ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๕๐

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ นี่แสดงว่าให้เห็นว่า ทั้งหมดทุกคนจะต้องกลับมาสนใจที่จิตของตนเอง ถ้าเป็นจิตที่ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่ามีความรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะไปจัดการเปลี่ยนแปลงความคิดความเห็นของคนได้ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่เราคิดถึงคนอื่นคิดด้วยความสงบของจิต คิดด้วยเมตตา คิดด้วยความรู้เท่าตามความเป็นจริงว่า นี่คือโลก แล้วโลกต้องเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นโลกที่ยังมีกิเลส

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้โลกจะเดือดร้อนเป็นไฟ แต่ว่าคนที่มีสติปัญญายังสามารถที่จะมองโลกหรือว่าเห็นโลกหรือว่าความไม่สงบต่างๆ ด้วยจิตที่สงบได้ แต่ว่าจะไปแก้อกุศลจิตรึกิเลสของคนอื่นนั้นไม่มีทางเลย นอกจากช่วยกันให้เขาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โลกจริงๆ ก็อยู่ที่จิตของแต่ละคน ที่จะต้องรักษาโลกนั้นให้สงบ แล้วก็ไม่ว่าโลกข้างนอก โลกอื่นจะไม่สงบอย่างไรก็ตาม เมื่อโลกนี้คือโลกภายในของแต่ละคนสงบแล้ว ก็จะทำให้แต่ละโลกสงบขึ้น

    ผู้ฟัง เจริญพร เรื่องทุกขลักษณะ คือ อิริยาบถปิดบังทุกข์ อันนี้หมายถึงว่า การเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่างๆ นั้นทำให้ไม่เห็นทุกข์ ถ้าหากว่าจะให้เห็นทุกข์ต้องนั่งเฉยๆ หรืออย่างไรไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องทราบว่า ไตรลักษณะไม่แยกกันเลย หมายความว่าสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นดับไป เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับนั่นเอง เป็นทุกขลักษณะ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่น่ายินดี หรือน่าเพลิดเพลิน เพราะเหตุว่าทุกข์ที่นี้ต้องตรงกันข้ามกับสุข ทุกคนต้องการสุข เพราะติดสุข เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืนเพราะเหตุว่าไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไป ต่อเมื่อใดที่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เมื่อนั้นจะเห็นได้ว่า แม้สุขก็แสนที่จะสั้น สั้นนิดเดียว คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าไตรลักษณะนี้ เป็นลักษณะของสังขตธรรม สังขตธรรมซึ่งเกิดแล้วดับจึงเป็นทุกข์ ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ ต้องเข้าใจว่า เมื่อไตรลักษณะมี ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพที่ปิดบังไม่ให้เห็นไตรลักษณะ คือ สันตติ การเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมปิดบังไม่ให้เห็นการเกิดขึ้น และดับไป อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุว่าการประชุมรวมกันของรูปทำให้เห็นว่า เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงไม่ประจักษ์การเกิดดับ ตราบใดที่ยังเห็นสิ่งใดที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีทางที่จะดับได้เลย เพราะเหตุว่าแท้ที่จริงแล้วรูปแต่ละรูปเกิดอย่างเร็ว ปรากฏอย่างเร็ว แล้วก็ดับอย่างเร็วแต่ละทางหรือว่าแต่ละทวาร เช่น รูปทางตากระทบจักขุปสาทแล้วดับ ไม่ใช่ไม่ดับ เสียงที่กระทบกับโสตปสาทแล้วดับ ไม่ใช่ไม่ดับ

    สภาพธรรมที่เกิด ปรากฏ สั้นแล้วก็ดับ ลักษณะที่เกิดดับแต่ละอย่างแต่ละทาง เมื่อประจักษ์ว่า ไม่ใช่สภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้ ส่วนฆนสัญญาก็โดย นัยเดียวกัน คือการประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั่นเองปิดบังสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ แม้ในขณะที่ยังไม่ต้องเคลื่อนไหวอิริยาบถเลย สำหรับสิ่งที่มีชีวิต เมื่อเกิดมาแล้ว ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีรูปขันธ์ด้วย ไม่ใช่มีแต่นามธรรม เพราะฉะนั้น รูปแต่ละรูปทยอยกันเกิดขึ้น แล้วทยอยกันดับไปอย่างเร็วมาก ขณะที่เห็นแล้วมีจิตที่รู้สีทางตาหลายขณะวาระหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกัน แล้วก็ดับไป มีภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตสืบต่อ แล้วมีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วมีการได้ยินเสียงที่กระทบทางหู มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วมโนทวารวิถีจิตซึ่งรู้เสียงต่อ แล้วก็มีการรู้ความหมายของเสียง แต่ละวาระในขณะนี้เร็วมาก แต่ปรากฏเสมือนว่า ทุกคนในขณะนี้ ทั้งเห็นทั้งได้ยิน แล้วรูปก็มีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เห็นความสั้นของรูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นว่า สั้นกว่าที่เราคิดสักแค่ไหน คือขณะที่ทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน ห่างไกลกันเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่งที่เกิดต้องดับแล้ว

    รูปใดก็ตามที่ไม่ปรากฏในขณะนี้ กล่าวได้เลยว่ารูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด การที่จะประจักษ์สภาพธรรม โดยที่ไม่มีอิริยาบถปิดบัง คือเพิกอิริยาบถก็ต่อเมื่อสติระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วก็แต่ละทาง แล้ววิธีพิสูจน์ธรรมไม่ยากเลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นของจริงทุกขณะ เช่น ในขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ มีอะไรที่เป็นรูปปรากฏ ไม่ใช่เรานึกว่ามีรูปของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นั่นเป็นอัตตสัญญา หมายความถึงความทรงจำว่า มีรูปร่าง มีตัวตน มีมือ มีแขน มีเท้า แต่เวลานี้ที่กำลังเห็น มืออยู่ที่ไหน เท้าอยู่ที่ไหน ปรากฏหรือเปล่า ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏ คือ ลักษณะที่แข็งที่ปรากฏส่วนหนึ่งส่วนใดที่กระทบ ขณะนั้นไม่ได้มีศีรษะ ไม่ได้มีฟัน ไม่ได้มีผม ไม่ได้มีตับ ไม่ได้มีปอด ไม่ได้มีอะไรปรากฏเลย มีแต่เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏส่วน ๑ ส่วนใดของกายที่กระทบ

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สำหรับรูปที่ปรากฏทางกายจะต้องเป็นลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวในขณะนี้ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีรูปที่เป็นอิริยาบถ มีแต่ความทรงจำว่ายังมีรูปอยู่ แต่ว่าไม่มีรูปปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะไปประจักษ์ การเกิดดับของสิ่งที่ไม่ปรากฏ แต่ขณะที่แข็งปรากฏ แล้วก็มีการรู้ในลักษณะของสภาพที่แข็ง แล้วก็รู้ว่าลักษณะที่แข็งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วขณะที่กำลังรู้แข็งก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทั้ง ๖ ทางไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ เมื่อนั้นก็จะประจักษ์ได้ว่า ไม่มีตัวตน แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่มีท่าทาง ไม่มีโลกใดๆ รวมอยู่ในลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางทวารนั้น ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าต้องมีการเคลื่อนไหว แล้วถึงจะไปเป็นอิริยาบถปิดบังทุกข์ แม้แต่ขณะใดก็ตามที่รูปไม่ปรากฏ แล้วทรงจำไว้ว่ามีรูป นั่นก็คืออัตตสัญญา

    ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าหรือท่านผู้อื่นมีสงสัยในเรื่องนี้ไหม พิสูจน์ได้เลย ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ปรากฏที่กาย ไม่ต้องไปจำ เพราะเหตุว่ามีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ไม่ใช่นึกคิดว่ามี แต่ว่าลักษณะนั้นใครก็สร้างไม่ได้ อย่างแข็งไม่มีใครสามารถจะสร้างได้เลย ทำแข็งขึ้นมาก็ทำไม่ได้ มีแข็ง มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก เพราะเหตุว่ามีปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ สติระลึกเมื่อไหร่ ก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นจริงอย่างนั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ส่วนใหญ่แล้วทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏ แต่ถ้าการฟังไม่มากพอ สัญญาความจำในเรื่องลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่มากพอ ก็มักจะคิดนึกเรื่องสภาพธรรม แทนที่สติจะระลึกตรงลักษณะที่เป็นสภาพธรรมจริงๆ จนกว่าจะค่อยๆ ชำนาญขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ เมื่อก่อนที่เริ่มศึกษาธรรมใหม่ๆ ก็เข้าใจเพียงสั้นๆ ว่า อนิจจลักษณะ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักษณะ คือลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักษณะ คือลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนก็เข้าใจเพียงสั้นๆ แค่นี้ ท่านอาจารย์ก็ได้กรุณาให้ความกระจ่าง ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนถึงการเข้าใจความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์

    มีคำถามที่จะเรียนถามเรื่องที่เกี่ยวกับพยัญชนะโดยศัพท์ ความหมายของคำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    สมพร อนิจจัง ก็ปรากฏแล้ว อนิจจัง อะ ไม่ แล้วก็ นิจ จัง นิจจังแปลว่าเที่ยง อนิจจัง ก็ไม่เที่ยง ตรงตัวแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วทุกขัง

    สมพร ทุกขัง สภาวะที่เป็นทุกข์ หมายความว่ามันตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์ อันนี้ศัพท์เดียวไม่ต้องแยก

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไรประกอบกับอะไรเป็นทุกขัง

    สมพร ถ้าประกอบก็หมายความว่า เป็นของที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นสาระ ขัง ทุกขังเหมือนอากาศ ว่างเปล่าเป็นทุกข์ คล้ายๆ อย่างนั้น แต่ผสมเป็นศัพท์เดียว คือว่าเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีสาระอะไรเลยที่จะตั้งอยู่

    ผู้ฟัง แล้วอนัตตา

    สมพร อนัตตาก็มาจาก นะ กับอัตตา แปลงนะเป็นอนะ ผสมกันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อะแปลงเป็นอนะได้ อนะ กับ อัตตา ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็หมายความว่าบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ๓ อย่างนี้ เป็นสามัญญะ เป็นลักษณะที่เสมอกับสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าใคร เป็นยาจกเข็ญใจ พระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ เสมอกันหมดเลย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าทั่วไป สามัญญะแปลว่าเสมอ หรือทั่วไป ไม่เว้นใครเลย แม้พระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ในเรื่องความว่างเปล่า ลักษณะมันจะคล้ายๆ กับผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลจากทายาทลูกหลานอะไรในทำนองนั้น จะลักษณะเดียวกันหรือไม่ คือว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักจะหงอยเหงา แล้วก็มีความทุกข์ มีความคิดกลัวจะถูกทอดทิ้ง อะไรทำนองนี้ ก็จะเกิดความว่างเปล่าอะไรทำนองนั้น จะเป็นลักษณะเดียวกันหรือไม่

    สมพร ความทุกข์ของผู้สูงอายุแบบนั้น เป็นกิเลสที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน กิเลสทั้งหมดซึ่งเป็นประธาน เป็นมูล เป็นรากเหง้า คือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ว่ากิเลสเมื่อเกิดขึ้นทุกครั้งทำจิตใจหวั่นไหว ก็จะต้องมีความฟุ้งซ่านประกอบอยู่เสมอ ขณะที่ว้าเหว่ คล้ายๆ ว่า ไม่สบายอกสบายใจ ขณะนี้ก็เป็นโทสะ ไม่สบายใจ แต่ถ้าขณะใดได้ลาภ และสิ่งของ ปลื้มอกปลื้มใจมากหรือน้อย ก็เป็นโลภะ เพราะว่าจิตของคนเราที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้เจริญสติไม่ว่างจากโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะแน่นอน บางทีอาจจะเกิดติดต่อกันไปเป็นเวลานาน เพราะว่ายึดตัวว่าเป็นเราจริงๆ การที่ยึดอย่างนี้ก็เนื่องจากว่าไม่ได้ฟังธรรมของพระอรหันต์ ธรรมของพระอรหันต์ว่า ตัวตนนี้เป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ จริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงอย่างแท้จริง ถ้าเรายึด เราติดว่า เป็นเรา เป็นผู้ใหญ่ เคยมีลาภ เคยมีคนเอาของมาให้ ถ้าไม่ให้แล้ว ขณะนั้นจิตเราก็วุ่นวาย มีโทสะเกิด โทสะเกิด โทสะหมายความไม่สบายใจแม้นิดหนึ่งก็เป็นโทสะ แต่เมื่อเราได้ของแล้ว โลภะก็เกิด จิตของเราไม่ได้ฟังธรรมจะไม่ว่างจากโลภะ โทสะเลย

    ผู้ฟัง ปัญหาที่พระคุณเจ้าถามก็คงเป็นเรื่องของคนที่ขาดธรรมเป็นเกาะ ไม่มีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงเกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวในเมื่ออยู่คนเดียว ซึ่งผิดกับผู้ทีมีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่างท่านพระอัสสชิ สละราชสมบัติไปบวช อยู่แต่ผู้เดียว ยืนเดิน นั่ง นอน มักจะอุทานว่า สุขหนอๆ เพราะว่าท่านมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ทางด้านจิตใจ ท่านจึงไม่อ้างว้างไม่เปล่าเปลี่ยว

    กิเลสตัวแรกที่เราจะต้องละ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด มีอยู่ ๓ คือ อัตตสัญญา ความเห็นผิดคิดว่ามีตัวตน แล้วก็สักกายทิฏฐิ คิดว่า มีร่างกายของเรา เรามีกาย ในกายมีเรา และฆนสัญญา มีความหมายกว้างแคบอย่างไร

    สมพร อัตตสัญญา ใช่ไหม สำคัญว่าเป็นตัวตนเป็นเราจริงๆ คือว่าถ้าเป็นเราจริงๆ เราก็สามารถบังคับได้ คำว่าอัตตาเป็นไปในศัพท์ว่าบังคับบัญชาได้ เป็นอัตตาก็เหมือนที่ชาวโลกเขาเข้าใจว่า เขาจะยืนเขาก็ยืนได้ ต้องการจะเดินก็เดินได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ เพราะตัวตนของเขา แต่เพราะไม่เข้าใจคำว่า “อัตตา” อัตตาแปลว่าบังคับบัญชาได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วบังคับได้หรือเปล่าตัวตน บังคับไม่ได้ การที่เรายืนได้ ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างจึงยืนได้ ถ้าอาหารไม่มีในท้องเลย ไม่มีแรง เราก็ลุกไม่ขึ้น หรือเราเป็นโรคอัมพาต หรือโรคร้ายแรงชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ลุกไม่ขึ้น ต้องพร้อมด้วยปัจจัยหลายอย่าง หรือเราไม่มี ต้องประกอบด้วยกรรมเป็นปัจจัย จิตเป็นปัจจัย อาหารเป็นปัจจัย อุตุเป็นปัจจัย เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้แล้ว จึงลุกได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เพราะปัจจัย ปัจจัยเหล่านี้เป็นแต่ละอย่าง เป็นแต่ละอย่างประชุมกัน

    ทีนี้คำว่าตัวตนจริงๆ เขาไม่ได้มุ่งถึงว่า เกิดเพราะปัจจัย เกิดเพราะความเข้าใจของเขาว่าเขาจะทำอะไรก็ทำได้ นั่นไม่ได้ศึกษาธรรมรายละเอียด เข้าใจแต่เพียงบัญญัติว่า เป็นเรา เป็นเขา นั่นเป็นแต่เพียงสมมติ พระองค์ก็ตรัสว่า สมมติจริงเหมือนกัน แต่จริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงโดยปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องด้วยปัญญา ถึงแม้ว่าเราจะเรียนมาสักเท่าไหร่ว่า ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็อิริยาบถก็ปิดบังทุกข์ แล้วก็สันตติก็ปิดบังอนิจจัง ก็เป็นคำที่เราจำได้ แต่ว่าไม่ใช่การประจักษ์ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ระดับของปัญญาต้องเป็นไปตามขั้นด้วย

    ผู้ฟัง เจริญพร อาตมาจะขอถามคำถามด้วย คือ ก่อนครั้งพุทธกาลก็มีคนที่เห็นความทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แล้วเป็นฤๅษี ก็มี การที่เขาเห็นความทุกข์หรือเห็นความไม่เที่ยง ซึ่งเราได้ศึกษารู้ว่าลักษณะทั้ง ๓ ไม่แยกจากกัน ทำไมเขาสามารถเห็นความทุกข์ได้ เห็นความไม่เที่ยงได้ แต่ทำไมไม่สามารถรู้ถึงความเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ นึกเอา เช่น เกิดเป็นทุกข์ เวลานี้ตั้งหลายคนก็คงจะคิดออกว่า เกิดมาเป็นทุกข์ที่ต้องเห็น ต้องรับประทานอาหาร ต้องอาบน้ำ ต้องทำธุระ ต้องอะไรตั้งหลายอย่าง เพราะฉะนั้น โดยการที่คิดนึกถึงสภาพความจริง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นทุกข์แน่ๆ การที่เราต้องเกิดมา แล้วก็ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ต้องเห็น จะไม่เห็นก็ไม่ได้ ต้องได้ยิน แล้วก็ต้องคิดนึกด้วย แล้วจิตที่คิดนึกก็คิดนึกวิจิตรต่างๆ กัน ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ สุขทุกข์ต่างๆ นานา บางคนก็อาจจะมองเห็นแล้วว่าการเกิดนี้เป็นทุกข์ แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาพูดกันได้ยินกันมา พอเข้าวัดก็ได้ยินแล้ว แต่ก็เป็นแต่เพียงจำได้ การจำได้ว่า อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้อนิจจัง อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้อนัตตา จำได้แค่นี้พอจะเป็นสัจจญาณได้หรือยัง

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ใครก็ตอบได้ ถามใครก็บอกได้ จำได้ ๓ คำนี้ เมื่อไหร่ก็ตอบได้ทุกคน

    ผู้ฟัง แล้วที่จะเป็นสัจจญาณ จะรู้แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าการที่จะรู้แจ้งทุกข์ได้ คือขณะนี้ที่กำลังเป็นทุกข์ คือ กำลังเห็นเป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ เพราะเกิดดับ ต้องรู้ด้วยเป็นทุกข์เพราะเกิดดับ เพราะไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นความจำได้อยู่ดี

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ารู้แน่ๆ ว่า การที่จะต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของทุกข์ไม่ใช่ไปรู้ว่า เกิดมาแล้วเป็นทุกข์ ต้องรับประทานอาหารเป็นทุกข์ ป่วยไข้เป็นทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า มีความรู้จริงๆ ว่า ทุกข์ขณะนี้สามารถประจักษ์แจ้งได้ นี่คือสัจจญาณ

    ผู้ฟัง แสดงว่า ปัญญาพอที่จะรู้ปรมัตถธรรมบ้าง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน คือรู้หนทางด้วย หมายความว่าในอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ ทุกขคามินีปฏิปทาอริยสัจ สัจจะทั้ง ๔ เริ่มจากทุกขสัจ ซึ่งถ้าจะพูดทั่วๆ ไปอย่างคนอื่นเขาบอก เกิดเป็นทุกข์ ถามเขาไม่ใช่ทุกขสัจแน่ เพราะทุกข์ของเขาไม่ใช่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ที่กำลังเกิดดับ เป็นทุกข์

    ผู้ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสัจจญาณ จึงจะมีกิจจญาณ คือสติระลึกได้ที่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ถูกว่า ทุกขสัจจะนั้นคือขณะนี้

    ผู้ฟัง แสดงว่าที่เรียกว่าสัจจญาณ ว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค ที่เป็นสัจจญาณขั้นต้น ไม่ใช่รู้แบบจำได้

    ท่านอาจารย์ ถึงจะเรียนพระอภิธรรมมาหลายปริจเฉท แต่สติไม่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไปทำอย่างอื่น นั่นก็ไม่รู้สัจจญาณ เพราะเหตุว่าไม่รู้จริงๆ ว่าขณะนี้ต่างหากที่กำลังเป็นทุกขสัจ

    ผู้ฟัง แสดงว่าความเข้าใจในปรมัตถธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นความเข้าใจที่มองเห็นลู่ทางแน่นอนแล้ว

    ท่านอาจารย์ มีความรู้ถูกในอริยสัจ ๔ รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จึงจะเป็นสัจจญาณ แล้วก็สัจจญาณนี้เองเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เกิดกิจจญาณต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสัจจญาณ สติก็ไม่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ก็ไปทำอย่างอื่นกัน นั่นคือผู้ที่ไม่รู้อริยสัจจะที่เป็นสัจจญาณ

    ผู้ฟัง เมื่อกิจจญาณนั่นแหละ ถึงจะเห็นว่าอนิจจลักษณะเป็นอย่างไร ทุกขลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ถ้าสติไม่ระลึก ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง ผมได้ฟังอาจารย์มาก็หลายปีแล้ว มีความมั่นใจว่า ปรมัตถธรรมเกิดอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อารมณ์ต้องเป็นปรมัตถธรรมตลอด คือ จะไม่เป็นสมมติบัญญัติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อารมณ์ของตาของจักขุวิญญาณ ของโสตวิญญาณ ของฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ของกายวิญญาณ อารมณ์ของปัญจวิญญาณทั้ง ๕ จะต้องเป็นปรมัตถธรรมแท้ๆ ผมเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ทางตาที่เห็นเป็นของจริง ไม่เรียกชื่อสภาพที่ปรากฏทางตามี สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ แล้วปรากฏ ต้องเป็นปรมัตถธรรม จะใช้คำนี้หรือไม่ใช่คำนี้ จะใช้ศัพท์หรือไม่ใช้ศัพท์ แต่หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ