ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๘๑

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ อย่างพูดเรื่องจิต ชาติ คือ จิตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นกุศลเป็นเหตุที่ดี หรือเป็นอกุศลเป็นเหตุที่ไม่ดี หรือว่าเป็นวิบาก คือไม่ใช่ตัวเหตุ แต่เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลหรืออกุศล ชื่อว่า “วิบาก” นี่เราก็ต้องเปลี่ยนความเข้าใจในภาษาไทยของเราแล้ว เพราะว่าแต่ก่อนนี้เราคิดว่า วิบากคงจะแสนทรมาน เวลาที่มีการใช้คำว่าวิบาก แต่เดี๋ยวนี้วิบากไม่ใช่อย่างนั้น กุศลวิบาก คือ ผลของกุศล แต่ว่าเราต้องเป็นคนละเอียดที่จะรู้ว่าผลของกุศล ถ้ามีใครบอกเราว่า จิตที่เป็นผลของกุศลเฉยๆ อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว ต้องซักไปอีกว่าขณะไหน

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก ขณะไหนเป็นชาติที่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงฟังแล้วคิดว่า เข้าใจๆ เข้าใจไม่พอ ต้องซักจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ หรือถ้าไม่มีใครจะซัก ก็ไตร่ตรองด้วยตัวเองจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ แล้วเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่ลืม ทุกอย่างจะสอดคล้องกันหมด ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องชาติของจิตจริงๆ ไม่ต้องพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือไม่ต้องพูดเรื่องธรรมหมวดอื่นๆ เลย เพราะว่าเพียงขั้นต้นที่แสดงว่า จิตเกิดมาต่างกันเป็นชาติต่างๆ เราก็ยังไม่ทราบ

    ผู้ฟัง การซักถามอาจารย์ รู้สึกว่า บางครั้งเหมือนจะไปทดสอบอะไร คนฟังมีความรู้สึกว่า เราจะไปลองภูมิอะไรทำนองนั้น อีกอย่างกลัวว่า ทำไมไม่ค่อยรู้เรื่องถามอยู่เรื่อยเลย

    ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า ถามเพื่อให้ได้เหตุผล ถ้าอย่างมีคนจะบอกให้ดิฉันปฏิบัติธรรม ดิฉันก็จะต้องถามว่า ปฏิบัติคืออะไร ธรรมคืออะไร ไม่ใช่บอกให้ปฏิบัติธรรม ดิฉันก็ไปเลยไปปฏิบัติธรรมอย่างนั้นไม่ได้ นี่คือไม่พิจารณา ไม่ซักถามให้เข้าใจ ไม่เป็นความเข้าใจของตัวเอง

    ก่อนอื่นไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องฟัง หรือเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่มีปัญญาจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ทำไปโดยไม่มีปัญญา ซึ่งการศึกษาธรรมจะไม่ใช่โดยลักษณะนั้น ไม่ใช่พึ่งคนอื่น โดยที่ว่าไม่เข้าใจ แต่เชื่อ แต่พึ่งโดยการที่ว่า ผู้นั้นสามารถจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจของเราเองไหม

    ไม่ทราบคุณเสกสรรเข้าใจเรื่องชาติ ๔ หรือยัง หรือยังสงสัยอยู่ จิต เจตสิกมีชาติ ทุกขณะที่เกิดขึ้น เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง จิตที่ว่าเป็นชาติอกุศล หรือกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา พอจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตเกิดทีละหนึ่งขณะ แล้วขณะหนึ่งที่เกิดนั้นเป็นอะไร ที่ใช้คำว่าเป็นอะไร คือ ชาติเป็นชาติอะไร เพราะฉะนั้น ต้องบอกได้เลยว่า ขณะนี้จิตที่เกิดขึ้น เป็นชาติอะไร ต้องมีชาติประจำตัวจิตทุกดวง ทุกขณะจิต

    ผู้ฟัง กล่าวโดยสรุปลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องรู้จักลักษณะของกุศลว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าจิตมีชาติ จิตที่ไม่มีชาติเลย มีไหม ไม่มี ถ้าดิฉันถามครั้งที่ ๓ จิตที่ไม่มีชาติเลย มีไหม ไม่มี ถ้าถามถึง ๓ ครั้ง แล้วคราวหน้า อย่าลืม

    ผู้ฟัง หนูไม่ถามถึงชาติ หนูยังข้องใจเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตใช่ไหม ปัญจทวาราวัชชนะ ชาติอะไร

    ผู้ฟัง เป็นชาติกิริยา

    ท่านอาจารย์ อันนี้แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องรู้ หมายความว่าไม่ว่าจะพูดเรื่องจิตอะไร แม้แต่จิตที่จะถาม ที่จะสงสัย อย่าข้ามเรื่องชาติ ถ้าถามกลับว่า เป็นชาติอะไร ต้องตอบให้ได้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ตอนนี้คุณสุพรรณีตอบถูกต้อง ซึ่งทุกคนก็คงจะทบทวนไปด้วยว่า กำลังพูดถึงจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นชาติกิริยา ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าแปลเป็นภาษาไทยคงไม่ยากใช่ไหม ปัญจทวาราวัชชนจิต คำที่แปลกหูคือ วัชชนะ เพราะว่า ปัญจ ก็ทราบ ๕, ทวาร ทวารา ก็ทราบ ทวาร ๕, และอาวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น การเรียนธรรม ไม่ใช่ว่าจะยากเกินไป เพียงสนใจอย่าทิ้งภาษาบาลี แล้วอย่าคิดว่า ภาษาบาลีไม่ยอมฟังไม่ยอมจำ จะเอาแต่ความเข้าใจอย่างเดียว ไม่ได้ เพราะเหตุว่าพูดยาว ถ้าเป็นภาษาอื่น แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็พูดสั้นๆ แม้แต่จิต ถ้าเข้าใจแล้วว่าจิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร ปัญจทวาราวัชชนจิตคืออะไร

    ถ้าเราจะศึกษาพร้อมๆ กัน ไม่ทราบว่า มีใครไม่รู้จักจิตดวงนี้ หรือเปล่า ปัญจทวาราวัชชนจิต คุ้นหูหรือว่าใหม่ หรือว่าพอจะเข้าใจบ้างว่า เป็นจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นชาติกิริยา

    ผู้ฟัง เป็นชาติกิริยา แบ่งเป็นกุศล๕ อกุศล๕

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูกแล้ว เห็นไหมต้องตามลำดับจริงๆ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ๑ ดวง นี่กำลังจะสับสน ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิต ๑ ดวง ๑ ขณะซึ่งเกิดก่อนปัญจวิญญาณ คือ เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น เกิดก่อนโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน เกิดก่อนฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น เกิดก่อนชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส เกิดก่อนกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบกาย

    ปัญจทวาราวัชชนจิต จะเกิดโดยอาศัยทวาร ๕ ทวาร แต่เกิดได้โดยอาศัยทีละ ๑ ทวาร เป็นจิตดวงเดียวไม่ใช่ ๕ ดวง เป็นชาติเดียว คือเป็นชาติกิริยา ถ้าเป็นกิริยาจิตจะเปลี่ยนเป็นกุศลไม่ได้ เปลี่ยนเป็นอกุศลไม่ได้ จะเปลี่ยนเป็นวิบากไม่ได้ ด้วยจิตนี้เป็นกิริยาจิตเป็นชาติกิริยาแล้ว จะเป็นชาติอื่นไม่ได้ อย่าสับสน

    ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ปัญจวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณ นี่เป็นความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดว่าชื่อคล้ายๆ กันคงเหมือนกัน หรือเป็นดวงเดียวกันไม่ได้เลย ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่เป็นปรมัตถธรรม คือ เปลี่ยนไม่ได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถึงได้ถามว่าชาติอะไร ถ้าตอบว่าชาติวิบาก แล้วจะมาแบ่งเป็นกุศล อกุศลไม่ได้ เป็นชาติไหนก็เป็นชาตินั้นตลอดไป ต้องใช้คำว่าตลอดไป คือ วันนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา พรุ่งนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตจะเป็นชาติกุศลไม่ได้

    ผู้ฟัง ปัญจวิญญาณจิต ตกลงเป็น ๑๐ ดวง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต ถ้าพูดถึง ๑๐

    ผู้ฟัง แล้วก็มีกุศล อกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปนกันไม่ได้อีกแล้ว กุศลเป็นเหตุ กุศลวิบากเป็นผล เป็นจิตคนละดวง กุศลจิตเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลวิบากจิตเกิดภายหลัง อกุศลจิตเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดภายหลัง เพราะฉะนั้น กุศลจึงไม่ใช่กุศลวิบาก อกุศลจึงไม่ใช่อกุศลวิบาก

    ด้วยเหตุนี้จิตจึงมี ๔ ชาติ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต

    ผู้ฟัง สำหรับในเรื่องที่ว่าตามรักษาจิต พอจะให้เข้าใจ ในเรื่องของการรักษาจิต เพราะฟังมันเรื่องง่ายๆ แต่ทางปฏิบัติจริงๆ ลึกซึ้งแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ความสำคัญอยู่ที่ว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องตรง เมื่อไม่รู้คือไม่รู้ เมื่อไม่เข้าใจคือยังไม่เข้าใจ เมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจ คือเริ่มเข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปคิดถึงว่าอยากมีสติมากๆ หรือว่าอยากจะเป็นอย่างท่านผู้นั้น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้ตัวจริงความจริงเป็นอย่างไร ก็เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างนั้น แล้วค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจตรงตามความเป็นจริงของตนเองขึ้น ไม่มีการเปรียบเทียบว่า คนโน้นทำไมเข้าใจมาก หรือว่าอะไรอย่างนี้ แต่ละบุคคลก็ต่างกัน คนนี้อาจจะเข้าใจส่วนนี้ แต่ไม่เข้าใจส่วนนั้นก็ได้

    ไม่ใช่ว่าจำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน หรือว่าอยากจะเหมือนคนนั้น หรือว่าอยากจะเหมือนคนนี้ ถ้าอยากจะเหมือนพระอรหันต์มีทางเดียว คือ อบรมปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ เมื่ออยากจะเหมือนพระโสดาบัน ก็ต้องมีทางเดียวเหมือนกัน คือ อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน แต่ว่าถ้าไม่มีเหตุเลย หรือว่าไม่สนใจในเรื่องของปัญญาเลย เพราะว่าบางคนยังคิดว่า ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร เพราะชีวิตของเขาไม่มีปัญหา แล้วเขาก็ศึกษาธรรมพอจะเข้าใจบ้างแล้วเลยกลายเป็นคนเฉื่อยๆ ชาๆ เหมือนกับว่าพอแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่มีการพอเลย ข้อความในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา ซึ่งทุกท่านที่นี่พร้อมที่จะอ่านได้แล้ว ถ้ามีความเข้าใจเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เริ่มอ่านพระไตรปิฎก และอรรถกถาได้ ถ้ามีความสงสัยก็แสดงว่า สิ่งที่เราฟังมายังไม่พอที่จะเข้าใจส่วนนั้น ตอนนั้น เพราะฉะนั้น ต้องฟังตามลำดับอีกต่อไปเพื่อที่จะได้เข้าใจส่วนนั้น แต่ว่าดี ถ้าอ่านแล้วจะได้เข้าใจว่า ความเข้าใจขั้นไหน เพราะว่าส่วนใหญ่บางทีอ่านพระสูตร รู้สึกเหมือนกับพระธรรมไม่ยากเลย บางคนก็ชอบพระสูตร เพราะเหตุว่าไม่มีเรื่องจิตกี่ดวง เจตสิกกี่ดวง ชื่อต่างๆ พวกนี้ แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงในพระสูตรทั้งหมดเป็นพระอภิธรรม ต้องเป็นเรื่องของจิต ต้องเป็นเรื่องของเจตสิก ต้องเป็นเรื่องของรูป ต้องเป็นเรื่องของพระนิพพาน

    ถ้ามีข้อความสั้นๆ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศล ไม่ดีจงละเสีย แค่นี้ฟังเพราะรู้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ดี ก็ละเสีย แต่ละอย่างไร ไม่มีทางเลยที่จะละ ให้ละ เป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น แล้วกว่าปัญญาจะเกิด โดยเฉพาะปัญญาของคนยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งไม่ใช่อุคฆติตัญญูบุคคล ไม่ใช่วิปปัญจิตัญญูบุคคล และจะเป็นเนยยบุคคลหรือไม่เป็น แต่ละคนรู้ดี ตามความเป็นจริง เนยยบุคคล คือ ผู้ที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ ถ้าไม่สามารถก็เป็นปทปรมบุคคล เพราะฉะนั้น ทุกคนก็เป็นตัวเองจริงๆ และตรงต่อความจริงด้วย จึงจะเข้าถึงธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ตัวของเราต้องพิจารณาตัวเองเสมอว่า เราจะไปเหมือนคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความเข้าใจที่เราไปตั้งความหวังของเรา

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์สูงสุด คือ ไม่มีตัวทั้งเราทั้งเขา มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ความเข้าใจของเราน้อยนิดสักแค่ไหน เมื่อเทียบกับเมื่อได้ฟังสิ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่สำหรับขณะที่เห็น เป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ ยังไม่ได้เป็นธรรม เป็นเรื่องเป็นราวของสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เรื่องราวของเสียงที่ปรากฏทางหู นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้ธรรมมี กำลังเผชิญหน้า กำลังเห็น แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงของธรรมได้

    ทั้งหมดเป็นเรื่องการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมซึ่งเป็นสัจธรรม มีโอกาสที่จะรู้ว่าความจริงเป็นอะไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น โมหะ อวิชชา กิเลสมากมายสักแค่ไหน ความจริงที่จะต้องมีต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็เพิ่มการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงวันนั้น ช้าหรือเร็วไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องจริงที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าการที่ได้ศึกษา ได้ฟัง ได้สนทนากันมา คงจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการที่จะรู้เรื่องจิตประเภทต่างๆ มากๆ เพื่อที่จะให้สามารถรู้ความจริงว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าชื่อว่า จิตเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ แค่นี้เป็นบทนำ เป็นมาติกา หรือเป็นแม่บท หรือเป็นหัวข้อก็ได้ แต่ว่าถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องจิตประเภทต่างๆ ประกอบ ทำอย่างไรถึงจะเห็นจริงๆ ว่า จิตเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่ง เป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์พูดบอกว่าให้รักษาจิต บางท่านก็บอกว่าให้รักษาใจ บางท่านก็บอกว่าให้รักษาจิต แต่ผมคิดว่าจิตกับใจ ถ้าเราศึกษาจะรู้ว่าต่างกันแน่นอน แล้วจิตเห็น จิตได้ยินนั้นก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ว่าจิต ๔ ชาตินั้น ผมคิดว่าคงจะเป็นใจ ใช่ไหม จิต กุศล หรืออกุศล วิบาก หรือกิริยา คงจะไม่ใช่จิตที่เห็น ได้ยิน แต่ว่าจะต้องเป็นใจเท่านั้น ใช่ไหม ถึงจะเรียกว่าเป็นวิบาก กิริยา

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีไม่มีคำว่า “ใจ” ภาษาไทย ใช้คำว่า “จิต” ซึ่งเอามาจากภาษาบาลี หมายความถึงใจ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า จิต ใจ มนัส มโน หมายความถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เป็นเรื่องของการที่ใช้คำหลายๆ คำ แล้วภาษาไทยเราก็ใช้ควบไปเลย จิตใจ ถ้าจิตไม่รู้เรื่อง ก็ใช้ใจเข้าไปด้วย ก็แสดงให้เห็นว่าเราใช้คำในภาษาบาลี แล้วเราก็ตามด้วยภาษาไทย เพื่อที่จะให้เขาใจความหมายนั้น เสด็จไป เสด็จมา ก็เป็นคำที่ประกอบคำที่เราไม่รู้ ให้เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ความยากก็อยู่ที่ตรงนี้ สับสนว่าอะไรแน่

    ท่านอาจารย์ ความคิดที่ว่า ไม่อยากจะจำภาษาบาลี ไม่อยากจะรู้เรื่องมาก เพราะบางท่านที่กล่าวว่าอยากจะพิสูจน์ โดยที่ไม่อยากจะจำอะไรทั้งนั้น แต่อยากจะพิสูจน์ความจริง ขณะนั้นด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งไม่มีทางสำเร็จ

    ใครก็ตามที่ไม่ศึกษาให้เป็นความเข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ จะไม่มีเครื่องประกอบที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่า สภาพของจิตเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร ระลึกรู้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะได้ค่อยๆ เกิดความรู้ว่า ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏอย่างนี้ แล้วไม่เคยรู้เลย เคยแต่ฟังเรื่องของสภาพธรรม เคยแต่ฟังเรื่องของจิต

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่กำลังจะไปพิสูจน์ เพราะเราฟังมาว่ามีจิต ก็จะมีตัวตนซึ่งเป็นเราไปพิสูจน์ ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เป็นตัวเรา ไม่มีทางที่จะเอาตัวเราออกได้เลย แต่พระธรรมทั้งหมดแสดงความละเอียดของความเป็นอนัตตาของทั้งจิต เจตสิก รูป ขณะที่คิดอย่างนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ใช้คำว่าเป็นจิตชนิดหนึ่งก็ได้ ต้องรู้อย่างนี้จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำ ที่มั่นคงจริงๆ ในลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ว่าเป็นแต่เพียงจิตชนิดต่างๆ ถ้ามีการระลึกได้อย่างนี้ สัมมาสติก็จะมีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่เราจะไปพิสูจน์

    ผู้ฟัง คราวที่แล้วที่เราพูดคือเรื่องอเหตุกจิต คือ จิตที่มีเหตุ หนึ่งเหตุ สองเหตุ และ สามเหตุ ภาษาบาลีท่านว่า เอกเหตุกจิต ทวิเหตุกจิต และติเหตุกจิต อันนี้เป็นภาษาบาลี

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีง่ายๆ ไม่ยากเลย คนไทยเราใช้คำว่าเหตุ มีคนไทยคนไหนบ้างที่ไม่พูดคำว่า “เหตุ” ออกเสียงเป็นภาษาบาลีคือ เห-ตุ ออกเสียงทุกพยางค์ และ เอ กะ แปลว่า ๑ เอกเหตุ มีเหตุ เหตุเดียว เอก คือหนึ่ง มีเหตุเดียว ถ้าทวิเหตุ ทวิแปลว่า ๒ ติแปลว่า ๓ เพราะฉะนั้น ติเหตุ หรือ ติเหตุกะ แปลว่า จิตหรือเจตสิกที่มีเหตุ สามเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นเรื่องที่คุณเสกสรรคงไม่ต้องคิดหรือเสียเวลา หรือพยายามอะไรเลย เพราะว่าแท้ที่จริง คือ ภาษาที่เราชินหู แต่เวลาที่ศึกษาธรรมเราต้องเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นว่า จะใช้ง่ายๆ อย่างที่เราเคย เอามาใช้ภาษาไทยไม่ได้ นั่นคือเรื่องที่คนไทยยืมคำมาใช้ แต่ว่าไม่ใช่ภาษาที่จะทำให้เข้าใจธรรม ถ้าจะเป็นภาษาที่จะทำให้เข้าใจธรรม แม้แต่คำว่า เหตุ หรือ เห-ตุ จำไม่ยากเลย ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง แล้ว ๖ ดวงนี้ก็ชินอีก โลภะมีไหม เคยได้ยินไหม โทสะมีไหม โมหะมีไหม ทั้งหมดนี้เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงโลภะ เรารู้เลยว่า โลภเจตสิก โลภะตัวเดียว โลภเจตสิก พูดถึงโทสะ ก็หมายความถึงเจตสิก พูดถึงโมหะ หมายความถึงโมหเจตสิก

    นี่ฝ่ายไม่ดี ๓ ฝ่ายดีก็ตรงกันข้าม อโลภะไม่ติดข้อง อโทสะไม่โกรธ อโมหะไม่หลง เป็นสภาพของปัญญา

    ผู้ฟัง สำหรับเรื่องเจตสิก ส่วนใหญ่ในทางชีวิตจริงๆ เราจะไม่ใช้เจตสิก เช่น โลภเจตสิก เราจะพูดว่า นี่โลภจิต ไม่ดีเลย อยากตลอดเวลา จิตโกรธตลอดเวลา อันนี้มันจะขัดกันไหม

    ท่านอาจารย์ นี่ต้องแยก ถ้าเป็นภาษาธรรมดาแล้วก็ไม่ได้พูดตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ถ้าเป็นภาษาที่ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า ถ้าเป็นเจตสิก ได้แก่ โลภเจตสิก ถ้าพูดถึงโลภะเฉยๆ จะบอกว่าจิตไม่ได้ ถ้าจิตก็ต้องบอกว่าโลภมูลจิต คือ จิตนั้นมีโลภเจตสิกซึ่งเป็นมูล มูลหรือเหตุ เหมือนกัน เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง เติมมูลเข้าไปอีกตัว

    ท่านอาจารย์ เติมมูลเข้าไปด้วย มูลก็แปลว่าราก ใช่ไหม

    สมพร ใช่ มูลแปลว่าราก คือเหมือนต้นไม้มีรากมั่นคง มูลในที่นี้หมายความรากนั่นเอง คือความมั่นคงของกิเลส

    ท่านอาจารย์ ศึกษาไปก็ยิ่งไม่ยาก ก่อนศึกษายาก แต่พอศึกษาแล้วจะไม่ยาก ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา ชื่อก็จำง่ายๆ

    ผู้ฟัง เหตุคงดับไม่ได้แต่รู้ได้ เมื่อรู้แล้วไม่ยึดถือเหตุนั้นๆ เมื่อไม่ยึดถือเหตุนั้นๆ โลภะก็ไม่มีอำนาจที่จะให้เป็นอิฏฐารมณ์หรือ อนิฏฐารมณ์ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องดับได้ ถ้าดับไม่ได้ก็ต้องเกิดไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ดับได้ อย่างพระพุทธองค์ที่ตรัสรู้นั้น หมายความว่าไม่เกิดเลยในชวนจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่เกิดเลย หมายความว่า จิตทุกขณะมีปัจจัยจนถึงขณะจิตสุดท้ายของพระอรหันต์ จึงจะไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปได้ แต่ถ้าจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยที่จะให้จิตขณะต่อไปเกิดเรื่อยๆ ในสังสารวัฏ ถ้าย้อนไปจากขณะนี้ จนกระทั่งถึงเราเกิดขณะแรกจะเห็นได้ว่า นับไม่ถ้วนเลย แต่ว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แต่ในขณะหนึ่งจะมีอะไรบ้างมากมายสะสมอยู่ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้แต่ละขณะซึ่งสืบต่อ ผ่านเหตุการณ์แต่ละขณะ แต่ละวัน จนถึงขณะปัจจุบันนี้ ซึ่งจิตก็ยังคงเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็ดับแล้วก็สืบต่อไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    22 มี.ค. 2567