สนทนาธรรม ตอนที่ 052


    ตอนที่ ๕๒


    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วปัญญาเกิดเมื่อใด ถ้าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นๆ ยิ่งละการที่จะทำ ไม่มีเลยที่จะทำ แล้วแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดเร็วเหลือเกิน ไม่ทันจะไปทำเลย สภาพธรรมใหม่เกิดแล้วๆ ไม่มีเวลาจะไปทำอะไร นี่ถึงจะเห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมว่าทุกขณะอย่างรวดเร็ว สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น สติระลึกตามทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะไม่ทันจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นดับแล้ว มีสิ่งใหม่เกิดแล้ว นี่คือ ยิ่งละการทำเท่าไหร่ ความรู้แจ้งจริงของสภาพธรรมยิ่งประจักษ์ได้เท่านั้น เพราะว่าไม่มีตัวเราที่จะทำ แต่ว่ามีปัญญาที่รู้ว่าสภาพธรรมเกิด และยังไม่ทันจะทำอะไรก็มีสภาพธรรมที่เกิดอีก อันเก่าก็ดับ

    การศึกษาธรรมนี่จะช่วย ถ้าเราคิด และเป็นความคิดพิจารณาของเราเอง เมื่อเป็นความเข้าใจแล้วจะไม่ลืม และคนอื่นก็จะเอาความเข้าใจที่เกิดจากการไตร่ตรองของเราไปไม่ได้ แต่ถ้าเราฟังเขาบอก นั้นง่าย เหมือนท่อง แล้วก็จำ แต่ไม่ใช่ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นพยายามคิด และตอบ เมื่อครู่นี้ถามว่าอะไร
    ถามว่า รู้ร้อนกับร้อนต่างกัน หรือเหมือนกัน เมื่อครู่นี้บอกว่ารู้จักจิตแล้วรู้ว่ามีจิตด้วย เพราะฉะนั้นคำถามต่อไปว่า ร้อน กับ รู้ร้อน ต่างกัน หรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ผู้ฟัง คิดว่าต่างกัน

    ท่านอาจารย์ คิดว่า เอาแต่เพียงคิดเอง หรือว่ามีเหตุผล กำลังกล่าวเรื่องจิต ตั้งหลักไว้เลยว่าเวลานี้เราพูดเรื่องจิต ซึ่งทุกคนรู้ว่ามีจิต ตอบว่ามีจิต แต่ว่าไม่ได้รู้จักจิต หรือรู้จักจิตที่ว่ามี นี่รู้จัก หรือไม่รู้จัก หรือเพียงแต่รู้ว่ามี

    ผู้ฟัง เพียงแต่รู้

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่าความรู้ความเข้าใจนี่ต้องมีเป็นลำดับขั้น ขั้นที่เพียงรู้ว่ามีจิต แต่แท้จริงๆ แล้วไม่ได้รู้เลยว่าจิตคืออะไร ใช่ไหม เพียงแต่รู้ว่ามี แล้วทำไมถึงรู้ว่ามี

    ผู้ฟัง ก็คือฟังแล้ว อ่านหนังสือธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วหนังสือธรรมเขาบอกว่าอย่างไรที่ว่ามีจิต คืออยากจะให้เป็นความรู้จริงๆ

    ผู้ฟัง กำลังศึกษาอยู่

    ท่านอาจารย์ กำลังศึกษาอยู่ หนังสือธรรมเขาบอกว่าอย่างไร ที่ทำให้เรารู้ว่ามีจิต

    ผู้ฟัง รู้สภาพนามธรรม รูปธรรมอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ มีนามธรรมกับรูปธรรม นามธรรมกับรูปธรรมนี่ต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง นามธรรมเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่าทุกคำที่พูดต้องพูดมาจากความเข้าใจ เพียงจำนี่ไม่เอา เมื่อครู่นี้พูดแล้วว่านามธรรมเป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นนามธรรมเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นร้อนกับรู้ร้อนต่างกัน หรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ารู้ร้อนเป็นนามธรรม ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความแน่ใจ รู้ร้อนเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่หมายความว่า พอไปเห็นกาน้ำตั้งอยู่บนเตา แล้วก็บอกว่านั่นรู้ร้อน นั่นไม่ใช่ นั่นไม่ใช่ไปรู้ความร้อน หรือนึกรู้เรื่องความร้อน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ มี เช่นแข็ง และ ลองกระทบสัมผัส ถ้าไม่กระทบสัมผัสจะรู้ลักษณะที่แข็ง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าเห็นกาน้ำตั้งอยู่บนเตา ไม่ไปกระทบสัมผัสจะรู้ไหมว่าร้อน

    ผู้ฟัง ไม่รู้ คือ ต้องคิดว่าร้อน

    ท่านอาจารย์ เป็นคิด เพราะฉะนั้น ขอให้บอกว่า นามธรรมมีอะไรบ้าง เมื่อครู่นี้บอกว่าเป็นสภาพรู้ ขอให้ตัวอย่างว่าอะไรบ้าง ที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ก็หนีไม่พ้นเรื่องจิต เหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช้คำว่าจิต แต่ขอตัวอย่างสภาพรู้ มีอะไรบ้างที่เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง มองไป ก็มีแต่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้ บอกว่า มีแต่รูปธรรม สภาพรู้อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อาจารย์กรุณาอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการอธิบาย นอกจากถามให้คิด จะได้คิดเอง คิดออก และเข้าใจ ไม่อย่างนั้นจำๆ เอามาทั้งหมด หนังสือบอกว่ามีนามธรรม มีรูปธรรม หนังสือบอกว่ามีจิต แต่ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้เข้าใจสภาพของจิตซึ่งกำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อครู่นี้มีคำพูดคำหนึ่ง ที่บอกว่ามองไปก็มีแต่รูป ไม่มีนามธรรมเลย หรือ

    ผู้ฟัง มีแต่อาจจะไม่รู้ ก็คือยังศึกษาอยู่

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นความละเอียดของธรรมจริงๆ ว่าไม่ใช่ว่าเรารู้อะไรเลยถ้าไม่ฟังพระธรรมไม่มีทางเลยที่จะรู้อะไร ต่อให้ใครจะถามอย่างไรไม่ว่าสภาพธรรมมีก็ยังบอกไม่ได้ บอกไม่ถูก ต้องอาศัยการฟัง และก็แสดงให้เห็นว่า อย่าเป็นเพียงจำ เช่น เมื่อครู่ถามเจตสิก และจำคำเจตสิกใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าเจตสิกคืออะไร จำคำว่าจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตคืออะไรอีก

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาเท่ากับว่าเป็นการเริ่มต้น หรือตั้งต้นจริงๆ ที่จะเข้าใจสิ่งซึ่งเราคิดว่าเราเข้าใจแล้ว และการที่จะเข้าใจจะเข้าใจจริงขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ทุกคำที่ตรัสรู้ และทรงแสดงนี่ไม่ผิด และเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วย เพราะฉะนั้น คำถามคงจะต้องเปลี่ยนไปจากคำนี้ ไปถึงตอนต้นเลย เพราะว่าจิตก็ยังไม่ทราบ เจตสิกบอกได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เจตสิกคือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เจตสิกคือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ยกตัวอย่าง

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งนี้แล้วชอบ หรือไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ไม่ชอบเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ และอะไรเป็นจิต จิตเห็น นี่ชื่อ หรือจริงๆ ตัวจริง หรือเรื่องราวของจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง ไม่ทราบเหมือนกัน ยังกำลังหัดเดิน

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาเป็นลำดับ และตั้งแต่ต้นด้วย และข้ามตอนไหนไม่ได้เลย ข้ามไม่ได้จริงๆ ธรรมที่จะกระโดดไปถึงเจตสิก โดยไม่รู้เรื่องของปรมัตถธรรมว่ามีอะไรบ้าง และลักษณะของปรมัตธรรมต่างกันแต่ละประเภทอย่างไร และประเภทไหนเป็นสังขารธรรม อาศัยกันเกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิด ถ้ายังไม่รู้ตามลำดับไม่มีทาง เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปตั้งต้นตั้งแต่ต้นเลย

    ผู้ฟัง เริ่มต้นใหม่เลย

    ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มต้น และไม่ใช่เรื่องจำ อย่าลืมว่าไม่ใช่เรื่องจำ ต้องเป็นเรื่องเข้าใจ ถ้าเป็นเรื่องเข้าใจนี่ไม่ว่าจะถูกถามในแง่มุมไหน ต้องตอบได้หมด เพราะว่าเป็นความเข้าใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องจำ จะตอบไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้บอกไว้หมด เขาบอกเท่าไหร่ ก็จำได้แค่นั้น เช่น เห็น เป็นสัจธรรมแน่นอน แต่ถ้าพูดเรื่องอื่น คนโน้นคนนี้บันดาล หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้นปัญญาของผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นของจริง อะไรเป็นของไม่จริง

    เพราะฉะนั้น ก็มีศรัทธาในการจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งที่จะเข้าใจได้ คนนั้นก็รู้ว่าต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช้ปัญญาแล้วจะเข้าใจไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า สภาพธรรมก็เป็นสภาพธรรมไม่เปลี่ยน แต่ว่าเพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงเกิดทุกข์ต่างๆ เกิดโลภเกิดหลง เกิดติดข้องต่างๆ แต่ถ้ารู้ในความเป็นจริงยิ่งขึ้น ก็จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ แล้วก็เห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่ประเสริฐ คือ ปัญญาที่รู้ความจริง ทุกอย่างที่เกิดต้องดับ ไม่มีอะไรที่คงที่เลยสักอย่างเดียว ที่เรากำลังนั่งอยู่ขณะนี้ไม่คงที่เลย จากเห็น เป็นได้ยิน เป็นคิดนึก เป็นโลภะ เป็นกุศล เป็นอะไรต่างๆ สภาพของจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วไป ทันที เกิดทำหน้าที่แล้วดับๆ เกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นแล้วดับ เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยินแล้วดับ เกิดขึ้นทำหน้าที่คิดนึกแล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างไม่คงที่ ไม่มีอะไรที่คงที่เลยสักอย่างเดียว นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราสามารถจะพิจารณาก็เข้าใจความจริงได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า"ทุกข์" ไม่ใช่ขณะอื่น แต่สำหรับเรานี่ก็ฟังมาตั้งแต่เช้า จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วเมื่อครู่ก็พูดซ้ำอีก และจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วมาก ทางตาเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น ดับแล้ว ทางหูขณะนี้เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยิน ดับแล้ว นี่คือทุกขอริยสัจจสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยะบุคคล ที่จะต้องรู้อย่างนี้ และความรู้อย่างนี้ เมื่อรู้แล้วจึงเป็นพระอริยะ ถ้าตราบใดที่เรายังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่เราบอกว่าทุกข์คือเกิดดับเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ แต่ก็ยังไม่เป็นทุกข์ใช่ไหม เพียงแต่ฟังรู้ เข้าใจคำพูดว่าเป็นทุกข์ แต่ว่ายังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งซึ่งเป็นอริยสัจจ

    เพราะฉะนั้น อริยสัจที่ ๒ ที่ต้องละ คือโลภะ จะไม่ห่างไกลเลย มีอยู่ตลอดแต่ไม่รู้จัก เมื่อรู้จักโลภะเมื่อไหร่ โลภะก็ค่อยๆ หายไปทีละน้อยๆ ตามกำลังของความรู้ ตามกำลังของสติ และปัญญา แต่ให้ทราบว่าโลภะเป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งนั้น ไม่ว่าจะกำลังเรียนเรื่องปรมัตถธรรม ก็ต้องรู้ว่าต้องละความอยากที่อยากจะรู้โน่นรู้นี่ หรือว่าอยากจะเก่ง หรือว่าอยากทุกอย่าง ถ้าแซมขึ้นมานิดเดียว โลภะเป็นโลภะ เป็นสิ่งที่ต้องละ อย่างนี้จริงๆ แล้วก็จะเห็นตัวโลภะมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าตามไปขณะไหน ขณะที่จะตายยังตามได้เลย ใช่ไหม ถ้าสติระลึก และเกิดเฉียดพอใจขึ้นมาในการที่จะไปเกิดในสุคติภูมิ เร็วมาก ไวมาก แทนที่จะโลภะเป็นสิ่งที่ควรละ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วหมด แล้วระลึกต่อ แล้วหมด แล้วระลึกต่อ ขณะนั้นจึงจะไม่มีความหวัง หรือว่าความต้องการ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมนี่ บางคนฟังเรื่องทำบุญอย่างนี้แล้วจะได้ผลมาก เช่นสังฆทาน ก็ทำแต่สังฆทานกันอยู่นั่นแล้ว แต่ไม่รู้เลยว่าบุญนั้นอยู่ที่ใจ แต่หวังผล เพราะฉะนั้นพระศาสนาไม่ได้สอนให้เรามีโลภะ แต่ให้ละโลภะ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเหมือนดาบสองคม คือต้องศึกษาด้วยดีจริงๆ ถึงจะเข้าถึงจุดประสงค์ที่ทรงแสดงธรรมเพื่อละอกุศลทั้งหลาย พระองค์ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จิตที่ผ่องใสปราศจากอกุศลเป็นจิตที่มีกำลัง เพราะฉะนั้นผลก็ต้องมาก เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ มาเป็นบริวาร ไม่ได้ทำด้วยความต้องการ ไม่ได้ทำด้วยความหวัง แต่ทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์แท้ๆ ขณะนั้นผลก็ต้องมากเพราะเหตุว่าจิตบริสุทธิ์ แต่ไม่ได้มาชี้ว่าเราต้องการผลมากจึงต้องทำอย่างนี้ นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่เข้าใจ แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องละ กลับไปเป็นเรื่องหวัง เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระธรรมต้องเป็นคนที่รู้จุดประสงค์ และเข้าใจจริงๆ ว่าศึกษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อละแล้วจะปลอดภัย ปลอดภัยไปแม้แต่สติระลึกก็ไม่มีโลภะเข้ามาแทรก

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ เรื่องสติ ที่ได้รับกระทบจากภายนอก อย่างที่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ กับที่เกิดขึ้นภายในพวกเวทนา เช่นเวลาเกิดปวดศีรษะ ปวดท้อง ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่ต่าง เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเข้าใจความหมายที่ใช้คำว่าภายในกับภายนอก เพราะว่าโดยมากในพระไตรปิฏกจะแยกเป็นนัยต่างๆ เช่น บางครั้งทรงแสดงว่าบุคคลอื่นเป็นภายนอก ตัวเองเป็นภายใน เพราะฉะนั้น นั่นเป็นการแสดงถึงว่าภายนอกในลักษณะที่ว่าเทียบกับบุคคล แต่ถ้าโดยปรมัตถธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นภายนอก สภาพของจิตเป็นภายใน เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กระทบตา เพราะฉะนั้น เวลาที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องคิดถึงภายใน ภายนอก เพราะว่าถ้าคิดถึงภายใน ภายนอก ก็จะยังมีตัวเราเป็นภายใน แล้วก็บุคคลอื่นเป็นภายนอก แต่ว่าโดยปรมัตถธรรมแล้วไม่มี ทรงแสดงไว้แต่เพียงว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ถ้าอายตนะภายนอก ก็หมายความถึง พวกรูป เสียง กลิ่น รส โผฐทัพพะ ซึ่งกระทบแล้วทำให้มีการรู้เกิดขึ้น แล้วเราเคยยึดถือสภาพรู้นั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงถือว่า ขณะที่กำลังรู้เป็นภายใน และสิ่งที่ปรากฏให้รู้เป็นภายนอก

    ยุคนี้ก็สอนในเรื่องสะเดาะเคราะห์ โดยที่ว่าเหตุกับผลต้องพิจารณา เพราะว่าบางครั้งเขาจะบอกว่าให้ปล่อยนก ๙ สี แล้วจะพ้นเคราะห์ และก็จะเชื่อ หรือไม่ที่เขาบอก จะเป็นไปได้อย่างไร กุศลจิตเกิดตอนไหน ตรงไหน ที่ปล่อยนก๙ สี มีกุศลจิตเกิด หรือไม่ เมื่อครู่นี้อาจารย์พูดเรื่องกุศลใช่ไหม แต่ว่าคนเราที่รักชีวิตเนี่ย และทำทุกอย่างที่คนอื่นบอก ถวายดอกไม้ แล้วก็ปล่อยนกปล่อยเต่าอะไรพวกนี้ ลองคิดดูถึงอดีตกรรมที่ทำไว้หนักหนาสาหัสแค่ไหน แล้วอยู่ดีๆ เพียงเท่านี้ จะพ้นเคราะห์ หรือ ลองคิดดู ว่ากรรมเก่าทำไว้แค่ไหน ถ้าอย่างนั้นก็ง่ายมากเลยทุกคน ไม่ต้องคำนึงถึงว่ากรรมเก่าทำไว้มากมายมหาศาลแค่ไหน ก็ทำอย่างนี้เสีย แล้วขณะที่ทำกุศลจิตอยู่ตรงไหน ข้อสำคัญที่สุดคือต้องเป็นคนตรงว่ากุศลจิตอยู่ตรงไหน ขณะที่เชื่อเป็นเหตุเป็นผล หรือเปล่า เป็นโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ หรือไม่ ถ้าคิดว่าคนอื่นบันดาลได้ หรือเพียงแค่ถวายดอกไม้ ๙ สี ปล่อยนก ๙ ตัว อย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นผลอะไรไหม กุศลอะไรตรงไหน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีกุศลยิ่งกว่าใคร ประชวร หรือไม่ เพราะอะไร วิธีรักษาทำอย่างไร สะเดาะเคราะห์ หรือไม่ แล้วเราทำไมถึงเชื่อในสิ่งซึ่งดูง่ายแสนง่าย ไม่ว่ากรรมหนักจะทำมาสักเท่าไหร่ก็แค่นี้ แล้วก็หมด ง่ายดีด้วย ไม่ต้องไปทำบุญทำกุศลอะไรจริงๆ จังๆ เลย เพราะเหตุว่าเพียงขณะนั้นก็เป็นความติด ซึ่งไม่รู้เลยว่าติดแล้ว ยึดแล้ว ว่าอย่างนั้นจะช่วย ซึ่งกรรมอยู่ที่ไหน กุศลอยู่ที่ไหน วิบากอยู่ที่ไหน และจิตขณะนั้นเป็นกุศล หรือไม่ เต็มไปด้วยโลภะ ต้องการอย่างเดียวที่จะหาย ต้องการอย่างเดียวที่จะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เต็มไปด้วยความต้องการ และกุศลอยู่ตรงไหน และกุศลถ้าจะเกิดสักนิดสักหน่อยแค่นั้นพอ หรือไม่ที่จะเรียกว่าสะเดาะเคราะห์ อกุศลตั้งมากมาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกรรม ทุกอย่างที่ไม่ดีในชีวิต เพราะกรรมที่เป็นอกุศลที่ได้กระทำแล้ว จะทำกรรมดียิ่งขึ้นไหม ไม่ต้องไปปล่อยนก ปล่อยอะไรเลย จะทำกรรมดียิ่งขึ้นไหม ถ้าเป็นปัจจัยที่จะให้ทำกรรมดียิ่งขึ้น นั่นคือเหตุที่ดี ที่จะให้ผลที่ดีเกิด ไม่ต้องให้อกุศลกรรมเกิดแล้วเที่ยวไปทำสิ่งซึ่งไม่ได้เป็นเหตุเป็นปัจจัย

    ข้อสำคัญ เวลานี้มีความเห็นผิดมากไหม และการกระทำอะไรของเราซึ่งเราคิดว่าช่วย แต่ความจริงช่วยเผยแพร่ความเห็นผิด นี่เป็นเรื่องที่จะต้องไตร่ตรอง เพราะบางคนก็เกรงใจบ้าง หรืออดไม่ได้บ้าง หรืออะไรบ้าง แต่จะต้องรู้ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลระดับไหน ถ้าอย่างสร้างเมรุอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าช่วยให้ชาวบ้าน หรือว่าคนได้มีที่สำหรับจะเผาศพใช่ไหม ไม่ได้เป็นการตั้งใจที่จะไปเผยแพร่ความเห็นผิดต่างๆ แต่ว่าถ้าขณะใดที่มุ่งที่จะเผยแพร่ความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นการทำบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา หรือถึงแม้ว่าจะนับถือพระพุทธศาสนาจริง แต่มีความเห็นผิด เราก็ไม่ไปช่วยเผยแพร่ในความเห็นผิดนั้น

    สังขตธรรมก็เป็นธรรมที่ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้าใช้คำว่าสังขารต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง และเมื่อเกิดแล้วปรุงแต่งแล้วก็เป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่ามีปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็เกิดแล้วด้วย ปรุงแต่งแล้วด้วยถึงแม้ว่าเราจะลืมคำภาษาบาลี แม้ว่าอาจจะจำไม่ได้ แต่จำความหมายได้ ขณะเห็นเดี๋ยวนี้ต้องมีปัจจัย ไม่มีปัจจัยไม่เห็น และที่จะมีเห็น แทนที่จะเป็นนอนหลับ หรือแทนที่จะเป็นคิดนึก แต่เป็นเห็น หมายความว่ามีปัจจัยของเห็นปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเรากำกับความหมายในภาษาบาลีเข้าไปด้วย เราก็จะได้เห็นความจริงว่า สภาพธรรมแต่ละขณะนี้ เกิดเองไม่ได้ และถ้าไม่ปรุงแต่งแล้วก็ไม่เกิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นชั่วขณะสั้นๆ แสนเร็วที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังปรากฏ และแสดงให้เห็นว่าในปัจจัยที่เราไม่รู้ และก็มีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยที่เราก็ไม่รู้อีก จนกว่าจะได้ฟังแล้วก็เห็นความจริงว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว

    เพราะฉะนั้น คงจะเหมือนกับสมัย ๒๕๐๐ กว่าปี คือไปฟังพระธรรมแล้วก็ไม่มีหนังสือ ไม่มีตำรา แต่พูดเรื่องของจริงๆ ขณะนี้ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะทุกคนก็มีตากำลังเห็น เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเห็น เห็นเกิดแล้วเพราะ ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ก็อยู่กับคำว่าสังขารธรรมกับสังขตธรรมทั้งนั้น ได้ยินก็สังขารธรรม สังขตธรรม ได้กลิ่นก็สังขารธรรม สังขตธรรม คิดนึกก็สังขารธรรม สังขตธรรม

    ถ้าเราย้อนกลับไปเป็นชาวสาวัตถี คือพูดกันด้วยภาษามคธ ก็เหมือนกับเรากำลังเข้าใจความหมายในภาษาไทยในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเอาความหมายเอาความเข้าใจ อย่าลืมว่าเราเคยเข้าใจ รู้ความหมายบ้างของสังขารธรรม เพราะฉะนั้นก็คู่กันไปเลยสังขารธรรม สังขตธรรม

    ผู้ฟัง ก็คงมีผู้ฟังเป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ฟังท่านอาจารย์แล้วก็เกิดความสงสัย เช่น สิ่งที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวเสมอว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน มีผู้สงสัยเคยถามว่า แล้วจะมองอย่างไร จึงจะไม่ให้เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างนี้ท่านอาจารย์จะเน้นในปริยัติธรรมอย่างไรจึงจะให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามอย่างนี้ ตอบได้ว่าไม่มีวิธี ไม่มีเลย ไม่มีแน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องมีคนมีเคล็ดให้ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น ถึงจะเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ที่เห็นอย่างนั้นเป็นปัญญา หรือไม่ ลองพิจารณาดู เมื่อไปขอวิธี และคนก็ให้วิธี เพราะกำลังเห็นอย่างนั้นเป็นปัญญา หรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงแต่ทำตามวิธีแล้ว แล้วเข้าใจว่าเห็นอย่างนั้น ซึ่งความจริงแล้วการที่เราใช้คำว่าเห็นความจริงก็คือรู้ความจริง ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยตา เห็นแข็ง เห็นอย่างไร เห็นด้วยตา แต่รู้ว่ามีแข็งเมื่อกระทบสัมผัส และก็ยังรู้ว่าขณะที่กำลังกระทบสัมผัสไม่ใช่ปัญญา เป็นแต่เพียงสภาพรู้แข็งเท่านั้นเอง ใครๆ ก็รู้ ถามเด็กว่าแข็งไหม เด็กก็ตอบว่าแข็ง เพราะฉะนั้นสภาพรู้แข็ง มีสภาพรู้แข็งเป็นจิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน และกำลังรู้แข็ง แต่ไม่ใช้ปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ที่กำลังรู้แข็ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายแล้วดับ เพราะฉะนั้น ไม่มีวิธี ทางกายไม่มีวิธี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นไม่มีวิธี ฉันใด ทางตาก็ไม่มีวิธีที่จะให้มองอย่างไร ถึงจะเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่มองอย่างไร ไม่ใช่ไปหยิบกล้องมาแล้วก็ส่องดูอย่างนี้ๆ ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของการที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่ขั้นของการฟัง เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจคำว่าอบรม หรือว่าภาวนา เจริญภาวนาคืออบรมความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น ที่เห็นได้ เห็นด้วยปัญญา หรือปัญญาเห็น ไม่ใช่เราตัวตนกำลังไปพยายามทำยังไงจะเห็น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    29 ธ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ