ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๕๒

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าการแสดงธรรมมี ๒ นัย ถ้าเราไปกล่าวเรื่องของพระอภิธรรมโดยละเอียดแล้ว เข้าใจกันแล้ว เราก็ย้อนกลับมาหาโดยนัยของพระสูตร ซึ่งตามพระสูตรพระผู้มีพระภาคจะแสดงโดยย่อ เช่น ทางตา มีจิตที่เห็น แล้วเกิดความชอบไม่ชอบ นี่สั้นมากโดยนัยของพระสูตร ไม่ได้กล่าวถึงปัญจทวารวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตอะไรเลย เพราะเหตุว่าจิตเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏ แต่ทางตาจิตที่กำลังเห็น กำลังเห็นอยู่ และเมื่อเห็นแล้ว เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เริ่มพิจารณาคร่าวๆ แล้วก็ความละเอียดเรื่องของอภิธรรมก็เป็นเครื่องประกอบที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ให้เข้าใจจริงๆ ไปนั่งที่ไหน ไปเห็นอะไร ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ให้ทราบว่าเป็นทางที่วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมจะเกิดขึ้น

    นี่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่ายับยั้งไม่ได้เลย ยังไม่พูดถึงเห็นแล้วชอบไม่ชอบ หรือว่าเห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ให้รู้จริงๆ ว่า วิบากจิตเพียงแค่เห็น เพียงแค่ได้ยิน เพียงแค่ได้กลิ่น เพียงแค่ลิ้มรส เพียงแค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทางนี้ นี่โดยนัยของพระสูตรที่สั้นแล้วก็พอที่จะเห็นได้

    ผู้ฟัง ดิฉันก็นึกถึงรูปหนังสือพิมพ์ ที่กองขยะผู้ที่เขาอยู่กับกองขยะ อันนี้ก็เป็นวิบากของเขาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้คุณสุรีย์ก็คงจะไม่ต้องถามใครอีกเลย เพราะเหตุว่าตาเห็นเป็นวิบาก จะเป็นคนข้างกองขยะ หรือไม่ใช่ในกองข้างกองขยะ ในปราสาทราชวัง หรือที่ไหนก็ตาม ขณะใดที่เห็น เห็นนั้นเป็นวิบากจิต ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ซึ่งไม่น่าพอใจก็เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ไม่ต้องถามใครเลย เพราะว่ารู้แล้วว่าเห็น ใครจะเห็นก็ตามแต่ สุนัข แมว คน ตัวเล็กตัวใหญ่ อย่างไรก็ตามจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นขณะใด เป็นวิบากเป็นผลของกรรม หูได้ยินเสียงขณะใด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทไหน หรือว่าคนที่ไหนก็ตาม ประเทศนั้นประเทศนี้ไม่มีการจำกัดเชื้อชาติ เพราะเหตุว่าชาติของจิต ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติจีน แต่ว่าเป็นการเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ตอบได้ต่อไปนี้ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าพูดถึงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส กองขยะหรือไม่กองขยะก็เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง วิบากจิตที่ดีมาจากกุศลจิตเป็นปัจจัย วิบากจิตที่ไม่ดีมาจากอกุศลจิตที่เป็นปัจจัย กุศลที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เช่น ปกตูปนิสยปัจจัย เป็นต้น แล้วอกุศลที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัย เช่น ปกตูปนิสยปัจจัย เป็นต้น กุศล อกุศลวิบากเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ผมสงสัยกิริยาจิต ไปอย่างไรมาอย่างไร ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เป็นกิริยา เหตุผลเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ากิริยาจิตโดยทั่วไปแล้ว เป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล พระอรหันต์มีวิบากจิต เพราะเหตุว่าตราบใดที่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ก็ต้องมีอดีตกรรมที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น จิตได้ยินเกิดขึ้น แม้พระผู้มีพระภาค หรือแม้พระอัครสาวก แม้ใครก็ตามที่ยังมีภพชาติอยู่ ที่ยังไม่ถึงจุติจิตสุดท้ายซึ่งเป็นปรินิพพาน ต้องมีอดีตกรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    ส่วนใหญ่แล้วเป็นจิตพระอรหันต์เว้นอเหตุกกิริยาจิต ซึ่งเราก็ยังไม่กล่าวถึงเลย เพราะว่าขณะนี้เราเพียงแต่จะพูดถึงเรื่องชาติของจิตให้เข้าใจจริงๆ ความเข้าใจสำคัญมาก หลายคนบอกว่าจำไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องจำ เรื่องเข้าใจก่อน ถ้าเข้าใจเรื่องกุศล เข้าใจว่ามีชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล เราก็ชินหูตั้งแต่เด็ก อกุศล เราก็ชินหู เพิ่มวิบากกับกิริยาซึ่งเป็นคำใหม่ แล้ววิบาก็ไม่ยากเลยเพราะเหตุว่าเป็นผล ในเมื่อมีกุศลกรรมอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล เราก็จำว่ามีกุศลกรรม อกุศลกรรมเป็นเหตุแล้วก็มีวิบาก คือ อกุศลวิบาก และกุศลวิบากซึ่งเป็นผล แล้วก็มีพิเศษออกมาอีกหนึ่ง ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ก็ไม่มีใครจะรู้เลย คือ กิริยาจิตซึ่งไม่ใช่กุศล เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แล้วก็ไม่ใช่อกุศล เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก คือ ไม่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากหรือกุศลวิบาก และกิริยาจิตเองก็ไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นผลของอดีตกรรม มีจิตที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นที่จะกระทำกิจในระหว่างที่มีการรู้อารมณ์วาระหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    นี่คือกิจของจิตซึ่งไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่กุศล อกุศล และไม่ใช่วิบากซึ่งเป็นผล แต่ก็มีจิตเกิดเพราะปัจจัยที่จะทำกิจนั้น ซึ่งไม่ใช่กิจของวิบากจิต แล้วก็ไม่ใช่กิจของกุศลจิต ไม่ใช่กิจของอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ทำไมเรารู้ว่า อันนี้เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล เช่น คุณกฤษณายกปัญหาขึ้นมาก็น่าฟังว่า กุศลกับโลภ โดยเฉพาะเมตตากับโลภมันใกล้กัน นอกจากเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ โดยขั้นปริยัติ เราต้องเรียนเรื่องเจตสิก เพราะเหตุว่าจะมีเจตสิกซึ่งแบ่ง เป็นโสภณเจตสิก เจตสิกฝ่ายดี ซึ่งจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย แล้วก็มีอกุศลเจตสิกซึ่งจะต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย

    ผู้ฟัง ก่อนที่ยังไม่ได้ฟังธรรม คิดว่าตัวเรานี่แหละชาติหนึ่ง เกิดมาก็ตั้งแต่เกิดจนตายนี่มีชาติเดียวเท่านั้น แต่เมื่อฟังธรรมทำให้มองว่า คนเราเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นพระอริยเจ้าก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ อยู่ในชาตินี้แหละ ไม่ต้องตายแล้วไปเกิดเป็นพรหม หมายถึงตอนที่เราเป็นมนุษย์ เราอาจเป็นพรหมได้ เพราะฉะนั้น ข้อสรุปเช่นนี้ อาจจะทำให้เราเห็นว่า จิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ว่าเนื่องจากว่า เราไม่รู้ เราไม่เคยฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคท่านทรงแสดง เราก็เลยไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราเข้าใจแล้ว ทำให้เรายังมีความหวังว่า เราจะเป็นเทวดา เราจะเป็นมนุษย์ หรือแม้กระทั่งเราอาจจะเป็นพระอรหันต์ มันก็อาจจะอยู่ในชาตินี้ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือว่าเป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจเช่นนี้ผิดหรือถูก

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องทราบชัดในเรื่องของกรรมกับผลของกรรม ถ้าเป็นกรรมซึ่งเป็นไปในเรื่องของทาน ของศีล เป็นไปทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้วจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นในกามภูมิ หรือกามาวจรภูมิ ซึ่งต่อไปเราจะทราบว่า จิต จะแบ่งระดับขั้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดที่เรายังเป็นกุศลขั้นกามาวจร หมายความว่าเป็นไปในทาน ในศีล ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เราไม่ใช่พรหม แล้วก็ไม่มีเหตุที่จะให้เกิดเป็นพรหม เกิดอีกก็ยังต้องเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทวดา หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรมเหตุที่จะให้เกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า การเป็นมนุษย์ เราสามารถจะอบรมเจริญกุศลได้ทุกระดับขั้น จะเจริญกุศลที่จะให้เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ขั้นหนึ่งขั้นใด ๖ ชั้นก็ได้ หรือว่าจะเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ หรือว่ากรรมที่ทำแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่อยากไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่อยากจะเกิดในนรก ไม่อยากจะเกิดเป็นเปรต ไม่อยากจะเกิดเป็นอสุรกาย แต่เมื่อมีเหตุที่จะให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ต้องเกิด ใครจะไปยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นไปตามเหตุ นี่ก็เป็นเรื่องของกามาวจรภูมิเป็นจิตระดับต้น ยังไม่ได้อบรมจนกระทั่งถึงขั้นกุศลที่สูง และประณีตกว่านี้ แต่ถ้าเราสามารถจะอบรมจิตให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น ประณีตกว่านี้ถึงขั้นรูปพรหม ขณะที่รูปาวจรกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ เกิดในภูมิมนุษย์ ยังไม่ได้ให้ผลเป็นพรหมบุคคล เพราะว่ายังเป็นมนุษย์อยู่ ต่อเมื่อใดที่สิ้นชีวิตแล้วก็รูปาวจรกุศลกรรมนั้นเป็นปัจจัยทำให้เป็นปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก นั่นคือผลของรูปาวจรกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าวิบากแต่ละประเภทก็ให้ผลตามภูมิ แม้ว่าเหตุที่จะเป็นพรหมบุคคลได้กระทำแล้วในโลกนี้ คือ อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงขั้นฌานจิต แต่วิบากที่เป็นรูปาวจรวิบากยังเกิดไม่ได้ ต่อเมื่อใดจุติคือสิ้นชีวิตแล้ว แล้วก็รูปฌานไม่เสื่อม สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิได้ หรือถ้าเป็น อรูปาวจรกุศลจิตก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลได้ นี่ก็เป็นระดับขั้นของจิต ซึ่งต้องทราบด้วยว่าการให้ผลของกรรมแต่ละประเภทก็จำกัดภูมิ สำหรับในภูมิมนุษย์ ภูมิสวรรค์ หรือในอบายภูมิ ซึ่งเป็นกามาวจรภูมินั้น ให้ผลได้แต่เฉพาะกามาวจรวิบาก ยังเป็นพรหมไม่ได้ แต่ว่าเหตุที่จะให้เป็นพรหมบุคคลเป็นได้

    ผู้ฟัง กุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิต ทีนี้กิริยาจิตของพระอรหันต์เกิดมาจากอะไร ถึงเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ โดยชาติว่า เกิดเป็นกิริยา

    ผู้ฟัง อะไรทำให้เป็นเหตุให้มีกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ แล้วก็มีปัจจัยอื่น เช่น ถ้าเป็นมโนทวาราวัชชนจิต หรือปัญจทวาราวัชชนจิต หะสิตุปาทจิต เป็นอเหตุกะ ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย นี่แสดงให้เห็นความต่างกันของกิริยาจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุของพระอรหันต์ แทนกุศล และอกุศลของผู้ที่มิใช่พระอรหันต์ นั่นเป็นสเหตุกจิต ต้องมีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอโมหเจตสิก มีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างจิตของเราที่เป็นกุศลก็จะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องมีอโลภะมีความไม่ติดข้อง แล้วก็ต้องมีอโทสะเกิดร่วมด้วยในขณะที่กุศลจิตเกิด แต่สำหรับพระอรหันต์ท่านก็มีอโลภเจตสิก ท่านก็มีอโทสเจตสิก แต่ทั้งอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากอีก

    โดยชาติ แม้ว่าจิตขณะนั้นสำหรับปุถุชน และคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยา จะกล่าวว่าอาศัยอะไร ก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเลย ถึงแม้ว่าเจตสิกประเภทเดียวกันเกิด แต่จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นกิริยา ท่านอุปมาเหมือนดอกไม้ซึ่งไม่ให้ผล

    ผู้ฟัง กิริยาจิตของพระอรหันต์กับกิริยาจิตของปุถุชน เช่น มโนทวาราวัชชนจิต กับปัญจทวาราวัชชนจิต ผลที่เป็นมาก็คงจะต้องต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียนถึงปัจจัย และต้องทราบโดยเหตุว่าเพราะเป็นอเหตุกะเหมือนกัน พระอรหันต์ก็มี อเหตุกะ คนธรรมดาก็มีอเหตุกะ เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล

    ผู้ฟัง เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุด้วยกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลอกุศลก็ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่กิริยาพวกนี้ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง กิริยาจิตมีอะไรเป็นเหตุมา ถ้าเราอยากได้กิริยาจิตอย่างเช่น จิตของพระอรหันต์มากๆ จะต้องทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แย่เลย อยากได้ก็ไม่ถึง

    ผู้ฟัง จิต ๒ ดวง กระทำหน้าที่โยนิโสหรือ อโยนิโส ก่อนที่ชวนจิตจะเกิด ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ กุศลชวนะก็เกิดขึ้น ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ อกุศลชวนะก็เกิด ทีนี้จะเป็นโยนิโสหรืออโยนิโส ก็ไมใช่เราที่จะเป็นหรืออยากจะเป็นก็เป็น ขึ้นอยู่กับสังขารขันธ์ที่สะสมกุศลมากๆ สังขารขันธ์นั้นปรุงแต่งให้เกิดโยนิโส หรืออกุศลสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ดีที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะดิฉันเองอยากจะเรียนให้ทราบว่า เท่าที่ได้บรรยายไปถึงตอนนี้ เป็นการพูดโดยกว้างๆ แต่ถ้าพูดโดยเจาะจงแล้ว ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมกับมโนทวาราวัชชนจิตเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วโยนิโสมนสิการต้องเป็นในขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ในขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนะ แต่ถ้าพูดโดย กว้างๆ เราจะใช้คำนั้น เพราะเหตุว่าเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ แต่ถ้าพูดถึงเจตสิกแล้ว ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับมโนทวาราวัชชนจิตเลย แต่ถ้าจะพูดถึงว่า ทุกคนกำลังสงสัยมาก แล้วทำไมเราถึงต้องมีกิริยาจิต เพราะเหตุว่ากุศลจิต อกุศลจิต เข้าใจว่าเป็นเหตุ แล้วก็เป็นปัจจัยให้วิบาก คือ กุศลวิบาก อกุศลวิบากเกิด เพราะฉะนั้น กิริยาทำไมถึงต้องมี เรื่องทำไม ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแก้ไขระบบการเกิดดับสืบต่อกันของจิต เราสามารถเพียงแต่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัยว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้มีปัจจัยเกิดเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น โดยปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย เราจะเห็นได้ว่าต้องมีจิต ๒ ดวงนี้ เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นภวังคจิตกำลังเกิดดับสืบต่อเป็นวิบาก ให้ทราบว่า การที่วิบากจิตจะเกิดทั้งหมดต้องเป็นผลของกรรม

    เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งดับไปแล้ว ขณะใดที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่าเพราะกรรมยังไม่ให้เรามีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยังให้จิตทำภวังคกิจเกิดดับ จะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถจะเลือกตามใจชอบว่า เราอยากจะเห็น หรือว่าเราอยากจะได้ยิน หรือเราอยากจะนอนหลับ หรือว่าเราอยากจะตื่น หรือว่าคืนนี้อยากจะหลับสัก ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงหรือ ๘ ชั่วโมงตื่นเช้าสดชื่น เราก็เลือกไม่ได้ เพราะเหตุว่าให้ทราบว่าทั้งหมดเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่ภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใดๆ เลย เพราะกรรมทำให้เป็นภวังคจิต ตราบจนกว่าเมื่อกรรมหนึ่งกรรมใดหรือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธินั่นเอง จะเป็นอุปถัมภกกรรม

    การศึกษาธรรมจะทำให้เราเบาใจ สบายใจ ไม่มีตัวตนซึ่งจะไปทำอะไรได้ นอกจากศึกษาให้เข้าใจ แล้วเมื่อเข้าใจแล้วเราก็รู้ว่าทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ว่าจะหลับ จะตื่น จะป่วยจะไข้ จะสุขภาพแข็งแรง หรือมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เพราะเหตุว่าต้องย่อยชีวิตทั้งชาติออกเป็นชั่วแต่ละขณะจิตเดียวซึ่งเกิดขึ้น

    การเกิดดับของจิตต้องเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ ปัจจัย ๒ ปัจจัยที่กล่าวถึงบ่อยๆ คือ อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย

    อนันตรปัจจัย คือ จิต และเจตสิกซึ่งเกิด และดับ เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น จะไม่มีกระแสของจิตซึ่งว่างในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ให้ทราบว่าจิตเกิดขึ้นทำงานสืบต่อกันอย่างนี้แหละ เหมือนในชาตินี้ ชาติก่อนก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส พอถึงชาตินี้หลังจุติจิตดับไม่นาน แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตจะเกิดเป็นเทวดา หรือเป็นสัตว์ที่มีอายุอยู่ในครรภ์มารดาเท่าไหร่ ก็จะต้องหลังจากนั้นไม่นาน ก็เห็นอีก ได้ยินอีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของจิต ซึ่งไม่ใช่ทำไม แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่า นี่เป็นธาตุ คำว่าธาตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริง และสิ่งนั้นก็มีลักษณะของตนซึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ คือ เมื่อเป็นอนันตรปัจจัย ก็คือดับแล้วก็ทำให้จิตเจตสิกเกิดต่อ ซึ่งรูปไม่เป็นอย่างนี้ รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิก รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ที่ก่อตั้งให้รูปเกิด ๑ ประเภท รูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปเกิด เฉพาะนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเท่านั้น ที่เป็นอนันตรปัจจัย แล้วการเป็นอนันตรปัจจัยของจิต คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไป จะเห็นได้ว่าสังสารวัฏไม่หมดสิ้น เพราะเหตุว่ามีปัจจัย จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ ทุกคนก็เตรียมได้แล้วใช่ไหม ชาติหน้าก็ต้องมีแน่ๆ แล้วจะเกิดที่ไหน จะเห็นอะไร ก็แล้วแต่กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ ซึ่งเราไม่มีโอกาสจะทราบเลย

    ถ้าใครบ่นกับเราว่า ฉันทำกรรมดีตลอดชาติแล้วทำไมฉันไม่ได้รับผลดี ก็แสดงให้ทราบว่า เขาพูดเพราะเหตุว่าเขาไม่ได้คิดถึงกรรมในชาติก่อนๆ โน้น ซึ่งเกิดดับสืบต่อสะสมอยู่ในจิตตลอด จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์

    สมนันตรปัจจัย หมายความว่าการเกิดดับสืบต่อของจิต ต้องเป็นไปตามลำดับตามกิจการงานหน้าที่ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะ ๒ ปัจจัยนี้ คือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย เมื่อจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วก็จะเปลี่ยนการให้ผลของกรรม เพราะเหตุว่ากรรมที่ไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดยังติดตามมาให้ผลหลังจากที่เกิดแล้ว

    คนเราเกิดมาแล้วในภูมิมนุษย์ ไม่ได้สุขตลอด ก็จะต้องมีบางวาระ ซึ่งอกุศลกรรมให้ผล ทำให้อกุศลวิบากเกิด หรือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็อุปถัมภ์ ให้เราได้เห็นสิ่งที่ดีๆ ให้อยู่ในสภาพสิ่งที่กรรมนั้นจำแนกมาให้เราอยู่ในวงศาคณาญาติหรือในสถานที่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านั้น แต่ก็ยังมีอกุศลกรรมอื่นที่จรมาให้ผลด้วย เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า การที่จะรับผลของกรรมแต่ละวาระ จะต้องมีการเกิดดับสืบต่อกันของจิตซึ่งกำลังเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่ได้รับผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังไม่รู้ว่ากรรมไหนจะให้ผล ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย เวลาที่กำลังเป็นภวังค์ แต่เมื่อจะรับผลของกรรมทางตา จะต้องมีอารมณ์กระทบกับปสาท ถ้าเป็นทางตา คือ รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท แล้วต้องกระทบกับภวังค์ ไม่ใช่เพียงกระทบเฉยๆ แต่ต้องกระทบภวังคจิตเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ เพราะฉะนั้น ภวังค์ที่ถูกกระทบ ที่ใช้คำว่า อดีตภวังค์ หมายความถึงภวังค์ซึ่งมีอารมณ์ของภวังค์ แล้วก็ถูกกระทบ แล้วเมื่อภวังคจิตที่เป็นอดีตภวังค์นั้นดับไป ภวังค์ต่อไปยังเป็นภวังค์อยู่ มีอารมณ์ของภวังค์อย่างเดียวกัน ยังไม่เปลี่ยนอารมณ์ แต่เป็นภวังคจลนะ เพราะไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ แต่ยังรู้ทันทีไม่ได้ เพียงไหว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ