ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๑๑

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เมื่อเริ่มฟังเราก็เริ่มจะเข้าใจว่า ปัญญาของเราน้อยนิดแค่ไหน จากการที่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษา แล้วพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย ทรงจำสืบต่อมา ท่านเป็นผู้รู้ทั้งนั้น แล้วเราเป็นใคร เรากำลังเริ่มที่จะเข้าไปอ่าน ไม่ใช่ไปรู้ว่า ท่านเหล่านั้นรู้อะไร เพราะฉะนั้น กว่าที่เราเข้าใจจริงๆ แล้วอบรมปัญญาจริงๆ เราต้องรู้เท่าที่เราจะรู้ได้ด้วยปัญญาของเราเองตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แทนที่จะไปสงสัยเรื่องราว ถ้าสติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นรู้ไหม รู้ว่าไม่ใช่เวลาที่หลงลืมสติ ขณะนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิหรือเปล่า ถ้าโดยชื่อ ถ้าจะเรียก

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ถูกต้องก็เป็น

    ท่านอาจารย์ ทำไมมีถ้าถูกต้อง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นความเข้าใจว่า สติมีหลายระดับ ถ้าสติขั้นทานไม่ใช่สติสัมปชัญญะได้ เพียงแค่ระลึกเป็นไปในทานเท่านั้นเอง ขั้นศีลก็เหมือนกัน ขั้นสมถะ เราต้องรู้ว่าสมถะคืออะไร คือความสงบของจิตซึ่งวันหนึ่งๆ ของสมถะที่จะเจริญมากถึงระดับฌานจิต ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาละเอียดที่สามารถรู้ว่า ทันทีที่เห็นนี้ก็อาสวะแล้ว มีความติดข้องแล้ว ยังไม่ต้องถึงทางมโนทวารเลย

    ปัญญามีหลายระดับมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่รู้ว่า ถึงแม้เราจะอบรมเจริญ ความสงบสักเท่าไร ถึงขั้นอรูปฌาน ก็ไม่สามารถจะออกจากสังสารวัฏได้ สังสารวัฏเป็นสิ่งซึ่งมีเพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ ทุกคนที่เกิด คือไม่รู้ ถ้ารู้จริงๆ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับความไม่รู้หมดสิ้นจะไม่มีเกิดอีกเลย

    แม้แต่ว่าเราเกิดมามีความไม่รู้ แล้วก็ถ้าไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังให้รู้ขึ้น ก็ไม่มีทางจะออกจากสังสารวัฏได้เลย เพราะว่าตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ก็ต้องเกิด อยากจะออกก็ออกไม่ได้ ไม่มีหนทาง เพราะฉะนั้น เราก็ ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจหนทาง ๒ ทาง คือถ้าทางสมถะออกจากสังสารวัฏไม่ได้ ถึงอรูปฌานก็ยังเป็นมิจฉาปฏิปทา เมื่อเทียบกับสติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานนำออก แต่ว่าอรูปพรหมก็ยังคงวนเวียนเข้าเรื่อยไปในสังสารวัฏ ต้องสติปัฏฐานเท่านั้น

    เราก็คงไม่ต้องไปติดในการที่จะต้องไปทำจิตให้สงบ เพราะเข้าใจว่าพอสงบแล้วจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าชาติหนึ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะน้อยหรือจะมากอีกนานสักเท่าไร เวลาอาจจะสั้นมาก แต่เราสามารถจะสะสมความเห็นถูก อันนี้สำคัญที่สุด ยังไม่ต้องไปถึงปัญญาระดับอื่นเลย ถ้าความเห็นถูกไม่มี เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกต้องจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อน เป็นสัจจญาณมีความมั่นคงว่า สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏอย่างขณะนี้ ปัญญาสามารถอบรมจนกระทั่งเห็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นได้ ไม่เป็นอื่น แต่สภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก ถ้าขณะนี้สติไม่เกิดก็ดับไปหมดแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาทางปัญจทวารต่อ ทางปัญจทวารจะรู้อย่างไร ภวังค์คั่นหรืออะไร พวกนี้ไม่ต้องเลย แต่ว่าเป็นปัญญาของเราที่จะรู้ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ รู้ว่าตรงนั้นแหละที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วเวลาที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นรู้ว่า สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตรงนั้นไม่ต้องใช้คำว่า มัคคปัจจัย แต่เป็นมัคคปัจจัย ไม่จำเป็นต้องใช้คำ แต่ถ้าจะใช้ ตรงนั้นหรือเปล่าที่เป็นมัคคปัจจัย ตรงอื่นจะเป็นมัคคปัจจัยได้ไหม จะเป็นทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม

    เป็นเรื่องเป็นความเข้าใจขึ้น ถ้าเรามีความสงสัย เราสงสัยไปตลอด ไม่จบ พอสงสัยตรงนี้ ก็ไปสงสัยตรงอื่นอีก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คำว่า อนุสติ ตามรู้ ใช่ไหม ตามรู้สิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน หมายความว่าสิ่งนั้นต้องเกิด ถ้ายังไม่เกิดเลย สติจะตามรู้ อันไหนได้

    ผู้ฟัง แต่ว่าคำว่าปัจจุบันในที่นี้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าสิ่งนั้นก็ยังปรากฏ อย่างขณะนี้แม้ว่าจะเห็นแล้วก็ดับ หมดวาระแล้วมีภวังค์คั่น มโนทวารเกิดสืบต่อ เราก็ไม่ได้รู้อะไรอย่างนั้น แต่เรามีความรู้ว่าเห็นยังมี ขณะนี้ก็มี เมื่อกี้ก็มี ใช่ไหม นี่คือการที่ปัญญายังไม่สามารถจะรู้ความเกิด และความดับได้ เหมือนสิ่งที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เหมือนไม่ดับเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาของผู้รู้อย่างหนึ่ง ปัญญาของผู้ที่เข้าใจแล้วอบรมเจริญความรู้นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง รู้ถึงสภาพธรรมที่ดับไปนานแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งใดที่เกิดมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะว่าปัจจัยก็มีมากมาย อย่างกรรมก็มีมากมายนับไม่ถ้วนเลย แต่กรรมไหนถึงกาลที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดเห็นเดี๋ยวนี้ จะเห็นอื่นไม่ได้ นี่คือทางตา กาลไหนที่จะทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง คนละกาลกัน ถึงกาลของตา จิตเห็นก็เกิด ถึงกาลของกรรมที่จะให้ผลทางหู จิตได้ยินก็เกิด เมื่อเห็นได้ยินแล้วถึงกาลที่จะเป็นกุศล กุศลก็เกิด ถึงกาลที่จะเป็นอกุศล อกุศลก็เกิด ทั้งหมดคือปัจจัยทั้งนั้น ถ้าเราจะเข้าใจปัจจัยก็คือเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าทุกอย่างเกิด จึงได้ปรากฏ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำเลยทั้งสิ้น แต่มีเหตุปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิดแล้วจึงตามรู้สิ่งที่เกิด เพราะว่าสิ่งที่เกิด หลังจากที่เราไม่สามารถจะประจักษ์การดับ สิ่งนั้นก็เกิดอีกเรื่อยๆ อย่างเสียง ไม่ใช่แค่วาระเดียว ก็เกิดอีกเรื่อยๆ เย็นก็ไม่ใช่วาระเดียว ก็เกิดอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องไปนั่งขีดเส้นคำนวณ ด้วยประการใดๆ เพียงแต่รู้ว่า ตามรู้ ก็คือรู้สิ่งที่เกิดแล้ว ถ้าสิ่งนั้นยังไม่เกิด รับรองใครจะตามรู้ไม่ได้เลย เพราะยังไม่ได้เกิดขึ้น

    แต่ละคำต้องเข้าใจด้วย ตามรู้คือสิ่งนั้นเกิดแล้ว ถ้าจะเอาปริยัติมาเทียบ พอทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดดับ ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารก็ยังรับรู้ต่อได้ทั้งๆ ที่ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารรับรู้อะไร ก็รับรูปที่ดับ เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดเป็นสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะที่ปรากฏ เพราะว่ามโนทวารต้องรู้ต่ออยู่นั่นเอง อย่างเย็นขณะนี้ทางกายดับแล้วภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตรับรู้เย็นนั้นต่อ แต่ปกติของเราพอระลึกรู้เรื่อง ไม่ใช่รู้ลักษณะ เป็นระลึกเรื่อง แต่นี่ระลึกรู้ลักษณะ เพียงแค่สั้นแสนสั้นอย่างไรก็ตาม แต่คือลักษณะที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องไปคิดว่า ทวารไหน เพราะต้องต่อกันตลอด มโนทวารต่อปัญจทวารเกิดอีก ภวังค์คั่นอีก มโนทวารต่ออีก ไม่ต้องไปรู้อื่นเลย ตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึง วิปัสสนาญาณ ยังจะไม่เห็นการขาดตอนของปัญจทวาร และมโนทวาร เพราะสืบต่อกันสนิทมาก ทันทีเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าระลึกถึงเรื่องที่ดับไปนามแล้ว ขณะนั้นเรียกว่าเป็นปัจจุบัน เพราะว่าเป็นขณะที่เรากำลังระลึก หรือว่า

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นปัจจุบันขณะนั้น

    ผู้ฟัง ก็ความคิด

    ท่านอาจารย์ จิตคิด สิ่งที่ดับแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง จิตคิดขณะนั้นเป็นปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น จึงสามารถจะรู้จิตที่คิดได้ว่า ทุกคนมาติดอยู่ที่จิตคิด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ดูก็ต่างกัน อย่างทางตาก็ไม่ใช่ทางหู ก็ไม่ใช่ทางจมูก ก็ไม่ใช่ทางลิ้น ก็ไม่ใช่ทางกาย แต่ใจที่รับรู้ทุกเรื่อง เป็นเราที่คิด แล้วรู้เรื่องนั้นทางตา รู้เรื่องนี้ทางหู ทรงจำไว้ได้หมด ตัวเราเป็นตัวใหญ่ โลก สมมติ บัญญัติอยู่ที่ทางมโนทวารทั้งนั้น เพราะว่าทางปัญจทวารแค่นิดเดียว นิดเดียวจริงๆ ถ้าลักษณะของมโนทวารวิถีปรากฏ จะสืบต่อจนกระทั่งลักษณะของปัญจทวารแค่นิดเดียว ที่จะให้รู้ว่า นั่นเป็นรูปชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    นี่คือมโนทวารปรากฏ หมดความสงสัยในลักษณะของมโนทวาร ประจักษ์ในลักษณะที่แยกขาดกัน จริงๆ ระหว่างรูปกับนาม เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง หลังจากนั้นก็

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเป็นผู้ที่ตรง ระดับของปัญญาแต่ละขั้น ผู้นั้นรู้เลย ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่สามารถจะถึงอีกขั้นหนึ่งได้ เขารู้ว่าต้องสติปัฏฐาน ระลึกไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แล้วเป็นญาตปริญญา เพราะว่าความรู้ของผู้ที่รู้กับผู้ที่ยังไม่รู้ต้องต่างกัน ก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ สติปัฏฐานก็เกิด ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความรู้ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ไม่มีใครรู้เลยว่า ความรู้จะเพิ่มขึ้นแค่ไหน เพราะว่ามันเป็นลักษณะที่จางเหมือนกับแสงไฟอ่อนๆ รางๆ ที่มันยังไม่มีกำลังพอที่จะเห็นอย่างชัดเจน จนกว่าจะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ในขณะนั้นคือขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวาร จะไม่มีความสงสัยว่า วิปัสสนาญาณต่างกับขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณอย่างไร จะไม่คิดว่า แค่สติเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว โอ วันนี้ไม่มีใครมารบกวนเลย กลางดึกนี้ชัดมาก นั่นคือความคิดทั้งหมด แต่วิปัสสนาญาณต้องไม่ใช่สิ่งที่เคยเกิดแล้ว โดยความเป็นอนัตตา แล้วเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วก็ดับไป ก็เหมือนเดิม แต่ว่าความทรงจำจากสิ่งที่ได้ประจักษ์แล้ว ก็จะทำให้ปัญญาเวลาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมต่อจากนั้นไป เป็นระดับของปริญญา ญาตปริญญา แต่เพียงแค่สติปัฏฐานเกิดนิดๆ หน่อยๆ จะเป็นญาตปริญญาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความสมบูรณ์ที่ได้ประจักษ์แล้ว

    แม้แต่คำว่า ญาตปริญญา ก็ต้องเมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ นั่นเอง จึงเป็นญาตปริญญา แล้วก็ญาตปริญญาก็จะต่อไปถึงวิปัสสนาญาณอื่นด้วย จนกว่าจะเป็นตีรณปริญญา ปหานปริญญา จากวิปัสสนาญาณแต่ละตอน แต่ละตอนที่จะถึงความสมบูรณ์

    ผู้ฟัง ญาตปริญญา เฉพาะนามรูปปริจเฉทญาณ

    ท่านอาจารย์ นามรูปปริจเฉทญาณ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว สติปัฏฐานก็เป็นไปด้วย ญาตปริญญา ใช้คำว่า ญาตปริญญา แต่ไม่ใช่คำว่า วิปัสสนาญาณ เพราะว่าวิปัสสนาญาณต้องญาตปริญญาที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานถึงความสมบูรณ์อีก ถึงจะเป็นปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ แต่ระหว่างนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่เป็นญาตปริญญา เพราะเหตุว่ารู้แล้ว กำลังของการที่เขาจะค่อยๆ รู้ขึ้น แม้น้อยแต่ก็เป็นกำลังที่ต่างกันโดยที่ว่า ลักษณะของการจับด้ามมีด ไม่มีทางที่จะสงสัยว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปกับการละโดยตลอด ถ้าเกิดความต้องการแทรกทันที หมดทาง คนนั้นรู้เลยไม่ใช่ทาง เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสดับด้วยโลกุตตรจิต คือโสดาปัตติมรรค ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ไขว้เขวไปได้เลย

    ผู้ฟัง ญาตปริญญา เป็นหนึ่งใน ตรุณวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ แค่ ตรุณะ บางคนก็คิดว่า คือ ไปอ่านแล้วก็รู้เรื่อง พอฟังแล้วก็เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ แต่ที่เป็นตรุณะเมื่อเทียบกับเป็นพลววิปัสสนา จะเห็นได้เลยว่า แม้เป็นวิปัสสนาญาณก็จริง แต่เมื่อเทียบกับพลววิปัสสนา อันนั้นต้องเป็นตรุณะแน่นอน แต่เป็นปัญญาที่ประจักษ์นี่แน่นอน ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นคิดนึก หรือขั้นเข้าใจได้เจริญสติปัฏฐานแล้ว ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า อะไรที่จะเป็น ต้องเป็นอะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ธรรมดาการอบรมเจริญปัญญา เหมือนเราเรียนหนังสือ เราเรียนทุกวันๆ วันไหนที่เราเกิดเข้าใจ ก.ไก่ รูปร่างอย่างนี้นะกว่าจะจำ ก.ไก่ได้ กว่าจะถึง ข.ไข่ อีก กว่าจะถึง ฮ.นกฮูก ของเราปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม รูปธรรม จนกว่าประจักษ์เมื่อไร เป็นวิปัสสนาญาณเมื่อนั้น

    การประจักษ์ไม่ใช่การที่กำลังเริ่มพิจารณา หรือเริ่มศึกษา เริ่มค่อยๆ เข้าใจ แต่เป็นความสมบูรณ์ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะรู้ว่า นามธาตุเป็นอย่างนี้ รูปธาตุเป็นอย่างนี้ ไม่มีความสงสัยในมโนทวาร เวลานี้ทุกคนต้องสงสัยในมโนทวาร ก็มีแต่ทางปัญจทวารต่อกัน ไม่เห็นมโนทวารอยู่ตรงไหน ตำรานี้บอกเลย ภวังคจิตคั่น มโนทวารรับต่อ กว่าจะไปถึงทางทวารอื่น แต่มโนทวารก็ไม่ปรากฏเลย แต่ลองคิดถึงตามความเป็นจริง แค่หลับตาเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏไม่ได้ปรากฏอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นมโนทวารล้วน คือ ไม่มีทางนี้เลย จะมืดหรือจะสว่างแค่ไหน ไม่มีทางสว่างได้เลย โลกทางตาไม่ได้ปรากฏ แล้วสิ่งนั้นเคยเกิดไหม ความมืดสนิท ซึ่งเป็นมโนทวาร ซึ่งต่างกับภวังค์ ที่ว่าภวังค์ไม่รู้อะไรเลย ภวังค์ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย อารมณ์ของโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ตอนที่หลับสนิทจะชื่ออะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่รู้เรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ความจำใดๆ ก็ไม่มี แต่มโนทวารไม่ใช่อย่างนั้น ความมืด เพราะรู้ ตอนที่เป็นภวังค์ไม่รู้ จะไม่มีทางรู้เรื่องมืดเรื่องสว่าง หรือเรื่องอะไรเลย แต่มโนทวาร เมื่อเอาสิ่งที่ปรากฏทางตาออกแล้ว จะมืดสักแค่ไหน แต่ว่าสามารถจะรู้ได้หมด แม้แต่สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน

    บุคคลนั้นรู้เลยผ่านทางปัญจทวารเล็กนิดเดียว ทางตาก็นิดเดียว ที่จะเหมือนกับโลกมืด ซึ่งมีจุดอยู่เพียง ๕ จุด แล้วจุดหนึ่งสว่าง อีก ๔ จุดไม่สว่างเลย แต่ว่าปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้

    การที่เราจะฟังธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญาต้องรู้ว่า เป็นเรื่องละ และเป็นเรื่องหยั่งถึงตัวจริงของธรรม อย่างตัวจริงของธรรม ที่ใช้คำว่า ธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุ หรือใจเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เป็น มนินทรีย์ ก็ลองคิดดู เอาสี เอาเสียง เอากลิ่น เอารส เอารูปออกหมดเลย ไม่มีรูปใดๆ เลยปรากฏ มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ แล้วลองคิดดูว่า ธาตุรู้หรือสภาพรู้จะใหญ่สักแค่ไหน ในเมื่อไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ยังมีสภาพรู้หรือธาตุรู้

    ลักษณะของมนินทรีย์ก็ต้องปรากฏ ความใหญ่ของเขาไม่มีรูปเลย เวลานี้เราถูกจำกัดอยู่ในสวน ขอบเขตอันนี้ แล้วก็มีต้นไม้สูงบ้าง ต้นไม้เตี้ยบ้าง ขอบเขตของเขามีหมด แต่ ณ ขณะที่ไม่มีที่ใดจะจำกัดได้เลย เพราะรูปใดๆ ก็ไม่มี แต่มีธาตุรู้ที่กำลังรู้ ขณะนั้นจะเห็นความเป็นมนินทรีย์ได้ แล้วไม่มีความสงสัยแม้ในอรูปพรหม ไม่ต้องมีรูป ก็มีธาตุรู้ได้ นี่เป็นแต่เพียงว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถ้าสภาพธรรมไม่เป็นจริงอย่างนี้ ไม่มีการประจักษ์แจ้งอย่างนี้ ใครจะแสดงลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขาเป็นอย่างนี้ คือนามธรรมไม่ใช่รูปธรรมโดยประการทั้งปวง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง เมื่อพูดถึงเฉพาะทางตาทางเดียว กำลังเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีอะไรๆ เลยทั้งสิ้น เห็นอยู่อย่างไร รู้อยู่อย่างไร หรือว่ารู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรในสิ่งนี้ เท่านั้น จะไม่มีสิ่งอื่นปะปนเลย ถ้ามิฉะนั้นแล้วไม่มีการที่จะสามารถดับความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่นี้เป็นตรุณวิปัสสนา แล้วถ้าไม่อบรมเจริญต่อไป จะถึงได้ไหม พอโลภะเข้ามาแทรกก็รู้เลยทันที กั้นอีกแล้ว แทรกอีกแล้ว

    เราเริ่มเห็นโลภะ การที่สภาพธรรมที่จะคล้อยตามไปทางที่ผิด จะชักชวนไป จะอะไรไป เขามีกำลังมากมายอยู่เสมอ ต้องเป็นความมั่นคงจริงๆ ที่จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เวลานี้ มีแล้ว เกิดแล้ว อสังขตธรรมปรุงแต่งแล้วเกิด เพราะฉะนั้น ตามรู้สิ่งที่มีเท่านั้น ถ้าเราสามารถที่จะรู้อยู่ตรงลักษณะของเห็น รู้อยู่ตรงลักษณะของได้ยิน หรือเสียง หรือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะเป็นโลกของปรมัตถ์ เวลาที่คิดเกิดขึ้น ก็รู้ว่า ขณะนั้นก็ต่าง เป็นนามธรรม ซึ่งต่างกับอันอื่น

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว คือ อดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เป็นความจริงที่ ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจคำนี้เลย อดทนที่จะเผาความไม่รู้ ที่จะละกิเลส ที่เป็นความติดข้องที่จะทำให้หันเหไปทางอื่น แล้วขณะที่เข้าใจ ความเข้าใจทีละน้อยๆ ก็จะซึมลงไปถึงรากที่เป็นอนุสัย เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรเลยที่จะดับอนุสัยได้ นอกจากโลกุตตรมรรค

    ถ้าเราไม่รู้จริงๆ ขณะนี้เหมือนไม่ได้อะไร แต่ความจริงปัญญาทำหน้าที่ของปัญญาทุกขณะทีละน้อยๆ ปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วค่อยๆ หยั่งลงไปถึงลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะสามารถถอนอนุสัยออกได้ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็แค่ผิวเผิน แล้วคิดว่าไม่มี แล้วคิดว่าดับไปแล้ว สามารถที่จะรู้อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจิตที่กำลังคิดนึกถึง เรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดมาแล้วนานๆ ก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานในขณะนั้นได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    ผู้ฟัง จิตที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องราวนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตมีจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ ต้องในขณะที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง การที่จะศึกษาธรรม เราศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แล้วก็การที่จะศึกษาเรื่องปริยัติให้ละเอียด บางครั้งก็ศึกษาไม่ได้ เพราะปัญญาเราไม่ถึงขั้นนั้น คำถามต่อไปก็คือว่า การศึกษาปริยัติที่จะศึกษาให้อย่างละเอียด ต้องศึกษาถึงขั้นไหน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วศึกษาไม่มีวันจบเลยถ้าจะศึกษา แต่ทีนี้ข้อสำคัญคือว่า เราเข้าใจสิ่งที่เราศึกษาได้แค่ไหน เพราะว่าบางคนมีหนังสือเล่มหนึ่งอยากจะอ่านจบ แต่ว่ารู้เรื่องแค่ไหน จบจริงแต่ว่ารู้เรื่องแค่ไหน ถ้าเป็นปัจจัย ๒๔ ปัจจัยในพระไตรปิฎก อ่านให้จบอ่านได้ แต่ว่าความเข้าใจแค่ไหน

    ควรจะมุ่งไปที่ความเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าที่จะรู้ทั้งหมดในพระไตรปิฎกได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะชื่อว่า รู้ธรรม ไม่อย่างนั้นก็รู้แต่เรื่องราว หรือว่ารู้แต่ชื่อเท่านั้น

    ผู้ฟัง เวลาศึกษา ควรจะศึกษาเพื่อให้เข้าใจในลักษณะของธรรม ตามที่ตัวเองเข้าใจได้เพียงเท่านั้น หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณซีอ่านปรมัตถธรรมสังเขป คุณซีรู้เลยว่า ไม่สามารถที่จะรู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามที่เข้าใจได้ทั้งหมด เช่น สัมปฏิจฉันทะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ตทาลัมพนะ หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นคือความถูกต้อง หมายความว่าผู้ที่ศึกษา สามารถที่จะรู้กำลังของตัวเองว่า สามารถที่จะรู้ได้แค่ไหน เข้าใจได้ โดยเหตุผล เราอ่าน แต่ว่าการที่รู้ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงอ่านแล้วจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าต่อๆ ไป อย่างเวลาพูดถึงเรื่องของอายตนะ โดยชื่อก็ไม่ยาก พูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยชื่อก็ไม่ยากอีก แต่การที่จะสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยลักษณะแม้เพียงขันธ์ โดยความเป็นขันธ์ จะรู้ได้อย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่มีการประจักษ์ หรือรู้แจ้งสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดแล้วดับ เพราะว่านั่นคือความหมายของขันธ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567