สนทนาธรรม ตอนที่ 026


    ตอนที่ ๒๖

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พยายามปูพื้นให้พวกเราได้เข้าใจถึงชาติของจิตนะโดยส่วนใหญ่อยากจะให้เข้าใจว่าสังขารขันธ์นั้นปรุงแต่งอย่างไร ก็ยังคิด และรอท่านอาจารย์จะอธิบายเรื่องชาติของจิตที่เป็นเป็นกริยาอย่างละเอียดขึ้นอีกสักนิด ชาติของจิตที่เป็นกิริยา

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่ละเอียดนี้เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ไม่ละเอียดก็คือรู้ว่าถ้าไม่เป็นกุศล อกุศล และไม่ใช่วิบากก็เป็นกริยา

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นยังไม่พอหรือ ถ้าเรามีหลักมั่นคงว่าจุดที่เป็นเหตุคือกุศล และอกุศลซึ่งทำให้เกิดผลคือกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ที่นี้กุศลเป็นชาติหนึ่ง อกุศลเป็นชาติหนึ่ง วิบากเป็นชาติหนึ่ง ก็ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่ วิบากเป็นกิริยา คือไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผล และไม่ใช่ผลซึ่งเกิดจากเหตุด้วย

    ผู้ฟัง คืออยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณายกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล แต่พระอรหันต์มีวิบากกับกิริยา ถ้าจะพูดถึงคนธรรมดา เวลานี้เห็นแล้วปกติธรรมดาจะไม่รู้เลยว่า ถ้ากุศลจิตไม่เกิดหลังจากเห็นแล้ว อกุศลจิตเกิด ขณะที่ได้ยินก็เหมือนกันถ้ากุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตก็เกิด นี่คือคนธรรมดาซึ่งไม่รู้ตัวด้วยว่าเป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมอย่างพระโสดาบัน ท่านจะต้องรู้ว่าขณะที่เห็นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร คือพระธรรมแต่ละคำที่ทรงแสดงอย่างคำว่าอนัตตา ไม่ใช่ว่าเราก็พูดตามกันไปเฉยๆ พออะไรเกิดขึ้นก็อนัตตา ใครเจ็บไข้ได้ป่วยบังคับบัญชาไม่ได้ก็อนัตตา นี่คือคำที่เราพูดตาม แต่เราไม่รู้ลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมะ แม้แต่ธรรมะเราก็ไม่รู้ว่านี่คือธรรมะ เพราะว่าเป็นคน เป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ไปหมด ไม่ใช่รู้ธรรม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะถึงขั้นที่ว่าหลังเห็นแล้วได้ยินแล้วนี้ไม่เป็นกุศล อกุศล ปัญญาของคนนั้นจะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งดับกิเลสเป็นขั้นขั้นจากพระโสดาบันเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นหลังจากเห็นแล้ว หลังจากได้ยินแล้วจึงเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นขอให้ทราบระดับของจิตที่ต่างกันของผู้ที่มีปัญญากับผู้ที่ไม่มีปัญญา ว่าการที่จากเห็น และเป็นอกุศลแล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากเห็นเป็นอกุศล เป็นเห็นแล้วเกิดกุศลแล้วก็ยังเป็นเห็นแล้วเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจนกระทั่งในที่สุดนะ ถึงแม้กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็เปลี่ยนสภาพเป็นกิริยาจิตคือไม่มีทั้งกุศล และอกุศล คือไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องการเข้าใจสภาพธรรมอย่างละเอียด ไม่ใช่ว่าจะให้มาบอกว่ากิริยาเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจะเข้าใจก็ต้องทราบด้วยว่าคนธรรมดาเป็นกุศลฝ่ายดีแต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลแน่ แม้กุศลที่ไม่มีก็เพราะเหตุว่าไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนธรรมดาเป็นกุศลสำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยา นี่กล่าวทั่วๆ ไปในความหมายของกิริยาแต่ก็ยังมีกิริยาพิเศษที่คนธรรมดามีซึ่งยังไม่กล่าวถึง

    ผู้ฟัง ที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศล และอกุศลหมายความว่า จิตอกุศลทั้ง ๑๒ ดวงนี้ หรือจิตที่เป็นมหากุศล รูปวัชรกุศล อรูปวัชระกุศล หรือโลกุตรกุศลก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่เกิดกับพระอรหันต์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิด เพราะเหตุว่าพระอรหันต์มีจิตสองชาติเท่านั้น คือวิบากจิตกับกิริยาจิต ถ้ามีอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก แต่พระอรหันต์เมื่อเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้วหลังจากจุติแล้วไม่มีการเกิดอีก เพราะฉะนั้นวิบากที่พระอรหันต์ได้รับหลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่ปรินิพพานเป็นผลของอดีตกรรมก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังได้รับวิบากจนกว่าจะถึงดับขันธ์ปรินิพพาน พระอรหันต์ทุกรูปเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง วิบากที่ได้รับในชาติปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนปรินิพพาน หลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้วเป็นผลของอดีตกรรมก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นผลหลังจากที่สำเร็จนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใด้ อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป้นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าอรหันต์นี้ เราก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นผู้ที่ไกลจากกิเลส ดับจากกิเลส หมดจดจากกิเลสคือไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง หรืออย่างละเอียด

    ผู้ฟัง กิเลสที่ดับแล้วจะไม่หวนมาเกิดอีกเป็นเด็ดขาด

    ท่านอาจารย์ เป็นสมุทเฉท

    ผู้ฟัง ท่านอารย์แล้วถ้าอย่างนั้น กริยาจิตสำหรับพระอรหันต์นี้ก็ทุกขณะจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เว้นวิบาก ท่านมีจิตสองชาติคือ วิบากจิตกับกิริยาจิตเท่านั้น กุศลอกุศลไม่มี

    ผู้ฟัง สบาย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่อยสบายเพราะว่ายังไม่จุติก็ยังจะต้องมีการรับผลของกรรมซึ่งเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง อย่างพระพุทธองค์ก็ยังต้องได้รับวิบาก อดีตที่ผลของกรรมในอดีตก่อนที่จะได้สำเร็จเป็นพระสัมมามัมพุทธเจ้า จะฉันน้ำก็ยังต้องรอจนให้น้ำใสก่อนอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องของกรรมนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง แล้วที่ได้รับหินที่พระเทวทัตกลิ้งมานั้นก็เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงไว้หมดว่าแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นกับพระองค์นั้นเป็นผลของกรรมในอดีตชาติ เพราะฉะนั้นทุกคนหนีกรรมไม่พ้น ให้ทราบว่าทุกขณะจิต สำเร็จรูปโดยกรรมที่กำลังเห็นสำเร็จแล้วหมายความว่า กรรมนี้ทำให้ขณะนี้จิตเกิดขึ้นเห็น ที่กำลังได้ยินในขณะนี้สำเร็จรูปอีกเหมือนกันคือกรรมมนั่นเองทำให้ได้ยินจิตในขณะนี้เกิดขึ้นซึ่งเราไม่รู้ว่าชาติไหนที่ทำให้เห็นอย่างนี้ได้ยินอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่าทุกคนที่เกิดมานี้เพราะกรรม แล้วก็ระหว่างที่ยังไม่ตายก็จะต้องมีการเห็นขณะหนึ่งรวมทั้ง จิตอื่นๆ ซึ่งเป็นวาระเดียวกันนี้เป็นวิบากเป็นผลของกรรม แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้นก็วนเวียนในสังสารวัฎเพราะเหตุว่าเห็นแล้วก็ไม่ได้เป็นกิริยาจิต เห็นแล้วก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า

    ผู้ฟัง เห็นแล้วเป็นกุศลก็ยังจะเป็นประโยชน์ ยังจะเกื้อกูลต่อ แต่เห็นแล้วเป็นอกุศลนี้รู้สึกว่ายังจะต้องเดือดร้อนตลอด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ยังไม่รู้ด้วยอีกว่าเป็นอกุศล พอลืมตาก็เป็นอกุศลไปแล้วก็ยังไม่รู้ตลอดมา เพราะฉะนั้นนาทีทองก็คือขณะที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นี่เป็นสิ่งซึ่งจะติดตามสะสมไปจนกว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้ได้ฟังท่านอาจารย์ทางวิทยุว่า สภาพธรรมคือรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี เกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน แต่ว่าทั้งๆ ที่ดับไปแล้ว เราก็ยังไม่ยอมให้ดับ ยังไม่ปล่อย ยังเอามาคิดมานึกเดือดร้อนเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้อยู่ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้นั้นประทับใจจริงๆ ว่า ของที่ไม่มีแล้วยังอุตส่าห์เอามาคิดมานึกให้เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดคือไม่ใช่เราด้วยที่คิดด้วย เป็นจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรม เป็นธาตุซึ่งต้องเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ธรรมะคือธรรมะ ธาตุคือธาตุ สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็ยังคงต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง

    ผู้ฟัง ได้มีโอกาสฟังผู้ที่เข้าไปปฎิบัติธรรมะ เค้าบอกว่าจะต้องมีตัวตนไปปฏิบัติธรรมะมิฉะนั้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นการกล่าวกันไปเฉยๆ เท่านั้น ทีนี้ท่านอาจารย์ก็เน้นว่าไม่มีตัวตนที่จะปฏิบัติธรรมะ ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา อยากจะได้ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่าอนัตตากับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้นแยกขาดจากกันอย่างไรจริงๆ ซึ่งจะเห็นความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าอัตตาไม่มี

    ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสฟัง ได้ศึกษา แต่ถึงอย่างนั้นความมีตัวตนก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิด ไม่ใช่มีอัตตา มีความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่คิดว่าจะปฏิบัติธรรมะนี้ก็

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่เห็นว่ามีอัตตานั้นต้องเห็นผิด

    ผู้ฟัง แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้กล่าวออกมาเป็นคำว่า

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีอัตตาซึ่งจะปฏิบัติ

    ผู้ฟัง หมายความว่าตัวตนคือตัวเรานั่นเองที่จะไปปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวเรา ถ้ามีคือเห็นผิด

    ผู้ฟัง แล้วเวลาเรานั่งฟังธรรมะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ มีจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง คงยังไม่ถึงโอกาสอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สติจะระลึก หรือไม่ระลึกก็ตาม ความไม่มีตัวตนก็คือความไม่มีตัวตนนั้นเองใช่ไหม ถึงแม้ว่าหลงลืมสติก็ไม่มีตัวไม่มีตน ขณะที่สติระลึกก็ไม่มีตัวไม่มีตน สรุปแล้วก็คือว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ตลอดเวลา แต่ความเห็นผิดทำให้เรายึดทุกสิ่งทุกอย่างว่ามีเขา มีเรา มีสิ่งซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันอย่างนั้น ใช่ไหม คือเรื่องความมีตัวตนนี้ ถ้าสมมติว่าจะยกตัวอย่างของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น่าจะเป็นในชาติสุดท้ายแล้วก็เป็นการดับกิเลส

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดได้ไหม ก็จะวนอยู่กับเรื่องคนนี้เรื่องคนนั้น เรื่องคนนั้นคนนี้ เอาสิ่งที่กำลังปรากฏ และเรามีความเข้าใจแค่ไหน ถ้าจะให้คิดเรื่องใครก็คิดไปไม่จบ ไม่มีทางจบแต่ละชาติแต่ละชาติไป

    ผู้ฟัง ก็เดี๋ยวนี้ ก็มีความเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ การฟังก็ต้องมีการพิจารณาตามไปด้วยทุกครั้งทุกเรื่อง สิ่งนี้ก็คงเป็นการเริ่มต้นอยู่ตลอดเวลาที่นี่ การที่จะทำให้สติเกิดระลึกนี้ เพราะปกติแล้วคิดว่าเวลานี้เรายังหลงลืมสติ พอพูดถึงสิ่งที่ปรากฏก็จะมีการระลึก ขณะนั้นความมีตัวตนทำให้เราคิดว่าเราจะระลึก แต่ถ้าสมมติว่าสติไม่เกิดก็เป็นเรื่องของความคิดอยู่ตลอดเวลาเลย สิ่งนี้ผมคิดว่า ยากที่จะหมดความเป็นตัวเป็นตนที่จะเข้าไปแทรกตลอดเวลา แม้แต่เพียงว่าจะฟังเสียงว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นก็มีตัวตนเข้าไปอีกแล้ว แล้วถ้าไม่มีตัวตนก็เป็นเรื่องของมีสติ สติไม่ได้เกิดง่ายเลย ปกติแล้วจะคิดมากกว่าที่จะมีสติ สิ่งนี้ไม่ทราบว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีใครว่าง่าย เรื่องยากก็ต้องเป็นเรื่องยาก

    อาจารย์ ตราบใดที่เรายังมีตัณหา มานะ ทิฏฐิอยู่ก็คงจะยากที่จะไม่ให้คิดว่ามีตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ดีนะที่ว่าเป็นเรื่องจริงที่ทุกคนรับความจริง ไม่ใช่หลอกตัวเอง ธรรมะนี้ก็เป็นเรื่องตรงเป็นเรื่องจริง ขณะที่คิดก็คือคิด จะคิดยาวไกล หรือว่าจะคิดว่าจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะก็คือคิด เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญารู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง จริงคือสติไม่ได้เกิด จริงคือกำลังคิดเรื่องจะเจริญสติ ก็เป็นจริงทั้งนั้น จริงทั้งหมดชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะรู้จริงๆ เพราะสติระลึกก็ต้องอาศัยกาลเวลาซึ่งไม่มีใครไปเร่งรัด ถ้าใครวันนี้วุ่นวายอยากจะให้สติเกิดเยอะๆ ก็ปวดหัว ไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็นั่งคิดไปเพราะว่านั่นไม่ใช่ขณะที่ปัญญารู้ความจริงว่ามีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิดสติก็เกิด

    ผู้ฟัง ก็นึกถึงคำที่อาจารย์พูดเมื่อสองสามวันในเทปนี้ว่า อุปมาถึงว่า ภูเขาลูกใหญ่นี้ ร้อยปีเอาผ้าแคว้นกาสีไปลูปครั้งหนึ่ง จนกว่าจะลากลงมานี้นั้นนานแค่ไหน เพราะอย่างนั้นก็ไปตรงกับคำว่าอย่าเร่งรีบ ต้องช้าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ทีนี้รีบนี่ รีบไปเข้าใจ หรือไม่ รีบจะเอา รีบจะถึง รีบจะทำ แต่ไม่ใช่รีบที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเห็นว่าขณะนี้ทั้งๆ ที่ทราบว่าเป็นธรรมะทั้งหมด ต้องใช้คำว่าเป็นธรรมะทั้งหมด ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเป็นธรรมะแต่ละชนิด นามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง รู้อย่างนี้ นี่คือหนทางที่จะค่อยๆ ไปถึงด้วยความรู้ความเข้าใจโดยการฟัง ในขณะนี้ทุกคนไม่ประมาท ทุกคนกำลังฟังเพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจนี่คือการเร่งรีบในทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่นแต่หมายความว่าเราไม่ทอดธุระโดยการที่เราใฝ่ใจ ใส่ใจให้เข้าใจสภาพธรรมะ แต่ถ้าคนไม่เข้าใจธรรมะเร่งรีบทำเหลือเกิน เร่งรีบจะถึงเหลือเกินคือการที่จะเร่งรีบเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะให้ถูกต้องในขณะนี้ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    ผู้ฟัง คือจากอุปมาอุปมัยเรื่องภูเขา ก็ทำให้คิดว่าผมไม่ได้ช้า ผมไม่ได้ช้าเลย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วนะ คุณอดิศักดิ์ที่ไปคิดว่าผมไม่ได้ช้านั้นก็ยังเป็นเรื่องของตัวเรา จริงๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรที่จะต้องมานั่งคิดเปรียบเทียบว่า วันนี้เราช้า วันนี้เราเร็ว หรือวันนี้เราทำอะไรนั่นคือเรื่องตัวตนทั้งนั้น เรื่องปกติ อะไรเกิดขึ้นทางตาก็คือเกิดแล้วสำเร็จรูปมาจากกรรม ทุกขณะสำเร็จรูปมาจากกรรม ให้ทราบที่เป็นวิบากเพราะว่าใครก็สร้างไม่ได้ ใครจะสร้างเห็นขณะนี้ ใครจะสร้างได้ยินขณะนี้ ใครจะสร้างการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่ได้ หรือแม้แต่จิตจะเป็นกุศลอกุศลก็สำเร็จรูปมาจากการสะสมแต่ละขณะ แต่ละขณะ ในแต่ละชาติ เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือรู้จริงตามลักษณะของสภาพธรรมะว่าเป็นธรรมะแล้วก็ไม่มีตัวเราไปนั่งวัด โดยมากคนเรานี้จะมีความรักตัวในหลายรูปแบบถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ฟังธรรมะเลย ความรักตัวของเขาจะชัดมาก คือแบบว่าทุกอย่างเพื่อตัวทั้งหมด เพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อครอบครัว เพื่อวงศาคณาญาติ เพื่อทุกอย่าง เป็นความรักตัวทั้งสิ้น แต่เมื่อศึกษาธรรมะแล้วก็จะเห็นว่าความรักตัวหันกลับมาว่า รักตัวอยากจะมีกุศลมากๆ อีกแล้ว พอรู้เรื่องสติปัฎฐานความรักตัวก็หันกลับมาที่อยากจะมีสติเยอะๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของความรักตัวนี้หนาแน่นเหนียวแน่นมากจนกว่าคนๆ นั้นจะเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่าไม่มีตัวที่จะต้องไปรัก มีแต่คุณธรรม ธรรมะฝ่ายดีกับธรรมะฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะเข้าใจถึงแก่นแท้ของธรรมะฝ่ายดีเมื่อ ธรรมะฝ่ายดีจริงๆ นั้นไม่ใช่ว่าเพื่อตัว แต่ว่าธรรมะฝ่ายดีคือกุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ปัญญาต้องรู้ความจริงว่าเมตตาไม่ใช่โลภะ ถ้ายังไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมะก็เหมาๆ รวมกันไป คิดว่าที่จริงความผูกพันธ์ ความหวังดีนั้นก็คือเมตตาแต่จริงๆ แล้วเป็นโลภะได้ กับลูก กับหลาน กับเพื่อนสนิท หรืออะไรต่างๆ แต่ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ปัญญาเขาแยกออก จะรู้ว่านี่คือไม่ใช่เรา ขณะนั้นสภาพเมตตาเกิดก็คือแค่สภาพเมตตา ขณะนั้นโลภะเกิดก็คือโลภะ ที่จะเห็นจริงๆ ว่าเป็นธรรมะแล้วค่อยๆ คลายตัวตนออก ความรักตัวตนถึงจะน้อยลง แล้วจะเห็นได้ว่าคนนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้รักตัว หรือเห็นแก่ตัวอย่างคนอื่นซึ่งไม่เข้าใจธรรมะ แต่ทุกอย่างที่ทำนี้เพื่อกุศล หรือว่าเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อการขัดเกลากิเลส เพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมะจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องปอกเปลือกออกหลายๆ ชั้น

    ผู้ฟัง สิ่งนี้รู้สึกจะเป็นคำถามสืบเนื่องเมื่อคราวที่แล้วนะ อาจารย์เคยถามดิฉันว่าในขณะซึ่งเห็นนี้มีความรู้สึกอย่างไร ก็ตอบว่าเฉยๆ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าเหตุใดที่พูดถึงเรื่องเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตทางตา หู จมูก ลิ้น เป็นอุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมด้วย แต่ทำไมพอไปทางกายแล้วเป็นสุขเวทนา และทุกขเวทนา เพราะเหตุใดช่วยกรุณาให้เหตุผลด้วย

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ต้องไปลึกนิดนึงคือให้ทราบว่ารูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี ๔ รูปคือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถึงแม้ว่ามหาภูตรูปมี ๔ ก็จริง แต่รูปที่กระทบสัมผัสได้นี้เพียง ๓ ทั้งๆ ที่เป็นมหาภูติรูป สามนั้นก็คือธาตุดิน อ่อน หรือแข็งกระทบสัมผัสได้ ธาตุไฟ เย็น หรือร้อนก็กระทบสัมผัสได้ ธาตุลมที่ตึง หรือไหวก็กระทบสัมผัสรู้ทางกายได้ แต่มหาภูติรูปหนึ่งคือธาตุน้ำ ทั้งๆ ที่เป็นมหาภูติรูปก็ยังกระทบกายไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยกายปสาท โดยกายปสาททำให้การกระทบนั้นปรากฏเป็นลักษณะที่สุข หรือทุกข์ทางกาย แต่ว่าถ้ากระทบกับรูปอื่นซึ่งไม่ใช่มหาภูติรูป เช่น สี กำลังมองเห็น เจ็บ หรือไม่เวลาเห็น ไม่เจ็บเลย ขณะที่สีเกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา ทางหูที่ได้ยินขณะที่เสียงปรากฏเจ็บ หรือไม่ ในขณะที่เสียงปรากฏไม่เจ็บก็เป็นอุเบกขา

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวนี้หมายความว่าตัวที่มากระทบใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความถึงสภาพจิตที่รู้ที่กำลังเห็นนี้ กำลังเห็นนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง คือทราบว่าเป็นอุเบกขา แต่อยากจะถามว่าทำไม

    ท่านอาจาย์ ก็เพราะเหตุว่าไม่ใช่มหาภูตรูปที่กระทบกาย

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นมหาภูตรูป กระทบ

    ท่านอาจารย์ ยังแค่ ๓ รูป ทั้งๆ ที่มหาภูตรูปหนึ่งจึงจะเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นสุขทุกข์

    อาจารย์ คือจากตามที่ได้สนทนากันว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีแต่สภาพธรรม จิต เจตสิก เกิดต่อเนื่องโดยไม่ขาดสาย จากการที่เราได้สนทนาธรรมกันมาสัก ๓ หรือ ๔ ครั้งนี้ ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าในขณะที่เรากระพริบตา สภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏขึ้น และวันใดวันหนึ่งถ้าสติสัมปชัญญะของท่านเกิดขึ้นในขณะที่ท่านกะพริบตานี้อะไรปรากฏขึ้น สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเกิดขึ้น หรือไม่ และเมื่อเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ท่านก็จะเฝ้าสงสัยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กระพริบตาแล้วลืมตาขึ้นมานั้นมีลักษณะสภาพธรรมอย่างไร เห็นเป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างไร จากสภาพธรรมอย่างนี้ ท่านก็จะคิดคิดยาว แต่ผมก็ยังคิดว่าการที่เราคิดแล้วก็พิจารณาธรรมในลักษณะนี้ ก็จะเป็นกุศลอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าหากว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนตามความรู้สึกนึกคิด ก็คิดแต่เพียงว่าสิ่งนี้เป็นการทำงานของเจตสิกกับจิต ไม่ใช่เรา

    อาจารย์ มีตัวเราที่คิดว่าโกรธไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ใช่ ยังมีเราที่คิด แต่ก็ยังคิดออกว่าสิ่งนี้เป็นการทำงานของ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นเรื่อง จิตจะคิดเรื่องอะไรก็ได้ขนะนั้นแทนที่จะคิดเรื่องคนที่เรากำลังโกรธใช่ไหม ก็เปลี่ยนเป็นจิตคิดเรื่องสภาพธรรมะแต่ก็ยังเป็นเรา

    ผู้ฟัง ใช่ ยอมรับว่ายังคิดอยู่ว่าเป็นเรา ทำอย่างไรจะหาย

    ท่านอาจารย์ อย่าใช้คำว่าทำอย่างไร ถ้าทำได้พระพุทธเจ้าทำแล้ว

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราจะต้องปรกติระลึกรู้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ขณะใดที่เข้าใจสติเกิดแล้วไม่ต้องห่วงถ้าสติไม่เกิดร่วมด้วยกุศลจิตก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง เราอดคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้อด ให้เข้าใจขณะคิดก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เห็น คือเรื่องความเข้าใจธรรมทั้งหมดแม้แต่เรื่องกิจของจิตไม่ใช่ผ่านไปว่าเรารู้แล้วว่าจิตมี ๑๔ กิจ ขณะเห็นนี้ ขณะนี้เป็นกิจหนึ่งของจิต นี่คือรู้เรื่องใช่ไหม แต่ก็เป็นเราทั้งหมดตราบใดสติไม่ได้รู้จริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับแล้วก็มีธาตุอื่นเกิดต่อทันที นี่คือแนวความคิดซึ่งหลังจากที่ฟังแล้วก็คือสติค่อยๆ ระลึกค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ทำไมจะไม่มีอย่างนั้น หรือทำไมอย่างนั้นจะเกิดขึ้น ขณะที่ถามว่าทำไมนี้ไม่รู้เลยว่าเป็น โลภะ ใช่ไหม มาแล้วค่ะเร็ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ก็สะสมไว้เป็นกัปป์

    ท่านอาจารย์ ถึงเป็นนายช่างเรือน ถึงเป็นสมุทัยที่จะต้องทำให้เกิดทุกข์คือขันธ์ ๕

    อาจารย์ หวนกลับมาคิดว่า ถ้าถามอย่างนี้เป็นเครื่องทดสอบว่าเราฟังธรรมมีความเข้าใจเพียงพอ หรือยัง ฝากให้พิจารณา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าส่วนใหญ่นี้เริ่มจากความหวัง และก็ต้องการโดยไม่รู้ตัว ทำอย่างไรถึงจะมีสติมากๆ ทำอย่างไรปัญญาจะเกิดมากๆ ทำอย่างไรจะไม่มี โลภะ ทำอย่างไรโทสะจะไม่เกิด ล้วนแต่เป็นเรื่องของโลภะทั้งหมดที่ทำโดยไม่รู้ตัวไม่ใช่เรื่องความเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขออนุญาตสนทนาธรรมอีกนิดหนึ่ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    6 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ