ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๕๕

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    อ.นิภัทร มีใครเบื่อจริงๆ หรือเปล่าคงไม่มี แต่ว่ามันเบื่ออะไรก็ไม่ทราบฟังๆ อยู่รู้สึกเบื่อๆ ที่เราเรียนๆ ไปจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับที่จะเป็นข้อปฏิบัติหรือเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ที่เรียนๆ กันมากมายไปหมด ที่ฟังรายละเอียดต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ที่เบื่อเพราะไม่รู้ จริงๆ คือ ในเมื่อกามาวจรจิตเป็นจิตในขณะนี้เองของทุกคนที่กำลังเห็น ถ้าพูดถึงจิตเห็น เราเข้าใจ แต่ถ้าบอกว่าเป็นกามาวจรจิต เราเพิ่มความเข้าใจมาอีกขั้นหนึ่งว่า จิตมีหลายประเภท มีถึง ๘๙ ชนิด ถ้าแยกแล้ว เป็นกามาวจรจิต ๕๔ ประเภท แสดงให้เห็นว่ายังมีจิตอื่นนอกจากนี้ แต่ถ้าจิตเหล่านั้นยังไม่ไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่เห็น ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตเหล่านั้นได้ ที่เราสามารถจะรู้ลักษณะคือเฉพาะจิตที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าเป็นเรื่องของตัวเอง ตอนนี้คงจะไม่ค่อยเบื่อ เพราะว่าเริ่มจะเข้าใจตัวเองขึ้นในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินเป็นต้น

    ผู้ฟัง เรื่องของตัวเอง แต่ว่าเราก็ไม่พยายาม ที่จะเข้าใจตัวเอง มันก็ควรจะลงโทษตัวเอง

    ท่านอาจารย์ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ มีสภาพธรรมที่ตัวแล้วก็ไม่รู้แล้วก็เบื่อ แต่ถ้าเริ่มรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่สามารถจะเข้าใจขึ้นได้ อันนี้เป็นจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงของทุกคนจะหนีไม่พ้นจิตประเภทนี้ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคิดนึกตาม คือคิดนึกตามสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดนึกตามเสียงที่ปรากฏทางหู คิดนึกตามกลิ่น ตามรส ตามสิ่งที่กระทบสัมผัส ตามเรื่องราวต่างๆ วนเวียนอย่างนี้เอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะเกิดปัญญาขึ้น จะดีกว่าการที่เราเกิดมาแล้วก็เห็นไป ได้ยินไป แล้วก็ไม่รู้เรื่องสภาพธรรมเหล่านี้เลย แล้วสำหรับเรื่องของกามาวจรจิตก็เป็นเครื่องยืนยันปัญญาที่จะเกิด ว่าปัญญาที่จะเกิดไม่ได้รู้อย่างอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    การศึกษาธรรมกับการอบรมเจริญปัญญา หรือที่ใช้คำว่า”ปฏิบัติ” ก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่ใช่ว่าปัญญาไปรู้อย่างอื่น เมื่อขณะนี้สภาพที่ปรากฏเป็นกามาวจรจิต ปัญญาก็จะต้องรู้กามาวจรจิตพูดง่ายๆ คือขณะที่กำลังเห็น แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุหรือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีปัจจัยจึงเกิดได้ ถ้าศึกษาต่อไปจะเห็นความน่าอัศจรรย์ว่า จิตเพียงขณะเดียวก็ยังต้องอาศัยปัจจัยหลายปัจจัยทำให้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นทำกิจนิดเดียวแล้วดับ ที่ว่าจะเบื่อหรือน่าเบื่อต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วถึงจะเกิดปัญญาที่คลาย หน่าย การที่เคยติดในการเห็น การได้ยิน โดยที่วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไป โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    การปฏิบัติธรรม หรือที่ใช้คำว่าวิปัสสนา หรือที่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน ไม่ใช่รู้อย่างอื่น สอดคล้องกับการศึกษาที่เรากำลังศึกษาเรื่องกามาวจรจิต คือ ต้องรู้ทางตาที่กำลังเห็น ในลักษณะของนามธรรมซึ่งเห็น และในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นการยืนยันว่า ต้องตรงอย่างนี้จึงจะถูก ถ้าไม่รู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะชื่อว่าปัญญาไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่าที่เราศึกษาเรื่องกามาวจรจิต เพื่อจะให้เป็นแนวทางที่จะให้เรารู้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องกามาวจรจิต ไม่ฃื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คงจะเห็นความจำเป็น และความสำคัญของกามาวจรจิต อาจจะหายเบื่อไปบ้าง

    ผู้ฟัง เรื่องเบื่อ เราเบื่อไม่จริง เพราะว่าเราไม่มีปัญญา แต่ที่เรามีมากนั้นก็คืออวิชชาคือ ความไม่รู้จริง เพราะฉะนั้น ความไม่รู้จริงมีมากเหลือเกิน เมื่อมีมากแล้ว เมื่อฟังธรรมเพียงเท่านี้ เราก็ปรารถนาอยากจะให้มีปัญญามากๆ เพื่อจะทำลายอวิชชา ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราสะสมไว้มาก สมบัติของเราจริงๆ คือ ความไม่รู้ คือ อวิชชา มากมายเหลือเกินอุปมาก็ใหญ่เหมือนช้าง มโหฬารเหลือเกิน ตัวมันใหญ่เหลือเกิน แต่เราสะสมเพียงแค่คงจะเป็นมดน้อยๆ มีปัญญาแล้วก็อยากจะไปเอาชนะช้าง คงจะไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ค่อยรู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกขึ้น ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นของจริง เป็นสัจธรรม แล้วสติจะได้ระลึกถูกต้อง เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญานั้นจะพ้นจากสติปัฏฐานไม่ได้ หมายความว่าปัญญาอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟังเรื่องของกามาวจรจิต แต่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของกามาวจรจิตในขณะนี้ ที่เป็นจิต ที่เราบอกว่าเป็นจิต แล้วเราก็ต้องพูดเรื่องนามธรรม พูดเรื่องจิตบ่อยๆ เพราะเหตุว่า ถึงแม้จะใช้คำว่าจิต ก็รู้จักเพียงชื่อของจิต แล้วก็บอกว่าจักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น ก็รู้อีก เข้าใจอีก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้รู้ลักษณะสภาพที่เห็น ที่กำลังเห็นในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถึงลักษณะสภาพของนามธรรมว่า นามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือว่าสภาพรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น คือในขณะนี้ เพื่อสติจะได้ระลึก ขณะใดที่สติระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ โดยปกติก็จะเป็นมรรคมีองค์ ๕ แล้วในที่สุดก็จะไม่พ้นจากการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ตามปกติ

    ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ น้อมเข้ามาในเรื่องของกามาวจรจิตว่า คือ ขณะนี้ว่าลักษณะของจิตว่าเป็นอย่างไร สังเกต สำเหนียก รู้ในเรื่องของจิต

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็ ถ้าหากว่าค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ หมั่นพิจารณาในเรื่องกามาวจรจิตบ่อยๆ เสมอๆ เนืองๆ เช่นนี้ ผมคิดว่า ท่านผู้ฟังทั้งหลายก็อาจจะเกิดความร่าเริงในธรรมีกถาที่อาจารย์ได้แสดง แล้วตัวของเราเอง สังเกตบ่อยๆ ก็คงจะไม่เบื่อง่ายๆ และคงจะรื่นเริงในธรรม มีความสนุกสนานในธรรม บันเทิงในธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีใครมาบอกเราว่า นั่งๆ แล้วก็ได้ฌานเราก็ จะรู้ได้ว่าไม่จริงเพราะเหตุว่าปัญญาไม่มีเลย แล้วฌานจิตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม จะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือจะต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้เรื่องกามาวจรจิตว่า มีกี่ประเภท แล้วก็เป็นชีวิตประจำวันของเราจริงๆ ทุกวัน ซึ่งวันนี้เราก็จำแนกโดยภูมิว่าจิตทั้งหมด ๘๙ เป็นกามาวจรจิต ๕๔ ซึ่งเราก็มีไม่ครบ น้อยลดลงมาจาก ๕๔ ต่อไปจะรู้ว่ามีจิตของพระอรหันต์รวมอยู่ด้วยที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้น ปกติธรรมดาของเราไม่ครบ ๕๔ การที่จะศึกษาเข้าใจเรื่องของจิตน้อยกว่า ๕๔ ก็ไม่ยากเท่าไหร่

    ผู้ฟัง จำแนกจิตไปละเอียดถึงขนาด แต่ละประเภทของจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องให้รู้กามาวจรจิต ๕๔

    ผู้ฟัง ขณะที่รู้นั้น ก็ต้องสังเกต

    ท่านอาจารย์ อันนี้สั่งไม่ได้ หรือบอกไม่ได้ หมายความว่าเมื่อมีความเข้าใจขึ้น สติจึงจะระลึกได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องของจิตเลย จะให้จิตทำวิปัสสนาหรือว่าเจริญสติปัฏฐาน หรือปฏิบัติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นไม่มีปัญญา การอบรมเจริญภาวนาต้องเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นเป็นไปกามาวจร หมายความว่า จิตเกิดที่เป็นจิตที่เป็น กามาวจรจิต จึงเป็นกามาวจรภูมิ หรือกามภูมิ

    ผู้ฟัง เป็นกามภูมิ แล้วภพภูมิที่เกิด หมายความถึงอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดเป็นกามาวจรจิต

    อ.สมพร กามาวจรจิตก็หมายความว่ากามาวจรภูมิ ภูมิในที่นี้ก็หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้น จิตชั้นต่ำที่สุดที่มีอานุภาพน้อย เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตอะไรเหล่านี้เป็นต้น เป็นจิตชั้นต่ำ บางครั้งก็เป็นอกุศล ถึงเป็นกุศลก็มีอานุภาพน้อย เป็นจิตชั้นต่ำ เรียกว่า ท่านใช้คำเรียกว่า หีนจิต จิตต่ำ คือ ต่ำกว่าเขาหมดเลย เป็นกามาวจร กามาวจรจิตนั่นเอง เกิดอยู่ในกามภูมิ หรือเกิดในภูมิอื่นท่านก็เรียกว่ากามาวจรจิต เพราะว่าท่านกล่าวถึงส่วนมาก ในพรหมโลกก็มี รูปภูมิก็มีกามาวจรจิต ถึงอย่างนั้นท่านก็บอกว่า จิตนี้เป็นกามาวจรจิตเป็นกามาวจรภูมิเอาส่วนมากเป็นเกณฑ์ พวกพรหมก็มีการเห็น การเห็น จิตเห็น เป็นกามาวจรจิต จิตได้ยินก็เป็นกามาวจรจิต ถึงในรูปพรหมก็ตาม จิตในรูปพรหม โดยมากท่านกล่าวว่า ส่วนมากเป็นไปในกามภูมิ เป็นไปในรูปภูมิก็ได้ แต่ว่าส่วนมากเป็นไปในกามภูมิ

    ผู้ฟัง รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ เพราะว่าภูมิของจิตที่ระดับขั้นที่ต่ำที่สุดนั้นคือกามาวจรภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต สนทนาผ่านไปแล้ว ทีนี้จิตระดับสูงขึ้นมากว่ากามาวจรจิต คือ รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกกุตตรจิต

    อ.สมพร รูปาวจรจิต ก็แยกออกเป็น รูปะ กับ อวจร แล้วก็จิต ๓ ศัพท์สนธิกันเป็นรูปาวจรจิต คำว่า รูปะ แปลว่ารูป ก็หมายความถึงว่าเป็นภพภูมิอันหนึ่ง เป็นสถานที่บุคคลได้ฌาน ได้รูปฌานแล้วไปเกิดขึ้น เป็นภูมิ เรียกว่า รูปะ ท่านพูดสั้นๆ บางทีก็เรียกว่ารูปภูมิ คำว่า อวจร แปลว่าท่องเที่ยว จิตที่ท่องเที่ยว แต่บางครั้งเช่นเราเกิดในกามภูมิ เราได้ฌาน จิตเราก็ท่องเที่ยวไปในภูมินี้ได้ในรูป รูป คือ นิมิตของฌานนั่นเอง ท่องเที่ยวไป ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จุตตุถฌาน ปัญจมฌาน ส่วนคำว่า อรูปฌาน อรูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเป็นภูมิต้องไปเกิดในภูมิที่เป็นอรูป อรูปพรหม มีความหมายต่างกันนิดหน่อยอย่างนี้ รูป กับอรูป มีรูป ไม่มีรูป

    ผู้ฟัง ในคำแรก รูปาวจรจิต ท่านอาจารย์ก็ให้ความหมายว่า รูปหมายถึงภูมิ อันหนึ่ง คือ รูปภูมิ อวจร ก็หมายถึงว่าท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น รูปาวจรจิต ก็คงจะหมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภูมิ แล้วก็สำหรับอรูปาวจรจิต คือ จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป ซึ่งอรูป ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ หมายความว่าไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอารมณ์ หรืออย่างไร

    อ.สมพร เราต้องศึกษาตั้งแต่ต้นก่อน อันนี้คือว่า รูปนิมิตที่เป็นอารมณ์ คนที่จะได้ฌาน ต้องได้นิมิต กสิณนิมิต เวลาที่ฌานจะเกิด มีปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตเป็นรูปแต่เป็นรูปนิมิต ไม่ใช่เป็นรูปปรมัตถ์ เป็นรูปโดยสมมติ หลับตาก็เห็นภาพ ภาพนิมิตนั้นปรากฏก่อนที่ฌานจะเกิด เรียกว่า อุปจารฌาน เกิดก่อน แล้วก็อัปนาฌาน ฌานประกอบด้วยองค์ ๕ เกิดขึ้น มีรูปอันนั้น รูปนิมิตอันนั้นเป็นอารมณ์ คือ ระดับของจิตนี้สูงกว่ากามาวจรจิต เพราะไม่มีกิเลสพัวพันในขณะนั้น เพ่งรูปดิน หรือน้ำ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิต นิมิตอันนั้นแหละเรียกว่ารูปนิมิต มีรูปเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับลักษณะของ รูปาวจรจิตกับอรูปาวจรจิต เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คงทราบแล้วว่า กามาวจรจิตซึ่งเป็นกามภูมิ เป็นระดับของจิตขั้นต้นหรือขั้นต่ำสุด เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ ชีวิตประจำวันจริงๆ ของทุกคนที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้แต่การคิดนึกก็คิดนึกในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี่เอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากามาวจรจิต เป็นระดับต้น แต่สำหรับรูปาวจรจิต เป็นอีกระดับหนึ่งของจิต ซึ่งไม่ใช่จิตที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตซึ่งสงบเป็นกุศลซึ่งยิ่งใหญ่ ใช้คำว่ามหัคคต

    อ.สมพร มหัคคต หมายความว่าถึงความเป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ เป็นคำรวมของคำว่าอะไรบ้าง

    อ.สมพร มหัคคตมาจาก มหา คต ก็ถึง ถึงความเป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจภาษาบาลีอาจจะคิดเอาเองว่า ใช้คำว่า อรรค แต่ไม่มีเลย ใช่ไหม มหา กับ คต เป็นมหัคคต ที่นี้ได้ยินคำว่า มหัคคต บางคนก็คิดว่ามีอรรค รวมอยู่ด้วย

    อ.สมพร ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของภาษาบาลี อย่าคิดเอง มหัคคต คือ มหากับคต เป็นสภาพของจิตที่สงบเป็นกุศลมั่นคง ไม่ใช่เพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ อย่างเวลาที่เป็นทาน หรือศีล ซึ่งในชีวิตประจำวันก็มีกุศลจิตเกิดได้ แต่ว่าความสงบในขณะที่ให้ทาน หรือว่าวิรัติทุจริตก็ดี แม้ในขณะที่ฟังธรรม แล้วก็มีจิตที่ผ่องใส เกิดความเข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นกามาวจรกุศล เพราะเหตุว่ายังเป็นกุศลซึ่งเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังเห็น ยังได้ยิน แต่สำหรับรูปาวจรจิต ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่คิดนึกเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสงบพ้นจากการมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็มีความเข้าใจที่จะสามารถรู้ว่า ขณะใดกุศลจิตเกิด ขณะใดอกุศลจิตเกิด จึงรู้ลักษณะของนิวรณธรรมทั้ง ๕ เพราะเหตุว่าตามปกติธรรมดาของอกุศลทุกประเภทเป็นนิวรณธรรม เป็นธรรมเครื่องขัดขวางการเจริญทางฝ่ายกุศล แต่เมื่อชีวิตวันหนึ่งเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยอกุศลจิต ก็ไม่เคยเห็นเลยว่า เป็นอุปสรรคขัดขวางอะไร แต่จริงๆ แล้ว จิตขณะนั้นไม่สงบ จะมีความสงบในวันหนึ่ง ก็เพียงชั่วขณะที่จิตเป็นกุศลซึ่งสั้น และก็เล็กน้อย เพราะเหตุว่าไม่มั่นคง เช่น ทางหูได้ยินเกิดขึ้น และกุศลจิตเกิดสั้นมาก ชั่วจิต ๗ ขณะ หรือว่าทางตา กุศลจิตเกิดก็ชั่วจิต ๗ ขณะ ไม่มั่นคงที่จะให้กุศลนั้นเกิดดับสืบต่อกันยิ่งกว่านั้นได้ แต่สำหรับมหัคคต หรือมหาคต ซึ่งเป็นจิตอีกระดับหนึ่งซึ่งสูงกว่ากามาวจรจิต ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และเห็นโทษของการที่จิตหวั่นไหวไปเรื่อยๆ กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดทั้งวัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะถึง หรือว่าจะมีมหัคคตจิต มีรูปาวจรจิตได้โดยง่าย ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่สามารถจะรู้ขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วยังรู้ว่าเมื่ออกุศลจิตเกิดแล้ว จิตจะสงบอย่างไร ยังไม่ถึงฌาน ยังไม่ถึงมหัคคต ยังไม่ได้เป็นอัปปนาสมาธิ เพียงแต่เริ่มที่จะค่อยๆ สงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเท่านั้นเอง จนกว่าจะถึงระดับอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นรูปฌานจิต เพราะเหตุว่ายังไม่พ้นจากรูปจึง ชื่อว่ารูปาวจรจิต

    ผู้ฟัง รูปาวจรจิตก็ต้องเป็นจิตที่สงบกว่ากามาวจรจิต จะต้องประกอบด้วยปัญญาต้องเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเมื่อสักครู่นี้พูดถึงความหมายของคำว่า มหัคคต ซึ่งท่านอาจารย์สมพรได้กรุณาแยกศัพท์ว่า มหา กับ คตะ ซึ่งในคัมภีร์อรรถสาลินีก็ได้กล่าวไว้ว่าชื่อว่า มหัคคต เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต ที่เป็นมหัคคตจิตที่ว่า ถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่แล้วก็สามารถข่มกิเลสได้ มีผลไพบูลย์สามารถที่จะถึงความเป็นสภาวะที่ถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่นั้นเป็นอย่างไร แล้วก็สามารถข่มกิเลสได้ ข่มกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาของกุศลจิตเกิดก็ทราบแล้วว่าสั้นมาก คือ จิตทุกขณะมีอายุเท่ากับ ๓ ขณะย่อย คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ซึ่งเร็วมากทีเดียว แล้วก็เวลาที่กุศลจิตเกิด ถ้าเป็นกามาวจรจิตแล้วกุศลจิตที่เป็นชวนจิตจะเกิด แม้แต่ทางตาที่กำลังเห็น กุศลจิตก็เกิดได้ แต่ว่าเกิดได้สืบต่อกันเพียง ๗ ชณะ ๗ ขณะนี้ จะเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าจริงๆ แล้วจิตก็เกิดดับเร็วมาก และมีภวังคจิตคั่น ก่อนที่จะถึงมโนทวารวิถีจิต แล้วก็ก่อนที่จะถึงวิถีอื่นๆ ทางอื่นๆ เช่น ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง จะต้องมีภวังคจิตคั่นทุกวาระของจิตที่รู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ แต่ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ดูเหมือนกับว่าต่อกัน ไม่มีการที่จะมีภวังคจิตคั่นให้เห็นเลย อย่างขณะที่กำลังเห็น อย่างขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้เกือบจะไม่รู้เลยว่า มีภวังคจิตคั่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ