ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๙๑

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ผู้ฟัง ถ้าเป็นตรงกันข้ามนามธรรม จิตเฉยๆ ก็ทำไม่ได้ ต้องอาศัยรูปธรรม คือตัวของเรา ก็ทำงาน ก็อาศัยซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่จะฟังตอนต้นๆ แต่ตอนปลายๆ จะต้องค่อยๆ ขยายความแล้วเข้าใจให้ละเอียดกว่านี้อีก เช่น จิต บางคนจะใช้คำว่าจิตสั่ง แต่จริงๆ แล้วจิตเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นรู้ เป็นนามธาตุซึ่งรู้ ธาตุรู้ รู้ไม่ใช่รู้อย่างปัญญา ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แต่รู้นี้ เพียงแต่ว่ามีอะไรปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง อย่างพอเสียงปรากฏ จิตเป็นสภาพที่กำลังได้ยินเสียง เป็นธาตุรู้ในเสียงที่ปรากฏ แล้วยังสามารถที่จะรู้ว่า เป็นเสียงอะไร เพราะสัญญาเจตสิกที่จำเสียงได้ คนในโลกนี้นับไม่ถ้วน แต่พอพูดเรารู้เลยว่า เสียงใคร นั่นไม่ใช่จิต สัญญาเจตสิก เป็นสภาพจำซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ต่อไปเราจะทราบว่า มีเจตสิกกี่ชนิดซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่าเนื่องจากจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน คนก็ไม่พูดถึงเจตสิก แต่ว่าจะพูดถึงจิตทั้งหมดเลย

    ถ้าเป็นวิชาศาสตร์อื่น ปรัชญา จิตวิทยา พวกนี้ เขาจะไม่มีเจตสิกเลย แต่จะมีจิตระดับต่างๆ แต่ตามความจริงแล้วใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า นามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เฉพาะจิต ยังมีธาตุรู้อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดด้วยกันเป็นเจตสิก ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ว่าจิตใดเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกสภาพของนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วย เช่น ความจำ หรือความอยากจะรับประทานอาหาร จิตเห็นเท่านั้น จิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง จิตกับเจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ แยกกันไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แยกกันไม่ได้ ที่อยากทานอาหารเพราะอาหารอร่อย เพราะเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิก อยาก

    ผู้ฟัง รับทราบว่าอยากทาน เพราะอร่อย

    ท่านอาจารย์ เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้เลย ต้องเกิดกับจิต อาศัยจิตเกิด แต่ว่าถ้าในการรู้อารมณ์แล้วจิตเป็นใหญ่ แต่ว่าเจตสิกอื่นๆ ในจิตขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด แต่ว่า ๗ ชนิด เขาทำหน้าที่ของเขาแต่ละอย่างๆ โดยที่จิตไม่ต้องทำหน้าที่ ๗ อย่างนั้น จิตทำหน้าที่เพียงรู้แจ้งในลักษณะที่วิจิตรต่างๆ กันของสิ่งที่ปรากฏ อย่างน้ำกับฟ้าที่มหาสมุทร เกือบจะเป็นสีเดียวกัน แต่จิตเป็นสภาพที่เห็น แจ้งในอารมณ์ที่ต่าง แม้แต่จะเล็กน้อยสักเท่าไร ก็เป็นลักษณะของจิตที่เห็นแล้ว สัญญาจึงจำ สัญญาที่เกิดกับจิตนี้จำ จิตไม่ต้องจำ ไม่มีหน้าที่อะไรเลย เป็นใหญ่อย่างเดียวในการที่เกิดแล้วต้องเป็นธาตุรู้ รู้อะไรก็ได้แต่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ส่วนจะดีจะชั่วอย่างไร เจตสิกทั้งหมด

    ผู้ฟัง จิต ต้องมีหน้าที่เห็นกับมีหน้าที่ฟังเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเขาจะมี ๑๔ กิจ หน้าที่ของจิตมี ๑๔ อย่าง แต่ว่าลักษณะของเขาจะเป็นธาตุรู้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น เขาสั่งไม่ได้ เขาเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับ แล้วเจตสิกก็เกิดร่วมกันแล้วก็ดับ แต่ที่เราเอื้อมมือไป เราไม่รู้ว่าเพราะจิตที่มีโลภะ ความต้องการเกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของเรา พอตื่นขึ้นใครจะทำอะไร ไม่ได้มีแต่จิตที่เป็นธาตุรู้ เจตสิกที่เกิดร่วมกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นเจตสิกชนิดไหน บางคนโกรธ โกรธมากเลยทั้งคืน หลับไปหน่อย ตื่นขึ้นมาโกรธต่อ เร็วมากแค่นั้นเลย เพราะจิตเป็นสภาพที่ตื่นขึ้นแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่โกรธ จิตไม่โกรธ เจตสิกโกรธ

    เพราะฉะนั้น มีเจตสิกที่เป็นกุศลเจตสิก อกุศลเจตสิก และอีกประเภทหนึ่ง เกิดได้ทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก หมายความว่าเสมอกับเจตสิก และจิตที่เกิดร่วมด้วย ถ้าจิตเป็นกุศล เขาเป็นกุศลด้วย ถ้าจิตเป็นอกุศล เจตสิกประเภทนั้นเป็นอกุศลด้วย เขาไม่เป็นอกุศลโดยเฉพาะ หรือว่าไม่ใช่เป็นโสภณโดยเฉพาะ แต่จะมีเจตสิกที่เป็นโสภณโดยเฉพาะ เป็นอกุศลไม่ได้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากโสภณอย่างเดียว แล้วก็เจตสิกที่เป็นอกุศล เขาก็จะเป็นฝ่ายโสภณไม่ได้เลย อย่างโลภะ โทสะ โมหะ เป็นฝ่ายอกุศลเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เราก็มีการอบรมเจตสิกได้ ให้เป็นกุศล.

    ท่านอาจารย์ อบรมด้วยการฟังให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง จิตที่มีอารมณ์ เรียกว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าจิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นธาตุรู้เลย รู้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด เมื่อมีธาตุรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ แต่คนไทยเราชอบตัดสั้นเราก็เรียกว่า อารมณ์ แต่เราก็ใช้ผิดอีก เราบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี หมายความว่าใจสบาย แต่ความจริงอารมณ์ดี เพราะเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดนึกเรื่องที่ดี อารมณ์เป็นจิตก็ได้ เป็นเจตสิกก็ได้ เป็นนิพพานก็ได้ เป็นเรื่องราวก็ได้

    อารมณ์ หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตรู้ อะไรก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เสียงในป่าเป็นอารมณ์ของจิตขณะนี้หรือเปล่า เสียงในป่า เสียงเป็นเสียง แต่ไม่ใช่อารมณ์ ตราบใดที่จิตไม่ได้ยิน

    ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลี เสียงภาษาบาลีใช้คำว่า สัททะ แต่เสียงที่กำลังปรากฏเป็น “สัททารมณ์” เอาสัทท รวมกับคำว่า อารมณ์ ต้องหมายความถึงเสียงที่จิตได้ยินด้วย เสียงจะเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ เสียงจะอยู่ในป่า เสียงจะอยู่ในทะเล เสียงจะอยู่นอกโลก เสียงก็ยังคงเป็นเสียง แต่ตราบใดที่ไม่มีการได้ยินเสียง เสียงนั้นเกิดแล้วดับก็เป็นเพียงเสียง แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นที่เราใช้คำว่า สัททารมณ์ เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ของจิต ต้องหมายความว่า มีจิตที่กำลังได้ยินเสียง จึงใช้คำว่าสัททารมณ์

    อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม กำลังคิดนึก เรื่องที่คิดนึก ภาษาอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ คำหรือเรื่องก็เป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตกำลังรู้คำนั้น

    ผู้ฟัง อย่างสัททารมณ์ สัททา ไม่เกี่ยวกับ

    ท่านอาจารย์ สัทท ส.เสือ ไม้หันอากาศ ท.ทหาร ๒ ตัว แปลว่าเสียงในภาษาบาลี สัททารมณ์ เสียงที่ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยิน แล้วเสียงก็ดับ

    วันนี้เราก็ได้ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ให้เราฟัง ๔๕ พรรษาเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วเราก็ยังมีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เราก็จะศึกษาได้อีกต่อไป ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไปด้วย ถ้าชาตินี้เราไม่ทิ้ง แต่ว่าถ้าชาตินี้เราได้ยินนิดหนึ่ง แล้วเราก็เบื่อ แล้วเราก็ไปสนใจอย่างอื่น ชาติหน้าไม่ทราบว่าจะได้ต่ออีกหรือเปล่าเพราะว่า ไม่มีใครรู้ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ชาติหน้าจริงๆ จะเป็นเมื่อไร เดี๋ยวนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ เมื่อไรก็ได้

    เพราะฉะนั้น โอกาสทองในชีวิต ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่า แม้ว่าแก้วแหวนเงินทองก็ไม่ได้ให้ความสุขกับเราได้ตลอดกาล ชั่วขณะที่เราพอใจ แต่เวลาเรามีความทุกข์ แหวนเพชรนิลจินดาทำให้เราหายทุกข์หรือเปล่า หรือความทุกข์ก็ยังคงเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราได้ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจ ไม่ว่าชาติไหน แล้วมีสติคือระลึกได้ถึงพระธรรม และเห็นความจริงของธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เพราะว่าทุกคนปรารถนาสุขอย่างเดียว ไม่มีใครปรารถนาทุกข์เลย แต่ทุกชีวิตต้องมีทั้งสุข และทุกข์ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครทำให้ นอกจากจิตไม่ดีเกิดขึ้นเป็นเหตุ แม้ว่าจะดับไปแล้ว จิตต่อไปเกิดขึ้นสะสมสืบต่อไปทุกๆ ขณะ ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น ที่เราใช้คำว่าวิบาก คือ ผลของกรรม ขณะแรกที่สุดคือขณะเกิด นี่เป็นผลของกรรม เพราะว่าขณะนั้นเราไม่ได้ทำกรรมอะไรเลย แต่ว่ากรรมที่ทำแล้วทำให้จิตที่เกิดมีสภาพต่างกัน จิตที่ทำหน้าที่นี้มี ๑๙ ชนิด ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เป็นผลของอกุศลก็มี เป็นผลของกุศลระดับต่างๆ ก็มี

    เราเหมือนกับอยู่ในโลกส่วนตัวของแต่ละคน คือ จิตแต่ละจิตจะไม่ก้าวก่ายกันเลย จิตของคนนี้เกิดแล้วก็ดับไป เห็นแล้วก็ดับ แล้วก็คิดเรื่องอะไรก็ตามแต่ ก็ของคนนี้อยู่ตรงนี้ ไปแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ แต่จิตนี้สามารถจะคิดเรื่องคนอื่นได้ เรื่องความเป็นตัวตน เรื่องประเทศ เรื่องชาติ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น เราต้องสามารถแยกสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีคำมากมาย ก็ขอไว้โอกาสต่อไป

    ผู้ฟัง ทำไมคนหนึ่งคนจะต้องเรียนพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ ประการที่หนึ่ง ชื่ออะไร ชื่อชาวพุทธ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องชื่อนี้ ชื่ออื่นไปเลย แต่ถ้าชื่อนี้เป็นชาวพุทธแล้วจะให้เรียนอะไร จะให้ฟังอะไร ถ้าไม่ฟังคำสอน เพราะฉะนั้น เราเคยเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้ฟังคำสอนมานาน ต่อไปนี้เราก็จะได้รู้ว่าถ้าเราชื่อว่าชาวพุทธ เราก็ต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจในคำสอนจริงๆ

    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้จำได้ว่า คุณหมอถามว่านิพพานเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรมได้ไหม หรือไม่ใช่ทั้งคู่ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย คือ ต้องเข้าใจสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ กำลังมี กำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่างใหญ่ๆ คืออย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น อย่างกลิ่น รส แข็ง ร้อน เย็นพวกนี้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างที่เราเรียกว่าเสื่อ ความจริงก็แข็ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะว่ากระทบสัมผัสปรากฏลักษณะได้ แม้ว่าเราจะไม่เรียกว่าแข็ง แต่สิ่งนี้มีเรียกภาษาอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสภาพธรรม ที่มีจริงๆ เป็นธรรมเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรม หรือภาษาไทยเราใช้คำว่า บรม เพราะภาษาไทยเราใช้ บ ปรมัตถธรรมก็หมายความถึงธรรมซึ่งมีลักษณะหรืออรรถที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

    พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งการที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ และมีความคิดที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคน อย่างเราเกิดมาเราก็เห็น เห็นก็เห็น แต่คนที่มีปัญญาที่ใคร่จะรู้ความจริงว่า สุดยอดของความจริงคืออะไร เพราะว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะตามไปรู้ความจริงได้ เพราะหมดไปแล้ว หมดแล้วหมดเลย อย่างเมื่อวานนี้ เราจะเอาเหตุการณ์เมื่อวานนี้กลับมาวิเคราะห์กลับมาพิจารณาอีกเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้เพียงแค่คิดหรือนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่มาประสบเฉพาะหน้าขณะนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

    ถ้าเป็นปัญญา คือการที่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ถูกต้อง เพราะว่าโดยมากเวลาที่เราคิดถึงชีวิตของเราทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเหตุการณ์ที่ยาว เกิดมาก็วันหนึ่งมีอะไรบ้าง ไปที่ไหนบ้าง ทำอะไรบ้าง แต่ถ้าเราย่อยทั้งหมดออกมา ให้เหลือขณะที่สั้นที่สุดยิ่งกว่าเสี้ยววินาที ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นชีวิตโดยปรากฏแต่ละขณะ มิฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรปรากฏเลย ก็คงจะไม่บอกไม่ได้ว่า มีเหตุการณ์อะไรในชีวิต เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะพูดถึงเรื่องราว พูดถึงชีวิตยาวๆ เราก็ย่อยลงมาเป็นเหลือ หนึ่งขณะจิต ซึ่งเป็นความจริง สามารถที่จะสั้นลงไปอย่างนั้นได้ แล้วเราก็จะรู้ได้ ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่มีจริง และความจริงของสภาพธรรม คือขณะนี้แต่ละขณะซึ่งมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน คือสภาพหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ภาษาบาลีใช้คำว่ารูปธรรม สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็มีนามธรรมกับรูปธรรมเกิด ซึ่งเราไม่เคยรู้ ไม่เคยทราบว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นนามธรรม นามธรรมก็ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นรูปธรรม รูปธรรมก็ต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แต่เพราะไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็เลยเอานามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรา และเอารูปธรรมที่เกิดขึ้นที่ตัว เป็นตัวของเรา หรือว่าร่างกายของเรา โดยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด เกิดแล้วดับทันที อันนี้ยากที่จะรู้ได้ แต่ก็เป็นความจริง

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบก่อนว่าธรรมไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ขณะนี้นอกโลกไกลแสนไกล กี่ชาติ กี่ภพ มีแค่นามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้เราจะบอกไม่ได้ว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราจะเริ่มเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมว่า เมื่อรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ต่อไปนี้เวลาที่เราจะนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏเราก็สามารถจะบอกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม และสิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมทั้งหมดเป็นนามธรรม สิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม เมื่อนิพพานไม่ใช่รูปธรรม นิพพานก็เป็นนามธรรม แต่นามธรรมมี ๒ อย่างอีกนั่นแหละ คือ นามธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ได้แก่ จิตกับเจตสิก ส่วนนามธรรมอีกอย่างไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมนั้นเมื่อไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และไม่มีการเกิดขึ้น ไม่เป็นที่ตั้งของโลภะหรือความติดข้อง เพราะฉะนั้น เป็นธรรมที่ดับความติดข้องหรือความต้องการซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา

    คนที่มีกิเลสจะทราบได้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีใครที่มีอำนาจจะไปดับกิเลสได้เลย เพราะว่าเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของอวิชชา อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ปัญญาหรือวิชชาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ จนประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมแรก คือ การเกิดขึ้น และดับไปซึ่งเป็นทุกข อริยสัจจะ แล้วก็ยังรู้ด้วยว่าขณะใดเป็นความติดข้อง เพราะมีความไม่รู้จึงติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าใครที่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้น จะติดข้องอะไรในสิ่งที่เพียงเกิดแล้วดับ เกิดขึ้นมานิดเดียวแล้วก็ดับทันที แล้วก็เกิดขึ้นมานิดเดียวแล้วก็ดับทันที แต่เมื่อปัญญาไม่ถึงระดับนั้น ก็ยังไม่ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ ๓ คือนิพพาน ซึ่งเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่สภาพของจิตเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม แตกต่างกับนิพพาน คือ จิต เจตสิกเกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้

    ผู้ฟัง มีคำถามว่าอะไรประจักษ์แจ้งนิพพาน มีคำตอบว่าจิต

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิต

    ผู้ฟัง ปัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิต ไม่ใช่จิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิต ปัญญาระดับโลกุตตระ เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาขั้นรู้การเกิดดับ รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เป็นปัญญาขั้นโลกียปัญญา แต่ปัญญาที่รู้แจ้งลักษณะของนิพพานเป็นโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น ทั้งจิต และเจตสิกทั้งหมดเป็นโลกุตตระ ไม่ใช่เฉพาะจิต หรือไม่ใช่เฉพาะเจตสิก แต่จิต และเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกันเป็นโลกุตตระ เพราะว่าแม้แต่ผัสสะก็กระทบนิพพาน แม้แต่สัญญาเจตสิกก็จำลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งจิต และเจตสิกจึงเป็นโลกุตตระ

    ผู้ฟัง การประจักษ์แจ้งนิพพานจัดเป็นทั้งหมด ...

    ท่านอาจารย์ ความเป็นพระอรหันต์ ครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน ดับเพียงแค่ความเห็นผิด ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่ากิเลสอื่นยังมี ยังเหลืออยู่ ที่จะต้องดับด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น เพราะกิเลสนี้ก็มากมาย อวิชชาก็หนาแน่น ก็ต้องค่อยๆ เบาบางไปเป็นขั้นๆ เป็นลำดับ อย่างปัญญาของพระโสดาบันก็ไม่ใช่ปัญญาของพระสกทาคามี ซึ่งเป็นระดับสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง พระสกทาคามี มีความเบาบางในความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เบาบาง พอถึงพระอนาคามีก็ดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความยินดีในความเป็นในชีวิต ต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะหมด

    ผู้ฟัง ผมอยากถามว่า พระอนาคามีทุกพระองค์ที่ไปอยู่สุทธาวาสนั้น ในสุทธาวาส ๖ ชั้น

    ท่านอาจารย์ สุทธาวาส ๕

    ผู้ฟัง สุทธาวาส ๕ ชั้น พวกถึงอนาคามี จะมีวันเกิดใหม่ ไหม

    ท่านอาจารย์ อาจจะเกิดในสุทธาวาสภูมิไม่ได้ เกิดในภูมิอื่น

    ผู้ฟัง เฉพาะอนาคามี

    ท่านอาจารย์ ที่ได้ปัญจมฌานด้วย รูปปัญจมฌาน

    ผู้ฟัง พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌาน

    ท่านอาจารย์ เราต้องทราบเรื่องของฌาน คือ การอบรมความสงบของจิตจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จนบรรลุถึงความสงบที่มั่นคงเป็นอัปนาสมาธิขั้นต่างๆ แต่ว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะละความยินดี ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสมุจเฉท หมายความว่าโดยเด็ดขาด แต่ว่าผู้ที่เป็นพระอนาคามี ไม่ใช่ระงับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชั่วคราวอย่างพวกที่ได้ฌาน เพราะฉะนั้น ความมั่นคงของความสงบ ต้องมีมาก ไม่ใช่ชั่วคราวอย่างผู้ที่เป็นคนที่ได้ฌาน เวลาที่พระอนาคามีจุติ จากโลกนี้ จะไม่เกิดในกามภูมิ เพราะไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะไม่ได้ฌาน

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าปกติจะไม่ได้ฌาน แต่ว่าเวลาที่โลกุตตรจิตเกิด ความแนบแน่นในอารมณ์ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เท่ากับอัปนาสมาธิของฌานจิต เพราะฉะนั้น เป็นเหตุที่ทำให้พระอนาคามีเกิดในรูปพรหมภูมิ

    ผู้ฟัง พูดได้ว่า พระอนาคามีทุกพระองค์ต้องเกิดสุทธาวาส

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สุทธาวาส่ สุทธาวาสเป็นภูมิพิเศษ สำหรับพระอนาคามีที่ ถึงปัญจมฌาน ยังมีภูมิของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เฉพาะปัญจมฌานจึงจะเกิดในสุทธาวาส แล้วต้องเป็นพระอนาคามีด้วย จึงมีความบริสุทธิ์ถึง ๒ ขั้น

    ผู้ฟัง ผมอยากรู้จักว่าชาติภพ หมายความว่า การเกิดการตายของชาติ ใช่ไหม แล้วชาติสมมติว่า มันมีรูปนาม มันต่อเนื่องกันกับชาติได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ต้องทราบว่า เรามีหรือเปล่า มีเราไหม มีหรือ อยู่ตรงไหน เป็นอะไร ถ้ามีก็ต้องหาได้ ใช่ไหม ว่าเราอยู่ที่ไหน ที่ว่าเป็นเรา คือเมื่อไร ขณะไหน

    ผู้ฟัง ถ้าพูดว่าไม่มีก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง เด็ดขาดแน่นอนไม่เป็น ๒ เพราะเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะกล่าวว่าอนัตตา เราเพียงพูดตาม ไม่ยากเลย ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ใครจะบังคับได้ แม้แต่ใจเรา ใครจะบังคับไม่ให้โกรธ บังคับไม่ให้โลภ บังคับไม่ให้เสียใจ บังคับไม่ให้ดีใจ บังคับอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น นี่ก็เป็นความหมายหนึ่ง ของอนัตตา คือไม่มีเจ้าของไม่ใช่ของใคร ความจริงแล้ว ถ้าเราศึกษาเรื่องธาตุ ธา-ตุ เราจะเห็นความจริงว่า ทุกอย่างที่มีจริงที่เกิดขึ้น ที่ใช้คำว่าธาตุ หรือธา-ตุ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน เหมือนธาตุแต่ละชนิด เป็นลักษณะเฉพาะของธาตุนั้นๆ เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงรูปธรรม หมายความถึง รูปธาตุ ใช้คำเดียวกันได้ คือเป็นสิ่งที่มีแต่สิ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เรากระทบสัมผัสอะไรปรากฏ กระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า อะไรปรากฏ ลองจับดู

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567