ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๑๓

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราสะสมใหม่ที่จะเป็นคนที่รอบคอบ และละเอียด แล้วก็ไม่ทำอะไรทันที เราก็จะเป็นบุคคลนั้นได้ คือเข้าใจ ทั้งหมดนี้คือความเข้าใจ ให้เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญานี่ไม่มีอะไรที่จะดีหรือประเสริฐเท่า แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เจริญขึ้น อย่าหวังว่าจะเกิดมากเกิดเร็ว แล้วก็เปลี่ยนจากวันนี้เป็นพรุ่งนี้หน้ามือเป็นหลังมือ เป็นไปไม่ได้ แต่ค่อยๆ อบรมได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดคนที่จะอบรมคือคนที่รู้จักตัวเอง ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีทางเลย อย่างบางคนเขาก็อยู่เหมือนเขาไม่มีโลภะ คุณแอ๊ดก็คิดว่าเดี๋ยวโลภะ เดี๋ยวก็โลภะ ใหญ่ๆ มากๆ ด้วย แต่บางคนเขาอาจจะคิดว่าเหมือนไม่มีโลภะเลย แต่เขารู้จักตัวเองหรือเปล่า

    ข้อสำคัญที่สุด คือเห็นตัวเองตามความเป็นจริง บางคนโกรธ แต่ไม่แสดงเลย ฝึกหัดอบรมมาดีมาก กายวาจาสงบ แต่เขารู้ตัวเขาไหม ไม่มีใครจะรู้จักใครดีเกินกว่าตัวเอง แล้วการรู้เป็นเหตุที่จะทำให้อบรมได้ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้อบรมเลย แต่ต้องเป็นปัญญาอย่างเดียวที่กล้าพอที่จะเปลี่ยน ไม่ลืมเลย ธรรมต้องเป็นธรรมดา เพราะว่าขณะนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะดลบันดาลให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้เลย มีแล้วทุกขณะ เราลืมว่าขณะนี้มี มีแล้วไม่ต้องทำอะไรขึ้นมาเลย ทุกสิ่งในขณะนี้มี เมื่อศึกษาแล้วก็ทราบได้ว่า เพราะมีเหตุมีปัจจัย สภาพธรรมในขณะนี้จึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ขณะนี้ใจของทุกคนคงจะไม่เหมือนกันเลย ต่างกันมาก แต่เมื่อแสดงโดยประเภท ทรงแสดงโดยละเอียดว่า มีต่างกันเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท แต่ว่าใน ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภทก็จำแนกเป็นส่วนใหญ่ๆ อย่างโลภมูลจิต เป็นอกุศลที่เป็นความติดข้องต้องการ ประมวลไว้ว่ามี ๘ แต่ความหลากหลายเกิน ๘ แต่ถึงจะหลากหลายอย่างไร มากมายสักเท่าไร คนในโลกนี้ ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต จะมากมายสักเท่าไรก็ตาม ความติดข้องต้องการประมวลแล้วก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๘ อย่าง

    นี่ก็เป็นตัวอย่างเรื่องของจิตใจซึ่งมองไม่เห็น แล้วบางทีใจของเราเอง เรารู้หรือเปล่าว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร น่าคิดใช่ไหม เพราะว่าบางคนบางกาลก็ดี บางกาลก็อกุศลจิตเกิด แต่ต้องยอมรับตามความเป็นจริง สิ่งใดที่มี ทั้งหมดไม่ว่าดี หรือชั่ว ก็เป็นธรรม เพราะว่าบางคนอยากมีแต่กุศล พออกุศลเกิดขึ้น ถ้ารู้สึกตัว บางคนอาจจะรังเกียจมาก ไม่อยากจะมีอกุศลอย่างนี้เลย แต่เกิดแล้ว เป็นแล้ว แสดงให้เห็นถึงการสะสม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จริงทุกคำในพระไตรปิฎกจากการตรัสรู้ ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ตั้งแต่สมัยที่ยังทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งได้ตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม ทำให้แต่ละคนเกิดปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ไม่มีใครสามารถที่จะมีความคิดขึ้นมาได้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงๆ เกิดปรากฏ แล้วก็ดับไป ตอนนี้ยากมาก ใช่ไหม โดยขั้นการฟัง สามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยง เล็กๆ น้อยๆ ชั่วครั้ง ชั่วคราว อย่างเมื่อกี้นี้ก็ไม่ใช่ขณะนี้ ขณะก่อนต้องหมด แล้วถึงจะถึงขณะนี้ได้ แต่ถ้าย่อให้สั้นจนกระทั่งเพียง หนึ่งขณะจิต จะเห็นว่าสภาพธรรม เกิดขึ้นเป็นแต่ละอย่างจริงๆ แล้วแต่ละคนตลอดชีวิต ทั้งชาติก่อน ชาตินี้ และชาติต่อไปก็จะมีเพียงสิ่งที่ปรากฏ ให้เห็นทางตาอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีเหตุปัจจัย เพียงแค่ไม่มีจักขุปสาท ตาบอดเฉียบพลันนี้เป็นไปได้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่ปรากฏแล้ว

    ถ้าศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะมีความเข้าใจ ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า ไม่มีอะไรเลยที่เป็นเรา จริงๆ เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อกี้นี้ได้ยินเหมือนเป็นเราได้ยิน แต่ความจริงคือสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงๆ สามารถได้ยินเสียง ได้ยินแล้วก็ดับไป แต่ความจริงสิ่งที่หมดไปแล้วจะกลับมาไม่ได้อีกเลย เพียงชั่วขณะที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิด แล้วก็ดับ การตรัสรู้สภาพธรรมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปได้ แต่ต้องด้วยปัญญา

    ถ้ามีความรู้สึกว่าเป็นเรา ที่อยากจะมีปัญญา ขณะนั้นก็เป็นเครื่องกั้น เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าปัญญาเป็นปัญญา แม้ปัญญาก็ไม่ใช่เรา แต่ปัญญาก็มีจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังมีจริงในขณะนี้ จริงแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่เราสักอย่างเดียว บางทีเราก็พอจะคิดอย่างนี้ เมื่อกำลังจะจากโลกนี้ไป หรือบางคนก็ไม่จาก ตอนที่จะจากก็ไม่คิดด้วยซ้ำไป ยังไม่ยอมจะจากไป แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ว่าความจริงแล้ว ก็มีหลายอย่างในพระไตรปิฎกที่ทำให้ทุกคนที่ได้ฟัง เป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ จริงก็คือจริง สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ฟังธรรม ทุกคนก็คงจะกลัวตาย คุณซีกลัวไหม เดี๋ยวนี้ยังกลัว เพราะอะไร เพราะไม่มีใครอยากจากสิ่งที่เคยเป็นเรา แต่จริงๆ แล้ว เราจะไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเหตุว่าขณะที่เกิด ขณะแรกที่จิตเกิดก็ไม่มีใครรู้สึก ขณะที่จิตขณะแรกดับไป จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทำกิจภวังค์ ก็ไม่มีการรู้สึกว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน จนกว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก และจำ จำสิ่งที่มี จำว่าเป็นเราหรือของเราด้วยความไม่รู้ ในขณะที่เกิด คือ ปฏิสนธิขณะ ทุกคนคงทราบคำนี้ ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น เพียงขณะเดียวในชาติหนึ่งๆ แล้วปฏิสนธิจิตนั้นก็ดับ แล้วภวังคจิตที่เกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ก็เลือกไม่ได้ว่า จะให้เป็นคนนี้ที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เมื่อไรจะเกิดเห็นขึ้น มีใครรู้ไหม กำลังหลับ เมื่อไรจะตื่น รู้ล่วงหน้าไหมว่า เมื่อไรจะตื่นไม่รู้เลย แต่ตื่นเพราะเหตุปัจจัย ตื่นเพราะเห็น หรือว่าเพราะได้ยิน หรือเพราะได้กลิ่น หรือเพราะลิ้มรส หรือเพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน กรรมที่ได้ทำไว้แล้วมากมายนับไม่ถ้วน แต่ต้องถึงกาลที่จะให้ผล จึงจะเกิดขึ้นได้

    นี่เป็นเหตุที่เราเลือกไม่ได้เลย แม้แต่จะหลับจะตื่นจะเห็นจะได้ยิน จนกระทั่งถึงขณะสุดท้าย แต่ขณะสุดท้ายที่ทุกคนกลัว ถ้ารู้ว่า ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือว่าใครก็ตามที่จากเราไปแล้ว เราอาจจะคิดว่า เขาคงจะเจ็บปวด ตกใจ ทุกข์ ร้อน เศร้าโศก แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ขณะจุติ ไม่ใช่จิตขณะสุดท้าย เป็นจิตก่อนขณะสุดท้าย ถ้าจิตขณะสุดท้ายจริงๆ ไม่มีใครรู้ ไม่ทันจะกลัว หรือจะอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าถ้าคิดถึงคนป่วย เจ็บหนัก กังวล ก่อนจุติ คือ ก่อนที่จะเขาจะตาย ถ้าเขาจะเป็นอย่างนั้น ก่อนที่เขาจะตายหลายวันหลายเดือน เขาก็เคยป่วย แล้วก็เคยเจ็บ แล้วก็เคยกังวล แต่ก็ไม่ตาย เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ว่าขณะเจ็บ ถึงเมื่อไรจะตายจริงๆ คือ จิตขณะสุดท้ายดับแล้วไม่เกิด ขณะที่กังวล เราก็กังวลมาแล้ว คนที่ใกล้จะสิ้นชีวิตก็อาจจะกังวลเรื่องอื่น แต่ก็ไม่ตาย เมื่อกรรมยังไม่ทำให้จุติ ใครก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตขณะสุดท้ายเกิด เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ได้

    ธรรมเป็นเรื่องจริงทุกคำ แล้วก็สามารถที่จะพิจาณาเป็นประโยชน์ แล้วเห็นค่าของการมีชีวิตอยู่ ที่ได้มีโอกาสสะสมความรู้ ความเห็นถูกในพระธรรมซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะแสดงได้เลย ต้องเป็นผู้ที่ตรัสรู้เท่านั้น แล้วทรงพระมหากรุณาแสดงถึง ๔๕ พรรษา แต่ต้องเห็นจริงๆ ว่า การที่แต่ละคนเริ่มที่จะศึกษา เริ่มที่จะฟังธรรม จะเทียบกับปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้ ทรงแสดง และผู้ที่ดำรงสืบทอดมาถึงเรา เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่รู้ธรรมนั้นแล้ว สืบทอดจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎก ปัญญาของท่านมากมาย เมื่อศึกษาแล้วจะรู้ได้ว่า ไม่ง่าย แต่เป็นความจริง

    ความจริงสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เข้าใจได้ทุกขณะ ก็ต้องอดทนตามที่ได้ทรงแสดงไว้ โอวาทปาติโมกข์ ขันติ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง กิเลสมีมากมาย อยากหมดไหม ถ้าใครไม่มีกิเลส เป็นคนดี จนกระทั่งดีที่สุดเพราะไม่มีกิเลสเลย แต่ใครจะทำให้กิเลสหมดได้ ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้กิเลสหมดได้เลย นอกจากปัญญาซึ่งไม่ใช่เราด้วย ต้องมีความเข้าใจอย่างมั่นคง ตั้งแต่คำแรกที่ได้ยินได้ฟัง ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เป็นอนัตตา คำนี้ลืมไม่ได้ ไม่ว่าอยากจะเป็นคนดีสักเท่าไร แต่ยังไม่ดีเท่าที่ต้องการ หรือไม่อยากจะให้อกุศลเกิดเลย แต่อกุศลประเภทซึ่งไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นมาได้ ก็ตามเหตุตามปัจจัย

    พระธรรมก็ทำให้เห็นธรรมว่าเป็นธรรม เมื่อมีความเข้าใจที่จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา แต่ต้องขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง วันนี้มีผลไม้สวยๆ ดอกไม้สวยๆ แกะสลักสวยๆ ต้องมีวิริยะ ต้องมีความเพียร เพียรอย่างนั้นยังทำได้ เพียรเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่จะเพียรทำให้วิจิตร แต่เป็นความเพียรที่สามารถที่จะขจัดความไม่รู้ ความสงสัยออกได้หมด ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปด้วยความอดทนอย่างยิ่ง ถ้าเราเคยอดทนมาแล้ว คนที่อดทนเก่งๆ พอฟังธรรมรู้ไหมว่า ต้องอดทนเพิ่มขึ้นอีกมากขึ้นอีกสักเท่าไร กว่าที่จะได้เข้าใจแล้วก็ยังประพฤติปฏิบัติตามโดยสังขารขันธ์ คือฟังธรรมแล้วจะเกิดความคิดว่าเราจะทำ อันนั้นไม่ถูกต้อง แต่ถึงแม้ว่าคิดอย่างนั้นแล้วรู้ว่า แม้ความคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นตามการสะสม

    หนทางนี้จึงเป็นหนทางที่ละเอียดจริงๆ อริยสัจจะทั้ง ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ ไม่ใช่เฉพาะนิโรธสัจจะอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นทุกขอริยสัจจะก็ลึกซึ้ง สมุทัยสัจจะก็ลึกซึ้ง นิโรธสัจจะลึกซึ้งแน่นอน มรรค คือ หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ลึกซึ้งมาก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เรื่องที่ติดหรือเรื่องที่ต้องการ หรือเรื่องที่จะเอา ถ้าเป็นลักษณะของความติดหรือความต้องการที่จะเอา ตัวตน เห็นไหมว่า มีกำลังถึงกับจะให้คิดที่จะเอา แทนที่จะละความไม่รู้ออกไป เช่นในขณะนี้ กำลังเห็นอย่างนี้ เห็นอย่างไร เข้าใจถูก เห็นถูก รู้ถูก ตามความเป็นจริงอย่างนั้น อย่างที่ได้ยินได้ฟังแล้วหรือยัง ถ้ายังก็คืออบรมไปโดยการที่มีความเข้าใจถูกต้องว่า ความรู้แค่นี้เป็นขั้นฟัง แต่ก็มีสภาพธรรมที่พิสูจน์ปัญญาของเราเอง ไม่ต้องไปถามใครที่ไหนเลย แต่ปัญญาของเราเองจะรู้ตามความเป็นจริงว่า มีหนทางไหมที่จะรู้ว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาทั้งหมดนี่เป็นความจริง แม้แต่กำลังเห็นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ เครื่องยืนยัน กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องสอบความรู้ ความเข้าใจของเราเอง ถ้ามีเพียงนิดหน่อย เพิ่มขึ้น แต่คงต้องรู้ระดับ ถ้าคิด หมายความว่าขณะที่คิด ไม่ใช่กำลังรู้ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม มีลักษณะ สภาวะลักษณะอย่างนั้นจริงๆ ยังไม่ใช่สติอีกระดับหนึ่ง เป็นสติขั้นฟัง ขณะนี้ฟังเข้าใจ เป็นเราหรือเปล่า ก็คงต้องเตือนกันบ่อยๆ โดยการฟัง ไม่ใช่เรา แต่ยังถอนความเป็นเราออกไปไม่ได้เลย เพียงแต่เข้าใจเรื่อง และเข้าใจทางที่จะทำให้รู้ว่า การที่จะละคลายความเป็นเราไม่ใช่ทันทีทันใด ทุกท่านต้องสะสมมามาก แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอัครสาวก ท่านก็เป็นพหุสูตรในชาติก่อนๆ ของท่าน อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา แต่ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา เพิ่มขึ้นอีก ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป แต่ไม่เคยท้อถอยเลย เพราะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงๆ อย่างนี้ ต้องมีความลึกซึ้งแล้วก็ต้องเป็นความจริงที่สามารถจะรู้ได้จากการที่ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ สะสมบารมีที่จะเข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าลักษณะของเห็น มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของได้ยินก็มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่าง

    นี่เป็นแนวความคิดสำหรับผู้ที่ได้ฟัง แต่สำหรับผู้ที่อบรมตัวเอง เพื่อที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะหนีแนวนี้ได้ไหม เพียงแต่ว่าด้วยพระองค์เอง จากการที่ได้ฟัง ความเป็นพหุสูตรจากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มากมายหลายพระองค์ จนกระทั่งหนทางของปัญญา ค่อยๆ นำทางตรงไปสู่ลักษณะของสภาพธรรม จนถึงวันที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม คือ หนทางเดียวกัน จะผิดไปจากหนทางนี้ได้ไหม จากสิ่งที่มีจริง ค่อยๆ ฟัง ขณะฟังก็เป็นสติระดับหนึ่งเกิดพร้อมด้วยปัญญา เป็นกุศล และก็สติด้วย แต่ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ จะไม่รู้ลักษณะของสติ หรือว่าจะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังทำงาน ทำกิจการงาน ที่เราพูดว่าขันธ์ ๕ ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ขณะนี้กำลังเกิด ก็เป็นเรื่องที่อีกไกล แม้แต่ว่าชีวิตของใครจะยาวนานไป สักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ทิ้งการที่เห็นประโยชน์สูงสุด เพราะว่าเราจะจากโลกนี้ไป ทั้งๆ ที่ตามที่ทรงแสดง จากไปทุกขณะ เพราะว่าขณะที่เกิด ดับ ไม่กลับมาอีกเลย แต่สืบต่อไม่ปรากฏเลยว่าสูญสิ้น เพราะว่ายังมีภวังคจิตที่ดำรงความเป็นบุคคลนี้ ถึงแม้ว่าจะเห็น จะได้ยินอย่างไร ความเป็นบุคคลนี้ก็ยังไม่หมดไป แต่วันหนึ่งเมื่อถึงแก่กรรม อย่างในภาษาไทยที่ใช้ ถึงแก่กรรม ที่จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็จะเอาอะไรไปไม่ได้เลยทั้งสิ้น นอกจากปัญญา และทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมมา เราเกิดมาต่างกัน เพราะการสะสมต่างกัน แม้แต่ความคิดขณะนี้ก็ต่างกัน ชาติหน้าก็จะต่างกันอย่างนี้ และชาติต่อๆ ไปก็เพิ่มสิ่งที่เราได้สะสมทางฝ่ายกุศล เพื่อที่จะสามารถดับทางฝ่ายอกุศลได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาที่สะสมไปจากขณะนี้ ก็จะไม่ถึงวันนั้น หวังว่าทุกท่านคงจะฟังไปเรื่อยๆ แต่ว่าชีวิตจริงๆ ไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ไม่ต้องมีอริสมาแสดงให้เรา เพราะเป็นเรื่องธรรมดา จะมีอะไรเมื่อไร อย่างไร ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สติระลึกก็ได้ อย่างท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านก็ไปดูการละเล่น แล้วท่านก็เกิดความสลดใจ เพราะว่าท่านสะสมมา เรื่องความสลดใจหรือไม่สลดใจ ก็อย่าเอามาพยายามเป็น พยายามฝืน หรือพยายามทำ นั่นคือลึกลงไปก็เราอีกนั่นแหละที่ทำ ที่ต้องการ

    เพราะฉะนั้น ละเอียดมาก เรื่องของความเป็นตัวตนคือทุกอย่างไม่ว่าจะเมื่อไร ขณะไหน ทั้งสิ้น ถ้ามีปัจจัยของกุศลจิตจะเกิดก็เกิด อยากให้เกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด นี่ก็เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ รู้ตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ต้องถามใครเลยว่า ขณะนี้รู้แคไหน หรือว่าปัญญาเกิดบ้างหรือยัง เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาของเราเอง ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมที่จะให้ปัญญาของเราเองเกิด จะช่วยเราได้ไหม ไม่ได้เลย

    พระคุณยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ทำให้เรา ได้ฟัง ได้พิจารณา ได้เกิดปัญญาของเราเอง ก็ยาวมากเลย ไม่ทราบใครมีปัญหาหรือยัง

    คุณซีรู้อย่างนี้กลัวตายไหม กำลังหลับก็ตายได้ แต่ก่อนจะตาย กรรมหนึ่งจะทำให้ชวนจิตเกิดขึ้น เป็น ชวนะวาระสุดท้าย แล้วแต่ว่ากรรมที่จะทำให้เกิดเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ซึ่งก็เลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้พวกสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มี คนในนรกก็ไม่ต้องมี แต่ว่าเพราะเลือกไม่ได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งควรจะทำอย่างยิ่ง ควรจะบำเพ็ญเจริญต่อไป คือกุศล เพราะว่ากุศลเท่าไรก็ไม่พอ อย่างไรก็ไม่พอจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ต้องกลัวตายด้วย เดี๋ยวนี้ก็ตายได้ เพราะว่าไม่รู้ตัว ตอนตายไม่รู้ตัว แต่ก่อนตายอาจจะยิ้ม อาจจะหัวเราะ อาจจะตกใจ อาจจะเจ็บปวด อะไรก็ได้

    ผู้ฟัง คำว่า ปัญญา เป็นคำที่ใช้กันบ่อย ใช้กันประจำ หลายๆ ท่านก็คงจะมีความเข้าใจที่แตกต่างกันในความหมายของปัญญา แต่ปัญญาที่แท้จริงเป็นมรดก เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราไว้ เราจะเอาหรือไม่เอาเท่านั้นเอง ขอท่านอาจารย์แสดงความหมายของอรรถของปัญญาด้วย ในหลายๆ ระดับด้วย

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม และปรมัตถธรรมมี ๓ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความต่างของจิต และเจตสิก และรูป รูป คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือว่าภายในภายนอกก็ตาม รูปทั้งหมดไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย สำหรับจิตก็เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น มีแน่นอนเลย เห็น กำลังเห็น แล้วเราก็บอกว่าเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิกด้วย แต่ลักษณะของจิตไม่ได้ปรากฏความเป็นจิต คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆ สถานที่ต่างๆ ทั่วไปในชมพูทวีป ไม่พ้นจากเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ มากมายมหาศาล ๔๕ พรรษา ก็เรื่องนี้แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไมถึงมีแต่เรื่องอย่างนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะพูดเรื่องจิต แล้วก็พูดเรื่องเห็น พูดเรื่องจิต แล้วก็พูดเรื่องได้ยิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของจิตได้ทันที

    นี่เป็นเหตุที่ต้องทรงแสดงแล้วๆ เล่าๆ เรื่องของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะขอกล่าวทบทวนให้คิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าคงจะได้กล่าวไว้หลายที่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังวันนี้ อย่างที่ไม่เคยพบกันมาก่อนก็คงจะไม่ได้ยินได้ฟังที่ว่า ขณะนี้มีรูปไหม รูปมีอะไรบ้าง สิ่งที่กำลังปรากฏ เสียง กลิ่นดอกไม้ก็มี รส ตอนนี้ไม่ทราบใครอมยาอมอะไรบ้างหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567