ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๐๙

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ ต้องประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเจตสิก การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะไปบอกว่าขณะนี้สติของคุณทศพรเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    ผู้ฟัง สรุปแล้วสติมีหลายประเภท สติที่เป็นองค์มรรคกับสติทั่วๆ ไป

    ท่านอาจารย์ สติเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด

    อันนี้ที่เกิดกับโสภณจิต เป็นองค์มรรคด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ ขณะที่ให้ทาน ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีการระลึกที่จะให้ ตั้งแต่เช้ามาตื่นมาเป็นเรื่องเราหมดเลย วันนี้เราจะทานอะไร เราจะไปซื้ออะไร เราจะทำอะไรทั้งหมด แต่เรื่องที่จะสละเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นต้องเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกระทำกิจของเจตสิกนั้นๆ อย่างสติ เวลาที่มีการให้ เราคิดว่า เราให้ แต่ความจริงถ้าสติไม่ระลึกเป็นไปในการให้ การให้ก็ไม่มี อย่างแข็ง เรากระทบแข็งตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ หรือเปล่า แต่สติระลึกลักษณะของแข็ง หรือสภาพที่รู้แข็งหรือเปล่า

    ขณะใดที่แข็งปรากฏในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน แข็งนั้นกายวิญญาณ ไม่ใช่เรา เป็นสภาพที่รู้แข็งเมื่อกระทบกับกายปสาท แล้วผ่านไปเป็นเรื่องเป็นราวหมดเลย พอแข็งนิดเดียวก็จาน พอแข็งนิดเดียวก็คุกกี้ พอแข็งนิดเดียวก็ถ้วยแก้ว พอแข็งนิดเดียวก็โต๊ะ สั้นมาก การที่รู้ว่าแข็งเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วดับไม่มี สติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราศึกษาแล้วทราบว่า เป็นธรรมทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม แต่เป็นเรื่องที่เราเข้าใจ เราไม่ใช่ระดับขั้นที่สติจะระลึกลักษณะแล้วก็รู้ว่า ลักษณะที่เราศึกษามานี้มีจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตาก็ต้องปรากฏอย่างนี้ ไม่ผิดไปจากอย่างนี้ ทางหู เสียงก็ปรากฏตามปกติ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ เมื่อไหร่ที่เกิดก็ระลึกลักษณะสภาพธรรมตามปกติ ไม่ต้องไปทำด้วยความเป็นเราหรือมีวิธีการต่างๆ ที่จะทำ นั่นไม่ใช่สัมมาสติ ในมรรคมีองค์ ๘

    จริงๆ แล้วเราไม่ควรจะคิดว่าเราไม่มีสภาพธรรมดีกว่า หรือว่าไม่รู้สภาพธรรม ดีกว่า เพราะเป็นไปไม่ได้ที่อกุศลทั้งหลายหมดไปด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก่อนนี้เราไม่เคยรู้ลักษณะของวิจิกิจฉาเลย บางคนก็ไม่มี เพราะไม่คิดเรื่องนี้ ไม่มีเกิด แต่วิจิกิจฉานุสัยมีเต็ม ถ้าปัญญาไม่เกิดละไม่ได้เลย

    เริ่มเห็นสภาพธรรมตามที่สะสมมาตามความเป็นจริง เพื่อจะรู้ว่า สภาพนั้นๆ ไม่ใช่เราทั้งหมด ถ้าระลึกแล้วรู้ชัด ไม่ต้องอบรม เดี๋ยวเดียวก็เป็นพระอรหันต์แล้วถ้าระลึกแล้วรู้ชัด แต่วิจิกิจฉามีทำไม แล้วมีจริงๆ ด้วย บอกไว้ด้วยว่าเป็นวิจิกิจฉา แต่เราไม่เคยเห็นตัว เพราะฉะนั้น พระโสดาบันท่านละวิจิกิจฉา ความสงสัยในสภาพธรรม แล้วก็ความเห็นผิดด้วย

    ผู้ฟัง ตั้งใจที่จะศึกษาไปเรื่อยๆ ก่อน

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดถูก ไม่ต้องไปสนใจเรื่องการปฏิบัติเลย เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ การเรียนต้องสอดคล้องกันหมด เมื่อไม่ใช่ตัวเรา ก็เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา ไม่ว่าจะเป็นหิริโอตตัปปะ ที่เรามาศึกษาธรรม ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ถ้าถึงเวลาที่สติปัฏฐานจะเกิด ห้ามได้ไหม

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้คนอื่นที่เขาไม่รู้ความจริง เขาอยากมาก เขาพยายามที่จะให้เกิด โดยไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา แต่สำหรับธรรมทั้งหมดจะเกิดหรือไม่เกิด ห้ามไม่ได้ อยากก็ไม่ได้ ห้ามก็ไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย ใครอยากให้สติปัฏฐานเกิดก็ผิด เราจะห้ามไม่ให้สติปัฏฐานเกิดก็ไม่ได้ ถ้ามีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงเป็นการถูกต้อง ไม่ต้องไปสนใจคิดเรื่องการปฏิบัติ ในเมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าหลายๆ คนคงจะคอยตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่า อันนี้สติปัฏฐานหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เพราะว่าไปชักชวนกันกันปฏิบัติ แต่เราไม่ได้ชักชวนให้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ต้องไปรอ ไม่ต้องไปหวัง ไม่ต้องไปคอย นั่นเป็นเครื่องเนิ่นช้า

    ผู้ฟัง คนที่ยังไม่ได้ศึกษามามากพอก็ไม่อยากละ

    ท่านอาจารย์ แต่ละ ละสิ่งที่ทุกคนควรจะละ คือ ละความเห็นผิด ไม่ได้ละอะไร ไม่ได้ละโลภะที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในความสนุกสนาน ในการดูโทรทัศน์ ในการไปเที่ยว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะว่าละไม่ได้ อยู่ดีๆ จะไปละได้อย่างไร ต้องมีปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ซึ่งขั้นต้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ละความเห็นผิด แล้วเราอยากจะมีความเห็นผิดไหม แล้วความเห็นผิด ทำให้เกิดโทษมากแค่ไหน ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็จะมีกายวาจาที่เป็นไปตามความเห็นผิดนั้นๆ ด้วย แล้วถ้ายังเห็นผิดไปทุกชาติก็ยิ่งเพิ่มพูนไม่มีทางที่จะละคลาย มีแต่จะหนาแน่นมากขึ้น ละวิจิกิจฉา ความสงสัยในสภาพธรรม ตามที่ได้เรียน ได้เข้าใจ ก็เป็นสิ่งที่ดี ละสิ่งที่ไม่ดี

    พระธรรมทั้งหมดละอกุศลธรรม ตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าไม่ถึงปัญญาของระดับของพระอนาคามี ก็ไม่ต้องคิดอยากจะเป็นอนาคามี เพราะเป็นไม่ได้ แม้แต่พระโสดาบัน ก็ไม่ใช่จะคิดอยากเป็นพระโสดาบัน เพราะว่าเป็นไม่ได้ด้วยความคิด เป็นไม่ได้ด้วยความหวัง แต่เป็นได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกแสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด ต้องมี โสภณสาธารณเจตสิกครบทั้ง ๑๙ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย

    ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ขณะที่มีจิตคิดที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นสภาพจิตผ่องใส ไม่ติดข้องในสิ่งนั้น ถ้าเราหวง ยังไม่สามารถที่จะสละให้ได้ จิตขณะนั้นต่างกับขณะที่สามารถสละเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น เพราะเห็นแก่ความสุขของคนอื่น ถ้าคนอื่นเขามีสิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเขา ขณะใดที่กุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด ขณะนั้นต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ แล้วแต่ว่าจะมีเกินไปกว่านั้นหรือเปล่าที่กล่าวถึง เช่น วิรตีเจตสิก หรือว่าอัปปมัญญาเจตสิก หรือว่าปัญญาเจตสิก แต่ต้องมี ๑๙ ดวงแน่นอน

    อย่างเวลานี้ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ทันที แต่ต้องมีการฟัง มีการเข้าใจ แล้วมีสัญญาความจำที่มั่นคง ว่าปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจะ จะไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของอริยสัจจะ จึงมี ๓ รอบ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

    นี่เป็นเครื่องประกอบที่พระองค์ทรงแสดงให้คนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญามาพอ ไม่ผิด เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วมีโอกาสที่จะผิดได้มากเลย เช่น เวลานี้มีสภาพธรรม กำลังปรากฏ แล้วเรากำลังฟังเรื่องสภาพธรรม แต่ปัญญาไม่ถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะแม้สติปัฏฐานก็ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น คนที่มีความเข้าใจจริงๆ ก็จะศึกษา แล้วจะเพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น และในขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นไปด้วยการละ คือไม่ใช่ด้วยความหวัง แต่ว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเหตุที่จะทำให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วความหวังจะทำให้ทำอย่างอื่น เช่น อย่างนี้ไม่ได้ ไม่เหมาะสม ต้องไปที่โน้น ไปที่นี่ ต้องไปรู้รูปนั้นต้องไปรู้นามนี้ คือไปเลือกไปเจาะจงมีตัวตน ที่พยายามจัดสรรด้วยความโลภ หรือด้วยความติดข้อง ซึ่งไม่ใช่ด้วยปัญญาที่รู้แล้วจึงละหนทางปฏิบัติที่ผิดทั้งหมด ซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาส ที่เราก็คงจะเคยได้ยิน วันก่อนเราก็พูดกันที่เป็นเรื่องของคันถะ เป็นเรื่องของอุปาทาน เวลาที่เราพูดถึงอกุศลต่างๆ

    นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีการศึกษาอย่างละเอียดรอบครอบจริงๆ เราจะมีพระธรรมเป็นสรณะ ใครจะพูดผิดก็รู้ ใครจะพูดถูกก็รู้ได้ เพราะว่าเป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าเราไม่มีการศึกษาพิจารณาอย่างรอบครอบจริงๆ คิดว่าง่ายมากต่อการที่จะรู้สภาพธรรม คือ เพียงแค่นั่งนิ่งๆ จ้องไปจ้องมา สังเกตไปสังเกตมาก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ นั่นก็ผิด แต่ต้องรู้ว่าปัญญาต้องอบรมตามลำดับขั้นจริงๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง การศึกษาเรื่องนามธรรมรูปธรรม ถ้าใครก็ตามบอกว่า เขารู้อริยสัจธรรมโดยไม่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลย ไม่ต้องศึกษาเลย จะเป็นไปได้ไหม

    นี่แสดงให้เห็นว่า แม้การศึกษาก็ยังต้องทรงแสดงไว้อย่างละเอียดรอบคอบในเรื่องของอริยสัจ ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ สติปัฏฐาน คือ กิจจญาณก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นสติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ไม่ใช่ด้วยการต้องการ เพราะฉะนั้น เจตนาไม่ใช่มรรคในมรรคมีองค์ ๘ เลย แต่เริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เมื่อมีความเห็นถูกก็มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม กว่าจะถึงอย่างนั้นวิปัสสนาญาณต้องเกิดตามลำดับขั้น วิปัสสนาญาณ คือขณะที่ปัญญาสมบูรณ์ ถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงก็ตรงกับที่เราศึกษา เช่น ทางตาเวลาที่จักขุทวารวิถีจิตเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จนกระทั่งรูปดับ แล้วก็มโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อ โดยมีภวังค์คั่น

    ขณะนี้เราเรียน แล้วเราก็รู้ว่า มีมโนทวารวิถีจิตคั่นแทรกจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี เมื่อทางมโนทวารดับ แต่ไม่เคยประจักษ์ลักษณะของมโนทวารวิถีเลย เหมือนกับทางปัญจทวารวิถีไม่เคยดับ แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีความสงสัยในมโนทวารวิถี เพราะมโนทวารวิถีนี้เองที่ทำให้รูปทั้งหลายที่ปรากฏขณะนี้เหมือนต่อกัน ขาดจากกัน โดยมโนทวารวิถีเกิดคั่น เพราะฉะนั้น ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่มี เฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ศึกษาอย่างไร ปัญญาก็รู้อย่างนั้นตามความเป็นจริง แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้แล้วไปทำอย่างอื่น เพราะอยากจะรู้ แต่ไม่รู้ก็คือศึกษาต่อไป เพื่อที่จะเข้าใจขึ้น แล้วเมื่อไรพร้อมที่สติปัฏฐานจะเกิด สติปัฏฐานก็เกิด แล้วสติปัฏฐานก็ดับ แล้วจะเกิดอีกเมื่อไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ก็ต้องอบรมไปจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ หรือถึงไม่บ่อย แต่เวลาที่เกิดก็รู้ว่านั่นเป็นสติปัฏฐาน อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็อบรมบารมีในอดีตมา แล้วเวลาที่ท่านยังไม่ได้ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัฏฐานของท่านไม่เกิดแน่นอน แต่เมื่อได้ฟังธรรม ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความห่างกันมากของสติปัฏฐานที่ได้อบรม สติปัฏฐานที่อบรมเพื่อปัญญารู้ชัด ไม่ได้หวั่นไหว สติจะหมดหรือจะเกิดอีกเมื่อไร อย่างไร เมื่อระลึกก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้อบรมแล้ว เวลาที่มีการฟังจึงสามารถที่สติปัฏฐานจะเกิด สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ค่อยๆ รู้ แต่ก็จะมีความสงสัย แล้วก็มีความไม่รู้คั่นมาก เพราะเหตุว่าอวิชชายังมีกำลังมาก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันจะศึกษาให้ประจักษ์ หรือกระจ่างแจ้งก็หลงลืมสติต่อไปอีก เป็นเรื่องของจิรกาลภาวนา เป็นเรื่องของการที่ต้องอดทน จะเข้าใจความหมายโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอดทนอะไรเท่ากับอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้จริงๆ เป็นเรื่องของการเป็นผู้ที่ตรง ไม่ใช่เป็นผู้ที่หลอกตัวเอง โดยที่ไม่รู้ก็เข้าใจว่ารู้ หรือว่าอยากจะรู้ หรือคิดว่าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ต้องไปกังวลเลย วิปัสสนาญาณ เพียงแต่ว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ แล้วผู้นั้นจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะรู้ว่า ตัวเองค่อยๆ รู้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณทุกญาณจะเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ความต่างของแต่ละขั้น ถ้าไม่มีการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมด้วยการละ ก็จะเป็นเครื่องกั้น ที่ไม่สามารถจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมต่อไปได้ ผู้นั้นก็จะเห็นทุกขอริยสัจจะ คือ โลภะ อย่างที่เรากล่าวถึงวันก่อนว่า เว้นอะไรบ้าง แต่ความจริงเวลาที่สภาพธรรมปรากฏก็เป็นนามธรรมรูปธรรม แต่ผู้นั้นเห็นว่าจะต้องละอะไร คือละโลภะซึ่งเป็นสมุทัย ซึ่งเป็นเครื่องกั้นไม่ให้รู้แจ้งนิโรธสัจจะ คือ นิพพาน

    สงสัยว่าบุคคลที่เจริญฌานก็ต้องมีปัญญา ถึงแม้จะไม่ใช่ปัญญาขั้นหลุดพ้น แต่ก็จะมีปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งไหนเป็นกุศล สิ่งไหนเป็นอกุศล มีความรู้สึกว่าบุคคลที่เจริญฌานแล้ว ก็ย่อมมีปัญญามากกว่าบุคคลที่ยังไม่เคยเจริญฌาน แต่ยังไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย เพราะฉะนั้น ผมมีความสงสัยว่า ตั้งต้นใหม่หมดนี้หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาระดับของฌานไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ถึงจะเป็นปฐมฌานก็คือเรา กุศลจิตที่เกิดก็คือเรา อกุศลจิตที่เกิดก็คือตัวตน เป็นเรา ยังมีความเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเกิดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์แต่ว่าการเจริญฌานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ดังนั้นการเจริญฌานที่จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ความเป็นอัตตาก็ยังมีปรากฏครบถ้วนอยู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ดับเลย คุณซีไม่รู้ใช่ไหมว่า อาจจะเคยได้ฌาน ไปเกิดในพรหมโลกมาแล้ว เป็นไปได้ไหม แต่ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เต็มไปด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องเรียนใหม่ ต้องตั้งต้นใหม่ ต้องรู้ใหม่

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เป็นไปได้ไหม ผู้ที่อบรมเจริญฌาน ไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดว่า กุศลที่สูง แล้วก็ยิ่งกว่าฌาน คือ การเจริญอบรมวิปัสสนาภาวนา แล้วบุคคลผู้นั้นไม่ได้ศึกษาให้รู้ ผมคิดว่าถ้าเขาเข้าใจการอบรมสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาเป็นอย่างไรแล้ว ตามความเข้าใจของผม เขาจะไม่หันกลับไปอบรมสมถภาวนา อันนี้เป็นความถูกต้อง ผมเข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เราไม่สามารถที่จะมีพลญาณอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สามารถจะทราบอดีตชาติ และการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกกว้างขวางมาก บางทีเราจะไปพบข้อความที่ทรงแสดงกับผู้ที่พระองค์จะทรงรู้อัธยาศัยว่า บุคคลนี้สามารถที่จะได้ฌานถึงทำอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย

    เวลาที่ทรงแสดง ก็ทรงแสดงว่า สำหรับเขาอบรมเจริญแล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย แต่ไม่ใช่หมายความว่า คนที่ไม่มีความสามารถ แล้วพระองค์ก็ไปแสดงเรื่องนี้กับเขา เวลาที่เราอ่านพระไตรปิฎก เราต้องทราบโดยละเอียดว่า ทรงแสดงกับใคร แล้วคนนั้นสามารถแค่ไหน ถ้าคนไม่สามารถก็ไม่ทรงแสดงเลย ก็เป็นเรื่องของสติปัฏฐานล้วนๆ

    ผู้ฟัง การศึกษาฟังพระธรรม จะต้องมีมองลึกไปถึงกรรมที่ได้สะสมมาแล้ว ต่างคนมี ไม่สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละอย่าง แต่ละบุคคล ไม่ใช่พระไตรปิฎกที่ทรงแสดงแล้วสับสนกันไปหมด ไม่ว่าใคร

    ผู้ฟัง ที่ถามเมื่อกี้นี้ผมก็ระลึกถึงธรรมที่บอกกันมา แต่ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน เฉพาะบุคคลบางบุคคลมีฌานเป็นบาทเพื่อที่จะให้เจริญวิปัสสนาต่อไป นี้ก็เป็นลักษณะอย่างที่ ผมถามว่าบุคคลที่มีฌานเป็นบาทนั้น หมายความถึงบุคคลที่สามารถที่จะเจริญฌานแล้วก็จะเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดความหลุดพ้นต่อไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คนที่ได้ฌาน แล้วก็ไม่ได้ฟังธรรมเลย ไม่มีโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐาน แต่คนที่ได้ฌานแล้วก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม มีโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าเมื่อเขาอบรมเจริญสติปัฏฐาน ฌานจิตจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะเขาไม่ได้มีความต้องการที่จะให้ฌานจิตเกิด คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่หยั่งลงถึงความเป็นอนัตตา แทบจะกล่าวได้ว่า จรดกระดูก ไม่มีการลืมหลงไปเลยว่า สภาพธรรม ทั้งหลายเป็นอนัตตา คนที่ได้ฌานมาแล้ว อาจจะมีความคล่องแคล่วชำนาญมาก ถึงฌานที่ ๕ แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เขาไม่สนใจเลย ไม่ได้มีความคิดที่ว่า จะไปทำฌานเพื่อที่จะให้เป็นบาทของวิปัสสนา เพราะเขารู้ว่าจะเป็นบาทหรือไม่เป็นบาทไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น เขาก็อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละ ในขณะที่การอบรมเจริญฌานไม่ได้ละอะไร ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่เมื่อเขาอบรมเจริญสติปัฏฐาน ความชำนาญจากการที่เคยได้ฌาน ทำให้ฌานจิตเกิด แต่ต้องรู้ว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แล้วปัญญาที่สามารถที่จะละการที่ฌานจิตเกิดเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วดับไป จะต้องเป็นปัญญาที่อบรมมาสามารถที่จะละได้ เพราะว่าทุกคน โดยเฉพาะโลภะจะติดในกุศล กุศลระดับนี้ไม่พอ อีกระดับหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ฌานจิตถึงแม้ว่าจะเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอเนญชาภิสังขาร ก็อยู่ในปฏิจจสมุปบาท เป็นสังสารวัฏ ยังออกจากสังสารวัฏไม่ได้ หนทางเดียวที่จะออก ก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการละโดยตลอด ถ้าใครไม่ละ ก็คือไม่รู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย แต่ที่จะละเพราะรู้ว่าโลภะนี่เองที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น ตามกำลังของโลภะ

    เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ติดข้องในฌานจิต ไม่มีการไปนั่งทำฌานเพื่อที่จะให้เป็นบาท แต่ว่าอาศัยวสีที่เคยชำนาญคล่องแคล่วมาก เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิด ผู้นั้นมีปัญญาที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมแล้วละ ผู้ที่ได้ฌานไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม พร้อมองค์ของฌานขั้นต่างๆ ไม่ใช่ บางทีได้ฌานถึงขั้นที่ ๕ แต่ว่าฌานขั้นที่ ๕ ไม่เป็นบาทก็ได้ แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ

    ผู้ฟัง คำพูดที่ว่าได้ฌานเป็นบาท เพียงแต่หมายความว่าฌานนั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานเพียงเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ และไม่ใช่หมายความว่าให้เราไปทำฌาน เพื่อที่จะให้ฌานเป็นบาท ถ้าโดยวิธีเราทำ ก็ไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ผมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ตอนแรกผมเข้าใจว่าปรมัตถธรรมเท่านั้น ที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน แล้วฌานนี้เป็นปรมัตถธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฌานจิต รูปาวจรจิต อรูปวจรจิต เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ต้องการฌานก็ทำฌาน สำหรับผู้ที่รู้ว่าฌาน ไม่ทำให้ออกจากสังสารวัฏได้ ถึงแม้ว่าฌานจิตจะเกิดด้วยความชำนาญ ไม่ได้หมายความว่าท่านปรารถนาจะทำ แต่ที่ปรารถนาของท่านที่พระองค์ทรงแสดง คือ แม้เป็นพระโสดาบันก็ไม่ควรที่จะเป็นพระโสาดาบันเท่านั้น ควรจะต่อไปจนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ ทรงแสดงถึงโทษภัยของภพของชาติ เหมือนหลุมคูถ หลุมอุจจาระที่ไม่สะอาดเลย

    ไม่ใช่ให้เราฟังอย่างนี้แล้วไปทำฌาน แต่หมายความว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้ว เห็นโทษภัยของสังสารวัฏ แล้วรู้ว่าการที่จะเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องเกิดอีกเลย ซึ่งพระโสดาบัน สบาย ไม่ต้องเกิดในอบายภูมิ พ้นเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็แสดงถึงโทษภัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567