ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๖๐

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า เวลาที่มีปัจจัยทำให้โลภะจิตที่ต้องการติดข้องเกิดขึ้น จะไม่ใช่โทมนัสเวทนา ไม่ใช่ว่าไม่พอใจในอารมณ์ แต่ว่ามีความต้องการอารมณ์ ขณะที่มีความต้องการอารมณ์ ต้องการด้วยความรู้สึกชนิดไหน แต่ธรรมดาแล้วเป็นอุเบกขาส่วนใหญ่ ส่วนโสมนัสเวทนาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยว่าต้องเป็นวัตถุที่ประณีตหรือว่าเป็นอารมณ์ที่ประณีตเป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้โสมนัสเวทนาเกิด เราก็พยายามให้โสมนัสเวทนาเกิดทั้งวัน แม้แต่ความรู้สึกก็เป็นไปตามปัจจัย ว่าขณะนั้นประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจยิ่ง โสมนัสเวทนาก็เกิดยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้แต่ถ้าอารมณ์นั้นไม่ประณีต อย่างไรๆ ความรู้สึกก็ต้องเป็นเพียงอุเบกขา จะเป็นโสมนัสไม่ได้ ไม่มีใครไปแปรเปลี่ยนลักษณะของเวทนา แต่ว่าทุกขณะที่เกิดขึ้น จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกันทีละขณะจิต ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตชาติใด เวทนาเจตสิกก็จะต้องมีชาติเดียวกับจิตที่เกิดร่วมด้วยนั้น อย่างสุขเวทนา และทุกขเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นชาติวิบาก สุขเวทนา และทุกขเวทนาก็เป็นชาติวิบาก อย่างโสมนัสเวทนามีได้ทั้ง ๔ ชาติเพราะสามารถเกิดได้กับจิตที่เป็นทั้งอกุศล กุศลวิบาก และกิริยา โทมนัสเวทนาเกิดได้กับจิตชาติเดียว คือ อกุศลชาติเพราะเกิดกับโทสะมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลชาติ สำหรับอุเบกขาเวทนามี ๔ ชาติทำนองเดียวกับโสมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ถ้าพูดอย่างนี้ฟังดูเหมือนเป็นตำรา คล้ายๆ กับว่าชาตินั้นชาตินี้แล้วก็เวทนานั้นเวทนานี้ แต่ตามความเป็นจริงถ้าจะให้เข้าใจก็คือพิจารณาตัวเองหรือว่าความรู้สึกในวันหนึ่งๆ แล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าขณะนั้นจิตที่ประกอบด้วยเวทนานั้นเป็นจิตประเภทไหน เช่น วันนี้มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ทุกคนก็ตอบได้ เฉยๆ เป็นส่วนใหญ่ แล้วเฉยๆ เป็นส่วนใหญ่ เราก็มาจำแนกอีกว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่เราเฉยๆ ถ้าขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นแม้ว่าเราจะไม่รู้มาก่อน แต่ว่าหลังจากที่มีการเข้าใจขึ้น เราก็จะรู้ได้ว่า อุเบกขาเวทนาในชีวิตประจำวันของเราวันหนึ่งๆ นั้น เป็นอกุศล คือเกิดร่วมกับโลภะ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลย ถ้าขณะใดไม่ใช่กุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล แล้วก็ส่วนใหญ่อกุศลที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็เป็นโลภมูลจิต เพราะว่ามีความต้องการอยู่เรื่อยโดยที่ไม่รู้ ตั้งแต่ลืมตา ถ้าศึกษาโดยชวนะวาระวิถี ก็จะเห็นละเอียดขึ้นว่า แม้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ทันดับไปเลย โลภมูลจิตก็เกิด หรือว่าอกุศลจิตก็เกิด ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในกุศล คือ สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น หรือทางหูที่ได้ยินเสียง ไม่ว่าเสียงอะไรก็ตาม ขณะที่เป็นเพียงเสียงที่ยังไม่ดับ เวทนาขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต ในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว ให้ทราบว่าปกติส่วนใหญ่แม้เวทนาที่เกิดก็เป็นอกุศล ถ้าเราจะไม่พูดถึงขณะที่ประกอบด้วยวิบากจิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เวทนาโดยชื่อ ฟังดูยุ่งยาก เวทนา สุขเวทนา สุขินทรีย์ อุเบกขาเวทนา อุเบกขินทรีย์ แต่ตัวจริงๆ ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเหตุว่าเป็นความรู้สึกที่มีในชีวิตประจำวัน เราเพียงแต่เพิ่มคำภาษาบาลีขึ้นให้รู้ว่า ที่เราบอกว่าเฉยๆ ภาษาบาลีใช้คำว่าอุเบกขาเวทนา หรืออทุกขมสุข ถ้าขณะใดที่ดีใจ ภาษาบาลีก็ใช้คำว่าโสมนัสเวทนา ส่วนทางกายเราก็พูดกันอยู่เสมอว่า ปวด เจ็บ เมื่อย ขณะนั้นก็รวมเป็นทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกทุกข์กาย แล้วขณะใดที่รู้สึกสบายดี ขณะนั้นก็เป็นสุขเวทนา เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราเข้าใจว่าการศึกษาเรื่องเวทนา ฟังโดยชื่อเหมือนกับลำบากยุ่งยาก ต้องจำ แต่ความจริงแล้วจำเพิ่มขึ้นนิดๆ หน่อยๆ เอง เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ด้วย

    ผู้ฟัง เรื่องของเวทนาก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่ว่าทำไมเวทนาบางอย่างจึงรู้ได้ยาก อย่างอุเบกขาเวทนา รู้สึกจะค่อนข้างที่จะรู้ได้ยากกว่าเวทนาอย่างอื่นๆ อย่างเช่น ความรู้สึกสุขกาย ทุกข์กาย หรือว่าดีใจ โสมนัส เสียใจ โทมนัส จะสังเกตได้ง่าย และไวกว่าความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะว่าอารมณ์ของอุเบกขาเวทนา ไม่รุนแรงเท่ากับเวทนาอื่นๆ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นที่ว่าไม่ยุ่งยาก หมายความถึงว่า ไม่ยุ่งยากเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แต่เวลาที่เราใช้ชื่อ อาจจะทำให้บางคนคิดว่ายุ่งยากว่า เวทนานี้เป็นวิบากหรือว่าเวทนานี้เป็นมหากุศล หรือว่าเวทนานี้เป็นอะไร คือไปติดที่ชื่อ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วเข้าใจได้ เติมชื่อเข้าไปเท่านั้นเอง เช่น เวลาที่เราสนุกสนาน หัวเราะ แล้วก็ดูหนังดูละคร อ่านหนังสือ หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วรู้สึกเพลิดเพลิน ขณะนั้นเวทนาก็ต้องเป็นโสมนัส แล้วจะเป็นชาติอะไรก็ต้องเป็นอกุศล

    นี่คือแสดงให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อรู้แล้วว่า จิตเจตสิกมี ๔ ชาติ แล้ว ๔ ชาติ ถ้าเราจะระลึกได้ แล้วเราสามารถที่จะรู้วิเคราะห์แล้วก็เข้าใจได้ เช่นกำลังเพลิดเพลิน เรามักจะบอกว่า สนุก แล้วขณะนั้นเรารู้ว่า นี่คือลักษณะของโสมนัสเวทนา แล้วก็ไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังเป็นวิบากทางหนึ่งทางใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าเมื่อเห็นแล้วต่างหากความรู้สึกโสมนัสหรือว่าเพลิดเพลินจึงเกิด เพราะฉะนั้นเราก็รู้ได้ว่า นี่ต้องเป็นอกุศล ขณะใดที่ทำกุศลแล้วเกิดปลาบปลื้ม ใครจะมาบอกเราว่าเป็นอกุศลก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นโสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศลจิต นี่ก็เป็นการที่เราจะทำให้ รู้ชาติ หรือเรื่องของเวทนาโดยชาติ

    ผู้ฟัง ถ้าจะไม่สนใจในชื่อของเวทนาก่อน แต่ว่าจะสังเกตลักษณะของเวทนา ที่กำลังเกิดขึ้น ลักษณะของอุเบกขาเวทนา รู้สึกจะสังเกตได้ยาก คือไม่ทราบว่าเป็นเพราะอารมณ์ของอุเบกขาเวทนาไม่รุนแรงเท่ากับอารมณ์ของเวทนาอื่นๆ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้ตามตำราก็มีกล่าวไว้ เรื่องของอุเบกขาเวทนาที่รู้ยากกว่า

    สมพร เรื่องของเวทนา ท่านก็กล่าวไว้ ถ้าเป็นวิบาก เป็นเวทนาที่ละเอียดมาก รู้ได้ยาก ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลยังรู้ได้ง่ายกว่า เพราะว่าเวทนาที่เป็นอุเบกขาของกุศล และอกุศลหยาบกว่าวิบาก ทางตาที่เราเห็น การเห็นมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ไม่รู้สึกตัวเลย รู้สึกแต่เพียงว่าเห็นเท่านั้น ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะว่าเป็นเวทนาที่ละเอียดที่สุด ท่านบอกว่า เวทนาที่เป็นวิบากละเอียด เช่น อุเบกขารู้ได้ยาก

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาที่ละเอียด การที่สังเกตความต่างกันของลักษณะของเวทนา อันนี้เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากรู้จักชื่อ เพราะฉะนั้น เกี่ยวข้องกับปัญหาที่คุณกฤษณาถามว่า ทำไมอุเบกขาเวทนารู้ยาก ความจริงแล้วทั้งหมดเรารู้โดยชื่อ เช่น เวลาที่เจ็บ เราก็บอกว่าทุกขเวทนา แต่เราไม่ได้รู้เลยว่า นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเพียงเป็นความรู้สึก

    การที่เราจะรู้อุเบกขาเวทนาก็ดี หรือว่าโสมนัสเวทนาก็ดี โทมนัสเวทนาก็ดี เราจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมก่อน ถ้าเราไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เราก็จะคงรู้จักโดยชื่อ เช่น ถ้ามีคนถามว่าวันนี้สบายดีหรือ เราก็บอกว่าเรื่อยๆ เฉยๆ แสดงว่าขณะนั้นเรารู้ลักษณะของสภาพความรู้สึก แต่ไม่รู้ว่า ลักษณะจริงๆ ในขณะที่สภาพนั้นกำลังเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เราเพียงแต่สรุปรวมว่า วันนี้ก็เฉยๆ ไม่มีอะไร สบายดี คือยังไม่เป็นไข้ เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกจริงๆ ที่ละเอียดไปทุกขณะ ที่เป็นลักษณะของสภาพธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เราจะยังคงคิดรวมๆ แล้วก็ตอบรวมๆ แม้แต่โลภะ อย่างเวลาที่เห็นอะไรสวย แล้วก็ชอบ ทุกคนก็บอกพร้อมกันว่าโลภะ เห็นดอกไม้สวยๆ ทุกคนบอกโลภะ แต่ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า รู้ลักษณะของสภาพที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏแต่ว่าเมื่อเรียนมาก็รู้ว่า ขณะใดที่เกิดความชอบใจก็เป็นโลภะ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้จริงๆ ว่าโลภะที่กล่าวไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่สภาพที่เห็น ไม่มีการแยกว่าโลภะจริงๆ นั้นไม่ใช่ขณะที่เห็นแต่เป็นสภาพลักษณะอาการที่ติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ยังคงรวมสภาพธรรม และรวมเวทนาในวันหนึ่งๆ ก็ทำให้เราบอกได้คร่าวๆ ว่าเฉยๆ สบายดี แต่ว่าเวลาที่รู้ลักษณะที่เป็นเวทนาจริงๆ ก็จะต้องเริ่มรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิด โดยที่ว่าไม่ได้เจาะจงว่า จะรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนาซึ่งกล่าวว่ารู้ยาก แต่ความจริงสภาพของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม มี แต่ว่าเนื่องจากเพียงฟัง แล้วยังไม่มีปัจจัยพอที่จะให้สติระลึก แล้วเมื่อสติระลึกแล้ว ยังจะต้องอาศัยการอบรมจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยแยกลักษณะแต่ละลักษณะออก เพราะเหตุว่าลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง จะต้องเริ่มที่รู้จักลักษณะของนามธรรมก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกกับรูปธรรม แล้วที่กล่าวว่าจะยุ่งยากลำบากเรื่องชื่อ คือว่า ถ้าเพียงฟังเท่านั้นก็ยุ่ง ถ้าจริงๆ แล้ว เข้าใจสภาพธรรมแล้วเติมชื่อที่เราได้ยินได้ฟัง เราก็จะรู้จักสภาพธรรมนั้นค่อยๆ ชัดเจนขึ้นทีละน้อย อย่างเช่นความรู้สึกเฉยๆ ทุกวัน พอเราเรียนมาเรื่องอุเบกขาเวทนา เราก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพของอุเบกขาเวทนา โดยชื่อก่อน แต่ว่ายังไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นอุเบกขาที่เป็นเวทนา ที่เป็นนามธรรมจริงๆ แต่รู้ว่ามี แล้วขณะนี้เป็นอุเบกขาเวทนา

    เวลาที่ใครดีใจ ตอนนี้ก็รู้จักชื่อเป็นภาษาบาลีว่า โสมนัสเวทนา เราก็สามารถที่ใช้ชื่อที่เราได้ยิน แม้ว่ายังไม่ได้รู้จักตัวจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรม แต่ค่อยๆ คุ้น แล้วก็จะทำให้ค่อยๆ จำชื่อ แล้วต่อไปเราก็จะรู้ว่าที่เรากล่าวว่าโสมนัสเวทนา หมายความถึงขณะที่เป็นอกุศลจิตหรือว่าเป็นกุศลจิต แล้วก็จะรู้ได้ว่าโสมนัสเวทนาเกิดได้ทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น เป็นการเข้าใจธรรมแล้วก็ศึกษาธรรม แล้วก็พิสูจน์ธรรม แล้วก็เพิ่มชื่อซึ่งฟังดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงสามารถที่จะค่อยๆ จำไป พร้อมกับขณะที่สภาพความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ในเวลานี้ที่ยังไม่รู้ลักษณะสภาพตัวจริงของสภาพความรู้สึก ต้องค่อยๆ คุ้นกับมัน แสดงว่าจะต้องค่อยๆ สังเกตลักษณะของเขาไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วคนที่ศึกษาใหม่ๆ ก็จะติดชื่อก่อน หมายความว่ามีชื่อเพิ่มขึ้นแล้วชื่อที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นภาษาบาลีซึ่งสมควรที่จะจำ สมควรที่จะใช้ด้วยให้ถูกต้องมิฉะนั้นแล้วถ้าเราใช้ภาษาไทยจะสับสน จะไม่เข้าใจได้ละเอียด

    เวลาที่เราพูดภาษาธรรม เราก็จะใช้คำว่าโสมนัสหรือว่าโทมนัสหรืออุเบกขา เพราะว่าเรากำลังนึกถึงเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ต่อไปเราก็อาจจะรู้สึก แล้วก็จำคำนี้ได้ คือ เป็นการที่ค่อยๆ คุ้นทีละน้อยจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วสามารถที่จะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรม โดยที่ไม่ต้องเจาะจงว่า จะรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา เพราะเหตุว่าแล้วแต่สติที่จะเกิด

    ผู้ฟัง ค่อยๆ สังเกตโดยไม่ต้องเจาะจงว่าจะเป็นเวทนาไหน

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ระลึกได้ แล้วก็มีปัจจัยที่จะให้เขาเกิดระลึกขึ้นมาได้ อย่างที่ว่าไม่เคยได้ยินคำว่า อุเบกขา เมื่อทราบว่าอุเบกขาเป็นเวทนา อุเบกขาก็เป็นคำใหม่ เวทนาก็เป็นคำใหม่ แต่ให้ทราบว่า เวทนาก็คือความรู้สึก อุเบกขาก็คือเฉยๆ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเฉยๆ เราอาจจะเคยพูดภาษาไทย แต่พอนึกเรื่องธรรมขึ้นมา เราก็อาจจะนึกขึ้นมาว่า เป็นอุเบกขาเวทนา ก็ทำให้จำไม่ยาก

    ผู้ฟัง ทีนี้ในชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ สุขเวทนาทุกขเวทนา จะเกิดมากหรือน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องของวิบากทางกาย แต่สำหรับโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นมากมาย แล้วเราก็ติดกับมันมากด้วย เช่นเดียวกันอุเบกขาเวทนาก็เกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับโทมนัสเวทนาเป็นเวทนาที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เราก็ไม่ได้หลงติดกับโทมนัสเวทนาเหมือนกับที่ติดโสมนัสเวทนา เพราะว่าเป็นเวทนาที่ไม่น่าพอใจ ไม่น่าต้องการ แต่บางครั้งทำไมโทมนัสเวทนาก็เกิดได้บ่อยๆ เหมือนกันในวันหนึ่งๆ อย่างเช่นเราคิดถึงเรื่องเศร้า เรื่องความพลัดพราก เรื่องความผิดหวัง เรื่องอะไรต่างๆ มาแล้วโทสมันเวทนาก็มาแล้ว ทำไมถึงเกิดได้บ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราไม่ติดในโทมนัสเวทนา เรายึดมั่นในโทมนัสเวทนา แต่ว่าเราไม่ต้องการ

    ผู้ฟัง ยึดมั่นแต่ไม่ต้องการ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าโทมนัสเวทนาเกิดก็เป็นเราเป็นทุกข์เป็นร้อนเหลือเกิน

    ผู้ฟัง ยึดถือว่าเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความยึดมั่นมีหลายอย่าง แม้ว่าเราไม่ต้องการ ขณะที่ไม่ต้องการในเวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด ใครเป็นทุกข์ก็คือตัวเรา เพราะฉะนั้น ก็มีความยึดถือในโทมนัสเวทนาว่า เป็นเรา แม้ว่าไม่ต้องการ

    ผู้ฟัง แล้วทำไมมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาเกิดได้บ่อยในบางครั้ง

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ หมายความว่าเรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องตามการสะสม บางคนจะสังเกตได้ว่าคนนี้ช่างรื่นเริงได้ทั้งวัน หัวเราะตลอด คนอื่นอาจจะเพียงยิ้ม แต่เขาจะหัวเราะยาว หรือว่าหัวเราะมาก หรือว่าบางคนก็ร้องเพลงเช้าสายบ่ายเย็น ขณะนั้นก็มีความสุข จึงได้ร้องเพลง คิดว่าไม่มีใครร้องเพลงแล้วก็ทุกข์ ร้องไห้ไปร้องเพลงไป หรืออะไรอย่างนั้น แต่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ บางคนก็เป็นโสมนัสมาก บางคนก็มีเรื่องหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ หาความสุขยากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่อาจจะมีทรัพย์สินเงินทอง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ใจก็ยังเป็นทุกข์ได้ แล้วบางคนก็เฉยๆ ใครจะทำอะไรก็ไม่เดือดร้อนไปหมด นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของการสะสมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง เกี่ยวกันการสะสม จะมีความคิดเห็นอะไร ข้อคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับโทมนัสเวทนา

    สมพร เรื่องเวทนาก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าท่านกล่าวว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ทีนี้ก็ลองพิจารณาดูว่า เวทนาอะไรที่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด หรือเวทนาทั้งหมดทั้ง ๕ อย่าง มีแง่คิดอย่างนี้ เพราะว่าเราก็ต้องพิจารณาดูสภาวธรรมเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ตัณหาจะเกิดก็อาศัยเวทนา เมื่อตัณหาเกิดแล้วเป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิด นี่เพื่อจะให้แจ่มแจ้ง เพราะว่าบางคนก็ไม่เข้าใจว่าเวทนาอะไร ๕ อย่าง หรือทั้ง ๕ อย่างเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด เพราะเวทนาเรายึดว่าเป็นคนเป็นสัตว์ก็มีบางครั้ง แต่ถ้าเราฉลาดแล้วก็ไม่เห็นเป็นคนเป็นสัตว์ ถึงอย่างนั้นก็มีปัจจัย เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ลองพิจารณา ดูว่าเวทนาทั้ง ๕ หรือว่าเวทนาอันเดียวที่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด

    ผู้ฟัง เวทนาที่เรายึดเป็นตัณหา เวทนาอะไรเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด

    ผู้ฟัง คำตอบ คือว่าทั้งหมด แต่ทีนี้ถ้าดูผิวๆ เผินๆ แล้วก็นึกว่าเราไม่ชอบทุกขเวทนา หรือโทมนัสเวทนา คงจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แต่คำตอบที่ถูกมันต้องทุกอัน เพราะว่าที่ยึด มันยึดตรงไหน รู้ไหม ยึดตรงที่ว่าเป็นเรา เป็นเราโกรธ เป็นเราโทมนัส เป็นเราเสียใจ

    สมพร พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้ใหญ่ๆ ว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ทีนี้เวทนาเราก็คิดได้ โดยการศึกษาเล่าเรียน ว่ามีถึง ๕ อย่าง หรือ ๓ อย่าง เวทนาบางอย่างดูเหมือนว่าไม่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด เช่น โทมนัสเวทนา ความเสียอกเสียใจ ไม่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ก็เพราะว่าเรายึดว่า เวทนาเป็นคนเป็นสัตว์ เรายึดอยู่ เราไม่ชอบเวทนาอันนี้ เช่น ได้ยินเสียงไม่เพราะ เราไม่ชอบ แต่เราก็ยังต้องแสวงหาสิ่งที่ชอบ ดังนั้นจึงว่าเวทนาก็ถูกตัณหาครอบงำหมด จะเป็นทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา หรือเวทนาทั้ง ๕ ก็ตาม อยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา เมื่อเวทนาเกิดก็เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้น เพราะว่าอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา มันอาจจะกลับกันได้ เพราะตัณหาเป็นปัจจัยให้สภาวธรรมทั้งหมดเกิดขึ้น แต่เวทนาก็เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

    ผู้ฟัง คำว่ามิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่ใช่ตามความเป็นจริง ความเห็นที่คลาดเคลื่อน หรือข้อยึดถือผิดๆ ก็ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ที่ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิด้วยอรรถว่า เป็นความเห็นที่พวกบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่อนัตถะ อนัตถะ หมายถึงว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ แล้วอีกอย่าง๑ ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุเห็นผิด หรือด้วยอรรถว่าเห็นผิดเอง หรือด้วยอรรถว่า นี้เป็นเพียงความเห็นผิดเท่านั้น

    สมพร เรื่องความเห็นผิดนี้ก็ละเอียดอ่อน เราก็ทำลายความเห็นผิด ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าความเห็นผิดอันนี้ ยังมีอีกอันหนึ่ง ซึ่งมีเห็นผิดที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ หรือว่าความเห็นผิดที่หยาบช้า ถ้าหากว่าผู้ใดละแล้วก็ละอบายไปได้ ไม่เกิดในอบาย ทิฏฐิทั่วไปก็ยังมีความหนัก และเบาต่างกัน ถ้าสักกายทิฏฐิมุ่งถึงความเห็นผิดที่ร้ายแรงที่ไปอบายอย่างเดียว พระโสดาบันท่านละได้ ก็รวมทั้งทิฏฐิอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ