจิตที่เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เอาของที่ง่ายๆ ก่อน เจตสิก คือ ธรรมชนิดหนึ่ง ในพระบาลีท่านกล่าวคำว่าธรรม คือ จิต และเจตสิก ดังนั้นบางครั้งท่านเรียกเจตสิกว่าธรรม บางครั้งก็เรียกจิตว่าธรรม แต่ว่าคำว่าธรรมนี้ แม้นิพพานก็เรียกธรรม
ธรรมหมายความว่าสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมปรุงแต่งทำให้เกิดการเห็น ถ้าเจตสิกไม่เกิด การเห็นก็ไม่เกิด จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ จิตเห็นก่อนที่จะเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ เจตสิกเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้เกิดการเห็นขึ้น ท่านจึงเรียกจิต และเจตสิกว่า สังขตะหรือสังขาร
สังขตะ แปลว่าสิ่งซึ่งปรุงแต่งแล้ว สังขารคือสภาพที่ปรุงแต่ง คือทำนองเดียวกันจะเรียกว่าสังขตะหรือสังขาร เจตสิกที่เกิดขึ้นกับการเห็นก็มี ๗ ดวงเท่านั้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย มีเจตสิก ๗ ดวงคงที่ เกิดกับจิตหนึ่ง จิต ๑ เจตสิก ๗ รวมเป็น ๘ ดวง ไม่มาก น้อยที่สุด
ท่านอาจารย์ เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ก็มี ๕๐ ประเภท
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ก็มี ๕๐ ประเภท ทำไมแยกเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่รวมไปเลย ไม่ได้หรือ
ท่านอาจารย์ เรายึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเรียงลำดับตั้งแต่รูปขันธ์ ทั้งหมดมีความยึดมั่นในรูปขันธ์ เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นอุปาทานขันธ์ มีความยึดมั่นในความรู้สึกก็เป็นเวทนาขันธ์ แล้วสัญญา ความจำ ถ้าปราศจากสัญญาแล้วทุกอย่างก็คงจะไม่มีความหมาย แต่เพราะเหตุว่าสัญญาจำ ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้เกิดเครื่องปรุงแต่งทั้งหลายอีก เพราะฉะนั้น สัญญาก็เป็นสัญญาขันธ์ แล้วเจตสิกที่เหลือก็รวมเป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดก็เป็นวิญญาณขันธ์
ผู้ฟัง เรื่องสังขารขันธ์ ก็ทำให้เกิดความคิดว่า สังขารขันธ์ ๕๐ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะปรุงแต่งตัวอาวัชชนะ ซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนะ ซึ่งทำหน้าที่มนสิการที่จะเป็นโยนิโสหรืออโยนิโส สังขารขันธ์ฝ่ายกุศลก็ปรุงแต่งให้เกิดโยนิโสมนสิการ สังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแล้ว ปรุงแต่งด้วยอำนาจปัจจัยอะไร อยากจะทราบว่า เป็นปัจจัยอะไรที่ปรุงแต่ง โดยเป็นนิสสยปัจจัยได้ไหม หรืออย่างไร ที่ปรุงแต่งให้เกิดโยนิโสมนสิการ แล้วก็กุศล อกุศลชวนะจะเกิด
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมในเบื้องต้นง่ายๆ ที่จะต้องเข้าใจก็ต้องเข้าใจประกอบกันไปด้วย อย่างที่ว่าจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ เพราะต่างก็อาศัยซึ่งกัน และกัน เพียงเท่านี้ ภาษาบาลีก็เข้ามาหลายคำ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180