ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๐๐

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรจริง คือสิ่งที่ปรากฏ แม้เรายังไม่นึกถึงรูปร่างเลย สิ่งที่มีจริงนั้นๆ คือ ปรมัตถธรรม แต่บัญญัติเป็นเรื่องราว เป็นความคิดเรื่องปรมัตถธรรมทั้งหมด นามธรรมต่างกับรูปธรรม คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ภาษาไทยเราชินกับคำว่าจิตใจ เราทุกคนบอกว่าเรามีจิตใจ ไม่ใช่มีแต่ร่างกาย แต่เรายังไม่รู้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร ถามว่าจิตอยู่ที่ไหนขณะนี้ ก็อาจจะตอบไม่ได้ แต่ความจริงจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับรูป เพราะรูปเกิดขึ้น แต่รูปไม่รู้อะไร แต่เวลาจิตเกิดขึ้น จิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ อย่างขณะที่เสียงปรากฏ เสียงในป่าก็มี แต่ไม่ปรากฏ แต่ขณะใดที่เสียงหนึ่งเสียงใดปรากฏ หมายความว่ามีจิตที่ได้ยินเสียง คือรู้ในลักษณะอาการของเสียงนั้น โดยไม่ต้องใช้คำแปล ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งสิ้น เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงทุกอย่าง จะต่างกันมากสักเท่าไร จิตก็เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏทางหูของเสียงนั้นๆ ได้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ขณะนี้ทุกคนมีจิตไหม เพราะอะไรถึงว่ามี ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้แน่ ทางตากำลังเห็น ขณะที่เห็นเป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา พอได้ยินเป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งแล้ว เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางหู

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่ใช่ก้อนเนื้อเกิด แต่ว่ามีจิต เจตสิก รูปเกิด ขณะนั้นไม่ใช่มีแต่รูป แต่ว่ามีจิตเจตสิกเกิดร่วม เป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง แล้วยังงงเลยว่า โทรทัศน์เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นโทรทัศน์เลย ปิดไฟให้หมด แล้วกระทบสัมผัสสิ่งที่เราคิดว่าเป็นโทรทัศน์ เวลากระทบสัมผัสมีอะไรปรากฏ ความแข็ง เพราะฉะนั้น ลักษณะที่แข็งที่กระทบเป็นสิ่งที่มีจริง แต่รูปร่างอย่างนี้ ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ เราเรียกว่าโทรทัศน์ เพราะฉะนั้น เราก็จำๆ ๆ ปรมัตถธรรม แล้วก็เรียกชื่อสิ่งที่สมมติบัญญัติ โดยที่เราไม่รู้ว่าความจริงแล้วก็คือแข็ง รูปธรรมกับนามธรรม ไม่ทราบว่าแจ่มกระจ่าง ชัดเจน หรือยัง หรือยังสลัวๆ ถ้าเราจำความจำกัดความ ว่าสิ่งใดที่เกิด แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป อะไรก็ตาม แข็งก็เป็นรูป ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูป เพราะว่าไม่รู้อะไร คนตายกับคนเป็นมีรูปร่างเหมือนกัน ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป เขาก็พูดได้ เดินได้ คิดได้ ทำทุกอย่างได้ เพราะมีจิต แต่พอจิต เกิดแล้วดับเป็นขณะสุดท้ายของชาตินี้ ที่เราสมมติเรียกกันว่า “ตาย” รูปนั้นก็ไม่มีจิตใจอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ก็พอจะเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่า เห็นไม่ใช่ตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะมีสิ่งที่ปรากฏกระทบตาก็เป็นปัจจัยให้มีสภาพรู้เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเสียง หูไม่ใช่จิต เสียงก็ไม่ใช่จิต แต่เพราะเสียงกระทบหู จึงเป็นปัจจัยให้มีธาตุรู้ชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น ที่เคยคิดว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน ก็คือนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งมีจริงๆ เห็นได้ระหว่างคนตายกับคนเป็นว่า คนตายไม่มีสภาพรู้อีกต่อไป แต่ว่าคนเป็นมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่เราไม่เคยรู้ว่า นั่นเป็นสภาพรู้ เราเคยคิดว่า เป็นเราทั้งหมด แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า มีธาตุหรือสภาพธรรม ๒ อย่างซึ่งต่างกัน คือ รูปธาตุไม่ใช่นามธาตุ หรือว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรม แล้วก็ทรงแยกละเอียดว่า นามธรรมมี ๒ อย่าง ไม่ใช่มีจิตเท่านั้น แต่มีเจตสิก คือ สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ขณะที่จิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด แต่ใครจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม เป็นนามธรรมซึ่งต้องเกิดด้วยกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    นี่ก็ทำให้เราสามารถที่จะรู้จิตใจของเราละเอียดขึ้นว่า จิตของเราแต่ละขณะทำหน้าที่อะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิตกี่ชนิด

    ผู้ฟัง ขอถามปัญหา ถ้าเผื่อว่าคนเรา จิต ความคิด การพูดการจา การคิด การอะไร มี เป็นจุดๆ กลางสมอง หรืออย่างคนที่เป็น Stroke ขึ้นมาแล้ว จุดนั้นจะดับ เหมือนกับคอมพิวเตอร์สายไฟฟ้า เพราะฉะนั้น จิตอยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ตอนที่จิตเกิดเพิ่งเกิดเป็นขณะแรกในชาตินี้ มีสมองไหม เพิ่งเกิดขณะแรก ตอนอยู่ในครรภ์ขณะแรกที่สุด ขณะนั้นมีสมองไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่มีจิต แล้วก็มีเจตสิกเกิดพร้อมกับรูปที่เล็กมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมหลายๆ กรรมที่ทำ ทำให้มีการเกิดขึ้นของจิตเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม และรูปนั้นก็เป็นรูปที่กรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้นด้วย

    เวลาที่พูดถึงสภาพธรรม โดยมากเราไม่เคยรู้เรื่องปรมัตถธรรม เรารู้แต่เรื่องราว ซึ่งศึกษากันมาตามวิชาการต่างๆ แต่ถ้าเราพิจารณาละเอียดจริงๆ ก็จะพบคำตอบว่า ขณะแรกที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นยังไม่มีรูปที่เป็นสมอง แต่ว่ามีรูป ๓ กลุ่มเล็กๆ ที่เกิดเพราะกรรม ใช้คำว่ากลุ่ม เพราะว่ารูปเองก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นตามลำพังได้ รูปต้องอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น สภาพธรรมใดที่ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นลอยๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะค้นคว้าไปถึงศาสตร์ต่างๆ แล้วพยายามจะย่นย่อลงให้เหลือสั้นที่สุดเล็กที่สุดก็ยังมีส่วนประกอบ ที่จะต้องอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิก แล้วเจตสิกก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต ในภพภูมิที่มีรูปอย่างเรา กรรมเกิดที่นี่ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมก็จะเกิดนอกรูปไม่ได้ ต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ตั้งแต่เกิดมาแม้แต่ขณะแรกรูปก็เกิด แล้วก็มีรูป ๓ กลุ่ม เรียกว่า ภาษาบาลีใช้คำว่า “กลาป” มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ที่ใช้คำว่ากลุ่ม เพราะเหตุว่าเป็น ๘ รูป ไม่ใช่รูปเดียว แต่ว่าติดกันแน่นจนแยกไม่ได้

    ใครจะไปแยกรูปให้กระจัดกระจายเหลือเล็กที่สุด ละเอียดที่สุดก็ยังต้องประกอบด้วยรูป ๘ รูป ในขณะที่เกิดก็จะต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต กลุ่มหนึ่ง รูปที่เป็นกายปสาทกลุ่มหนึ่ง มีรูปซึ่งเป็นภาวะรูป คือ อิตถีภาวะเพศหญิง หรือปุริสภาวะ เพศชาย ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวเมื่อโตขึ้น เพราะฉะนั้น แขน ผิว ทุกส่วนจะต่างกัน ตามภาวะรูป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เกิดขณะแรกไม่มีใครสอนเรา ถึงเรื่องจิตขณะแรกที่เกิด เพราะว่าจิตเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ขณะนี้แม้มีจิต แต่ก็ไม่มีใครเห็นจิตเลย แต่จิตมีแน่นอน

    ผู้ฟัง พอคนเราตายไปแล้ว จิตไปไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตเกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับ เพราะว่าจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อทันทีที่จิตขณะแรกดับ จะเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิด สืบต่อรวดเร็วไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นความตายมี ๓ อย่าง ขณิกมรณะ คือจิตเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ นี่คือความตายทุกขณะจิต ไม่เที่ยงเลย ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ ขณะนี้กับเมื่อกี้นี้ ขณะนี้เป็นอนาคตของเมื่อกี้นี้ แต่กำลังเป็นอดีตของขณะต่อไป

    ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจ ว่าเกิดแล้วดับหมายความว่าอย่างไร แล้วระหว่างที่ดับไปไหน

    ท่านอาจารย์ ไฟเกิดแล้ว ดับแล้วไปไหน ไฟที่เกิดแล้วดับ ไฟนั้นไปไหน นั่นเป็นรูปธรรม แต่จิตเป็นนามธรรม ไม่มีใครที่จะไปสัมผัสกระทบได้เลย เป็นธาตุรู้ ถ้าใช้คำว่าธาตุรู้ หมายความว่าธาตุรู้อย่างที่ไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น จะใช้คำว่า ร้อยเปอร์เซนต์ พันเปอร์เซนต์ หรือกี่เปอร์เซนต์ก็ตามแต่ แต่สภาพที่เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมล้วนๆ โดยที่ไม่มีรูปธรรมใดๆ เลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเอาสีออกไปจากโลกนี้ให้หมด เอาเสียงออกไปให้หมด เอากลิ่น เอารส เอาสัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็งออกให้หมด แต่ยังมีธาตุรู้ นั่นแหละคือสภาพของธาตุรู้ เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ เวลาที่เราศึกษาเรื่องธาตุ เราคิดถึงรูปธาตุ ซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้เลย แต่เราลืมว่า วิชาการ ใดๆ ในโลก หรือแม้แต่คนที่นั่งอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมจะไม่มีการรู้อะไรเลย ทั้งสิ้น รูปก็เกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นร้อนที่สม่ำเสมอ มีแสงแดดมีพืชพันธุ์ มีอะไรๆ ก็แล้วแต่ที่จะเจริญเติบโตขึ้น แต่ไม่มีธาตุรู้ ไม่มีจิต ก็ไม่เดือดร้อน ก็เกิดไป น้ำท่วม ไฟไหม้ ก็ไม่มีใครเดือดร้อนเลย

    แต่ที่ทุกคนมีปัญหา เพราะเหตุว่า มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ เกิดขึ้นรู้ทุกอย่าง จิตเป็นสภาพที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไร ตั้งแต่เกิดจนตายที่เราคิดว่า เราเห็นเพื่อน ไปโรงเรียน สนุกสนาน ได้ยินเสียงนั้น ดูโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้คือจิต ถ้าไม่มีจิต สิ่งต่างๆ หล่านี้ไม่ปรากฏ ถึงมี ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ หรือปรากฏให้รู้ได้ แต่ทุกขณะที่อะไรก็ตามปรากฏ ให้ทราบว่า เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น จิต จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตเกิด และดับทันที เร็วมาก สิ่งใดก็ตามที่เกิด และดับอย่างเร็ว ไม่ปรากฏว่าดับ

    ผู้ฟัง เราตายไปแล้วดับทันทีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ จิตเกิดแล้วดับตลอด

    ผู้ฟัง ร่างกายเราตอนนี้ เกิดแล้วดับ ไปๆ มาๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ไป ไม่ไป

    ผู้ฟัง ไม่ไป ... ดับแล้วเกิด ใช่ไหม ทีนี้สมมติว่าผมอายุมากแล้ว ตายทันที แล้วทีนี้จะไปไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้เรื่องจิต จะสงสัยว่า ตายแล้วไปไหน แต่ถ้าทราบว่า แม้ขณะนี้เอง จิตกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ตายทุกขณะ เป็นขณิกมรณะ ส่วนการที่คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ที่เราสมมติว่าตาย เป็นสมมติมรณะ เราสมมติว่าตาย เพราะเราไม่รู้ว่า โดยที่จริงแล้วจิตเกิดดับต่อไปอีก ไม่มีใครยับยั้งการเกิดดับของจิตได้เลย ทันทีที่จุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ เพราะว่าจิตทุกดวงเมื่อดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อไปก็เป็นภพใหม่ชาติใหม่ ไปเรื่อยๆ เราจึงเรียก “สมมติมรณะ” จนกว่าจะถึงการตายที่ไม่ต้องเกิดอีกเลยของพระอรหันต์จึงเป็นสมุจเฉทมรณะ หมายความว่า ตายจริงๆ คือไม่มีการเกิดขึ้นอีกแล้ว

    ยอมรับไหมว่า จิตเกิดดับ เมื่อกี้พูดเรื่องจิตเกิดดับ อาจจะยังไม่ชัดเจน คล้ายๆ กับว่า จิตเก่ากับมาเกิด ถึงใช้คำว่า ไปๆ มาๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ไฟที่เกิด เกิดเพราะเปลวไฟ หรือไส้ไฟอันไหนดับลง ไส้ไฟใหม่ก็เป็นปัจจัยให้เปลวไฟใหม่เกิด เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตาม ถ้าไม่มีปัจจัยไม่เกิด ต้องมีปัจจัยที่พร้อมหรือเฉพาะที่จิตนั้นจะเกิดขึ้น จิตนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ แล้วเมื่อเกิดแล้วดับ จิตทุกขณะเกิดขึ้นทำงานของจิตอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ใช่คนขี้เกียจ จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ซึ่งทั้งหมดแล้วมี ๑๔ กิจ จิตที่ทำกิจทั้งหมด ๑๔ กิจ เวลาที่จิตมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่เสร็จก็ดับ ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นต้องมีปัจจัยให้จิตใหม่เกิด

    ถ้าศึกษาเรื่องปัจจัยจริงๆ จะทราบว่า มีปัจจัย ๒๔ ประเภท ที่ทำให้จิต เจตสิก รูป เกิด แล้วเมื่อเกิดแล้ว จิตก็ดับ ขอยกตัวอย่าง จิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต มีจริงๆ ใช่ไหม ในชาตินี้ ถ้าไม่มี ทุกคนไม่มานั่งอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตขณะแรก คือปฏิสนธิจิตเกิด แล้วดับ แล้วปฏิสนธิจิตของชาติหนึ่งจะมีเพียงครั้งเดียว การตาย จุติ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ก็มีเพียงขณะเดียว แต่ว่าระหว่างปฏิสนธิ คือ เกิดกับยังไม่ตาย จะต้องมีจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ การดับของปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตที่เกิดต่อยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน โดยเฉพาะถ้าเกิดในครรภ์ รูปเล็กมาก ยังไม่เติบโต ยังไม่มีตา ยังไม่มีหู แต่ว่าจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิแล้วก็ดับแล้วก็เกิดต่อ จิตที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ทำภวังคกิจ มีหน้าที่ แต่ไมใช่หน้าที่ของปฏิสนธิ เพราะหน้าที่ของปฏิสนธิจิตเฉพาะขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    เมื่อจิตขณะแรกทำหน้าที่นั้นแล้ว จิตขณะหลังจะมาทำหน้าที่นั้นอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตขณะที่ ๒ ต่อจากปฏิสนธิจิต ทำภวังคกิจ ทีนี้ทุกคนได้ยินคำว่าภวังค์บ่อยๆ คนนั้นตกภวังค์บาง คนนี้เป็นภวังค์บ้าง แต่ความจริงภวังค์มาจากคำ ๒ คำ คือ ภว หรือ ภพ กับ อังค หรือ องค์ หมายความถึงองค์ของภพ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นภวังค์ เกิดดับดำรงภพชาติ หมายความว่ารักษาความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้ตาย จนกว่าจุติจิตจะเกิด

    นี่คือชีวิตของแต่ละคนซึ่งเกิดมาในโลก บางคนมีอายุสั้น บางคนก็มีอายุยืนยาว แล้วแต่กรรม จะให้ใครทำให้จุติจิตเกิดก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีกรรมที่จะทำให้จุติจิตเกิด เพราะฉะนั้น ทราบได้เลยว่า จิตแต่ละขณะเกิดมาทำหน้าที่ ตอนนี้ขณะปฏิสนธิก็ดับไป แล้วขณะต่อไปก็เป็นภวังค์ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภวังค์อยู่พอสมควร หลังจากนั้นจิตจะเกิดนึกคิดขึ้นมา โดยความติดข้องในความเป็น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตขณะต่อไปจะเกิดต่อจากภวังค์ จะเป็นจิตที่ติดข้องในภพชาติ เป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดเป็นประจำ แม้แต่ว่าตายจากชาติก่อน มาสู่ความเป็นชาตินี้ ก็ติดในความเป็นชาตินี้ ก่อนนอน คุณหมอคิดเรื่องอะไร สวดมนต์หรือ สวดมนต์แล้วหลับเลยหรือเปล่า หรือยังคิดอะไรต่อ

    ผู้ฟัง ทำดีทำชั่ว

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นคนที่ดีมาก คือ หมายความว่า คิดในสิ่งที่ดี ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะคิดถึงว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร งานยังคั่งค้างอยู่ จะไปติดต่อใคร ที่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดก่อนหลับ ทันทีที่ตื่น ก็มาอีกแล้ว โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น เป็นเพื่อนสนิท อยู่ที่ใจอยู่กับจิตตลอด ไม่เคยห่างไปเลย เราคิดว่าเราต้องการเพื่อน แต่ความจริงโลภะต่างหากที่ต้องการ คิดว่าเราอยากมีอะไรทั้งหมด โลภะทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ใช้คำว่ามีเพื่อน ๒ แม้ว่าเราอยู่คนเดียว เราคิดตลอดเวลา ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ คิดถึงคนโน้นคนนี้ คิดถึงคนหนึ่ง เดี๋ยวคิดถึงอีกคน เป็น ๒ คน คิดถึงอีกคนเป็น ๓ คน เป็น ๔ คน

    นี่แสดงว่า เรายังไม่เคยรู้จักสภาพของจิตของเราโดยละเอียด แต่อภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรมที่เราศึกษา จะทำให้เราสามารถจะเข้าใจสภาพจิตใจของเราชัดเจน และละเอียดขึ้นตั้งเกิดจนตาย แม้แต่ว่าพอสามารถจะรู้สึกตัว พอเกิดขณะแรกที่ไม่รู้สึกตัวเลย เป็นภวังค์ก็ไม่รู้สึกตัว เพราะเหตุว่าภวังค์เหมือนกับหลับสนิท ตอนที่หลับสนิท เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราชื่ออะไร อยู่ที่ไหน นอนอยู่ที่บ้านนี้ หรือนอนอยู่ที่บ้านไหน ก็ไม่ทราบ เพราะว่าหลับสนิท จะมีทรัพย์สมบัติ มีเพื่อนฝูง วงศาคณาญาติมากสักเท่าไรก็ไม่ทราบ เพราะว่าหลับสนิท นั่นคือภวังคจิต

    เพราะฉะนั้น ต่อไปให้ทราบความหมายของภวังคจิตว่า ขณะใดที่เหมือนกับหลับสนิท คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย ขณะนั้นเป็นภวังค์ เป็นจิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติ เพื่ออะไร เกิดมา ปฏิสนธิแล้วก็ไปภวังค์ เพื่อรับผลของกรรมโดยต้องเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าเห็นสิ่งที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม เพื่อได้ยินเสียงอีก เพื่อได้กลิ่นอีก เพื่อลิ้มรสอีก เพื่อรู้สิ่งที่กระทบกายอีก ก็มีเท่านี้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก แล้วก็มีจิตที่คิดนึก

    นี่คือชีวิต พรุ่งนี้ก็เห็นอีก ได้ยินอีก เมื่อวันก่อนก็ได้เห็นอีก ก็ได้ยินแล้ว เมื่อวานก็ได้เห็นก็ได้ยินก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ใช้คำว่าสังสารวัฏ วัฏฏะ แปลว่า วนเวียน สังสาร แปลว่า เที่ยวไป วนเวียนเที่ยวไป ทางตา เดี๋ยวเห็น ทางหูเดี๋ยวได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก แต่ไม่ใช่เที่ยวไปด้วยขา แต่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้ เดี๋ยวรู้ทางตา เดี๋ยวรู้ทางหู เป็นจิตที่เกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วก็ดับ

    ถ้าเราจะไม่คิดถึงสถานที่ ว่าเราอยู่ในโลกส่วนไหน จะเป็นเมืองไทย หรืออเมริกา หรือที่ไหนก็ตาม เพียงแต่จิตเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีสถานที่ทั้งสิ้น แต่ความทรงจำในสิ่งที่เห็น จำภูมิประเทศ จำทุกสิ่งได้ ก็เกิดบัญญัติ คือ สมมติทรงจำเรื่องราวต่างๆ ของปรมัตถธรรม

    บัญญัติ หมายความถึงความคิดของเราในเรื่องสิ่งต่างๆ ที่มีจริง แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง ต้องแยกให้ออก

    เพราะฉะนั้น มีปรมัตถธรรม มีจิต มีเจตสิก มีรูป แล้วก็มีสมมติบัญญัติ ชื่อแจ็คก็เป็นบัญญัติ จริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป แล้วบัญญัติเรียกว่าแจ๊ค เพราะฉะนั้น จริงๆ คือแข็งแล้วก็มีสี แต่บัญญัติ เรียกว่าทีวี

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้เป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่าไม่ได้เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แล้วก็ไม่ใช่นิพพาน

    ท่านอาจารย์ จึงเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว ความทรงจำ

    ผู้ฟัง แพทย์เมืองไทย ๒ คนเขาผ่าตัดเย็บแผลมากเลย คนไข้ไม่สามารถจะกินน้ำ ไม่สามารถที่จะฉีดยา เพราะแพ้ยา เขาใช้วิธีการสะกดจิต อย่างนี้ผมไม่ทราบว่าความหมายเดียวกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เกิดมาด้วยความไม่รู้ แล้วเราก็ไม่รู้ ไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราก็คิดเรื่อง สะกดจิต หรืออะไรก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า ลักษณะของจิต เจตสิก รูป จริงๆ เราก็จะมีแต่ความคิดเรื่องจิต คิดไม่จบ เรื่องจิต เพราะเป็นเพียงความคิด แต่ถ้าเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต ไม่ต้องคิด จะรู้ได้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้ว เรามีโลกคนละใบ เพราะทุกคนมีจิตคนละ หนึ่งขณะ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรเลย มืดสนิท แต่มีธาตุรู้ เกิดขึ้น แล้วขณะใดที่ไม่มีแสงสว่าง ขณะนั้นก็มืด อย่างเวลาที่เรากระทบแข็ง ขณะที่แข็งปรากฏยังไม่ได้สว่าง

    ส่วนใหญ่แล้ว เราจะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแสง หรือสว่าง หรือสี นิดหนึ่งแล้วก็ดับ แต่เราก็จำไว้ แล้วคิดเรื่องนั้น พอมีเสียงกระทบหู ความจริงเป็นเสียง แต่เราค่อยๆ จำจนกระทั่งเป็นภาษา เป็นคำ จนกระทั่งรู้ความหมายว่า ถ้าเสียงสูงอย่างนี้ ภาษานี้เป็นอย่างนั้น ภาษานั้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็มีความทรงจำเรื่องเสียง โลกใบนี้ คิดตลอด มืดสนิท ขณะที่คิด แต่พอมีแสงสว่างปรากฏทางตานิดหนึ่ง แล้วก็คิดเรื่องนั้น พอมีเสียงกระทบหูนิดหนึ่งคิดเรื่องเสียง พอมีกลิ่นกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องกลิ่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567