สนทนาธรรม ตอนที่ 002


    ตอนที่ ๒

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมสามารถที่จะระลึกขณะไหนเมื่อไรก็ได้เพื่อความรู้จะได้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ให้ทราบว่าเป็นปรมัตถ์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นทางจะรู้ก็คือสติระลึกแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแต่ละทางเป็นปกติ สั้นแสนสั้นก็ไม่เป็นไร ก็ต้องเป็นสั้นแสนสั้น แต่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติที่ระลึก ไม่ใช่เพียงนึกหรือไม่ใช่เพียงฟังเรื่องปรมัตถ์ แต่ว่ารู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นก็กลับมาที่สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งเป็นลักษณะรู้ หรือการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เสียงมีจริงปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง คือได้ยินเสียง นี่คือขณะที่กำลังได้ยินนี่เอง สติสามารถที่จะระลึกในอาการที่รู้เสียง ขณะนี้ที่เสียงปรากฏ เพราะมีสภาพที่ได้ยิน คือรู้เสียงที่ปรากฏ มิฉะนั้นเสียงก็ปรากฏไม่ได้ ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าเกิดดับเร็วมากจนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทาง ก็อยู่ในตำราหมด แต่การศึกษามี ๓ ระดับ ขั้นปริยัติฟังเรื่องราวของปรมัตถ์ธรรมของนามธรรม และรูปธรรม ขั้นปฏิบัติ คือ สติปัฏฐานเกิดขึ้นกระทำกิจระลึกลักษณะของปรมัตธรรม พร้อมทั้งค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นการศึกษาที่เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา แล้วในที่สุดความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ได้ แต่ว่าไม่ใช่ชีวิตที่ผิดปกติ ต้องเป็นในขณะเดี๋ยวนี้ เป็นของจริงธรรมดาๆ

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฎฐาน๔ มีอาจารย์บางท่านเห็นว่าต้องดูรูปนั่ง นอน ยืน เดิน แต่ที่ได้ยินอาจารย์สอนไม่เป็นอย่างนั้น ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่าที่ถูกควรจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ที่กายนี้ ต้องมีลักษณะรูปที่ปรากฏให้รู้ ไม่ใช่เป็นการจำ เวลานี้ต้องมีรูปที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ ซึ่งเราจะต้องแยกว่าทางตา รูปอะไรปรากฏ ทางหู รูปอะไรปรากฏ ทางจมูก รูปอะไรปรากฏ ทางลิ้น รูปอะไรปรากฏ ทางกาย รูปอะไรปรากฏ เพราะการที่เราเคยจดจำรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เราก็เลยคิดว่ามีเราที่กำลังนั่งอยู่ แต่จริงๆ แล้วจะต้องรู้ว่าปรมัตถ์ธรรมมีลักษณะเฉพาะของตนๆ อย่างที่ตัวทุกคนเวลานี้พิสูจน์ได้ มีอะไรกำลังปรากฏที่ตัว ถ้าหาไม่ได้ปัญญาก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าเคยจำไว้ว่า มีตัวเรากำลังนั่งอยู่ แต่จริงๆ แล้วมีลักษณะอะไรแน่ที่ปรากฏที่กาย ต้องมีลักษณะจริงๆ และถ้าหาลักษณะจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่รูปที่นั่ง เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้ลักษณะของปรมัตธรรมถึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะคำว่าปรมัตถ์ ก็คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะเฉพาะของตนของตน ต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ถึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ อย่างเสียง เราบอกว่าเป็นรูปชนิดหนึ่ง เพราะมีจริง ปรากฏทางหู กลิ่นก็มีจริงเป็นรูปชนิดหนึ่ง ก็ไม่ได้นั่งไม่ได้นอน แข็งที่กายที่ปรากฏเวลากระทบสัมผัสมีลักษณะแข็ง แข็งนั้นก็ไม่ได้นั่งไม่ได้นอน โดยเฉพาะถ้าแตกย่อยรูปในร่างกายออก ทุกคนก็รู้ว่าแตกย่อยออกไปได้ละเอียดยิบเพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดมาก รูปที่เราทุกคนคิดว่านั่งอยู่ทั้งก้อนทั้งแท่งมั่นคงนี่ ความจริงก็มีอากาศธาตุแทรกคั่น เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับกองของฝุ่นที่ติดกันแน่น เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปแตกกระจัดกระจายออกเป็นส่วนที่เล็กที่สุด ก็จะต้องมีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป คือรูปใหญ่ได้แก่มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นอกจากนั้นยังมีรูปย่อยซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ รูป คือ สี กลิ่น รส โอชา นี่คือรูปที่ละเอียดที่สุด เหมือนกับเนื้อก้อนหนึ่ง เราได้กลิ่นเนื้อ แล้วเราแตกย่อยเนื้อก้อนนั้นให้ละเอียดที่สุด ก็ยังมีกลิ่นของเนื้อนั้น เพราะเหตุว่า มารวมกันก็เป็นก้อนใหญ่ กลิ่นก็แรงขึ้น แต่ถึงจะแตกย่อยอย่างไรไป ก็ยังมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ต้องมี เพราะฉะนั้น ถ้ากระจัดกระจายรูปที่กำลังนั่งนี้ออกเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุด จะเอารูปนั่งมาที่ไหนไม่มีรูปนั่งเล็กๆ ที่จะมาเป็นปรมัตถ์ธรรมที่จะทำให้เราไปรู้ความจริงของรูปนั่งได้ เพราะฉะนั้น ก็มีแต่ลักษณะของมหาภูตรูป แล้วก็สี กลิ่น รส โอชา เมื่อแตกย่อยออกไปละเอียดแล้ว ไม่มีรูปนั่ง แต่มีรูปปรมัตถ์

    ผู้ฟัง อิริยาปถบรรพที่ท่านว่า เวลาเดินก็รู้ว่าเราเดิน เวลานั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เวลายืนก็ให้รู้ว่าเรายืน เวลานอนก็ให้รู้ว่าเรานอน ให้รู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้รูปปรมัตถ์

    ผู้ฟัง รู้รูปปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ อย่างลมหายใจนี่ ขณะที่เป็นอานาปานบรรพรู้อะไร ก็ต้องมีปรมัตถอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็รู้ที่ลมกระทบ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปรมัตถ์ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นั่ง นอน ยืน เดิน ก็ต้องมีรูปที่เป็นปรมัตถ์ที่ปรากฏให้รู้ได้

    ผู้ฟัง นั่ง นอน ยืน เดิน นี้เป็นสมมติบัญญัติไม่มีสภาวะ

    ท่านอาจารย์ ก็เหตุนี้จึงแตกแยกออกไปจนละเอียดยิบแล้วก็เป็นมหาภูตรูปกับอุปาทายรูป อย่างน้อยที่สุด ๘ รูป

    ผู้ฟัง ตกลงที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานหรือว่าจะเจริญสติปัฏฐาน อารมณ์นั้นจะต้องเป็นอารมณ์ปรมัตถ์อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ จึงรู้ได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่มีลักษณะเราก็ไปนึกเอาเฉยๆ ว่าไม่ใช่ตัวตน นอกจากมีลักษณะเฉพาะแต่ละรูปปรากฏแล้ว รูปนั้นยังเกิดดับด้วย นี่คือปัญญาซึ่งประจักษ์จริงๆ

    อ.นิภัทร ก็จะต้องจำให้แม่นยำว่าอารมณ์ที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฎฐานหรือที่จะเป็นอารมณ์ให้สติระลึกจะต้องเป็นปรมัตถ์อารมณ์ คือเป็นอารมณ์จริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่ อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือว่าเราต้องทราบอยู่ประสงค์ของการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค ว่าเพื่ออะไร หรือแม้แต่จุดประสงค์ที่เรามานั่งฟังเพื่ออะไร เพื่อรู้จักธรรมเพื่อเข้าใจธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้นธรรมก็ต้องเป็นปรมัตถ์ธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะที่กำลังเดิน และไปนึกรู้ว่าเรากำลังเดิน เราเดินอย่างนี้ จะเป็นการรู้ปรมัตถธรรมอะไร เป็นการรู้จักธรรมอะไร ในเมื่อทรงแสดงธรรม ทุกคนก็ศึกษาอภิธรรม ปิฏกสุดท้ายกล่าวด้วยเรื่องของปรมัตถ์คือสภาพธรรมที่มีจริง และแต่ละลักษณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เช่นแข็ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนกระทบเมื่อไหร่แข็งก็ไม่เปลี่ยนลักษณะ แข็งก็เป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่ง เราเรียนมาอย่างนี้ เรียนจนกระทั่งถึงว่า รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนรูป ๒๘ รูปแล้ว เวลาอบรมเจริญปัญญาเราจะไม่รู้รูป ๒๘ รูปเท่าที่ปรากฏหรือคะ ถ้าอย่างนั้นเราจะไปรู้ธรรมอะไร ในเมื่อทรงแสดงอภิธรรม ทรงแสดงปรมัตถธรรม ทรงแสดงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตานี่คือตัวธรรมแต่ละอย่าง และเราไม่อบรมปัญญาให้รู้ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป และเราจะรู้อะไร และรูปนั้นก็ทรงแสดงไว้ด้วยว่ารูปมี ๒๘ รูป และรูปใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในชีวิตประจำวัน รูปนั้นก็เป็นรูปที่ปัญญาจะต้องรู้เพื่อละการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน หรือว่าเป็นของเรา

    อ.นิภัทร การรู้ธรรมที่ชื่อว่า รู้ปรมัตถธรรมจริงๆ หรือสภาวธรรมจริงๆ ถ้าไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ๖ ทาง แต่จะไปรู้อย่างอื่น ต้องไปนั่งหารูป หรือว่าจะต้องไปอยู่ในที่สงัด หรือว่าจะต้องไปอยู่คนเดียวเดี่ยวโดดโดยที่ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี้ ก็คงจะไม่ไม่ใช่ ถึงจะรู้ถึงจะบอกว่าเป็นการรู้ธรรม หรือได้รู้ธรรม ก็คงจะไม่ใช่ อย่างนี้จะตรงประเด็นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็ต้องตรงตามความเป็นจริงตามที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง อย่างกำลังนั่งนี่เคยเป็นเรานั่ง ทุกคนก็รู้ว่านั่งคืออย่างไร นอนคืออย่างไร คือการจดจำกิริยาอาการของรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ขณะที่นั่ง เห็นรึเปล่า

    อ.นิภัทร เห็น

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นของจริง ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นะคะ ธรรมดาคนเราเนี่ยจะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ไม่มี ๒ ขณะ ๓ ขณะ พร้อมกันได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นของจริงในขณะนั้นก็คือว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับมีจิตที่เห็น นี่คือเราจะพูดอย่างย่อๆ มาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะไม่ไปกล่าวถึงจิตแต่ละขณะโดยละเอียด แต่ให้ทราบว่าที่จะพิจารณาได้ให้เข้าใจก็คือว่า ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่นี้ จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นจะต้องไปมีอะไรเกี่ยวกับท่านั่ง ท่านอนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เกี่ยว

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวเลย เพราะขณะนั้นไม่นึกถึงท่าทาง ท่าทางจะไม่มี แต่ให้ทราบว่านั่นเป็นการนึก ต้องนึก แต่นี่ทางตาที่กำลังเห็นอยู่นี้ไม่ต้องนึก ไม่ต้องทำอะไรเลย สภาวะลักษณะก็คือว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามี และจิตเห็นก็มีจริงๆ แล้วไม่ควรรู้ลักษณะของจิตเห็น ไม่ควรรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาหรือ ทำไมจะต้องไปนั่งนึกถึงท่านั่ง จะไปรู้ความจริงอะไร ในเมื่อ ทางตากำลังเห็นแล้วไม่รู้ ทางหูกำลังได้ยิน และไม่รู้ ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่แข็งถ้าไม่รู้ความจริงของแข็งกับสิ่งที่กับจิตที่กำลังรู้แข็งขณะนั้นไปรู้อะไร ทำไมจะต้องเป็นนึกถึงอย่างอื่น ในเมื่อสิ่งนี้กำลังปรากฏ สิ่งใดก็ตามที่ได้ปรากฏ นึกแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร อย่างขณะที่กำลังเห็นอยู่นี่ จะต้องไปนึกถึงท่านั่ง แล้วมีประโยชน์อะไร ไปนึกทำไม ในเมื่อทางตากำลังเห็น และจิตคนละขณะด้วย แล้วจิตที่นึกก็เพียงแต่นึก จำ ไม่ได้มีลักษณะท่านั่ง เพราะว่ารูปแตกย่อยกระจายเป็นส่วนละเอียดย่อยที่สุด แล้วไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน แต่มีเย็นร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา มีของจริง รูปจริงๆ ที่รู้ได้ทางตา หนึ่ง รูป ทางหูหนึ่งรูป ทางจมูกหนึ่งรูป ทางลิ้น หนึ่งรูป ทางกาย ๓ รูป ไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ ทั้งๆ ที่มหาภูตรูปมี ๔ แต่ทรงแสดงไว้ว่ารูปที่จะปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสนั้นมีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม นี้ก็แสดงอย่างชัดเจนว่าจะต้องสามารถรู้รูปเหล่านี้ได้

    ผู้ฟัง วิบากคือผลของกรรมที่เราจะได้รับ วิบากนี้เราสร้างมาทั้งชาตินี้ และชาติที่แล้วมาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วิบาก หมายความถึงจิตประเภทหนึ่ง เพราะว่าจิตไม่ว่าจะอยู่ที่ภพไหน ภูมิไหน ตลอดชีวิตทุกภพทุกชาติจำแนกออกได้เป็น ๔ ชาติ หรือที่ภาษาบาลีใช้คำว่า ชา-ติ หมายความถึงการเกิดของจิต และจะเกิดต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือจิต ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศลเป็นจิตที่ดีงาม เป็นเหตุที่ดี และจิตอีกประเภทหนึ่ง ก็เป็นจิตที่เกิดเป็นอกุศล หมายความถึงเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงาม เป็นเหตุที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นเหตุ มี ๒ ประเภท คือ กุศลจิตหนึ่ง อกุศลจิตหนึ่ง เมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ผลก็คือ จิตซึ่งเกิดภายหลังเหตุ เมื่อเหตุได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของเหตุ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จิตนั้นก็เป็นกุศลวิบากจิต ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตนั้นก็เป็นอกุศลวิบากจิต นี่ก็ ๓ ชาติแล้ว คือ ๑ กุศล ๒ อกุศล ๓ วิบาก และมีจิตอีกชาติหนึ่ง อีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์นั้นไม่มีกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุอีกต่อไป เพราะว่าถ้ายังมีเหตุอยู่ตราบใดก็จะต้องมีปฏิสนธิ คือการเกิดต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อพระอรหันต์ดับกิเลสแล้วไม่มีอกุศลจิต และกุศลจิต ยังคงเหลือแต่วิบากจิต คือ จิตซึ่งเป็นผลของเหตุในอดีตที่ได้กระทำไว้แล้ว อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่ตรัสรู้ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว ดับกุศลจิต อกุศลจิต ยังคงมีแต่วิบากจิต กับกิริยาจิต แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ คือ มีกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ซึ่งมี ๒ ขณะ ๒ ดวง ๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้น การศึกษานี่ต้องละเอียดขึ้นที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นเหตุ ขณะไหนเป็นผล เช่น ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นในภพนี้จะเป็นจิตที่เป็นเหตุไม่ได้ ขณะนั้นไม่ได้ทำทานไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้ทำอกุศลใดๆ เลย แต่เพราะกรรมหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้หลังจากจุติจิตดับ ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต นี่ก็แสดงให้เราเห็นว่า เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกที่จะเป็นคนนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ แต่กรรมพร้อมที่จะให้เราเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่ขณะจุติซึ่งเป็นขณะสุดท้ายของชาตินี้ก็เป็นวิบากจิต ต้องเป็นผลของกรรมที่จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งเราทุกคนไม่รู้ว่าเราจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อไหร่ เพราะเหตุว่าเราไม่รู้กรรมที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้ และไม่รู้ด้วยว่ากรรมนี้จะทำให้เราเป็นบุคคลนี้นานเท่าไร อาจจะเป็นแค่เย็นนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นแค่พรุ่งนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็ได้ เพราะว่าเรื่องของกรรมที่ได้ทำแล้ว ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เรื่องของกรรม และเรื่องของวิบาก แต่เราเข้าใจได้ว่าตอนเกิดจิตขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว หลังจากนั้นแล้วกรรมอื่นๆ ให้ผลหลังจากเกิด เรียกว่าให้ผลในปวัตติกาล เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของเรา จะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ปฏิสนธิกาลได้แก่ขณะเกิดขึ้น ต่อจากนั้นไปจนกระทั่งถึงจุติ เป็นปวัตติกาล

    เพราะฉะนั้นกรรมอื่นมีโอกาสจะให้ผลหลังจากที่เราเกิดแล้ว ผลของกรรมที่เราได้รับหลังจากปฏิสนธิแล้ว ก็คือ เห็นเป็นผลของกรรมเป็นวิบาก ได้ยินก็เป็นผลของกรรม ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่ากรรมทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพื่อที่จะเป็นทางให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น นี่คือความต่างกันของสัตวโลก ซึ่งต่างกับรูปซึ่งไม่มีจิต รูปนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม และก็ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะมารับผลของกรรมเลย แต่เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ แล้วก็มีเหตุ เพราะฉะนั้นในตลอดชีวิตของเรานี่ก็แบ่งออกเป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลในขณะที่ปฏิสนธิ และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วเราก็ไม่ได้จากโลกนี้ไปทันที ยังมีจิตซึ่งทำกิจภวังค์เกิดดับสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนี้ไว้เพื่อที่จะให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส รูปเป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน แล้วทำให้เกิดรัก เกิดชัง เกิดชอบ ไม่ชอบ แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก ชวนจิตทั้งหลายเกิดขึ้นยินดี ยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏ เพื่อเดินทางไปสู่จิตขณะสุดท้ายคือจุติ นี่แสดงให้เห็นว่าเรา กำลังมีจิตที่กำลังทำกิจการงานทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจก็คิดนึกไป เพื่ออะไร เพื่อเดินทางไปสู่จิตขณะสุดท้ายคือจุติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องแบ่งผลของกรรมคือขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่หลังจากเห็นแล้วจิตใครเป็นกุศล จิตใครป็นอกุศล นี่คือเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า หลังจากเห็น หลังจากได้ยินแล้ว จิตใครเป็นกุศล หรืออกุศล แล้วจะอย่างไร ก็ต้องเป็นกรรมอีกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ แต่เป็นผลของการสะสมของกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้นถ้าจิตของใครเป็นอกุศลมากๆ เราจะเห็นว่าคำพูดของเขา การกระทำของเขามาจากจิตซึ่งเป็นอกุศลที่สะสมมา เพราะฉะนั้นกายของแต่ละคนก็ต่างกัน วาจาของแต่ละคนก็ต่างกันตามการสะสม แม้แต่คำพูดซึ่งไม่ใช่ทุจริต คือไม่ใช่คำหยาบ ไม่ใช่คำเท็จไม่ใช้คำส่อเสียด ไม่ใช่คำเพ้อเจ้อ แต่คำพูดนั้นเกิดจากกุศลจิต หรือ อกุศลจิต อย่างตัวอย่างที่กล่าวที่โรงพยาบาลปากเกร็ด ถ้ามีคนถามว่ากระเป๋าอยู่ที่ไหน และคนหนึ่งก็ตอบว่า "ก็อยู่นั่นไงล่ะ" กับคนที่ตอบว่า "อยู่บนหลังโต๊ะ" ต่างกันหรือไม่

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จะพูดว่าระวังไม่ได้ ถ้าสติเราไม่เกิด เราก็ไม่รู้ เช่น เราก็จะพยายามที่ว่าจะพูดจะทำดีก็ไม่ได้อีกใช่ไหม เพราะถ้าสติไม่เกิด เราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะทำ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าสมมติว่าพูดอย่างนี้แล้วคนที่ฟังไม่พิจารณาเลยก็ไม่รู้เลย แต่ถ้าคนพิจารณาจะสามารถที่จะล้วงไปถึงตัวจิตซึ่งพูด ถ้าเอาจิตนั้นมาผ่าตัดออกมาแล้วหยิบขึ้นมาดูจะเห็นความสกปรกความดำด้วยอกุศลที่สะสมมาว่าสามารถที่จะทำให้เอ่ยคำอย่างนั้นออกมา ซึ่งตัวเองไม่รู้สึกเลย

    ผู้ฟัง จุดนี้ยากมาก เพราะถ้าไม่เกิดหรือว่าไม่เคยฝึกอบรมมาก็จะไม่รู้ ก็จะไม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระธรรมเกื้อกูลมากทีเดียว ทำให้เราสามารถที่จะมีแสงสว่าง คือมองเห็นทุกสิ่งถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิตแม้เพียงจากคำพูดหรือการกระทำของเราเอง คือส่วนใหญ่เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูคนอื่น หรือ คิดถึงคนอื่น เพราะแท้ที่จริงแล้วโลกคนใบ เวลาที่เรากำลังคิดถึงเรื่องราวคนอื่น ไม่มีคนนั้นเลย โลกนี้ต่างหากที่กำลังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ถ้าจิตคิดไม่มี เรื่องนั้นก็ไม่มี คนนั้นก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงรูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไปๆ เราเอาชื่อไปติดที่นามรูปเป็นประเภทๆ เป็นชุดไป ว่านามรูปนี้ขื่อนั้น นามรูปนั้นชื่อนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่มี เป็นแต่เพียงรูปธรรมนามธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ และเราก็สมมติเรียก แต่ว่าความทรงจำของเราซึ่งยึดถือความเป็นสัตว์เป็นบุคล ก็ทำให้จิตของเราหวั่นไหวไปด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามซึ่งจะคิดถึงใครไม่ว่าคิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นเพียงความคิด ไม่มีใครเลย ทุกคนอยู่คนเดียวในโลกจริงๆ โลกของตัวเองซึ่งแล้วแต่ใครจะคิด แล้วแต่จะเห็น แล้วแต่จะได้ยิน แล้วจริงๆ แล้วตัวคนนั้นก็ไม่มีด้วย เป็นเพียงจิตชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นคำอุปมาที่ว่าการขัดเกลากิเลสเหมือนกับการจับด้ามมีดจนกว่าด้านมีดจะสึก ไม่ใช่เพียงแค่สึกแต่ต้องหมดเลยไม่เหลือ คือการยึดถือว่าเป็นตัวตน ต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงว่าไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งเป็นของเรา ไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งเป็นเรา เพราะเหตุว่าการที่เราจะยึดถือ ยึดถือโดย ๓ ลักษณะ คือ ยึดถือโดยเป็นตัวตนของเราหนึ่งด้วยทิฏฐิ ยึดถือด้วยความเป็นของเราด้วยตัณหา ยึดถือด้วยความเป็นตัวเราด้วยความสำคัญตนด้วยมานะ นี่เป็นเครื่องเนิ่นช้า ท่านเรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าในการที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจจธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ