สนทนาธรรม ตอนที่ 028


    ตอนที่ ๒๘

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจธรรมจะไม่มองคนอื่นอย่างเห็นโทษ แต่จะรู้ตามความเป็นจริงแล้วเข้าใจด้วย เพราะนี่คือการสะสมของจิตแต่ละประเภทที่สะสมมา แล้วคนนั้นก็เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริงเขาสามารถที่จะมีปัญญามากกว่าคนที่ปัญญาไม่เกิด แต่พยายามที่จะไปละคลายด้วยความเป็นตัวตนในสิ่งซึ่งเขาคิดว่าเขาอยากจะละคลาย แต่ว่ายังละไม่ได้ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด

    มองดูกิริยาอาการภายนอกอาจจะดูเหมือนกับว่าเขา ละ แต่ว่า ละ จริงๆ ต้องด้วยปัญญาจึงจะเป็นสมุทเฉท เพราะเหตุว่า ละ อย่างนี้ปัญญาไม่รู้ความจริงก็ยังมีความต้องการ อย่างบางคนเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่ดื่มสุราแล้วแต่ยังอยาก เห็นไหมคะนี่ก็คือความจริงความเป็นผู้ที่ตรงแสดงให้เห็นว่าเราก็ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามกำลังของการสะสม เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงก็จะเจริญปัญญาอบรมปัญญาเพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วไม่มีอะไรที่จะละกิเลส หรือดับกิเลสได้เลย อาจจะดูเสมือนว่าละ แต่ความจริงยังอยู่เต็ม เพียงแต่ว่ายังไม่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องการติด ก็ขออนุญาตยกตัวอย่างของตัวเอง เพราะว่าเขาจะพยายามที่จะละมากๆ เพราะรู้ว่าติดมากเหลือเกิน เมื่อมาเริ่มศึกษาธรรม ก็ว่าเราต้องไม่แต่งเนื้อแต่งตัวนะ นุ่งขาวห่มขาว ก็ทำอยู่อย่างนั้น บางครั้งก็นุ่งผ้าถุงดำอยู่กับบ้านแล้วก็ใส่เสื้อคอกระเช้าสีขาว หน้าตาก็ไม่แต่งอะไรเลยปรากฏว่า พอมีคนมาหาที่บ้าน เขามากับเพื่อนก็ตกใจว่านี่หรือเป็นญาติเธอทำไมเป็นลักษณะอันนี้ ดิฉันก็รู้สึกว่าทำอย่างนี้มันก็ผิดปกติจากคนที่เรายังอยู่ในโลกอยู่อย่างนั้น และประการที่สอง ก็คือพอดิฉันทำไปนานๆ แล้ว มันมีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเราไม่มีความสุขกับสิ่งนี้เลย การที่จะมานุ่งขาวห่มขาวนั้นก็ไม่ใช่เรา เรายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้นแล้วจากที่ฟังจากที่อาจารย์บรรยายนี่ก็เหมือนจะเข้าข้างตัวเอง ก็แล้วแต่ว่าทำไปตามที่ตัวเป็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็จะเรียกว่าเข้าข้างตัวเองไม่ได้เพราะว่าฝืนปัจจัยไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วก็พยายามที่จะให้ลดน้อยลงมา หรือว่าตามกาละเทศะอะไรนั้นก็แล้วแต่คือก็เลยยึดจุดนี้มาแล้ว จากที่ว่า จะไม่ต้องไปแต่งเนื้อแต่งตัวอย่างนั้นหรอกแต่ว่าเรามาศึกษาธรรมเนี่ยก็คงจะดีกว่า ก็เลยคิดว่าในเมื่อเราเป็นอย่างนี้มาสะสมแม้จะไม่ใช่เฉพาะชาติที่แล้ว แต่ชาตินี้เองอย่างเช่นการที่เราทำงานมาก่อนที่จะมาศึกษาธรรม อยู่ในทางด้านแฟชั่นอะไรต่างๆ ซึ่งเมื่อเราทำงานอย่างนั้น เราก็ต้องจะต้องให้คนสนใจให้มากที่สุด ให้แปลกกับคนอื่นที่มากที่สุด เพราะฉะนั้นความคิดของเรามันจะต้องมีอะไรที่มันต้องแปลกไปกว่าคนอื่นมากถึงจะได้เงินมาจากจุดนั้น เพราะฉะนั้นหัวสมองจะคิดแต่ว่ามีอะไรที่จะแปลก ที่จะใหม่ ที่ทำให้คนนิยม ขายเสื้อผ้าอะไรต่างๆ ในที่สุดจะพูดได้เลยว่าก็ประสบความสำเร็จมาแล้วจากสิ่งนั้นมา เมื่อประสบความสำเร็จจากสิ่งนั้นมาแล้ว ก็มาคิดว่าแล้วเราต้องทำสิ่งนี้ต่อไปอีกหรือ ต่อไปอีก หรือ ไม่มีวันจบสิ้นจนกระทั่งเราตาย ก็ต้องทำอย่างนี้อยู่หรอ ก็เลยมาคิดว่าสิ่งนั้นคงจะไม่ใช่ที่จะเป็นจุดที่เราควรจะมุ่งไปทางนั้น ดิฉันได้กลับมาศึกษาของทางธรรม ในเมื่อมันเป็นมาอย่างนี้แล้ว ก็เลยเข้าใจอยู่ว่าอะไรต่างๆ มันก็คงจะต้องลดน้อยลงมา

    ท่านอาจารย์ โดยไม่ใช่ฝืนใจ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ก็แล้วแต่ คือนี่แสดงให้เห็นว่าพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่จำกัดบุคคลเลยไม่ว่าคนนั้นจะสะสมมาอย่างไร ไม่ว่าจะในวงการแฟชั่น ในวงการนางแบบ ในวงการธุรกิจ ในวงการอะไรก็ตามแต่ นั้นเป็นการสะสมส่วนตัวของแต่ละบุคคลแต่ก็มีการสะสม การที่จะศึกษาการที่จะเข้าใจธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้น เป็นธรรมที่เป็นสัจธรรมสำหรับทุกคน โดยที่ว่าไม่ต้องฝืนเลย ทุกคนจะเริ่มรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นไปตามการสะสมทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง วันนี้วันไหนๆ ก็พูดมาถึงเรื่องนี้แล้ว ดิฉันก็จะขอเวลา อาจจะออกไปนอกเรื่องจากที่ศึกษาพระอภิธรรม คือว่าพอเวลาไปเข้าไปในสังคม พวกที่คุยกันด้วยเค้าก็จะบอกว่าเธอนี่ก็ยังดีนะศึกษาธรรมแต่ว่าก็ยังไม่ได้ทิ้งทางโลก อันนี้ก็เป็นกิเลสของทางนู้น ก็ไม่ได้ว่าดีอะไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็เป็นคำชม เพราเหตุว่าเป็นความถูกต้อง ว่าเราอยู่ในโลกแต่เราเข้าใจธรรม เพราะว่าเขาคิดว่าโลกกับธรรมแยกกัน แต่ความจริงเมื่อศึกษาธรรมแล้วแยกกันไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นโลกที่คนเข้าใจว่าเป็นโลกนั่นคือธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมทั้งที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ เราสมมติเรียกว่า โลกของแฟชั่น โลกของวิทยาศาสตร์ หรือว่าโลกของการแพทย์ ในความจริงคือธรรมทั้งหมด จะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ถ้าเป็นโลก หรือโลกิยะ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นธรรมที่จริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ก็จริงที่อาจารย์ได้กล่าวว่าอะไรก็แล้วแต่ เราจะรู้ด้วยตัวของเราเองว่าเราทำได้ดีขึ้น หรือเปล่า บอกจริงๆ ว่าที่จริงแล้วทำได้ ได้ดีขึ้นมากแล้ว เพราะว่าแต่ก่อนนี้มันก็มีมากกว่านี้อีกมาก

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจพระธรรมขึ้น ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นอย่างไร แต่ให้ทราบความจริง ว่าทุกอย่างที่จะเกิดทุกขณะบังคับบัญชาไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ กามาวจรจิตเป็นระดับจิตซึ่งมีในชีวิตประจำวันทุกคน หนีไม่พ้นเลยเพราะว่า ลืมตาขึ้นมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกก็คิดนึก วนเวียนอยู่ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเอง ยังไม่ใช่จิตอีกระดับหนึ่ง แต่ให้ทราบว่าจิตมีระดับที่สูงกว่านี้คือผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็เป็นผู้ที่ฉลาดมีปัญญารู้ว่าหลังจากเห็นแล้ว จิตต้องหวั่นไหวเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือไม่เป็นโลภะก็เป็นโทสะเป็นโมหะ น้อยมากที่จะเป็นกุศล ผู้ที่เห็นโทษของกาม ก็คิดว่าเขาจะอบรมเจริญจิตให้สงบเป็นกุศลให้มากจนกระทั่งไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่รู้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้มีจิตตั้งแน่วแน่มั่นคงในกุศลเป็นระดับจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าฌานจิต แต่ก็หมายความถึงอัปปนาสมาธิ เพราะเหตุว่าสัมมาสมาธิคือขณะใดที่จิตเป็นกุศล และก็เกิดบ่อยๆ จนกระทั่งลักษณะอาการของความสงบของจิตปรากฏ แล้วก็จะมีลักษณะของกุศลจิตที่สงบแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งใกล้ที่จะถึงฌานจิต ใกล้ที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ แต่ก่อนนั้นจะเป็นอุปจารสมาธิก่อนใกล้ที่จะสงบจนกระทั่งไม่รับรู้ถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะใดที่มั่นคงถึงขนาดที่ไม่รับรู้ตา หู จมูก ลิ้นกาย ขณะนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ก็มีบุคคลซึ่งยังไม่ได้ฟังพระธรรมแต่พยายามหาทางที่จะพ้นจากกาม ก็อบรมจิต ที่เราใช้คำว่าสมถภาวนา แต่ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญาที่รู้สภาพของจิตว่าขณะใดเป็นอกุศลประเภทใดแล้วก็ตรึกถึงกุศล จนกระทั่งนิวรณธรรมหรืออกุศลประเภทนั้นๆ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งจิตมั่นคง นี้ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการที่จะอบรมจิตให้เป็นกุศลให้ถึงอีกระดับขั้นหนึ่งนั้นมี แต่ว่ามีใครทำบ้างไหมในชีวิตประจำวัน

    สำหรับคนที่ได้ฟังพระธรรมแล้วจะอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจิตจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตขั้นที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่าปฐมฌาณแล้วมีความมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จากปฐมฌาณ เป็นทุติยฌาน เป็นตติยฌาน เป็นจตุถฌาณ เป็นปัญจมฌาณ ก็ไม่ได้ดับกิเลสอะไรเลย เพียงแต่ว่าในระหว่างนั้นอกุศลจิตเกิดไม่ได้เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนการตรัสรู้ก็มีผู้ที่เจริญกุศลสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิตเป็นจำนวนมาก ผลก็คือว่าถ้าบุคคลนั้นจะจุติ คือสิ้นชีวิต แล้วฌานจิตขั้นใดขั้นหนึ่งเกิดก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิเป็นรูปพรหมบุคคล เป็นเทพอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่ใช่ชั้นกาม หรือไม่ใช่ชั้นกามาวจร เพราะเหตุว่าเทพ เทวดา ชั้นกามาวจรจะมี ๖ ชั้น ซึ่งเป็นผลของทานบ้าง ศีลบ้าง หรือสมถภาวนาที่ไม่ถึงขั้นของฌานจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่าการอบรมเจริญกุศลจะประณีตขึ้น จากกุศลขั้นกามคือทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาที่ยังไม่ถึงระดับขั้นรูปาวจร หรือฌานจิตนี้ก็เป็นขั้นกลาง และสูงกว่านั้นก็คือระดับขั้นของรูปาวจรซึ่งทำให้เกิดเป็นรูปพรหมภูมิ สูงกว่านั้นก็คืออรูปาวจรจิตคือฌานจิตซึ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ทำให้ก่อนจุติถ้าฌานจิตขั้นนี้เกิด ก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมคือเป็นพรหมที่ไม่มีรูปเลย แล้วก็อีกระดับหนึ่งของจิตก็คือ โลกุตตรจิตได้แก่การดับกิเลสเป็นสมุทเฉทเป็นระดับขั้นตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจิตทั้งหมดจะมี ๔ ภูมิคือ ๑ กามาวจรภูมิ ๒ รูปาวจรภูมิ ๓ อรูปาวจรภูมิ ๔ โลกุตรภูมิ

    ผู้ฟัง อรูปาวจรภูมิมีจิตไหม

    ท่านอาจารย์ อรูปาวจรภูมิ เป็นระดับขั้นของจิต ซึ่งเป็นฌานขั้นที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง แต่มีนาม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นจิต ธรรมดา เวลานี้ถ้าใครจะเจริญอรูปฌาณจิต เขาสามารถจะถึงอรูปฌานจิตได้ ก็ยังเป็นคนธรรมดาในโลกนี้ หรือในสวรรค์ที่เป็นเทวดา หรือรูปพรหมก็เจริญให้ถึงระดับจิตขั้นนี้ได้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์ก็ยังไม่เป็นอรูปพรหมภูมิจนกว่าจะตาย เมื่อตายแล้วถ้าอรูปฌานกุศลไม่เสื่อม และฌาณเกิดก่อนจะตาย กุศลที่เกิดก่อนตายอันนั้นก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล ฉะนั้นโลกนี้ก็กว้างใหญ่ไพศาลมากในจักรวาล

    ผู้ฟัง เช่นนั้นอรูปพรหมบุคคลก็ไม่มีกุศล อกุศล

    ท่านอาจารย์ มีสิคะ

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีตาที่จะเห็น ไม่มีอะไร

    ท่านอาจาย์ แต่กุศลจิตก็เกิดได้ ไม่ใช่ว่าตาเห็นแล้วจะต้องเป็นกุศล แต่ถ้าตราบใดยังเป็นบุคคลในโลกนี้ก็มีกุศลหลายระดับขั้น แต่ถ้าเป็นรูปาวจรจิตเป็นกุศลขั้นที่สูงกว่าขั้นทาน ขั้นศีล เป็นขั้นความสงบของจิต ซึ่งสามารถจะถึงได้ถึงขั้นสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่าอัปนาสมาธิ และผลก็คือว่าถ้าตายจากโลกนี้ไป เขาจะไม่เกิดในโลกนี้เพราะว่าการทำกุศลที่เป็นรูปาวจรกุศลสูงกว่าระดับขั้นทาน ขั้นศีล ผู้นั้นเห็นโทษของกาม เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเห็นโทษของกามจนจิตเขาถึงขั้นนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นผลก็คือว่าเมื่อเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล เขาจะไม่เหมือนอย่างคนที่อยู่ในกามโลก ในมนุษย์กับสวรรค์ แต่เขาจะเป็นพรหมบุคคลซึ่งมีรูปเพียงแค่มี จักขุปสาท มีโสตปสาท เพราะเหตุว่า ๒ อย่างนี้ยังเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่กุศล แต่ว่าทางจมูก จะไปเกื้อกูลหรือทำอะไรก็ไม่ได้เกี่ยวกับการฟังการเห็นใดๆ ทั้งสิ้น รสก็ไม่เกื้อกูล สัมผัสก็ไม่เกื้อกูล เพราะฉะนั้น ในรูปพรหมภูมิคนที่เกิดเป็นพรหมบุคคลเป็นรูปพรหมบุคคลจะมีตาเห็น มีหูได้ยิน แต่ไม่มีจมูกที่จะได้กลิ่น ไม่มีฆานประสาท ไม่ต้องรับประทานอาหารไม่ต้องลิ้มรส แล้วก็กายของเขาก็ไม่มีกายปสาท ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องมีการที่จะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้นเขาก็ตัดความลำบากอันเนื่องจากจมูก ลิ้น กาย ออกไปได้

    จึงต้องเข้าใจภูมิของจิตว่าจิตที่แบ่งเป็นระดับขั้นต่างๆ สำหรับกามาวรจิตมีทั้งกุศล และอกุศล แต่ถ้ากล่าวถึงกุศลที่ประณีตขึ้นจนถึงรูปาวจรจิต เป็นขั้นฌานจิตด้วยอัปปนาสมาธิที่มั่นคง และมีรูปเป็นอารมณ์ แต่ก็มีกุศลที่สูงกว่านั้นอีกที่เป็นอรูปาวจรจิตคือไม่ต้องมีรูปเป็นอารมณ์ จิตเขาก็สงบตั้งมั่นยิ่งกว่าขั้นรูปาวจรจิตได้ แต่ว่าสูงเหนือสิ่งอื่นใดในภูมิของจิตก็คือโลกุตตรจิตเพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกมีนี้หรือไม่ว่า อย่างไหนจะเร็วกว่า ระหว่างการเจริญสติปัฏฐานกับเจริญสมถภาวนา อย่างไหนจะถึงพระนิพพานเร็ว

    ท่านอาจารย์ เจริญสมถภาวนาไม่ถึง ไม่มีทางถึง

    ผู้งฟัง ก็เป็นรูปฌาณอรูปฌาณ อันไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ถึงนิพพาน ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จิตสงบเป็นกุศลเท่านั้น เพราะฉะนั้นหลังจากการตรัสรู้แล้วผู้ที่ได้ฟังคำอบรมเจริญสติปัฎฐานรู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่ไม่ได้ฌานมีมากกว่าผู้ที่ได้ทั้งฌาณด้วยแล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเรื่องกามาวจรจิต ให้เห็นโทษของกาม ซึ่งผู้ที่จะอบรมเจริญฌาณจิตก็จะต้องเห็นโทษของกาม แต่พวกเราๆ ที่ไม่มีจุดประสงค์ที่จะอบรมเจริญฌาณจิต จะเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เห็นอย่างไรถึงจะเรียกว่าเห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเรานี่ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล นี้ก็แสดงให้เห็นว่ากุศลของเรามีกำลังพอสมควร แต่ถึงแม้ว่าจะมีกำลังแค่นี้ก็ยังไม่สามารถที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้เพราะว่าสะสมมามากกว่า ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นระดับขั้น เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่ายังมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพะ จะกล่าวว่าพระอนาคามีเห็นโทษไหม พระโสดาบันเห็นโทษไหม หรือพระสกทาคามีเห็นโทษไหม ผู้ที่มีจิตมั่นคงในการเจริญกุศลเป็นผู้ที่รู้โทษ เห็นโทษ แต่กำลังน้อยมาก ไม่มีกำลังพอที่จะดับได้ ต้องถึงระดับขั้นของปัญญาที่ดับได้จริงๆ

    ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงระดับพระอนาคามีบุคคล ในชีวิตประจำวันการที่จะให้เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส ก็คงจะต้องคิดนึกว่าไม่ดี หรืออย่างไร ถึงว่าจะเป็นการเห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ โดยการฟังพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงไว้มากมายเหลือเกิน เรื่องโทษของร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นก็ต้องรวมทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้นด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะกายอย่างเดียว แต่ก็ฟังไปเท่าไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ก็ละไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฟังไม่เข้าใจ ฟังเข้าใจแต่กำลังของความเข้าใจนั้นไม่พอ

    ผู้ฟัง ฟังพระธรรมก็ฟังมานานแต่ว่าก็ยังไม่เห็นโทษเพราะว่าเห็นอารมณ์ต่างๆ ที่ดีก็ไม่เห็นมีโทษตรงไหน คือกลิ่นดอกไม้หอมๆ ก็ไม่น่าจะเป็นโทษอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังตรงนี้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษไว้มาก ขณะใดที่ฟัง ผู้ฟังนะเข้าใจ ถูกไหม แต่เวลาที่ประสบกับอารมณ์ ความเข้าใจนั้นไม่พอที่จะทำให้เกิดเป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้นก็มีปัจจัยที่จะเป็นอกุศล จนความเข้าใจจะถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ

    ท่านอาจารย์ กามาวจรจิตมีกี่ชาติ

    ผู้ฟัง มี ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง กามาวจรจิตมี กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ากามาวจรจิตมีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ

    รูปาวจรจิตมีกี่ชาติ

    ผู้ฟัง รูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ

    ท่านอาจารย์ คืออะไรบ้าง

    ผู้ฟัง วิบาก กิริยา กุศล

    ท่านอาจารย์ กุศล วิบาก กิริยา เพราะว่ารูปาวจรจิตจะเป็นอกุศลไม่ได้เลย ภูมิอื่นที่สูงกว่านี้ ระดับจิตที่สูงเป็นเรื่องของกุศล ไม่เป็นอกุศล กล่าวถึงจิต ใครที่นี้ไม่เคยเกิดเป็นรูปพรหมภูมิบ้าง คำตอบคือไม่ทราบ เคยก็ได้ ไม่เคยก็ได้ เพราะว่าสังสารวัฎยาวนานมาก ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ก็เห็นความไม่เที่ยงว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็ดี แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ลำบาก

    ถ้าได้รับผลของอกุศลกรรมในชาตินี้ถูกสุนัขกัดก็ยังดี

    ผู้ฟัง ฉีดยาก็เจ็บ

    ท่านอาจารย์ ก็ยังดี ก็ยังดีกว่าตอนใกล้จะจุติจิต แล้วอกุศลจิตเกิด ทำให้เกิดในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง คือยังมีอุปทานขันธ์อยู่ ยังยึดมั่นในตัวตนว่าเป็นตัวเรานี่อยู่ แล้วคิดว่าเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สัญญาค้างอยู่ในใจเราตลอดชีวิต ก็จะครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นเราเคยชอบ ทำไมเราจะได้สิ่งนั้นอีก นี่คือโลภเกิดแล้ว ปรุงแต่งจิตแล้ว แล้วอันนั้นเราไม่ชอบ ไม่ชอบเลย แล้วก็ยังคิดที่ชอบสิ่งนั้นอยู่

    ท่านอาจารย์ คำถามนี้ก็จะต่อไปถึงปีต่อๆ ไป ไม่จบ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องให้หาย แต่ให้ลด

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของความต้องการ คือเป็นเรื่องใจร้อน ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์แน่นอน ไม่มีใครอยากจะมีความจำสัญญาในเรื่องที่เป็นอกุศลที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง นี่แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นสัญญาเรื่องดีๆ ทุกคนไม่เดือดร้อนแล้วก็ไม่มีคำถามอย่างนี้ใช่ไหม เพราะคำถามอันนี้เจาะจงชัดทีเดียวว่าสัญญาความจำที่เป็นอกุศล แสดงให้เห็นว่าทุกคนไม่ต้องการเลยที่จะให้มีความไม่สบายใจเพราะเหตุว่าอกุศลไม่ได้มีแต่เฉพาะโทสะ โลภะก็มี แต่ไม่มีคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะหมดสัญญาความจำในเรื่องของโลภะที่น่ายินดีที่น่าพอใจ ประเด็นมุ่งไปที่เดียวคือสัญญาที่เป็นอกุศล ซึ่งจากคำถามก็พอที่จะทราบได้ว่า เจาะจงสัญญาที่ทำให้ขุ่นเคือง นึกขึ้นมาครั้งใดก็ไม่สบายใจครั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นก็คงจะละเรื่องของสัญญาที่เกิดกับโลภะ หรือสัญญาที่เกิดกับโทสะตามประเด็นก่อน คือให้ทราบว่า ขณะนี้มีอกุศลจิตที่ไม่สบายใจเกิด หรือขณะใดก็ตาม จะเล็กน้อย หรือมาก อย่างไรก็ตาม ลักษณะสภาพของจิตเสีย คือจิตซึ่งไม่สบาย จิตเป็นไข้ จิตป่วย เพราะเหตุว่าความรู้สึกในขณะนั้นไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกอย่างนี้เมื่อไม่มีใครชอบก็ต้องทราบว่าจำอะไรไว้ถึงได้ทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้น จริงๆ แล้วจำทุกอย่างที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล เช่น เห็นหน้าคนนี้ก็จำได้อย่างคุณประทีปใครเห็นก็คงจะไม่มีใครคิดเป็นคนอื่น หรือคุณอดิศักดิ์ หรืออาจารย์สมพร ทุกคนเห็นก็ต้องมีความจำว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล แล้วก็จำเรื่องที่เกี่ยวกับคนนั้นด้วย ถ้าคนนี้เราเคยมีพฤติกรรม หรืออะไรที่เราขุ่นเคืองใจ เมื่อเห็นแล้ว เราก็จะต้องรู้สึกว่าคนนี้เราจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันทีแม้เพียงเห็นหน้า นี่คือความจำในความเป็นสัตว์เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นแสดงว่าความทุกข์ทั้งหมด มาจากความยึดมั่นที่ว่ายังมีความจำในความเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคล ตราบใดที่จะพ้นจากอกุศลสัญญาก็เป็นไปไม่ได้ คือ การที่จะรักษาโรค เราต้องรู้ตรงจุดของโรคจริงๆ ว่าโรคนี้เกิดจากอะไร เกิดจากการที่ยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ ถ้าตราบใดยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะไม่สามารถที่จะละความรักความชังในสัตว์ในบุคคลที่เห็นได้ เพราะฉะนั้นสัญญาค้างใจ ก็คือค้างไปตามการเป็นสัตว์เป็นบุคคล ตราบใดที่ยังจำว่าเป็นคนนั้น โลภะเกิด โทสะเกิด แต่ถ้ามีความจำใหม่ว่าสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาเป็นใคร ถ้าไม่คิด ถ้าไม่จำ ในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไว้ ก็เพียงชั่วขณะที่สิ่งนั้นปรากฏแล้วผ่านไป สิ่งนั้นจะอยู่นานไม่ได้เลย

    วันนี้เราเห็นอะไรบ้างตั้งแต่ก้าวเข้ามา เห็นดอกไม้ที่ข้างประตู พอก้าวเข้ามาก็เห็นอย่างอื่นเสียแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความจำของเรานั้นจำสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าแต่ละครั้งๆ แต่ตราบใดที่ยังจำเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ ก็ยังคงมีโลภะ โทสะ โมหะ มีรัก มีชังอยู่ เพราะฉะนั้นก็จับจุดได้ว่าต้องเข้าใจสภาพธรรมให้ถูก ไม่ใช่ว่าทำอย่างไร ทำไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจขึ้นๆ เป็นหนทางเดียว จนกว่าสามารถที่จะมีสัญญาใหม่ คือแทนที่จะจำเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็จำลักษณะของปรมัตธรรม ที่เราศึกษาธรรม เราจะเน้นจุดนี้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    8 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ