ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๒๙

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าเรามีความเข้าใจว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ คือพื้นฐานสำคัญที่สุด เกือบจะกล่าวได้ว่า เราไม่ต้องไปคิดเรื่องสติปัฏฐาน หรือไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น เพราะว่าเราทราบว่าไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา แล้วอะไรจะทำให้สติเกิด ก็ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจที่มั่นคง เพราะว่าถ้าศึกษาเรื่องขันธ์ จะทราบว่า รูปทุกรูป เป็นรูปขันธ์ รูปนี่ต้องเจริญสติปัฏฐานไหม ไม่ต้องแน่นอน เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เวทนาขันธ์ ตัวเวทนาต้องเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ก็ไม่ต้องอีก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาก็เป็นสภาพที่เป็นความจำ แต่อะไรเจริญ ต้องสติ และปัญญา ซึ่งก็เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา

    ก่อนอื่นหัวใจของพระพุทธศาสนาจากการตรัสรู้ คือ ทุกอย่างเป็นอนัตตา ต้องไม่ลืมคำนี้เลย ไปถึงไหนตรงไหนก็ต้องมี ความเข้าใจเรื่องอนัตตาอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่ฟังธรรม พิจารณา แล้วก็มีความเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงเป็นสัจธรรมที่จะทำให้ผู้ที่สามารถประจักษ์แจ้งจริงๆ ในการเกิดขึ้น และดับไปเป็นพระอริยบุคคล เพราะว่ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนคลายความเป็นเรา เพราะถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ใช้คำนี้เมื่อไรหมายความว่าคนนั้นเข้าใจ ความหมายของอนัตตา จะมีความเป็นเราอีกไม่ได้ แม้ในขั้นของความเข้าใจ จิตเป็นธรรม เป็นอนัตตา เจตสิกมีจริง เป็นธรรม เป็นอนัตตา รูปเป็นธรรม มีจริง เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด แล้วก็มีการเกิดขึ้นจึงปรากฏ แต่กว่าเราจะเข้าใจถึงลักษณะแท้ๆ ของความเป็นอนัตตาของทุกอย่าง แล้วรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพราะเกิดขึ้น ก็ต้องใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้น จะไม่มีตัวตนที่ไปทำ เพราะเหตุว่านั่นคือไม่เข้าใจถ่องแท้จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ในขณะที่กำลังฟัง เห็นมี กว่าเราจะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จนกระทั่งหยั่งถึงความเป็นธรรมของสภาพเห็น ต้องฟังอีกนาน แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏก็มีจริง แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปัญญาสามารถอบรมจนเข้าใจถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ยากไหม ไม่มีใครเลย นอกจากเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบ ได้ว่าสติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า หรือว่าอันนี้เป็นความคิดของเราเอง เราจะตรวจสอบได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ต้องไปพูดถึงสติปัฏฐานเลย ไม่ต้องไปห่วงใยเลย เพราะว่าสติปัฏฐานต้องเกิดพร้อมกับปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาของเรายังไม่พร้อมที่จะเกิดกับสติสัมปชัญญะขั้นนั้น เป็นปัญญาขั้นที่เพียงฟัง ฟังไปก่อนฟังไปเรื่อยๆ เพราะว่าปัญญาเป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ ธรรมอื่นนอกจากเวทนา ความรู้สึก กับสัญญาแล้ว เป็นสังขารขันธ์หมด ทีนี้เราจะเอาตัวเราเข้าไปใส่เรื่อยๆ พอฟังตรงนี้ เราเข้าใจตรงนี้ แต่ความจริงที่เข้าใจนั้น คือปัญญา และสติ แม้ในขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีรูป มีจิต มีเจตสิก มีปัญญา และเจตสิกขณะที่ฟังเข้าใจ คือต้องถอดความเป็นเรา จากที่เคยเป็นเรา จนรู้ว่าเป็นธรรม แล้วธรรมอะไร เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นรูป แม้แต่ในขั้นการฟัง แล้วเราจะไม่ไปห่วงกังวลเรื่องสติปัฏฐานเลย แต่ว่าเวลาที่ฟังเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เขาเป็นสังขารขันธ์ เขาจะทำหน้าที่นำไปสู่สติสัมปชัญญะอีกขั้น หนึ่งซึ่งไม่ใช่ขั้นเข้าใจ แต่เป็นขั้นที่รู้ลักษณะเดี๋ยวนี้เองที่กำลังปรากฏ

    ในพระไตรปิฎก จะมี ๒ คำ หลงลืมสติ กับ มีสติ ซึ่งหมายความว่า ขณะนั้น สติสัมปชัญญะเกิดเป็นสติปัฏฐาน เรายังไม่ต้องใจร้อนไปถึงสติปัฏฐาน แต่ว่าเรารู้ว่า ขณะนี้สติกับหลงลืมสติ ต่างกันอย่างไร แล้วหลงลืมสติที่กล่าวถึงไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล แต่เป็นสติสัมปชัญญะขั้นที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นที่ตั้งของสติที่ระลึกแล้วปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกระทั่งสามารถที่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้น จะไม่มีการข้ามขั้น อย่างปริยัติ แล้วก็นำไปสู่ปฏิบัติ นำไปสู่ปฏิเวธ ทีนี้บางคนก็อาจจะสงสัยว่า ปริยัติแล้วเมื่อไรจะถึงปฏิบัติ ก็เลยอยากจะทำ เพราะเข้าใจว่าปฏิบัติ คือทำ แต่โดยรูปศัพท์ ปฏิปัตติ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง ถึงเฉพาะ ขณะนี้ถึงเฉพาะอะไร อะไรถึง มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่เคยเข้าใจ อวิชชา ปิดบังไม่ให้รู้ความจริง แต่ถ้าจะถึงเฉพาะ คือสติเกิดรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ถึงเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่าง ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง เรื่องการเจริญ มันค่อนข้างจะกว้างไปสักหน่อย

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นเราจะเคยฟังแต่ว่าให้ทำวิปัสสนา แล้วพอไม่ทำวิปัสสนาแล้ว มีความรู้เพิ่มขึ้นนิดหน่อยก็จะเป็นเจริญสติปัฏฐาน เราได้ยินคำบอกเล่าอย่างนี้ แต่ว่าเรายังไม่เคยคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของการทำ ไม่ใช่เรื่องของเรา ตัวตน แต่เป็นเรื่องการอบรมความรู้ความเข้าใจ เอาความเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็ปัญญาเขาจะทำหน้าที่ของเขาเอง

    ผู้ฟัง ที่ผมฟังจากเทปของอาจารย์ไม่ทราบว่า จุดไหนที่สมควรที่จะพิจารณามากที่สุด

    ท่านอาจารย์ สาวกผู้ฟังครั้งที่พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ปรินิพพาน เสด็จจาริกไปไหน ทั้งๆ ที่ได้พบกัน ได้เฝ้าเป็นประจำ เช้า สาย บ่าย เย็น ติดตามไปเพื่ออะไร เพื่อฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การฟังจะขาดไม่ได้เลย จุดที่สำคัญที่สุดคือจุดฟัง จริงๆ แล้วที่ดิฉันกล่าวถึงทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา ให้เข้าใจว่าวิปัสสนาไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นได้ยินได้ฟัง แต่ขณะนี้ได้ยินได้ฟังว่า เป็นนามธรรมกับรูปธรรม นี่คือได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ให้ใครคนหนึ่งคนใดไปแยก แต่ให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงของนามธรรมกับรูปธรรม คือให้มีความเข้าใจ แล้วก็ไมใช่ว่าให้ใครไปให้สติระลึก แต่หมายความว่า เมื่อมีความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม ก็จะมีการระลึกได้ เวลาที่เรายังไม่ได้ฟังธรรม เรามีเรื่องคิดมากมาย ใช่ไหม ความคิดของเรามันเกิดขึ้นโดยเรารู้ตัวล่วงหน้าหรือเปล่า แม้แต่คิดทีละคำ ขณะนี้ใครจะคิดเรื่องอะไร รู้ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าจะคิดเรื่องนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

    นี่คือธรรมที่เป็นอนัตตา แม้แต่ความคิด เพราะฉะนั้น ตอนที่เรายังไม่ได้ฟังพระธรรมเลย เราคิดเรื่องอื่นมากมาย แต่พอฟังธรรม มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความคิดเกิดขึ้น เป็นเรื่องของธรรม ถูกต้องไหม ไม่เคยคิดคำว่า จิต เจตสิก รูป ก็เกิดคิดคำว่า จิต เจตสิก รูป แล้วเวลาได้ยินได้ฟังอะไร เราก็จะมีปัจจัยทำให้เกิดความคิดในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่คิด ก็เป็นความจริงขั้นคิด ความเข้าใจขั้นคิด มีการไตร่ตรองขั้นคิด แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น การฟังของเรา เรารู้ว่าเพียงความเข้าใจขั้นที่เป็นปริยัติ รู้เรื่องราวของสภาพธรรม ยังไม่ใช่การรู้จักตัวธรรมเลย เช่นในขณะนี้มีนามธรรมไหม มี รูปธรรมมีไหม แล้วเรากำลังพูดเรื่องรูป ใช่ไหม แล้วเรากำลังพูดเรื่องนาม แต่นามธรรมกับรูปธรรมเขาเกิดดับ ทำหน้าที่เรียบร้อยของเขาอยู่ตลอดเวลา ใครก็ไปบังคับ ไปเปลี่ยนแปลงไม่ให้นามธรรมชนิดนั้นเกิดไม่ให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นก็ไม่ได้ นามธรรมมีปัจจัยชนิดไหนจะเกิดก็เกิด เช่นได้ยิน มีปัจจัยที่เกิดได้ยินขึ้น ก็ได้ยิน เห็นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ที่จะเห็นก็เห็น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่า สภาพธรรม ทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น แม้แต่สติปัฏฐานหรือสติอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่กำลังฟัง เข้าใจขณะฟังนี่ก็มีสติ แล้วก็มีเจตสิกอื่นๆ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอะไรทุกอย่าง อโลภะ อโทสะ แต่ไม่มีการรู้ว่า สภาพนั้นๆ เป็นธรรม เพราะว่าสภาพนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ขณะนี้ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา มี แล้วทางกาย สิ่งที่ปรากฏทางกาย มี สภาพนึกคิด มี เพราะว่าเกิดขึ้น สติปัฏฐาน คือ เมื่อมีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่เราทำ แต่ว่าความรู้ที่ได้ฟังมาว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะว่ามีความเข้าใจแล้วว่า ไม่มีอะไรอื่นเลย นอกจาก ๒ อย่างนี้ จะมีอย่างอื่นอีกไหม นอกจากนามธรรมกับรูปธรรมที่มีจริงๆ ถ้าที่มีจริงๆ ก็ต้อง ๒ อย่างเท่านั้น คือ นามธรรมกับรูปธรรม

    สติที่เริ่มจะระลึก คือ สติปัฏฐาน พอระลึกแล้ว ไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นรูปได้ทันที ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมได้ทันที เพราะว่าแค่สติเกิดแล้วก็ดับ แต่แม้กระนั้นปัญญาก็เกิดในขณะนั้นรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด ไม่ใช่หลงลืมสติ คือปัญญาเขาจะเป็นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเป็นปัญญาขั้นที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานครั้งแรกๆ การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอย่างประจักษ์แจ้งชัดเจน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้นั้นเริ่มรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ตรงนี้เป็นตอนตั้งต้น ถ้าจะตั้งต้นที่ไหน บรรพไหน กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา คือไม่ใช่เรื่องของการเจาะจงหรือตั้งใจ เหมือนความคิดขณะนี้ ใครเกิดคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่กำลังได้ยินได้ฟังก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าสติจะระลึกอะไรที่มี จริงๆ แล้วเราก็ยังไม่ต้องไปเรียกชื่อว่า นี่เป็นกายานุปัสสนา หรือว่าเป็นเวทนานุปัสสนา ชื่ออะไร เป็นอายตนะ เป็นขันธ์ ไม่ต้องเลย เพียงแต่ว่ามีสภาพธรรมปรากฏแล้ว ไม่เคยระลึก

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจผม ถ้าอย่างที่อาจารย์พูด มันก็จะเข้าเป็นธัมมานุปัสสนาหมด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นั่นเราเรียกชื่อ จริงๆ แล้วก็ต้องรู้ทั้งหมด เหตุผล คือ ถ้ายังไม่รู้ก็เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เหตุผลน้อยกว่านั้นอีก ต่ำกว่านั้นอีก คือว่า ถ้ารู้ไม่ทั่วก็ไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับได้ เพราะขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ไม่มีการเลือกเลยว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่สภาพธรรมใดปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทั่วคือว่า ไม่สามารถเข้าใกล้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิด และดับเร็วมาก แต่การที่จะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมได้ สติ และปัญญาต้องอบรมเจริญจนกระทั่งแม้ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ไม่หวั่นไหวเลย เป็นพละ ทิ้งได้ทันที ไม่มีความเยื่อในว่า เราจะต้องทำอะไรต่อไป จะต้องไปรู้ตรงนั้น ไปรู้ตรงนี้ รู้มากหนักก็ไม่ได้ เบาก็ไม่ได้ ต้องกำลังพอดี เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นเรื่องตัวตนหมดเลย เยื่อใยของความเป็นตัวตนจะออกมาโดยลักษณะประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ต้องเพราะสติสัมปชัญญะเจริญ จากสติปัฏฐาน เป็นสตินทรีย์ เป็นพละ เป็นอะไรก็แล้ว แต่ มีกำลังเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อระลึกแล้ว เยื่อใยไม่มี จึงสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดสืบต่อ ใกล้ชิดขึ้น เพราะเวลานี้สติเหมือนระลึกตรงนี้ แล้วก็หายไปนาน แล้วก็ระลึกตรงนี้ แล้วก็หายไปอีก แล้วก็มายึดตรงนี้ มันไกลกันมากที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เพราะเหตุว่ายังรู้ไม่ทั่ว การที่จะรู้ทั่วก็คือเมื่อมีการเข้าใจในลักษณะนั้นจนคลายความสงสัย เป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นต้นๆ ก่อนแล้วจะถึง ขั้นที่ประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรมได้ โดยไม่หวั่นไหว ถึงจะประจักษ์การเกิดดับได้

    ถ้าเราจะคิดว่าเราจะต้องตั้งต้นตรงนั้น หรือตรงนั้นอ่อน ตรงนั้นแก่ ก็คงยังเป็นตัวเราอยู่ แต่หน้าที่ของสติคือระลึก แล้วปัญญาก็คือเข้าใจ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ตามเจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่กำลังทำงานพร้อมกับองค์ของมรรค เพราะเหตุว่านอกจากจะเป็นสติ ปัญญาไม่ต้องพูดถึง สัมมาทิฏฐิต้องมีแน่นอน ถ้าไม่ไมีสัมมาทิฏฐิ มรรคองค์อื่นๆ ก็ไม่ใช่สัมมาหมด

    วิตก คือ การตรึกหรือการคิด แต่ความจริงวิตกเกิดหลังจากที่พวกจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณดับ วิตกก็เกิดแล้ว แม้ว่าเป็นเพียงทางตาที่เพียงเห็น ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร วิตกเจตสิกก็เกิด เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกไม่ใช่คิด แต่การที่เราจะให้เข้าใจสภาพธรรม คือเจตสิกแต่ละชนิดได้ เราจะพูดถึงลักษณะที่พอเข้าใจได้ โดยลักษณะที่ว่า วิตกเป็นสภาพที่ตรึกหรือคิด แต่ความจริงเวลาที่เกิดพร้อมสติปัฏฐาน ไม่ได้คิดอย่างนี้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะโดยมากเราจะคิดเรื่อง แต่ลักษณะจริงๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งคนมักจะไม่ได้กล่าวถึง เพราะว่าเป็นสิ่งที่รู้ยาก คือ วิตกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ ผัสสะเป็นสภาพที่กระทบ สติเป็นสภาพที่ระลึก ขณะนั้นก็ต้องมีเจตสิกเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทำงาน ถ้าวิตกเจตสิกไม่จรด ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ชัดได้

    เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทั้งวิตกแล้วก็ปัญญาในขณะนั้น แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรา แล้วขณะนี้ใครจะรู้ผัสสเจตสิก ใครจะรู้วิตกเจตสิก เป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่จะรู้ได้ก็คือสิ่งที่สติสัมปชัญญะระลึก ก็เป็นเรื่องของการอบรมความรู้ความเข้าใจถูก แต่เรื่องจะทำต้องทิ้งหมดเลย ถ้าไม่ทิ้งคือเราทำ เราแน่ๆ แต่พอสติสัมปชัญญะเกิด เราเลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้เลย ถ้าจะรู้แข็ง มีทางที่แข็งจะปรากฏไหม หรือไม่มีทางก็รู้แข็งได้ แข็งนี่ แข็งธรรมดาอย่างนี้ ต้องมีทางที่แข็งจะปรากฏ หรือว่าจิตสามารถจะรู้แข็งโดยไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเลย

    ผู้ฟัง ต้องมี

    ท่านอาจารย์ ต้องมี คือ กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้เลยว่า แม้แต่แข็งที่จะปรากฏได้ ถ้าไม่มีกายปสาท ก็ปรากฏไม่ได้ ความเป็นปัจจัยของสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย มันจะค่อยๆ เข้าใจในขณะที่สติปัฏฐานเกิด แต่ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก่อน ถ้ามิฉะนั้นเราก็จะไม่สามารถเข้าใจความหมายอื่นๆ ในพระไตรปิฎกเลย แล้วกายปสาท อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ทั่วกาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อยู่ทั่วกาย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพิชัยรู้แข็งที่นี่ คุณวิชัยต้องบอกไหม เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเป็นโผฏฐัพพายตนะ หรือว่าเป็นขันธ์ การศึกษาธรรม ชื่อก็บอกแล้ว ศึกษาธรรม ศึกษาคือเข้าใจถูกในธรรม เมื่อฟังแล้วก็คือมีความเข้าใจถูกในธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะรู้จักตัวธรรมว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ ธรรมกำลังมีอยู่ ตลอดชีวิตของเราทุกขณะเป็นธรรมหมด ถ้าไม่ได้ศึกษาเป็นเราหมดเลย โกรธไหม เรา ใช่ไหม วิตกห่วงใยกังวลเดือดร้อนไหม เราใช่ไหม แต่ความจริงเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีอะไรสักอย่างเดียวซึ่งปรากฏที่จะไม่มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ แต่ผู้ที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ยึดถือสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นเราหมดเลย แต่ถ้าเอามาพิจารณาผู้ที่ตรัสรู้ ทรงแสดง เป็นธรรม มีชื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้รู้ความต่างกันของธรรมแต่ละอย่าง

    วันนี้ ธรรมทั้งนั้น พรุ่งนี้ ก็ธรรมทั้งนั้น กี่วันกี่เดือน ก็ธรรมทั้งนั้น แต่ถ้าไม่ได้ฟังพอ ก็เป็นเราที่จะจัดการกับธรรม แต่จัดการไม่ได้ จะไปขังไว้ จะให้อยู่ตรงนี้ ตรงนั้นไม่ได้เลย นั่นเป็นเรื่องของหนทางที่ผิด เป็นเรื่องของการไม่รู้ว่า ธรรมจริงๆ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย เป็นอนัตตา แล้วใช้คำก็ไม่ได้ ที่ว่าจะทำให้ไขว้เขว อย่างถ้าเราไปติดในชื่อของกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เวลาที่กาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งปรากฏ อะไร หมวดไหน กายานุปัสสนาหรือธัมมานุปัสสนา

    ผู้ฟัง อย่างวิธีของอาจารย์ คล้ายๆ เหมือนกระโดดข้ามขั้นไปเลย คือคล้ายๆ ธรรมเลย คือ จับสิ่งที่ละเอียดเลย แล้วมันจะละสิ่งที่หยาบไปได้เร็วมาก ค่อนข้างจะได้ผลเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ ต่อไปคุณพิชัยจะทราบว่าดิฉันดึงกลับมาที่ตั้งต้น ใครจะไปไหน ไปๆ ๆ เอากลับมาใหม่ เอามาที่ หลงลืมสติกับมีสติ

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าห่างๆ อาจารย์มา ค่อนข้างจะหลงลืมสติมากกว่า

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือผิดธรรมดา

    ผู้ฟัง เป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าจะทำ ผิดปกติทั้งนั้นเลย แต่การอบรมเจริญปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริง ดับกิเลสได้จริงๆ ต้องเป็นปกติ ถ้าผิดปกตินิดเดียว โลภะอยู่ที่ไหน ที่เป็นสมุทัย เราก็เรียกชื่อ โลภะเป็นสมุทัย แต่เวลาเกิดไม่เห็น ตามไปเลย เขาถึงได้บอกว่ามีโลภะเป็นอาจารย์นำ แล้วโลภะก็เป็นลูกศิษย์ตามด้วย หนีไม่พ้นเลย แต่ว่าเวลาที่อบรมเจริญปัญญาตามปกติจริงๆ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องช้ามาก ไม่ใช่เร็วอย่างที่คุณพิชัยคิด

    ผู้ฟัง ไม่ช้า

    ท่านอาจารย์ ทำไม ช้าสิ

    ผู้ฟัง เร็วมาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ ไม่ได้ไปถึงอะไรเลย นอกจากเรื่องตั้งต้น คือว่าไม่ต้องทำ

    ผู้ฟัง ตั้งต้นทุกวัน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ต้องทำด้วย ไม่ต้องทำด้วย ถ้าทำก็เอากลับมาใหม่ ที่ไม่ต้องทำ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำ แต่รู้จะช้ากว่า ไปทำๆ ๆ แล้วคิดว่าจะรู้แต่ผิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องยากที่ว่าเราสะสมความติดข้องแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ทั้งอวิชชา ทั้งโลภะ หุ้มห่อบิดบังสนิท พอถึงเวลาเราจะรีบกะเทาะมันออกให้หมดเลย ไม่ให้เหลือสักนิดเดียว มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราต้องรู้จักความจริงเลย ต้องตรงต่อความจริงว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วการที่สติสัมปชัญญะ จะมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอะไร บางคนไปคอย หรือไปรอ ยิ่งยากเข้าไปอีก เลยสติไม่มีโอกาสเกิดเลย เพราะอะไรกำลังรอ ถ้าไม่ใช่โลภะ กั้นสนิท ปิดสนิท เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นปกติ แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น แม้ว่าเป็นทีละเล็กทีละน้อย แต่สามารถที่จะรู้ความจริง ตรงตามที่ทรงแสดง โลภะจะปรากฏหน้าตาเครื่องกั้นตลอดทาง ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะละ โลภะได้

    ผู้ฟัง แต่มันจะท้อเสียก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเรา พอท้อปุ๊บรู้เลย

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันรู้ช้าเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละคือเรา นี่คะเป็นทางที่จะหลง พอคนต้องการจะทำ แล้วทำไปเลย คือไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีแล้ว เป็นแล้วอย่างนี้ เพราะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ใครทำเห็นได้ ใครทำได้ยินได้ ใครทำคิดนึกได้ ใครทำโลภะได้ ใครก็ทำไม่ได้ทั้งหมด พอเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็ไม่เอา ตัวไหนที่ไม่เอา เรา ใช่ไหม ถ้ารู้ความจริงว่า เป็นธรรม อาจหาญร่าเริง คำนี้มีในพระไตรปิฎก คิดถึงคนที่กำลังจะผูกคอตาย รัชชุมาลาที่คยา ในเขตที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน คนที่จะผูกคอตาย ความทุกข์เขาแค่ไหน ถ้าเขาไม่มีความทุกข์ เขาคงไม่ไปผูก แต่เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม เป็นเขา ทุกข์นั้นคือตัวเขา ทนไม่ได้ แต่พอฟังธรรม ปัญญาที่สะสมมาตรง และได้สะสมมาแล้วอย่างดี ไม่ไปทางผิด ก็สามารถที่จะฟังเข้าใจว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เขา แล้วปัญญาที่เขาสะสมมา ก็เหมือนกับผู้ที่บรรลุโดยที่ว่าไม่ต้องแสดงพระธรรมมาก อย่างท่านพระสารีบุตร เพราะว่าสภาพธรรมก็กำลังมี ท่านหยั่งรู้เลยว่าต้องเกิด แล้วขณะที่เกิด ท่านรู้ลักษณะที่เกิดด้วย แล้วก็ประจักษ์การดับด้วย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567