ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๓๘

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องลึกซึ้ง ต้องไม่ลืมว่าอริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ จะทิ้งอัน ๑ อันใดไม่ได้เลย แม้แต่หนทางก็ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง รู้จริงๆ ในทุกคำที่ได้ทรงแสดง เช่นคำว่า ธรรม ก็คือขณะนี้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่าพิจารณาธรรม จะต้องมีการพิจารณาธรรมที่ละเอียด ละเอียดยิ่งขึ้นๆ หมายความว่า ยกตัวอย่างขณะที่ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็ทราบว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่เรารู้ว่ามีความละเอียดมากยิ่งขึ้น จะหมายว่าความคลายในรูปร่างสัณฐานที่มีอยู่จะค่อยๆ คลายลง

    ท่านอาจารย์ คลายความไม่รู้ เพราะว่าอย่างไรๆ ขณะที่เห็น ก็จะต้องมีการคิดนึก ถึงรูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่จะหายไปหมดทันที แต่จากการฟังสามารถที่จะเริ่มเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แม้นิดเดียวก็ถูกต้อง เพราะว่าถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏ จะไม่มีการตรึกนึกคิดถึงคน ถึงวัตถุ ถึงสิ่งต่างๆ เลย แต่ว่าเพราะเหตุว่าเราชินกับการที่จะคิดนึกติดตามมาทันที เพราะฉะนั้น จากการฟังก็เริ่มที่จะรู้ความต่าง คือรู้ว่าถึงจะเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นพี่น้อง เป็นญาติ เพื่อนฝูงก็ตาม แต่หลังจากเห็นแล้วก็มีความคิดนึกทรงจำใน อัตตสัญญา คือ แม้สิ่งนั้นไม่ปรากฏ เช่นในขณะที่หลับตา ขณะที่ได้ยิน ขณะที่คิดนึก สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏพร้อมในขณะนั้นไม่ได้ ถ้าตามความเป็นจริง แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทุกโลกก็ปรากฏสืบต่อทันที เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตาเที่ยง มีความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีการได้ยิน มีความคิดนึกถึงความหมายด้วย

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างสืบต่อเร็ว จนเหมือนกับไม่ดับเลยสักอย่างเดียว เป็นสิ่งที่เที่ยง ทรงจำไว้ แม้ไม่เห็นก็ยังจำไว้ในสิ่งที่ไม่ปรากฏ อย่างเวลานี้เห็น ทำให้คิดนึก ว่าเป็นคนเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่เวลาไม่เห็นแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่ได้ปรากฏแล้วก็ยังจำไว้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สัญญาความจำ มีความเป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากมายจนกว่าจะไถ่ถอนออกไปได้ ด้วยการค่อยๆ รู้ว่า แต่ละทางก็คือแต่ละอย่าง อย่างขณะนี้ก็คือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงครั้งแรกที่เกิดระลึกได้ ต่อไปเราก็จะรู้ได้ว่า มีการระลึกอย่างนี้ได้อีกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะมั่นคง สภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง คือ อริยสัจจะ ทุกขอริยสัจจะ แต่ก่อนนั้นก็ต้องเป็นการที่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นธาตุหรือธรรม คือนามธรรม และรูปธรรม หรือจะใช้คำว่านามธาตุกับรูปธาตุก็ได้ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของธาตุหรือนาม นามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีตัวเรา จะไม่มีโลกอื่นปนอยู่ในขณะที่สภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ขณะนั้นจะรู้รอบในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เป็นอื่น ไม่มีอย่างอื่นเลยที่จะมารวมอยู่ในสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    นามรูปปริจเฉทญาณ จึงเป็น ญาตปริญญา เป็นความรู้ที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น และเมื่อวิปัสสนาญาณดับ สติปัฏฐานของผู้ที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เวลาที่สติปัฏฐานของบุคคลนั้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นญาตปริญญาต่อไปอีกจนกว่าจะถึงตีรณปริญญา เพราะเหตุว่าบุคคลที่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมแล้ว จะให้สติปัฏฐานที่เกิดกับเขาไปเหมือนกับตอนที่ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ญาตปริญญาต้องเป็นในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แล้วเวลาที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเห็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรม ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นไปตามปัจจัย ไม่ใช่มีคนหนึ่งคนใดไปสร้างสภาพธรรมนั้นเลย แต่ว่าการที่จะรู้ปัจจัยของแต่ละบุคคล มากน้อยตามการสั่งสม เพราะว่าขณะที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมไม่มีชื่อ ไม่มีคำ การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปนึกเป็นเรื่องราวสำหรับที่จะมาบอกกัน แต่ขณะที่เป็นญาณ เป็นความเห็น ที่ตรงถูกต้อง ไม่มีอะไรปิดกั้นเลย เป็นการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ด้วยพระปัญญาที่ได้อบรมมาเหนือบุคคลอื่นใด ขณะที่อรหัตมรรคญาณเกิด ดับกิเลสพร้อมด้วยปัญญาที่ได้สะสมมาทั้งหมด เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นแล้วก็ได้ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมแม้อย่างเดียว โดยประการต่างๆ แสดงโดยธาตุ แสดงโดยขันธ์ แสดงโดยอายตนะ แสดงโดยสังโยชน์ หรืออะไร อะไรก็แล้วแต่ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ๔๕ พรรษา มาจากลักษณะของสภาพธรรม นั้นๆ เอง บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเพียงคำ แต่ไม่ใช่ เนื่องจากลักษณะของธรรมนั้นๆ เป็นอย่างนั้น ผู้ที่สามารถที่จะเห็นลึกซึ้งถ่องแท้ยิ่งกว่าบุคคลอื่น ก็มีคำที่จะใช้สำหรับอนุเคราะห์สัตว์โลกให้ได้ฟัง ได้เข้าใจ ได้พิจารณาแล้วพิจารณาอีกโดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขณะนั้น เพื่อที่จะได้รู้แจ้งในอริยสัจธรรมได้

    ผู้ฟัง ปัญญาที่เป็นขั้นญาตปริญญา ถ้าเป็นการรู้ความเกิดขึ้นของธรรมในขณะนั้น ก็รู้ความเป็นปัจจัยตามสมควรแก่ปัญญาของแต่ละบุคคล แต่ทำไมพอเริ่มค่อยๆ รู้ความเกิดดับ แม้ว่าจะอย่างหยาบๆ หรืออย่างรวดเร็ว จึงเป็น ตีรณปริญญา

    ท่านอาจารย์ เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด บุคคลนั้นจะประจักษ์ความเป็นอนัตตาไหม หรือว่าไปคอย จวนจะถึงแล้ว จวนจะดีแล้ว ซึ่งบางคนบอกว่าเกือบๆ แล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนที่หวัง ไม่ใช่เป็นปัญญาที่ละ เพราะฉะนั้น เป็นความที่ต่างกันมาก ความเป็นตัวตนที่หวัง กับการเป็นปัญญาที่ละ ผู้ที่วิปัสสนาญาณเกิด โดยความเป็นอนัตตา ขณะนี้ได้ไหม แสดงว่าเป็นอนัตตาแล้วใช่ไหม ขณะไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราจะไปรอคอย แล้วคิดว่าปัญญาถึงระดับขั้นที่จะเป็นวิปัสสนาญาณนั้นๆ แล้ว ใช่ไหม สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยปรากฏ เพราะเหตุว่าลักษณะของธาตุซึ่งไม่มีอะไรเจือปนแต่ละธาตุ เช่น นามธาตุ มนินทรีย์ จะรู้เลยว่า ความเป็นใหญ่ แม้ไม่มีอะไรเลย ทั้งหมดโลกนี้ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าถ้ายังมี ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะว่ายังรวมกันติดกันแน่น แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ มืด แต่มีสภาพธรรมปรากฏ เช่น นามธรรม มืดหรือสว่าง ไม่มีแสงสว่างใดๆ ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรม แม้ไม่มีอะไรเลย

    มนินทรีย์ธาตุรู้มี ไม่มีอะไรปิดกั้นเลยทั้งสิ้นในขณะนั้นว่า เขาสามารถที่จะเป็นธาตุรู้อย่างเดียว ไม่มีอะไรในโลก แต่ธาตุนี้มี

    เวลาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ สภาพธรรมเกิดจริง ปรากฏจริง แต่ปัญญาที่เพิ่งเริ่มประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมครั้งแรก ถ้าคนนั้นมีปัญญาที่สะสมมาแล้ว วิปัสสนาญาณทั้งหมดสามารถที่จะเกิดสืบต่อกันได้เลย แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่สามารถที่จะมีวิปัสสนาญาณขั้นอื่นสืบต่อมาก ก็อาจจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจัยปริคคหญาณ หรือถึงสัมมสนญาณ พร้อมกันได้ เพราะเหตุว่าทั้ง ๓ นี้เป็นตรุณวิปัสสนา

    ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ถึงอย่างนั้นก็ตามไม่ได้ดับกิเลส หลังจากที่วิปัสสนาญาณดับไปแล้ว ก็จะต้องมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อคลาย ความเป็นเราจากสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าจะมีการประจักษ์ในธรรมที่ปรากฏแล้วก็ตามแต่ แต่ความเป็นเรายังอยู่อีกในสภาพธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณปรากฏเท่าไร ความรู้ของบุคคลนั้นไม่มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ไม่มีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ลักษณะอื่น สติปัฏฐานจะต้องค่อยๆ พิจารณา น้อมความรู้จากนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นญาตปริญญา พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมเพื่อวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ จะเกิดต่อไป สำหรับปัจจัยปริคคหญาณ คือผู้นั้นสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ลักษณะที่ปรากฏ แต่ยังรู้ถึงว่า ลักษณะนั้นปรากฏโดยไม่มีการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะสร้างหรือจะทำ หรือจะเลือกได้เลย ว่าแต่ละคนจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมใด และรูปธรรมใด เกินวิสัยที่ใครจะไปจัดการอะไรทั้งหมด เพราะขณะนั้นไม่มีเราเป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งรู้ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าเป็นสัมสนญาณ คือสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ที่กำลังเกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็ว นี่ก็เป็นตรุณวิปัสสนา ซึ่งผู้นั้นก็รู้ว่า ก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม และปัญญาแต่ละขั้นก็คือว่า เลือกไม่ได้ ถึงเวลานั้นจริงๆ ก็รู้ว่า เลือกไม่ได้

    ผู้ฟัง สำหรับสัมสนญาณ แม้จะเป็นตรุณวิปัสสนา แต่ก็เป็นตีรณปริญญา เพราะว่าเริ่มพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เริ่มเป็น ตีรณปริญญา

    ผู้ฟัง ที่จะพิจารณา

    ท่านอาจารย์ การเกิดดับ

    ผู้ฟัง ถ้าสมบูรณ์พร้อมชัดเจนก็เป็น อุทยัพพยญาณ

    ท่านอาจารย์ เพราะการเกิดดับ ลองคิดดู เราคิดว่านี่แข็ง ไม่มีอะไรเลย แต่ความจริงมีอากาศธาตุ และเป็นกลุ่มที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่วิปัสสนาญาณที่เป็นพลววิปัสสนา ไม่ใช่เฉพาะที่ปรากฏ จะต้องทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กว่าจะคลาย เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะรู้ว่าการที่จะประจักษ์การเกิดดับที่เป็นอุทยัพพยญาณ ซึ่งบางคนเข้าใจว่าไม่ต้องมี ๓ ญาณแรก เพราะว่าไม่ได้กล่าวถึงในฐานะที่เป็นตรุณวิปัสสนา แต่จะกล่าวถึงพลววิปัสสนาเลย เพราะฉะนั้น คนที่เพียงอ่าน ก็จะคิดว่า เขาสามารถที่จะนั่ง จดจ้อง แล้วก็จะประจักษ์การเกิดดับ แต่ผู้ที่รู้หนทางที่ถูกต้องจะรู้ว่า ต้องคลาย อย่าง เช่นทางตา ถ้าขณะนี้ตามปกติเห็นแล้วก็เหมือนเดิม ก็ยังมีความเป็นเรา ทรงจำไว้มั่นคงทันที แต่ผู้ที่คลายก็คือว่า สามารถที่จะเข้าใจถูกได้ในความต่างของแต่ละทวาร อย่างทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จากความค่อยๆ รู้ ความใส่ใจในสภาพที่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็จะค่อยๆ คลายความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือแม้แต่ความคิดนึก อย่างตรุณวิปัสสนาทั้ง ๓ เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจัยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ มีความคิดนึกแทรกแล้วแต่กำลังของปัญญาว่า ขณะนั้นเป็นเรามากน้อยแค่ไหน แต่จะรู้ได้เลยว่า วันหนึ่งๆ ขอให้คิดถึงโลกตามความเป็นจริง นามธาตุมืดสนิทยังไม่มีอะไรปรากฏเลย อย่างขณะที่เป็นภวังค์ แล้วมีสิ่งปรากฏ คิดดู ต้องมีการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มี แล้วมี ผู้นั้นจะเข้าใจถึงเหตุปัจจัยได้ ต้องมีทางที่สิ่งนั้นจะปรากฏ จากไม่มีเลย แล้วก็มี ลองคิดดู มีได้อย่างไร แต่เวลาที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า เป็นนามธรรมรูปธรรม ธรรมดาคือไม่รู้อะไรสักอย่างเดียว แม้แต่ความคิดนึก แต่เวลาที่มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วมีการคิดถึงลักษณะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้ง หรือห้ามความคิดได้เลย ปัญญาต้องคมถึงระดับที่จะรู้ว่า เป็นเพียงคิด จะรู้ว่า ความคิดป็นทางมโนทวาร หลังจากที่ความมืดสนิท ก็จะมีทางที่จะรู้อารมณ์ ๕ ทาง ทางตานิดเดียวจริงๆ ผ่านจากทางปัญจทวารถึงทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ ต้องทางมโนทวารทางเดียว แต่สามารถที่จะรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใดๆ ที่ผ่านทางปัญจทวาร สั้นมาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษา ผู้ที่รู้ คือ ต้องมีจิตทางปัญจทวารก่อน แล้วก็ทางมโนทวารถึงจะรับรู้ได้ แต่ความเกิดสืบต่อของมโนทวารมาก เป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ก็รับแต่เฉพาะรูปที่ผ่านมา

    จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ความคิด ซึ่งขณะนั้นจะเกิดคิดก็ได้ เหมือนทุกวันๆ เราคิด อะไรที่เรายึดมั่นบ้าง วันหนึ่งๆ เป็นความคิด จนกว่าปัญญาจะรู้ว่า ไม่ว่าจะคิดขณะไหน ก็คือสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็จะคลายการยืดถือสภาพธรรม แล้วรู้ว่า ที่จินตาญาณที่แปลว่า เป็น ๓ วิปัสสนา เพราะเหตุว่ายังมีความคิดที่ยับยั้งไม่ได้เลย แต่ว่ายังแทรกคั่นอยู่จนกว่าความสมบูรณ์ของปัญญาจะถึงระดับของการพิจาณาที่เป็นตีรณปริญญา แม้ความคิดก็คือชั่วขณะที่สั้นมาก จึงสามารถที่จะประจักษ์สภาพธรรมโดยอุทยัพพยญาณได้ ซึ่งเป็นพลววิปัสสนา ผู้นั้นก็จะเข้าใจเลย จากตรุณเป็นพลวะ จะต้องมีการอบรมปัญญาถึงระดับไหน แต่ก็ยังเป็นขั้นของตีรณปริญญาอยู่ จนกว่าจะถึงภังคญาณ จึงเริ่มที่จะเป็นปหานปริญญา เพราะฉะนั้น ทรงกำกับวิปัสสนาญาณกับปริญญา ๓ ไว้ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่า ต้องเป็นเรื่องของวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต้องไปห่วงใยกังวลอะไรทั้งหมดเลยทั้งสิ้น วันไหนจะมา วันไหนจะถึง วันไหนจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่เราเป็นตัวตนที่จะไปคิด เพราะว่ากว่าจะไปถึงความรู้จริงๆ ความเป็นเราผูกพันไว้แน่นหนามาก ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ ความอยากก็เข้ามาได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นในลักษณะไหน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงเข้าใจความหมายของสมุทัย คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญา วิปัสสนาจะไม่ละสมุทัย เป็นไปไม่ได้เลย แล้วสมุทัยก็จะละเอียดขึ้นๆ ตามลำดับด้วย ซึ่งผู้นั้นก็รู้ว่าตราบใดที่ยังมีความต้องการ หรือแม้เยื่อใย ก็จะไม่ถึงนิโรธสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่เป็นหนทางที่รู้ว่า ละตลอดสาย ตั้งแต่ขั้นต้น อย่างคุณกล่าวว่า เหมือนไม่ได้ทำอะไร เพราะเคยทำ เคยนั่ง เคยปฏิบัติ เคยคิด ทั้งหมดถูกครอบคลุมด้วยอวิชชา หุ้มห่อด้วยอวิชชา ตัณหาฉาบทา ไม่กล้าที่จะออกไปเผชิญกับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง ก็คิดว่า จะต้องอยู่ในบางสถานที่ หรือว่าบางอารมณ์เท่านั้น แต่ขณะนี้เป็นธรรม ถ้าไม่อาจหาญร่าเริง อย่างข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่าความเป็นตัวตนเหนียวแน่น จนให้อยู่ตรงที่อารมณ์ที่เลือกแล้ว หรือว่าที่สถานที่ที่คิดว่า เมื่ออยู่แล้วก็เป็นการปฏิบัติ แล้วจะได้ผลมาก แต่ทั้งหมดลองคิดดู ได้ ไม่ใช่ละ เพราะฉะนั้น กว่าจะออกจากตัณหาได้ แม้ในขั้นต้น จากข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่ตรง มาสู่ความตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ แล้วก็จะรู้เอง ไม่ต้องกังวลเลย กี่เดือน กี่ปี ที่ไม่มีสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจถูกต้องเป็นสัจจญาณ วันหนึ่งต้องถูก และตรง ไม่ใช่ว่าต้องไปทำอะไรมาแล้วก็มาทิ้ง แล้วก็เหนื่อยไปตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เพราะไม่ใช่หนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริงตามปกติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จากสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อย ถึงความสมบูรณ์พร้อมจึงจะถึงความรู้ทั่ว เป็นขั้นๆ ไป

    ท่านอาจารย์ จึงจะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ จะทั่วอะไรอีก ในเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณ รู้เท่าไร ก็ยังมีสิ่งที่จะต้องรู้ต่อไปอีกจนกว่าจะคลาย ไม่ใช่ไปรู้ทั้งหมดในนามรูปปริจเฉทญาณ แต่เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ที่จะประจักษ์ว่า ลักษณะของนามคืออย่างนี้ ลักษณะของรูปคืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น เป็นปัญญาระดับที่จะทำให้น้อมไปสู่ลักษณะที่ได้ประจักษ์ แม้ว่าเป็นปกติอย่างนี้

    ผู้ฟัง แล้วจากความเป็นจินตาญาณ คือ ตรุณวิปัสสนาไปสู่พลวะ ก็เป็นการรู้ในลักษณะของความคิดนึกที่เกิดแทรกปัญญา

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง จะต้องคลาย

    ผู้ฟัง ปัญญาที่ท่านอาจารย์บอกว่า คมกล้าขึ้นถึงมีความไวถึงขนาดที่จะรู้ว่า ขณะที่คิดนึกว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาขั้นนี้เป็นปัญญาขั้นที่ประจักษ์แจ้ง ถ้าผู้ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งหมายความว่า สภาพธรรมยัง ปะปนกันอยู่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะที่สติปัฏฐานระลึก จะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็ยังสงสัยในลักษณะของวิปัสสนาญาณ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนความเข้าใจของเขาก็เพิ่มขึ้น แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นตัวตนที่รอหรือเปล่า ที่หวังหรือเปล่า ที่สงสัยหรือเปล่า ต่อเมื่อใดวิปัสสนาญาณเกิด เมื่อนั้นจึงจะไม่สงสัยในลักษณะของวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น จะไม่มีความต่างของสติปัฏฐานกับวิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง ในขั้นสติปัฏฐาน ที่มีความคิดนึกแทรกมากมาย กับในขั้น ตรุณวิปัสสนา ซึ่งเป็นจินตาญาณ ซึ่งมีความคิดนึกแทรกเหมือนกัน ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมหรือยัง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ย่อเรื่องราวที่ใหญ่ๆ มาเป็นชั่วขณะจิต อย่างนี้น่าเป็นคนที่ต้องประจักษ์แล้ว

    ท่านอาจารย์ ขั้นฟังให้เข้าใจ แต่ขั้นปฏิบัติ คือรู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง เพื่อสติระลึก เวลาที่สติปัฏฐานระลึก จะมีการศึกษาที่ใช้คำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ในขณะนั้นเริ่มมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก จนกระทั่งผู้นั้นสามารถที่จะรู้ได้ เมื่อผ่านตรุณวิปัสสนา ไม่ว่าสติปัฏฐานจะระลึกอะไรก็รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะว่าต้องอบรมต่อไปอีก ต้องระลึกต่อไปอีก แค่ ๓ ญาณ จะไปดับกิเลสอะไรได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็รู้ว่า สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียว ซึ่งการคลายก็ยาก และก็ละเอียดต่อไปอีกด้วย ไม่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ต้องไม่มีเยื่อใยของความเป็นเราที่อยากให้เกิด หรือว่าที่เพียรให้เกิด โลภะ จะตามมาตลอด สมุทัยจะกั้นตลอด จนกว่าปัญญาสามารถที่จะอบรม และรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเครื่องกั้น เพราะฉะนั้น จะต้องไม่มีความหวั่นไหว และก็ต้องมีความมั่นคงว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่เกิดก็คือไม่เกิด เครื่องล่อ เครื่องกั้นของโลภะมีมาก เพราะว่าสามารถที่จะทำให้แต่ละบุคคล อยู่ในสังสารวัฏมาได้จนถึงขณะนี้ แสนโกฏิกัปป์ แล้วก็จะให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะว่า พาไปทางไหน ไม่ได้เลย

    เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เมื่อได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่สติระลึกบ่อยๆ ความรู้จะค่อยๆ เพิ่ม แต่ตามขณะที่สติปัฏฐานเกิด โดยไม่หวั่นไหวด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องละอย่างะเอียด ถ้าสติปัฏฐานเกิดขณะนี้ก็คือเกิด แล้วก็รู้ ถ้าไม่เกิดก็คือไม่เกิด แต่ถ้าพยามไปให้เกิด มาแล้ว

    ผู้ฟัง ตัณหาฉาบทาไว้ทำให้โลกไม่ปรากฏ แล้วก็เยื่อใยที่อยากให้สติปัฏฐานเกิดอีก เยื่อใยพอจะสังเกตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตัวโตๆ เลย ตอนแรก แล้วค่อยๆ เล็กขึ้น ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ว่าเล็กขึ้นละเอียดขึ้น เป็นเยื่อใยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมขณะนี้ แข็งปรากฏหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นธาตุไฟ ไม่มีอะไรเลย นอกจากนามธรรมที่กำลังรู้ธาตุไฟ แต่เป็นเรา นั่นเยื่อใยไหม ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่เหลือเลย ก็ยังเป็นเรา แค่นั้นนิดเดียว เป็นเรา ทุกอย่างที่ปรากฏ เยื่อใยก็คือยังเป็นเรา ยังไม่หมดความเป็นเรา

    ผู้ฟัง เยื่อใยของความเป็นเราในขณะที่เป็นจินตาญาณ กับ ขณะที่เริ่มเป็น พลววิปัสสนา คือ อุทยัพพยญาณ เยื่อใย ลักษณะทั้ง ๒ ระดับจะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องจากหยาบไปหาละเอียดขึ้น ไม่อย่างนั้นจะดับได้อย่างไร ยังหยาบๆ อยู่เลย ยังเป็นเราเต็มที่ ทำโน่น ทำนี้ หวังโน่น หวังนี่ กับการที่แม้ว่าจะคลายแล้ว รู้ว่าถึงจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็คือไม่ใช่เรา สติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิด ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ถึงระดับนั้นแล้วก็ยังมีเยื่อใยอีก จนกว่าจะถึงภังคญาณ เป็นปหานปริญญา และวิปัสสนาญาณอื่นๆ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567