ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๙๔

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ผู้ฟัง ความเกิดดับมันเร็วมากเลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง มันเร็ว อาจจะเป็นเสี้ยวของวินาที มันเกิดขึ้นดับลงเร็วมากจนเราไม่รู้สึกว่ามันเกิดดับ แล้วที่เราเห็นก็เป็น Concept ใช่ไหม ว่าเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ มี ๒ อย่าง ขณะใดที่จิตไม่ได้รู้ปรมัตถธรรม ขณะนั้นรู้บัญญัติ คือเรื่องราวของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น อย่างที่ทรงแสดงไว้ จิตเห็นมี กำลังเห็น จิตได้ยินมี กำลังได้ยิน เหมือนพร้อมกัน คือขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ว่าเห็น ดับไป ให้เราประจักษ์จริงๆ ว่า กำลังเกิดดับ หรือดับไปแล้ว เพราะการเกิดดับสืบต่อสลับเร็วมาก แต่ว่าระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน เกินกว่าจิต ๑๗ ดวง ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เราคิดถึงความดับอย่างเร็วของรูป ว่าเราจะเอาอะไรมาอธิบาย ว่าเร็วขนาดไหน เพราะว่าจิตเห็น จิตได้ยินเหมือนพร้อมกัน แต่ไม่พร้อม เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดพร้อมจิตเห็น ยังไม่ทันถึงจิตได้ยิน แต่ปรากฏเหมือนกับว่าทั้งเห็น ทั้งได้ยิน

    ผู้ฟัง แสดงว่าเราอยู่ในลักษณะของวิปลาส เราไม่เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มากมายมหาศาลขนาดไหน แล้วก็ค่อยๆ ได้ยินได้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ รู้ จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เป็นปัญญา แต่ละขั้น พร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ท่านก็ไม่รู้ว่าจิตอันนี้นี้เกิดดับ เหมือนอย่างเราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต่างกันเลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเรา เราเห็นอย่างไร ท่านก็เห็นอย่างนั้น แต่นี่ไม่ใช่เลย การตรัสรู้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาที่สามารถประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ซึ่งถ้าเราอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เราประจักษ์อย่างนั้นได้แน่นอน เพราะว่าผู้ที่เป็นสาวก ผู้ฟัง ผู้ที่อบรมบารมีมาแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มาก พระสกทาคามี พระอนาคามี พระโสดาบันมากมาย เรากำลังอยู่ในช่วงไหน ตอนไหน ช่วงของภาวนา คือ การอบรม ถ้าไม่มีการฟังวันนี้ ไม่มีความเข้าใจวันนี้ จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ไหม เพราะฉะนั้น สวนะที่เป็นอนุตริยะ คือการฟังสิ่งที่เรายังไม่เคยรู้ ให้มีความรู้ขึ้น แล้วความรู้ที่เป็นความรู้อย่างนี้ ถ้าเราไม่ทอดทิ้ง ก็จะค่อยๆ เจริญขี้น จากการพิจารณา จากการอบรม เพราะว่าเรารู้ว่า เป็นสิ่งที่จริง จริงอย่างไร จริงตั้งแต่บอกว่าสิ่งที่มีจริงมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม จริงไปเป็นขั้นตอนตามลำดับทั้งหมด เมื่อประจักษ์อย่างไร ตรัสรู้อย่างไร ก็ทรงแสดงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง การศึกษาต้องเริ่มอย่างไรก่อนจึงจะเข้าใจง่าย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียนรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเล็กน้อยมาก แล้วก็เอาไปไหนไม่ได้ด้วย เพราะว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับจะไม่กลับมาอีกเลย ดับจริงๆ แล้วก็มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ดับ หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทาน หรือเสียงที่ได้ยิน หรือว่าสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏ กลิ่น รส รูปร่าง ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งนามธรรม และรูปธรรมดับ เรียกว่าเราไม่ได้อะไรที่เราพอใจไปด้วย นอกจากความติดข้อง ความไม่รู้ตลอดชีวิต

    เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีโอกาสที่จะเกิดปัญญา ความรู้ขึ้นบ้าง คลายความไม่รู้ คลายความติดข้อง ชาติ ต่อๆ ไปเราก็จะมีความรู้เพิ่มขึ้น และอะไรจะประเสริฐที่สุด ความรู้หรือว่าทรัพย์สมบัติ หรือทั้ง ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง มีสมบัติก็ดี มีความรู้ก็ดี

    ท่านอาจารย์ สมบัติจะได้มาแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง ผมก็รู้ ทำมาหากิน ทำมาหากินก็ขยันหมั่นเพียร ก็มีมาเอง

    ท่านอาจารย์ คนที่ขยันยิ่งกว่าคุณสุกิจ แต่ยากจนเหลือเกินมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เขาก็ขยัน

    ผู้ฟัง อาจจะวิบากกรรม ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ใช้คำนี้ถูกต้อง คือ ผลของกรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ถ้าทราบละเอียดจนกระทั่งขณะจิต ย่อยชีวิตลงมาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เหลือขณะจิตเดียวทีละ ๑ ขณะ ยิ่งรู้ว่าไม่มีใครทำอะไรได้เลย จิตต้องเกิด เป็นสภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับ ใครทำอะไรได้

    การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปทำ หรือว่าไปสร้าง หรือว่าเป็นเราที่อยากจะหมดกิเลส อยากจะมีปัญญา แต่ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้ แล้วสังสารวัฏ ที่เราใช้คำว่าสังสารวัฏ สังสาระ คือท่องเที่ยว วัฏ ก็วนเวียน แค่นี้เหมือนเข้าใจ แต่ความจริงวนเวียนไปทางไหน ทางตา เดี๋ยวเห็น ทางหู เดี๋ยวได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ก็ลิ้มรส วันหนึ่งๆ ก็แค่นี้ ตื่นเช้ามาก็เห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู จมูกได้กลิ่น รับประทานอาหารก็ลิ้มรส กายที่กระทบสัมผัสอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ชาติก็คือเท่านี้เอง ตาก็มีหน้าที่เห็น ตาแสนโกฐกัป มีหน้าที่เห็น ไม่ต่างกับขณะนี้เลย ตาข้างหน้า จักขุวิญญาณ จิตเห็น ก็จะเห็นอย่างนี้แหละ เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ จิตได้ยินก็ต้องมี ชาติก่อนก็ได้ยินเสียง ชาตินี้ก็ได้ยินเสียง ต่อไปอีกกี่กัปก็ได้ยินเสียง เพราะจิตนี้เกิดขึ้นแล้วได้ยินเสียง จิตคิดนึกหลังจากเห็น หลังจากได้ยินก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เหมือนเรื่องราวต่างๆ แสนจริง แต่ความจริง จริงเพียงชั่วขณะที่คิด จริงชั่วขณะที่คิด ไม่ได้หมายความว่า เป็นสภาพที่มีจริงๆ ด้วย เป็นแต่เพียงความจำเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเราไม่รู้ และเรายึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยตลอด

    เราอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ ตลอดชีวิต ทุกชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ อยู่ในโลกของคน อยู่ในโลกของเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่รู้สภาพปรมัตถธรรม ซึ่ง ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป อะไรก็ไม่มี

    ผู้ฟัง อ่านตำราแล้วบอกว่า ต้องเป็นอย่างนี้ เป็น สัจจสูตร ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า สัจจสูตร ผมก็นั่งวิเคราะห์ว่าจริงไหม ผมวิเคราะห์บางครั้งมันก็จริง บางครั้งมันก็ไม่จริง จะตัดสินได้อย่างไรว่า สัจจสูตร มันจริงแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนที่น่าเชื่อถือที่สุด

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า ถ้าพูดกันตรงๆ เพราะเรามีความเชื่อ จริงๆ แล้วเราก็ไม่เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เราไม่เห็น แต่เราเชื่อ เพราะว่าถูกสั่งสอนมาตลอด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ดิฉันเองก็กราบไหว้พระพุทธเจ้ามานาน

    ผู้ฟัง ผมก็เช่นกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะได้ศึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเปิดการสอนพระอภิธรรมที่พุทธสมาคม ดิฉันไปศึกษาทันที เพราะไม่พอใจเพียงแต่จะกราบไหว้บุคคลซึ่งดิฉันไม่รู้จักเลยว่า มีความเข้าใจอย่างไร มีปัญญาแค่ไหน และสอนว่าอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะกราบไหว้ใคร เขาต้องรู้ว่าเขาควรค่าต่อการที่เรากราบไหว้มาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า แทนที่ว่าเรากราบไปเรื่อยๆ จนตาย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสอนว่าอะไร เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะอ่านหนังสืออื่นใด ถ้าเราจะอ่านหรือศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ และเรื่องที่เราสามารถพิสูจน์ได้ก็คือ เป็นเรื่องที่มีจริงๆ ในขณะนี้ สอนให้เราเข้าใจ อย่างเรื่องธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ได้สอนเรื่องอื่นว่า เราจะต้องไปป่าหิมพานต์ ไปหาที่โน้น ไปหาที่นี้ แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เป็นธรรมเพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่อาศัย คำเทศนาจากการตรัสรู้เราจะไม่ทราบเลยว่า ไม่ใช่เราแน่นอน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ว่ามีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง สิ่งที่มีจริง ที่เป็นรูปธรรมนั้นอย่างหนึ่ง และสิ่งที่มีจริง ที่เป็นนามธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง อนุบาล คือตรงนี้

    ถ. อนุบาล เราแยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจความหมายจริงๆ ภาษาไทยยุคนี้อาจจะใช้คำว่า รูปธรรม แต่ไม่ตรงกับความหมายในพระไตรปิฎก หรือคำสอน ถ้าตรงจริงๆ ก็หมายความว่าสิ่งที่จริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สิ่งนั้นๆ เป็นรูปธรรม ทุกอย่าง แล้วเราก็คิดสิ อะไรเป็นรูปธรรมบ้าง กลิ่นมีจริงไหม จริง กลิ่นรู้อะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร คือ แทนที่เราจะตามคำ รูปธรรม นามธรรม ถามมาตอบไป เราต้องเข้าใจด้วยว่า รูปธรรมหมายถึงสภาพที่ไม่รู้ ไม่ใช่เราตามคำโดยที่เราไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจแล้วว่า รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น แข็งมีจริงไหม จริง เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปธรรม นี่คือเราเริ่มเข้าใจความจริงซึ่งเดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจคำสอนแล้วเราก็กราบไหว้ไป หรือเราอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีทางจะรู้จักพระพุทธเจ้า การที่จะเห็นความเป็นพุทธได้ แม้แต่ในครั้งพุทธกาลที่ยังไม่ปรินิพพาน ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา รู้ในความเป็นพุทธะ จากพระธรรมที่ทรงแสดง จากการประจักษ์แจ้งธรรมว่า พระพุทธเจ้าประจักษ์อย่างนี้ ทรงแสดงอย่างนี้ เมื่อผู้นั้นได้เห็นแจ้งธรรมอย่างนี้ก็รู้ว่า รู้ตามที่ทรงแสดง เพราะถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ คนอื่นไม่มีทาง เพราะว่าไม่ได้อบรมปัญญาถึงระดับสัมมาสัมพุทโธ เพียงแค่สาวก คือ ผู้ฟัง ท่านพระสารีบุตร ผู้เลิศทางปัญญาก็เป็นผู้ฟัง เป็นสาวก แล้วเราเป็นใคร ไม่เรียน แล้วจะรู้พระพุทธศาสนา หรือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชาอื่นยังต้องเรียนแล้ว วิชานี้ใครเป็นผู้สอน แล้วไม่เรียน แล้วจะรู้ได้ไหมว่าสอนว่าอะไร

    ผู้ฟัง เป็นปัญหาติดอกติดใจ รูปคืออะไร นามคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ พวกที่ไม่ได้เรียนเลย จะมีความรู้ ไม่มีความรู้ ...

    ท่านอาจารย์ คำตอบตายตัวสำหรับวันนี้ ทราบแล้วใช่ไหม รูปธรรมมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่เป็นคำจำกัดความตายตัวของรูปธรรม ทิ้งความเห็นความคิดเรื่องอื่นทั้งหมด มาพิจารณาดูว่าสิ่งที่มีจริงๆ ลักษณะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า คือรูปธรรมก็มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ส่วนนามธรรมก็มีจริง แต่ไม่มีรูปร่างลักษณะอะไรๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุต่างจากรูป เพราะว่าเป็นธาตุรู้ ซึ่งเมื่อธาตุนี้เกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้

    ผู้ฟัง ปัญญารู้รูป หรือ นาม

    ท่านอาจารย์ ปัญญา แม้แต่ขณะที่ฟังเป็นกุศลจิต อาจจะไม่รู้ เพราะเป็นจิตที่ดีงาม จึงไม่ไปเที่ยว ไม่ไปนอน หรือว่าไม่สนใจเรื่องอื่น แต่ยังมีศรัทธา สภาพผ่องใสที่ขณะนั้นไม่มีโลภะติดข้องในสิ่งอื่นใด ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มีศรัทธาที่จะรับฟัง ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นมีสติเจตสิก มีปัญญาเจตสิกขณะที่เข้าใจ ซึ่งสติเจตสิก และปัญญาเจตสิก จากฟังครั้งที่ ๑ ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เจริญขึ้น ฟังอีกก็เข้าใจขึ้นอีก ไม่ใช่ว่าไม่มีการฟังเลยคิดขึ้นมาเองได้ ปุบปับ ขึ้นมาก็เป็นปัญญา แล้วไม่มีเหตุที่สมควรแก่ผล เป็นความหวังที่เลื่อนลอย เพราะไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร แต่ถ้าคนที่รู้ว่าปัญญารู้อะไร เขารู้เลย ต้องเป็นการอบรม ปัญญารู้สภาพที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง คือ ไม่ใช่เรา นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม แล้วเมื่อไรความรู้ของเราจะเป็นอย่างนี้ทั่วทั้งวัน คือ ไม่มีเราเมื่อระลึกขึ้นมาได้ก็มีลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จากการฟังจะทำให้ปัญญา และสติเจริญถึงระดับที่เรียกว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่ามีลักษณะของปรมัตถธรรม ปรากฏพร้อมด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เมื่อใช้คำว่าในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วไม่มีเรา ไม่ใช่เราในสิ่งนั้น เป็นธรรมจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง คำสอนของคณะนี้กับคำสอนของพระสงฆ์ต่างกันอย่างไร ผมไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คำสอนต้องการให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจถูก ความเห็นถูก จากใครก็ตามแต่

    ผู้ฟัง แล้วต่างอย่างไรกับคำสอน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีใครเป็นผู้สอน สิ่งที่เราฟัง เราฟังเพื่อเข้าใจ แล้วก็พิจารณาว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือเปล่ากับสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราไม่ได้คิดว่า เป็นของใครทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่จะตรัสรู้ อย่างเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม ถ้าไม่มีการฟัง ถ้าไม่ทรงแสดง เราก็ไม่รู้ เราก็เป็นเราตลอดไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ไม่ได้ตอบคำถามผม

    ท่านอาจารย์ นี่กำลังจะตอบว่า คำสอนไม่ใช่ของใครที่จะบอกว่า ของคนนี้ของคนนั้น ไม่ใช่

    ผู้ฟัง หมายความว่าแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำสอนทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องอะไร สอนเพื่อให้คนเข้าใจ ถ้าสอนเรื่องบัญชี ธนาคาร เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ก็สอนให้คนเข้าใจในสิ่งที่สอน ไม่อย่างนั้นเราจะไปศึกษาไปฟังทำไม เพราะฉะนั้น ทุกคำสอนเป็นคำสอนเพื่อให้เราเข้าใจ ทีนี้ถ้าคำสอนใดให้เราเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ถูกต้องตามความเป็นจริง คำสอนนั้นถูกหรือผิด นี่เป็นหน้าที่ของผู้ฟังที่จะพิจารณา ไม่ใช่ให้เชื่อ ไม่ใช่บอกว่านี่ของคนนี้ นี่ของคนนั้น

    ผู้ฟัง คือคำตอบไม่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ พระธรรมไม่ต่าง

    ผู้ฟัง แต่วิธีการสอนแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ คือว่าอย่างนี้ ฟังแล้วเข้าใจ ถูกต้อง นั่นคือการศึกษาคำสอนที่ถูกต้องที่เข้าใจได้ ที่เป็นธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือเปล่า ต้องพิจารณา อย่าง “ธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ถูกไหม เพราะว่ามีจริงๆ ไม่ได้สอนเรื่องเลื่อนลอย พิสูจน์ไม่ได้ แต่สอนถึงสิ่งที่มีจริงๆ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกว่า สิ่งที่มีจริงมีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง ยังไม่ต้องอ้างพระพุทธเจ้า หรืออะไรๆ ทั้งหมด เพียงแต่ได้ยินอย่างนี้ เราสามารถที่จะเข้าใจตามได้ไหม ว่าสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วคำสอนดั่งเดิมเป็นภาษาบาลี ซึ่งจะต้องตรงกันทุกประเทศที่นับถือ หรือว่าที่ศึกษาวิชานี้ ก็ต้องใช้ภาษานี้ ถ้าศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องใช้ภาษาโน้น ถ้าศึกษาเรื่องธุรกิจ ก็ต้องใช้อีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาเรื่องนี้ทั่วโลกต้องใช้คำเดียวกัน คือ รูปธรรม เป็นสภาพที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย และนามธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง ต่างจากรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าคงจะกลัว คำว่า ชื่อของธรรม อย่างปรมัตถธรรม หรือพระอภิธรรม คำว่า พระอภิธรรม ธรรมที่ยิ่งใหญ่หรือสูงยิ่ง คนที่พอฟัง ในลักษณะที่เป็น คิดว่าคงจะรับไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าให้ศึกษาเรื่องพระอภิธรรมแล้ว มักจะหลับ ปวดหัว สู้ไม่ไหว ฟังไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงอ่านก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจจะไม่เป็นอย่างนั้น ความเข้าใจจะทำให้เบาสบาย และมีความรู้ที่ถูกต้อง อย่างเราเคยยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราเป็นตัวตนเป็นของเรามานานแสนนาน แต่ถ้ารู้ความจริงว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แม้แต่รูป เกิดขึ้นเพราะจากกรรมก็มี จากจิตก็มี จากอุตุก็มี จากอาหารก็มี ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดต้องมี ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เราก็เบาสบายจากการที่เราจะไปยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ผมก็คิดว่า ตามที่ผมถามว่า พระท่านก็สอนไปในลักษณะ แล้วท่านอาจารย์ก็สอนไปอย่างนี้ แล้วผมประมวลว่า คำว่าที่พระท่านสอนในลักษณะนี้ก็คือ พระท่านอาจจะสอนว่าธรรมคือสภาวะที่รักษาผู้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปอธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ผิด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นอกุศล ไมใช่กุศล จะไปรักษาใครได้

    ผู้ฟัง รูปคือสภาวะที่มองเห็นด้วยตา

    ท่านอาจารย์ นั่นคือรูปหนึ่ง ไม่ใช่รูปทั้งหมด

    ผู้ฟัง รูปธรรมนามธรรม ถ้าเราพิจารณาแล้ว เราเข้าใจแล้วก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แต่รู้สึกว่าทำใจยากเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำใจ เป็นปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าทำใจไม่เป็นปัญญา ต้องเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทำใจไม่ได้ ไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ ไปนั่งทำอย่างไร จิตก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยอยู่เรื่อยๆ ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่มีอยู่ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะเห็นว่าไม่ใช่เรา แล้วไม่มีใครทำ เพราะเป็นอนัตตา จิตเห็นใครทำ เวลานี้ จิตได้ยินเวลานี้ใครทำ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิกมีหน้าที่อย่างไร และเกี่ยวพันกันอย่างไร ทำไมถึงแยกกันเกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นขอพูดถึงเรื่องทุกคนไม่อยากจะถึงนิพพาน เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริง ถ้าคิดอย่างที่คุณสุริยงค์คิด คือไม่ถึงนิพพาน แล้วก็ไม่มีอะไรเลย หมดจากโลกนี้ไปเลย ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย คนที่ยังมีกิเลสก็กลัว เพราะว่ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าคนไม่อยากตาย กลัวตาย แล้วนอกจากนั้นคือรู้ว่า ตายแล้วเกิดก็ดี แต่ก็ยังไม่อยากจะหมดสิ้นการตาย คือไม่อยากถึงนิพพาน นั้นพวกหนึ่ง พวกหนึ่งพอได้ยินชื่อนิพพาน ไม่รู้อะไรก็อยาก อยากถึง มีไหมอย่างนี้ มีตั้งหลายคน บางคนก็บอกว่า ขอให้ถึงนิพพานเถิด ไม่รู้อะไรก็เอา นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีเหตุผลเลย แต่ตามความเป็นจริง เรายังไม่ต้องคิดถึงเรื่องนิพพานเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้เราต้องรู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นธรรมที่มีจริง แม้ว่าเราไม่เรียกชื่ออะไรเลย เพราะไม่มีใครจะสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

    สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ในขณะนี้มี ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ อย่างแล้วที่ ๔ คือนิพพาน แต่ว่าขณะนี้มีแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ถ้าเราสามารถจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่า เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เรา นั่นคือความเห็นถูก เพราะว่าถ้าไม่มีการตรัสรู้ ก็มีความเห็นว่าเป็นเราตลอด แต่ว่าเมื่อมีการตรัสรู้แล้วมีการฟังพระธรรม ก็มีการที่จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ใช่การนึกเดา คาดคะเน ประมวลเอา แต่ต้องมาจากการทรงสามารถที่จะตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราก็มีความละเอียดที่จะเข้าใจแม้แต่คำว่าธรรม อย่าเพิ่งคิดว่า เรารู้แล้ว ที่เข้าใจคือธรรมเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงสอนเรื่องธรรม เพราะฉะนั้น ธรรม คือสิ่งซึ่งมีจริงๆ ไม่ได้อยู่กับว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะเห็นหรือไม่เห็น สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้นตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จะเรียกชื่อธรรมว่าอะไรก็ได้ ไม่เป็นอะไรเลย แต่ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี เป็นคำที่กระชับความหมาย ซึ่งถ้าเราถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นก็ยากที่จะหาคำที่จะตรงกัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องอธิบาย แม้แต่เป็นภาษาไทยเราเอง อย่างคำว่า จิต ทุกคนถ้าถามเด็กๆ ถามว่าหนูมีจิตไหม ก็จะตอบว่าอย่างไร มีหรือไม่มี มี แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่มี แต่พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของจิตโดยละเอียดยิบ เพราะเหตุว่าทรงแสดงว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เลย แม้แต่จิต ซึ่งจิตไม่มีใครสามารถจะมองเห็นได้ รู้ว่ามี แต่มองไม่เห็น จิตก็ไม่มีเสียง ที่จะบอกว่าฉันคือจิต หรืออะไรอย่างนั้น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีความเย็น ความร้อนใดๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567