ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๑๙

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ มีแต่โลภะกับความเห็นผิดว่า เป็นเราที่จะเลือกที่จะทำ ทุกอย่างเพื่อตัวเอง เพราะความรักตัว ไม่ใช่เพราะความรู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีตัว นี่คือความมั่นคง ไม่มั่นคงก็ไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง เพราะว่าสีลัพพตปรามาสมาแล้ว มาแล้วก็ไม่เห็นด้วย ปัญญาก็ไม่เกิด

    ผู้ฟัง พูดถึงสีลัพพตปรามาส คือฟังดูก็ไม่มีอะไรที่สำคัญมาก แต่จริงๆ แล้วความลึกซึ้งของคำว่า สีลัพพต หมายความว่าข้อปฏิบัติที่ผิดจากมรรคมีองค์ ๘ ไม่เช่นนั้นอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน นอกนั้นเป็นสีลัพพตปรามาส ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสีลัพพตปรามาสเป็นไปอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันนี้ มันดูไม่ค่อยจะ

    ท่านอาจารย์ เป็นไปด้วยโลภะ สีลัพพตปรามาสเป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด หนทางผิดก็เข้าใจว่าหนทางถูก

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผมเปลี่ยนคำถามใหม่ ถ้าสมมติว่าในทางพระพุทธศาสนา แต่ก็มีความคิดว่าต้องทำขึ้นมา ทำนั่นทำนี่ เพื่อให้ถึงจุดนั้น เป็นสีลัพพตปรามาสใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอนอยู่แล้ว ถ้ามีการทำผิด คือ สีลัพพตปรามาส

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่พูดชื่อเป็นในเรื่องของพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ แล้วผิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ผิดก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็แน่นอน เวลาที่มิจฉาทิฏฐิเกิด ใครรู้

    ผู้ฟัง นี่เป็นเรื่องที่หนักมาก

    ท่านอาจารย์ อย่างถ้าบอกว่า อย่าพูด อย่าคิดว่า เป็นความเห็นผิด เดี๋ยวจะเป็นความเห็นผิดขึ้นมา ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือเปล่าที่พูดอย่างนั้น เห็นไหม ก็ไม่รู้ สักกายทิฏฐิหรือเปล่า ก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นหนทางที่ผิดมันจะต้องมาจากความเป็นเรา จะพูดโดยวิธีไหนๆ ให้ทำอย่างไรๆ ก็ตาม มาจากความเป็นเรา มาจากความต้องการที่จะให้เป็นอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การรู้ความจริงว่า เป็นธรรม นั่นเบี่ยงเบนไปนิดหนึ่งก็ผิดแล้ว ไม่ตรงก็ไม่ใช่หนทาง ทุกคนก็รู้

    อริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ แล้วมรรคสัจจะไม่ลึกซึ้งหรือ ลึกซึ้งหมายความว่าอะไร เพียงแค่รู้ว่า นี่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ แค่นั้น ลึกซึ้งแค่นั้นเองหรือ นั่นไม่ลึกซึ้งเลย ลึกซึ้งเพราะหนทางต้องอบรมเจริญด้วยตัวเอง ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ รู้ความจริง ใน ๔ ในทุกข์ ในสมุทัยด้วย ถ้าไม่รู้สมุทัย จะละสมุทัยได้อย่างไร แล้วสมุทัย รู้ง่ายหรือรู้ยาก โลภะนี่ ไปที่ไหน ไปอย่างไรก็โลภะ ประพฤติอย่างนี้ ประพฤติอย่างนั้นก็โลภะ โดยไม่รู้ว่าเป็นโลภะ แล้วจะเอาโลภะนั้นออกได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ในอดีตเห็นชัด ว่ามีการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นรูปแบบอย่างนั้นๆ ๆ เช่น มีการทรมานตน หรือว่าทำลักษณะเหมือนแพะ เหมือนโค เหมือนอะไรต่างๆ อันนี้ก็เห็นไปเลยว่า มันผิดไปจากสิ่งที่ปกติของมนุษย์ธรรมดา แต่ปัจจุบันที่กำลังมีเหตุการณ์ปรากฏอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ปัจจุบันเหมือนอดีตหรือเปล่า เหมือนอนาคตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เหมือน

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงจะแยกล่ะ

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันมีความเห็นที่มีการคิดว่าต้องทำอะไรขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ สมัยโน้นก็มี สมัยไหนก็มี ไม่ต้องคุณศุกลได้รับคำบอกเล่าจากใครหรอก เพียงแต่จะระลึกแค่นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส

    ผู้ฟัง จะระลึก ทำไม

    ท่านอาจารย์ จะได้หรือ ใครจะได้ ตัวตนหรือ หรือไม่ใช่ตัวตนที่จะ เวลากำลังจะ ผิดหรือถูก ไม่ต้องเอ่ย ไม่ต้องพูด แต่กำลังจะ มีไหม บางคนเขากำหนด เช้า ก่อนนอน แล้วก็ยังเห็นชัด แต่ตอนไม่กำหนดแล้วกำลังจะ ถูกหรือผิด แล้วละเอียดหรือลึกซึ้งหรือเปล่า เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสดับด้วยโสตาปัตติมรรค ลองคิดดู

    อรรณพ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ความเห็นผิดมันก็อาจจะเกิดแทรกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เฉพาะความเห็นผิด สีลัพพตปรามาสทีเดียว ที่จะต้องเห็นว่า นี่คือสีลัพพตปรามาส ผิดทาง ต้องเห็นไปตลอด ผิดทางเพราะโลภะ จึงละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    อรรณพ แม้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานแล้ว หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้ายังมีความรู้สึกว่า คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ เช่นฟังเทปหรืออ่านหนังสือมากหน่อยก็จะสติเกิด ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่าจะ อันนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วก็มีทิฏฐิเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ นั่นยังก่อนทำด้วยซ้ำไป ก่อนสติจะเกิดด้วยซ้ำไป ลองคิดถึงอุทยัพพยญาณ วิปัสสนูปกิเลส ยังเกิดได้ มาจากไหน

    อรรณพ ยังอุ่นใจอยู่ในสภาพของปัญญา และสติ ก็สามารถที่จะรู้ในกุศลเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมปัญญาถึงจะเจริญ ถึงจะสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ขณะนั้นคืออะไร เป็นหนทางหรือไม่ใช่หนทาง โลภะเขาไม่จากไปง่าย แล้วความลึกของสักกายทิฏฐิก็ลึกมาก ค่อยๆ คลายด้วยการอบรมเจริญปัญญาด้วยสติปัฏฐาน ทั้ง ๖ ทวาร คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เหลือไม่ได้เลย ถ้าเหลือก็แสดงถึงความไม่รู้ ความสงสัย ซึ่งความสงสัยก็ดับได้ เมื่อเกิดโสดาปัตติมรรคจิต

    ผู้ฟัง แม้แต่การเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังมีความเยื่อใยเช่นนี้อยู่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ ศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง ศึกษาสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไป เพื่อปัญญาจะได้คมขึ้น ถึงความสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่มีอนุสัยกิเลสเลย ลองคิดดู ถึงเป็นวิปัสสนาญาณ เยื่อใยจะค่อยๆ เล็กๆ ๆ ๆ จนกว่ามันจะดับได้หมด

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของการนั่งสมาธิคืออะไร แล้วเพื่ออะไร คือเท่าที่เรียนว่า รู้สึกว่าการนั่งสมาธิ ไม่ได้บอกว่า เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี จริงๆ คือการที่ทำให้เรา จิตเรามั่น ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็คิดแล้วทำอะไรอย่างมีสติ คือ ไม่ทราบว่าที่เข้าใจ ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในพระไตรปิฎก หรือที่คนอื่นได้ฟังกันแล้ว ก็ยังไม่ใช่ความรู้ของเราเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทำให้ผู้ฟังไตร่ตรอง พิจารณาเหตุผล จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเอง นี่เป็นประโยชน์ เพราะว่าปัญญาของคนอื่นก็เป็นของคนอื่น จะเป็นของเราไม่ได้ จะเป็นของเราต่อเมื่อเราได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ เข้าใจได้ แล้วก็พิจารณาเหตุผลถูกต้อง กับสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ตามความคาดคะเนของเรา ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าจริงๆ อะไรคือจริงๆ และอะไรคือไม่จริง

    ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนาจะสอนเรื่องทุกอย่างที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริง เช่น สมาธิ หมายความถึงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ อันนี้พอเข้าใจได้ใช่ไหม สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น สมาธิเมื่อมีจริงก็เป็นธรรมที่มีลักษณะตั้งมั่นในอารมณ์ เราเคยตั้งมั่นในอารมณ์ไหม เวลาที่อ่านหนังสือแล้วก็ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็จดจ่อ ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จขณะนั้น อย่างเย็บผ้าก็ต้องประณีต ให้เห็นลักษณะของสมาธิ คือ ความตั้งมั่นในอารมณ์แต่ละขณะ

    ผู้ฟัง คือ เรียกว่าสมาธิได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือลักษณะของสมาธิ เราจะเรียกหรือไม่เรียก เราเปลี่ยนลักษณะของสมาธิไม่ได้ เรากำลังศึกษาสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น สิ่งที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา สืบทอดมาเป็นพระไตรปิฎก แต่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถจะเข้าใจได้สำหรับทุกคน เพราะว่ามีกับทุกคน เคยมีความตั้งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะที่ทำอะไรไหม

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติ คำนี้ถูกต้อง เพราะว่าสมาธิเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น เป็นปกตินี่แน่นอน แต่ว่าสมาธิความตั้งมั่นจะน้อยหรือจะมาก จะปรากฏอาการของความตั้งมั่นนานๆ ที่เรามักจะเรียกตามความเข้าใจของเราว่า สมาธิ เพราะว่าตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้นานๆ ลักษณะของสมาธิคือความตั้งมั่นก็ปรากฏให้รู้ว่ากำลังมีสมาธิ หรือว่าขณะนี้ไม่มีสมาธิเลย อย่างคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือคำพูด ที่เรายังไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว สมาธิมีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ในสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นจึงเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะจิตทุกขณะสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงทีละอย่าง จะรู้พร้อมกัน ๒ อย่างไม่ได้

    ในขณะที่จิตขณะหนึ่งเกิด ต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างคือเจตสิก เกิดร่วมด้วย จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่ปรากฏให้รู้ เช่น ทางตาขณะนี้กำลังเห็น นี่เป็นจิต แต่จิตต้องเกิดพร้อมเจตสิก และเจตสิกที่ต้องเกิดพร้อมจิตทุกขณะคือสมาธิ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก หมายความถึงการตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งๆ อันนี้พอเข้าใจลักษณะของสมาธิ เพราะฉะนั้น เคยทำสมาธิไหม

    ผู้ฟัง สมัยเรียน มีช่วงเวลาเพียงแค่นิดเดียวในการที่จะมีสติทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติ สมาธิ

    ผู้ฟัง สมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ปน ๒ อย่าง สติเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สมาธิเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สติไปเป็นสมาธิ หรือสมาธิมาเป็นสติ ตอนนี้เข้าใจลักษณะของสมาธิแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง สมาธิในตอนนี้ ที่ตอนนี้หนูเข้าใจก็คือ การนั่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะเมื่อกี้บอกว่าเป็นปกติ มีเป็นปกติ ใช่ไหม คำตอบนี้ถูก เพราะว่าปกติของจิตที่เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกนี้ คือ เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ทุกขณะ ขณะเห็นก็ต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในสิ่งที่ปรากฏ จึงเห็นสิ่งนี้สิ่งเดียว ตั้งมั่นในสิ่งนี้ คือเฉพาะในสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่มีระดับที่ต่างกัน อย่างความติดข้องเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่างหนึ่ง พอความติดข้องมากขึ้น เพิ่มขึ้น กำลังทวีขึ้น ฉันใด ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิก็เหมือนกัน เวลาเกิดกับจิตทุกขณะก็สั้นๆ ไม่ปรากฏความตั้งมั่นยาวพอที่จะปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นนานๆ ที่ใช้คำว่าสมาธิได้ เหมือนอย่างโลภะ ความต้องการ นิดๆ หน่อยๆ เล็กนิดเดียว น้อยนิดเดียว ก็เป็นความต้องการ พอมากๆ ก็ยังเป็นความต้องการอยู่นั่นแหละ แต่เพิ่มกำลังขึ้น สมาธิจะเป็นสติไม่ได้ เป็นสภาพคนละอย่าง เพราะว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกชนิด กุศลจิตก็มี เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์นั้น หรือว่าอกุศลเกิดขึ้นก็มีเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภททุกดวง ส่วนสติไม่ใช่สมาธิ นี่เป็นสิ่งที่ต้องแยกกัน เปลี่ยนลักษณะของสมาธิให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตมีถึง ๕๒ ชนิด แต่ละชนิดไม่ปนกันเลย ถ้าเป็นคำที่เราใช้คำว่า สมาธิ จะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ลักษณะนี้ไม่เปลี่ยน เจตสิกนี้จะมีลักษณะอย่างนี้ ส่วนเจตสิกอื่น เช่น สติ จะมีลักษณะนี้ไม่ได้ เป็นสภาพธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง ลองยกตัวอย่างได้ไหม อะไรที่ไม่ใช่เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่าสภาพธรรม มี ๒ อย่าง คือ ธรรมเป็นคำรวมเป็นคำที่หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะตนๆ ต่างๆ กัน หลากหลาย

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงมีมาก แต่ถึงจะมากมายอย่างไรก็ตาม แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่าง คือธรรมชนิดหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ไม่ใช่สภาพที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เช่น เสียงปรากฏเป็นลักษณะของเสียง แต่เสียงไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง นี่เราเรียกว่าธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แล้วธรรมมี ๒ อย่าง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย มีอย่างเสียง ปรากฏทางหู แต่เสียงไม่ได้รู้อะไร แข็ง มี แข็งก็ไม่รู้อะไร ใครไปจับแข็ง แข็งก็ไม่รู้ แข็งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นฝ่ายรูปธรรม ในภาษาธรรม ส่วนธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง หรือธาตุ หรือสิ่งที่มีจริง ธรรมอีกอย่างเป็นสภาพรู้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราอาจจะไม่ชินกับคำว่า รู้ คำนี้ เพราะส่วนมากเราเข้าใจว่า ถ้ารู้ ต้องรู้อะไรสักอย่าง รู้เรื่องรู้ราว รู้ ด้วยความฉลาด ด้วยความสามารถ แต่ความจริงลักษณะรู้เท่านั้น เพียงสามารถที่จะเห็น ขณะนี้ คือรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นลักษณะอย่างนี้ จะเป็นอื่นไม่ได้ สามารถจะเห็น นั่นก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่รู้จึงเห็น ถ้าไม่รู้ อย่างเป็นแข็ง ก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพรู้ สิ่งที่สามารถรู้ เราก็ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่าไม่ใช่รูปธรรมไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น แต่ว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ อย่างความคิด มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมเพราะเป็นสภาพที่คิด รู้เรื่องที่คิด ถ้ารู้อะไรเมื่อไร อย่างไร ก็เป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมทั้งหมด ทีนี้นามธรรมมี ๒ อย่าง นามธรรมอย่างหนึ่งเป็น จิต อีกอย่างหนึ่งเป็น เจตสิก แต่ว่าเจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด และต้องเกิดกับจิตเท่านั้น เจตสิกจะไม่เกิดกับรูปหรืออย่างอื่นเลย

    ผู้ฟัง ช่วยอธิบายคำว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง ซึ่งเจตสิกทั้งหมดจะมี ๕๒ ประเภท อย่างความโกรธมีจริง เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง นามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ก็คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตาขณะนี้ หรือปรากฏทางหู เช่นเสียง เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ถ้าจิตได้ยินไม่เกิดขึ้น เสียงจะปรากฏไม่ได้เลย เช่น คนที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่ได้ยินอะไร แต่มีจิต เพราะฉะนั้น จิตได้ยินเป็น ๑ ในจำนวนของจิตทั้งหมด ซึ่งมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือตามสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ เราเรียกชื่อของจิตได้หลายอย่าง ตามสิ่งที่ปรากฏให้รู้ หรือว่าตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อย่างเวลาโกรธก็ไม่เหมือนเวลาสนุกสนาน เพราะฉะนั้น เวลาที่สนุกสนาน จิตกำลังสนุกสนานในอะไร กำลังพอใจในอะไร เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นโทสะ ความไม่พอใจ จะเป็นโลภะ คือความพอใจก็เกิดกับจิตต่างขณะ ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจเจตสิก เข้าใจจิต เข้าใจรูปธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะพูดว่า เหตุ และผล

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสภาพธรรม เหตุคืออะไร ไม่ใช่เหตุลอยๆ เพราะว่าความจริงทั้งหมด เมื่อเราแยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรมแล้ว ยังแยกนามธรรมเป็นจิตกับเจตสิก เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงแท้ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เรียกว่าอะไรเลยทั้งสิ้น หรือจะใช้ภาษาหนึ่งภาษาใดก็ตามแต่ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสภาพความจริงซึ่งเป็นธรรมให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ธรรมคือธรรมหรือธาตุซึ่งมีจริง เพราะฉะนั้น เวลานี้เรารู้ว่าสิ่งที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ ก็มี อย่างเห็น ต้องเรียกไหมว่าเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกก็เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียก นี่คือธรรมที่มีจริงๆ ใครจะเรียกหรือไม่เรียกก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีจริงแล้วใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้ ถูกต้องไหม

    ธรรมที่มีจริง แล้วก็ใครเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้ จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ไม่เป็นไร แต่ลักษณะของธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะอย่างนี้ ธรรมนี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งซึ่งมีจริงๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ปรมัตถธรรม เท่าที่ทราบเวลานี้ มี ๓ แล้ว ใช่ไหม มีรูป ๑ จิต ๑ แล้วก็เจตสิก ๑ ถูกต้องไหม แล้วยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ แต่ผู้ที่ตรัสรู้ประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมนั้นคือนิพพาน ตรงกันข้ามกับจิต เจตสิก รูป เพราะว่าที่จะรู้ว่ามีจิต เจตสิก รูป ก็เมื่อจิตเจตสิกรูปเกิดปรากฏ อย่างเสียง ถ้าไม่เกิด จะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ ถ้าความโกรธไม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะมีโกรธไหม ไม่มี

    สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏต้องเกิดจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น นิพพานตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิด คือ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม มีจริง เพราะเหตุว่ามีผู้ตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น ที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    การศึกษาทั้งหมด เราศึกเรื่องสิ่งที่มีจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เราคิดเอง เราเข้าใจเอง เรานึกว่ามีเหตุมีผล มีสภาพเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะพ้นจากสิ่งที่มีจริง ๓ อย่างที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้ คือจะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป เหตุผลก็ต้องเป็นจิตหรือเจตสิกนั่นเอง ทีนี้สงสัยเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ที่ถามเกี่ยวกับคำว่า สมาธิ

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นตัวเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวเรา

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ คือสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม นั้นได้เลย ใครจะเรียกหรือไม่เรียก สภาพธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น ภาษาไทยใช้คำว่า สนุก ไม่ใช่ภาษาบาลี เพลิดเพลิน ไม่ใช่ภาษาบาลี เป็นลักษณะของความพอใจอย่างยิ่ง มีจริงๆ ใช่ไหม ความพอใจอย่างยิ่ง มีจริงๆ เป็นเจตสิก หรือเป็นจิต หรือเป็นรูป

    ผู้ฟัง เป็นความพอใจเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ว่าแท้ที่จริงก็คือเป็นธรรมที่เกิด ต้องเกิด แล้วมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ๆ แล้วสิ่งใดที่เกิดต้องดับ ไม่มีใครยับยั้งได้เลย ถ้าเรากำลังโกรธ ขณะที่โกรธไม่ใช่ขณะที่เห็น เป็นนามธรรมทั้ง ๒ อย่าง แต่ว่านามธรรมต่างชนิด เราจะศึกษาได้ว่า จิตที่ต่างกันเป็น ๘๙ ชนิด หรือ ๑๒๑ ประเภทก็ตามแต่ โดยพิเศษ ก็เพราะเหตุว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกัน เจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดเมื่อไร จิตนั้นเป็นอกุศล เป็นกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะมีจิตหลายประเภททีเดียว ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ชนิด ส่วนเจตสิกมี ๕๒ ชนิด ความโกรธเป็นเจตสิก หรือจิต

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ ๑ แล้ว เอกัคคตาเจตสิก เมื่อกี้นี้ก็อีก ๑ นับไปนับมาก็ ๕๒ อย่าง ที่เราเคยเป็นเราทั้งหมด ก็คือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีลักษณะปรากฏทั้งวัน โดยไม่รู้ว่า เป็นธรรม ทั้งวันเป็นธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ ทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นเมื่อไร

    ผู้ฟัง เวลานี้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้คืออย่างไร คือเกิดขึ้นจึงปรากฏ เมื่อเช้ารับประทานอะไร เห็นอะไร คิดอะไร ขณะนี้ไม่ใช่เมื่อเช้านี้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่ศึกษาโดยละเอียด เราคิดว่า เกิดแล้วก็ตาย เท่านั้นเอง หรือว่าจากสุขเป็นทุกข์ จากแข็งแรงเป็นป่วยไข้ เราคิดเพียงแค่นั้นว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567