ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๒๓

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เราคิดเรื่องราว เรื่องตัวตน เรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล ซึ่งถ้าไม่มีธรรมเหล่านี้ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่มี แต่เราลืม เราคิดว่ามีคนจริงๆ มีญาติพี่น้องมีทุกอย่าง แต่ถ้าไม่มีธรรม สิ่งที่เราคิดว่ามีก็มีไม่ได้ ญาติพี่น้อง บ้านเรือน ผู้คนต่างๆ มีไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมแล้ว ขณะไหนก็ตามเกิดนึกเรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏว่า ขณะนี้เป็นธรรม กำลังเห็นแค่นี้ เพียงรู้ว่าเป็นธรรม ก็ยังต่างกับขณะที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะระลึกถึงธรรมซึ่งกำลังมีในขณะนั้น

    ขณะนี้ที่กำลังฟัง ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม ได้กลิ่นเป็นธรรม แม้คิดนึกก็เป็นธรรม เกิดระลึกขึ้นได้เมื่อไรว่า เป็นธรรม เมื่อนั้นก็เริ่มที่จะค่อยๆ สนใจใส่ใจพิจารณาที่จะให้เข้าใจธรรมขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ได้ว่า เป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    หนทางนี้เป็นหนทางที่ต้องอบรมที่เป็นจิรกาลภาวนา ก็เป็นการอบรมอย่างยาวนานมาก เหมือนกับการจับด้ามมีด เพียงแค่จับครั้งแรก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ด้ามมีดก็สึกไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเข้าใจธรรมขึ้นทีละเล็กทีละน้อยก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าฟังมาก ไตร่ตรองมาก ความคิดของเราเรื่องอื่นก็จะลดน้อยลง แล้วเราก็จะคิดเรื่องธรรมเพิ่มขึ้น มีใครคิดเรื่องธรรมมากเท่ากับเรื่องอื่นหรือเปล่า ก็ต้องอบรมต่อไป ไม่มี แล้วจะให้เข้าใจธรรมโดยตลอดแจ่มแจ้ง ก็ยาก แต่ก็ต้องฟังต่อไปอีก

    ผู้ฟัง ปฏิบัติต่ออุปาทาน ปฏิบัติอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า อุปาทานอยู่ที่ไหน เมื่อไร แล้วถึงจะละได้ เช่น คำว่ากามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม คือสิ่งที่น่าพอใจ กาม เป็นสิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่น่าพอใจในชีวิตของเรา จะพ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม ดอกกุหลาบ ดอกลาเวนเดอร์ หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ เป็นสิ่งที่น่าพอใจเมื่อเห็น เพราะฉะนั้น กามุปาทานก็คือความยินดีพอใจในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยึดมั่น อุปาทาน แปลว่ายึดมั่น ไม่ใช่เพียงแต่พอใจ แต่ยังพ้นไปไม่ได้เลย นี่คือความหมายของอุปาทาน เรายึดมั่นในสิ่งที่เราเห็น จนกระทั่งถึงบัดนี้ นานแค่ไหน แล้วก็จะต้องการเห็นต่อไปในสิ่งที่เราชอบ

    เราอยู่ในความติดข้อง ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าวันไหนได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เป็นอย่างไร โสมนัสมีความสุข แสดงถึงความยึดมั่น เพราะฉะนั้น ก็ยากแสนยากที่จะละความยึดมั่น ต้องเป็นถึงพระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันยังละความติดข้อง ความยึดมั่น ถือมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสไม่ได้ แต่ว่าต้องอบรมเจริญปัญญาถึงระดับพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่า เราติดมานานมาก สิ่งที่เราติดมานานๆ จะให้หมดไปทันทีไม่ได้ แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ประจักษ์แจ้งในการเกิดขึ้นของสภาพธรรม สามารถที่จะดับความเห็นผิด เพราะว่ารู้ถูกว่า เป็นธรรม แล้วรู้ถูกต้องในการเกิดดับ แล้วก็ประจักษ์แจ้งอริยสัจ เป็นพระโสดาบัน ไม่มีความสงสัยในธรรมหมดความสงสัยในนิพพานในอริยสัจทั้ง ๔ แต่ด้วยความเป็นผู้ตรงก็รู้ว่า ยังละความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รู้ทางกายไม่ได้ เพราะเหตุว่าสะสมมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเมื่อละความเห็นผิดแล้ว ก็ยังจะต้องเห็นโทษของการติดข้อง ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่สำหรับปุถุชน คือ คนที่ยังไม่รู้ บอกสักเท่าไรถึงโทษของกาม ทรงแสดงไว้มากมาย ก็คือปัญญาของผู้รู้ที่ท่านเห็นโทษจริงๆ แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงปัญญาระดับนั้น ถึงจะบอกโทษของกาม พรรณนาว่าเหมือนความฝัน เหมือนสิ่งที่ได้มาในความฝัน ตื่นขึ้นมาก็หายไป เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเลยซึ่งยังคงอยู่ จะพูดพรรณนาสักเท่าไร ละได้ไหม กามุปาทาน ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องจริง ต้องค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก นี่คือกามุปาทาน สำหรับอุปาทานอื่นก็เป็นเรื่องของความเห็นผิด ซึ่งพระโสดาบันดับ แต่สำหรับกามุปาทานต้องพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง ทำความพอใจ เมื่อเวลาอารมณ์เกิดทางหู ทางตา ทางใดก็แล้วแต่ทางทวาร ๕ นี้ พยายามทำลายความยินดีในทวารทั้ง ๕ อย่าให้เกิด ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เราพยายาม หรือว่าปัญญารู้หนทางที่จะรู้สภาพธรรมนั้น แล้วจึงละได้

    ผู้ฟัง ใช้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเป็นเรา เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือว่า มีตัวตน แต่ถ้าเป็นปัญญาก็คือว่า เมื่อเข้าใจแล้วว่าหนทางมีหนทางเดียว ทรงแสดงไว้ว่าการที่จะละกิเลส มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็อบรมจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาอบรมเจริญแล้ว ก็สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นสามารถที่จะละคลายจนกระทั่งถึงโลกุตตรจิต ดับได้เป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ... คนเดียว คือกัน บ มันจะ บ ซื่อ เมื่อก่อนก็ซื่อไว้

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่านประวัติของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพุทธสาวก จะเห็นได้ว่าท่านสะสมความเป็นพหุสูตร ความเป็นผู้ฟังมาก แสนกัป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงชาติเดียวที่ท่านฟัง ก่อนที่ท่านจะเริ่มความที่สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เหมือนพวกเราไม่มีต่างกันเลย มีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ได้ฟังพระธรรม ไม่ใช่จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว หลายๆ พระองค์ ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็มากมาย แล้วปัญญาถึงจะค่อยๆ อบรมจนกระทั่งถึงกาลที่สมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ้าย้อนถอยไปถึงชีวิตของท่านเหล่านั้นในกัปๆ เหมือนผู้ที่กำลังฟังแล้วก็เริ่มสะสมความเป็นพหุสูตร ความเป็นผู้ฟังมาก แต่ความเป็นผู้ฟังมากไม่ใช่เพียงจำนวนครั้ง หรือว่าจำนวนเวลาที่ฟัง แต่ปัญญาที่เกิดจากการฟังแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นเข้าใจขึ้น สะสมขึ้น โดยไม่เป็นผู้ที่ท้อถอย เพราะเหตุว่าขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เวลาที่เรามีความเพียรที่อยากจะได้อะไร แต่ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ทำไมเราเพียรได้ แต่เพียรที่จะให้ฟังธรรมให้เข้าใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีกำลังปรากฏ ถึงฟังอย่างไรๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ทนทานต่อการพิสูจน์ ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ไม่ใช่เราแล้ว จริงๆ เป็นอย่างไร ถ้าไม่เกิดขึ้นปรากฏไม่ได้เลย

    สิ่งใดก็ตามที่มีจริง เพราะเกิดขึ้น ปัญญาที่ได้อบรมแล้วสามารถประจักษ์การเกิดแล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมที่เกิด เกิดเพราะปัจจัย ไม่มีใครสร้างเลย เพราะขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรม

    เมื่อธรรมเกิดขึ้นก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบันดาลทั้งสิ้น ต้องเป็นขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ปัญญารู้การเกิดขึ้นของธรรมนั้น แล้วก็รู้การดับไปสภาพธรรมนั้นด้วย สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ผู้ฟังทุกคนเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า การฟังมากพอหรือยังที่จะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้ายังไม่มากพอ ฟังอีก อ่านอีก สนทนาอีก จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นของที่ถูกต้องที่เพียงฟังครั้งแรกๆ จะให้มีความเข้าใจเท่ากับท่านที่อบรมมาถึงแสนกัป พอฟังก็เข้าใจได้ทันที อย่างท่านพระสารีบุตร ไม่ต้องเสียเวลามากเลย เพียงฟังก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเราเป็นอย่างนี้ทุกชาติๆ สะสมอบรมไป ก็จะถึงวันนั้น แต่ต้องคิดถึงตามความเป็นจริงว่า ขณะที่ฟังเริ่มเข้าใจจากสิ่งที่ได้ฟังมากหรือน้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าบางคน ฟังครั้งแรกก็รู้สึกว่าพอเข้าใจลางๆ แต่ว่าพอฟังอีกเหมือนที่ฟังคราวก่อน ทำไมตรงนี้เหมือนไม่เคยได้ยินเลย แปลว่าเริ่มที่จะรู้ว่า มีความเข้าใจตรงนั้นเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ได้ฟังในครึ่งชั่วโมง หรือในชั่วโมงหนึ่ง จะมีความเข้าใจมากน้อยเท่าไร ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ตรงรู้ว่า เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก หรือยังสงสัยอยู่ตรงไหน ฟังแล้วก็พิจารณาด้วย ไม่ใช่ปล่อยไปให้เป็นความสงสัย หรือความไม่รู้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ยากแสนยากที่จะรู้ตรงตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง เรื่องโลภะกับโทสะเกิดขึ้นตลอดเลย อยากจะเข้าใจว่าโลภะเป็นสภาพที่น่ารักแล้วก็มันติด ...

    ผู้ฟัง มีใครไม่ชอบโลภะบ้าง ได้เห็นดอกไม้สวยๆ มีใครไม่ชอบ มีใครไม่ติดข้องต้องการบ้าง ได้ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ มีใครไม่ชอบบ้าง ความอยาก ความต้องการ ความติด อันนั้นเป็นโลภะไหม ถ้าเกิดโลภะขั้นอ่อนๆ เราก็ไม่ค่อยเห็นโทษ ใช่ไหม ไม่เห็นโทษ กลับชอบเสียด้วย ไม่เห็นโทษ แต่ถ้าเป็นโลภะที่หยาบๆ อย่างเช่นต้องการ หรือรักใครมากๆ หรืออยากได้อะไรมากๆ รู้สึกว่า มันกระวนกระวายไหม เพราะว่าไม่ใช่สภาพที่เป็นกุศล สภาพธรรมนี้มีมลทิน เพราะฉะนั้น ต่างกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาแล้วเข้าใจในลักษณะของโลภะจริงๆ เหมือนลิงติดตัง เหมือนกับว่าจับเราไปครอบ มันติดกระทะเหนียวแน่นเลย ไม่ยอมออกเลย ความติดก็มีหลายระดับ ถ้าเกิดว่า เราไม่ละเอียดไม่ตรงจริงๆ เราก็จะไม่เห็นโทษของโลภะ แล้วโลภะก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เพราะถ้าเกิดติดข้องมากๆ จะนำมาซึ่งความผิดหวังบ้างไหม อย่างพระอนาคามี ท่านดับโทสะได้เพราะว่าท่านมีปัญญาที่เข้าใจโทษของโลภะ ท่านต้องดับโลภะในขั้นกลางออกให้หมด ท่านถึงจะดับโทสะได้ โทสะ เราไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะลักษณะเขาหยาบกระด้าง ประทุษร้าย ไม่มีใครอยากให้โทสะเกิด แต่โลภะ รู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นโทษเท่าไร อยากให้เกิดบ่อยๆ เกิดมาก็ไม่ค่อยเห็นโทษ เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภะ ก็เป็นลักษณะที่ติด ที่ต้องการ ที่อยากได้ ลักษณะของโทสะ ไม่มีใครประสงค์เลย ไม่มีใครอยากที่จะมีโทสะ เพราะว่าไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นทุกข์เป็นร้อน ลักษณะของเขาต่างกัน เพราะฉะนั้น จะดับโทสะได้ก็ต้องดับ โลภะได้ก่อน แล้วการดับโลภะได้ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วค่อยๆ เห็นโทษของตัวที่ละเล็กทีละน้อย คือว่าต้องรู้ด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ เรื่องจริง คือ ทุกคนมีโลภะ แล้วทีนี้พอรู้ว่าโลภะเป็นอกุศล บางคนก็อาจจะคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรกับโลภะ คล้ายๆ กับว่า พอรู้ว่าเป็นอกุศลก็ไม่อยากจะมี นี่เป็นความคิดที่ไม่ต้องการโลภะ ไม่อยากให้มีโลภะ เพราะเห็นว่าโลภะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนจะมี ๒ อย่าง เมื่อรู้ว่า โลภะไม่ดี ความรักตัวไม่อยากจะให้มีสิ่งที่ไม่ดี ก็ทำให้พากเพียรที่จะทำอะไรก็ไม่ทราบที่จะไม่ให้มีโลภะ บางคนก็อาจจะไม่เติมน้ำตาลในอาหาร ไม่อะไรต่ออะไรตั้งหลายอย่าง เพราะคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะมีโลภะมากๆ ก็ทำตัวให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เพราะไม่อยากให้ตัวเองมีโลภะ นั่นก็มีการปฏิบัติอย่างนี้มีไหม บางคนก็ฝืน เคยชอบทุเรียน ก็ไม่ทาน เพราะว่าเดี๋ยวจะเป็นโลภะที่กินทุเรียน รับประทานทุเรียน ก็เป็นเรื่องของความที่บีบบังคับ พยายามที่จะไม่ให้มีโลภะ ถูกหรือผิด คิดดู นั่นไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้เกิดโลภะ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ว่าก็มีคนที่พอเข้าใจว่า เป็นโลภะ โลภะไม่ดี ก็พยายามจะทำทุกทางที่จะไม่ให้โลภะเกิด โดยที่ว่าฝืนอัธยาศัย ไม่ใช่เป็นไปตามการสะสม ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง โลภะนี้จะดับอย่างไรก็ไม่รู้ เกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา ได้ยินได้ฟังมาว่า ทุกคนมีโลภะ แล้วก็เห็นจริงๆ ว่า ตัวเองก็มีโลภะมากมาย จะทำอย่างไรก็ดับโลภะไม่ได้ ก็เลยไม่ต้องทำอะไร ก็มี เพราะฉะนั้น ก็มีบุคคลอยู่ ๒ บุคคลที่ปฏิบัติผิด เพราะเหตุว่าคนหนึ่งก็พยายามที่จะระงับยับยั้งทุกทางด้วยความเป็นเรา ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง เมื่อโลภะดับไม่ได้ก็ปล่อยไปเลย เราก็มีโลภะของเราไปทุกวันทุกวัน แต่ตามความเป็นจริงสิ่งหนึ่งซึ่งต้องมีความแน่ใจ มั่นคง เข้าใจขึ้นก็คือว่า ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อันนี้จริงไหม เพราะอะไร โลภะเกิดแล้ว จะไปบังคับสิ่งที่เกิดแล้วไม่ให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะไม่ปรากฏเลยว่า มีโลภะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้สึกหรือเข้าใจว่า มีความติดข้อง มีความต้องการ แล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นภาษาบาลีใช้คำที่จะเรียกสภาพธรรมนั้นว่า “โลภะ” ก็เกิดขึ้นทำกิจการงานของโลภะ ไม่ใช่เราที่จะดับโลภะ บางคนก็ว่าปล่อยให้เป็นโลภะไป ไม่ได้ปล่อย ใครปล่อยก็ไม่ได้ แต่โลภะจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยของโลภะ ถ้าเกิดเห็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วจะให้โลภะเกิดได้ไหม ทุกคนก็ส่ายหน้าว่า ไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของโลภะ ที่เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดีแล้วจะพอใจ ก็เป็นหน้าที่ของโทสะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ไม่ใช่เราปล่อย และไม่ใช่เราบังคับ แต่ต้องเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นให้มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรมแล้วก็เป็นอนัตตา แต่ว่าถ้าพูดสั้นๆ ว่าเป็นธรรม เป็นอนัตตา ก็ไม่จริงกับปัญญาของเราที่เพียงพูดตาม เพียงแค่ฟังแล้วพูดตามว่า บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ก็ไม่พอ แต่เมื่อพูดอย่างไร ต้องอบรมปัญญาให้ถึงคำที่เราพูดด้วยปัญญาของเราเอง เช่น ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้มีแข็ง เฉพาะแข็งเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เราจะรู้ได้ เราฟังธรรม เราพูดตามธรรมว่า ไม่มีเรา แต่พอมีแข็งปรากฏ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ยังเป็นเรา นี่คือความตรง ต้องตรงจนกระทั่งรู้หนทางว่า ทำอย่างไรแข็งตรงนั้นจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรมไป เพราะว่าสิ่งใดที่ได้ยินได้ฟังแล้ว พิสูจน์ก็จะรู้ว่าเป็นจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง แต่ต้องเป็นการพิสูจน์ คือ การรู้ของเราเอง การอบรมเจริญปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น เราก็เป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่าเราอยู่ระดับไหน ระดับความเข้าใจขั้นปริยัติ คือ ขั้นฟัง หรือว่าเริ่มที่จะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วสภาพธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ทันทีที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ความตรงยังต้องรู้ว่า รู้ลักษณะนั้นว่าเป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมจริงๆ แล้วหรือยัง ก็เป็นเรื่องต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ถ้ามีการฟังแล้วยังไม่มีการระลึกได้เลยว่า เป็นธรรม ก็ต้องฟังจนกว่าไม่ว่าจะอยู่ขณะใดที่ไหนก็มีการระลึกได้ อาจจะเป็นเรื่องก่อน แต่ภายหลังแม้ไม่ใช่เรื่อง ลักษณะของสภาพธรรมก็มีจริง แม้ในขณะนี้ก็สามารถระลึกได้

    ปัญญาที่อบรมมาก็ต่างกัน บุคคลในครั้งพุทธกาล พระสาวกทั้งหลาย ท่านอบรมจนถึงพร้อมที่ท่านสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชาตินั้น เป็นเนยยะบุคคลบ้าง เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคลบ้าง เป็นอุคฆติตัญญูบุคคลบ้าง แต่ว่าสำหรับเรามาถึงสมัยนี้ แล้วก็ตามความเป็นจริงอีก ถ้าไม่เคยมีบุญในอดีต ที่ได้สะสมมาก็ไม่มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังพระธรรมแน่นอน นอกจากนั้นถ้าเป็นผู้ที่สะสมศรัทธามาน้อย ฟังน้อยแล้วก็เบื่อ หรือว่าไม่สนใจ หรือว่าเห็นอย่างอื่นแล้วก็ยังสำคัญกว่า แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมปัญญามามาก ก็จะรู้ว่าตลอดชีวิต ทุกสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นความสุข ทุกอย่างชั่วคราว ไม่ถาวรเลย ติดตามไปถึงชาติต่อๆ ไปไม่ได้ แต่ว่าการสะสมปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เวลาที่ได้ฟังธรรมอีกก็เข้าใจได้เร็ว แล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วย แต่ต้องอบรมไปเรื่อยๆ

    ไม่ท้อถอย ถ้าท้อถอยคงไม่อยู่ในห้องนี้ มีคนหนึ่งพอฟังธรรม เขาก็บอกว่ารู้แล้ว เขาก็ไปเที่ยว ตามสบายทุกอย่าง วันเสาร์ วันอาทิตย์ก็ไม่ได้ฟัง เพราะเหตุว่ารู้แล้ว เข้าใจว่า ตัวเองรู้แล้ว รู้หมดเพราะได้ยิน ก็ได้ยินซ้ำๆ ตามีจริง เห็นมีจริง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริง แล้วก็เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เขาคิดว่าพอแล้ว ถึงมาก็ได้ยินอย่างนี้อีก แต่ว่าภายหลังมีผู้ที่กล่าวให้ฟังว่า ถ้าขาดการฟังบ่อยๆ ใจของเขาก็จะนึกถึงเรื่องอื่น แต่ถ้ามีการฟังบ่อยๆ เพิ่มขึ้น เขาก็ยังมีโอกาสที่จะระลึกถึงธรรม แล้วก็ฟังธรรมด้วยความละเอียดยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแค่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่เรา เสียงไม่ใช่เรา นี้เป็นของธรรมดา วันเดียวจบ เพียงขั้นฟัง แต่จริงๆ ถ้าฟังอีกจะมีความลึกซึ้งของธรรมยิ่งขึ้น ควรแก่การพิจารณาที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น โดยที่ว่า ไม่ได้หวังรอว่า เมื่อไรปัญญาจะถึงระดับขั้นที่ประจักษ์แจ้งความจริง แล้วก็หน่ายคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ในความเห็นต่างๆ จนกระทั่งดับได้เป็นสมุจเฉท นั่นเป็นเรื่องคิด นั่นเป็นเรื่องหวัง แต่เรื่องจริง คือ ระดับนี้ขณะนี้ ปัญญาของแต่ละคนอยู่ตรงไหน มีเท่าไร ถ้ารู้ว่า มีเท่านี้ จะมากจะน้อย คือยังไม่พอ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ การฟัง ไม่ใช่เรา ทุกคนได้ยินคำว่าขันธ์๕ ใช่ไหม ขันธ์ ๕ ก็คือ รูปขันธ์๑ เวทนาขันธ์๑ สัญญาขันธ์๑ สังขารขันธ์๑ วิญญาณขันธ์๑ รู้เท่านี้พอไหม แต่ถ้าฟังมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ธรรม สิ่งที่มีจริง มี ๔ อย่างซึ่งต่างกัน จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ได้ชื่อมาอีก ๔ ชื่อ นอกจากขันธ์ ๕ ก็ได้ชื่อของปรมัตถธรรม มาอีก ๔ ชื่อ พอไหม ก็ไม่พออีก จนกว่าจะรู้ว่าจิตขณะนี้เป็นอย่างไร มีจริงๆ นั้นมีแน่ แต่ว่าลักษณะของจิตคงจะต้องลึกลับซับซ้อน เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้ที่เห็น โดยการศึกษาทราบว่าเป็นจิตโดยชื่อ เป็นจิตแน่นอน เพราะว่าเป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะคิดนึก ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ฟังเท่านี้อีก พอไหมก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น คนที่รู้ว่าไม่พอๆ ๆ ๆ ก็จะฟังอีกๆ ๆ ๆ แล้วก็รู้ว่าธรรมลึกซึ้ง ขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความต่างของขณะที่เป็นขั้นความเข้าใจจากการฟัง และเมื่อมีความเข้าใจจากการฟังก็จะรู้ว่า มีขณะที่ต่างกัน คือ ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด สติที่นี้ไม่ใช่สติในขั้นของทาน หรือว่าสติในขั้นของศีล หรือในขั้นของความสงบของจิต เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดกับขณะที่เป็นอกุศลเลย ถ้าใครบอกว่า ถือดีๆ อย่าให้หก นั่นคือสติ ถูกไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567