ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๔๙

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ การกระทำด้วยความสามารถ ถ้าเราทำดีมีความสามารถดีก็ให้ผลดี แต่ก็คงจะเหมือนภาษาที่เขาใช้กันว่า เก่งกับเฮง แล้วแต่ว่านอกจากมีเก่ง มีความสามารถแล้ว แล้วก็ยังต้องแล้วแต่กรรมว่า ทำมามากน้อยแค่ไหนด้วย

    ผู้ฟัง อุปธิสมบัติแล้วก็ปโยคสมบัติ คือถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมว่าก็คงสำเร็จไม่ได้ จะต้องพร้อม สมมติว่าในสมัยพุทธกาลก็ถือว่าเป็นกาลสมบัติ แต่ถ้าหากว่าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นนก เป็นสุนัข เป็นแมว แถววัดเชตวัน พระพุทธองค์ท่านก็ทรงแสดงธรรมทุกวัน แต่เราก็ไม่ได้อะไร นี้เรียกว่าขาด ใช่ไหม กาลสมบัติพร้อม แต่ว่าคติสมบัติเราไม่พร้อม คือขาดไป ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าหากเป็นอเหตุกบุคคล หรือสุคติกบุคคล หรือทุเหตุกบุคคลอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ติเหตุกบุคคล เรียกว่าไม่พร้อม คติก็วิบัติไปไม่พร้อมที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้น ก็ไม่ได้บรรลุ ฟังก็ฟัง เลื่อมใสก็เลื่อมใส แต่ไม่ได้บรรลุเพราะขาดคติสมบัติ คือเกิดมาไม่ได้พร้อมด้วยติเหตุ ไม่ได้พร้อมด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหเหตุ ที่เป็นฝ่ายกุศล

    ท่านอาจารย์ ขอเพิ่มเติม ปโยคสมบัติกับอุปธิวิบัติ อย่างคนที่เกิดมาดี มีกรรมดี เขาก็อยู่ในประเทศหรือในส่วนของโลกซึ่งสบาย แต่ว่าถ้าเขาไม่ได้ประกอบการงานอะไรเลย ทั้งๆ ที่เรามองเห็นว่า เขามีความสุขมาก เกิดมาไม่ต้องทำอะไรเลย เรียกว่าอยู่บนกองเงินกองทอง แต่ถ้าเขาจะประกอบกรรมดีด้วยความสามารถมีปโยคสมบัติมากกว่านั้น เขาจะได้รับผลมากกว่านั้นอีก แต่เพราะเหตุว่าเขาไม่มีการประกอบ หรือว่าอาจประกอบไม่เก่ง การงานทำไม่เก่ง สมบัติซึ่งมีมากก็อาจจะสูญเสียไปสักครึ่งหนึ่งหรือค่อนหนึ่งก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีสมบัติซึ่งเป็นผลของกรรมดีมาแล้ว แต่ว่าปโยคสมบัติไม่มี ก็ทำให้ไม่ได้มากมายกว่านั้น หรือว่าถ้าเป็น ปโยควิบัติ สมบัติที่มีอยู่แล้วนั้นก็เสียไปได้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คือความละเอียดของธรรม แม้ว่าเราจะรู้ว่า ทำกุศลแล้วกุศลวิบากก็อาจจะเกิดหรือไม่เกิดได้ ต้องมีองค์ประกอบ ๔ อย่าง

    ผู้ฟัง สัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ สักครู่เราก็ได้พูดถึงนามธรรมกับรูปธรรมเป็นวิปปยุตต์กัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อาศัย

    ผู้ฟัง ขณะอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นปัจจัย ไม่ว่านามจะเป็นปัจจัยแก่รูป หรือว่ารูปจะเป็นปัจจัยแก่นามก็ตาม ต้องเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัย

    ผู้ฟัง ที่เป็นวิปปยุตต์กัน คือ ไม่ประกอบกัน นามธรรมกับรูปธรรมที่ไม่ประกอบกัน ไม่ทราบว่าก็เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้จึงไม่ประกอบกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกัน คือ รูปคือรูป นามก็คือนาม แต่อาศัยกันได้ อย่างจักขุปสาทในขณะนี้เป็นปัจจัยแก่จิตเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นขณะนี้จะเกิดไม่ได้เลย แต่จักขุปสาทก็เป็นจักขุปสาท ไม่ได้รู้อารมณ์อะไรเลย แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยโดยปัจจัย และเป็นนิสยปัจจัย และวิปปยุตตปัจจัย นี่ก็เป็นเรื่องที่ก้าวก่ายไปถึงปัจจัย ถ้าจะให้เข้าใจธรรมโดยละเอียด

    ผู้ฟัง เกี่ยวโยงสืบเนื่องกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ก็เพียงยกตัวอย่างให้เห็นคร่าวๆ เท่านั้นเอง ให้เห็นว่า ศัพท์ที่เราใช้จะใช้ได้ตลอดในพระไตรปิฎก ถ้าเราเข้าใจความหมายจริงๆ อย่างถ้าเข้าใจความหมายคำว่าวิปปยุตตะ ไม่ประกอบ ไม่ว่าจะใช้ในที่ใด เช่น กับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็แปลว่าไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ หรือว่าจะไปถึงปริจเฉทอื่น หรือคัมภีร์อื่น เช่น คัมภีร์ปัฏฐาน ก็มีวิปปยุตตปัจจัย ก็ไม่ต้องสงสัยอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยกันก็ มีนามธรรมกับรูปธรรมนี้แหละ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น เพราะฉะนั้น เวลาที่นามธรรมอาศัยนามธรรมเกิดขึ้น ก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่เวลาที่นามธรรมอาศัยรูปเกิดขึ้น หรือรูปนั้นจะอาศัยนามเกิดขึ้นก็ตามเป็นวิปปยุตตปัจจัย ก็ให้เข้าใจไว้เพียงคร่าวๆ อย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้านามธรรมกับนามธรรมสัมปยุตต์กัน เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าเป็นนามธรรมกับรูปธรรมไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ทรงแสดงให้เห็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม คือทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ ให้เห็นว่า ถ้าเป็นนามธรรมแล้วเป็นสัมปยุตตปัจจัย เข้ากันได้สนิท ทั้งเกิด ทั้งดับ ทั้งที่เกิด ทั้งอารมณ์ นั่นคือลักษณะที่ใช้คำว่า “สัมปยุตตปัจจัย” เพื่อแสดงให้เห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม ก็มีแต่เพียงนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างเท่านั้นจริงๆ แล้วก็อาศัยกันเกิดด้วย แต่เวลาที่อาศัยกัน โดยนัยต่างๆ จริงๆ เช่น ถ้าแยกนามธรรมออกอาศัยกัน ส่วนของนามธรรมก็เป็นโดยสัมปยุตตปัจจัย แต่ถ้าเป็นนามธรรมอาศัยรูป หรือรูปอาศัยนาม ก็เป็นโดยวิปยุตตปัจจัย เป็นการแสดงให้เห็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง รูปเกิดพร้อมกับนามเป็นสหชาตะ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถึงจะเป็นสหชาตะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จำไว้ได้เลย แยกไปเลย สหชาตะ คือ เกิดพร้อม อะไรจะเกิดพร้อมกันอย่างไร อะไร เมื่อไหร่ ก็เป็นสหชาตะ แต่ถ้าใช้คำว่า ปัจจัยหมายความว่าต้องเป็นปัจจัยกันด้วย ไม่ใช่เกิดพร้อมกันเฉยๆ

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็ฟังๆ ดูแล้ว จิต เจตสิก ใช้คำว่า สัมปยุตต์ ถ้ามาเทียบภาษาไทยเหมือนกับว่าผสมกันได้ แต่ถ้านามกับรูปเกิดพร้อมกัน แต่ไม่ผสมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่านามคือนาม รูปคือรูป

    ผู้ฟัง นามคือนาม แล้วกลับไปใช้คำว่าวิปปยุตต์ด้วย ถึงแม้จะเกิดพร้อมกัน ก็ยังใช้คำว่าวิปปยุตต์ด้วย

    ท่านอาจารย์ แยกให้เห็นสภาพที่ต่างกันจริงๆ ถ้าสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม ก็จะไม่มีตัวตน เพราะเหตุว่าสามารถจะรู้ได้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ชัดเจน ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่ามีสภาพลักษณะของธรรมที่จะปรากฏให้ปัญญาค่อยๆ รู้ชัดขึ้น จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า รูปธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปใด ขณะไหนทั้งสิ้น คือรูปธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง ในเรื่องของจิตประการที่ ๔ ที่ว่าจิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตรร ตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม เราก็พูดถึงความหมายของคำว่าวิจิตร แล้วความหมายของคำว่าสัมปยุตตธรรม

    ทีนี้กลับมาพูดถึงเรื่องของวิจิตร อย่างที่มีคำกล่าวว่าสัตว์ บุคคลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันไปตามกรรม อันนี้จะเป็นการเกี่ยวข้องกับความวิจิตรของจิตอย่างไร ที่มีคำกล่าวว่าบุคคลแตกต่างกันไปตามกรรม

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ได้เลย ขณะนี้ไม่เหมือนกันเลยสักคน นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เหตุที่จะทำให้ต่างกันก็มี คือ กรรม แม้ในขณะนี้เอง ใจแต่ละใจก็ไม่ได้เหมือนกัน เช่น ความคิด ต่างคนก็ต่างคิด แม้แต่จะฟังเรื่องเดียวกัน การพิจารณา การเข้าใจ การตรึกตรอง หรือว่าการไม่พิจารณาเลย หรือว่าการพิจารณาตื้นๆ ลึกๆ หรือละเอียด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงแต่ละขณะซึ่งย่อยออกมาเป็นขณะที่เกิดดับอย่างเร็วที่สุด ก็ยังต่างกันมาก เพราะฉะนั้น การที่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อแต่ละประเภท แต่ละคน ก็ต้องวิจิตรมาก ต่างกันมาก

    ผู้ฟัง บุคคลแต่ละคนแตกต่างกันเกิดจากความวิจิตรของจิตอย่างไร

    สมพร คนเราที่เกิดมาแตกต่าง หน้าตาไม่เหมือนกัน ทั้งหมดเลย ท่านบอกว่า ปฏิสนธิวิจิตรเพราะกรรมวิจิตร เพราะกรรมวิจิตรทำให้ปฏิสนธิของคนวิจิตรไปด้วย แปลกออกไปต่างๆ มีมากมาย เหมือนสัตว์เดรัจฉานที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สัตว์ใหญ่จนกระทั่งสัตว์เล็ก เพราะกรรมวิจิตร เมื่อกรรมวิจิตรแล้วเป็นเหตุให้ปฏิสนธิวิจิตร ปฏิสนธิคือการเกิดขึ้นของสัตว์ต่างๆ วิจิตรเพราะกรรมนั่นเองที่เป็นปัจจัย เป็นธรรมชาติวิจิตรก่อน ปฏิสนธิจึงวิจิตร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงก็น่าคิด อย่างช้างตัวใหญ่ ปลวกตัวเล็ก กรรมอะไรที่ทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งตัวใหญ่ และอีกชนิดแสนที่จะเล็ก ก็ไม่พ้นจากเรื่องของกรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่ให้ทราบว่า ทั้งหมดมาจากความวิจิตรของจิต ซึ่งจะวิจิตรขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่ละท่านจะเป็นอย่างไร วิจิตรจบไปแล้วแต่ละภพแต่ละชาติ และกำลังวิจิตรต่อไป เพราะฉะนั้น ข้างหน้าก็จะมีสิ่งที่วิจิตรเกิดอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

    ผู้ฟัง หมายความว่าแต่ละคนต่างกัน ปฏิสนธิวิจิตรก็เพราะว่ากรรมวิจิตร วิจิตร คือมีกรรมต่างๆ กัน อันนั้นเป็นปฏิสนธิที่วิจิตร เราจะเห็นความวิจิตรของแต่ละคนทั้งทางด้านรูปร่างกาย และทางด้านจิตใจด้วย แต่ละคนจิตใจก็วิจิตรแตกต่างกันไปตามการสะสมมา ซึ่งก็เป็นเรื่องของที่จะเกี่ยวเนื่องสืบไปถึงเรื่องลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่เราได้สนทนากันไปแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าเราพูดถึงเรื่องจิต จิตอย่างเดียว จิตเท่านั้น แต่ความจริงตัวการคือเจตสิกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตอนต้นยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเจตสิกเลย กำลังพูดถึงเรื่องลักษณะของจิต แล้วอีกประการหนึ่ง จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่แยก ไม่มีใครสามารถที่จะแยกจิตออกจากเจตสิกได้เลย เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน แต่ว่าต่างหน้าที่ เพราะฉะนั้น บางแห่งจะใช้คำว่านามธรรม แทนที่จะใช้คำว่าจิต เจตสิกก็รวมกันเป็น ๕๓ คือเจตสิก ๕๒ ลักษณะกิจการงานเฉพาะแต่ละอย่างๆ ส่วนจิตนั้นก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น แต่เมื่อจิตกับเจตสิกรวมกันแล้วก็ทำให้เกิดสภาพต่างๆ กันของจิตแต่ละขณะซึ่งก็พร้อมกันเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันนั่นเอง แต่ไม่มีการที่จะพยายามไปแยก แยกไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมมี แล้วก็เข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันชัดๆ ของจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารัมมณวิชานนลักขณัง ถ้าเกิดไม่มีเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง คงไม่เกิดความวิจิตร ที่เรียกว่าต่างๆ กัน ถ้าพูดถึงจิตอย่างเดียวก็คงจะมีลักษณะเพียงแค่รู้

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ถ้า” ไม่มี ไม่มีถ้า ถ้าไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เป็นจิตนิยามซึ่งจะต้องประกอบกับเจตสิก โลภมูลจิตซึ่งเป็นจิตโลภเพราะเหตุว่ามีโลภเจตสิกเข้าประกอบด้วย โทสมูลจิตซึ่งเป็นจิตโกรธ ก็เพราะมีโทสเจตสิกเข้าบังเกิดด้วย จึงมีลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าเข้าบังเกิด เกิดร่วมกัน ได้ไหม อยากจะใช้คำให้ตรง ให้ชัดว่าเกิดร่วมกัน

    ผู้ฟัง ลักษณะต่างๆ กันของจิต ซึ่งโดยปกติท่านบอกว่า อารัมมณวิชานนลักขณัง คือรู้อารมณ์เป็นลักษณะ แต่ที่ต้องแตกต่างออกไปเป็นจิตโลภ โกรธ หลง อิจฉา มัจฉริยะ ตระหนี่ เป็นไปตามอาการของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม อย่างนี้ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อกี้นี้ใช้คำอะไรที่คุณอดิศักดิ์กำลังคุยกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์นิภัทรก็บอกว่า วิญญาณไม่มีเจตสิกได้ไหม แล้วก็จิตไม่มีเจตสิกได้ไหม เจตสิกเกิดไม่มีจิตได้ไหม แล้วก็พูดถึงจิตพระอรหันต์ไม่มีแม้กระทั่งกุศลแล้ว ผมบอกว่าถึงแม้ไม่มีกุศลจิตพระอรหันต์ไม่มีกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมก็เป็นกิริยาเหมือนกัน ก็เกิดร่วม แล้วเจตสิกบางดวงไม่เกิดร่วมกับจิต แต่ทุกขณะที่มีจิตก็ต้องมีเจตสิก แต่เจตสิกบางดวงอาจจะไม่เกิดร่วมกับจิต ก็แค่นี้

    ท่านอาจารย์ คือไม่แน่ ท่านผู้ฟังอาจจะไปผ่านข้อความไหนที่ว่า มีแต่วิญญาณแล้วไม่มีเจตสิก หรือว่ามีแต่เจตสิก ซึ่งคิดว่าเป็นเจตภูต หรืออะไรก็ไม่ทราบ แล้วก็ไม่มีจิตหรืออะไร อาจจะมีบางท่านซึ่งอาจจะผ่านข้อความอย่างนี้

    ผู้ฟัง ผมก็บอกว่า จิตเกิดขึ้นทุกครั้งต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกเกิดขึ้นทุกครั้งก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกบางดวงไม่เกิดร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ ควรจะแยกลักษณะ และกิจของจิต และเจตสิก อย่างที่รวมกันเป็น ๕๓ นามธรรม ๕๓ แยกเป็นจิตกับเจตสิก คือ จิต ๑ เจตสิก ๕๒ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทำไมเจตสิก ๕๒ แล้วจิต ๑ เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะของตนของตน ส่วนจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เท่านั้น ถ้าจะกันเจตสิกออกไป ไม่ใช่แยก แต่หมายความว่า เข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้ว่าจิตกับเจตสิกจะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันก็จริง แต่ต่างทำกิจ และต่างมีลักษณะเฉพาะของตน เช่น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ใช่รู้อย่างปัญญาว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าเป็นจิตเห็นก็จะรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏทางตาคือเห็นจริงๆ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นเสียงจิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏ อย่างเสียงคนในโลกนี้ไม่เหมือนกัน หรือว่าจะเอาแต่เฉพาะในประเทศไทยหรือในห้องนี้ก็ได้ อย่างบางคนรับโทรศัพท์ก็จำได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เสียงปรากฏ จิตที่จะจำได้ ที่สัญญาเจตสิกจะจำได้ ก็เพราะเหตุว่าจิตรู้แจ้งในอารมณ์ ในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งสัญญาก็จำความต่าง เพราะฉะนั้น ก็จำได้ว่าเสียงใครเป็นต้น

    จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่กำลังเห็น จิตเห็น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ทางหูที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ขณะที่เสียงปรากฏ จิตรู้แจ้งสภาพของเสียง คือ การรู้อย่างนี้จะทำให้สติระลึก แล้วก็เข้าใจในลักษณะอาการของจิตซึ่งกำลังรู้เสียง หรือว่ากำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ว่า นี่คือลักษณะอาการของจิต การเห็นในขณะนี้ แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิดอีก ๕๒ ก็มีลักษณะเฉพาะของตนของตน เช่นเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก ถ้าถามโดยที่ว่าไม่เจริญสติปัฏฐาน ถามว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร บางคนก็บอกว่ารู้สึกเฉยๆ แต่พอจะระลึกรู้ลักษณะสภาพรู้สึกเฉยๆ บางคนก็อาจจะงง ว่าเป็นอย่างไร ลักษณะความรู้สึกเฉยๆ แต่เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เป็น ความรู้สึกซึ่งไม่เหมือนกับดีใจหรือเสียใจ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นไม่ใช่จิต สภาพที่รู้สึกเป็นเจตสิก หรือสภาพที่จำก็เป็นเจตสิก ทุกคนเห็น แต่ไม่ได้หยุดที่เห็น คิดต่อ เวลาที่คิดให้ทราบว่า ต้องมีสัญญาความจำแน่นอน แล้วก็สัญญานั่นเองที่จำเรื่องนั้น ทำให้วิตกเจตสิกตรึกถึงเรื่องที่จำได้ ไม่มีใครบังคับความคิดได้ เวลาที่คิดให้ทราบว่า มีปัจจัยปรุงแต่งที่สะสมมาในรูปแบบต่างๆ ในชาติก่อนๆ จนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ ความคิดชั่วขณะนิดหนึ่งอย่างนี้ก็เกิดขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วก็ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็อยู่ที่ทุกคน ซึ่งถ้าระลึกขณะใดก็เป็นจริงขณะนั้น วิจิตรจริงๆ

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิวิจิตรก็เพราะกรรมวิจิตร ปฏิสนธิของสัตว์เดรัจฉานไม่น่าวิจิตร ถ้าปฏิสนธินั้นหมายถึงปฏิสนธิจิตก็มีดวงเดียวใช่ไหม คือ อเหตุกอกุศลสันตีรณวิบาก ใช่ไหม แต่ที่วิจิตรคือเป็นประเภทต่างๆ ปฏิสนธิวิจิตรเพราะกรรมวิจิตร หมายความว่าอย่างไร

    สมพร ปฏิสนธิวิจิตร คือหมายความว่า มันมากอย่าง ที่ปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์น้ำ สัตว์บก อะไรมากมายเหลือเกิน

    ผู้ฟัง แต่ปฏิสนธิถ้าหมายความถึงปฏิสนธิจิตไม่วิจิตร เพราะเป็นแค่ดวงเดียว

    สมพร ปฏิสนธิ เช่น สันตีรณอุเบกขาอกุศลวิบาก จิตดวงเดียวนี่แหละ จิตดวงเดียวทำให้วิจิตรได้ ทำให้ปฏิสนธิต่างกันไป เป็นสัตว์เดรัจฉาน จิตดวงนี้ทำให้เป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าสัตว์เดรัจฉานมีหลายอย่างหลายประเภท จึงเรียกว่าวิจิตรเพราะมันมีมากเหลือเกิน

    ผู้ฟัง ประเภทมันวิจิตรต่างๆ กัน แต่ว่าปฏิสนธิจิตไม่ต่างกันเลย ใช่ไหม

    สมพร ปฏิสนธิด้วยจิตดวงเดียว

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิวิจิตรเพราะกรรมวิจิตร หมายถึงว่าปฏิสนธิคือเป็นประเภทต่างๆ ของสัตว์ใช่ไหม

    สมพร ต่างๆ อันนั้นรวมความต่างๆ แม้สัตว์เดรัจฉานอย่างเดียวก็ยังต่างออกไป

    ผู้ฟัง สามัญลักษณะของจิตก่อน ซึ่งก็ได้แก่ ไตรลักษณะ คือลักษณะทั้ง ๓ ซึ่งกล่าวไปเมื่อครู่นี้ เมื่อพูดถึงลักษณะทั้ง ๓ อนิจจลักษณะ ก็เคยได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ อย่างเช่นว่าเห็น ดอกไม้ที่สวยๆ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องเหี่ยวเฉาไป หรือว่าเสื้อผ้าที่สวยๆ งามๆ ที่สวมใส่ไปไม่นานก็จืดชืด เก่าแล้วก็ขาดไป นี่แหละเป็นเพราะมันเป็นอนิจจัง

    ส่วนทุกขลักษณะก็มักจะได้ยินพูดบ่อยๆ อยู่เหมือนกันในทำนองว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บปวดอะไรต่างๆ นานาเป็นทุกข์ ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ ลำบากเดือดร้อนก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์

    ส่วนอนัตตลักษณะ ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งได้ยินมาเสมอๆ ถ้าความเข้าใจลักษณะทั้ง ๓ เป็นอย่างนี้ อย่างไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง ผมชื่อเสถียร ลำสมุทร สนใจเรื่องพระธรรม ก็ฟังอยู่บ่อยๆ ผมอยากถามว่าเมื่อไหร่สังคมไทยจะอยู่เย็นเป็นสุขเสียที มีการประท้วงอะไรๆ มากมาย แสดงว่าผลงานของท่านทั้งหลายไม่ซึมซาบเข้าไปในจิตใจของคนไทยทั่วประเทศ

    ท่านอาจารย์ หวังที่จะให้โลกเป็นสุข แต่ต้องรู้จักว่า เหตุที่โลกไม่เป็นสุข เพราะอะไร แม้แต่ตัวคนที่กำลังเป็นทุกข์เอง เพราะว่าโลกกำลังเดือดร้อน เห็นไหมว่า เราเปลี่ยนโลกส่วนใหญ่ เปลี่ยนโลกส่วนรวมไม่ได้ แต่จิตของคนที่กำลังเห็นว่า โลกเป็นทุกข์ หรือว่าโลกเดือดร้อน กำลังเห็นว่ามีความไม่สงบตรงนั้น มีการเดินขบวนตรงนี้ จิตของคน ที่กำลังเห็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น กำลังเดือดร้อนหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ