ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๙๙

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ท่านอาจารย์ ในเหล็ก ในอะไร ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั้งนั้น พร้อมที่จะสลาย เพราะฉะนั้น ก็บอบบางจริงๆ เราไปเห็นความหนาแน่นแท่งทึบ เราก็คิดว่าใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าถ้ามีการกระทบสัมผัสด้วยปัญญา จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นกำลังเห็น โลกไม่มีเลย ขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่มีโลกปรากฏ แต่ที่เรามีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ที่นี่ นั่งอยู่ที่นี่ เป็นผลของกรรมที่ทำให้เราเห็นสีของโลกนี้ ได้ยินเสียงของโลกนี้ ซึ่งบางครั้งดี บางครั้งไม่ดี ตามกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีกรรมที่ดีมากๆ เราก็จะมีความสบายทางกาย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และสิ่งที่สบายอย่างนั้น มันจะเป็นโลกนี้ หรือว่าโลกอื่น

    ผู้ฟัง คำว่ากรรมนี้คล้ายๆ ว่าของไม่ดี แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อันนี้ภาษาไทยอีก พูดว่า นี่บุญของเขา นี่กรรมของเขา ก็เลยบุญดี กรรมไม่ดี แต่ความจริง กรรมจริงๆ หมายความถึงกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นเจตสิกหนึ่งใน ๕๒ ประเภท

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นบุญเป็นผลของความดี

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมดี เพราะเหตุดี ผลก็ต้องดีด้วย

    ผู้ฟัง จิตจะเกิดได้ต่อเมื่อผู้ที่จะมีขันธ์ ๕ พร้อม

    ท่านอาจารย์ คือต้องแยกลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรมออกโดยเด็ดขาด ไม่เกี่ยวกัน แต่ที่เกี่ยวกัน เพราะในโลกนี้ มันมีทั้ง ๒ มันก็เลยทำให้เหมือนกับว่า ไม่แยกขาดจากกัน เพราะว่าโลกนี้มีรูปธรรมแน่นอน แล้วก็มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นสีสันวัณณะของโลกนี้ ได้ยินเสียงที่มีในโลกนี้ เพราะฉะนั้น จิตก็รู้รูป เราอยู่ในกามภูมิ หรือกามภพ หรือกามโลก คำว่ากาม กา-มะ หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราติดมากเลย เพราะว่ามันมีให้เราติด ถ้าในภูมิที่น้อยกว่านี้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เราก็ติดแค่ตา แค่หู

    ผู้ฟัง คำว่า กาม กา-มะ แปลว่า ผมว่ามันเกิดเพราะว่าเหมือนกับสัตว์ หรือมนุษย์ เกิดมาเมื่อไม่รู้จักรูป สี กลิ่น รส มันก็ถือไว้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กาม หมายความถึงตัวรูปเลย เป็นที่พอใจ เสียงก็เป็นกาม เป็นที่พอใจ กลิ่น รส สัมผัสเป็นที่พอใจ ถ้าไม่มีสภาพรู้เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปพอใจ รูปก็เป็นรูปดับไปไม่มีความหมายอะไร แต่เพราะมีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ติดเลย พอใจที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็นกาม เพราะว่าเป็นที่พอใจ

    ผู้ฟัง ปัญญาจะเกิดได้ด้วยการฟัง การศึกษา

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร ก่อนอื่น ทุกครั้งที่เราจะมีความเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่พลาดก็คือว่าสิ่งนั้นคืออะไร ต้องเข้าใจก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจก็เหมือนกับเราเรียกสิ่งที่เราไม่รู้จัก เราตามหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร เราพยายามไปค้นคว้าหาสิ่งที่เราไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร เพราะเราพูดถึงเรื่องปัญญา เมื่อกี้นี้ก็ต้องทราบว่า ปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร ตอนนี้ตอบได้แล้ว เพราะว่ามีปรมัตถธรรม ๓ แล้ว จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ปัญญาคืออะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ต้องรู้ก่อน ถ้ายังไม่รู้แล้วจะไปทำอะไรได้ ไปทำสิ่งที่เราไม่รู้ เราไปหาแม้สิ่งที่เราไม่รู้ ในพระไตรปิฎกอุปมาว่า เหมือนคนที่เขาได้ยินชื่อว่า มีผู้หญิงสวย เขาจะไปหาผู้หญิงสวยสักคน แต่เขาไม่รู้ผู้หญิงสวยคนนั้นผิวเป็นอย่างไร ผมเป็นอย่างไร หน้าเป็นอย่างไร ตาเป็นอย่างไร ไปหาเจอไหม ไม่มีทาง เรายังไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร แล้วเราไปสะสมอบรมเจริญปัญญา มันน่าแปลก ในเมื่อไปสะสมอะไรที่เราไม่รู้ มันเป็นไปได้หรือ แต่เราพิจารณาว่าสภาพธรรมมี ๓ อย่างที่เกิดขึ้น เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่ง ปรุงแต่งแล้วก็เกิด คือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เห็นใคร รูป ปรากฏทางตา เขาดีหรือไม่ดี เขากำลังโกรธมากๆ เจตสิก โทสะ ไม่ใช่เขา เป็นปรมัตถธรรม แล้วเราจะไปนั่งโกรธคนไหน ดับไปแล้วหมด ทั้งรูปทั้งนาม มีแต่จิตของเราเศร้าหมองด้วยความโกรธ ซึ่งจะสะสมสืบต่อไปอีกแสนนาน ตราบใดที่ปัญญาไม่เกิด ก็จะต้องมีความโกรธเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง จิตไม่มีความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ได้อย่างไร จิตเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่เจตสิกที่รู้สึก ไม่ใช่ว่าจิตไม่มี เพราะว่าขณะนั้นมีเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่จิตเองไม่รู้สึก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ความรู้สึกเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ความเศร้าหมองก็เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก

    ผู้ฟัง จิตเป็นแค่

    ท่านอาจารย์ ธาตุรู้

    ผู้ฟัง ทีนี้จะมีปัญญาได้ คือรู้ว่า คนนี้กำลังอยู่ในเจตสิกแบบไหน

    ท่านอาจารย์ รู้ปรมัตถธรรม และเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าคนไหนก็จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่คนนี้จิต เจตสิก รูป แล้วนี่ล่ะ ก็ต้องจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เราจะสังเกตได้ว่า ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ประพฤติตามพระธรรม พอมีเรื่องร้ายๆ ช่วยกันว่าใหญ่เลย ที่ไหนอะไรนะ คนนั้นนะที่เขาหั่นศพ แล้วประโยชน์อะไรกับจิตของเรา กรรมเขาก็ทำแล้ว สิ่งไม่ดีก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่น่าสงสารว่าเขาต้องรับผลของกรรม เวลารับผลของกรรม ทุกคนจะไปช่วยกันสงสารเขา ก็สงสารเขาตั้งแต่เขาเป็นเขาเดี๋ยวนี้ แล้วจิตของเราก็ไม่เศร้าหมอง รักษาจิตของเราเอง เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่ผ่านมา พระธรรมจะเหมือนกับกระจกเงา แทนที่จะเป็นไปด้วยโลภะ โทสะ ก็ระลึกได้ว่า จิตที่กำลังรู้เรื่องอย่างนั้นๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ประโยชน์หรือไม่ประโยชน์ คิดไม่ได้ก็เป็นไปตามโลภะ โทสะ ช่วยไม่ได้ ไม่มีสติที่จะระลึกได้ ไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิต ซึ่งไม่มีเขาเลย เป็นแต่เรื่องที่กระทบหู แล้วจิตก็คิดใหญ่เลย อยู่ในโลกของความคิดของตัวเอง ชาตินี้ก็คิดเรื่องทั้งหมดที่ประสบมาในชีวิต แล้วขณะสุดท้ายจากไปก็หมด ไม่มีเหลือ

    ผู้ฟัง อบรมจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง พอเข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละคือปัญญาเกิด แล้วฟังอีกปัญญาก็เกิดอีก จะอบรมโดยวิธีอื่นก็ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง ที่เราอบรมกันทุกคืน คือ การอบรม ...

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม การแสดงธรรมเป็นภาวนา เป็นการอบรมจิต

    ผู้ฟัง ถ้าเกิด อย่างเรื่องการควบคุมความโกรธ สมมติว่า คุณโอมาพูดอะไรหยาบ แล้วอ้อยไม่พอใจ อ้อยโกรธขึ้นมา เขาก็เป็นอกุศล ซึ่งคุณโอก็อกุศลอยู่แล้วที่มาโกรธอ้อย แล้วอ้อยมาโกรธกลับไป อ้อยมีอกุศลมากขึ้นกว่าเขาอีก ใช่ไหม เป็นทำนองนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่น่าจะคิดเปรียบเทียบกัน นี่คือเราอดจะยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเรื่องราวไม่ได้ แต่ความจริงถ้าเรารู้ว่า มันเป็นความนึกคิดของเราเท่านั้น เราอยู่คนเดียวในโลกกับเรื่องราวต่างๆ จากการเห็น การได้ยิน แล้วก็มาปรุงแต่งเป็นเรื่องราว ก็เข้าใกล้ปรมัตถธรรมจะดีกว่าไปคิดถึงคนอื่น

    ผู้ฟัง มีวิธีเดียวที่จะอบรมให้เจตสิกเราเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง แทนที่จะอกุศล ก็ด้วยการฟังกับการอ่าน

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังด้วย

    ผู้ฟัง ทางนี้ทางเดียว

    ท่านอาจารย์ ทางอื่นเราคิดดูสิว่า จะมีไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ เรารู้ว่า ไม่ดี เราเข้าใจถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดมีตัวเรา เราก็จะทำอยู่ร่ำไป แต่ถ้ามีปัญญาเรารู้ว่า จิต เจตสิกมีปัจจัยก็เกิด เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เขาก็ปรุงแต่งฝ่ายดีเกิดขึ้น มีการระลึกได้ ขณะใดที่สภาพธรรมที่ไม่ดีเกิด แต่ก่อนไม่เคยระลึกได้เลย เขาก็ระลึกได้ว่าไม่ดีแค่ไหน

    ผู้ฟัง จำได้ว่าเป็นของไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ละเลย เพียงแต่รู้นิดๆ หน่อยๆ

    ผู้ฟัง พอมีปัญญาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ความรู้สึกโกรธจะลดน้อยไป เพราะเราก็ลดละไป

    ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่อยากจะให้เราหวัง ธรรมแบบอยาก รักษาโรค เพราะว่าคนเรา รักตัวเองมาก จะบอกอย่างไรๆ ก็ไม่ทิ้งรักตัวเอง ตราบใดที่ปัญญาระดับที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างหวัง แม้แต่กุศลก็หวัง เพราะความรักตัว เพราะฉะนั้น แทนที่จะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากการฟังพระธรรม หวังจะไม่ให้มีโลภะ หวังจะไม่ให้มีโทสะ หวังจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ประโยชน์ของการฟัง เพราะว่าฟังด้วยความหวัง ไม่ได้ฟังเพื่อพิจารณาให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด และซับซ้อน เราถูกโลภะครอบงำมามาก ไม่ว่าเราจะทำอะไรด้วยโลภะทั้งนั้น หนีเขาไม่พ้นเลย หันซ้าย หันขวา อยู่ตรงไหนก็เจอทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นปัญญาจะรู้เลย

    ปัญญาเท่านั้นที่จะละโลภะได้ เพราะรู้ว่าขณะไหนเป็นโลภะ แต่ถ้าไม่รู้ ก็โลภะนั่นแหละตลอด ชื่นชมในความดี ทำดีตั้งเท่านี้เท่านั้น เรียนแล้วต้องมีผลสิ หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยังติดข้อง แต่ความจริงพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่สุด คือเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ ไม่ใช่เพื่อจะได้อะไรสักอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อจะให้โลภะน้อยไป โทสะน้อยไป แต่เพื่อเข้าใจความจริง แล้วก็ความจริงคือปัญญาที่เกิดจะทำหน้าที่ของเขา เพราะว่ากิเลสกลัวอย่างเดียวคือปัญญา กิเลสไม่กลัวอย่างอื่นเลย ถ้าปัญญาไม่เกิด กิเลสงอกงาม แต่พอปัญญาเกิด กิเลสจะค่อยๆ หายไป ไม่ค่อยเกิดบ่อย อย่างที่ควร แล้วก็ในที่สุดก็หมดเรื่อง เมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่ทราบเกิดหรือยัง

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่เคยสะสมบุญมาในอดีต แม้แต่ที่จะได้ฟังอย่างนี้ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้เป็นคำถามนอกลู่นอกทาง ท่านอาจารย์สอนมา เคยเห็นใครไหม ที่กิเลสน้อย

    ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่สนใจ ไม่สนใจเลย คือไม่สนใจว่า คนที่ฟังเข้าใจแค่ไหน ก็ไม่หวัง หรือไม่สนใจเลย ทำหน้าที่เท่าที่จะทำได้ คือ ถ้าสามารถจะช่วยอธิบาย แล้วก็พูดอะไรที่จะให้คนเข้าใจ ดิฉันก็จะทำ แต่ใครจะเข้าใจมากน้อยเท่าไร วันนี้สนใจ คราวหน้าไม่สนใจ ก็เรื่องของเขา เราจะไปหวังอะไร หวังทำไม หวังแล้วก็ผิดหวัง ไปหวังได้อย่างไร ไม่ได้ทำเพื่อความหวังใดๆ ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ตามความคิดของท่านอาจารย์ เราได้ยินธรรม เราก็มีความยินดีที่จะเรียนรู้ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราได้กุศล เราสร้างกุศล เราก็อยากจะแชร์ให้กับคนอื่นเขา สิ่งที่ดีที่สุดคือว่า ไม่ใช่รอให้เขามาหาเรา เราควรจะพูดไปเรื่อยๆ เราควรจะเชิญคนเข้ามาฟังธรรมไหม แล้วก็แล้วแต่ว่าเขาจะมาไม่มา เขาจะสนใจหรือไม่สนใจ หรือว่าเราเก็บไว้สำหรับตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเก็บไว้สำหรับตัวเรา มันก็หมดที่ตัวเรา

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แน่นอนอยู่แล้ว เพระเราก็ต้องตาย แต่ถ้าเราเห็นประโยชน์ของพระธรรม ชีวิตของเราจะมีค่าขึ้นอีก เมื่อเราสามารถที่ให้พระธรรมดำรงอยู่ต่อไป แต่ว่าไม่ใช่โดยการที่เราไปให้กับคนที่เขาไม่พร้อม หรือว่าคนที่เขาไม่ได้สะสมมา เพราะนอกจากเป็นการเสียเวลาทั้งเขาทั้งเรา สิ่งที่ทำก็ไม่เกิดประโยชน์ ก็เอาเวลานั้นทำสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่าใครพร้อม หรือว่ามีศรัทธาจริงๆ เราก็ช่วยกัน ทำให้เขามีความเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่บางทีเราดูคน อาจจะดูคนไม่เพียงพอ เราอาจจะดูผิด เพราะว่าเป็นคนดีเผินๆ เราก็อยากจะไปเชิญเขาให้เขามาฟังธรรม แล้วคราวนี้ถ้าเกิดเขาฟังแล้ว เขาเกิดความศรัทธาเอง ก็ดี ถ้าเกิดเขาไม่เกิดศรัทธา เขาก็จะไม่กลับมาอีก ก็จะเป็นไปในรูปนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มันเป็นของธรรมดา คือเรามีกุศลเจตนา แต่เราไม่หวัง ถ้าหวัง เราจะผิดหวัง เราทำดีที่สุดเท่านั้น

    ผู้ฟัง เราควรจะมีเจตนาที่ดี ที่ไปเชิญเขามา

    ท่านอาจารย์ บอกให้เขาทราบ ถ้าเขาสนใจ เขาก็จะมา ไม่สนใจก็ไม่มา เหมือนอย่างเราบอกคุณจอห์น บอกคุณโอ บอกคุณอ๋อย บอกใครๆ แล้วแต่ว่าใครสนใจ คนนั้นก็มา

    ผู้ฟัง แล้วแต่เขาสะสมมา ถ้าเขาไม่ได้สะสมมา เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนว่าเขาไม่สนใจ

    ท่านอาจารย์ แม้แต่คนในบ้านเรา อย่างที่บ้านมีหลานตั้งมากมาย ก็ไม่เคยบอก ไม่เคย คะยั้นคะยอ เราก็ทำให้รู้ ถึงเวลาแล้ว ขึ้นบ้าน ขึ้นห้องฟังเทป ฟังวิทยุ ก็แล้วแต่ เขาก็อาจจะสงสัย ถึงเวลาทานข้าว ถ้าวิทยุยังไม่จบ ดิฉันก็เอาวิทยุมาด้วยเวลาทานข้าว เขาก็นั่งอยู่เขาสนใจก็สนใจ ไม่สนใจก็ไม่สนใจ คือเกินกว่าที่เราจะพูด เพราะว่าเหมือนกัน บอกหรือไม่บอกมีค่าเท่ากัน แต่ถ้าการกระทำของเรา มันก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็น ความสำคัญ ซึ่งถ้าเขาเห็นด้วย เขาก็ค่อยๆ สนใจทีละเล็กทีละน้อย โดยที่เราไม่บังคับ

    คุณหมอสัญชัยกับคุญบุญศรี คุญบุญศรีทีแรกไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่สามีคือคุณหมอสัญชัยนับถือ ความเกรงใจภรรยาว่า อาจจะไม่อยากฟังเลย คุณหมอก็ฟังวิทยุในห้องน้ำ ไปในห้องน้ำ เพื่อว่าจะไม่รบกวน ตอนหลังคุญบุญศรีค่อยๆ สนใจขึ้น ทั้ง ๒ คนก็ฟัง แต่ก็ไม่ได้บอกลูก ว่าให้ลูกฟังหรืออะไร แต่ลูกได้ยินเอง ฟังเอง สนใจเอง เวลานี้ทั้ง ๒ คนก็มีเทปอยู่ในรถ แล้วพอพ่อแม่มีเทปใหม่ก็ขอ หรืออะไรอย่างนี้ คือว่าถ้าบอกเขาก็อาจจะบ่ายเบี่ยง ยังไม่ถึงเวลา แต่เมื่อถึงเวลาของเขา เขาสนใจเราก็ส่งเสริมได้ ช่วยเหลือได้ให้เขาได้ฟังมากขึ้น ถ้าเป็นในรูปนั้นก็ดี

    เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนที่เริ่มใหม่ๆ เพราะว่าปกติเราจะได้ยินคล้ายๆ กับธรรมเทศนา เพียงขั้นระดับของศีล ๕ ให้ละชั่ว คือว่าไม่ทำอกุศลกรรมบถ ไม่ให้ฆ่าสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น นั่นเป็นระดับจริยธรรม แต่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งใกล้ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น พระธรรมมีมาก แล้วก็จารึกไว้เป็น ๓ ปิฎก เป็นส่วนๆ คือส่วนที่ ๑ เป็นพระวินัยปิฎก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ ๒ เป็นเรื่องว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมกับใคร ที่ไหน เรื่องอะไร ส่วนที่ ๓ เป็นธรรมล้วนๆ ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีใครเคยสนใจฟังหรือเปล่าว่าพระอภิธรรมปิฎก เพราะมี ๓ ปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก และปิฎกสุดท้ายคือพระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ

    อภิ แปลว่ายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น ธรรมจะยิ่งใหญ่อย่างไร แล้วอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่รู้ เราก็ไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมนั้น แต่ถ้าเราทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เป็นอะไร เป็นสิ่งที่มีจริง เรากำลังอยู่ที่นี่ กำลังเห็น กำลังคิด จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริง ก็คือธรรมนั่นเอง แต่ทำไมเราไม่รู้จักธรรมนี้ พระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ก็เป็นตัวเราที่นั่งอยู่ที่นี่ แต่ว่าเมื่อทรงแสดงแล้วก็ต่างกับคำสอนอื่นๆ เพราะว่าคำสอนอื่นๆ จะมีเรา แล้วก็จะให้เราพากเพียรทำสิ่งที่ดีแล้วก็จะต้องไปเชื่อฟังใครก็ตามแต่ ผู้สร้างหรืออะไรอย่างนั้น คือสอนให้เชื่อ แต่ว่าไม่ได้สอนให้เข้าใจ แต่พุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้นเลย ศาสนาคือคำสอน พุทธ ของผู้ที่ตรัสรู้ คำสอนของผู้ตรัสรู้จริงๆ ย่อมสอนให้คนที่ฟังสามารถที่จะเกิดปัญญาแล้วก็เข้าใจได้ ทุกอย่างที่เป็นคำพูดที่ตรัส และทรงแสดง ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ อย่างที่กล่าวว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง อย่างที่คุณแจ็คกล่าวเมื่อกี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง อย่าเพิ่งผ่านคำนี้ไป แล้วก็อย่าเผิน ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้คืออะไร ที่มีจริงๆ เราต้องคิด แล้วดูสิว่าคำตอบของเราถูกหรือเปล่า เพียงแค่นี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม จะมีใครลองตอบไหม ขณะนี้อะไรจริง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงแน่ๆ เพราะกำลังเห็น เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะปรากฏได้เฉพาะเมื่อกระทบตา กระทบหูไม่ปรากฏ กระทบกายไม่ปรากฏ ต้องกระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่มีตา คือจักขุปสาทเท่านั้นที่จะเห็น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการเห็นมีจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แล้วสิ่งที่ปรากฏก็จริงก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งในชีวิตของเราทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ๆ จากการที่ตรัสรู้ก็ทรงแสดงว่า ธรรมมี ๒ อย่างที่ต่างกัน ไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ที่นี่ หรือว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในโลกนี้ หรือว่าออกไปนอกโลกนี้ ไปถึงไหนก็ตาม กี่ภพ กี่จักรวาลก็ตาม ธรรมจะมีต่างกันเป็น ๒ ประเภทเท่านั้น คือ นามธรรมกับรูปธรรม ชื่ออาจจะทำให้เราเข้าใจผิด เพราะว่าเราเคยฟังแล้วเคยคิดอย่างหนึ่ง แต่พอศึกษาธรรมแล้ว ชื่อต้องตรงกับที่ทรงแสดง เช่น ธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ธรรมที่เป็นรูปธรรม ต้องเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ทั้งหมด แล้วก็เข้าใจใหม่ว่า รูปธรรมหมายถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น

    สิ่งที่มีจริง และไม่รู้ เป็นรูปธรรม สิ่งที่มีจริง เราไม่ต้องเรียกชื่อก็มี อย่างเสียง เราไม่ต้องเรียกอะไรเลย หรือจะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยอะไรก็ตามแต่ เสียงมีจริงๆ แล้วเสียงก็ไม่สามารถรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เสียงเป็นรูปธรรม แต่เราใช้คำว่าเสียง เป็นคำบัญญัติ ให้รู้ว่าเราหมายถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มี จริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อเลย อย่างโกรธ พอเกิดขึ้น ขุ่นใจ ไม่สบายใจ มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อ หรือจะเรียกชื่อภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาแขก ก็หมายความถึงสภาพที่โกรธ ที่ประทุษร้ายใจ ที่ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นอภิธรรม คือต้องเข้าใจความหมายตามลำดับด้วย สิ่งที่มีจริงแล้วเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เป็นปรมัตถธรรม ปรมัตถ์ คือ บรม ยิ่งใหญ่ อภิ ก็ยิ่ง แล้วก็ละเอียด เพราะฉะนั้น เราก็จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงละเอียดขึ้น เพราะอย่างคุณหมุ่ยตอบตอนต้น โต๊ะจริง โทรทัศน์จริง ทุกอย่างจริง แท้ที่จริงแล้วเป็นคำ ที่เราเรียกสิ่งที่ตามองเห็น หรือว่ากายกระทบสัมผัสได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ คือ แข็งเมื่อกระทบ หรือว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นในขณะนี้ก็จริง สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ ถ้าไม่รู้อะไรก็เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เราไปเรียกสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า คนบ้าง โต๊ะบ้าง เก้าอี้บ้าง สมมติเรียกให้เข้าใจรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าไม่มีรูปร่างสัณฐานของโทรทัศน์ปรากฏ เราก็ไม่เรียกว่าโทรทัศน์ ถ้าไม่มีรูปร่างสัณฐานของเก้าอี้ เราก็ไม่เรียกว่าเก้าอี้ แต่พอมีรูปร่างสัณฐานเกิดขึ้น ก็มีความจำ แต่ว่าสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่โทรทัศน์ ไม่ใช่เก้าอี้ แต่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่เป็นสิ่งที่ยาก เพราะเหตุว่าเราคุ้นเคยกับการจำ สิ่งที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ กว่าเราจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงหลับตาก็ไม่มีแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น อะไรจริง คือ สิ่งที่ปรากฏ แม้เรายังไม่นึกถึงรูปร่างเลย สิ่งที่มีจริงนั้นๆ คือ ปรมัตถธรรม แต่บัญญัติเป็นเรื่องราว เป็นความคิดเรื่องปรมัตถธรรมทั้งหมด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567