สนทนาธรรม ตอนที่ 045


    ตอนที่ ๔๕


    ผู้ฟัง เราก็ไม่ได้ไปวัดกันมาตั้งเดือนแล้วก็หิวธรรมะเหลือเกิน ก็อยากจะเจอหน้าคุยกัน ก็ยินดีมากที่จะมาวันนี้ ก็หมายความว่าเฝ้าคอยที่จะมาถึงวันนี้ ต้องการที่จะมีวันนี้อันนั้นเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เชิญตอบ ใครก็ได้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่โลภะ

    ท่านอาจารย์ ทำไมคะ

    ผู้ฟัง เราต้องการมาแสวงธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์ใช้คำว่าต้องการ ไม่พ้น

    ผู้ฟัง แต่ตอนนี้เราก็ต้องการธรรมะ

    ท่านอาจารย์ ต้องการอะไรก็ตามแต่ แต่ต้องการ ขณะที่กำลังฟัง และเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ขณะที่ต้องการ

    ผู้ฟัง ใช่ แต่หมายความว่าอยู่ที่บ้านแต่อยากจะมาที่นี่ในวันนี้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องอยากทั้งหมดไม่พ้นโลภะ

    ผู้ฟัง อยากจะมาฟังธรรมก็เป็นโลภะได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นเบาสบายไม่เดือดร้อน นี่คือความต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต

    อ.สมพร ก็บรรยายนิดนึงนะช่วยกัน จิตที่มีความต้องการนี่ สิ่งที่รู้ง่ายคือโสมนัส ส่วนอุเบกขานี่อาจจะเกิดมากกว่าโสมนัสก็ได้ โลภะที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ถ้าเราพิจารณาให้ดีอาจเกิดมากกว่าโสมนัส เพราะว่าเราไม่มีความรู้สึก สิ่งใดต้องการเมื่อเราต้องการสิ่งนั้นก็ประกอบด้วยอุเบกขาเสมอ แต่ต้องการแล้วได้ตามที่เราต้องการเราดีอกดีใจนั่นจึงเป็นโสมนัส ถ้าขณะนั้นไม่ดีอกดีใจ แล้วก็เพียงต้องการเฉยๆ เป็นโลภะประกอบด้วยอุเบกขา เราก็แยกเวทนาตรงนี้ เห็นยากคืออุเบกขา โสมนัสปรากฏชัด เพราะมันมีการไหวตัวที่แรงกว่า อุเบกขาเปรียบเหมือนการไหวตัวที่น้อยกว่าเกือบจะไม่ปรากฏเลย อย่างที่คุณสุรีย์บอกว่าต้องการจะหยิบปากกาตอนนั้นยังไม่ได้ดีอกดีใจต้องการเฉยๆ การไหวตัวมันเบากว่าไม่แรงเหมือนอย่างโสมนัส โสมนัสเกิดขึ้นบางครั้งบางคนยังกระโดดโลดเต้น ปรากฏเห็นชัดเจน เวทนา ๒ ตัวนี้จึงต่างกัน แต่ว่าก็อยู่ในอำนาจของตัณหาเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ก็ยังยังไม่ค่อยเข้าใจ อย่างเราอยากไปวัด อยากไปฟังธรรมมันเป็นโลภะหรือ

    ท่านอาจารย์ อยากเป็นกุศลใช่ไหม ถ้าไม่ใช่อกุศลก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง ไม่ มันก็ไม่เคยคิดถึงคำว่ากุศลเลย แต่อยากรู้เรื่อง เรื่องธรรมะ

    ท่านอาจารย์ อยาก กับขณะที่กำลังเข้าใจเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความต่างกันของกุศลกับอกุศล ชีวิตประจำวันแล้วก็สภาพธรรมแม้แต่โสมนัสเวทนา ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมากมายตัวอย่างเล็กๆ ก็คือว่าเมื่อกี้นี้ดิฉันจิบน้ำฝรั่งนิดหนึ่ง รสชาติดีรู้สึกชุ่มชื่น ขณะนั้นแม้แต่สั้นแค่จิบ แต่เวทนาก็เป็นโสมนัสได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะพิจารณาได้ ลักษณะของความติดข้องซึ่งประกอบด้วยโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ไม่ใช่ถามใครแต่ว่าขณะนั้นสามารถที่จะรู้ในสภาพของความรู้สึกที่สบายชุ่มชื่น และรู้สึกว่ามีความโสมนัสเกิดขึ้นขณะที่จิบน้ำฝรั่งเพียงแค่อึกเดียวเล็กๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นได้ โดยการที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปยกตัวอย่างไกล ถูกลอตเตอรี่ หรือว่าได้รถบีเอ็ม หรืออะไรสักอย่างก็ตามแต่ แต่หมายความว่าแม้แต่เพียงชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ถ้าเราสามารถที่จะรู้ว่าโสมนัสก็มีหลายระดับ และโลภะก็มีหลายขั้นด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล อย่าเข้าใจผิดแม้แต่ขั้นการฟัง เพราะว่าถ้าเข้าใจผิดในขั้นการฟังกิเลสจะออกได้อย่างไร ในเมื่อไปหลงผิดว่าอกุศลเป็นกุศลเสียแล้ว

    ผู้ฟัง อาจารย์ค่ะโสมนัสกับปิติ นี่ตัวเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ ปิติเป็นสังขารขันธ์ โสมนัสเป็นเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เป็นเจตสิก ๒ ประเภท จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนามีโทษมากเราควรจะละหรือไม่

    ผู้ฟัง ละไม่ได้ ควรแต่ละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ควรจะอะไรถ้าละไม่ได้

    ผู้ฟัง ควรจะศึกษาให้รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ควรจะรู้ใช่ไหม เพราะเหตุว่าเรื่องละนี่อย่าได้ไปคิดละเลย ประเดี๋ยวเราจะรับประทานอาหารอร่อยๆ ประเดี๋ยวเราก็จะทำอย่างนั้นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ดิฉันฟังอาจารย์พูดวิทยุ ดิฉันจับคำได้สองคำซึ่งจะต้องจำจนตาย คือรู้เรื่องกับรู้ธรรมะ เวลานี้เรารู้เรื่องแต่เรายังไม่รู้จักตัวธรรมะต่อเมื่อไหร่เรารู้จักตัวธรรมะเมื่อนั้นแหละเราจึงจะเริ่มขัดเกลา และละได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มีแต่เพียงขั้นปริยัติคือรู้เรื่อง แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะมีการระลึก คือสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการไปเร่งรีบชักชวนกันให้ทำเร็วๆ วันนี้ไป หรืออะไรอย่างนั้น เพราะเหตุว่าธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตาต้องเป็นสังขารขันธ์ บังคับสติไม่ได้ บังคับให้ได้ยินไม่ได้ บังคับให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย และบางทีส่วนใหญ่พอสภาพธรรมปรากฏก็เลยนึกเรื่องของสภาพธรรมนั้นไปอีกยาว ก็ต้องแยกกันเรื่องกับสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของปัญญาแต่ถ้าได้ฟังธรรมะก็ฉลาดขึ้นใช่ไหม แต่ก่อนนี้ลองเปรียบเทียบ ตอนที่ไม่ได้ฟังกับขณะนี้ก็จะทราบว่าเข้าใจอะไรขึ้นมาอีกตั้งหลายอย่างแม้ว่าสภาพธรรมแสนที่จะรู้ยาก เพราะเหตุว่าขณะนี้เป็นธรรมะทั้งหมด ศึกษา และทราบเลย แต่สติไม่ระลึกเมื่อไม่ระลึกก็ฟังเรื่องธรรมะ ยังไม่รู้จักว่าสภาพธรรมจริงๆ ทั้งหมดที่เรากำลังพูด กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน อย่างจิตเห็นเราก็ไปบอกว่าใช่ "เห็น"ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมคือจักขุประสาท ตาเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เห็นนี่เป็นจิตชนิดหนึ่ง แค่นี้ก็การบ้านเยอะใช่ไหม ฟังมาแล้วก็เป็นจิตชนิดหนึ่งแล้วก็กำลังเห็นด้วย

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ปัญญาสามารถที่จะรู้จักธาตุรู้ สภาพที่เป็นสภาพรู้ซึ่งต่างกับรูปธรรม นี่เป็นจุดที่ตั้งต้นแล้วก็ตั้งต้นอีกแล้วก็ตั้งต้นอีกคือต้องเห็นความแยกขาดจากกันจริงๆ ของนามธรรมกับรูปธรรมว่า รูปธรรมนั้นไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่รู้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะฝันไม่ว่าจะหลับไม่ว่าจะตื่น ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ทั้งหมดนั้นเป็นนามธรรม ซึ่งก็คือจิตกับเจตสิกซึ่งต้องเกิดด้วยกันแยกกันไม่ได้ ค่อยๆ พิจารณาไปแล้วก็จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม การบ้านเยอะยาวแต่ว่าแล้วแต่สังขารขันธ์นั้นจะปรุงแต่งว่าให้เป็นความรู้ระดับไหน ขั้นไหนแล้วก็ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ทำไมรีบร้อน

    ผู้ฟัง ไม่ได้รีบร้อน คือว่าไม่รู้ว่าตัวเองโง่

    ท่านอาจารย์ และถ้ารู้ตามความเป็นจริงจะดีไหม

    ผู้ฟัง โสมนัสสสหคตัง โลภโสมนัสสสหคตังนี่ก็รู้ง่ายกว่าอุเบกขาสหคตัง แล้วก็อุเบกขาสหคตังทั้งที่จริงแล้วแทบจะไม่ค่อยเกิดเลยสักครั้งด้วยซ้ำไป

    ท่านอาจารย์ อะไรไม่เกิด

    ผู้ฟัง สติครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะสติ ไม่ใช่ว่าอุเบกขาโลภะไม่เกิด

    ผู้ฟัง ทบทวนดู สติที่จะพิจารณาจิตที่เป็นโสมนัส อุเบกขารู้สึกจะไม่เคยเกิดเลยสักครั้งด้วยซ้ำไป แต่โสมนัสก็เกิดน้อยมาก โสมนัสเกิดน้อยมาก น้อยเพราะว่าประการที่หนึ่งคือเพลินไปกับมันเลย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องหมายความว่าสติไม่เกิด ไม่ใช่ว่าโสมนัสไม่เกิด

    ผู้ฟัง ครับ สติสิครับ สติก็ไม่ไม่เกิดกับโลภะโสมนัสสสหคตังนี่นะครับ ก็เกิดมากกว่า หรือว่าเกิดง่ายกว่าอุเบกขาสหคตัง เป็นอย่างนั้นไหม

    อ. สมพร ผมก็สนับสนุนอีกนิดหนึ่ง ขณะที่เราได้สิ่งที่ชอบใจ และโสมนัส ขณะนั้นอำนาจของโลภะมีกำลัง เราระลึกไม่ได้ ก็เพราะว่าขณะนั้นมันมีตั้ง ๒ เหตุ โลภเหตุ ๑ โมหเหตุ ๑ เกิดพร้อมกัน ในอารมณ์นั้นอารมณ์เดียวกันเมื่อมี ๒ เหตุ อกุศล ๒ เหตุอย่างนี้ สติจะเกิดได้อย่างไร นอกจากว่ามันหมดของมันแล้วหมดอารมณ์นั้นแล้วสติจึงเกิดได้เพราะอาศัยการอบรม โลภเหตุ โมหเหตุเกิดคู่กันเลย แต่เพราะโลภะมีกำลังท่านจึงกล่าวว่าโลภมูลจิต เอาโลภะอย่างเดียวแท้จริงมันมีทั้ง ๒ ไม่ใช่มีเหตุเดียว เราจึงระลึกไม่ได้เพราะอำนาจโมหะมีอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามซึ่งเป็นความติดข้องความต้องการไม่ใช่ลักษณะที่เบา เพราะว่าถึงแม้ว่าเรารู้ว่าที่นี่จะมีสนทนาธรรมแต่ว่ายังไม่ถึงเราก็อ่านพระไตรปิฎกเราก็ฟังธรรม แล้วก็เปิดวิทยุเราก็ทำอะไรก็ได้สนทนาธรรม ขณะใดที่สนทนาธรรมขณะใดที่ฟังธรรมะขณะนั้นมีความเข้าใจเกิดขึ้น มีฉันทะ มีศรัทธา ขณะนั้นเป็นกุศลแต่ก่อนนั้นคุณสุรีย์จะคิดว่าเป็นกุศล หรือไม่

    ผู้ฟัง คืออยากจะพูดอาการ มันคอย คอย คอย

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของคอย ไม่ว่าจะคอยอะไรก็ตามทั้งหมด สภาพของจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลไม่ว่าอะไรทั้งหมด

    ผู้ฟัง มันก็กระวนกระวาย

    ท่านอาจารย์ กระวนกระวายเป็นกุศลได้ไหม (ไม่ได้) แต่ว่าแทนที่คุณสุรีย์จะเกิดกระวนกระวายคุณสิรีย์ก็อาจจะหยิบพระไตรปิฎกขึ้นมาอ่าน หรือว่าเปิดเทปฟัง เพราะว่ายังไม่ได้มา เมื่อยังไม่ได้มาควรจะทำอะไร ควรจะปล่อยให้เป็นความอยากต่อไป หรือว่าควรจะเป็นกุศล เพราะฉะนั้นเราถึงจะทราบได้จริงๆ ว่าขณะที่เป็นกุศลนั้นต้องเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือขณะที่เป็นไปในทานมีความตั้งใจไม่ใช่อยาก บางคนอยากทำบุญขอให้เปรียบเทียบจิตใจว่าอยากทำบุญกับขณะที่ตั้งใจที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น นี่ลักษณะที่ต่างกันแล้ว เรามีความตั้งใจที่จะช่วยเขา สงเคราะห์เขาเพราะว่าจะเป็นประโยชน์กับเขา มีความตั้งใจไม่ใช่มีความเพียงอยาก หรือว่ามีความอยาก

    ผู้ฟัง คือที่เรียนถาม ก็ถามตัวเองว่าอันนี้มันเป็นโลภะหรือฉันทะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปถึงว่าเป็นโลภะหรือฉันทะ เอาสภาพของจิต ที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศลจริงๆ เพราะว่าลักษณะของกุศลจิตนั้นต้องเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ขณะที่ตั้งใจจะให้ทาน ไม่ใช่อยากให้ทาน เหมือนบางคนอยากบวชก็พูดอยู่นั่นแล้ว ๕ ปี ๑๐ ปี ก็อยากบวชๆ ไม่ใช่ขณะที่มีศรัทธาแล้วบวช หรือจะบวชมีความตั้งใจที่จะบวชไม่เหมือนกับอยาก

    เพราะฉะนั้นให้รู้สภาพของจิตว่าลักษณะใดก็ตามที่เป็นลักษณะอยาก หรือต้องการจะเป็นกุศลไม่ได้ แต่ขณะใดที่เป็นเจตนา หรือความตั้งใจที่จะทำกุศลขณะนั้นแม้เจตนานั้นก็เป็นกุศลเพราะไม่ใช่อยาก แต่เป็นความตั้งใจ หรือความจงใจ นี่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย เอาเพียงว่าถ้าเป็นไปในบุญกิริยา และคุณสุรีย์ก็จะเปรียบเทียบได้ว่าเพียงอยากมาฟังธรรมะกับรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วคุณสุรีย์ก็เกิดกุศล คือฟังซะเลยทันทีในขณะนั้น หรือว่าสติระลึกทันที ขณะนั้นเป็นกุศลทันทีแต่ก่อนนั้นจะกล่าวว่าเป็นกุศลไม่ได้ กำลังอยากจะกล่าวว่าเป็นกุศลไม่ได้เหมือนอยากให้ทาน หรืออยากบวช

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อจะเปลี่ยนภาษาจากคำว่าอยาก

    ท่านอาจารย์ เอาสภาพจิต นี่เราไม่ใช่เรื่องปัญหาภาษา แต่เป็นปัญหาสภาพจิตว่าเราเข้าใจสภาพจิตใจตรงหรือไม่ ต่อให้คุณสุรีย์จะใช้คำพูดอื่นแต่ลักษณะจิตที่เป็นอกุศลต้องเป็นอกุศล เราจะมาวิจัยวิเคราะห์ว่าเป็นกุศล นั้นเราผิดในลักษณะสภาพจิตเขาเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง จากประสบการณ์ ในการปฏิบัติธรรม ถ้าหากเราพิจารณาว่าอะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล ถ้าพิจารณาความเบาของจิต ความอ่อน ควรแก่การงานความสงบของจิตอย่าง ๖ คู่ของกุศลจิต เจตสสิก ๖ คู่นั้น แต่ก่อนผมก็ไม่สนใจเลย แต่ ๖ คู่นั้นมีความสำคัญมากๆ เลยที่จะทำให้เรารู้ว่าเออนี่มันเป็นโลภะ หรือว่ามันเป็นกุศลแน่อะไรอย่างนี้ อันนี้มีความสำคัญมากเลยที่อาจารย์บอกว่า ถ้าเป็นกุศลมีความเบา มีความอ่อน ควรแก่การงานผมเห็นด้วยเลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจิตขณะใด หม่นหมอง เป็นทุกข์เป็นร้อนแม้แต่นิดเดียว นิดเดียวกระวนกระวายแม้แต่นิดเดียว ตี ได้เลยเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบตอนนี้คุณสุรีย์พอจะเห็นด้วยแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมก็ยังอยากจะเรียนหารือท่านอาจารย์สมพรเกี่ยวกับคำว่าสหคตัง สหคตังถ้าตามตัวสหแปลว่า ร่วม แปลว่าร่วม คะตะแปลว่าไป รวมกันก็แปลว่าไปร่วม แต่ผมได้ยินท่านอาจารย์พูดว่าเกิดร่วมผมรู้สึกว่าว่ามันจะฟังเข้าใจง่ายขึ้น แล้วมันจะแปลว่าเกิดร่วม

    อ. สมพร สหแปลว่าพร้อมก็ได้ แปลว่าร่วมก็ได้ คะตะแปลว่าไป ไปพร้อม หรือคะตะแปลว่าเกิด เกิดพร้อมก็ได้ คำบาลีจริงๆ ท่านบอกว่าไปแต่ว่าความหมายไปของท่านนั้นหมายถึงเกิด

    ผู้ฟัง ตัวนี้คำว่า "สหคตัง" อย่างมีคำว่าเวทนามานำหน้าเป็นโสมนัสสสหคตัง แปลว่าเกิดร่วมกับโสมนัส หรือเกิดพร้อมกับโสมนัส ผมว่าจะฟังเข้าใจง่ายดีกว่าที่จะแปลว่าไปร่วม หรือไปอะไรอย่างนั้น แปลว่าเกิดร่วมนี้ไม่ขัดใช่ไหมอาจารย์ (ไม่ขัด) อุเบกขาสหคตัง เกิดพร้อมกับอุเบกขา เกิดพร้อมกับโสมนัสเกิดพร้อมกับอุเบกขา เพื่อเราจะไม่ให้ไปสับสนกับคำว่าสัมปยุตตังซึ่งจะมีต่อไป ถ้าแปลว่าประกอบด้วย ประกอบด้วย เดี๋ยวสหคตังก็แปลว่าประกอบ สัมปยุตตัง ก็แปลว่าประกอบ เดี๋ยวมันจะปนกัน งั้นอาจารย์ก็อธิบายเลยสิครับว่า "สหคตัง" ต่างกับ "สัมปยุตตัง" มันต่างกันอย่างไร

    อ.สมพร คือว่าตรงนี้เข้าใจชัดแล้วใช่ไหมคำว่าสหคตัง "สห" อย่าลืมว่าเราใช้แปลว่าร่วมก็ได้ แปลว่าพร้อมก็ได้ถ้าเป็น "สหคตัง" ให้เข้าใจชัดจริงแปลว่าเกิดพร้อม "สห" ตัวนั้นแปลว่าพร้อม ถ้าเราไม่เอาคำนี้ก็แปลว่าเกิดร่วม

    ผู้ฟัง ก็ สหคตังก็เข้าในกฎเกณฑ์ของลักษณะของเจตสิกที่มันเกิด

    อ.สมพร ใช่ เกิดพร้อมกันเวทนากับจิตนี้เกิดไม่เหลื่อมล้ำกันเลยต้องพร้อมกัน

    ผู้ฟัง ลักษณะเข้า ๔ ประการ

    อ.สมพร แล้วศัพท์บาลีคำว่าสหแปลว่าพร้อมก็ได้ เป็นอย่างนั้น แปลว่าร่วมก็ได้คราวนี้เรามาใช้คำเดียวแปลว่าร่วม มันก็ถูกแล้วแล้วบางคนไม่เข้าใจเราจึงใช้คำว่าเกิดพร้อมไปเลย ก็ศัพท์เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วคิดว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจเพราะเหตุว่าถ้าบางคนใช้คำว่าพร้อมก็อาจจะหมายความว่าพร้อมกันแต่ไม่ใช่ร่วมกันก็ได้ใช่ไหม แต่ว่าถ้าเกิดร่วมกันนี่แยกไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แล้วต่างอย่างไรสัมปยุตต์ครับ

    อ.สมพร สัมปยุตต์นี้ก็คือมันต่อจากโสมนัสก็มาสัมปยุตต์ เพราะว่าจิตดวงนี้ต้องเกิดพร้อมกันหมดเลยทั้งเวทนาทั้งสังขาร เวทนาขันธ์ และสังขารขันธ์แล้วก็จิตคือวิญญาณขันธ์ เกิดพร้อมกันหมดเลย แต่ว่าทิฏฐิคตสัมปยุตตัง ทิฏฐิคต

    ผู้ฟัง สหคตัง

    อ.สมพร ไม่ครับ สัมปยุตตังนี้ก็ประกอบ หรือว่าถ้าจะแปลตามศัพท์ประกอบทั่วพร้อม ก็คือพร้อมเหมือนกันเกิดพร้อมกันแต่ท่านใช้ศัพท์ต่างกัน ก็หมายความว่าเกิดพร้อมกันหมดเลยเวทนาคือโสมนัสแล้วก็สังขารขันธ์คือทิฏฐิ แล้วก็จิต ๓ ประเภทนี้เกิดพร้อมกันหมดเลย ทั้งหมดมันมี ๔ ใช่ไหม อีกขันธ์หนึ่งคือสัญญา ต้องเกิดพร้อมกัน ๔ ขันธ์เลย

    ๑ เวทนาขันธ์คือโสมนัส สัญญาก็เกิดในที่นี้แต่ไม่มีชื่ออยู่ในที่นี้ เพราะว่าสัญญาเกิดกับจิตทุกดวง ไม่จำเป็นต้องกล่าวแยกในที่นี้ใช่ไหม ๔ อย่าง ๑ เวทนาขันธ์ ๒ สัญญาขันธ์ ๓ สังขารขันธ์คือทิฏฐิ ๔ วิญญาณขันธ์ก็คือจิตพร้อมกันหมดเลย ท่านใช้คำว่าสัมปยุตตังประกอบทั่วพร้อม ก็คือประกอบนั่นเองแปลสั้นๆ หมายความว่าโดยอาการ ๔ อย่าง โดยลักษณะ ๔ อย่าง

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกับสหคตังเหมือนกัน

    อ.สมพร ก็ใช่เหมือนกันอันเดียวกัน แต่ว่าท่านใช้ศัพท์ต่างกัน โลภะนี่เกิดมากที่สุดเลยทั่วๆ ไป กุศลนั้นเกิดได้ยากแต่ว่ากุศลนั้นมีกำลัง เพราะประกอบด้วยเหตุ ๒ อย่างจึงเกิดได้ กุศลไม่ใช่มีเหตุเดียว โลภะก็มี ๒ เหตุเหมือนกันแต่ว่าโลภะนั้นมีโมหะอีกอัน หนึ่ง โลภะมีกำลังแรงกว่าจึงเรียกว่าโลภมูลจิต ทีนี้กุศลก็มี ๒ เหตุ แต่กุศลมีกำลังแรงกว่าอกุศล เพราะว่าต้องมี ๒ เหตุจึงเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ปกติในชีวิตประจำวันคนทั่วๆ ไป โลภะที่มีทิฏฐิคตวิปปยุตต์กับสัมปยุตต์ ตัวไหนมากกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ คุณธงชัยเคยเห็นคนเจ้าทิฏฐิไหม (ก็มี) อย่างนั้นสำหรับเขาจิตจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์มาก หรือว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์มาก

    ผู้ฟัง วิปปยุตต์มากกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องแล้วแต่บุคคลใช่ไหม เพราะว่าบุคคลบางคนไม่สนใจเลยเรื่องความคิดความเห็น โลกจะแตกเมื่อไรจะไม่แตกเมื่อไหร่จะเป็นอย่างไรไม่สนใจหมด เขาสนใจแต่จะมีชีวิตวันนึงๆ โดยการที่เห็นสิ่งที่ดีๆ ได้กลิ่นดีๆ รับประทานอาหารอร่อยเพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสพวกนี้จะไม่มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาหมดความเห็นผิดแต่ว่าเราจะต้องพูดถึงว่าทำไมถึงใช้คำว่าทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เมื่อกี้นี้พอพูดถึงเวทนาเราใช้คำว่าโสมนัสสสหตัง หมายความว่าขณะที่จิตเกิดต้องมีเวทนาคือความรู้สึกโสมนัสเกิดร่วมด้วย และพอใช้คำว่าทิฏฐิคตสัมปยุตตังก็เป็นการแสดงว่าในขณะที่โลภมูลจิต โสมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้นต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ต้องเกิด เพราะว่าถ้าเราจะอยู่ในระหว่างคนที่มีนานาความเห็น คนนี้จะเห็นว่ามีพระเจ้า คนนั้นจะเห็นว่าตายแล้วสูญไม่เกิดอีกเลย หรือว่าอะไรๆ ก็ตามแต่ ในขณะซึ่งต่างแสดงความคิดเห็น หรือทรรศนะ หรือกำลังมีความคิดอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมีตลอดเวลา ขณะใดก็ตามซึ่งประกอบด้วยความเห็นผิดเพราะใช้คำว่าทิฏฐิคตสัมปยุตตัง แปลว่าขณะนั้นต้องมีทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับโลภมูลจิตในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะทราบได้ว่าเป็นคนเจ้าทิฏฐิหรือไม่ ชอบแสดงความคิดเห็นต่างๆ ถูกผิดไม่ว่าเลยแต่มีความเห็นผิดเพราะสิ่งที่แสดงนั้นไม่ใช่ความเห็นถูก ขณะใดซึ่งกายก็เป็นอย่างนั้น วาจาก็เป็นอย่างนั้น แสดงว่าจิตนั้นเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น แต่ว่าขณะใดก็ตามซึ่งอาหารอร่อยดอกไม้สวย ไม่มีความเห็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด นี่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ท่านดับมิจฉาทิฎฐิทั้งหมด ความเห็นผิดไม่เกิดเลยเพราะเหตุว่าได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว แต่ท่านยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ นี่คือความต่างกันของคำว่าสัมปยุตตะกับวิปปยุตตะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    28 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ