สนทนาธรรม ตอนที่ 003


    ตอนที่ ๓

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำอุปมาที่ว่าการขัดเกลากิเลสเหมือนกับการจับด้ามมีดจนกว่าด้านมีดจะสึก ไม่ใช่เพียงแค่สึกแต่ต้องหมดเลยไม่เหลือ คือการยึดถือว่าเป็นตัวตน ต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงว่าไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งเป็นของเรา ไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งเป็นเรา เพราะเหตุว่าการที่เราจะยึดถือ ยึดถือโดย ๓ ลักษณะ คือ ยึดถือโดยเป็นตัวตนของเราหนึ่งด้วยทิฏฐิ ยึดถือด้วยความเป็นของเราด้วยตัณหา ยึดถือด้วยความเป็นตัวเราด้วยความสำคัญตนด้วยมานะ นี่เป็นเครื่องเนิ่นช้า ท่านเรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าในการที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่ จากที่ฟังท่านอาจารย์มา ให้เจริญทั้งหู ตาจมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น สมมติว่าเราคิดอะไรไป เกิดรู้ขึ้นมาก็ให้คิดต่อไปใช่ไหมว่า เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้นไม่ใช่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้คิดต่อ คือว่าไม่มีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น คำนี้ต้องตัดออกไปเลย อย่าถามใครว่าให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น เรื่องทำนี่เลิกไปเลย ไม่มีใครที่จะไปบอกใครให้ทำ หรือไม่ทำได้ แต่ให้รู้ความจริงว่า เมื่อจิตที่คิดดับแล้ว แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้จิตอะไรเกิดต่อ อาจจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ว่า ขณะที่คิดนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิดเขาก็จะรู้ของเขาเองว่านี่เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ สติระลึกลักษณะปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะให้สติระลึก หรือมีลักษณะที่สติกำลังระลึกจึงชื่อว่าสติเกิด ถ้าสติของใครเกิด และบอกว่าไม่รู้อะไร ผิดหรือถูก อย่างนั้นจะชื่อว่าสติได้หรือไม่ ในเมื่อขณะนี้ก็มีทุกอย่างปรากฏ แต่ไม่รู้ เพราะอวิชารู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว สติคือสภาพที่ระลึกตรงลักษณะของลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมตินั่งอยู่ รู้ว่าแข็ง หรือว่าเก้าอี้นิ่ม

    ท่านอาจารย์ เก้าอี้ไม่นิ่ม ไม่มีเก้าอี้นิ่ม ก็มีนิ่มปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็คือเป็นความรู้สึกทางกายใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราก็ไม่ต้องไปเอ่ย เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็อยู่ตรงนั้น

    ผู้ฟัง แต่เราเรียน เราจะได้รู้ว่านี่เป็นทางกายแล้วนะ ไม่ใช่นึกคิด

    ท่านอาจารย์ แข็งหรืออ่อนก็จะปรากฏทางอื่นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง นอกจากทางไหนคะ

    ท่านอาจารย์ ตอบเองได้แล้วค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่แน่ใจ กายนะคะ

    ท่านอาจารย์ แข็งอ่อนปรากฏทางไหน

    ผู้ฟัง ทางกาย ตอนนี้ถ้าเราตักอาหารทานเข้าไป ทานไอศกรีมเข้าไป เย็นต้องเป็นทางกาย แต่ว่ารู้รสว่าอร่อยไม่อร่อยที่เป็นทางลิ้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ คนละทาง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นละเอียดมากเลยนะคะ ที่จะต้องดู หมายความว่าจะต้องลึกเข้าไป

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เป็นเราหรือที่คิดว่าเป็นท่านั่ง แยกออกมาแล้ว จักขุปสาทอยู่ตรงตา โสตปสาทะอยู่ตรงหู มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ไกลกันเท่าไหร่ และต่างเกิดต่างดับด้วย จักขุปสาทก็เกิดดับไป โสตปสาทก็เกิดดับไป แล้วจะไปเอาท่าทางอะไรตรงไหนมา

    ผู้ฟัง ถ้าคัน เป็นทางใจหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ คิดดีๆ ค่ะ

    ผู้ฟัง ทางกายหรือคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ นึกคันได้หรือคะ ถ้าไม่มีกายแล้วจะนึกคันขึ้นมาได้ยังไง

    ผู้ฟัง ตกลงคัน นี่คือทางกาย

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำสมมตินะคะ บางคนก็ถามว่าลื่นๆ นี่คืออะไร จะให้บอกไปว่านี่ธาตุอะไร เหนอะๆ หนะแหนียวๆ นี้ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าคิดก็สนุกดี

    ท่านอาจารย์ เรามักจะใช้คำว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เราใช้อยู่ ๔ คำ เพื่อแสดงลักษณะของธาตุใช่ไหม ธาตุดินก็มีลักษณะอ่อนหรือแข็งจะไม่เปลี่ยนลักษณะเลย ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน ธาตุลมก็ตึงหรือไหว ธาตุน้ำก็ไหลหรือเกาะกุม พอมาถึงทางกายกระทบสบู่ลื่นๆ อะไรอย่างนี้ ก็อะไรเหนียวเหนอะหนะ คนนั้นว่า นี่คืออะไร ความจริงแล้วไม่ต้องเรียกชื่อเลย เวลาที่เป็นปรมัตถธรรม แล้วไม่มีชื่อ ของจริงมีลักษณะอย่างไรก็คืออย่างนั้น รู้ว่าเป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่ง รูปชนิดนั้นมีเพราะจิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นะต้องมีสภาพรู้ ซึ่งเวลาที่สติปัฎฐานไม่เกิดก็จะเป็นเราแล้วก็จะมีความสงสัยด้วย คิดต่อไปเป็นเรื่องเป็นราวว่าเหนอะหนะนี่อะไร ลื่นๆ นี่อะไร นั่นคือความคิด แต่ขณะที่กำลังกระทบชั่วขณะ ดับ นี่คือการที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าประจักษ์ลักษณะที่จิตกำลังรู้ที่ลักษณะ และก็แยกกันเป็นแต่ละทาง แล้วก็จึงจะประจักษ์ลักษณะได้

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่าจิตรู้อารมณ์ ตอนนี้ขออนุญาตใช้คำว่าผัสสะ ถ้าไม่ผัสสะก็ไม่รู้อารมณ์ เพราะผัสสะถือว่ากระทบเฉยๆ แต่ไม่รู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ นามธรรมทั้งหมดที่เกิดเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นจิตที่จำแนกเป็น ๘๙ ชนิด เจตสิกเป็น ๕๒ ประเภท บางครั้งรวมกันโดยลักษณะว่า นามธรรม ๕๓ เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตน สัญญาเจตสิกหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตน เจตนาเจตสิก ทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะตน สำหรับจิตไม่ว่าจะเป็นจิตชนิดไหนก็ตาม จิตเห็น จิตได้ยิน หรือว่าจะเป็น ๘๙ ดวง ๑๒๑ ประเภทไหนก็ตามแต่ โดยลักษณะแล้วเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงรวมเป็นนามธรรม ๕๓ คือจิต ๑ เจตสิก ๕๒ เพราะว่าจิตนี่ไม่ได้แยกเป็นลักษณะอื่นเลยนอกจากจิตทุกประเภท วิชานนลักขณัง คือเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตไหน ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิต ปฏิสนธิจิต จักขุวิญญาณจิต โสตะวิญญาณจิต โลกุตตรจิต หรือจิตอะไรก็ตาม มีลักษณะอย่างเดียว คือเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะหน้าที่ของเขาไปแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เป็นคำถามว่าขอท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายเกี่ยวกับสติ หรือการเกิดสติในขั้นคิด กับสติในขั้นสติปัฎฐาน ว่าแตกต่างกันอย่างไร และเกิดขึ้นพร้อมกันได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง แล้วคำถามที่ว่าสติขั้นคิด กับสติปัฎฐาน แตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แตกต่างกัน เพราะว่าเวลานี้ทุกคนคิดได้ว่า เห็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน คิดได้ แต่ไม่ใช่การรู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น พูดตามก็ได้ทุกอย่าง แต่ว่าขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้พร้อมสติที่ระลึกลักษณะนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดว่าสติขั้นคิดก็ยังมีเรามีตัวตน ถ้าเป็นสติปัฎฐานจะมีรูปกับนามที่เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ กำลังเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ถ้ารู้ได้ขั้นการฟังก็ไม่ต้องเจริญสติค่ะ อธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยเรื่องสติสัมปชัญญะ ต้องเป็นสติปัฎฐานแน่ เพราะว่าถ้าเป็นสติอื่น อย่างสติที่เป็นไปในทานไม่ใช่สติสัมปชัญญะแน่ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงการระลึกเป็นไปในการให้ หรือ สติเกิดในขณะที่วิรัตทุจริต

    เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะหมายความถึงเวลาที่สติที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณที่ดีงามที่เป็นกุศลเกิด ไม่มีสัมปชัญญะได้ แต่ว่าเวลาที่เป็นสติปัฎฐาน จะขาดสัมปชัญญะไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม หมายความว่าขณะนั้นมีสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นสติปัฎฐานต้องเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าจะกล่าวว่าขาดสัมปชัญญะไม่ได้ เพราะว่ามีลักษณะสภาพธรรมปรากฏ และสติระลึกคือรู้สึกตัว คือรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสติปัฎฐานเป็นสติสัมปชัญญะ หรือเวลาที่เป็นสัมมาสติในขณะที่เจริญสมถภาวนาก็เป็นสติสัมปชัญญะด้วย เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะหมายถึงโสภณหรือกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญา คือรู้ในลักษณะสภาพของธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับขั้นของสมถะ หรือระดับขั้นของสติปัญญา

    อย่างขณะนี้ ถ้ามีเสียง ได้ยิน และสี สิ่งที่ปรากฏทางตา คนที่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดไม่ใช่รู้ตรงอื่นหรือที่อื่น แต่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจึงเป็นสติสัมปชัญญะ บางครั้งภาษาไทยก็ทำให้เราไขว้เขว เพราะว่าเราจะใช้คำว่าคนเมาไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สึกตัวใช่ไหม ก็จริงค่ะ แต่ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่หมายความว่าขณะนั้นต้องมีปัญญาที่เกิดร่วมกับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าถึงคนไม่เมา แล้วเราจะบอกว่ารู้สึกตัวหรือไม่ เวลานี้นั่งอยู่ที่นี่รู้สึกตัวหรือไม่ คนธรรมดาก็จะบอกว่ารู้สึกตัวเพราะว่าไม่เมาใช่ไหม แต่ถ้าคนที่รู้ศัพท์ และก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และใช้คำให้ถูก ขณะใดที่สติปัฎฐานเกิดขณะนั้นจึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะไม่ใช่เพียงรู้ว่าเราอยู่ที่นี่ หรือเราเห็นอะไร แต่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เวลาเราเกิดโทสะ เราก็พยายามระลึกว่าขณะนี้เป็นกุศล หรืออกุศล ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ การที่จะบอกว่าเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศลในขณะนั้นต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วจะบอกไม่ได้เลย หรือว่าเราจะเพียงแต่มาบอกว่าใช่ นั่นเป็นกุศลหมายความว่าเราไม่รู้สภาพจิตของคนนั้นเลย แล้วเราก็ยืนยันไป เพราะเหตุว่าแข็ง ถ้าถามว่าแข็งหรือไม่ แข็งเป็นสิ่งที่มีจริง คนนั้นตอบได้ว่าแข็ง ถามว่านี่เป็นปัญญาไหม จะเหมือนกับเวลาที่โทสะเกิดแล้วก็จะระลึกลักษณะของโทสะ ขณะนั้นจะเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาหมายความว่าขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เรากำลังพยายามที่จะระลึก มีลักษณะต่างกัน เราพยายามที่จะระลึก มีความเป็นตัวตน และก็อยากจะรู้ แต่ขณะใดที่สติเกิด สติระลึก แล้วระลึกในลักษณะที่เป็นธรรมด้วย คือไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นลักษณะธรรมชนิดหนึ่ง เหมือนทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นธรรม แข็งก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ถ้าเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรม เมื่อนั้นเป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นแต่เพียงว่าแข็งนะ ระลึกกันนะ อย่างนี้จะบอกว่า พวกนี้กำลังเจริญสติปัฎฐานกันทั้งนั้น นี่คือผิด

    ผู้ฟัง อย่างตัวเราเกิดโทสะขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นตัวเราที่รู้

    ผู้ฟัง เราบอกว่าขณะนี้เป็นโทสะ ต้องพยายามหาทางให้โทสะลดลง เป็นกุศลแทน

    ท่านอาจารย์ ดังนั้นเราเรียกชื่อโทสะใช่ไหม เพราะโทสะปรากฏแล้วก็เรียกชื่อ เหมือนกับ แข็ง นี่แข็ง แข็ง เราก็นั่งเรียกชื่อแข็งเลย ขณะนั้นต้องมีตัวเราแน่ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นตัวตนก็ต่อเมื่อเราไม่มีความจงใจตั้งใจ ถ้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าเป็นสติปัฎฐาน หรือเป็นสัมมาสติ จะเกิดการระลึกปกติเลยไม่มีความจงใจพากเพียรด้วยความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าขณะที่สติขณะนั้น มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่เจตนาไม่ใช่มรรค เพราะฉะนั้นตัดความจงใจออกเลย เพราะขณะใดที่จงใจขณะนั้นไม่ใช่สติปัฎฐาน แปลว่าเราจะต้องค่อยๆ ซอยความละเอียดจนกระทั่งรู้ขณะที่ลักษณะของสติเกิด มิฉะนั้นแล้วเราได้ยินคำว่าเจริญสติปัฎฐาน ทำวิปัสสนา หรืออะไรพวกนี้ เราจะมีความรู้สึกว่ามีตัวที่จะทำ นี้เป็นของที่แน่ เพราะฉะนั้น ต้องอบรมจนกระทั่งในที่สุดก็คือสติเกิดแล้วระลึก จะเบากว่ากันมาก คือว่าไม่มีตัวที่กำลังจะไปพยายามหา หรือทำ นั่นหนัก แต่พอเป็นสติระลึก จะเป็นปกติ และก็เป็นของธรรมดา และก็รู้ว่าลักษณะนั้นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ส่วนความคิดที่ว่าเราจะระลึกเพื่อที่จะได้กุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสติขั้นหนึ่งนิดเดียวที่เห็นโทษ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่ยังไม่ใช่การรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องตอบเองว่ามีอะไรแทรกเข้ามาบ้างในระหว่างที่โทสะเกิด ก็อาจจะมีโลภะต่อ หรืออาจจะมีสติแทรกนิดหนึ่งที่เห็นลักษณะของโทษของอกุศล เพราะฉะนั้นขณะนั้นตัวตนนี้ยังเพียบพร้อมเพราะเหตุว่าคิดก็เป็นเรา โทสะนั้นก็เป็นเรา แล้วก็โลภะที่อยากจะให้โทสะลดลงก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นหนทางที่จะละเป็นหนทางที่ต้องเป็นปัญญา แล้วก็เป็นปัญญาเฉพาะตัว และเป็นปัญญาซึ่งเริ่มจากมีสตินิดเดียว แล้วก็มีอย่างอื่นเกิดสลับสืบต่อจนกระทั่งมีความเข้าใจขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งในที่สุดก็มีการรู้มากขึ้น แล้วก็ละ และก็เป็นเรื่องของสัมมาสติที่จะระลึกเป็นปกติ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นหนทางที่ไกล แต่ว่าเป็นของจริง แล้วต้องรู้ด้วยว่าถ้าหนทางที่ถูกแล้วควรเจริญ เพราะว่าไม่ใช่หนทางที่ผิดเลย เป็นหนทางที่รู้ขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็ทั่วขึ้น จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้จริงๆ เพราะว่าตัวตนเหนียวแน่นมาก

    เพราะฉะนั้นสติน้อยมากเลยต้องรู้ว่าถ้าไม่ใช่ตัวเราแล้วบอกไม่ได้เลยว่าสติของใครจะเกิด เพราะว่าจากประสบการณ์ของแต่ละคนเริ่มรู้จักตัวเอง แต่ว่าการรู้จักตัวเองจะมีตามลำดับขั้นด้วยว่าในขั้นแรกจะรู้จักแบบคิด คือเวลาที่อะไรเกิดขึ้นกับเราก็คิดใช่ไหมว่านี่เป็นโทสะนั้นไม่ดี เราจะต้องอย่างนี้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าก่อนการตรัสรู้มีการอบรมเจริญสมถภาวนา ก่อนที่จะถึงสมถภาวนาที่เป็นขั้นอุปจาระสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ให้ทราบว่าคนนั้นต้องเป็นคนที่เห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวันก่อน เพราะเหตุ ว่าถ้าไม่เห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน คนนั้นจะไม่พากเพียรที่จะให้จิตสงบขึ้น คือให้เป็นกุศลเพิ่มมากขึ้น เพราะเขารู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดขณะนั้นอกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นคนนั้นก็ต้องเริ่มต้นจากการเห็นโทษของกิเลสของตน แต่ว่าสำหรับหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้วผู้ที่เห็นโทษของกิเลสของตน ไม่ได้พากเพียรที่จะไปทำสมถภาวนา เพราะรู้ว่าเหนือจากการที่จะเห็นโทษของกิเลสของตน ยังจะต้องรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ซึ่งต้องเป็นอีกขั้นหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในระหว่างหนทางการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ สติปัฎฐานจริงๆ จะน้อยมาก ขึ้นกับความเข้าใจ ถ้าเรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นสติที่ระลึกลักษณะของความโกรธแล้ว ก็มีความสงบหรืออะไรๆ เพียงเท่านั้น จะรู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ธรรมแล้วก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าลักษณะแต่ละลักษณะนั้นคือธรรมที่ไม่ใช่เรา จะต้องก้าวขึ้นไปอีกเป็นขั้นๆ นี่แสดงให้เห็นว่าแม้อย่างนั้นหนทางของการเจริญสติปัฎฐานไม่ใช่ว่าจะมีแต่กุศล แม้อกุศลเกิดอย่างคุณประทีปกลัว แต่ว่าสติปัฎฐานก็ระลึก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นขณะนั้นเป็นช้างเป็นคน แต่ขณะที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาย่อมมีโอกาสถ้ามีการสะสมมาที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาแล้วจะไม่สงสัยในพระพุทธวัจจนะ ในเหตุการณ์ที่เกิด แล้วก็จะรู้ว่าสติปัฎฐานไม่ใช่มีแต่สติปัฎฐานอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ของสติปัฎฐานคือสติปัฎฐาน ๔ ได้แก่ จิตทุกประเภท เวทนาทุกชนิด ทุกอย่างที่เป็นของจริงที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่อง หรือว่ารู้ประมาณ หรือว่ารู้คิดว่านี่เป็นอกุศล แต่จะต้องขึ้นไปถึงรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย ก็จะต้องเป็นการรู้ตัวของตัวเองเป็นลำดับขั้น คนนั่นเองปัญญาของคนนั้น แล้วก็เป็นความรู้ของคนนั้นซึ่งเขารู้ด้วยขณะไหนเป็นความสงบขั้นสมถะ คือไม่ใช่สติปัฎฐาน แต่รู้ลักษณะของจิตที่ไม่สงบ และก็รู้ลักษณะของจิตที่คิดที่จะสงบ แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฎฐาน จนกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมซึ่งสั้นมาก ปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มี แต่คิดถึงความสั้นว่าอะไรจะสั้นกว่ากัน สิ่งที่ปรากฏทางตากับเรื่องคนต่างๆ ที่นั่งอยู่ที่นี่ อะไรสั้นกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องแสนสั้น ใช่ไหม เพราะอะไรเพราะว่ามันเป็นเรื่องไปหมด และก็เป็นเรื่องต่อกันไปถึงนั้นคนนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ตอนนี้มีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมนั้นสั้นมาก เพราะฉะนั้นคนนั้นก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้น คมกล้าด้วย ถ้าไม่ถึงระดับขั้นที่คมกล้าจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปก็ยังต้องเป็นตัวตน ไม่มีทางที่จะไปละความเป็นตัวตนได้ ต่อให้จะคิดจะนึกอย่างไรว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ซึ่งไม่ดี ต้องเป็นกุศลอะไรอย่างนั้น ก็ไม่มีทาง เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องค่อยๆ อบรมปัญญาที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดเป็นสติปัฎฐาน ขณะใดเป็นสติขั้นอื่น เราทุกคนเรียนมาว่า ธรรม มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่เราเลย ในขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ นี่คือการเรียน การฟัง การเข้าใจ แต่ขณะนี้จริงๆ นี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ เมื่อไม่เป็น ทั้งๆ ที่บอกว่าแข็งก็เป็นสภาพธรรม เสียงก็เป็นสภาพธรรม เห็นก็เป็นสภาพธรรม ได้ยินก็เป็นสภาพธรรม แต่ว่าเวลานี้ก็ได้ยินใช่ไหม เมื่อยังไม่เป็นสภาพธรรม ก็จะได้รู้ว่ายังไม่ใช่สติปัฎฐาน จนกว่าขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ค่อยๆ แหวกออกจากสมมติบัญญัติมาเป็นลักษณะของปรมัตถ์ เพราะว่าเรานี้อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตลอดมา พอพูดถึงปรมัตถ์ก็เข้าใจ แต่ยังไม่ได้แยกออกมาจากสมมติบัญญัติ เพียงเข้าใจ แต่ก็ยังคงเป็นสมมติบัญญัติอยู่นั่นแหละ ใช่ไหม ทั้งๆ ที่จะกล่าวว่าปรมัตถธรรมเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่รู้ตามความเป็นจริง คือเมื่อรู้ว่าเป็นปรมัตถ์ สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะ ซึ่งในตอนแรกก็ยังไม่มีความรู้ที่จะแยกออกว่านั่นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมชัดเจนใช่ไหม เพราะเหตุว่าขั้นฟังไม่สงสัยว่าสภาพรู้นี้กำลังเห็น สภาพรู้กำลังได้ยิน แต่ว่าเวลาที่กำลังรู้จริงๆ เห็นจริงๆ คิดจริงๆ ถ้าสติปัฎฐานไม่ระลึกที่จะสังเกต หรือที่จะพิจารณา หรือว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็ไม่ได้แยกนามธรรมออกจากรูปธรรม ก็ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับสติสัมปชัญญะในการเข้าฌาน สติปัญญาที่เป็นสติปัฎฐาน สติสัปชัญญะในสัมมาทิฎฐิ มีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะก็เป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเป็นสติปัฎฐาน คือรู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม สำหรับสติปัฎฐานแล้วต้องมีการรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมแล้วก็เป็นตัวตน แต่ทั้งหมดที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่ทางตาที่รู้สี คือกำลังเห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ขณะนั้นเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา เพราะเหตุว่า ขณะนั้นจิตก็สงบด้วย และปัญญาก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาก็อย่างที่เห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่าอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้นได้โดยการระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบขึ้นได้อย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ