ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๘๖

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้อารมณ์ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ขณะนั้นโลกปรากฏไหม ตอบเอง นี่ตอนหนึ่ง

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ทั้งๆ ที่เห็นดับแล้วผู้ที่ประจักษ์จริงๆ ก็รู้ว่า ขณะเห็นขณะต่อไป ไม่ใช่ขณะก่อน สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะเป็นเสียง หรือจะเป็นกลิ่นก็ไม่ใช่อันเดิม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏชั่วขณะปรากฏ ปรากฏสั้น เป็นปริตธรรม สั้นมาก แล้วก็ดับหมดเลย นี่คือความหมายของว่างเปล่า

    ผู้ฟัง ที่ว่างจากตัวตนนั้น นัยของคำว่า ว่างจากตัวตน หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าว่างแล้วจะมีตัวตนได้อย่างไร ก็สัมพันธ์กันไปหมดเลย ทั้งสาระ และตัวตนก็ไม่มีทั้งนั้น ในเมื่อว่าง

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า เห็นแต่สิ่งที่ปรากฏ เกิดขึ้นดับไป และวางเฉย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างหมดเลย

    ผู้ฟัง ทุกอย่างหมดเลย

    ผู้ฟัง แต่พอโลกว่างเปล่า มันไปถึงสติปัฏฐานแล้ว ใช่ไหมอาจารย์ อยากจะให้อาจารย์

    ท่านอาจารย์ เราก็ต้องเข้าใจความจริงของสภาพธรรมตั้งแต่ขั้นฟัง ก่อนจะถึงสติปัฏฐานด้วยซ้ำไป ต้องเข้าใจความจริง และต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรม พอที่สติจะระลึก แล้วก็รู้ความจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง โดยที่ว่าก็ต้องเป็นเรื่องเป็นราวอีกว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ บอกให้ไม่ยึดก็ไม่ยึดไม่ได้หรอก ต้องปัญญาเกิด

    ผู้ฟัง คำว่า โลกียปัญญา ซึ่งเป็นของปุถุชน และโลกุตตรปัญญาซึ่งเป็นของพระอริยเจ้า

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยการตรัสรู้ ซึ่งใช่ภาษาบาลี ซึ่งเราต้องพยายามเข้าใจให้ถูกต้องในพยัญชนะที่ใช้ ไม่ใช่ความเข้าใจเติมของเรา แม้แต่คำว่า โลกียะ กับ โลกุตตระ และโลกียปัญญาหรือโลกุตตรปัญญา ถ้าเป็นโลกียปัญญา ก็หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่เกิดกับมรรคจิตหรือโลกุตตรจิต แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปัญญาที่เกิดกับโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็นโลกุตตรปัญญา

    ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าเป็นโลกียปัญญา ก็คือ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นผล

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่ไม่ได้เกิดกับโลกุตตรจิต

    ผู้ฟัง โลกียจิตหรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตซึ่งไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยดับกิเลส หรือโดยกิเลสดับแล้วซึ่งได้แก่ มรรคจิต ผลจิต ๘ ดวง นอกจากนั้นเป็นโลกียจิต

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เกิดดับคือเป็นโลก และเป็นโลกียะด้วย มีคำว่าโลกียะด้วย สงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นโลกียจิต เป็นจิตที่เนื่องด้วยการเกิดดับ โลกุตตรจิตก็เกิดดับ ทำไมจึงไม่เรียกว่าโลกียะ เพราะสภาพของ โลกุตตรจิตเอง ก็เกิดดับ ทำไมไม่เรียกโลกุตตรจิตว่าโลกียจิตด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงโลกียจิตกับโลกุตตรจิต จะแสดงให้เห็นว่า จิตต่างกันเป็น ๒ ประเภท ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่ต้องเกิดดับแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโลกียจิตหรือโลกุตตรจิตก็เกิดดับ ไม่ใช่ว่าโลกุตตรจิตแล้วไม่เกิดดับ จิต เจตสิก เกิดดับเป็นสภาพที่เกิดดับ แต่จำแนกจิตให้เห็นว่า จิตทั้งหมดต่างกันออกได้อีกนัยหนึ่ง คือโดยประเภทที่เป็นโลกุตตระ เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ อันนี้เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่สภาพของโลกุตตรจิตก็ยังต้องเกิดดับอยู่ ไม่ใช่ว่าเมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วจะไม่เกิดดับ แต่ที่มีฐานะเป็นโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ามีนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพซึ่งไม่ใช่โลกเป็นอารมณ์ เวลาที่เป็นโลกียจิต เนื่องด้วยอารมณ์ที่เป็นโลก ได้ไหม ยังเนื่องกับโลกอยู่ เวลาที่เป็นโลกียจิต

    ผู้ฟัง โลกียจิตคือจิตเนื่องด้วยอารมณ์ ที่เป็นโลก

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่เป็นโลกุตตรจิตนี้ไม่เนื่องกับสภาพธรรมที่เกิดดับ

    ผู้ฟัง จะมาเกี่ยวกับเกิดดับอย่างไร โลกียจิต

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิตเป็นจิตซึ่งต้องเกิดดับ แต่เนื่องจากมีอารมณ์ที่ไม่เกิดดับ คือโลกุตตระเป็นอารมณ์ ที่เราจะจำแนกจิตให้เห็นว่า จิตต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ จิตที่มีโลกุตตรเป็นอารมณ์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ กับจิตที่ไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จะพูดอย่างนี้ก็ได้ ให้ยาวๆ อย่างนี้ หรือว่าจะพูดสั้นๆ ตามแบบภาษาบาลีก็ใช้ได้ ใช้คำว่าโลกียจิตก็ได้ โลกุตตรจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง และละเอียดด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมีคำแปลคำเดียว แต่ว่าเราต้องเข้าใจถึงอรรถด้วย แม้คำนี้จะมี อิยะ เข้ามาหรืออะไรก็ตาม แต่หมายความถึงจิตที่ประเภทไหน

    ผู้ฟัง เข้าใจอย่างนี้ได้ไหม โลกุตตรจิต คือ จิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ที่ไม่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ สั้นๆ ที่จะเข้าใจได้ก็คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วดับกิเลส หรือดับกิเลสแล้ว ต้องเติมด้วย เพราะว่ามุ่งหมายเฉพาะจิต ๘ ดวง แม้ว่าจิตอื่น เช่น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ดี หรือ มหากิริยาญาณสัมปยุตต์ก็ดี มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ใช่มรรคจิต ผลจิต จึงไม่เป็นโลกุตตรจิต ๘ ดวง

    ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจว่า เป็นโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าตรงที่ไม่เข้าใจ คือไปสัมพันธ์ กับคำว่า เกิดดับ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปสัมพันธ์ ให้ทราบว่าจำแนกจิตเป็น ๒ อย่าง แล้วโดยภาษาบาลี อาจารย์สมพรท่านอนุญาตใช้ได้ ท่านเป็นผู้รู้ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ท่านใช้คำว่า โลกียจิตได้ โลกุตตรจิตได้ ในพระไตรปิฎกก็มี ในอรรถกถาก็มี ถ้าเราไม่ใช่เป็นผู้ที่บัญญัติคำที่ว่า ถ้าใช้ในความหมายนี้ จะต้องแปลอย่างนี้ หรือ จะต้องแปลว่าอย่างนี้ แต่หมายความให้เข้าใจรู้ว่า ถ้าเป็นโลกียจิต ก็คือ ไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยฐานะซึ่งไม่ได้ดับกิเลสหรือดับกิเลสแล้ว

    สมพร คำว่า โลกียะกับโลกุตตระ ความหมาย ถ้าเป็นโลกุตตระ โลกะ บวกกับ อุตตร เรียกว่า โลกุตตร แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ พระอนุรุทธาจารย์ท่านเรียกจิตดวงนี้ว่า อนุตรจิต จิตนี้มีจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ชื่อว่า โลกุตตระ ท่านกล่าวไว้ พระอนุรุทธาจารย์ แล้วอดีตอาจารย์อธิบายว่า ท่านกล่าวจิตดวงนี้ว่า ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า เรียกว่า อนุตรจิต อนุตรจิตนี้แหละท่านเรียกว่า โลกุตตระ โลกะ อุตตระ อุตตระแปลว่าสูงสุด อุตตระ บางที แปลว่า ข้างขึ้น หมายความว่าสูงกว่าจิตปกติธรรมดา ท่านกล่าวอธิบายอย่างนี้บอกว่า จิตอันยอดเยี่ยมมี ๘ ดวง ท่านเรียกจิตยอดเยี่ยมนี้ อนุตรจิตว่า โลกุตตรจิต ๘ ท่านกล่าวอย่างนี้

    ผู้ฟัง มีพระบอกว่า เวลาเจอผู้หญิง อย่ามอง ถ้าจำเป็นต้องมอง ก็อย่าพูด ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็อย่าอะไร ผมจำไม่ได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นชีวิตประจำวัน เราจะสังเกตได้ว่า เวลาที่เราเดินไป เราก็เห็น อยู่ที่ความสนใจว่าเราใส่ใจเพียงในนิมิต หรือในอนุพยัญชนะด้วย แม้แต่เวลาที่ซื้อของไปตลาด เราก็ต้องดูผลไม้นี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่เห็นว่า เป็นแต่ผลไม้ แต่ยังต้องดูว่า เสียหรือเปล่า ตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างไร ผักปลาทั้งหลาย นี่คือชีวิตประจำวัน การที่ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าโดยความไม่รู้อะไรเลย ก็ไปพยายามไม่ติดๆ ซึ่งเป็นการที่ไม่จริง แต่ว่าถ้าปัญญาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นนิมิต เป็นอนุพยัญชนะที่เคยสนใจ เคยพอใจทั้งหมด ตามความเป็นจริงแล้ว คือสิ่งที่จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แต่การมองเห็นจะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่ง พินิจพิจารณาว่า อนุพยัญชนะมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล เพราะบางคนตาไวมาก อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่น แต่ข้อสำคัญคือ จะเห็นละเอียดเท่าไร หรือไม่ละเอียดเท่าไรก็ตาม จะใช้เวลาน้อยหรือมากก็ตาม ตราบใดที่ไมรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะไม่ให้ติดในสิ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น รวมทั้งนิมิต และอนุพยัญชนะ ไม่ว่าจะเห็น โดยเพียงนิมิต หรือว่าโดยอนุพยัญชนะ แต่ก็จะต้องรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สรุปแล้ว ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ คือ ไม่ให้ไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ให้ ให้รู้ความจริง ทำไม่ได้ ใครบอก ก็ทำไม่ได้ นอกจากอบรมเจริญปัญญาขึ้น แล้วปัญญาก็จะทำหน้าที่รู้แล้วละ อย่างอื่นทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้ อย่างอื่นจะทำหน้าที่รู้ความจริงของสภาพธรรมไม่ได้ เมื่อไม่รู้สภาพความจริงก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของสภาพธรรมอื่น แต่ต้องเป็นหน้าที่ของปัญญา

    ผู้ฟัง จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาเรื่องจิต ปรมัตถธรรม ควรจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีจิตตลอดเวลา ไม่มีใครเลยซึ่งเกิดมาแล้วจะไม่มีจิต แต่ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ หรือสิ่งที่มี ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ลักษณะของจิตนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าเคยเป็นตัวตน หรือว่าเคยเป็นเรามาตั้งแต่เกิด อย่างขณะนี้เองกำลังเห็น ทั้งๆ ที่ได้ศึกษามาแล้วว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แล้วจิตก็เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ พูดอย่างนี้นานแล้วก็บ่อย และทุกคนก็คงจะพูดตามได้ แต่ว่าการที่จะเริ่มเข้าใจในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง แล้วก็เห็นก็เห็นไป ฟังก็ฟังไป แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็นที่จะรู้ว่า ขณะนี้เองเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งที่กำลังเห็น เพื่อจุดประสงค์อันนี้ ไม่ว่าใครจะศึกษาปริยัติธรรมมาตั้งแต่ในชาติก่อนไหนๆ หรือว่าแม้ในชาตินี้เอง จะเรียนจบกี่ปริจเฉทก็ตาม หรือว่าจะอ่านพระไตรปิฎกอรรถกถาแล้วก็ตาม แต่ว่าถ้าไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังมีจริงในขณะนี้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุ หรือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม และนามธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์คือ จิต ซึ่งจิตจะไม่มีหน้าที่อื่นเลยสักอย่างเดียว คือ ไม่จำ ไม่รู้สึก ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ว่าเป็นธาตุรู้ ซึ่งลักษณะของธาตุรู้จะรู้อย่างเดียว แต่ว่าสามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าลักษณะตัวเองของจิตแท้ๆ เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ซึ่งในขณะที่กำลังเห็น ถ้าสามารถที่จะแยกขาด รู้ชัดในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏได้ นั่นคือปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้ที่เห็น ตรงกับที่ได้ศึกษาตามความเป็นจริงว่า มีธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้ขณะนี้ กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางหู ทางจมูก ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง ในกรณีที่จิตมีสภาพรู้ เป็นสภาพรู้แต่เพียงอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ จิตไม่จำ

    ผู้ฟัง แล้วอะไรจำได้

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ต้องแยกออก เวลาที่ศึกษาธรรมต้องทราบว่า จิตปรมัตถ์อย่างหนึ่ง เจตสิกปรมัตถ์อย่างหนึ่ง รูปปรมัตถ์อย่างหนึ่ง นิพพานปรมัตถ์อย่างหนึ่ง มิฉะนั้นก็จะต้องปะปน แต่ว่าก่อนอื่นต้องแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมออก เพราะเหตุว่าพอเราศึกษาเริ่มเข้าใจ เราก็ยังไม่เห็นความต่างกันของจิตกับเจตสิก เพราะว่าเวลาที่จิตเกิดจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวลาที่เจตสิกประเภทใดปรากฏลักษณะ เช่น ความรู้สึกขณะนั้นลักษณะของจิตแทบจะไม่ปรากฏเลย แม้ว่าจิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเจตสิกอื่นๆ ไม่มีลักษณะอย่างนี้ ลักษณะของเจตสิกไม่ใช่ มนินทรีย์ เช่น ลักษณะของเวทนา ความรู้สึก เป็นอุเบกขินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นสุขินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกเป็นสุข เป็นโสมนสินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกดีใจ หรือว่าเป็นโทมนัสสินทรีย์ เวลาที่เป็นทุกข์ โทมนัส ขณะนั้นจะไม่เห็นลักษณะของจิต เพราะเหตุว่าแม้ว่าสภาพธรรมที่จะมีความเป็นใหญ่ถึง ๒๒ อย่าง คือ อินทรียะ ๒๒ แต่ก็ต้องแยกออกเป็นแต่ละอย่างว่า สำหรับจิตมีลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ในเมื่ออกุศลจิตเป็นจิตที่เป็นเหตุแล้วก็เป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ แต่เขาเกิดง่าย แล้วเกิดบ่อยในชีวิตประจำวัน เพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา สิ่งที่ดีก็ต้องยากกว่าสิ่งที่ไม่ดี

    ผู้ฟัง แต่ทำไม ถึงได้เกิดบ่อยแล้วเกิดมากๆ ด้วย เกิดเร็วด้วย ในชีวิตประจำวัน ทำไมมันถึงยาก ทำไมมันถึงง่าย

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชา วิชชากับอวิชชาต่างกัน อวิชชา คือ ความไม่รู้ เมื่อมีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็มีเหตุที่จะให้เกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออกุศลอื่นๆ และอวิชชา คือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่า ไม่มีอะไรเลย เมื่อมีความไม่รู้ ก็ต้องหมายความว่าไม่รู้อะไร ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เช่น จิต อย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ น่าสนใจ น่ารู้ เพราะเหตุว่าทุกคนยึดถือจิตว่าเป็นเรา แต่ว่าจิตเองไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้เจตสิกอื่นๆ แค่นี้ก็เป็นความไม่รู้มหาศาล เรียกว่ามหาศาลจริงๆ เพราะเหตุว่าเคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมานานแสนนานทีเดียว เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าทำไมอกุศลจิตเกิดบ่อย เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ติดใจคำว่า “ยาก” ทำความดีทำยาก แต่ทีนี้คำว่าความดีนี่ ถ้าเผื่อเป็นพวกเราซึ่งเรียนพระอภิธรรม เราก็รู้ว่า ทาน ศีล ภาวนา จะเกิดกุศล ที่นี้คนนอก บางทีเขาก็ไม่รู้ เขาก็นึกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นความดี อันนี้ให้จะตัดสินอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวตนที่จะไปตัดสิน แม้แต่ว่าคนที่ว่าดี ก็มีอกุศลจิตเกิด ไม่ใช่หมายความว่า จะดีไปตลอดกาล เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วใน ๑ ขณะเกิดเป็นอะไร ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ชาติ หรือ ชา-ติ ซึ่งมี ๔ อย่าง เราคงจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม และกิริยาจิต จะพูดแต่กุศลจิต และอกุศลจิตก่อน แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ต้องมีกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก คือ ผล เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า ทุกคน จะเป็นผู้ประมาท ว่าดีแล้ว หรือว่าถ้าใครจะชมสักคนว่า ช่างดีเหลือเกิน ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะหลงในคำชมนั้น เพราะเหตุว่าคนนั้นก็ยังมีอกุศลจิตอยู่ ต้องเป็นผู้ที่รู้ขณะจิตจริงๆ ว่า แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ชั่วกาลหนึ่งๆ คือชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น

    ผู้ฟัง อกุศลจิตเกิดมาจากการสะสม ในทำนองเดียวกันกุศลจิตก็เกิดจากการสะสมด้วย ถ้าสมมติว่า คนนอกเขาไม่ได้เรียน จะออกมาไม่ชัดว่า ถ้ากุศลจิตจะเกิด จะต้องมีทาน ศีล ภาวนาได้ ๓ อย่าง อันนี้ถ้าหาก ว่าเขาจะทำความดี คือมีกุศลจิตเขาจะตัดสินได้อย่างไร

    สมพร ตัดสินอยู่ที่ใจของเรา ขณะนี้ว่าใจของเราสั่งสมอะไรมา สั่งสมอะไรมามาก สิ่งนั้นก็เกิดได้ง่าย เพราะอาศัยที่มีอยู่ ที่มีอยู่ เช่นกิเลสที่จะเกิดขึ้น ก็เพราะว่ามันมีอยู่ แล้วเราก็สั่งสมเพิ่มเติมๆ ๆ มากมาย จนกระทั่งมาเห็นครั้งหนึ่ง กิเลสก็อาศัยการเห็นเกิดขึ้น ได้ยินครั้งหนึ่ง กิเลสก็อาศัยการเห็นเกิดขึ้น เพราะอำนาจที่เราสั่งสมไว้มากเหลือเกินมันมีอยู่ แต่ถ้าเราไม่สั่งสมให้เกิดบ่อยๆ สั่งสมกุศล กุศลได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ส่วนมากกิเลสเกิดได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เพราะการสั่งสมไว้มากเข้า มากเข้าๆ แล้วอะไรจะเกิด สิ่งที่สั่งสมไว้นั่นแหละ ก็อาศัยปัจจัยภายนอกเกิดขึ้น มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น มันก็เกิดขึ้น เพราะมีมากนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ยังติดใจนิดหนึ่ง ที่คุณสุรีย์ใช้คำว่า ตัดสิน

    ผู้ฟัง ดิฉันก็ไม่ทราบว่า จะใช้คำว่าอะไร คือตัวเขาบอกว่า เขาทำความดีแล้ว คำว่าความดีของเขา เอาอะไรเป็นเครื่องวัด

    ท่านอาจารย์ คือ เขาว่า ใครว่าไม่สำคัญ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ถ้ากุศลจิตเกิด ใครบอกว่าไม่ดี ก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อคนนั้นคิดว่า สิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าสภาพธรรมเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีการตัดสินเลย ขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างไร ปัญญารู้สภาพธรรมตรงลักษณะนั้นตามความเป็นจริง รู้ความจริง แต่ไม่ใช่ตัดสิน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความรู้ถูก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ที่เราเรียนธรรม เพื่อที่จะให้เกิดปัญญาความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้รู้ว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลจริงๆ นั้นคืออย่างไร ที่เป็นอกุศลนั้นคืออย่างไร เพื่อรู้แต่ว่าไม่ใช่เพื่อที่จะไปตัดสิน ใครจะว่าคนนั้นทำดี แต่ความจริงการกระทำนั้นเป็นอกุศลจิต ก็ต้องเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และเกิดบ่อยโดยเฉพาะอกุศล ทั้งๆ ที่เราเรียนมา ทราบมาว่า มีทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นกุศล แต่ไม่ค่อยจะไปตรงนั้นเลย มันจะไม่ใช่ทาน มันจะไม่ใช่ศีล ไม่ใช่ภาวนา แล้วถ้าเผื่อคนที่เขาไม่ได้เรียน แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไร อันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นอกุศล ซึ่งประเดี๋ยว เราก็คงไปเรื่องของทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ถึงเขาไม่รู้แต่ถ้ากุศลจิต เกิดเขาให้ทาน

    ผู้ฟัง หมายความว่ากุศลจิตเกิดโดยที่เขาไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องรู้ คนละเรื่อง มีเหตุปัจจัยให้ที่จะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด

    ผู้ฟัง บุคคลผู้ขอทาน บางคนขอเพราะความจน แต่บางคนขอเพราะถูกบังคับ ซึ่งการให้ทานของแต่ละคนให้ด้วยความสงสาร บางทีให้ด้วยความรำคาญ ซึ่งอันนี้ ผมว่ากุศลจิตที่เกิดจากการให้ ควรจะต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิต อกุศลจิตก็มีด้วย สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือความรำคาญก็เป็นอกุศลก็มี ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรำคาญเกิดเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล เวลาที่กุศลจิตเกิดก็เป็นกุศล ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ จะไปถามใครคนนั้น คนอื่นบอกไม่ได้ ถึงตัวเองก็บอกไม่ได้ ถ้าสติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แต่ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด จะรู้เฉพาะความจริงของสิ่งที่สติกำลังระลึก สิ่งที่หมดไปแล้วก็ไม่สามารถจะรู้ได้

    นี่แสดงให้เห็นความรวดเร็วของจิตว่า ขณะนี้ที่ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งฟังธรรม ทั้งคิดนึกทุกอย่าง ถ้าสังเกตจริงๆ จะเห็นสภาพของจิตหลายชนิด หลายประเภท ซึ่งสลับกัน อาจจะมีความรำคาญเล็กๆ หรืออะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม หรือว่าอาจจะมีความง่วง หรืออะไรก็ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567