ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๑๒

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ขันธ์คือว่า ถ้าพูดถึงรูป รูปก็มีหลากหลายมากมาย หลายอย่าง ที่จะรู้ว่าหลากหลายมากมายหลายอย่าง เมื่อสติระลึก หรือว่าเพียงแต่บอกว่ามีรูปมากมาย เราก็เข้าใจเพียงเรื่องราว แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของรูปใดก็ตาม จะสามารถเห็นความต่างของรูป จนกระทั่งสามารถที่แม้รูปเดียวกันเกิดขึ้นแล้วดับไป หรือว่ามีลักษณะหลากหลายที่ไม่เท่ากันทุกอย่าง ตรงตามพระไตรปิฎก แต่ต้องด้วยปัญญาที่สามารถรู้จริงๆ โดยที่สติสัมปชัญญะเกิด จึงจะเป็นปัญญาของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะไม่เป็นปัญญาของตัวเองเลย เป็นแต่เพียงจำมา จำได้เท่าไรก็บอกไปเท่านั้น จำได้เท่าไรก็คิดไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่การประจักษ์ หรือการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่พระธรรมไม่ใช่เพียงแต่ให้ ฟัง เข้าใจ พูดตาม แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ฟัง ไตร่ตรองแล้ว สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ ในวันหนึ่ง จะวันไหนก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กรุณาสั่งสอนพวกเรามา เข้าใจว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือเพื่อให้ระลึกศึกษาลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่มีความสงสัยคือว่า อย่างเช่นอ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป เป็นหนังสือที่ละเอียดพอสมควร สำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยศึกษามาก่อน ก็มีความสงสัยว่า ควรจะไปศึกษาอย่างอื่นก่อน หรืออย่างไร เพราะว่าในเรื่องวิถีจิต ในปรมัตถธรรมสังเขปนี้ก็สามารถเข้าใจตามเรื่องราวได้ แม้แต่เข้าใจเรื่องของเหตุผลก็มีความลำบากแล้ว แต่จะให้เข้าใจอย่างละเอียด แม้แต่ความคิดก็ยาก เพราะฉะนั้น ควรจะไปศึกษาอย่างอื่นก่อน หรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างอื่นหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง การที่ท่านอาจารย์แสดงธรรมในรายการต่างๆ ในเทป ความจริงก็ไม่ได้แสดงละเอียดหรือว่ามากมายหลายหลากเท่ากับหนังสือเล่มนี้ อาจจะแสดงรูปธรรมเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีเรื่องมากกว่า เท่ากัน แล้วก็อาจจะมีรายละเอียดมากกว่าตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เราต้องทราบจุดประสงค์ว่า เราอ่านเพื่ออะไร ไม่ว่าจะอ่านเรื่องอะไรทั้งหมด เพื่อเข้าใจ ถ้าคุณซีสามารถจะเข้าใจธรรมได้โดยอ่านอะไร สิ่งนั้นมีประโยชน์

    ผู้ฟัง แล้วแต่บุคคลจริงๆ ว่า สมควรที่จะอ่านหนังสือ ประเภทใด ฟังธรรมประเภทใด อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นสามารเข้าใจตัวเองได้ เพื่อความเข้าใจถูกในลักษณะของธรรมจริงๆ เพราะว่าบางคนชอบอ่านมาก จะเข้าใจ ไม่เข้าใจ ก็ขออ่านไป ให้จบเป็นหลายๆ เล่ม บางคนอาจจะมีฉันทะอย่างนั้น แต่ถ้าคุยกันหรือสนทนากัน เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เขาอ่าน แต่ก็สามารถจะพูดได้ พูดได้ละเอียดด้วย เพราะว่าจำมาโดยละเอียด ก็สามารถที่จะพูดได้โดยละเอียด แต่ว่าเข้าใจหรือเปล่า นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกเข้าใจ ตรงนี้หมายถึงว่า เข้าใจโดยลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้เรื่องราวเข้าใจถึงอรรถ เพราะว่าพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ พระวินัยลึกซึ้งโดยกิจ พระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ อย่างพระวินัยละเอียดมาก เรื่องกิจของสงฆ์ เรื่องกิจของพระภิกษุ จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แง่มุมต่างๆ โดยละเอียดมาก ซึ่งเป็นชีวิตที่ต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น กิจของพระภิกษุจะทำอะไรได้ ไม่ได้ เป็นอาบัติประการใด หนัก เบา อย่างไร มีข้อยกเว้นอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องกิจสำหรับพระวินัยบัญญัติละเอียดมาก แต่สำหรับพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ แม้แต่เป็นคำนี้ อย่างคำว่า ญาณ หรือปัญญา ใช้สลับกันก็ได้ ใช้ต่างขั้นกันก็ได้ ในที่ต่างๆ อาจจะมีความหมายอื่นอีกก็ได้ เช่น เวลาที่เป็นปัญญาที่เกิดกับพระโสดาบันก็จะต่างกับปัญญาที่เกิดกับพระอรหันต์ เมื่อเป็นพระโสดาบัน ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    นี่ก็ล้วนเป็นเรื่องของความละเอียดลึกซึ้งโดยอรรถ แต่สำหรับพระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ ลักษณะของธรรมลึกซึ้ง ขณะนี้กำลังเกิดดับ ลึกซึ้งไหม ไม่ใช่ไม่มี ถ้ามีก็ต้องเกิด เกิดแล้วดับทันที ทันทีนี้คือเร็วมาก ทันทีที่เกิด ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างจิตเจตสิก จะเล็กน้อยสักแค่ไหนถ้าเทียบกับสภาพที่ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย ไม่มีรูปร่างปรากฏ เขียว เหลืองไม่มีเลย กลิ่น รสใดๆ ไม่มีเลย เป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วก็เกิดขึ้นเพียงนิดเดียว ชั่วขณะที่สั้นเท่าไร แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร โดยปัจจัยต่างๆ กันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ลึกซึ้งไหม ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ลึกซึ้งโดยสภาวะ กับลึกซึ้งโดยอรรถ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อรรถของพระสูตร พออ่านแล้ว ปฏิจจสมุปบาท หมายความว่าอะไร แค่ไหน นั้นก็โดยอรรถ เพราะพระสูตรจะเป็นเรื่องราวส่วนใหญ่ แต่ก็มีลักษณะของสภาพธรรมด้วย รวมความว่าเราเกิดมาได้ฟังพระธรรม เราก็เรียนให้เข้าใจสิ่งที่มีซึ่งเป็นธรรม เท่าที่จะกระทำได้ เพราะว่าถ้าเราเรียนเรื่องราวที่เป็นตัวหนังสือ ใครจะรู้ว่าชาติก่อน เราอาจจะได้ฟังเรื่องราว ไปอ่านมากี่เล่มก็ได้ จบพระสูตรไปกี่เล่ม พระอภิธรรมไปกี่เล่ม พอถึงชาตินี้เราก็ลืม แม้แต่ภาษา ชาติก่อนเราคงไม่ได้พูดภาษาไทย เราเกิดเป็นคนไทยหรือเปล่า ชาติก่อน เราไปพูดภาษาอะไรก็ได้ ภาษามคธ ภาษาบาลีอะไรๆ ก็แล้วแต่ เราก็เคยพูดมาแล้วไม่ต้องไปเรียนด้วยซ้ำไป ถ้าเกิดที่โน้น เราก็พูดได้แล้ว แต่ทำไมเดี๋ยวนี้เราลืม หมดไม่เหลือ ถ้าเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องคำ พวกนี้ ไม่มีเหลือเลย แต่ถ้าเป็นลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าชาติไหน ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ

    ไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไรทั้งสิ้น ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ใช้ได้หมด โดยที่เราไม่ไปติดที่คำ แต่ว่าเราสามารถที่จะใช้คำนั้นเป็นสื่อให้เข้าใจอรรถ สภาวะของสภาพที่กำลังปรากฏได้ อย่างคำว่า ธรรม ถ้าเรารู้ จริงๆ ว่าคือสิ่งที่มีจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน ทั้งวัน เป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งนั้นที่ปรากฏ มีขณะไหนบ้างที่ไม่ใช่ธรรม แข็งที่กำลังปรากฏก็ธรรม เห็นก็ธรรม กลิ่น รส ที่เราผ่านมาเมื่อกี้ก็ธรรมทั้งหมด คิดนึกก็ธรรม เป็นกุศล อกุศลก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีธรรมปรากฏ ทั้งวันเป็นธรรมที่เกิดปรากฏ แต่ว่าความทรงจำของเราไปจำเรื่องราวทั้งหมด แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่าชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่เรื่องราวแต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พอได้ฟังอีก เราจะรู้ได้ทันที ขณะนี้เป็นสภาพธรรม แล้วถ้าปัญญาถึงความสมบูรณ์อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านก็ประจักษ์ความเกิดดับ สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เพราะสภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย เพียงแต่ความรู้ความเข้าใจที่จะต้องเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาๆ มาก ถ้าเราคิดว่า เราได้ฟังแล้วเราเข้าใจ ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราเกิดความหวัง ความต้องการจะได้ จะทำ นั่นคือผิดปกติ แล้วก็ไม่ได้ด้วย ไม่ใช่หนทาง เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมตามปกติอย่างนี้ได้ ตราบนั้นจะไม่สามารถละอะไรได้เลย ต้องสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สัญญาจำทุกอย่าง แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ถึงแม้ว่าจะตายไป แล้วไปปฏิสนธิใหม่ ความจำในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมก็ยังสามารถจำลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเป็นความจำในเรื่องมีน้องมีพี่ คุณหมอเป็นน้องเป็นพี่ คนนั้นคนนี้ ที่ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาไทย พอเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่า ชาติไหน พูดอะไรบ้าง มันคนละเรื่องกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องราว นั่นเป็นชื่อ ไม่เหมือนสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนสภาพธรรมที่เป็นจริงแล้วเป็นเรื่องราว ที่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เขาทำกิจการงานหน้าที่ ลักษณะอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไรก็จำอันนั้น คิดถึงอันนั้น

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสภาพธรรมมันเกิดจากความเข้าใจที่ประกอบ ด้วยปัญญาเจตสิก ถ้าจะพูดในลักษณะชื่อ หรือลักษณะของที่เราได้ศึกษามา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริง ถ้าเราเข้าใจแล้ว ใครจะพูดว่าอย่างไร จะเปลี่ยนความเข้าใจของเราได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง ปัญญานี้เราก็ศึกษาคือว่า ปัญญาถ้ามีการระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมในชาตินี้ ในชาติต่อไปปัญญานั้นก็สะสมต่อไป แล้วทำไมธรรมชาติอย่างอื่น อย่างเช่น ความจำหรือว่าวิตก ทำไมถึงไม่สะสม

    ท่านอาจารย์ สะสม

    ผู้ฟัง อย่างเช่นที่บอกว่า การรู้เรื่องราว รู้เพียงชาติเดียว ชาติต่อไปก็หมดไป อย่างนั้นทำไมถึงหมด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่อง แต่สัญญา ความจำก็สะสม จำเก่ง จำไม่เก่ง ถ้าเป็นคนที่คิดในทางไม่ดี เขาก็สะสมความคิดในทางไม่ดี

    ผู้ฟัง หมายถึงธรรมสะสม แต่ว่าเรื่องราวไม่ได้สะสม

    ท่านอาจารย์ สะสมก็แย่ เพราะว่าเป็นจิตที่คิดเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าศึกษาธรรมแล้วมีปัญญาในขั้นการคิด การฟังเกิดขึ้น ปัญญานั้นก็สะสมเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต่างสิ ไม่มีท่านพระสารีบุตร ไม่มีใครๆ ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่สะสมปัญญา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่ผมถาม เพื่อสะสาง คือ เคยได้ยินมา ๒ อย่าง เช่น การเจริญปัญญาขั้นสติปัฏฐานเท่านั้นที่เป็นการสะสม ผมเคยได้ยินมาอย่างนี้ แล้วก็บอกว่าถ้ารู้เพียงแต่เรื่องราว เข้าใจเพียงแต่เรื่องราวเท่านั้นก็ไม่สะสม ชาติต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ สะสมอะไร ต้องรู้ว่าสะสม

    ผู้ฟัง สะสมความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สะสมเรื่องราว

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นัตถิ ปัญญา สมา อาภา ไม่มีแสงอะไรเปรียบได้กับปัญญา นั่นแสดงว่าปัญญา คือแสงที่ปรากฏทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ แสงอะไร

    ผู้ฟัง แสงสว่าง

    ท่านอาจารย์ แสงสว่างอย่างไหน เวลามืด สมมติว่ามืดสนิทจริงๆ กลัวไหม แต่ถ้าปรากฏว่า ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่ามืดจริงๆ จึงไม่เหลือ อันนั้นน่ากลัวไหม

    ผู้ฟัง น่ากลัว

    ท่านอาจารย์ ยังกลัวใช่ไหม แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร จะกลัวไหม นั่นคือความหมายของแสงสว่าง ไม่มีอะไรสว่างเกินกว่าปัญญา แม้ในที่มืด ถ้าไม่มีปัญญา กลัวแน่ แน่ที่สุด ไม่มีอะไรเหลือเลย มีแต่ตัว ยึดถือสภาพที่มีอยู่นั้นว่า เป็นเรา ในความมืดสนิทซึ่งไม่มีอะไรเหลือเลย ก็ต้องตกใจ ต้องหวาดเสียว แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าขณะนั้นคืออะไร นั่นคือแสงสว่าง ความหมายของแสงสว่าง ไม่มีแสงอะไรเกินกว่าปัญญา

    ผู้ฟัง ในตำรามักจะเปรียบเทียบการเห็น เหมือนกับปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าเห็นชัด อะไรจะชัดเท่าเห็น ชนิดที่เห็นว่าชัด เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแสงสว่าง ชัดแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น เห็นก็คือ เท่าที่เห็นจะเห็นได้ก็คือ เพียงแค่สีสันวัณณะต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าเป็นปัญญาประจักษ์ เหมือนเห็นอย่างนี้ ความชัดเจนเหมือนอย่างนั้น ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย เพราะสิ่งนั้นกำลังปรากฏ อย่างนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอ่อน ไม่มีแข็งเลยทั้งสิ้น ออกไปหมดจากนามธรรม จะมาอยู่เป็นส่วนของนามธรรมไม่ได้เลย และนามธรรมจะมืดหรือสว่าง เพราะไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอะไรเลย ถ้าปัญญาเห็นถูก ขณะนั้นต้องรู้ว่า โลกคืออย่างนี้ โลกทางไหน ทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การเห็น ปัญญา คือการเห็นทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นถูกต้องทุกทาง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ปัญญาเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คำว่า วิปัสสนา หรือแม้แต่ว่า ทิฏฐะ ซึ่งแปลว่าเห็น คือปัญญาที่ว่าทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูก เห็นถูก กำลังฟังขณะนี้ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ปัญญา เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ ธรรมจะผิดจากปกติธรรมดาขณะนี้ได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับปัญญา เพราะว่าเราศึกษาว่า เวลาที่พูดถึงเฉพาะการเห็น ต้องชั่วขณะที่เห็นจริงๆ ทางอื่นไม่มี ทางหูไม่มี ทางใจขณะนั้นไม่ได้คิดนึก แสงสว่างสีสันวัณณะไม่มี ก็ลองคิดดูว่า ความจริงอย่างนี้หรือเปล่า ที่เราเข้าใจ ทั้งๆ ที่เราพูดเรื่องจิตเห็นหรือการเห็น แต่เราก็มีการคิดนึก มีเสียง มีอะไรพร้อมหมด ก็ไม่ใช่ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง นี่คือความต่างของขณะที่ยังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องเป็นเหมือนอย่างนี้ แต่เวลาที่เป็นปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็จะไม่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏกับนามธรรมทีละอย่าง ทิ้งอย่างอื่นหมดเลย ขณะนี้เป็นอย่างนั้น แต่เร็วมาก พอเราเห็นนิดหนึ่ง พอได้ยินเสียงแล้วก็กลับมาที่เห็นอีก ก็เหมือนกับเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจระดับของการศึกษาขั้นฟังก็เป็นแบบหนึ่งที่จะต้องอบรมจนกว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นความจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงความสงสัย ความสงสัยเคยมีพยัญชนะที่ว่า ความสงสัยปิดบังโลกไม่ให้ปรากฏ ความสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ปัจจุบันที่ถามกันอยู่ หรือว่าเรื่องปัญจทวาร หรือมโนทวาร หรือแม้กระทั่งเรื่องอนุสัย ความสงสัยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องกั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สงสัยหรือสภาพที่เป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้น ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้น จะกั้นหรือไม่กั้น อยู่ที่ปัญญาของบุคคลนั้นว่า ได้สะสมมามากเพียงใด เพราะว่าความสงสัยจะดับเมื่อถึงโสดาปัตติมรรคจิตเกิด เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจะรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง มีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา มีศรัทธาที่มั่นคง หรือว่ายังไม่มั่นคง แล้วมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยขั้นไหน หรือว่าสติปัฏฐานยังไม่ได้เกิด หรือเกิดบ้างแต่น้อยมาก หรือเกิดแล้วก็อยากจะเกิดมากๆ จนกระทั่งไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน โลภะชวนเก่งที่สุด ทำอะไรก็ได้ที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง คนที่ศึกษาธรรมมากๆ กำลังคิดถึงแต่เรื่องราวมากๆ เป็นเครื่องกั้นเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเขารู้ไหมว่า เขาศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าศึกษาธรรม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาชื่อ เรื่อง ก็เป็นเท่านั้นเอง ก็ยังเป็นชื่อ เป็นเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ก็น่าคิดว่า ไม่ใช่เรื่อง เป็นสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่อง แต่มีเห็นจริงๆ คิดนึกก็ไม่ใช่เรื่อง แต่มีคิดนึกจริงๆ ทุกอย่างเป็นจริงหมด เมื่อเวลาที่ศึกษา หรืออ่าน หรือฟัง เรื่องที่เกี่ยวกับธรรม ก็น้อมที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงคือเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ตักแกงทุกวัน แต่ไม่รู้ว่า แกงมีรสอย่างไร ก็พูดถึงเรื่องนามธรรมรูปธรรมทุกวัน แต่ไม่รู้ว่านามธรรมรูปธรรมมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างพี่แอ๊ด รู้ว่าเห็นบ้านหลังหนึ่ง พี่แอ๊ดบอกว่ากิเลสมันเกิดทันที ก็เพียงแต่พูดถึงชื่อ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เราก็ชินกับคำ กับเรื่อง พอเราชอบ เราก็รู้ว่า เป็นกิเลส แต่ก็เป็นเรา แล้วกิเลสนั้นเป็นเห็น หรือว่าเป็นอะไร ก็ไม่มีการแยกที่จะรู้เฉพาะแต่ละลักษณะจริงๆ เพียงแต่รวมๆ กัน รวมๆ กันก็พูดได้ คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิเลส ก็พูดถูก แต่ว่ารู้อย่างนั้นหรือเปล่าว่า กิเลสเมื่อไรขณะไหน อย่าให้ผิดปกติเท่านั้น แม้แต่ขณะนั้น สติสัมปชัญญะก็เกิดได้ ระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ คือ ทุกอย่างที่มีจริงเพื่อที่จะให้มีการรู้ถูกต้อง จึงได้ทรงแสดงพระธรรม หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะคนอื่นอย่างไรๆ ก็ไม่มีทางที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่ ถ้าไม่ได้อบรมบารมีถึงระดับขั้น จริงๆ ที่ทุกคนรักที่สุดคือรักตัว อยากจะให้ตัวเองดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม พอรู้สึกจะไม่ดี ก็เราชักจะไม่ดี ก็ไม่พ้นจากความเป็นเรา แต่ถึงจะดีสักเท่าไร ดีไม่พอ ถ้าเราคิดอย่างนี้อยู่เสมอ วันหนึ่งๆ เราจะทำดีเพิ่มขึ้นอีกไหม แต่ถ้าเราคิดว่าเราดีพอแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะดีกว่านั้นได้ เพราะเราคิดว่าพอ แต่ถ้าเรารู้ว่า ดีอย่างไรก็ยังไม่พอ ดีกว่านี้อีกก็ดีขึ้น ดีขึ้นได้ จนกระทั่งสามารถจะดับกิเลสได้หมด นั่นแหละ ไม่ต้องมีกิจที่จะต้องกระทำอีกแล้วในเรื่องของการดับกิเลส

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในเรื่องการฟังแค่นี้ ผมรู้ว่ายังไม่พอเพียง จะต้องฟังธรรมต่อไป ท่านอาจารย์จะมีข้อแนะนำที่เหมาะสมอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนสำคัญ วันนี้ คุณประทีป

    ผู้ฟัง ตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ เราก็คิดถึงแต่ตัวเรา ถ้าเราคิดถึงคนอื่น ลืมว่าเราเป็นคนสำคัญ เพราะความจริงก็ยิ่งไม่สำคัญเท่าไร กิเลสก็น้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ กิเลสของเราก็เปลี่ยนแล้วก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะคิดถึงคนอื่นในวันหนึ่งๆ มากกว่าคิดถึงเราเอง หรือเกือบจะไม่มีเวลาที่จะมาคิดถึงตัวเราเองเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แม้เล็ก แม้น้อย แม้ใหญ่ เราก็จะมีความสบายใจ เบาใจด้วย แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วยว่า เรามีกิเลสมาก เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เมื่อไรสติของเราจะมาก ปัญญาของเราจะมากมาย เป็นเรื่องเราที่นั่งคิดแล้วปวดหัวตลอดเวลา เพราะว่ามันไม่เป็นอย่างที่เราคิด ถ้าเราไม่ได้มานั่งคิดว่า เราเป็นอย่างไร เมื่อไรเราจะเป็นอย่างไร เราก็ฟังธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจธรรม แล้วก็ทำความดีไป ทุกๆ วัน เราก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะว่าถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจนั้นเองก็จะทำหน้าที่ของเขาเอง ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา โลภะก็ทำหน้าที่ของโลภะ วันไหนที่คิดถึงตัวเองน้อยลง มีแต่คนอื่นที่เราจะทำประโยชน์ให้ ก็จะทำให้ความสำคัญของเราค่อยๆ ลดลงไป แม้ว่ายังไม่หมด แต่เราก็จะลืมเรื่องของตัวเราไปเลย ไม่ต้องคิดว่าจะเหน็ด จะเหนื่อย จะทุกข์จะร้อนหรือจะอะไรเลย ทำอะไรที่จะให้คนอื่นได้ ก็ลืมเรื่องตัวเอง แล้วศึกษาเรื่องธรรม ก็เข้าใจธรรม ก็ไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องตัวเอง อีกว่าเราเข้าใจแค่ไหน หมดเรื่องที่จะคิดถึงตัวเองเมื่อไร เราก็เบาขึ้น

    ผู้ฟัง สมมติว่าต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตอนนั้นมันอยากได้มากที่สุด แต่พอสักพักหนึ่งหลังจากมีเวลาได้คิด บางทีเป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นอะไรนี่ แล้วมาคิดขึ้นมาได้ แล้วจะทำอย่างไร ถึงว่า ให้รู้เร็วไปกว่านั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่ง ถ้าเราทราบแน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น ทุกอย่างมีปัจจัยมีเหตุก็เกิด สิ่งที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ที่ปรากฏ เพราะเกิดแล้วทั้งนั้นเลย ต่อให้เราจะไปพยายามทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะเกิดแล้วทั้งนั้นทุกขณะ

    การศึกษาธรรมทำให้รู้จักตัวเอง ค่อยๆ รู้จักตัวเองขึ้น ค่อยๆ เห็นว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ตัวเรา มีเรา ซึ่งไม่ใช่ปัญญา พยายามที่จะให้ไปเป็นอย่างอื่น ทั้งหมดในทางฝ่ายดี แก้ด้วยปัญญา ถ้ามีปัญญาเป็นผู้นำ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก กายก็ถูก วาจาก็ถูก แต่ถ้าขณะใดที่กายผิด วาจาผิด รู้เลย เราเป็นอกุศล เพราะความเห็นที่ผิด คิดว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงขอให้คิดดูจริงๆ ทุกอย่างในขณะนี้มี ไม่ใช่เราทำให้มีเลย เกิดแล้วทั้งนั้น จึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็จะคลายความเป็นเราหวังจะทำอย่างนั้น หวังจะทำอย่างนี้ แต่เวลาเกิดแล้วรู้ว่า ขณะนั้นเราสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567