ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๘๓

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ สำหรับทางฝ่ายอกุศลมีเหตุประกอบได้เพียง ๑ เหตุ หรือ ๒ เหตุ ถ้าเป็นโมหมูลจิต จะมีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โมหะกับโลภะ ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โมหะกับโทสะ นี่เป็นฝ่ายอกุศล

    ทางฝ่ายโสภณ ถ้าเป็นกามาวจรจิต แบ่งออกเป็นที่มีเหตุ ๒ และประกอบด้วยเหตุ ๓ ทางฝ่ายกุศล วิบาก กิริยา อันนี้สั้นๆ

    ผู้ฟัง สั้นๆ เหตุ ๓ ที่ประกอบนั้นคือเฉพาะโสภณเหตุ

    ท่านอาจารย์ ที่ปัญญาเจตสิกร่วมด้วย

    ผู้ฟัง คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

    ข้อต่อไปถามว่า ทวิเหตุกจิต คือ จิตที่มีเหตุ ๒ ประกอบ

    ท่านอาจารย์ ฝ่ายโสภณ

    ผู้ฟัง ฝ่ายโสภณ ที่ปกติแล้วจะต้องเป็น อโลภเหตุกับอโทสเหตุ ทีนี้คุณสุพรรณีเคยถามว่า จะเป็นอโลภเหตุกับอโมหเหตุ หรือ อโทสเหตุกับอโมหเหตุ จะเป็นไปได้ไหม เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจะไม่ให้ประกอบ ๓ สำหรับฝ่ายที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ให้ประกอบเพียง ๒ แล้วก็ให้สลับกันด้วย ใช่ไหม คือ แทนที่จะให้มีอโลภะกับอโมหะ อโทสะ ก็จะให้เป็น อโทสะกับอโมหะได้ไหม ไม่ได้แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะเหตุผล

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการที่กุศลจิต พูดถึงเฉพาะกุศลก่อน และชาติอื่นๆ โดยนัยเดียวกัน สำหรับกุศลจิตที่จะเกิด ถ้ามีแต่เพียงอโลภเจตสิก ไม่มีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลไม่ได้ หรือเป็นโสภณไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามที่จิตประเภทที่ดีงาม ขอยกตัวอย่างเฉพาะกุศลเกิด จะต้องประกอบทั้งอโลภะ และอโทสเจตสิก ถ้ามีอโลภะ แล้วก็มีโทสะ ก็ไม่ได้ใช่ไหม แล้วจะให้ไม่มีอโทสะก็ไม่ได้ ต้องมีทั้งอโลภะ และอโทสะ จิตจึงเป็นกุศลในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่มีทั้งโลภะ และโทสะ และต้องมีทั้งอโลภะ อโทสะ

    ผู้ฟัง แน่นอนที่ว่าจะต้องมีทั้งอโลภะ และอโทสะ เพราะว่าทั้ง ๒ เป็นโสภณสาธารณะที่จะต้องเกิดกับโสภณจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กุศลจิตของแต่ละคนเกิด อาจจะไม่รู้ตัว แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีอโลภเจตสิก กับ อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว แต่ยังไม่มีปัญญาเจตสิก หรืออโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากขณะที่มีปัญญาเจตสิกเกิดเท่านั้น จึงจะเป็น ๓ เหตุ

    ผู้ฟัง กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นโสภณจิต ใช่หรือไม่ใช่ ใช่ เป็นโสภณ ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นปัญหานี้ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์เฉลย

    ท่านอาจารย์ ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นเหตุที่เราจำเป็นที่จะต้องแม่นในเรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ คือเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง โทสมูลจิต๒ โมหมูลจิต๒ เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลจิต ๑๒ จะเป็นกุศลไม่ได้ จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้

    สำหรับอเหตุกะ ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง วิบากนี้ก็แบ่งเป็น ๒ คือเป็นกุศลวิบาก ๘ เป็นอกุศลวิบาก ๗ จิตที่เป็นวิบาก ที่เป็นอเหตุกะ ให้ทราบว่า กรรมที่ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมใดๆ ก็ตาม เมื่อสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น เป็นอเหตุกวิบาก ๑๕ ดวง อย่างทานที่ได้กระทำแล้ว หรือศีลที่ได้กระทำแล้วก็ตาม อาจจะแสนชาติมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อสุกงอมที่จะให้ผลก็คือว่า ทำให้ทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดเกิดขึ้น ถ้าเป็นฝ่ายกุศลวิบากก็ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย ไม่ต้องมีโสภณเจตสิก หรือเจตสิกอะไรเกินกว่า ๗ ดวง สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่โสภณเจตสิก ๗ ดวงนั้นไม่ใช่โสภณเจตสิก นอกจากนั้นก็มีปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกอื่น เช่น วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก พวกนี้อีก ๖ ดวง เกิดร่วมด้วยแต่ก็ไม่ครบสำหรับอเหตุกจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่าเราศึกษาจิตตามลำดับ คือ เหตุที่เป็นอกุศลก่อน ๑๒ ดวง แล้วก็ผลของอกุศลกรรมซึ่งไม่เกิน ๗ ดวง อกุศลวิบากทั้งหมดซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือว่าประทุษร้ายร่างกายใคร อกุศลใดๆ ที่ทำทั้งหมด ไม่ว่าเราจะเป็นมนุษย์ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ ให้ทราบว่า อกุศลกรรมที่จะให้ผลทำให้ อกุศลวิบากจิตเกิดเพียง ๗ ดวงเท่านั้น ซึ่ง ๕ ดวง ทุกคนรู้ดีแล้วว่าได้แก่ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ เห็นสิ่งที่ไม่ดี โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี ที่เป็นชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ทางกายก็เป็นกายวิญญาณที่เป็นทุกข์ หมายความว่ามีความรู้สึกที่ไม่สบายทางกาย

    นี่คือผลของอกุศลกรรม ฟังดูแล้ว ในชาตินี้เราก็มีกันคนละนิดละหน่อย ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดูเหมือนกับว่า ไม่เห็นลำบากสักเท่าไร แต่ความจริงแล้ว ถ้าเจ็บทางกายมากๆ จะเดือดร้อน ถ้าเจ็บนิดเดียว ผลของอกุศลกรรมชาติไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ให้เพียงแค่นี้ แต่แค่นี้ให้ทราบว่า เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ กรรมหนักๆ ยังไม่ให้ผล แต่ว่าถ้าเป็นกรรมแรงให้ผล ความเจ็บไข้ได้ป่วยของเราจะมากกว่าเพียงการเจ็บนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ แล้วก็เหลืออีก ๒ ดวง สัมปฏิจฉันนอกุศลจิต และสันตีรณอกุศลวิบากจิต ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่โสภณเจตสิก เป็นประเภทปกิณกเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง

    เพราะฉะนั้น พวกอเหตุกจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทางฝ่ายอกุศลวิบาก ก็คงจะเห็นชัด ทางฝ่ายกุศลวิบากก็เหมือนกัน แต่ทางฝ่ายกุศลวิบากให้ผลมากกว่า ทางฝ่ายอกุศลวิบาก เพราะเหตุว่ามากกว่า ๗ ดวงที่เป็นกุศลวิบาก ถ้าไม่ใช่เป็น อเหตุกะ ก็จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องจำว่า สำหรับอเหตุกวิบากจิตเป็นผลของกรรมซึ่งต้องเกิด อย่างไรๆ เมื่อกรรมสำเร็จแล้ว จิตต้องเกิด แล้วก็ถ้าเป็นกุศลวิบาก ก็มีเพียง ๘ ดวงที่เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลวิบากอื่นจะเป็นสเหตุกะ ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง กรรมที่กระทำแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือเป็นศีล หรือว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลกรรมก็ตาม เมื่อสุกงอมพร้อมแล้วก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต ดิฉันไม่เข้าใจว่า ถ้าอย่างนั้น มหาวิบากจิต จะเป็นผลของกรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้พูดถึงว่า โดยไม่ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ต้องเกิด คือไม่ต้องมีเจตสิกมากถึงกับว่าต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ให้ผลก่อน

    เพราะฉะนั้น เริ่มด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง ดับไปแล้วจบไปแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิด อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง อันนี้ก็เข้าใจเลยว่า อกุศลกรรมที่เกิดจากกุศลจิต ๑๒ ดวงให้ผลเป็นอเหตุกจิตที่เป็นอกุศลวิบาก จะใช้คำว่า อเหตุกะก็ได้ เพื่อให้ชัดเจนว่า อกุศลวิบาก ต้องเป็นอเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยเหตุ ทีนี้ทางฝ่ายกุศลก็เหมือนกัน กรรมที่เป็นกุศลที่ทำแล้ว เมื่อสุกงอมก็ให้ผล โดยเป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง เรายังไม่ต้องพูดถึงฝ่าย สเหตุกะ แต่ว่าตอนท้ายพูดว่า สำหรับกุศลกรรมนั้นให้ผลมากกว่า คือ ไม่ให้แต่เฉพาะเพียงกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะ ๘ ดวง แต่ยังมีสเหตุกวิบากด้วย คือ มีวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ซึ่งเวลาที่ศึกษาเรื่องหน้าที่ของจิต จะทราบว่า ขณะไหนถึงกาลที่เวลา กรรมให้ผลแล้วก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เป็นสเหตุกวิบาก

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงว่า กุศลกรรมก็จะให้ผลเป็นวิบากที่เป็นทั้งอโสภณจิต และเป็นโสภณจิตก็มี

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกจิต และสเหตุกจิต

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าที่ผมจะถามจะเข้ากับหัวข้อวันนี้หรือเปล่า แต่ว่าสิ่งที่สงสัยก็คือว่า อเหตุกจิตนั้นประกอบด้วยสันตีรณจิตเกิดด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า อเหตุกจิตแบ่งเป็น ๒ ชาติ คือ วิบากกับกิริยา วิบาก ๑๕ ดวง แล้วกิริยาจิต ๓ ดวง วิบาก ๑๕ ดวง ๑๐ ดวงเป็นทวิปัญจวิญญาณ ที่เหลือเป็น สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก อกุศลวิบาก และสันตีรณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง คำว่า สันตีรณ ก็หมายความว่า เจตสิก ๗ หรือ ๖ ดวงนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิน ๗ เพราะว่าน้อยที่สุดคือ ๗ คือพวก ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือ เพียง ๗ ดวง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะมีมากกว่า

    ผู้ฟัง มีมากว่า ๗ ดวง

    ผู้ฟัง โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่

    ตอบ ใช่

    ผู้ฟัง เพราะเหตุใด

    ตอบ ไม่ทราบ

    ผู้ฟัง ถูกไหม ตอบว่าใช่

    สมพร ปัญหาบอกว่า

    ผู้ฟัง โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่

    สมพร โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศลหรือไม่ โสภณจิตต้องประกอบด้วยวิบาก๑ กุศล๑ กิริยา๑ ๓ อย่างไม่ใช่เฉพาะกุศลอย่างเดียว โสภณจิตก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งกุศล ทั้งวิบาก ทั้งกิริยา มีทั้ง ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ก็ต้องไม่ใช่ ใช่ไหม เพราะว่า

    สมพร ไม่ใช่กุศลอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็นกุศลอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดการศึกษาพระธรรม หลงลืมไม่ได้ สังเกตดูส่วนมากบางทีก็เข้าใจ แต่ลืม ข้อที่จะทำให้เราลืมไม่ได้คือว่า คำพูดที่ต่างกัน คือ ถ้าพูดว่าเป็นกุศล หมายความถึงชาติกุศลเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่าโสภณ คนนี้เปลี่ยนแล้ว ใช่ไหม ไม่ได้มุ่งหมายแต่เฉพาะกุศลอย่างเดียว แต่รวมกุศลก็ได้ กุศลวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าถ้าใช้คำว่า โสภณ เราต้องคิดกว้างแล้ว เขาไม่ได้มุ่งหมายแต่เฉพาะกุศล แต่รวมถึงวิบาก และกิริยาที่เป็นฝ่ายดีเท่านั้น แต่ถ้าเจาะจงกุศล จะไม่รวมวิบาก จะไม่รวมกิริยา

    ผู้ฟัง แต่สำหรับคำถามที่โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่ นี่ต้องตอบไม่ใช่ เพราะว่าโสภณจิต มีทั้งกุศล มีทั้งวิบาก และกิริยา ไม่มีอกุศลอย่างเดียว

    ข้อต่อไปถามว่า สเหตุกจิตเป็นโสภณ หรืออโสภณ

    ตอบ เป็นทั้งโสภณ และอโสภณ

    ผู้ฟัง เพราะเหตุใด

    ตอบ เพราะมีทั้งที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์สมพรช่วยเฉลยด้วย

    สมพร ก่อนอื่น คำว่า สเหตุกจิต จิตที่มีเหตุ คำว่ามีเหตุ อย่างอกุศลก็มีเหตุ กุศลก็มีเหตุ อกุศลก็มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ ถ้าเป็นกุศลก็มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ จิตที่มีเหตุ เรียกว่า สเหตุก เป็นทั้งอกุศลก็ได้ กุศลก็ได้ แล้วแต่ ถ้าพูดกลางว่า สเหตุกจิตที่ประกอบด้วยเหตุ มุ่งถึงอย่างนี้ เพราะว่าอกุศลก็มีเหตุ กุศลก็มีเหตุ

    ผู้ฟัง ทวิเหตุกจิต คือจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เป็นโสภณ หรืออโสภณ

    ตอบ อโสภณ

    ท่านอาจารย์ คำว่า ทวิเหตุกจิต หมายความถึงจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เหตุ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เหตุ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี หรือว่าเป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้น จะทราบได้ว่าที่เป็นอกุศล ๒ เหตุนั้น ได้แก่ โลภมูลจิตซึ่งประกอบด้วยโมหเจตสิก และโลภเจตสิกจึงเป็น ๒ เหตุ และโทสมูลจิตก็ประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ ประกอบด้วยโมหเจตสิกกับโทสเจตสิก ทางฝ่ายโสภณ เช่น กามาวจรกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ต้องประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ แล้วเวลาที่เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี

    ผู้ฟัง กามาวจรจิตประเภทใดไม่เป็นอโสภณจิต

    ตอบ ชาติกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จะถูกหรือไม่ ก็ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์เฉลยปัญหา

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงโสภณกับอโสภณ ทางฝ่ายกามาวรจจิต ตัดอโสภณจิต ๓๐ ออก ที่เหลือก็ต้องเป็นโสภณจิต ๒๔ ดวง

    ผู้ฟัง กามาวจรจิตประเภทที่ไม่เป็นอโสภณจิต คือเป็นโสภณจิต ก็ได้แก่ กามาวจรโสภณจิต ๒๔

    ข้อต่อไปถามว่า อโมหเหตุประกอบกับโสภณจิต หรืออโสภณจิต เพราะเหตุใด

    ตอบ อโมหะ เป็นปัญญา ปัญญาเป็นโสภณเจตสิก โสภณเจตสิกก็ต้องประกอบกับจิตที่เป็นโสภณ

    ผู้ฟัง ข้อต่อไปถามว่า โลกุตตรธรรมไม่เป็นโสภณธรรม มีหรือไม่ ได้แก่อะไร

    ตอบ โลกุตตรธรรม มีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

    ผู้ฟัง โลกุตตรธรรมที่ไม่เป็นโสภณธรรมมีไหม

    ตอบ มี นิพพาน

    ผู้ฟัง ทำไมตอบว่านิพพาน

    ตอบ นิพพานไม่ได้รวมกับโสภณเจตสิก นิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่เจตสิก ไม่มีสภาพรู้อะไร จะเป็นโสภณไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้จัดไว้เป็นโสภณ ถูกไหม

    ผู้ฟัง จะถูกหรือไม่ ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ เฉลยปัญหา

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรธรรมมี ๙ คือ โลกุตตรจิต ๘ แล้วก็นิพพาน ๑

    จริงๆ แล้วพระนิพพานหรือนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม แต่จิตที่รู้แจ้งนิพพาน แล้วดับกิเลส หรือว่าเป็นสภาพของจิตที่ดับกิเลสแล้ว มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตตรจิต เพราะฉะนั้น โลกุตตรธรรม ๙ ได้แก่ นิพพาน ๑ แล้วก็โลกุตตรมรรค คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีมรรค อรหัตมรรค เป็นโลกุตตรกุศลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับกิเลส จึงเป็นมรรคจิต ส่วนโลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผล ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามีผลจิต อนาคามีผลจิต อรหัตผลจิต เป็นโลกุตตรจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว เป็นผลต่อจากโลกุตตรกุศลจิต จึงชื่อว่าโลกุตตรธรรมด้วย เพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์

    โลกุตตรธรรมทั้งหมดมี ๙ คือ โลกุตตรจิต ๘ และนิพพาน ๑ ที่นิพพานไม่เป็นโสภณธรรม เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่ว่าเฉพาะจิต และเจตสิก ซึ่งมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่านั้น จึงจะเป็นโสภณธรรม หรือว่าโสภณจิตได้ ต้นไม้จะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย จะเป็นอโสภณ หรือโสภณก็ไม่ได้ นิพพานก็ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น จะเป็นโสภณ หรืออโสภณไม่ได้ สำหรับจิต มีเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็น โสภณจิตได้ และจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นอโสภณ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่ ว่ารูปที่ดีงาม รูปที่สวยๆ งามๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ พูดได้ว่า เป็นรูปที่ดีงาม แต่ถ้าจะพูดว่ารูปที่ดีงามเป็นโสภณ ไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่าต้องทราบว่า รูปที่ดีงาม หมายความว่ารูปที่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง อย่างคนสวยๆ นี้ก็น่าพอใจ

    ท่านอาจารย์ แต่รูปไม่รู้ตัวเลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ถึงรูปจะสวย จะผ่องใส จะน่าดู ใครจะรักจะติดใจ จะประเมินราคาสักเท่าไร เช่น แหวนเพชร ก็ตามแต่ แต่รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นสำหรับเจตสิกซึ่งเป็นโสภณ เป็นธรรมฝ่ายดี จะเกิดเฉพาะกับจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับรูป หรือไม่เกิดกับนิพพาน

    ผู้ฟัง จะสรุปได้ว่า สภาพธรรมอะไรก็ตาม ที่ไม่รู้อะไรเลยคือรูปธรรม และนิพพานธรรม นิพพาน แม้ว่าเป็นนามธรรม แต่ก็ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่ไม่รู้อะไรเลย จะมาพูดว่าเป็นโสภณหรืออโสภณไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อันนี้คงจะต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคงในเรื่องโสภณ และอโสภณตามที่ท่านวิทยากรได้กรุณาอธิบาย

    ข้อต่อไปถามว่า สัญญาขันธ์ เป็นโสภณหรืออโสภณ

    ตอบ เป็นทั้ง ๒ อย่าง สัญญานี้ประกอบกับจิตทุกดวงซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นโสภณจิตหรืออโสภณจิต แล้วแต่เจตสิกที่ประกอบ โสภณหรืออโสภณ ก็เป็นทั้ง ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง แต่โดยมากเรามักจะลืม ใช้คำที่ติดปากว่าทั้ง ๒ อย่าง ความจริงเป็นโสภณก็ได้ เป็นอโสภณก็ได้ ไม่ใช่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ขออีกคำถามหนึ่ง โสภณธรรมเป็นขันธ์อะไรบ้าง

    ตอบ ขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ผู้ฟัง ข้อต่อไปถามว่า วิญญาณขันธ์ ที่เป็นอโสภณ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ต้องขอคำอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่จริงถ้าไม่อยากจะจำมาก จำน้อยๆ ก็ได้ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๘ ดวงเท่านั้น จบ หมายความว่ามีอโสภณจิตซึ่งจะเปลี่ยนเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะจะใช้จิต หรือใช้วิญญาณขันธ์ก็ได้ ก็มี อโสภณ ๓๐ ดวงเท่านั้น จำไว้ได้เลยใน ๘๙ ดวง เอาออกเสีย ๓๐ ดวงนอกจากนั้นเป็นโสภณหมด

    ผู้ฟัง ผมไปติดอยู่ที่อเหตุกจิต ๑๘ ดวงเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เอามารวมด้วย คือไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลจิต ๑๒ ที่เป็นอโสภณ เพราะว่าโดยมากคนเข้าใจแน่นอนว่า อกุศลจิตเป็นอโสภณจิต แต่นอกจากอกุศลจิต ๑๒ ดวง และยังมีจิตที่เป็นอโสภณด้วย โดยความหมายที่ว่าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยอีก ๑๘ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นอโสภณด้วย เพราะฉะนั้น วิญญาณขันธ์ที่เป็นอโสภณ ก็ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และอย่าลืมอเหตุกจิต ๑๘ รวมเป็นอโสภณจิต ๓๐ จะใช้คำว่า อโสภณวิญญาณขันธ์ ๓๐ ก็ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567