ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๗๖

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าตามที่เข้าใจว่า มีแต่นามธรรม และรูปธรรม แต่เวลาที่สติระลึกจะมีความรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงนามธรรม คือ เป็นธาตุรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไม่

    นี่ก็จะเห็นได้ว่าต้องอาศัยการศึกษาอีกขั้นหนึ่ง คือ การศึกษาพร้อมสติที่ระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นเรื่องของความอดทนอย่างมากๆ อย่าทิ้งไปสู่ข้อปฏิบัติที่คิดว่าง่าย และรวดเร็ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ทุกคนก็คงจะไม่ลืมพระโอวาทปาติโมกข์ คือ ขันติ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง เป็นธรรมที่จะเผาความไม่รู้ ที่จะเผากิเลส ที่จะละคลายความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เรื่องของบุญกรรมที่จะได้มาฟังพระธรรมที่ถูกต้อง จะต้องฟังด้วยความอดทนต่อไปอีก ท่านได้พูดถึงปัญญาต่างขั้น ตั้งแต่ขั้นฟังเรื่องราว สติยังไม่ได้ระลึก แล้วก็มาปัญญาอีกขั้นหนึ่งคือ ขั้นศึกษาโดยสติเกิดระลึกในสภาพนามธรรม และรูปธรรม

    ที่นี้ในตอนแรกได้เริ่มประเด็นไว้ ๓ อย่างของปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาที่เกิดจากการคิด จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภาวนา ภาวนามยปัญญา อยากจะขอเรียนท่านอาจารย์ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง คือ สุตตมยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดจากการคิด จินตามยปัญญา หรือภาวนามยปัญญา ๓ อย่างนี้จะเกิดพร้อมกันไปในเวลาเดียวหรือว่าจะต้องเกิดที่ละขั้นตอน เพราะว่าตามความคิดเห็นส่วนตัว ในขณะที่ฟังพระธรรม คือ ฟังไม่ใช่เพียงได้ยิน ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่คิดใคร่ครวญไตร่ตรองตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังพระธรรม เมื่อคิดใคร่ครวญไตร่ตรองตามไปด้วย ในขณะนั้นก็ควรจะเป็นจินตามยปัญญา ควบคู่ไปด้วย เมื่อเกิดปัญญาในขั้นการฟังพิจารณาคิดไตร่ตรองแล้ว ก็เรียกว่าปัญญาเจริญขึ้น ก็ควรจะเป็นภาวนามยปัญญาด้วย เพราะว่าความหมายของภาวนา คืออบรมเจริญ

    ทีนี้ปัญญาทั้ง ๓ อย่างไม่น่าจะเป็นคนละขั้นตอน ไม่ทราบว่าความคิดเห็นของดิฉันจะผิดหรือถูก

    ท่านอาจารย์ เกื้อกูลกัน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟังเลยจะเอาอะไรมาคิด

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วให้เกิดปัญญา เป็นสุตตมยปัญญาต้องควบคู่ไปกับจินตามยปัญญา ที่คิดไปด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าทำไมต้องใช้คำว่าควบคู่

    ผู้ฟัง คือคิดว่าเป็นไปในขณะเดียวกัน เวลาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง ในหนึ่งขณะเดียวกันเป็นทั้งสุตตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ได้ไหม ทั้ง ๒ อย่างเวลาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ที่จริงจิตเกิดดับเร็วมากเกินกว่าที่เราจะคิด ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า พร้อมๆ กันไปเลย แต่ความจริงแล้วจิตประเภทใดเกิดก็เป็นประเภทนั้น อย่างจิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่คิดเรื่องราว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดว่า คู่กันไป ควบคู่กันไปหรือไม่ เพียงแต่ให้เราทราบว่ามีปัญญาต่างระดับ คือปัญญาขั้นฟัง สำหรับผู้ที่เป็นสาวก แล้วจะไม่ฟังพระธรรม แล้วคิดเอาเองไม่มี

    ถ้าใช้คำว่า จินตามยญาณ บางแห่งจะแสดงว่าเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงตรึก แล้วพิจารณาสภาพธรรม แต่ว่าสำหรับเราซึ่งเป็นสาวกไม่ว่าเราจะคิดเรื่องธรรมต้องมาจากการฟัง สุตตามยปัญญา แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีจินตามยปัญญาเสียเลย มี แต่ว่าระดับนั้นก็ต้องอาศัยเนื่องมาจากการฟังนั่นเอง ซึ่งถ้าไม่มีการฟังแล้ว เราจะมานั่งตรึกว่า สัมปฏิจฉันนะ ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นมโนธาตุ ต่างกับธาตุอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้

    สำหรับผู้ที่เป็นสาวก ไม่ว่าจะตรึกนึกคิดใดๆ ก็ต้องสืบเนื่องมาจากการฟังธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะใช้คำว่าจินตามยปัญญา เป็นระดับขั้นที่ต่างกันมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่ามีเป็นส่วนน้อยมาก เทียบแล้วก็เล็กน้อย

    ผู้ฟัง ภาวนามยปัญญาจะต้องเป็นในระดับขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณหรือเปล่า ในระดับที่สุตตมยปัญญา ภาวนาก็เกิดได้ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า “ภาวนา” หมายความว่าอบรม ทำให้ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น แล้วธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเจริญขึ้น จึงใช้คำว่าภาวนา แสดงว่าปัญญาเพียงชั่วขณะ ๒ ขณะไม่พอ แม้ว่าเกิดเพียงครั้งเดียวก็จะต้องอบรมอีก ให้มากขึ้นอีก ให้เจริญขึ้นอีก จนกว่าที่จะถึงระดับที่เป็นโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น ภาวนามยปัญญา คือ ขณะใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วเข้าใจค่อยๆ อบรม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้น นั่นเป็นภาวนามยปัญญา

    ผู้ฟัง เพราะว่าปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติระลึก

    ผู้ฟัง เวลาอาจารย์อธิบายธรรมหรือว่าสาธยายธรรม อาจารย์อธิบายจากสิ่งที่อาจารย์เห็น คือ พูดจากความเห็นหรือพูดจากความคิด แล้วผู้ฟังควรจะสร้างภาพให้เห็นไปกับความเห็นนั้นด้วย หรือว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเลย ฟังธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องคิดวิจัย วิจารณ์เรื่องอื่นเลยว่าสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นไหม เท่านั้น

    ผู้ฟัง ตกลงก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าคิดก่อนพูดหรือว่าเห็น พูดจากสิ่งที่เห็นโดยไม่ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ก่อน” ไม่น่าจะมี เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก

    ผู้ฟัง มนุษย์ส่วนมากติดกับความคิด เพราะฉะนั้น เวลาจะพูดอะไรก็ต้องคิดก่อน แต่มันมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ให้คนเข้าใจ หมายความว่า เราเห็นเหมือนกับว่าเราเห็นภาพยนตร์ แล้วก็เล่า แล้วก็พูดออกมาจากสิ่งที่เห็น ผู้ฟังควรจะทำตัวอย่างไร ในประเด็นนี้เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ พูดโดยไม่คิดไม่มีใครทำได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม แสดงถึงว่า จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลจากคำที่พูด ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาที่ทำให้จิตพูดหรือคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คนฟังขณะที่ได้ยินก็พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ให้ถูกต้อง ถ้าได้ยินสิ่งที่ผิดก็รู้ว่าผิด ถ้าได้ยินสิ่งที่ถูกก็รู้ว่าถูก ไม่ใช่เชื่อตาม

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาตามไปด้วย

    ผู้ฟัง ปัญญาเกิดจากการคิดตีออกมาให้ออกว่า คิดเรื่องราว หรือระลึกรู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพียงแต่ว่าการคิดการไตร่ตรอง แล้วเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง คิดแล้วให้เกิดความเข้าใจ

    ผู้ฟัง รู้อย่างไรว่าเราเข้าใจถูก ว่าสิ่งนั้นเป็นปรมัตถธรรมแน่นอน แต่ถ้าโกรธ ดีใจ ผมคิดว่าเป็นชีวิตประจำวัน ทุกท่านพอมีสติก็คงเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คิดแล้วเข้าใจเมื่อไร เมื่อนั้นคือปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง จะมีลักษณะไม่สงสัยเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ

    ผู้ฟัง ขอบคุณ

    ผู้ฟัง ปัญญามีหลายระดับ มีขั้นการฟัง มีขั้นการศึกษาโดยสติเกิด ทีนี้อาจจะมีปัญญาอย่างอื่นๆ อีก เพราะว่าหลายระดับคงไม่ใช่เพียงแค่ ๒ การแบ่งระดับขั้นของปัญญา แบ่งตามอะไร คือ ก็แบ่งตามความคมกล้า อ่อน แก่ หรือแบ่งตามระดับโลกียะ โลกุตตระ หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง จำแนกไปตามลักษณะของปัญญามีมาก ในพระไตรปิฏกก็แสดงไว้เยอะ ปัญญาอาจหาญ ปัญญาร่าเริง ปัญญากว้างขวาง ปัญญาลึก แล้วแต่

    ผู้ฟัง คงจะมีตั้งแต่ระดับเบื้องต้นไปจนถึงระดับสูง ที่นี้ระหว่างเบื้องต้นกับระดับสูง จะซอยไปอย่างไรแล้วแต่อีก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นเลย ขอให้เป็นความเห็นที่ถูกต้องก็แล้วกัน

    ผู้ฟัง แต่เป็นความเห็นที่ถูกต้องในต่างระดับกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ปัญญาที่จะเกิดในการปฏิบัติ ย่อมเกื้อกูลกัน ปัญญาที่จะเกิดกับเราๆ ที่ปฏิบัติ จะเกิดสุตตามยปัญญาแล้วข้ามไปภาวนามยปัญญา จินตายังจะไม่เกิด จะมีเหตุผลอย่างไรที่อาตมาไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ อย่างที่ได้กราบเรียนให้ทราบแล้ว ถ้าเป็นปัญญาที่เป็นจินตาญาณจริงๆ ที่แสดงไว้ว่า สำหรับให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเท่านั้น หมายความถึงระดับสูงสุด ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะคิดเรื่องธรรมเอง แต่ว่าท่านทั้งสองสามารถที่จะไตร่ตรองแล้วก็รู้ธรรมได้ โดยการที่ว่าเมื่อมีการไตร่ตรองตรงลักษณะของแนวทางคลองของธรรมแล้วก็เป็นเหตุให้ภาวนาปัญญาเกิดขึ้นด้วยตนเอง จึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นเป็นระดับที่สูงมาก เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมามีใครบ้างที่จะคิดว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นนี้ที่จะเป็นจินตามยญาณได้ ต้องสำหรับผู้ที่อบรมปัญญามาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นเป็นระดับที่สูงมากเจ้าค่ะ แต่ว่าสำหรับทั่วๆ ไป ผู้เป็นสาวกต้องฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การที่เราจะคิดไตร่ตรอง ตัวอย่างที่กล่าวถึงว่า ถ้าจะพูดถึงสัมปฏิฉันนะจิตกับ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นมโนธาตุ ถ้าไม่เคยมีการฟังมาก่อนเลย ใครจะคิดเรื่องอย่างนี้ ก็ไม่มีใครคิด แต่เมื่อฟังแล้วไม่ได้ทิ้งไป มีการไตร่ตรองคิดถึงสิ่งที่ฟัง เพราะฉะนั้น ก็มีส่วนของปัญญาที่เป็นการไตร่ตรองแต่สืบเนื่องมาจากการฟังด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นสาวกแล้วไม่ฟัง ก็จะไม่คิดอย่างนี้ ไม่เหมือนผู้ที่ไม่ต้องฟังก็สามารถที่จะคิดได้

    แสดงให้เห็นว่าปัญญามีหลายระดับ แล้วแต่ว่าถ้าเป็นจินตาญาณ ของคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพระพุทธเจ้า จินตานั้นก็ยังต้องเนื่องมาจากการฟัง เพราะเหตุว่าเป็นเพียงปัญญาระดับที่ไม่ถึงขั้นของผู้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องอาศัยการฟังด้วย

    ผู้ฟัง ดิฉันสงสัยที่ว่า ไม่ว่าพระอรหันต์ท่านจะกระทำกิจอะไรโดยพิจารณาหรือไม่พิจารณาก็ตาม แต่ว่าตามความเข้าใจดิฉันคิดว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะมีมหากิริยาญาณวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก่อน ทีหลังจะได้ทราบว่า จะต่างกันอย่างไร สำหรับเราวันนี้ตื่นมาเป็นอกุศลจิตเสียส่วนใหญ่ ซึ่งพระอรหันต์ไม่มีแน่ นี่คือความต่างกัน สำหรับเราขณะใดที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือได้คุยกัน ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต ซึ่งพระอรหันต์ก็พูดก็คุย แต่ว่าเป็นกิริยาจิต

    นี่คือระดับของความต่างกันของชีวิตประจำวันซึ่งดูเสมือนเหมือนกัน แต่ว่าด้วยสภาพของจิตที่ต่างกัน อย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านก็สนทนากับท่านพระสารีบุตร ไม่ว่าท่านเดินทางไปบิณฑบาต พบสิ่งได้มาท่านก็กลับมากราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ก็พูดเหมือนอย่างเรา แต่ว่าจิตต่างกัน

    ในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนเดิม แต่ว่าปัญญาเท่านั้นที่ต่าง เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือที่จะเกิดเป็นกิเลสประเภทหนึ่งประเภทใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านก็มีชีวิตปกติเหมือนเดิม เหมือนก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ ตื่นขึ้นมาก็ทำกิจทุกอย่างตามเดิมเหมือนเรา แต่ว่าเราทำด้วยอกุศลจิต ถ้าขณะนั้นกุศลจิตไม่เกิด แต่สำหรับท่าน เมื่อไม่มีเชื้อที่จะให้อกุศลจิตใดๆ เกิด การกระทำของท่านจึงเป็นมหากิริยา นอกจากขณะใดที่ท่านฟังธรรม สนทนาธรรม ไตร่ตรองธรรมเหมือนอย่างเรา ขณะที่ฟังธรรมก็เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ขณะที่เข้าใจก็เป็น ญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ท่านในขณะที่ฟังไม่ใช่กุศลจิต เป็นกิริยาจิต แต่ว่าประกอบด้วยปัญญา ขณะที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นชีวิตธรรมดาปกติ แต่เพียงสภาพของจิตที่เป็นพื้นต่างกันที่ว่า ของเราเป็นอกุศลมากโดยตลอด แต่ของท่านไม่มีเลยทั้งกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้น ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ในการดำเนินชีวิตประจำวันของพระอรหันต์ ท่านก็ดำเดินไปตามปกติเหมือนกับปุถุชน

    ท่านอาจารย์ ท่านตื่นขึ้นมาท่านก็ปฏิบัติสรีรกิจเหมือนอย่างเรา เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีเรื่องที่ปัญญาจะต้องเกิด เพระว่าการกระทำของเราเป็นไปด้วยอกุศลจิต แต่ของท่านเมื่อไม่เป็นอกุศลจิต ไม่เป็นกุศลจิต ก็เป็นกิริยาจิตธรรมดาๆ

    ผู้ฟัง ใช่ คือ พระอรหันต์ถูกต้องไม่มีอกุศลจิตแน่นอน แต่ว่าในขณะที่ท่านกระทำกิจวัตรประจำวัน แล้วเข้าใจว่าพระอรหันต์ท่านก็ต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพนามธรรมรูปธรรม แล้วทำไมปัญาไม่เกิดร่วมด้วยกับมหากิริยาจิตนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าเกิดตลอด เหมือนเรา เราก็มีมหากุศลญาณสัมปยุตต์บ้าง ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าพื้นของเราเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สำหรับท่านขณะใดที่เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ ก็เป็น แต่ขณะใดที่ไม่ใช่มหากิริยาญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นก็เป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ เพราะว่าระดับของจิตต่างกัน ของเราทำปกติ ของท่านก็ทำปกติ แต่ของเราทำปกติด้วยอกุศลจิต แต่ของท่านทำเป็นปกติด้วยมหากิริยาจิตญาณวิปปยุตต์ ระดับต่างกันแล้ว จากอกุศล แล้วก็ไม่ใช่เป็นเพียงกุศลด้วย จากอกุศล และผ่านกุศลจนเป็นมหากิริยา แต่ว่าแม้อย่างนั้นขณะนั้นก็เป็นญาณสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ขณะฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม ไม่ใช่ขณะที่อบรมเจริญ แล้วแต่ท่านที่เป็นเอตทัคคะแต่ละท่าน อย่างท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็มีจักขุทิพย์ ระหว่างนั้นก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ แต่ถ้าไม่ใช่ ระหว่างนั้นก็ต้องเป็นพื้นของจิตซึ่งเป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังเป็นกุศล เพราะยังจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากข้างหน้า คือ การเกิดขึ้น แต่สำหรับท่านเมื่อไม่มีการเกิดอีกแล้ว ทุกอย่างที่กระทำแม้แต่เจตนานั้นก็เป็นมหากิริยา แล้วก็ส่วนใหญ่พื้นของจิตท่านขณะใดที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็ย่อมเป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์

    ผู้ฟัง มีแสดงไว้ในหนังสืออภิธัมมัตถสังคหะ ก็คือว่าปัญญาทั้ง ๓ คือสุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา จะเป็นปัญญาที่ก่อให้เกิด กัมมัสสกตาปัญญาด้วย

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย การที่จะเข้าใจเรื่อง ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน หรือว่ามีปัญญาที่ประจักษ์จริงๆ ว่า ทุกขณะที่มีชีวิตอยู่เป็นผลของกรรมส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราอาจจะพูดตามได้ว่า เราเกิดมาเพราะกรรม แล้วเราก็พูดตามได้ด้วยจากการศึกษาเรื่องของอเหตุกจิตว่า เมื่อเหตุมี ผลก็คือต้องมีวิบากจิต ซึ่งประกอบด้วยเหตุบ้าง ไม่ประกอบด้วยเหตุบ้าง วิบากจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือขณะที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณในขณะนี้ ทุกคนก็พิจารณาตามได้เพราะว่ากำลังเห็น ในขณะนี้เป็นผลของกรรม

    นี่คือเรื่องราว นี่คือการฟัง แต่ว่ายังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ เพราะฉะนั้น การฟัง แล้วก็การพิจารณา จะทำให้ถึงความแจ่มแจ้งในเรื่องกรรมที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่ใช่เพียงแต่พูดเฉยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเฉยๆ วันนี้เราก็พูด พอได้อะไรมาที่ดี เราก็บอกนี้เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม พออะไรเกิดขึ้นที่ไม่ดี เราก็บอกนี้เป็นอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ไม่ได้พิจารณาถึงว่าความสมบูรณ์จริงๆ ที่จะรู้จักกรรม และผลของกรรม ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ขณะที่กำลังเห็น ต้องขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังเห็น ไม่มีทางที่จะเข้าใจในเรื่องของกรรม และวิบากโดยลักษณะ แต่ว่าจะเข้าใจโดยชื่อ เพราะฉะนั้น การอบรมสุตตามยปัญญาก็ดี จินตามยปัญญาก็ดี ภาวนามยปัญญาก็ดี จะทำให้ถึงความสมบูรณ์ของการมีความเชื่อมั่นคง ความประจักษ์แจ้งเข้าใจได้ว่า จิตที่เห็นขณะนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ซึ่งมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะแม้แต่จักขุปสาทในขณะนี้ก็เกิดเพราะกรรม ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิด จิตเห็นขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    เมื่อทุกคนสามารถที่จะเกิดปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ โดยเห็น โดยได้ยิน พวกนี้ ก็จะรู้ได้ว่าจิตที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม คือขณะนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเรา หรือเป็นเรื่องราว แต่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า จิตประเภทวิบากเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเรียนถามในข้อแรกว่า ถ้าเผื่อมีการชักชวน อาการที่เห็น การโฆษณา หรือแผ่นโฆษณาอย่างนี้ ก็ถือว่า อันนั้นเกิดความใคร่ที่จะทำตามสิ่งที่เขาชักชวน อันนี้ผมถือว่าเป็นสสังขาริกใช่ไหม คือจำเป็นหรือไม่ อันนี้ผมตามไม่ทัน ว่าจะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่ง เช่นว่า กวักมือ ทำกายวิญญัติให้เราเห็น หรือว่าใช้วจีวิญญัติ คือ พูดชักชวนให้เราทำ ๒ อย่างนี้เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนให้เกิดการกระทำขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้ตายตัว พอตัวหนังสือเขียนว่า มีการชักชวน เราก็เลยคิดว่าเมื่อเขาโฆษณาเท่ากับชวนเรา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงคำพูดที่ได้ยิน เราจะเรียกว่าโฆษณา หรือว่าจะไม่เรียกว่าโฆษณาก็ได้ สมมติว่าเราเดินไปในสวน มีดอกกุหลาบหลายๆ สี แล้วคนนี้ก็บอกสีนี้สวยจริง ไม่ได้หมายความว่า เขามาโฆษณาฉันใด เวลาที่เราใช้คำว่า มีการโฆษณาสินค้าต่างๆ ความจริงก็เป็นการบอกให้ทราบ แต่ว่าวิธีการที่คนจะบอกก็แล้วแต่ อาหารนี้อร่อยนะแค่นี้ จะถือว่าเป็นการชักชวนไหม หรือว่าเป็นแต่เพียงคำบอกเล่า ให้เราคิดแล้วก็ตัดสินใจ

    ไม่ใช่ถือตามตัวอักษรว่า ที่เราใช้คำว่าโฆษณา คือเมื่อเราเห็นด้วยจะต้องเป็น สสังขาริก แม้แต่โลภมูลจิตที่มีกำลังก็มี ที่ไม่มีกำลังก็มี แสดงให้เห็นว่า มีเหตุปัจจัยที่จะทำเกิดขึ้นเป็นอสังขาริก คือมีกำลังด้วยตัวเองนั้นอย่างหนึ่ง แล้วต้องอาศัยการชักชวน เพราะว่าเป็นจิตที่ไม่มีกำลังอีกประเภทหนึ่ง แต่ชักชวนชักจูงที่นี่ไม่ได้หมายความว่าการโฆษณา แต่หมายความว่า อาจจะครั้งแรกที่เราได้ยิน เราไม่สนใจ เขาจะโฆษณาอย่างไรก็ตามแต่ แต่เราไม่สนใจเลย แต่หลังจากนั้นก็อาจจะพบบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ แล้วก็เกิดความชอบขึ้น เปลี่ยนใจทีละเล็กทีละน้อย ก็แสดงให้เห็นว่า ความชอบของเราไม่ได้เกิดเองอย่างกล้าที่มีกำลัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ