ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๐๕

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วไม่มีขณะใดเลยใช่ไหม ที่จิตจะไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ นิโรธสมาบัติ เป็นขณะที่จิต เจตสิกไม่เกิด สำหรับพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ที่ได้ปัญจมฌาน ต้องประกอบทั้ง ๒ อย่าง ขณะนั้นจิตตชรูปไม่มี แต่กัมมชรูปมี เพราะกัมมชรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ทีนี้เหตุผลที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อปัญญาเราจะได้เจริญขึ้น เวลาที่ลักษณะของโลภเจตสิกเกิด สติระลึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ เพราะว่าปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน โลภเจตสิกเป็น ๑ ในปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เราสามารถจะรู้ได้ ถ้าสติปัฏฐาน เกิด

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องค่อยๆ พิจารณาในเหตุผล ไม่อย่างนั้นพอเราดูอย่างนี้แล้วเรากลัว นี่บอกให้เว้น ไม่ใช่ทุกขสัจ ไม่รวมอยู่ในทุกขสัจ เพราะฉะนั้น ไม่มีการพิจารณา เป็นเครื่องกั้นปัญญาไม่ให้เจริญ เพราะว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ต้องเข้าใจด้วยที่ทรงแสดงอริยสัจ โดยเหตุ และโดยผล โดยกิจ โลภมูลจิตเกิดหรือโลภเจตสิกเกิด อย่ากลัว หรือไม่กล้าที่จะระลึก แต่ต้องรู้ความจริงว่า อะไรเป็นสมุทัย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะรู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุ ความติดข้องที่เราอยู่ในสังสารวัฏนานแสนนาน ก็เพราะตัวนี้ ความติดข้องในทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    โลภะก็เป็นสิ่งที่ควรละ ควรจะต้องรู้ว่าเป็นสมุทัย เพราะว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ แน่นอนที่สุด คือ เป็นเรา ละไม่ได้เลย ทันทีทันใดไม่ได้ สักกายทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นธาตุไฟที่กำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายนี้ ก็เป็นเรา แม้แต่เพียงสภาพร้อน ก็เหมือนธรรมดาปกติ เวลาร้อนที่ตัวเราก็ว่าเราแล้ว ฉันใด แต่สภาพหรือธาตุไม่ได้ปรากฏกับปัญญาที่ถึงระดับขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณว่า เป็นเพียงธาตุ สภาพนั้นเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะนั้นเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถึงแม้จะรู้อย่างนี้ปรากฏอย่างนี้ ด้วยเหตุใดวิปัสสนาญาณจึงมีหลายขั้นตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในขันธ์ ทั้งนามขันธ์ ทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนา สัญญา สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดเป็นเรา เหนียวแน่นมาก

    ปัญญาต้องอบรมจริงๆ อย่างละเอียดที่จะรู้ทั่ว จนกระทั่งรู้ว่า ขณะนั้นมีเยื่อใย ความต้องการ ความติดข้อง ความเป็นเราอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ ก็ไม่ถึงนิพพาน เพราะว่ายังมีความติดข้องในสังขารทั้งหลาย ในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้จริงๆ ว่า ต่อเมื่อใดรู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เคยเป็นเรา มีความต้องการเกิดขึ้นด้วยความเป็นตัวตน สำหรับพระโสดาบันท่านไม่ได้ละโลภะอื่นเลย นอกจากโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่ยึดถึงสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน ขณะนั้น คนนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่กิจอื่น ทำอย่างอื่น นอกจากเมื่อไรจะค่อยๆ รู้ที่จะคลายความติดข้องที่มีความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิในสิ่งนั้นจนกว่าจะหมด จึงเป็นสิ่งที่ควรละโลภะ จนกว่าจะละได้ ละที่นี่หมายความถึงขั้นต้น โลภะ ที่เกิดร่วมดับความเห็นผิด

    ถ . ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายเรื่องรูปธรรมกับนามธรรมอีกสักนิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบต้องตั้งต้นที่คำว่าธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สงสัยต้อง

    ท่านอาจารย์ ต้องก็ดี เริ่มใหม่เลย

    ธรรมมีหลายความหมาย แต่ความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนของพระไตรปิฎกส่วนที่ ๓ เพราะว่าพระไตรปิฎกมี ๓ พระวินัยปิฎก๑ พระสุตตันปิฎก๑ พระอภิธรรมปิฎก๑

    ธรรมที่เราจะกล่าวถึง เราหมายความถึงธรรมในความหมายของอภิธรรม อภิ แปลว่ายิ่งใหญ่ ธรรมส่วนที่ยิ่งใหญ่ ทำไมไม่อยู่ในส่วนอื่น คือพระวินัยไม่เรียกว่าอภิธรรม พระสูตรก็ไม่เรียกว่าอภิธรรม แต่ธรรมส่วนนี้เรียกว่าอภิธรรม เพราะเหตุว่าธรรมส่วนนี้พูดถึงสภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าเราจะไม่เรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น แต่สภาพนั้นก็มี เช่นในขณะนี้ ดิฉันก็ไม่รู้จักชื่อทุกคน แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าไม่เรียกชื่อก็มี สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เราจะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อ หรือว่าจะใช้ภาษาอะไรก็ตามแต่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เช่น ลักษณะที่ร้อน ใครกระทบสัมผัส คนนั้นรู้สึกเย็นได้ไหม ไม่ได้ คนหนึ่งจะไปรู้สึกแข็งไหม ถ้าขณะที่กระทบร้อน ต้องเหมือนกันหมด คือลักษณะที่ร้อนปรากฏ ไม่เรียกชื่อได้ไหม ก็ได้ สภาพร้อนนั้นมีจริงๆ นี่คือธรรม

    เรากำลังเรียนธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม มาจากคำ ๓ คำ ปรม ซึ่งภาษาไทยไม่ใช้ตัว ปอ ปลา แต่ใช้ บอ ใบไม้ ของเราก็เป็น บรม แปลว่า ใหญ่ อรรถ ทั่วไปหมายความถึง ความหมาย แล้วก็ธรรม เมื่อเป็นธรรมที่มีจริง ก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ไม่ปะปนกัน เมื่อมีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ เราก็สามารถอธิบาย เอ่ยถึง แสดงลักษณะของธรรมนั้นให้เข้าใจได้ ซึ่งลักษณะของธรรมนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น ธรรมส่วนนี้ที่เรากล่าวถึง เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างของธรรมนั้น เป็นปรมัตถธรรม หรืออีกคำจะใช้คำว่า อภิธรรม ก็ได้ เราไม่ได้เรียนสิ่งที่นอกโลก ไม่ได้อยู่ที่นี่ เหลือวิสัยที่จะเข้าใจ แต่เรากำลังเรียนเรื่องสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม บางคนไปแสวงหาธรรม เหนือจรดใต้ พอรู้จักธรรม เพียงลืมตาก็เป็นธรรมหมด

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเมื่อมีธรรมเกิดขึ้น จึงมีความหลงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    นี่คือธรรมที่เกิด เป็นสภาพธรรมที่ต้องดับ เมื่อเกิดแล้วคงทนอยู่ไม่ได้ ถ้าเรารู้จริงๆ จะทราบว่า เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ไฟดับเร็วไหม เราจุดเทียนไข เราเห็นแสงไฟ ดับเร็วไหม แสงไฟ แต่ถ้าไม่รู้ อยู่ทั้งคืนจนกว่าเทียนไขนั้นจะหมด แต่ถ้ารู้ทุกอณูที่ทำให้เกิดแสงไฟ เป็นปัจจัยให้แสงไฟนั้นเกิดแล้วก็ดับ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไม่มีการดับของเทียนไขเลย ชีวิตก็เหมือนกัน เราคิดว่า เกิดมาแล้วก็เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ตอนตาย แต่ความจริงไม่ใช่เลย เกิดดับทุกขณะ เพราะฉะนั้น ความตายมี ๓ อย่าง ขณิกมรณะ ตายทุกขณะจิต กับสมมติมรณะ ตายเวลาที่คนหนึ่งเกิดแล้วสมมติเรียกกันว่าตาย แล้วก็ต้องไปวัด ไปเผา ส่วนสมุจเฉทมรณะ หมายความถึง ดับสนิทจริงๆ ไม่เกิดอีกเลย เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์ ไม่ใช่เพียงสมมติมรณะซึ่งเพียงตายจากชาติหนึ่ง แล้วก็เกิดใหม่อีกชาติหนึ่ง

    การศึกษาธรรมให้ทราบว่า ศึกษาเรื่องทุกสิ่งที่มีจริงในโลก แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกนี้ โลกไหนๆ ก็เหมือนกัน จะไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง ลักษณะของธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เช่น เสียงเกิดขึ้น เสียงไม่เห็น เสียงไม่ได้ยิน เสียงไม่คิดนึก เสียงเกิดเป็นเสียง แล้วก็ดับ ไม่รู้ด้วยว่าเสียงเป็นเสียง แต่ว่ามีสิ่งที่ทำให้เสียงเกิดปรากฏ คือ ของแข็ง ๒ อย่างกระทบกัน เสียงก็เกิดไม่ว่าที่ไหน ในครัว ในป่า หรือขณะที่กำลังพูด ถ้าไม่มีลิ้น ไม่มีฟัน ไม่มีปาก หรือไม่มีอะไรที่จะกระทบกัน เสียงก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปธรรม

    รูปธรรมที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องมองเห็น อะไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่ว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม ถ้ามีแต่รูปธรรม เดือดร้อนไหม ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ ฝนจะตก น้ำจะท่วม ภูเขาไฟจะระเบิด ไม่เป็นไรเลย แต่โลกไม่ได้เป็นอย่างนี้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครไปบังคับ หรือไปสร้าง หรือว่าจะไปทำลายเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมได้ สภาพธรรมซึ่งเกิดก็ต้องเพราะมีปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นรูปธรรมก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม แต่มีจริงๆ ถ้าเราพูดถึงธรรม แล้วเรามองหรือเข้าใจในลักษณะที่ว่าเป็นธาตุ คือ ธา-ตุ ธาตุนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย หรือใครจะเป็นเจ้าของธาตุบ้าง โลกธาตุทั้งหมดมีใครเป็นเจ้าของโลกนี้บ้าง ไม่มีใครสามารถจะเป็นเจ้าของธาตุ ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเจ้าของธรรมได้เลย

    ถ้าเราเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุ ในลักษณะของธาตุ ทั้งรูปธาตุ และนามธาตุ เรารู้เลยว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเหตุว่าแม้แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูป ก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ธาตุชนิดนี้น่าอัศจรรย์มาก เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นามะ น้อมไปที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่ได้เลย เมื่อเป็นนามธาตุต้องเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม หรือรูปธาตุกับนามธาตุ ก็คือ รูปธรรม หรือรูปธาตุ ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมหรือนามธาตุ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้

    สำหรับนามธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ไม่มีใครไปรู้จักคำว่า เจตสิก เรารู้แต่ว่าเรามีจิต แต่ถามจริงๆ ว่า จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม จิตคืออะไร ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ตรัสรู้ความจริงของธรรม ได้แต่คาดคะเน หรือเขียนตำหรับตำราโดยความคิดนึก โดยการศึกษาภาวะของจิตที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ตัวจริงของจิต แต่ผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่า นามธรรม หรือ นามธาตุ มี ๒ อย่าง คือ ๑ จิต อีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก ทั้ง ๒ อย่าง เกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยกัน และกันเกิด ทุกอย่างในโลกจะเกิดตามลำพังอย่างเดียวไม่ได้เลย นอกจากเราไม่รู้เราก็คิดว่าเกิดเอง แต่ความจริงถ้ารู้ ต้องมีปัจจัย อาศัยกัน และกันเกิด อย่างจิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ เมื่อจะเกิดต้องอาศัยนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเรียกสภาพธรรมนั้นว่า เจตสิก ถ้าออกเสียงตามภาษาบาลีก็ต้องเป็น เจ-ตะ-สิ-กะ เพราะฉะนั้น เจ-ตะ-สิ-กะ ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิตด้วย ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย เจตสิกจะมาเกิดตามโต๊ะ ตามเก้าอี้ไม่ได้ ถึงจิตเองในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เราอาจจะชินหู เพราะเราเป็นคนไทยเคยไปวัด รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่เมื่อศึกษาแล้วต้องศึกษาตลอดตั้งแต่ต้น คือ ต้องรู้ว่าเป็นธรรม แล้วต้องรู้ว่าแต่คำ แต่ละชื่อ ชื่อไหนเป็นรูปธรรม ชื่อไหนเป็นนามธรรม

    สำหรับจิต เวลาจะเกิด ต้องเกิดโดยมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด ลองคิดดู โกรธมีจริงไหมเกิดกับจิตบางครั้ง ไม่ได้เกิดตลอดวัน เพราะฉะนั้น โกรธเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เสียใจ เคยเสียใจไหม ตลอดวันหรือเปล่า จิตเกิดดับตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าเจตสิกต่างๆ เกิดกับจิต เดี๋ยวเจตสิกชนิดนั้นเกิดกับจิต เดี๋ยวเจตสิกชนิดโน้นเกิดกับจิต ก็ทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท แต่สำหรับเจตสิกเองมี ๕๒ ชนิด อยู่ในหนังสือ อ่านได้ เมื่อไรก็เปิดขึ้นดู ค่อยๆ ศึกษาไปก็จำได้ แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานอย่างดี ไม่อย่างนั้นการศึกษาต่อไปจะไม่เข้าใจธรรม แล้วก็คิดว่าธรรม เป็นแต่เรื่องยุ่งๆ เดี๋ยวก็พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็พูดอย่างนี้ เดี๋ยวก็พูดเรื่องสังขารธรรม เดี๋ยวก็พูดเรื่องสังขารขันธ์ เดี๋ยวก็อัพยากตะ เดี๋ยวก็กุศล อกุศล ความจริงไม่ใช่ทำให้เรางง แต่เป็นเครื่องสอบความเข้าใจของเราว่า เราเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมั่นคง ถ่องแท้ ละเอียด ประกอบด้วยเหตุผลแค่ไหน ไม่ใช่เป็นการจำชื่อ ต้องเข้าใจ เจตสิกมี ๕๒ ชนิด เกิดกับจิตต่างขณะ ต่างประเภท จึงทำให้มีจิตถึง ๘๙ ชนิด

    สังขารธรรม กับสังขตธรรม จริงๆ แล้วภาษาไทยเราใช้ภาษาบาลีมากมายอย่าไปคิดว่ายาก ชื่อคนไทยภาษาอะไร ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีทั้งนั้นเลย แต่ว่าเราจะต้องศึกษา แล้วทำไมยาก ทำไมยุ่ง ทำไมมีมากมาย แต่ความจริงไม่มากเลย ต่อไปจะทราบว่า ชื่อแปลกๆ ไม่มาก ชื่อคุ้นหูมากกว่า อย่างจิตคุ้นหู วิริยะหรือความเพียร เคยได้ยินไหม พิริยะ เคยได้ยินไหม พ. กับ ว. ใช้แทนกันได้ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่มีใครสักคนตอบว่าเป็นรูปธรรม ใช่ไหม เก่งมาก คือ ทุกคนเข้าใจ วิริยะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง แล้วชีวิตจริงๆ ของเราเป็นเครื่องตรวจสอบ หรือทำให้เข้าใจธรรมว่า ทรงแสดงความจริงในชีวิต ยังไม่ต้องไปนึกถึงคำสอนที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ชีวิตจริงเรา เรามีความเพียรไหม ความขยันมีไหม มีจริงๆ แล้วเกิดกับจิตเกือบทุกขณะ เว้นเพียง ๑๖ ขณะเท่านั้น ที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

    การศึกษาธรรมทำให้เราไม่เดา แล้วก็ไม่รู้แคบๆ ชนิดที่ว่า เราคิดเองก็ได้ แต่ว่าความละเอียดของธรรมจริงๆ ทำให้เราสามารถที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน วิริยะ ความเพียร ที่เป็นกุศลมีไหม ความเพียรที่ไม่เป็นกุศลมีไหม มีมาก ถูกต้อง

    นี่เป็นเหตุที่เราจะเริ่มแล้ว เริ่มว่าในชีวิตของเรามีจิต เจตสิกมากมายแล้วก็มีรูปธรรมด้วย แล้วอะไรเป็นอะไรอีกที่จะทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น ก็จะมาถึงชาติ หรือ ชา-ติ การเกิด เพราะว่าถ้าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่ต้องรู้อะไรเลย ไม่มีอะไรจะต้องรู้ แต่เมื่อสิ่งนั้นเกิดมี ก็ต้องรู้ให้ละเอียด อย่างจิตเกิดมีขึ้นแล้วทรงแสดงเรื่องชาติ ชา-ติ ความเกิดของ จิต และ เจตสิกว่า ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือว่าข้างหน้าต่อไป หรือวันนี้ จิตที่เกิดทั้งหมดจะต่างกันเป็น ๔ ชาติ ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติญี่ปุ่น แต่นี่เป็นชาติของจิต คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ชาติกุศล เกิดขึ้นเป็นกุศลก็คือชาติกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็คือชาติอกุศล อย่างเราเกิดเป็นไทยก็ชาติไทย แต่นี่จิตเกิดเป็นกุศล เมื่อเกิดเป็นกุศลแล้วก็ดับ เปลี่ยนได้ไหม ให้จิตที่เกิดเป็นกุศล เป็นอกุศลได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป แม้กระนั้นความต่างของจิตจะต้องต่างเป็น ๔ ชาติ ถ้าพูดโดยนัยชาติหรือ ชา-ติ แต่การที่จะพูดถึงจิตพูดได้หลายนัย หลากหลายมาก แต่จะเริ่มจากชาติ ๑ คือกุศล ๒ คือ อกุศล ทั้งหมดนี้มีในตำรา แต่คนที่อ่านก่อน ศึกษาก่อน ก็นำมากล่าวให้ฟังตรงนั้น บ้างตรงนี้บ้าง แต่หนังสือพระไตรปิฎกมีครบทั้งอรรถกถา ในวันหลังถ้าใครจะอ่านก็ต้องเจอข้อความเหล่านี้ ทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวก็ต้องมาจากพระไตรปิฎก จะไม่ใช่คำที่เราสามารถจะมาคิดขึ้นเอง อธิบายเอง หรืออะไรได้เลย แต่ว่าเมื่ออ่าน เมื่อฟัง เมื่อได้ยิน ต้องพิจารณาให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง

    นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม หรือประโยชน์ของการศึกษาวิชาไหนๆ ทั้งหมด ฟังเพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจถูก ทุกวิชา พระธรรมก็เหมือนกัน ฟังเพื่อที่จะให้เป็นปัญญาของเราเอง ไม่ใช่เป็นปัญญาของครูบาอาจารย์ ของคนโน้น ของคนนี้ แล้วเราก็ไปถามเขา นี่เป็นอะไร นั่นเป็นอะไร ไมใช่

    วันนี้ทุกคนที่ฟังอย่างน้อยที่สุดก็ทราบว่า จิตเจตสิกนี้มี ๔ ชาติ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ถ้าเป็นอกุศล ก็ตรงกันข้ามกับกุศล ทีนี้กุศลกับอกุศลเป็นเหตุ กุศลจิตที่เกิดเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผล ไม่ได้มาจากอื่นเลย มาจากกุศลหรืออกุศลที่เกิดแล้ว เป็นกรรมสำเร็จสามารถที่จะสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ จนกว่าจะถึงกาลที่จะทำให้จิตที่เป็นวิบาก คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น

    ในชีวิตของเราที่เราศึกษาพระธรรม เราจะไม่พูดลอยๆ เรื่องกรรมเรื่องวิบาก อย่างที่เราเคยพูดมาแล้ว แต่เราจะต้องรู้ว่าได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าจะศึกษามากอีกเท่าไร ก็ไม่พ้นจากปรมัตถธรรม ๔ ต้องกลับมาหาปรมัตถธรรม ๔ ต้องรู้ว่าเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป หรือเป็นนิพพาน ถ้าได้ยินคำว่า อายตนะ ต้องรู้เลยว่า ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร ได้ยินคำว่า อริยสัจได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร เพราะเรารู้แล้วว่า จริงๆ แล้วย่อลงไปหมดก็เหลือเพียงสภาพธรรม ๔ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เกินนี้มีไหม แน่ใจ ไปแสวงหาทั่วโลก นอกโลก เหนือโลก ที่ไหนก็นามธรรมกับรูปธรรม เพราะผู้ที่ตรัสรู้ไม่ผิด รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    ยังมีอีกชาติหนึ่ง คือ กิริยา เพราะว่ากุศล อกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล ถ้าพูดถึงวิบากต้องพูดตรง กุศลวิบากเพราะว่าเป็นผล อกุศลวิบากเป็นผล แต่ถ้าพูดถึงกุศลสั้นๆ ต้องเป็นเหตุ อกุศลเฉยๆ ก็ต้องเป็นเหตุ จิตที่เป็นเหตุไม่ใช่จิตที่เป็นผล

    เพราะฉะนั้น ก็น่าคิดว่าในชีวิตของเรา เราพูดเรื่องกรรม เราพูดผลของกรรม แล้วเมื่อไรที่เราจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม พูดไปๆ เราก็ไม่รู้ว่าขณะไหน แต่พระพุทธศาสนาจากการตรัสรู้ เป็นการตรัสรู้จริงๆ ย่อยลงเป็นแต่ละขณะจิตซึ่งเร็วมาก ก็จะทราบได้จากการศึกษาว่า ขณะแรกที่เกิดเป็นจิตประเภทไหน ลองเดาสำหรับคนใหม่ คนเก่ารู้แล้วแน่นอน จิตที่เกิดขณะแรก จิตมี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา เมื่อกี้คงจะยังไม่ได้พูดถึงกิริยาจิตละเอียด แต่ให้ทราบว่า กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก มีจิตอีกประเภทหนึ่ง แต่ตอนนี้เรากำลังมุ่งไปที่เหตุกับผล คือ กุศล อกุศล แล้วก็วิบากก่อน กิริยาเอาไว้ทีหลังก็ได้ แต่ให้ทราบว่ามีจิตประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะไหนที่เป็นวิบาก ขณะที่เกิดขณะแรกต้องเป็นจิตที่เกิด ถ้ามีแต่รูปเกิด ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก คือ สิ่งที่เราเรียนแล้วเราทิ้งไม่ได้ ถ้าเราเรียนมาตั้งแต่ต้น ถ้าจิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง หรือเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ ต้องมีจิตเกิดทุกครั้ง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567