สนทนาธรรม ตอนที่ 008


    ตอนที่ ๘

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสภาวรูป ๑๘ รูป แล้วจะรู้ว่าอีก ๑๐ รูปเป็นอสภาวรูปอย่างไร เพราะฉะนั้น การเรียนไม่อยากจะให้เรามานั่งฟังกัน แล้วก็ข้ามไปๆ แล้วก็ไม่รู้อะไรไม่ต้องการแบบนั้นเลยค่ะ เรียนหมายความว่าฟังแล้วเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะจำได้ ที่จะไตร่ตรองที่จะพิจารณา นั่นคือประโยชน์ของการฟัง ถ้าเราจะเรียนแบบชื่อที่เก็บไปเยอะๆ อยู่ในหนังสือบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อย่างนั้นไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามเรื่องสภาวะรูป กับ อสภาวรูป ก็ต้องให้เข้าใจจริงๆ ว่าสภาวรูปเป็นรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตนแต่ละรูป

    ส่วนอสภาวรูป ไม่ใช่รูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน เช่น ขณะเกิด รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ ขณะแรกที่เกิดเป็นอุปจยรูป เพราะฉะนั้นรูปทุกรูปจะมี ๔ คือ อุปจย สันตติ ชรตา อนิจจตา รูปเดียวแต่ว่ามีลักษณะของเขาสภาพของเขา ๔ คือ ขณะเกิด อุปจยรูป ไม่ใช่ขณะดับ ไม่ใช่ชรตารูปเลย เพราะว่าเขามีอายุ ๑๗ ขณะ และระหว่างที่หลังจากเกิดแล้ว ขณะที่สืบต่อก็ไม่ใช่ขณะแรก รูปที่เกิดขณะแรกไม่ใช่รูปเดียวสภาพเดียวกับขณะที่สืบต่อ ขณะนั้นน่ะคือ สันตติ ยังไม่ใช่อนิจจตา ยังไม่ใช่รูปที่ดับด้วย และก่อนที่รูปจะดับ ขณะนั้นก็เป็นรูปที่เสื่อมที่จะดับ ลักษณะของรูปที่จะดับ ต้องเสื่อม เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นชรตา และขณะที่ดับขณะนั้นเป็นอนิจจตา นี่คือรูปที่ไม่มีลักษณะเฉพาะของตนของตน เช่น ไม่มีรูปอุปจยรูปเกิดขึ้นลอยๆ ไม่มีสันตติเกิดขึ้นในลอยๆ ไม่มีชรตาลอยๆ ไม่มีอนิจจตาลอยๆ แต่เป็นลักษณะอาการของรูปที่เกิด เพราะว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ขณะที่หนึ่ง ขณะแรกที่เกิดเป็นอุปจย และขณะดับเป็นอนิจจตา ระหว่างที่สืบต่อยังไม่เสื่อมเป็นสันตติ และระหว่างที่เสื่อมก่อนดับนั้นคือชรตา นี่คือ อสภาวะรูป

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าจำแนกละเอียดมากครับ แล้วก็ลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นแหละเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นแหละเป็นอนัตตา ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอย่างเดียวกันไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นไตรลักษณะ ไตรนี้ไม่แยกเลยค่ะ

    ผู้ฟัง ไตรลักษณะทั้ง ๓ คือสภาพธรรมอันเดียวกันนั่นแหละ ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วย

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าไตรลักษณ์

    ผู้ฟัง ต้องใช้คำ ๓ คำ เพื่อความบริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ จำแนกลักษณะนั้นให้เห็นชัดว่าสภาพนั้นไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ทุกข์ที่นี่คือเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ใครจะยินดีในสิ่งซึ่งเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับอีก เกิดแล้วก็ดับอีก เกิดแล้วก็ดับเท่านั้นเอง นั่นคือลักษณะอาการที่เป็นทุกข์ และลักษณะอาการที่เกิดดับไม่เที่ยงนั่นแหละเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็สิ่งเดียวกันนั้นเองมี ๓ ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เป็นไตรลักษณ

    ผู้ฟัง ได้ฟังพระอรหันตพระเถรี ที่ท่านบรรลุอรหันต์แล้ว ท่านบอกว่าทุกข์เท่านั้นแหละที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นแหละที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นแหละที่ดับไป นอกจากทุกข์หาอะไรเกิดมิได้ นอกจากทุกข์หาอะไรดับมิได้ ทีนี้มาพิจารณาถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าทำไมถึงมี ๓ ลักษณะมี ๓ อย่าง ก็เลยทำให้คิดว่าคงจะเป็นความบริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ศึกษา อ่านเองคิดเองก็เข้าใจผิดได้หมดเลย

    ผู้ฟัง ตกลงว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้เราจะพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้นะครับ

    ท่านอาจารย์ ๓ ลักษณะอยู่ด้วยกัน แล้วแต่ว่าจะพูดเรื่องทุกข์ก็บังคับบัญชาไม่ได้เป็นอนัตตา จะเป็นทุกข์ลอยๆ โดยไม่เป็นอนัตตาได้อย่างไร และก็ไม่เกิดดับได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องทวารกับวัตถุ จากภวังคจิตมาแล้ว เมื่อจะรู้อารมณ์ก็จะต้องรู้ได้ทั้ง ๖ ทวาร เป็นคำความหมายของคำว่าทวาร

    ท่านอาจารย์ และตอนที่เป็นภวังคจิตรู้อารมณ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ภวังคจิตรู้ นะคะ แต่จะขึ้นวิถี ขึ้นก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วความต่างกันของภวังคจิตที่รู้อารมณ์กับตอนที่รู้อารมณ์ทางตาหูจมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง คือ ภวังคจิตไม่ได้รู้ทางหู ตา จมูก ไม่รู้ทางทวารทั้ง ๖

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเมื่อเป็นจิตแล้วต้องเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ แต่สำหรับภวังคจิตนั้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ ไม่อาศัยทวารใดๆ เลย

    ผู้ฟัง ตอนนี้มาถึงวัตถุ คือที่ยกทวารกับวัตถุขึ้นมา เพราะว่าดิฉันเองก็สงสัยแล้วก็มีผู้ถาม จึงขอถามว่า ที่ดิฉันเข้าใจเนี่ยจะถูกต้อง หรือยัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ว่าถ้าเป็นวัตถุ วัตถุก็คือ ปสาทรูปเห็นรูปารมณ์แล้วก็เกิดวิญญาณ ตรงที่เกิดมาเรียกว่าวัตถุรูป จะถูกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คือให้เข้าใจความหมายของคำว่าทวาร กับความหมายของคำว่าวัตถุ ทวารหมายความถึงทางที่จิตจะรู้อารมณ์ มี ๖ ทาง อารมณ์อื่นที่ไม่ใช้อารมณ์ของภวังค์ก็คือตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ แล้วก็ต้องทราบด้วยว่า ถ้าพูดคำว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องให้ชัดเจนออกมาว่าตาเป็นรูป ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปจึงมีจิตเห็นเกิดได้ ถ้าพูดถึงหูก็ต้องเป็นรูป หมายความถึงโสดปสาทรูปคือต้องอาศัยโสตปปสาทรูป จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ต้องเป็นรูป แต่ใจได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ หมายความว่าไม่ต้องอาศัยตาหูจมูกลิ้นกายเลย เพียงแต่จิตคิดนึก แต่ก่อนที่จะคิดนึก ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ มิฉะนั้นแล้วมโนทวาราวัชชนะจิตก็เกิดคิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมโนทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิต ต้องอาศัยทวาร คือภวังคุปัจเฉทะซึ่งเกิดก่อนเป็นทวาร นี่คือเข้าใจเรื่องของทวารได้แก่รูป ๕ นาม ๑ แต่สำหรับวัตถุหมายความถึงรูปเท่านั้น ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะฉะนั้น จักขุปสาท เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของโสตะวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทก็เป็นที่เกิดของฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ส่วนจิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเกิดที่หทยรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้นโลภะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่หทยรูป แต่ถ้าในภูมิอื่นอย่างรูปพรหม โลภะก็เกิดได้เพราะเหตุว่าไม่มีรูป แล้วไม่ต้องอาศัยรูปก็เกิด ต้องเข้าใจว่า "วัตถุ" หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิด

    ผู้ฟัง บอกว่าสัมปฏิจฉันนะเกิดที่หทยวัตถุจะไปรู้ทางทวาร ...

    ท่านอาจารย์ อาศัยทวารอื่นรู้อารมณ์อื่น ก็เพราะเหตุเสียงจะต้องกระทบกับโสตปสาท ถ้าไม่อย่างนั้นปรากฏไม่ได้ เมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาท จิตแม้จะเกิดที่หทยวัตถุก็ต้องอาศัยโสตะปสาทรูปเป็นทวาร แต่ไม่ได้อาศัยเป็นที่เกิด เพราะฉะนั้นคำว่าที่เกิด กับ ทวาร ต้องต่างกัน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าให้รู้จักตัวเอง เพราะฉะนั้นขอถามว่ารู้จักตัวเองอย่างไรถึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นสภาพธรรม จริงๆ แล้วไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพธรรมแน่นอนแต่เมื่อความไม่รู้ ก็เลยยึดสภาพธรรมมะทุกอย่าง เช่น เห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับด้วย ขณะที่ได้ยินไม่ใช่ขณะที่เห็น นี้แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ของเรามากมายเหลือเกิน แล้วก็โลกนี้จริงๆ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีอะไรปรากฏเลย โลกที่คุณสุรีย์เป็นห่วงกังวลจะเป็นอะไรต่อไป ก็ไม่มี เพราะเหตุว่าไม่ได้คิด ก็ไม่มีเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ อยู่นอกตัวหมด สิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญ เราคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งสมบัติในบ้านเพื่อนฝูงมิตรสหายล้วนเป็นเรื่องนอกตัวที่เราคิดว่าสำคัญ เพราะขณะนั้นไม่รู้แหล่งว่าที่จริงแล้วไม่ได้มีอะไรเลย แตกย่อยออกมาเป็นแต่ละขณะ แล้วสั้นที่สุด เร็วที่สุด คือสภาพธรรมเกิดแล้วดับ ของจริงก็คือสภาพธรรมมี คนไม่มี วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่มี แต่เป็นสภาพธรรมทั้งหมด รูปธรรมก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นรูปของคนสัตว์ก็เกิดจากกรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร ถ้าเป็นรูปภายนอกไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถไฟ อะไรทั้งหมด ก็เป็นรูปที่เกิดจากอุตุเท่านั้น ไม่มีกรรม ไม่มีจิต ไม่มีอาหารที่จะทำให้เกิดรูปเหล่านั้น นี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่รู้จักโลกทั้งหมดที่เราว่าเป็นโลภคือวัตถุภายนอก แล้วก็ไม่รู้จักตัวเอง เพราะเหตุว่าตัวไม่มี แต่ว่ามีสภาพธรรมทั้งหมดทั้งภายใน และภายนอกก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ มืดนะคะ ไม่มีทางเลยที่เราจะเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่สภาพธรรม เพราะเคยเป็นโลก เคยเป็นเรามานานเท่าไหร่แล้ว แต่ทั้งๆ ที่ทรงแสดง เราก็จะต้องอาศัยการฟังแล้ว ก็พิจารณาจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่แต่ละคำต้องเข้าใจชัดเจน อย่างธรรม มี เพราะอะไรคะ เราไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี เราไม่พูดเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน เอาอะไรมาพูด แต่เราพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏให้พิสูจน์ ทุกคนรับรองได้ว่าต้องมี และสิ่งที่มีไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงต้องฟัง ฟังให้เข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เราจริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิด แล้วยังไม่ประจักษ์ว่าดับ ซึ่งความจริงกำลังเกิดดับ และสิ่งที่ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นจะมีอะไร มีแต่สิ่งใหม่ทุกวัน ทุกขณะ ที่เราบอกชีวิตของเราเหมือนคนเก่า ไม่จริงเลย ทั้งรูปก็ไม่ใช่ ทั้งนามแต่ละขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างเร็วมาก จะเอาอะไรมาเป็นของเราจริงๆ รูปเมื่อวานนี้ก็ไม่ใช่ของเรา รูปเมื่อขณะเมื่อครู่นี้ดับไปแล้ว ก็ไม่ใช่ของเรา จิตแต่ละขณะซึ่งเราว่าเป็นเราเห็น เราได้ยิน ก็เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็ดับไปเลย แล้วก็มีปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ

    เพราะฉะนั้นอะไรที่จะเป็นของเราจริงๆ ก็ไม่มี เพราะฉนั้นก็พูดแต่ว่าตัวเอง ตัวเอง ด้วยความไม่รู้ แต่ตามความเป็นจริงก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็ว จนกระทั่งความไม่รู้นี่ทำให้พูดถึงตัวเอง แล้วก็จุดสนใจของแต่ละคนก็อยู่ที่ตัวเอง และความสำคัญทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ก็อยู่ที่ตัวเอง ตัวเองสำคัญที่สุด ใหญ่ที่สุด ทุกอย่างเพื่อตัวเองทั้งหมด นี่ด้วยความไม่รู้ แต่ว่าเมื่อไหร่มีความรู้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีเราแล้ว มีแต่ธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล แล้วเราที่มีปัญญาจะเลือกอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็ต้องเห็นชัด ว่า กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม และธรรมไหนที่ควรเจริญ นี่ก็เป็นปัญญาตามลำดับขั้น ซึ่งจะต้องอบรมอีกนานมากทีเดียวกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในความไม่ใช่ตัวตน และก็กว่าจะรู้แจ้งในอริยสัจเป็นธรรมซึ่งรู้แจ้งได้เพราะว่าเป็นของจริง อาศัยความอดทนเพราะเหตุว่าในโอวาทปาติโมกข์ก็ตั้งตนด้วยขันติคือตบะอย่างยิ่ง ความอดทนเท่านั้นที่จะทำให้เราถึงทุกสิ่งทุกอย่างได้ ที่น่าจะถึงคือการดับกิเลส หรือ การละคลายกิเลส หรือการรู้แจ้งสภาพธรรม ถ้าเราคิดว่าเราเกิดมาเราก็ไม่รู้อะไร เกิดมาแล้วก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ไปตามเรื่อง แล้วก็ยังคงไม่รู้ความจริงของโลก ของชีวิต แล้วก็แต่ละภพแต่ละชาติก็เป็นไปอย่างนี้ ก็หลงสุขหลงทุกข์ต่างๆ โดยที่ว่าไม่รู้ความจริง เราก็เริ่มที่จะเห็นคุณค่าว่า อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างความสุขซึ่งเกิดขึ้นก็ขณะเดียวแล้วก็ดับ เพราะว่าจิตทุกดวงเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีอายุเพียงสั้นๆ อย่างนี้ แล้วเราก็ยังไปเห็นว่าเราก็จะอยู่ต่อไปอีกแสนโกฎกัป อย่างไม่รู้ ไม่รู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ กับการที่เราจะค่อยๆ รู้ขึ้น เท่าที่เราสามารถจะทำได้ แล้วก็เริ่มเห็นว่าชีวิตของเราตั้งแต่นี้ต่อไป ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะสะสมอกุศล หรือควรจะสะสมกุศล

    ผู้ฟัง ตัวเองขั้นที่ ๒ คือว่ารู้จักหากุศลให้ตัวเอง เพราะฉะนั้นให้รู้จักเจริญกุศลให้ตัวเอง ตรงนี้ ทางตรงก็เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นไปตามลำดับขั้น คือ ละอกุศล แล้วก็อบรมเจริญกุศล และชำระจิตให้บริสุทธิ์ ขั้นสุดท้ายคือให้หมดจากอวิชา เพราะเหตุว่า ถึงเป็นกุศลสักเท่าไหร่ก็ยังไม่พ้นจากสังสารวัฎ ต่อให้ไปเกิดเป็นรูปพรหมก็ยังไม่ใช่สัมมาปฏิปทา เพราะเหตุว่าไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฎที่จะดับกิเลส กิเลสนี้ดับยากมากค่ะ มากนะคะ เพราะเหตุว่ามีตั้งแต่ระดับอย่างละเอียดซึ่งต้องมรรคจิต โลกกุตตรจิต เท่านั้นจึงจะดับได้ และก็บางอย่างก็อาจจะระงับไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ แต่ว่าจริงๆ แล้วแล้วเชื้อยังอยู่ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นโลกกุตตรที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีไม่ทรงตรัสรู้ไม่ทรงแสดงธรรมไม่มีใครสามารถที่จะดับกิเลสหมดเชื้อคือเป็นสมุทเฉทดับอนุสัยได้ ก็ไปเจริญกุศล ให้ทานรักษาศีล ทำจิตให้สงบ แล้วไปเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหม เกิดเป็นเทพ เกิดเป็นอะไร ก็อยู่เท่านั้นเอง แต่ว่าด้วยเพื่อปัญญาที่ทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ทำให้เราสมัยนี้ได้มีโอกาสฟัง ได้มีโอกาสเข้าใจ ได้มีโอกาสรู้ว่ายังมีกุศลอีกประเภท หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นทาน และไม่ใช่เพียงขั้นศีล และไม่ใช่เพียงขั้นความสงบของจิต แต่เป็นขั้นอบรมเจริญปัญญาซึ่งจะไม่หายไปไหน ถ้าค่อยๆ สะสมอบรม แล้วแต่ ถ้าเป็นอุปนิสัย เช่นในขณะที่เราไม่โกรธใคร เรามีเมตตา นั่นก็เพราะสะสมมาเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตของเราเป็นกุศลจิต แต่ถ้าขณะนั้นไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่ใช่ขั้นของการที่เป็นปัญญาที่จะดับกิเลส

    ผู้ฟัง จิตสงบเป็นสมาธิ นี่อย่างนี้ปัญญาจะเกิดไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ค่ะ ถ้าสมมติว่าเอกคตาเจตสิกซึ่งเป็นสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นสงบ แต่สั้นเหลือเกิน คิดดูก็แล้วกันว่า ขณะนี้จิตเกิดดับ แล้วก็เวลาที่สงบนิดหนึ่งนี่ อกุศลก็ตามมามาก เพราะฉะนั้นกำลังของความสงบก็ไม่มากพอที่จะปรากฏว่าเป็นลักษณะของความสงบ

    ผู้ฟัง แต่ขณะซึ่งเขาสงบ ปัญญาเกิด หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ค่ะ เป็นเรื่องที่ว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ถ้าสติไม่เกิดอย่าไปถาม

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเขาระลึกรู้สภาพของความสงบนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะรู้นั้น จะบอกว่าไม่ใช่ปัญญาไม่ได้เลย สภาพที่รู้นั่นคือปัญญา

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยได้ยินว่าโลกสันนิวาส

    ท่านอาจารย์ โลกที่อยู่ร่วมกัน ที่เกิดมาแล้วเนี่ยไม่ใช่ว่ามีแต่เฉพาะนามธรรม รูปธรรมโดยไม่มีสิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีจิตก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่ว่าอยู่คนเดียวในความคิดของเราอยู่ในโลกนี้มีตั้งหลายคน คือการอยู่ร่วมกัน

    ผู้ฟัง ร่วมกันเฉยๆ รู้สึกก็ยังไม่วิปลาส

    ท่านอาจารย์ วิปลาสอยู่ตลอดที่อกุศลจิตไม่เกิด ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดขณะนั้นวิปลาส

    ผู้ฟัง โลกสันนิวาสนี่หมายความว่าอยู่ในอกุศลเลย

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงการอยู่ร่วมกัน เพราะว่าขณะใดที่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เวลานี้เราอยู่ร่วมกับอะไรบ้าง ทางตา เราอยู่ร่วมกับสี กับความคิดนึกเรื่องสี ทางหูเราอยู่กับเสียง และคิดนึกเรื่องเสียง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีโลกที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส เรื่องราวต่างๆ ถ้ามีแต่สีที่ปรากฏ ไม่มีคิดเลย รับรองได้ค่ะว่าไม่มีใครสักคนหนึ่ง เพราะว่าไม่มีการคิด มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่หลังจากที่เห็นแล้วก็มีความคิดนึก เพราะฉะนั้นความคิดนึกเป็นตัวปรุงแต่งว่า แท้ที่จริงแล้วแม้ว่าสภาพธรรมเกิดทางตาแล้วดับ ก็มีความยึดเรื่องที่เราคิดนึกตามสิ่งที่เห็นต่อไปอีก คืนนี้เราอาจจะคิดถึงที่นี่ก็ได้ทั้งๆ ที่ดับไปแล้ว คนละที่คนละแห่ง แต่เราก็ยังมีความทรงจำในสิ่งที่เราเห็น เพราะว่าหลังจากเห็นแล้ว เราคิดเป็นเรื่องทันที แทนที่จะจำเรื่องสีสันวรรณะต่างๆ เราจะมาคิดเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นในขณะที่คิดขณะใดเราอยู่กับเรื่องที่เราคิด คืออยู่กับคนโน้นบ้าง อยู่กับคนนี้บ้าง อยู่ที่นี่บ้าง อยู่ที่นั่นบ้าง มันก็เป็นโลกสันนิวาสคือที่อยู่ด้วยกัน โลกที่อยู่ด้วยกันกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กับความคิดนึก

    ผู้ฟัง หนูอยากเข้าใจเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา คุณประทีปเล่าว่า แรกๆ สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะลืมตาจะไม่รู้อะไร จะยังไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เหมือนกับให้ระลึกตรงนั้นก่อน ยังไม่ต้องไปถึงนามรูป แต่หนูเข้าใจ ยังไม่ต้องระลึกลักษณะนามรูป หนูก็บอกว่า ถ้าสมมติว่ายังไม่รู้ หลงลืมสติ กับมีสติต่างกันอย่างไร ยังไม่รู้ขณะ จิตไหนเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ยังไม่เป็นสติปัฎฐาน ยังไม่ไปถึงอย่างนั้น เพราะว่าตอนที่ลืมตาสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่รู้ว่าเป็นอะไรนั้น ขณะนั้นหลงลืมแล้ว เพราะว่าปกติก็ระลึกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็มีปัญหามากมากเลย เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏ แต่ทีนี้ความไม่รู้ อย่างไรๆ ก็มี แล้วทุกคนก็สนใจอยากจะรู้จริงๆ ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก็เป็นอย่างนี้จะรู้เรื่องไหมรู้เรื่องจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไรไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแบ่งแยก หรือว่าไม่ใช่เรื่องที่เราจะพยายามไปทำ แต่ว่าเราจะต้องเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง เข้าใจขึ้นแม้แต่เพียงวันเดียวนิดเดียวจะน้อยจะมากยังไงก็ตาม แต่ขณะใดที่ระลึกเราก็เข้าใจว่านี่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะค่อยๆ ชินขึ้นเท่านั้นเองจะมีการนึกคิดสลับด้วยจะไม่นึกคิดสลับจะนานมากนานน้อยเนี่ยเรารู้ว่าเป็นเรื่องที่กว่าปัญญาจะเจริญต้องกินเวลานานมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าพอเราฟังปุ๊บเราระลึกปั๊บก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไปเลย มันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ไม่ได้ก็มีความอดทนที่จะรู้ว่าเราต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเวลานี้ถ้าสติเกิดก็จะสลับกันทางหูก็ได้แล้วมันก็เป็นปกติจะเลยไปถึงรู้เรื่อง หรือไม่เลยไปถึงรู้เรื่องก็คือรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือความเริ่มรู้โดยที่เราไม่ต้องไปสนใจด้วยความเป็นตัวตนที่จะไปพยายามไปหยุดยั้ง หรือว่าไปแยก แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแล้ว ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเป็นปกติ ให้เป็นปกติไปเรื่อยๆ ค่อยๆ รู้ขึ้นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง พอดีฟังเมื่อเช้าเรื่องของความเป็นเรา อยากจะทราบว่ามีความต่างกันอย่างไร ที่ว่าเป็นเราด้วยตัณหา ด้วยมานะ และด้วยทิฏฐิ ความเป็นเรานี่ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญหาของหมอดีมากเลย เพราะว่าเรากำลังจะเริ่มมาถึงตัวเรา เพราะว่ามีความรู้สึกว่าเราด้วยตัณหา เราด้วยมานะ เราด้วยทิฎฐิ ตัวที่เราได้ทิฏฐิ คือว่าไม่รู้เลยว่าตัวเราจริงจริงนั้นไม่มี แต่ว่ากำลังเห็นก็เป็นเรา กำลังได้ยินนี่ก็เป็นเรา นี่คือความเห็นผิดที่ยึดถือขันธ์ว่าเป็นเรา นี่คือด้วยทิฏฐิ เพราะฉะนั้นใครไม่มีอย่างนี้บ้าง มีใช่ไหมคะ นอกจากพระโสดาบัน ทีนี้เราด้วยมานะ อันนี้ก็คงจะไม่ยาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ